คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #11 : การจัดภาวะข้ามเพศให้เป็น ความผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศ"
บทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ คนข้ามเพศ และ ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ และบทบาทของ จิตเวชศาสตร์ตะวันตกที่มีผลกระทบต่อทั้งสองประเด็นนี้ ในที่นี้ ผมขอใช้คำว่าคนข้ามเพศ (transpeople) เพื่อหมายถึง กลุ่มคนที่ถูกจัดให้เป็นเพศหนึ่งเมื่อแรกเกิด (โดยมักอาศัยสิ่งที่อยู่ ตรงหว่างขาเป็นปัจจัย) แต่ในภายหลังได้นิยามตนเองและมีความปรารถนาจากก้นบึ้งที่จะใช้ชีวิต อยู่ในอีกเพศสภาพหนึ่ง และขอใช้คำว่าความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ (transphobia) เพื่อหมายถึง ความกลัว รังเกียจ และ/หรือ ความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่มาร์ค คิง นักวิจัย ลูกศิษย์ของผมเรียกว่า อคติต่อคนข้ามเพศ (transprejudice) อันเป็นความรู้สึกที่มักแสดงออก ในรูปของการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ. ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การถูกเลือกปฏิบัติ นั้นอาจนำไปสู่ความเครียดในฐานะคนกลุ่มน้อย และเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพจิต (ไม่เชื่อมั่น ในศักดิ์ศรีของตนเอง, อาการวิตกกังวล, อาการหดหู่) และอาจเลวร้ายมากกว่านั้น
เป็นเรื่องน่าขันที่ว่า จิตเวชศาสตร์ตะวันตกกระแสหลักมีแนวโน้มที่จะมองคนคนข้ามเพศ (ตามที่ผมนิยามในที่นี้) ในทำนองว่า เป็นความผิดปกติทางจิตจากปัจจัย ภาวะข้ามเพศของพวกเธอและเขา แต่กลับมองว่าคนที่รังเกียจคนข้ามเพศ เป็นคนที่มีความสมดุลทางจิตใจ
การศึกษาของผมในเรื่อง ภาวะข้ามเพศ (transgenderism) และความรังเกียจต่อคนข้ามเพศนั้น เน้นในเอเชียเป็นหลัก โดยเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มขององค์กรทรานสเจนเดอร์เอเชีย (TransgenderAsia) เพื่อพัฒนาการศึกษาวิจัยในเรื่องเหล่านี้ขึ้นในทวีปเอเชีย และผมอยาก จะชี้ให้เห็นในวันนี้ว่า ความรังเกียจ ต่อคนข้ามเพศ นั้นยังคงเป็นสิ่งที่แพร่หลายอยู่ทั่วทั้งเอเชีย โดยประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของ คนข้ามเพศโดยฝีมือของคนที่รังเกียจ คนข้ามเพศอาจมีความ รุนแรงต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ
และเนื่องจากกฎหมายและวัฒนธรรมความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนยังไม่เจริญงอกงามเต็มที่ในเอเชียเมื่อเปรียบเทียบกับทวีปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ดังนั้น การเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศใน ประเทศจึงถูกกระทำกันอย่างปราศจากการควบคุม
ในเอเชีย ยังมีคนข้ามเพศจำนวนมากถูกครอบครัวปฏิเสธ ตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรม และความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกขับไล่ออกจากบ้าน ถูกเยาะเย้ยถากถาง ถูกโดดเดี่ยว หรือกลั่นแกล้งจากเพื่อนในโรงเรียน ถูกบีบบังคับในเรื่องการแสดงออกด้าน เพศสภาพจาก ผู้มีอำนาจในโรงเรียน และทำให้ต้องออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควรจากสาเหตุเหล่านี้
ในเอเชีย ยังมีคนข้ามเพศจำนวนมาก ที่ประสบความยากลำบากในการหางานทำ โดยเฉพาะ ผู้ที่พลัดเข้าไปสู่เมืองใหญ่โดยแทบจะปราศจากความรู้และญาติพี่น้องในพื้นที่ เมื่อถูกผลักไปสู่ชายขอบ ของสังคม จึงต้องกลายเป็นคนจรจัดยากไร้ บางคนถึงกับพลัดเข้าไปสู่การขายบริการทางเพศ และประสบความเสี่ยงต่อการถูกรังควาญต่างๆ นานา หรือแม้แต่ความรุนแรง
แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย รวมถึงจำนวนสองในสามของรัฐบาล เหล่านี้ที่ได้ให้สัตยาบัน รับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ก็ให้ความคุ้มครองต่อคนข้ามเพศเพียงน้อยนิดหรือไม่ให้เลย จะว่าไปแล้วรัฐบาลจำนวนมาก กลับเป็นผู้เลือก ปฏิบัติเสียเอง ไม่ว่าจะด้วยการยอมให้ออกกฎหมาย บัญญัติว่าการผ่าตัด แปลงเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ตัวอย่างประเทศมาเลเซีย), ห้ามการเปลี่ยนสถานะเพศ ตามกฎหมายหรือสมรสในแบบชายกับหญิง (ตัวอย่างคือฮ่องกง ที่มักอ้างว่ามีหัว ก้าวหน้า) หรือ ปฏิเสธการออกบัตรประจำตัวประชาชนที่สอดคล้อง กับเพศสภาพ (ตัวอย่างประเทศไทย ที่มักถูกนึกว่า “ใจกว้าง” ต่อความแตกต่างหลากหลาย)
การปฏิบัติมิชอบโดยตำรวจมักเป็นปัญหาต่อคนข้ามเพศ บางแห่งเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการ บางแห่งมีการใช้ความรุนแรง และในบางแห่งก็เกิดร่วมกันทั้งสองอย่าง (เหมือนในกรณีไม่นานมา นี้ในประเทศเนปาลและรัฐคาร์นาทากาของอินเดีย) บ่อยครั้งที่กฎหมายคลุมเครือเกี่ยวกับ การเตร็ดเตร่และ“ศีลธรรมอันดี” ซึ่งมีผลห้ามการแต่งกายข้ามเพศ อีกทั้งกฎหมายห้ามการ มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน กลับถูกนำมาใช้อ้างเพื่อกวาดล้างรังแกคนข้ามเพศ ที่ควรจัดว่าเป็นคนรักข้ามเพศ
กล่าวสั้นๆ ก็คือ ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ เป็นประเด็นของเอเชียด้วยเช่นเดียวกัน อะไรก็ตามที่ส่งเสริมความรังเกียจต่อคนข้ามเพศก็เป็นสิ่งที่ควรวิตกกังวลของคนข้ามเพศในเอเชียเหมือนกับคนข้ามเพศในประเทศตะวันตก
เร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสเป็นผู้นำทีมนักวิจัยสิบคนเพื่อทำการศึกษาเรื่องความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ ในระดับหลายประเทศ (ซึ่งออกจะแหวกแนวจากการศึกษาอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันที่มักจำกัด ในประเทศเดียว) การศึกษาของเรามีแบบสอบถาม 30 ข้อ ที่แจกจ่ายให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีใน 7 ประเทศตอบคำถาม เพื่อศึกษาทัศนคติและความเชื่อที่พวกเขามีต่อผู้หญิงข้ามเพศ (ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่ใช้ชีวิตอย่างผู้หญิง) ข้อมูลของเราส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย (นี่ก็เป็นอีกความแตกต่างหนึ่งจากการศึกษาอื่นๆ) ซึ่งเป็นที่อาศัยของประชากรโลก 60% และอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นที่อาศัยของประชากรโลกที่เป็นคนข้ามเพศในอัตราส่วนคล้ายกัน
ประเทศเหล่านี้ได้แก่ ประเทศจีน (ผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นคือตัวผมเอง และ Loretta Ho), มาเลเซีย (Teh Yik Koon), สิงคโปร์ (Wong Ying Wuen), ประเทศไทย (นงนุช โรจนเลิศ และกุลธิดา มณีรัตน์), ฟิลิปปินส์ (Raymond Macapagal และ Chuck Gomez) รวมถึง สหราชอาณาจักร (Anne Beaumont) และสหรัฐอเมริกา (Pornthip Chalungsooth).
จากผลการศึกษานี้ผมอาจจะพูดถึงเรื่องว่านักศึกษาปริญญาตรีในเจ็ดประเทศเหล่านี้มีความคล้ายคลึง
หรือแตกต่างกันอย่างไรในแง่ของระดับความรังเกียจต่อคนข้ามเพศที่พวกเขาแสดงออกและก็สามารถ
ตอบคำถามในเรื่องนี้ได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ผมคิดว่าคือผลที่ได้จากการวิเคราะห์ เชิงปัจจัยต่อข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ เพื่อที่จะบรรยายลักษณะทัศนคติและความเชื่อ พื้นฐานที่รองรับข้อมูลระดับนานาชาติของเรา
ในการนี้ เราสามารถชี้ได้ถึงปัจจัย 5 อย่าง ซึ่งเมื่อรวมกันสามารถอธิบายความแปรผันได้ 52.1% เรียงอันดับจากมากไปน้อยคือ 1) ความเชื่อว่าผู้หญิงข้ามเพศเป็นโรคจิต 2) ความเชื่อว่า ผู้หญิงข้ามเพศไม่ใช่ผู้หญิง ไม่สมควรได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้หญิง และไม่ควรได้รับ สิทธิเฉกเช่นผู้หญิง 3) การปฏิเสธไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้หญิง ข้ามเพศที่เป็น สมาชิกครอบครัว หรือเป็นอาจารย์ 4) การปฏิเสธไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์ทาง สังคมกับผู้หญิง ข้ามเพศที่อยู่ร่วมในกลุ่มเพื่อนฝูง และ 5) ความเชื่อว่าผู้หญิงข้ามเพศมีเพศสัมพันธ์แบบ เบี่ยงเบนทางเพศ
ผลพบว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์แปรผันตามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่ที่มีความสัมพันธ์ อย่างแน่นหนาและค่อนข้างสอดคล้องกันในทั้งเจ็ดประเทศ คือความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อว่าผู้หญิง ข้ามเพศเป็นโรคจิตกับการปฏิเสธที่จะปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศ ในฐานะผู้หญิงและให้มีสิทธิเฉก เช่นผู้หญิงและความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อว่าผู้หญิงข้ามเพศเป็นโรคจิตกับการไม่เต็มใจยอมรับความคิดที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วยไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือคนภายนอกครอบครัว
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การใช้แนวทางจัดภาวะข้ามเพศเป็นความผิดปกติทางจิตอาจเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมทัศนคติรังเกียจคนข้ามเพศหลักๆ ซึ่งนี่เป็นความเป็นไปได้ที่น่าวิตก เนื่องจากเราทราบดีอยู่แล้วว่า ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศในสังคม ทำให้คนข้ามเพศเกิดความเครียดในฐานะคนกลุ่มน้อยและเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพจิต (และอาจเลวร้ายมากกว่านั้น) ดังนั้น การจัดให้คนข้ามเพศเป็นผู้ป่วยเนื่องจากภาวะข้ามเพศ ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ ทำให้เกิดผลเสียต่อคนข้ามเพศหนักยิ่งขึ้นไปอีก
สถานการณ์นี้เป็นเหมือนกับ การชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ เมื่อคนข้ามเพศถูกจัดให้เป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต จึงต้องประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาเหล่านี้ก็เป็นผลส่วนใหญ่หรืออาจจะทั้งหมดมาจากการที่ถูกสังคมจัดประเภทดังกล่าวนั่นเอง (โดยไม่ได้เกิดจากตัวของคนข้ามเพศเอง ในภาษาอังกฤษใช้สำนวนว่า “คำทำนายที่เป็นจริงด้วยตัวเอง self-fulfilling prophecy เหมือนกับคนที่หมอดูทักว่าชะตาขาด แล้วพาลกลุ้มใจจนฆ่าตัวตายเป็นต้น – ผู้แปล)
บางคนอาจกล่าวหาว่าผมกล่าวขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ ผมพูดได้แต่เพียงว่า หลังจากทำงานในด้านนี้มากว่าแปดปี ผมได้สังเกตเห็นสิ่งที่คนอื่นได้พบเห็นแล้วในที่อื่นๆ ว่า หากมีคนสำคัญในหรือนอกครอบครัวที่ยอมเปิดใจกว้างเพียงเล็กน้อยต่อคนข้ามเพศ พวกเธอและเขาเหล่านี้ที่เป็นคนข้ามเพศก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตของตนได้ โดยปราศจากความทุกข์ทรมานทางจิตใจหรือความพิกลพิการด้านจิตใจที่มักนับกันว่าเป็นความผิดปกติทางจิต หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีแม้แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านั้นมากกว่าคนอื่นๆ
ข้อสังเกตนี้ยังได้รับการยืนยันจากผลในการทำงานของผมร่วมกับ Liselot Vink ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ และร่วมกับ Serge Doussantousse ในประเทศลาว แม้ว่าการศึกษาทั้งสองนี้จะยังอยู่ในช่วงแรกๆ ของการวิเคราะห์ก็ตาม แต่สำหรับผมแล้วยังดูเหมือนจะบอกว่า แท้จริงแล้ว ภาวะ “ความผิดปกติ” ด้านอัตลักษณ์ทางเพศ อาจจะเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่จริงคือ ความไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะยอมรับของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความรังเกียจต่อคนข้ามเพศต่างหาก ซึ่งก็เป็นข้อสรุปเดียวกับที่ผลการวิจัยอื่นได้กล่าวไว้มาก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายปี
ผมทราบดีว่า หลักการวินิจฉัยทางจิตเวชศาสตร์นี้ ได้ช่วยให้คนข้ามเพศในบางประเทศที่พัฒนาแล้วมีความหวังหรือความคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือค่า
รักษาพยาบาลด้านการแปลงเพศจากรัฐบาล แต่เราก็ยังสามารถรักษาประโยชน์ข้อนี้เอาไว้ได้ หากวงการแพทย์เลือกที่จะมองว่า ภาวะข้ามเพศ เป็นภาวะทางร่างกาย ที่นับเป็นรูปแบบหนึ่งของอินเตอร์เซ็กซ์ (ซึ่งเป็นภาวะที่มีอวัยวะเพศภายนอก “ทำให้ไขว้เขว” จากเพศสภาพในจิตใจ – ผู้แปล) แทนที่จะนับเป็นความผิดปกติทางจิต ซึ่งก็จะเป็นการสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยใหม่ๆ ด้านความรู้สึกทางเพศในสมองอันเป็นผลเชิงชีววิทยา การศึกษาของเรายังแสดงให้เห็นชัดว่า ในสังคมที่มองว่า ภาวะข้ามเพศเป็นความผิดปกติทางจิต ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
พูดสั้นๆ ก็คือ การจัดให้ภาวะข้ามเพศเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชศาสตร์ แม้ว่าอาจเป็นการช่วยให้คนข้ามเพศในประเทศพัฒนาแล้วเข้าถึงความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล แต่คนข้ามเพศในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกลับต้องเป็นผู้รับเคราะห์แทน
ผมไม่ได้จะมาบอกว่า ประชาชนเอเชียหญิงชายทั่วไปจะมานั่งอ่าน DSM-IV (คู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สี่) แต่กระนั้นก็ตามพวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่าน เพราะแนวความคิดเหล่านี้ จะค่อยๆ แทรกซึมลงไปสู่คนระดับต่างๆ ในหลายวิธี ลองนึกถึงกรณีของผู้หญิงข้ามเพศหลายพันคนในประเทศไทยดูสิครับ พวกเธอต้องแสดงใบ สด 43 ซึ่งระบุว่าไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารเนื่องจากป่วยเป็นโรคจิตทุกครั้งที่สมัครงาน
และผมก็ไม่ได้บอกด้วยว่า ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ นั้นเกิดมาจากสาเหตุเดียวคือ การจัดภาวะข้ามเพศเป็นความผิดปกติทางจิต หรือบอกว่า ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศจะหายวับไปกับตาเมื่อภาวะข้ามเพศถูกถอดจากบัญชีความเจ็บป่วยทางจิต ศาสนาก็นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่มีบทบาทส่งเสริมความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ รวมทั้งในเอเชีย
แต่สิ่งที่ผมต้องการพูดคือ การจัดภาวะข้ามเพศเป็นความผิดปกติทางจิต เป็นความคิดอย่างหนึ่งในหลายอย่างที่สนับสนุนและอุปถัมภ์ความรังเกียจต่อคนข้ามเพศ และในความคิดของผมยังเป็นความคิดที่ล้มเหลวในด้านจิตเวชศาสตร์และเป็นหายนะทางสังคมต่อประชาคม
คนข้ามเพศ การถอดภาวะข้ามเพศจากบัญชีความเจ็บป่วยทางจิต อาจจะไม่สามารถล้มล้างความคิดว่า ภาวะข้ามเพศ เป็นความผิดปกติทางจิต เพราะแม้แต่ในปัจจุบัน เราทุกคนก็ยังมีคนรู้จักที่คิดว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นโรคจิต!
การถอดภาวะข้ามเพศจากบัญชีความเจ็บป่วยทางจิตถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมในวันนี้ผมจึงเห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ก่อนหน้าผม ที่จะเรียกร้องให้ถอด “ภาวะความผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศ”, ภาวะข้ามเพศ และศัพท์ทางจิตเวชศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องออกจากการตีพิมพ์ครั้งต่อๆ ไปของ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders จัดพิมพ์โดย สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งอเมริกา) และ บัญชีการจัดหมวดหมู่โรคสากล (International Classification of Diseases ขององค์การอนามัยโลก) เหมือนกับที่ได้ถอดการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีทั้งสองนี้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
เวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะประกาศอย่างหนักแน่นและดังกว่าทุกครั้ง ว่า คนข้ามเพศเป็นตัวแทนความหลากหลายของมวลมนุษยชาติ ช่วยให้โลกนี้มีความสวยงามหลากสีสันมากยิ่งขึ้น และมิใช่ความผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด
บทความนี้ได้รับการนำเสนอต่อการประชุมโลกว่าด้วยสุขภาพทางเพศครั้งที่หนึ่ง (การประชุมสมาคมเพศศาสตร์ระหว่างประเทศครั้งที่ 18) ณ กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 โดยถูกพัฒนาขึ้นจากบทความที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ในนครเจนีวา ก่อนหน้าการประชุมระดับนานาชาติของ สมาคมคนรักเพศเดียวกันสากล (International Lesbian และ Gay Association) เมื่อเดือนมีนาคม 2549
บทความ โดย รองศาสตราจารย์ แซม วินเทอร์ ภาควิชาการเรียนรู้ พัฒนาการ และความหลากหลาย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง
ความคิดเห็น