คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #10 : ก้าวข้ามเพศมายา การเปิดพื้นที่ให้แก่ชีวิตและเพศวิถีนอกกรอบจารีต
"ในภาษาสิทธิมนุษยชน เรื่องเพศเป็นเรื่องของการกำหนดวิถีชีวิตและอนาคตตัวเอง การที่เราจะอยู่กับเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันนั่นคืออนาคต ซึ่งเรามีสิทธิจะเลือกได้...เป็นสิทธิในชีวิต"
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ค่ำคืนวันที่ 29 สิงหาคม 2555 รายการ “พื้นที่ชีวิต” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้นำเสนอตอน “ก้าวข้ามเพศมายา” สำหรับดิฉัน นี่คือประตูบานใหม่ที่ทรงพลังและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเปิดพื้นที่ให้แก่ชีวิตและเพศวิถีนอกกรอบจารีต “ก้าวข้ามเพศมายา” สะท้อนภาพความจริงบางอย่างที่แฝงฝังในสังคมไทยผ่านการบอกเล่าของคนห้ากลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้กำกับ (ภาพยนตร์) นักวิชาการ นักบวช นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้ทำหน้าที่พิธีกรคือคุณนุ่น ศิรพันธุ์ วัฒนจินดา และคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่มอง “เข้า” มาในประเด็นนี้ สิ่งที่ “ก้าวข้ามเพศมายา” สะท้อนสู่สังคมจึงมีมิติที่ลุ่มลึกและหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนักอย่าง สุนทรียภาพ ศาสนา วัฒนธรรม และความเป็นชายขอบของชายขอบ
สุนทรียภาพ
“ก้าวข้ามเพศมายา” นำเสนอแง่มุมจากหนังสั้นและภาพยนตร์สามเรื่องของสองผู้กำกับ ได้แก่ (1) “ทัศนอคติ ”หนังสั้นรางวัลพิราบขาว ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 14 กำกับโดยคุณภาณุ แสง-ชูโต “ทัศนอคติ” นำเสนอเรื่องราวชีวิตที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างของกะเทยสามคนคือคุณชูชาติ ดุลยประภัทศร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ท้ายบ้านใหม่ ผู้ใหญ่บ้านกะเทยคนแรกของ จ.สมุทรปราการ (หรืออาจจะของประเทศไทย?) คนที่สองคุณเริงจิรา หรืออดีตนาวาโท เริง จุลละสุขุม พ่อลูกสองซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนวิถีทางเพศจากชายเป็นหญิงเมื่ออายุ 50 ปี และคนสุดท้ายคุณอัสรี่ ภูมิใจ กะเทยผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยกำเนิด เธอเชื่อว่า เธอถูกเลือกแล้วให้เป็นเช่นนี้...
ภาพยนตร์เรื่องที่ (2) และ (3) เป็นผลงานของคุณธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ คือ (2) "ไม่ได้ขอให้มารัก" นำเสนอภาพของสามเณรกะเทยที่ถูกพ่อบังคับให้บวชเรียนในพุทธศาสนาเนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของลูกชายได้ และ (3) หนังสั้น “ภิกษุณี” วิพากษ์กรณีที่ผู้หญิงหรือบัณเฑาะว์ไม่สามารถบวชในพุทธศาสนาได้ ซึ่งผลงานทั้งสองเรื่องของธัญญ์วารินถูกมองว่ามีเนื้อหาเชิงวิพากษ์พุทธศาสนาที่ตรงไปตรงมาและค่อนข้างจะ “รุนแรง” ในสายตาของคนทั่วไป
สิ่งที่สื่อสารผ่านภาพยนตร์เหล่านี้บอกอะไรกับเรา? คุณจะเห็นการค้นหาพื้นที่ยืนในสังคมของกลุ่มชายข้ามเพศหรือกะเทยกลุ่มหนึ่ง ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา การทำมาหากิน และการเป็นสมาชิกที่มีศักดิ์ศรีในสังคม ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของตัวเอง สำหรับดิฉัน “ทัศนอคติ” “ไม่ได้ขอให้มารัก” และ“ภิกษุณี” เป็นการนำเสนอภาพความจริงของกะเทยที่ไม่ “ขำ” หรือ “ขำไม่ออก” ไม่บ่อยนักที่สังคมไทยจะเกิดอาการขำไม่ออกกับเรื่องราวของเหล่ากะเทยหรือคนหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องได้ช่วงชิงการอธิบายตัวตนของกะเทยจากแนวคิดกระแสหลักมาได้สำเร็จ และมันเป็นการช่วงชิงเชิงสุนทรียภาพ เนื่องจากบ่อยครั้งความรุนแรงอันแนบเนียนที่คนเรากระทำต่อกันนั้นถูกทำผ่านเสียงหัวเราะและความขบขัน คุณอวยพร เขื่อนแก้ว ผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่ไม่ใช่เรื่องเลือดตกยางออกนี่แหละน่ากลัว เพราะมันถูกทำให้เป็นเรื่องปกติเราเลยไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ทำไมคนถึงฆ่าตัวตาย รู้สึกหมดคุณค่า ไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะเขาได้ยินข้อความการโจ๊กแบบนี้บ่อยๆ ทำให้ไม่มีตัวตนในสังคม ไม่มีพื้นที่” ในทางตรงข้าม การสร้างความขบขำให้กับคนอื่นก็เหลือเป็นพื้นที่เล็กๆที่กะเทยได้รับอนุญาตให้แสดงบทบาทของตัวเอง ดิฉันไม่แปลกใจเลยหากคนส่วนใหญ่ดูผลงานภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องแล้วจะรู้สึกว่ามัน “แรง” ก็เพราะมันไม่เห็นขำนั่นเอง
อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม
ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับ ‘ภิกษุณี’
คุณธัญญ์วารินได้ให้ทัศนะเบื้องหลังการสร้างงานของเธอว่า "พี่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คนโง่ ไม่เคยสอนให้คนเชื่อโดยปราศจากการตั้งคำถาม" และภาพยนตร์ของเธอคือการ "ตั้งคำถาม" เพื่อให้สังคมพุทธอย่างสังคมไทยร่วมกันหาคำตอบให้ได้ และเธอมั่นใจว่าการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอย่างที่เธอกระทำผ่านผลงานเชิงสุนทรียภาพเช่นภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ความรุนแรง ความรุนแรงที่แท้จริงคือการตีตราคนอื่นด้วยความเชื่อที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามต่างหากเล่า
ศาสนา
นอกจากแทรกอยู่ในภาพยนตร์ของคุณธัญญ์วารินแล้ว ประเด็นเพศภาวะ (gender) กับศาสนายังถูกนำเสนอผ่านการสนทนากับหลวงแม่ธัมนันทา ภิกษุณีในสายเถรวาทรูปแรกของเมืองไทย ท่านกล่าวถึงสถานการณ์ของภิกษุณีไทยในปัจจุบันว่าเป็น "ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเอง" ใช่ ดิฉันเห็นด้วยกับท่าน คนที่มีอำนาจ ‘น้อย’ ย่อมต้องทำอะไรต่อมิอะไร ‘มาก’ เพื่อพิสูจน์ตนเองเสมอ ยิ่งสิ่งที่ท่านกำลังต่อรองมีรูปแบบเชิงสถาบันที่มีโครงสร้างชัดเจน ยิ่งนานวันยิ่งแข็งตัว การต่อรองนี้ก็จะยิ่งยาวนานและเรียกร้องมากขึ้น แต่สิ่งที่ดิฉันสนใจมากที่สุดคือทัศนะต่อคติความเชื่อต่างๆที่แฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีและศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทย อย่างแนวคิด “ผู้หญิงบวชไม่ได้” ซึ่งถูกกำหนดไว้มาช้านาน หลวงแม่ท่านช่วยแก้ให้ว่า "สังคมคือ ‘เรา’ มนุษย์เราเป็นคนสร้างประเพณี ประเพณีก็ต้องแก้ไขพัฒนาได้ ให้มันดีขึ้น" และสิ่งที่น่าขบคิดมาจากคำกล่าวของสามเณรี Jennetta Oosthuizen ชาวอัฟริกาใต้ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเท่าเทียมทางจิตวิญญาณและความเชื่อทางศาสนาของฝ่ายที่ถูกผลักให้ด้อยและน้อยกว่า "ผู้หญิงไม่ใช่คนชั้นสองของสังคม เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากให้สังคมดีขึ้น อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันไม่ใช่เรื่องของอำนาจที่ว่าเราจะมายึดอำนาจหรือมายึดประเทศอะไร มันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แค่ให้เรามีสิทธิ์บ้างและยอมรับในสิ่งที่เราทำให้กับสังคมบ้าง พวกเราก็มีความสามารถที่จะรู้แจ้งได้เช่นเดียวกัน เราทุกคนเท่ากัน"
สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มองว่าอคติทางเพศเป็นของนำเข้าในสังคมไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การผลิตสร้างชุดความรู้ที่อิงกับคำอธิบายของศาสนาและวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตก ซึ่งกล่าวว่าเพศตามธรรมชาตินั้นมีเพียงเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น สุดท้ายจึงกลายเป็นการตีตราว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น - เบี่ยงเบน ผิดธรรมชาติ และมีเวรมีกรรม - ที่น่าสนใจคือ ดร.นฤพนธ์เน้นย้ำในสิ่งที่ฟังแล้วคุณอาจจะไม่เชื่อก็ได้ “การมีอคติทางเพศคือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้มากที่สุด"
วัฒนธรรม
สำหรับเรื่องนี้ คุณพงศ์ธร จันทร์เลื่อน จากมูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดเชียงใหม่อภิปรายไว้ว่า "ผมเติบโตมาที่เชียงใหม่ รู้จักเชียงใหม่พอ เชียงใหม่ถูกทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว วัฒนธรรมเป็นตัวขาย แต่การที่เอาวัฒนธรรมมาเป็นตัวนำในการท่องเที่ยวมันกลายเป็นว่าวัฒนธรรมไม่ได้เป็นของพวกเราอีกต่อไป มันเป็นของรัฐ ของนายทุน และประชาชนอย่างพวกเราทั้งเกย์กะเทยก็เป็นเพียงตัวละครหนึ่งในวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมเชียงใหม่ถูกมองว่ามีคุณค่าสูงส่ง ฉะนั้นมันถูกเลือกอธิบายบางมุมและบางมุมก็ถูกทอดทิ้งหรือปิดบังไป คุณจะไปนั่งบนกระทงหรือ บนรถบุปผาชาติหรือ? ก็ไม่เหมาะสมกระมัง? ควรจะเป็นผู้หญิงผู้ชายที่ ‘แท้จริง’ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่บางพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่พอก้าวไปสู่พื้นที่อื่น พื้นที่สาธารณะ มันก็ถูกตั้งคำถาม ถูกกีดกัน นี่คือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งเราถูกกระทำในนามของวัฒนธรรม แต่ต้องอย่าลืมว่าเชียงใหม่ไม่ใช่วัฒนธรรมเดี่ยวนะฮะ แต่เป็นพหุวัฒนธรรมที่มันต้องอยู่ให้ได้กับวัฒนธรรมทุกระดับ" จบค่ะ แบบที่...คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีก
คนชายขอบ ของชายขอบ ชายขอบ ขอบ...บ
เชื่อไหมคะ สังคมเราผลิตคนชายขอบมากมายยังไม่พอ ยังมีความสามารถอันน่าทึ่งผลิตความซ้ำซ้อนในอาการชายขอบนั้นได้ด้วย กล่าวคือ มีคนที่เราอาจเรียกได้ว่าเขาเป็น “คนชายชอบ ของชายขอบ ชายขอบ...บ..” (แม้ว่าเจ้าตัวอาจจะไม่ตระหนักก็ตาม) เรื่องนี้คุณอวยพร เขื่อนแก้ว นักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสังคมตามแนวคิดสตรีนิยมทางจิตวิญญาณ เป็นผู้กล่าวถึงค่ะ เธอชี้ว่า ‘หญิงรักหญิง’ นั่นแหละคือคนชายขอบของชายขอบ (อีกทอดหนึ่ง)" “ขอบ” แปลว่าห้ามเข้าถึงสิทธิ โอกาส แหล่งอำนาจบางอย่าง เช่นถ้าเราเป็นหญิงรักหญิงเราก็จะไม่มีสิทธิแต่งงาน ไม่มีสิทธิเปิดเผยตัว เราถูกผลักให้อยู่ขอบ ไม่ใช่เพราะเลือกเป็นแต่เพราะถูกผลักออกโดยระบบต่างๆที่ไม่ยุติธรรม...คนเหล่านี้ (หญิงรักหญิง) ยิ่งเป็น "ขอบ" หนักเลยในบ้านเรานะคะ เช่น เราเวลาพูดถึงความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง เรามักจะไม่พูดถึงหญิงรักหญิงเลยทั้งที่มันโดนซ้อนสองชั้น คือเป็นผู้หญิงก็โดนอยู่แล้วแต่เป็นหญิงรักหญิงก็จะโดนจากครอบครัวด้วย"
ดิฉันคิดเอาเองว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ‘หญิงรักหญิง’ น่าจะเป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทายและสร้างความคับข้องใจให้กับผู้คนในขนบจารีตแบบ “ไทยๆ” รวมถึง ‘ผู้หญิง’ ด้วยกันเอง มากกว่าคนหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่น เราอาจพบทัศนะคติของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่สามารถจำแนกแบบหยาบๆได้ว่า “กะเทยเป็นเพื่อนสาว” “ทอมดูแลช่วยเหลือในเราเรื่องต่างๆ” “ดี้ก็เป็นแฟนของทอมไง แต่ฉันไม่ใช่หรอกนะ!” “ทรานส์แมนนี่อะไรเหรอ?” “เลสเบี้ยนเป็นพวกมีโลกส่วนตัวสูงและเข้าใจยาก” ขณะที่พวกหญิงรักสองเพศอย่างไบเซ็กชวลนั้น “ไม่น่าไว้ใจ” ไปจนถึง “พวกที่ว่ามาทั้งหมดนี้วิปริตทำให้เสื่อมเสียสถาบันผู้หญิง”
ดังนั้นในพื้นที่อันจำกัด-เป็นรอง-เป็นชั้นสองของผู้หญิงในชนชั้นทางเพศในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างสังคมไทย จึงเกิดอาการชายขอบซ้ำซ้อน ตัวตนของหญิงรักหญิงยิ่งถูกผลักให้อยู่ใต้-ต่ำ-และย้ำมิดลงไปอีก บ่อยครั้งความรุนแรงที่เกิดกับหญิงรักหญิง ถูก ‘ผู้หญิง’ มองว่าเป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากเธอได้ละเมิดกรอบความเป็นผู้หญิง ‘ที่ดี’ ที่สังคมกำหนดไว้ และความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่อาจจะพอยอมรับได้หากมันเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งสะท้อนผ่านความต้องการที่จะดำรงอยู่อย่าง “ไร้ตัวตน” หรือ “ไม่เปิดเผยตัว” ของหญิงรักหญิงจำนวนมาก
ประเด็นหญิงรักหญิงนั้นเข้าใจยากกว่า สื่อสารได้ยากกว่า และอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าในบางกรณี คนกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มที่ถูกเห็นได้ชัดและมีพื้นที่ทางสังคมเยอะกว่าอย่างชายรักชายหรือเกย์-กะเทย หากมีผู้หญิงกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ต่อหน้าคุณซักสิบคน คุณอาจแยกได้ว่าใครที่ ‘ไม่เข้าพวก’ โดยดูจากการซอยผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมงและแต่งตัวข้ามเพศก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนคนที่เหลือก็เหมือนๆกัน (เป็นผู้หญิง) แม้คน ‘ไม่เข้าพวก’ ที่ถูกมองเห็น ก็ยังมีความเชื่อฝังลึกในสังคมว่าคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์ทางเพศ “เป็นหญิง” อยู่ดี สรุปแล้วไม่มีหรอกค่ะความหลากหลงหลากหลายอะไร พวกนั้นก็เป็น “ผู้หญิง” นั่นแหละ ผู้หญิงที่ต้องเป็นลูกสาวที่ดี เมียที่ดี แม่ที่ดี น้องสาวที่ดี พี่สาวที่ดี และอะไรต่อมิอะไร ‘ที่ดี’ สำหรับครอบครัวและสังคมที่เพศชายมีอำนาจนำ ขบวนการเคลื่อนไหวของหญิงรักหญิงซึ่งอยู่ในปัญหาโดยตรงคงต้องทำงานหนักในการสื่อสารและผลิตสื่อที่สะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะมันยากในการทำความเข้าใจและยังใหม่มากๆสำหรับสังคมไทย
หลังจากดูรายการฯจบลง ดิฉันได้ตระหนักกับตัวเองว่า พื้นที่ที่ความหลากหลายทางเพศที่อธิบายไม่ได้ด้วยกรอบจารีต ที่ถูกผลักออกจากสังคมกระแสหลักนั้นมีแรงผลักที่ลึกไปถึงระดับของ “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” การเริ่มต้นทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงรักหญิง จึงต้องเริ่มต้นจากการ ‘ซ่อมแซม’ ‘เยียวยา’ และ ‘สร้างพลัง’ จากภายในกันเลยทีเดียว
โดยภาพรวม “ก้าวข้ามเพศมายา” จับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศออกมาได้ดีค่ะ มีประเด็นสุนทรียภาพ ศาสนา วัฒนธรรม และการพูดถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันได้ค่อนข้างดี เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงในพื้นที่สาธารณะสักเท่าไหร่ และเป็นประเด็นที่คนมองไม่ค่อยเห็นและมักจะคิดว่ามันไม่มี ในขณะที่ขนบของศาสนาและอคติที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมนี่แหละที่ได้สร้างความรุนแรงให้กับผู้ที่มีเพศวิถีนอกกรอบจารีตในระดับลึกที่สุด สั่นสะเทือนความรู้สึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลระหว่างกันไม่ใช่ “กำปั้น” หรือ “กลไก” ต่างๆในโครงสร้างของสังคม หากคือ “ระบบวิธีคิด” ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น ที่สร้างความรุนแรงให้กับคนกลุ่มหนึ่งและลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้มากที่สุด และที่สำคัญ นี่ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้โดยง่าย
เรื่องซับซ้อนยุ่งยากแบบนี้ คนที่จะเข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ต้องฉลาดเฉลียวและเท่าทันการผลิตสร้างวิธีคิดเหล่านี้เช่นนั้นหรือ ดิฉันเห็นว่า “ไม่จำเป็น” นี่ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี ไม่สำคัญว่าคุณจะร่ำเรียนมาสูงแค่ไหน อยู่ในสถาบันการศึกษาที่ดีแค่ไหน มีโอกาสเข้าถึงความรู้หรืออภิสิทธิ์ทางสังคมมากแค่ไหน คิดในเชิงตรรกะได้คล่องแคล่วหรือเก่งกาจในการเชื่อมโยงเรื่องราวอันซับซ้อนมากเพียงใด เพราะต่อให้มีสิ่งเหล่านี้พร้อมบริบูรณ์แล้วแต่หัวใจของคุณไม่เปิดกว้าง ไม่อ่อนไหว ไม่สามารถจินตนาการถึงความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ ก็ไม่อาจตระหนักถึงความรุนแรงต่อคนหลากหลายทางเพศอยู่นั่นเอง
และบทสนทนาปิดท้ายรายการระหว่างคุณนุ่นและคุณวรรณสิงห์ สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า มุมมองคุณวรรณสิงห์คือตัวอย่างของคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชาย-ชนชั้นกลาง-มีการศึกษา-อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจนำ มีโอกาสและมีพื้นที่มากที่สุดในสังคมไทย อันเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าใจปัญหาเรื่องความหลากหลายทางเพศและคนชายขอบอื่นๆในสังคมได้ยากที่สุด เมื่อเขากล่าวว่า "ไปมาหลายประเทศทำให้รู้สึกว่าบ้านเราให้ความเสมอภาคตรงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจด้วยนะ" เขายังกล่าวถึงการรณรงค์เรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาโดยเทียบเคียงว่า "ในบ้านเราเรื่องนี้มันไม่ใช่ประเด็นขนาดนั้นนะ กลุ่มเรียกร้องสิทธิหลากหลายทางเพศหรือผู้หญิงก็ยังมีอยู่ แต่ว่าประเด็นไม่ได้ร้อนแรงเหมือนหลายประเทศที่เคยไปมา" (นี่เป็นประเด็นที่กลุ่มหลากหลายทางเพศในสังคมไทยกำลังริเริ่มรณรงค์กันอยู่ค่ะ)
อย่างไรก็ตาม คุณวรรณสิงห์ได้แสดงความเข้าใจในปัญหาเหล่านี้ในฐานะผู้ชายคนหนึ่งในสังคมไทยว่า "เกิดเป็นชายสบายหนักหนา โดยที่พวกเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราแล้ว แต่มานั่งสังเกตตัวเองแล้ว เอ้อ หน้าที่ของเรามันเบาจริงๆ เทียบจากด้านจิตใจ แม้ตัวเองจะรู้สึกว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางเพศสูงแต่ผู้ชายก็ยังได้เปรียบอยู่ดี และความได้เปรียบนี้อาจจะไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่มองเห็น เพราะพวกเราก็มีหน้าที่ทางสังคมที่ต้องทำแต่มันก็ยังเบาอยู่ดี การพูดเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศก็ยังไม่ค่อยได้พูดกันในสังคมไทยเพราะมันเกือบจะเท่ากันอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่...หรือมันเป็นเรื่องเล็กน้อยจนถ้าบ่นไปก็ดูไม่มีอะไร?” สำหรับดิฉัน นี่เป็นความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจที่มองจากมุมที่อยู่สูงกว่ามองลงมา ไม่ใช่การมองจากคนที่อยู่หรือมองเห็นจากระนาบเดียวกันค่ะ
เวลา 60 นาที ที่เรื่องราวเพศวิถีนอกกรอบจารีตได้แพร่ภาพออกอากาศผ่านโทรทัศน์สาธารณะสู่สายตาของคนทั่วไปคือ ‘พื้นที่’ และ ‘โอกาส’ ที่คนกลุ่มหนึ่งไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึง ปกติเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างละอคติ และมีพื้นที่น้อยมากในสื่อกระแสหลัก กล่าวได้ว่า “ก้าวข้ามเพศมายา” ได้สะท้อนประเด็นซึ่งคนทั่วไปยังไม่ตระหนัก และน่าจะยังไม่เคยมีสื่อโทรทัศน์นำเสนอมาก่อน ต่อไปเทปบันทึกรายการพื้นที่ชีวิตในตอนนี้ จะถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา การใช้ความรุนแรงและอำนาจ และอคติทางเพศที่แฝงลึก โดยจะมีมุมมองแบบคุณวรรณสิงห์เป็นภาพตัวแทนสะท้อนให้เราเห็นถึงวิธีคิดของคนทั่วไปในสังคมไทยที่ยังขาดความเข้าใจ อยู่ห่างไกล และลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้
ดิฉันในฐานะคณะทำงานอัญจารี ที่กำลังอยู่ระหว่าง ‘ซ่อม’ และ ‘สร้าง’ หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นหญิงรักหญิงและความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ขอแสดงความขอบคุณและคารวะในความพยายามและความตั้งใจของทีมงานรายการพื้นที่ชีวิต และขอจบบทความนี้ด้วยข้อคิดอันเฉียบคมที่ได้จากคุณนุ่น ศิรพันธุ์ ที่ว่า“เราต่างหากที่ควรจะมาพิจารณาตัวเองว่าฉันเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ฉันได้ทำอะไรหรือเปล่า ฉันต่างหากที่ไม่เข้าใจ เป็นคนปิดกั้นตัวเอง เป็นคนตาบอดเองหรือเปล่า เป็นคนที่รุนแรงเองหรือเปล่า ถ้าเราสามารถทำความรุนแรงกับคนอื่นได้ทั้งเรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โจ๊ก? การล้อเล่น? ใช่ไหม? แค่ท่าทางบางอย่างมันก็คือการทำให้คนอื่นบาดเจ็บโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า? การจะแก้ปัญหาสังคมมันขึ้นอยู่กับตัวเรา เราตื่นหรือยัง? ต้องทำข้างในของเราให้แข็งแรงก่อน...นุ่นเชื่อว่าหลายคนที่ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะข้างในเขาแข็งแรงพอ เขาจึงเลือกที่จะยืนหยัดและก้าวออกมาเพื่อขยายพื้นที่ให้คนอื่นด้วย เราซึ่งเป็นคนหนึ่งในสังคมเราก็ควรทำ แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่ง ทำมากๆเดียวมันก็จะขยายไปเองค่ะ"
-----------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ความคิดเห็น