คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : อัตตลักษณ์ทางเพศ
หลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงประชามติกันในเดือนหน้าไม่ได้ถูกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่เหมือนเรื่องพุทธศาสนา หรือโครงสร้างสถาบันการเมือง แต่ก็น่าสนใจและสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองนอกภาครัฐ และความพยายามของ กลุ่มภาคประชาชนที่น่าตื่นตาตื่นใจและจะนำไปสู่เป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองไทยได้
อย่างเช่นความพยายามจะขยายมิติที่ห้ามการเลือกปฏิบัติไปสู่บุคคลที่มี ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ด้วย แต่ดูเหมือนคำที่ใช้จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการยอมรับอยู่ไม่ใช่น้อย ก็เลยมีการเลือกใช้คำว่า ‘อัตตลักษณ์ทางเพศ’ แทน
คนที่ตามประเด็นนี้ตั้งข้อสังเกตคล้าย ๆ กันว่า ถ้าคำว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ จะทำให้คนที่ไม่ได้สนใจ ประเด็นทำนองนี้เกิดอาการงงงันว่าหมายถึงอะไรแล้ว คำว่า ‘อัตตลักษณ์ทางเพศ’ ยิ่งเป็นอะไรที่เข้าใจยาก และทำให้งงว่าน่าจะหมายรวมถึงอะไร และอาจจะนำไปสู่การตีความแบบคับแคบหรือมั่วไปมาของภาครัฐ ที่จะยิ่งเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิของพลเมืองหลายกลุ่มยิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่?
บางคนบอกว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ น่าจะเป็นคำที่ชัดเจนและเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออก และวิถีชีวิตที่เกี่ยว ข้องกับ เพศสภาพและเพศวิถีที่แตกต่างหลายรูปแบบ ในสังคมไทย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและรับรองในเรื่องสิทธิอย่าง เท่าเทียมในฐานะพลเมืองไทยและคนทั่วไปก็น่าจะเทียบเคียงความหลากหลายทางเพศเข้ากับประเด็นความหลากหลายอื่น ๆ ที่พอจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง เช่นความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือชีวภาพ
ในขณะที่คำว่า ‘อัตตลักษณ์ทางเพศ’ ต้องอาศัยการทำความเข้าใจอีกหลายยกว่าคืออะไรและหมายถึงอะไร เพราะดูจะเป็น เรื่องยาก และซับซ้อนอย่างไรอยู่
อันที่จริงการตระหนกและสับสนอันเนื่องมาจากคำทั้งสองนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคำว่า‘เพศ’ ในความหลากหลายทาง เพศ และอัตตลักษณ์ทางเพศหมายรวมถึงแง่มุมทางกายภาพ การกระทำ รสนิยม และวิถีชีวิต ก็เลยทำให้เข้าใจไปได้ต่าง ๆ กัน
สำหรับคนที่ออกจะหวาดกลัวว่าเรื่องเพศที่หมายถึงพฤติกรรมเพื่อสนองความพอใจทางกายในเรื่องเซ็กส์จะทำให้คนขาดสติ และขาดความยั้งคิดได้คล้าย ๆ กับเหล้าเบียร์และยาเสพติด การเปิดเสรีให้คนได้เลือกและแสดงออกในเรื่องเพศอาจจะดูน่า กลัวเพราะดูเหมือนจะออกอาการมั่วและไร้ระเบียบอย่างไรอยู่
อัตตลักษณ์ทางเพศมีแง่มุมของการเลือกและต่อรองของคนในกรอบความหมายเรื่องเพศที่จำกัดว่าคนเป็นได้
เพียงชายหรือหญิงโดยกำหนดจากอวัยวะเพศที่มีติดตัวเมื่อแรกเกิด และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในทางเพศ ที่ปกติต้องเป็นเรื่องของชายหญิงเท่านั้น
อัตตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวข้องกับการเลือกที่จะแสดงออกในทางร่างกาย กิริยามารยาท และวิถีชีวิตของคนว่าจะเป็นหญิง หรือชาย ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องในระดับต่าง ๆ กับการกำหนดหรือรับรองของรัฐและสังคม
อันที่จริงคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมตามการกำหนดเพศสภาพในระบบสองเพศสภาพก็ไม่ได้มีอาการแบบชายจริงหญิงแท้กันเลยทีเดียว แต่มีลักษณะปรากฏและการแสดงออกที่ค่อนไปในฝั่งของเพศสภาพอย่างที่ได้รับมอบหมาย บางคนมีลักษณะ ของอวัยวะเพศ ที่ไม่ชัดเจน บางคนแต่งกายข้ามเพศ(สภาพ) เป็นครั้งคราว ตลอดเวลา และโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ให้คนอื่นได้เห็นได้รับรู้ บางคนที่เลือกดำเนินชีวิตแบบข้ามเพศได้อาศัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ปรับเปลี่ยนอวัยวะเพศให้สอดคล้องกับเพศสภาพที่ตนเลือก
อัตตลักษณ์ทางเพศยังมีแง่มุมของการเลือกและแสดงออกของรสนิยมและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการ
เกี่ยวข้องในทางเพศทั้งพวกรัก/มีเซ็กส์กับคนต่างเพศเท่านั้น คนรักและ/หรือมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน และพวกที่ชอบ ทั้งสองเพศ/เพศสภาพ รสนิยมและวิถีชีวิตที่ต่างไปจากรักต่างเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ก็เลยไม่มีที่ทางและถูกกีดกันจากชีวิตทางสังคมการเมือง
อัตตลักษณ์ทางเพศสะท้อนการต่อรองและขัดขืนของคนหลายกลุ่มในระบบที่บังคับและจำกัดการเลือกและวิถีชีวิตเรื่องเพศและเพศสภาพ ซึ่งก็มีราคาสูงในรูปของการถูกประณามหยามเหยียดทางสัมคมหรือการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของรัฐ ที่ผูกขาดการรับรองเพศสภาพและเพศวิถีของพลเมือง
คนที่ใช้เสรีภาพในการเลือกเพศสภาพของตนเองตามใจจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหาในชีวิตประจำวันนัก ถ้าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการขอการรับรองหรือการคุ้มครองจากภาครัฐ เพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ กิจกรรมและบริการของ การเมือง ภาครัฐหมายถึงความสับสนวุ่นวายเมื่อลักษณะปรากฏไม่สอดคล้องกับเพศสภาพที่รัฐรับรอง ในเอกสาร ของทางราชการ หรือการมีวิถีชีวิตต่างไปจากภาพของแก่พลเมืองที่รัฐมองเห็นว่ามีแต่คนที่นิยม/ รักต่างเพศ และดำรงอยู่ในครอบครัวแบบผัวเมีย–พ่อแม่ลูก
การไม่ยอมตามและการขัดขืนกรอบเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีเป็นไปได้เมื่อไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐ และกลายเป็น ความเสียเปรียบหรือไม่เท่าเทียมในระบบการเมืองไปได้เพียงเพราะการเลือกอัตตลักษณ์ทางเพศต่างไป
การรับรองความเสมอภาคและการห้ามการเลือกปฏิบัติบนฐานของอัตตลักษณ์ทางเพศจึงน่าจะเป็นการเพิ่มพูนเสรีภาพของ คนและเลิกกักขังคนไว้กับความไม่เท่าเทียมอันเนื่องมาจากการเลือกนิยามตนเองและแสดงออกในเรื่องอัตตลักษณ์
-----------------------------------------------------------
ขอขอบคุณ
บทความ
โดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความคิดเห็น