ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก

    ลำดับตอนที่ #8 : พื้นที่วัฒนธรรมใหม่ของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน

    • อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 55


     หลังจากที่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในอาณานิคมของชาวยุโรป และอเมริกัน วิธีคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีแบบตะวันตกค่อยๆเข้ามามีอิทธิพลต่อเรื่องเพศของคนท้องถิ่น โดยอาศัยระบบการศึกษาสมัยใหม่ การพัฒนาประเทศ การสร้างรัฐชาติ และระบอบประชาธิปไตย (Garcia, 2008, p.167)  ในประเทศฟิลิปปินส์  ความคิดเรื่องเพศสมัยใหม่มาพร้อมกับอิทธิพลของอเมริกัน ซึ่งพยายามอธิบายเพศด้วยความรู้เพศวิถีที่แบ่งแยกรักต่างเพศออกจากรักเพศเดียวกัน  ความรู้นี้ปรากฎอยู่ในเรื่องสุขภาพอนามัย จิตเวชศาสตร์ การวางแผนครอบครัว และระบบผัวเดียวเมียเดียว  ทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพ ศ (bakla) และรักเพศเดียวกันต้องกลายเป็นคนชายขอบ และถูกจัดให้เป็น “โฮโมเซ็กช่วล” ตามทฤษฎีตะวันตก  ปัจจุบันคนข้ามเพศในฟิลิปปินส์ถูกมองว่าเป็นเกย์ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เพราะสังคมตัดสินจากพฤติกรรมเซ็กส์ที่คนข้ามเพศแสดงออก มากกว่าจะสนใจบทบาททางสังคมที่ bakla สามารถแสดงความเป็นชายและความเป็นหญิงได้  การ์เซีย(2008) อธิบายว่าการกลายสภาพของบากล่าเป็นโฮโมเซ็กช่วลคือการผสมผสานระหว่างความคิดเรื่องเพศที่มีมาก่อนกับความคิดแบบตะวันตก โดยบุคคลที่เป็นคนข้ามเพศหรือบากล่ามีวิธีการสร้างตัวตนขึ้นมาโดยอาศัยนิยามใหม่ของการเป็นเกย์และเพศวิถี รวมเข้ากับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศที่มีมาแต่เดิม 

                      ปัจจุบันบากล่าประกอบอาชีพเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น ช่างทำผม และช่างแต่งหน้า  ทำงานในบาร์เบียร์ รวมทั้งการขายบริการทางเพศ   ปัจจุบัน บากล่าจะรวมตัวกันเพื่อจัดงานประกวดสาวประเภทสอง หรือ Miss gay Philippinesซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ  Hairdressers and Cosmetologists Association of the Philippines มีสมาชิกสาวประเภทสองประมาณ 15,000 คน       ส่วนเกย์ในฟิลิปปินส์จะต่างไปจากบากล่า เพราะส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและเรียนหนังสือต่างประเทศ  กลุ่มเกย์จะใช้ชีวิตอยู่ในบาร์และสถานเริงรมย์เพราะได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ไม่มีกฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล ทำให้เกย์หลายคนสามารถเปิดเผยตัวเองได้ในที่สาธารณะ       ในช่วงทศวรรษ 1970 กลุ่มเกย์ในฟิลิปปินส์รวมตัวกันภายใต้กลุ่มชื่อ Kakasarian สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและต้องการเรียกร้องสิทธิเกย์ รวมทั้งพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่ต่างไปจากกลุ่มบากล่าที่แต่งตัวเป็นหญิง  ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เกิดกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนอีกหลายกลุ่ม เช่น Pro-Gay, LesBond, Lesbian Collective, Can't Live in the Closet, และ BANANAโดยมีการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองและบางกลุ่มก็ทำงานป้องกันโรคเอดส์       สิ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงนี้ นักศึกษาเกย์เลสเบี้ยนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลเสบี้ยน  กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยบาเบย์ลัน   สภาพดังกล่าวนี้ทำให้เกย์ฟิลิปปินส์มีสำนึกเรื่องสิทธิและสำนึกเชิงการเมืองอย่างเข้มข้น   จนกระทั่งในปี 1994 ได้มีการเดินพาเหรดเกย์ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย     ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศหลายกลุ่ม ทั้ง เกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง(bakla) ไบเซ็กช่วล (silahis) ทอมบอย เป็นต้น แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ต่างกัน  การศึกษาของไมเคิล ตัน(2001) อธิบายว่าการเป็นเกย์ในฟิลิปปินส์อาศัยการอ้างอิงความแตกต่างจากบากล่าเพื่อที่จะทำให้เกย์แสดงความเป็นชาย และบากล่าแสดงความเป็นหญิง

             ในการศึกษาของยิค คุน เต (2008) อธิบายว่าคำเรียกการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ (ชายแต่งหญิง) ภาษามาเลย์เรียกว่า “mak nyah” หมายถึงการแสดงพฤติกรรมที่เหมือนผู้หญิง ซึ่งเป็นคำเรียกที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1987 โดยกลุ่มสาวประเภทสองที่ผ่าตัดแปลงเพศ ที่ออกมาสร้างกลุ่มของตัวเองและเรียกตัวเองว่า “มัก นีย่า”  คำนี้ต่างจาก “pondan” ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่มีท่าทางเป็นหญิงที่ใช้เรียกเกย์  กลุ่มของมักนีย่าจึงมีอัตลักษณ์ที่ต่างไปจากกลุ่มพอนแดน   กลุ่มของมักนีย่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ และจะมีฐานะยากจน เป็นชนชั้นแรงงาน มีการศึกษาน้อย  อาชีพขายบริการทางเพศสามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเธอง่ายกว่าการทำอาชีพอื่น  ในช่วงอาณานิคมอังกฤษ กลุ่มสาวประเภทสองในมาเลย์จะมีความสุขมากเพราะได้ทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น เป็นผู้เตรียมงานสมรสให้บ่าวสาวในหมู่บ้าน  เป็นนักเต้นรำ นักปรุงอาหาร และศิลปิน นอกจากนั้น รัฐบาลอิสลามก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมพวกเธอมากนัก พวกเธอจึงรู้สึกว่ามีอิสระและสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ หลังจากที่รัฐบาลมหาธีร์เข้ามาบริหารประเทศในปี 1983 มีกฎระเบียบใหม่ห้ามชาวมุสลิมผ่าตัดแปลงเพศ รวมทั้งห้ามการแต่งตัวข้ามเพศด้วย ยกเว้นกรณีที่บุคคลเกิดมาโดยมีสองเพศตามธรรมชาติ รัฐจะอนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ

                      ในศาสนาอิสลามแยกเพศเป็น 4 แบบ คือ ชาย หญิง กะเทยแท้ และ mukhannis  บุคคลที่เป็นมัคกันนีสจะเป็นผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิง คนกลุ่มนี้จะถูกห้ามจากรัฐบาลไม่ให้ผ่าตัดแปลงเพศ ทำศัลยกรรม หรือกินฮฮร์โมนเพศหญิง  ด้วยเหตุนี้ทำให้สาวประเภทสองหลายคนต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศ (ส่วนใหญ่เดินทางมาประเทศไทย)  นอกจากนั้น รัฐบาลของมหาธีร์ยังปิดกั้นการสร้างชุมชนของสาวประเภทสองเพราะรัฐมองว่าพวกเธอบ่อนทำลายศาสนาอิสลาม หรือทำให้สังคมเสื่อมทรามลง  ปัจจุบันนี้ สาวประเภทสองหลายคนใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวเพราะเกรงว่าหลังจากที่เธอเสียชีวิตลงจะไม่มีใครไปงานศพของเธอ และกลัวว่าวิญญาณจะไม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า  ในมาเลเซียยังมีกฎหมาย Syariah ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพลเมือง รวมทั้งมาตรา 377a  ระบุว่าการที่บุคคลนำองชาตไปใส่ทวารหนักหรือปากของคนอื่นถือว่าเป็นการกระทำทางเพศที่ฝ่าฝืนธรรมชาติ  มาตรา 377b ระบุว่า บุคคลใดก็ตามกระทำการทางเพศที่ผิดธรรมชาติจะถูกจองจำเป็นเวลา 20 ปี และนำตัวไปเฆี่ยน     แต่สาวประเภทสองมักจะไม่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้ ยกเว้นถูกทำร้ายจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ทางศาสนา  สาวประเภทสองหลายคนจึงหันไปแต่งตัวเป็นผู้ชายเพื่อที่จะไม่ถูกทำร้าย

                      สำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในมาเลเซีย  มักจะถูกอธิบายว่าเป็น pondan คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัวเพราะชาวมาเลย์มองว่าความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ลุกลามเข้ามาภายหลัง  ในกลุ่มเกย์เองจะนิยามตัวเองเป็นชายหรือ jantan  ในปี 1987 มีการตั้งองค์กรชื่อ The Pink Triangle โดยกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนที่ต้องการทำงานป้องกันโรคเอดส์ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐ แต่รัฐไม่ได้ส่งเสริมให้องค์กรนี้ทำกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเกย์เลสเบี้ยน เช่น การส่งเสริมอัตลักษณ์หรือการให้คำปรึกษาแก่เกย์เลสเบี้ยนในการใช้ชีวิต  ส่งเสริมให้สังคมยอมรับและเข้าใจผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน     สำหรับเกย์เลสเบี้ยนทั่วไปจะใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มเพื่อนและต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องแต่งงานมีครอบครัวเหมือนบุคคลที่เป็นชายหญิง (Baba, 2001, p.161.)  นอกจากนั้น กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสองในมาเลเซียจะรวมตัวกันในเทศกาล Seksualiti Merdeka เป็นเทศกาลเกี่ยวกับศิลปะการแสดง สิทธิมนุษยชน และสิทธิทางเพศ ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เป็นชายขอบหรือถูกละเมิดสิทธิได้แสดงออกและพบเจอกัน

                      ในประเทศอินโดนีเซีย  องค์กรและสิ่งพิมพ์ของเกย์และเลสเบี้ยนเกิดขึ้นในปี 1982 ในช่วงเวลานี้รัฐได้มีกฎหมายห้ามบุคคลแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมและผิดหลักศาสนาอิสลาม บุคคลที่เป็นเกย์หลายคนมักจะถูกจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ  นอกจากนั้น กลุ่มทางศาสนาก็พยายามต่อต้านบุคคลที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนซึ่งบางครั้งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายคนเหล่านั้น     จนกระทั่งในปี 2003 กฎหมายดังกล่าวนี้ก็ถูกยกเลิกไป  องค์กรเกย์และเลสเบี้ยนที่ตั้งขึ้นองค์กรแรกคือ Lambda Indonesia ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิของเกย์เลสเบี้ยน ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 มีองค์กรเกย์และเลสเบี้ยนเกิดขึ้นอีกหลายองค์กร ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศแรกที่มีองค์กรเกย์เลสเบี้ยนที่เก่าแก่ที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งมีมากกว่า 30 องค์กร    ปัจจุบันองค์กรที่มีชื่อเสียงและมีผลงานโดดเด่นคือ Gaya Nusantara เป็นองค์กรเกย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิและการป้องกันโรคเอดส์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   นอกจากนั้นยังมีองค์กร Yayasan Srikandi Sejati ที่ทำงานด้านสิทธิและสุขภาพของคนข้ามเพศ และเครือข่าย Chandra Kirana ที่ทำงานเกี่ยวกับหญิงรักหญิง (Offord and Cantrell, 2001, p.243.)  สำหรับสาวประเภทสองในอินโดนีเซีย ปัจจุบันจะทำงานเกี่ยวกับความสวยงามและมีการจัดเวทีประกวดสาวประเภทสอง ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Yayasan Putri Waria Indonesia  ผู้ที่ได้รับตำแหน่งจะเป็นตัวแทนและทำหน้าที่รณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันโรคเอดส์และการท่องเที่ยว

             ในประเทศสิงคโปร์ การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ถูกเรียกว่า ah-qua ซึ่งเป็นคำจากภาษาจีนและกลายเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่เป็นเกย์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในสังคมสิงคโปร์ การปรากฎตัวของเกย์และคนข้ามเพศ(สาวประเภทสอง) มาพร้อมกับสถานบริการประเภทบาร์และไนท์คลับในย่านถนนบูกิสและออร์ชาร์ดในช่วงทศวรรษ 1960  ย่านดังกล่าวนี้เป็นย่านธุรกิจและศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวที่สำคัญของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เกย์ที่ไปเที่ยวบาร์ส่วนใหญ่ยังเป็นชาวตะวันตกที่เดินทางมาอยู่หรือมาเที่ยวสิงคโปร์  เพราะเกย์ที่เป็นชาวสิงคโปร์เองยังไม่กล้าเปิดเผยตัว ยกเว้นเกย์สิงคโปร์ที่เคยเรียนหนังสือในตะวันตกและใช้ภาษาอังกฤษได้จะนิยมมาเที่ยวบาร์ ซึ่งรู้จักในนาม “Orchard Road Queen”  (Russell Heng Hiang Khng, 2001, p.82.)  นอกเหนือจากบาร์ที่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น  ชาวเกย์สิงคโปร์ไม่มีสถานที่นัดพบกันและไม่มีชุมชนที่เปิดเผย การสร้างชุมชนเกย์จะค่อยๆเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980  ช่วงเวลานี้ สิงคโปร์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและบรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างมีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้ชาวเกย์สิงคโปร์กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตและหาคู่ในบาร์และพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะฮ่องลิมหรือสระว่ายน้ำ   รวมถึง การแสดงออกในวิชาชีพต่างๆ เช่น นักเขียน ศิลปะ งานโฆษณา งานสร้างสรรค์ การออกแบบแฟชั่น เป็นต้น

             อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาควบคุมการแสดงออกทางเพศของเกย์มากขึ้น เช่น ห้ามมิให้เกย์หาคู่ในพื้นที่สาธารณะและเข้าไปตรวจค้นบาร์ในคืนที่มีเกย์มาเที่ยว  ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เกิดกลุ่มเกย์รวมตัวกันเพื่อส่งเสริมคุรภาพชีวิตของคนรักเพศเดียวกันในสิงคโปร์ กลุ่มนี้มีชื่อว่า People Like Us(PLU) ก่อตั้งในปี 1993 และเริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลสเบี้ยนในสิงคโปร์  กลุ่มพีแอลยูพยายามจัดตั้งเป็นบริษัทแต่ถูกปฏิเสธจากทางการเพราะมองว่ากลุ่มพีแอลยูมีภาระกิจที่ขัดต่อกฎระเบียบอันดีงามของสังคม  ต่อมาจึงพยายามจดทะเบียนเป็นสมาคม แต่ทางการยังไม่ยอมออกใบอนุญาต  สาเหตุสำคัญคือ กฎหมายสิงคโปร์ยังคงลงโทษบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งบัญญัติขึ้นในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ   รวมทั้งรัฐบาลมองว่าเกย์เลสเบี้ยนเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาบ่อนทำลายวัฒนธรรมของเอเชียให้จางหายไป    เมื่อไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล ความพยายามของกลุ่มเกย์สิงคโปร์จึงมุ่งไปสู่ช่องทางสื่อสารสมัยใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ต ช่องทางนี้เป็นที่รวมตัวของคนรักเพศเดียวกันที่สะดวกปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมาก (Russell Heng Hiang Khng, 2001, p.92.)

                      ในประเทศพม่า การแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลถือว่าผิดกฎหมายและอาจถูกลงโทษจองจำนานถึง 10 ปีและต้องเสียเงินค่าปรับ   กลุ่มนักศึกษาพม่าที่เรียกตัวเองว่า All Burma Students' Democratic Front  พยายามต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองในพม่ารวมตัวกันแบบเงียบๆและลับๆในชื่อกลุ่ม Committee for Lesbigay Rights in Burma  ซึ่งก่อตั้งในปี 1996 โดย  อัง เมียว มิ้น  และมีที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย    กลุ่มนี้จะสนับสนุนเกย์เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมสันทนาการและพบปะกันระหว่างสมาชิก  กลุ่มนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า Rainbow Colors of Burma    เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองภายใต้เผด็จการทหาร ทำให้กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองไม่สามารถจัดตั้งเป็นองค์กรแบบเผิดเผยได้ รวมถึงไม่มีแหล่งรวมตัว เช่น บาร์หรือไนท์คลับของเกย์   คนกลุ่มนี้จึงเข้าร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ต่างประเทศเพื่อทำงานเชิงรณรงค์ด้านสิทธิ

                      ในประเทศกัมพูชาไม่มีกฎหมายลงโทษบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล   พฤติกรรมข้ามเพศรู้จักในนาม “กะเทย” ซึ่งแบ่งเป็นกะเทยผมสั้น (sak klay) หมายถึงผู้ชายที่มีเซ็กส์กับผู้ชาย  และสามารถแต่งงานอยู่กินกับผู้หญิงได้   และกะเทยผมยาว (sak veng) หรือเรียกว่า srei sros หมายถึง ผู้ชายที่แสดงกิริยาท่าทางและแต่งตัวเป็นผู้หญิง  ทั้งนี้ วิธีคิดเรื่องเพศของชาวกัมพูชาจะสนใจการแสดงความเป็นหญิง (charek srei) และความเป็นชาย (charek pros) มากกว่าสนใจเรื่องอารมณ์ทางเพศ (CCHR,2010)  กะเทยผมยาวจะไม่ชอบให้คนอื่นเรียกเขาว่า khteuy  เพราะเป็นการดูถูก     กะเทยผมยาวจะแสดงตัวอย่างเปิดเผยแต่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม กะเทยผมยาวบางคนอาจถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายหรือถูกข่มขืน    ปัจจุบันนี้ รัฐบาลกัมพูชายอมให้มีการเปิดบาร์เกย์ในเมืองท่องเที่ยวเช่นเสียมเรียบ เพราะคิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเกย์สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ  ในปี 2011 กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชาก็เริ่มเปิดตลาดในกลุ่มเกย์มากขึ้น   ทำให้บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมากจัดโปรแกรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเกย์ต่างชาติให้เดินทางมากัมพูชา   ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรเกย์ที่ออกมารณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลสเบี้ยน ได้แก่ กลุ่ม Cambodia GLBT Pride, Rainbow Community Kampuchea, RoCK, และ M Style ซึ่งมีบทบาทในการจัดการเดินพาเหรดเกย์ครั้งแรกในกัมพูชาในปี 2003 แต่จัดต่อเนื่องทุกๆปี    กลุ่ม RoCK เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของเกย์ เลสเบี้ยนและคนข้ามเพศที่ชัดเจนที่สุดในกัมพูชา ในปี 2004 กษัตริย์นโรดม สีหนุ แสดงความคิดเห็นว่าการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม เพราะพระองค์เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโฮโมเซ็กช่วลให้เท่าเทียมกับผู้ชายและผู้หญิง

                      ในประเทศลาว ไม่มีกฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เช่นเดียวกับไม่มีการจัดตั้งองค์กรของเกย์เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง รวมถึงไม่มีสถานบันเทิงเช่นบาร์หรือไนท์คลับที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน    ปัจจุบัน บุคคลที่เป็นคนข้ามเพศและรักเพศเดียวกันในลาวสามารถพบเห็นได้ในเวียงจันทน์ คนเหล่านี้จะมีที่นัดพบกันในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะริมแม่น้ำ ลานน้ำพุ  ตลอดจนดิสโก้เธคของชายหญิง  อย่างไรก็ตาม เกย์และเลสเบี้ยนในลาวยังไม่เปิดเผยตัวมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสาวประเภทสอง  ในการศึกษาของ Doussantousse และ Keovongchith (2004) อธิบายว่าผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหมือนหญิง หรือ “กะเทย” จะทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า รวมถึงทำงานขายบริการทางเพศให้กับผู้ชายลาวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มกะเทยนี้จะรวมตัวกันเพื่อสร้างสังคมของตัวเอง คล้ายๆกับกะเทยในประเทศไทย   ปัจจุบันองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ได้เข้าไปศึกษาชีวิตทางเพศของคนกลุ่มนี้เพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในกลุ่มกะเทย  ซึ่งทำให้เห็นอัตลักษณ์และการแสดงออกทางสังคมของกะเทยและเกย์ในลาวมากขึ้น   ในสังคมลาวมีการแยกประเภทกะเทยเป็น 2 แบบ เช่นเดียวกับกัมพูชา คือกะเทยผมสั้น หมายถึง ผู้ชายที่แสดงออกแบบชายแต่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย และกะเทยผมยาว หมายถึงผู้ชายที่แสดงออกและแต่งตัวเป็นหญิง และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

                      ในประเทศเวียดนาม ไม่มีข้อห้ามหรือกฎหมายที่เอาผิดบุคคลที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล  แต่ในทางวัฒนธรรม ชาวเวียดนามถูกสอนให้เชื่อในลัทธิขงจื้อที่ยึดมั่นในความเป็นชายหญิง   รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามจึงมีท่าทีปฏิเสธพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 รัฐบาลได้สร้างโฆษณาที่ต่อต้านโฮโมเซ็กช่วลโดยระบุว่าเป็น “ปีศาจของสังคม” เช่นเดียวกับการเป็นโสเภณี นักเล่นพนัน และคนค้ายาเสพติด  นอกจากนั้น สื่อกระแสหลักก็ออกมาประณามว่าเกย์เป็นโรคร้ายของสังคม หรือเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน    ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการปราบปรามผู้ที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ครบอครัวของชาวเวียดนามก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานของตนเป็นคนรักเพศเดียวกัน     อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเกิดธุรกิจและสถานประกอบการของเกย์ในเมืองโฮจิมินฮ์ และฮานอย เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในช่วงทศวรรษ 2000   รวมทั้งคนรุ่นใหม่ในเวียดนามยอมรับบุคคลที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองมากขึ้น

             ในประเทศไทย รัฐไม่ได้ควบคุมหรือมีกฎหมายลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล ยกเว้นในช่วงเวลาสั้นเมื่อรัชกาลที่ 5จัดทำประมวลกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2452 ได้นำเอาความคิดตะวันตกมาใช้กับสังคมไทยโดยลอกกฎหมายโซโดมีที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วลมาใส่ไว้ในกฎหมายไทย แต่ระบุโทษไม่รุนแรงเท่าตะวันตก โดยกำหนดโทษผู้ที่กระทำชำเราผิดมนุษย์ จำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 50 บาทถึง 500 บาท แต่กฎหมายนี้ยกเลิกไปในปี 2499 หลังจากนั้นมาผู้ที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันก็ค่อยๆปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะ  อย่างไรก็ตามพฤติกรรมข้ามเพศหรือกะเทยมีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แต่การแสดงอัตลักษณ์เกย์สมัยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ1960-1970  เห็นได้จากการเกิดขึ้นของบาร์เกย์ในกรุงเทพฯ และในคอลัมน์ของโก้ปากน้ำที่ตอบจดหมายให้กับกะเทยและคนรักเพศเดียวกัน          จนถึงทศวรรษ 1980 นิตยสารมิถุนาได้ตั้งกลุ่มชื่อมิถุนาคลับเพื่อให้เกย์ไทยได้มาทำกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมแรกเกิดขึ้นในปี 2528 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เกิดกลุ่มหญิงรักหญิงชื่ออัญจารี จัดตั้งในปี 2529 (Sinnott, 2011, p.207.) ได้รวมตัวกันเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรกที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม    ต่อมาในปี 2532  นที ธีระโรจนพงษ์ ได้สร้างกลุ่มละครเส้นสีขาวและตั้งกลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ความรู้โรคเอดส์ในสถานประกอบการของชาวเกย์

                      ในปี 2542 กลุ่มเกย์ในย่านสีลมรวมตัวกันจัดงานพาเหรดครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Bangkok Gay Festival ในปีเดียวกันนี้กมลเศรษฐ์ เก่งการเรือก็ร่วมมือกับเพื่อนๆตั้งกลุ่มเส้นทางสายรุ้ง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสมาคมฟ้าสีรุ้ง  และในปี 2545 มีการตั้งองค์กรบางกอกเรนโบว์ ทั้งสององค์กรนี้ทำงานรณรงค์ให้ความรู้โรคเอดส์ในชุมชนเกย์ รวมทั้งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน  และส่งเสริมให้สื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกแก่คนกลุ่มนี้  ส่วนกลุ่มสาวประเภทสองมีการรวมตัวกันตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยและมีการตั้งสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยในปี 2553   เนื่องจากปัญหาของกะเทยค่อนข้างชัดเจนกว่าเกย์และเลสเบี้ยน ตัวอย่างเช่น เมื่อกะเทยไปคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร พวกเธอจะถูกตรวจร่างกายและถูกจัดให้อยู่ประเภท “โรคจิตถาวร”  ซึ่งจะเขียนไว้ใน สด.43 และเมื่อกะเทยไปสมัครงานและยื่นหลักฐานเกณฑ์ทหารนี้ พวกเธอก็จะถูกมองว่าเป็นคนป่วยทางจิต     ปัญหานี้ทำให้กะเทยออกมาต่อสู้เพื่อให้เปลี่ยนคำเรียก และได้รับชัยชนะในปี 2554 เมื่อศาลพิจารณาว่ากะเทยมิใช่ผู้ป่วยทางจิต และการระบุว่ากะเทยเป็นโรคจิตถาวรถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และสั่งให้กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนคำใหม่ที่เหมาะสม โดยกลุ่มกะเทยเสนอให้ใช้คำว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

                      นอกจากนั้น ในปี 2554 เกิดกลุ่มหญิงรักหญิง ชื่อ กัลยาสโมสร เพื่อทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเลสเบี้ยน ทอมดี้     ในขณะที่ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งจะขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายและสวัสดิการของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ปัจจุบันองค์กรที่ทำงานในประเด็นเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองในประเทศไทยมีประมาณ 20 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะได้รับงบประมาณจากโครงการเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์และสุขภาวะทางเพศ  การศึกษาของแจ็คสัน (1995) และนฤพนธ์(2553) ชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์เกย์ในสังคมไทยอาศัยพื้นที่วัฒนธรรมบริโภคที่ช่วยให้ผู้ชายที่รักเพศเดียวกันสามารถแสดงตัวตนทางเพศของตนเอง เช่น ในบาร์ ผับ ดิสโก้เธค ซาวน่า ฯลฯ แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะเกย์ไทยจะแสดงบทบาทผู้ชายตามที่สังคมคาดหวัง สิ่งนี้ทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทยต่างไปจากตะวันตก เพราะไม่ได้ต่อสู้กับรัฐหรือแก้กฎหมายที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วล แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้มี “พื้นที่” ในการแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรม และทำให้สังคมยอมรับในพื้นที่สาธารณะ  นฤพนธ์(2553) ได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของเกย์ไทยสะท้อนภาพชีวิตสองด้านระหว่างการเป็นเกย์กับการเป็นผู้ชาย และกลุ่มและองค์กรเกย์ต่างๆออกมาเคลื่อนไหวโดยอาศัยพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น พาเหรด ค่ายทักษะชีวิต และการสร้างสื่อชนิดต่างๆ เพื่อที่จะทำให้สังคมมองเห็นความรู้ความสามารถของเกย์และยอมรับเกย์ในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้สะท้อนว่า “การปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะ” เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยน

                      ในประเด็นเกี่ยวกับหญิงรักหญิง การศึกษาของ Sinnott (2004,2008) ชี้ให้เห็นว่าหญิงรักหญิงในไทยนิยามตัวเองเป็นทอมกับดี้ ทอมหมายถึงผู้หญิงที่แสดงท่าทางเหมือนผู้ชายและแสดงความรักกับผู้หญิง  ส่วนดี้หมายถึงผู้หญิงที่แสดงความเป็นหญิงแต่สนใจเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้วางอยู่บนเรื่องเพศภาวะ หรือการแสดงบทบาทหญิงชายโดยทอมจะแสดงความเป็นชาย (ฝ่ายรุก) และดี้จะแสดงความเป็นหญิง(ฝ่ายรับ)  ความสัมพันธ์เหมือนกับคู่ชายหญิงที่เป็นรักต่างเพศ  ซินนอตต์อธิบายว่าสิ่งที่ทำให้คู่ทอมดี้ต่างไปก็คือ ทอมจะเป็นฝ่ายปรนเปรอความสุขทางเพศให้กับดี้ ซึ่งต่างจากชายไทยที่มีเซ็กส์กับผู้หญิงที่ไม่สนใจว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีความสุขหรือถึงจุดสุดยอดหรือไม่    การศึกษานี้ทำให้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของทอมดี้จะมีการแสดงออกที่ต่างไปจากบรรทัดฐานรักต่างเพศแต่ยังคงอาศัยวิธีคิดเรื่องเพศภาวะชายหญิงเป็นที่อ้างอิงเพื่อที่จะต่อเติมความหมายใหม่ๆให้กับความสัมพันธ์แบบคนรักเพศเดียวกัน (Sinnott, 2008, p.143.) ความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงจึงให้ความสนใจต่ออารมณ์ความรู้สึกและเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งต่างไปจากคู่สัมพันธ์ของเกย์และกะเทย

                      ความคับข้องใจของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในสังคมไทย เป็นผลผพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องเพศในช่วง 100ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ยุคสร้างรัฐไทยใหม่และอุมการณ์ชาตินิยมในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา (Reynolds, 1999,p.262.) ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ใช่อาณานิคมของตะวันตก แต่ผู้นำและราชวงศ์ไทยก็นำเอาความคิดตะวันตกมาใช้กับสังคมไทย หรือเป็นอาณานิคมทางความคิด ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็นกึ่งอาณานิคม(semicolonialism)  ความคิดเรื่องบทบาทชายหญิงจากตะวันตกจะเข้ามาครอบงำการแสดงออกทางเพศของคนไทย  เช่น การแต่งกายและการแสดงกิริยามารยาทที่เหมาะสมของหญิงชาย  เห็นได้ชัดเจนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการสร้างชาติให้ทันสมัยเหมือนตะวันตก ในยุคนี้รัฐจะเข้ามาควบคุมร่างกายของพลเมือง เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกาย บริหารร่างกาย เล่นกีฬา  และดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผู้ชายต้องแสดงความเป็นชาย ผู้หญิงต้องแสดงความเป็นหญิง  มีการประกวดชายฉกรรจ์ (ชายงาม) และประกวดสาวงาม เป็นต้น นโยบายรัฐนิยมนี้แพร่ออกไปโดยหน่วยงานราชการและมีโรงเรียนเป็นผู้นำไปปฏิบัติ เช่น การจัดให้มีวิชาพลศึกษา ฯลฯ  นโยบายดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องร่างกายและความเป็นชายและหญิงของคนไทย  ชายไทยหลายคนเลิกสักลายตามร่างกายเพราะถูกมองว่าล้าสมัย  และเปลี่ยนไปนิยมร่างกายที่สะอาดเกลี้ยงเกลาเพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพที่ดี    ทั้งนี้วัฒนธรรมบริหารร่างกาย หรือ Physical Culture เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการประกวดผู้ชายที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง และสมส่วน  วัฒนธรรมการประกวดชายงามและหญิงงามจึงแพร่หลายในช่วงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  นอกจากนั้นหญิงชายไทยหันมาแต่งกายและไว้ผมตามแบบตะวันตกเพื่อที่จะทำให้ตนเองดูทันสมัย  การแต่งกายแบบเดิมจะถูกมองว่าไม่มีอารยะ เช่น การนุ่งโจงกระเบนและใช้ผ้าคาดอก   (ก้องสกล กวินรวีกุลฒ,2545)   ทั้งนี้รัฐพยายามรณรงค์และโฆษณาให้คนไทยแต่งกายถูกต้องเพื่อสร้างวัฒนธรรมชาติ การจัดระเบียบหญิงชายยังรวมไปถึงการใช้คำสรรพนามและคำสำหรับผู้หญิงผู้ชาย เช่น ผู้ชายต้องเรียกตัวเองว่า “ผม” และลงท้ายประโยคด้วย “ครับ”  ผู้หญิง เรียกตัวเองว่า “ฉัน” และลงท้ายประโยคด้วย “ค่ะ” เช่นเดียวกับวางกฎเกณฑ์ในการตั้งชื่อว่าชายหญิงจะต้องตั้งชื่อให้ต่างกันเพื่อบ่งบอกความเป็นเพศชายเพศหญิง 

                      จะเห็นว่ารัฐไทยสมัยใหม่แยกเพศชายและหญิงออกจากกันอย่างเด็ดขาด และ ไม่สนใจร่างกายของคนข้ามเพศหรือรักเพศเดียวกัน เพราะมองว่าเป็นร่างกายที่ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง ทำให้บุคคลที่เป็นกะเทยเริ่มกลายเป็น “คนประหลาด” หรือ “ตัวตลก” เป็นร่างที่ไม่มีระเบียบวินัยและไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นพลเมืองในอุดมคติ  เห็นได้จากพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละคร พ.ศ.2485 ซึ่งให้ผู้แสดงลิเกต้องเป็นผู้ชายผู้หญิงแท้ ห้ามมิให้ผู้ชายแสดงเป็นหญิง และผู้หญิงแสดงเป็นชาย  กฎเกณฑ์นี้สะท้อนวิธีคิดเรื่องเพศในยุครัฐนิยมที่กีดกันและห้ามการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ ทั้งในพื้นที่ชีวิตประจำวันและพื้นที่การแสดง

    ตารางเปรียบเทียบ ข้อห้ามทางสังคมกับการเคลื่อนไหวของเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสองกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

    ประเทศ

    ข้อห้ามทางสังคม

    การเคลื่อนไหวของเกย์ เลสเบี้ยน

    และสาวประเภทสอง

    มาเลเซีย

    กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล

    ศาสนาอิสลามไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล

     จัดเทศกาล  Seksualiti Merdeka

    เกิดกลุ่ม The Pink Triangle

    อินโดนีเซีย

    ศาสนาอิสลามไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล

    เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง

    43 องค์กร

    ฟิลิปปินส์

    ศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล

    เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง

    17 องค์กร

    เกิดพรรคการเมืองชื่อ Ang Ladlad (2007)

    สิงคโปร์

    กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล

    รัฐบาลมองว่าเกย์เลสเบี้ยนทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม

    เกิดกลุ่ม People Like Us

    เกิดชุมชนในอินเตอร์เน็ต

    ไทย

    ทัศนคติชนชั้นกลางมองว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นความผิดปกติ และป่วยทางจิต (รับรู้แต่ไม่ยอมรับ)

    เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง

    ประมาณ 20 องค์กร

    พม่า

    กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล

    เกิดกลุ่ม Committee for Lesbigay Rights in Burma  ทำงานในประเทศไทย

    ลาว

    ค่านิยมสังคมยกย่องความเป็นชายและหญิง

    ไม่ยอมรับเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน

    ไม่มีองค์กรเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง

    กัมพูชา

    ค่านิยมสังคมยกย่องความเป็นชายและหญิง

    ไม่ยอมรับเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน

    เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มเกย์

    เกิดกลุ่ม Cambodia GLBT Pride, Rainbow Community Kampuchea และ M Style

    เวียดนาม

    ลัทธิขงจื้อไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล

    รัฐบาลคอมมิวนิสต์มองโฮโมเซ็กช่วลเป็นปีศาจสังคม

    เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มเกย์

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×