ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก

    ลำดับตอนที่ #13 : เกย์ และการถูกทำให้หายไปจากการเมือง

    • อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 55


    ฉันเป็นฅนที่หูตาไม่กว้างขวาง และนี่ไม่ใช่คุณสมบัติของฅนเขียนหนังสือที่ดี นอกจากเป็นฅนที่เดินทาง น้อยมากเท่าที่รู้ เว้นเดินจากห้องนอนไปห้องครัว แล้วก็ไม่ค่อยได้เดินไผไหนอีก ทั้งยังเป็นฅนที่ปิดหู ปิดตาต่อหนัง ละคร ดนตรี ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่ความขี้เกียจมันท่วมทับหมักหมม สุดท้ายการเสพ ภาพยนตร์ และดนตรีของฉันเหลือเพียงแต่การเสพผ่านการอ่าน

    คือแทนที่จะไปดูหนังหรือฟังเพลง ฉันชอบอ่านว่าฅนเขียนถึงหนังหรือเพลงนั้นว่าอย่างไร (พฤติกรรม เยี่ยงนี้เยาวชนไม่ควรเอาอย่าง และหากจะเอาอย่างควรใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน)

    แล้วก็ได้มาอ่าน “รักแห่งสยาม : มีคำถามตลอดทาง” โดย “พน” ในมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 28 ฉ.1429 ฉันไม่มีปัญหาใดๆ ในประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของหนัง เพราะฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหนัง ไม่ใช่ นักดูหนัง ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ยังไม่ได้ดู

    แต่ที่ชวนครั่นเนื้อครั่นตัวคือทัศนคติว่าด้วยเรื่องเกย์ ที่ปรากฏในบทความของ “พน” และในหลาย ประโยคที่เขาพยายามจะชี้แจงว่า “ไม่มีอคติเป็นการส่วนตัว” แต่นั่นยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงท่าที ของสังคมไทยกระแสหลักที่มีต่อเกย์

    เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าในสังคมไทยและอีกหลาย ๆ สังคม เราไม่เคยมีปัญหากับเกย์ในระดับ“ส่วนบุคคล” เราไม่มีการเอาก้อนหินขว้างใส่กะเทยหรือทอมบอย ด้วยความเกลียดชังเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ ในหลายสังคม เรารักจะดูหนังที่มีผี มีกะเทยที่เหมือนที่ “พน”ว่า เราชอบเม้าธ์แตกกับเพื่อน กะเทยเพราะมันส์กับภาษาแซ่บสนุกของพวกเธอ

    และเราผู้หญิงมักจะมองการกระทำ “ล้น” ของเล่ากะเทยด้วยความชอบใจ เพราะพวกเธอสามารถทำ ในสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่กล้าทำ พูดในสิ่งที่เราอยากพูดแต่ไม่กล้าพูด เราอยากจะเดินไปหยิกก้น ผู้ชายด้วยความมันเขี้ยว แต่เราไม่กล้า

    ทว่า เหล่ากะเทยทำฝันของเราให้เป็นจริง ด้วยการเข้าไปทำสิ่งนั้นแทนเรา

    เราสามารถเป็นเพื่อนกับเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ไม่กีดกัน ไม่รังเกียจ ตราบเท่าที่เพื่อนโฮโมเซ็กช่วลของ เราไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการคุกคามต่อระเบียบหลักของสังคม นั่นหมายความว่าเราไม่เคยพร้อม หรือ แม้แต่จะจินตนาการถึงการมีอยู่ของกลุ่มโฮโมเซ็กช่วลในฐานะที่เป็น “กลุ่มทางสังคม” กลุ่มหนึ่ง ที่มีอัตลักษณ์ทางการเมืองเท่าๆ กับอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงและชาย

    “พน” จึงเดือดร้อนใจมากถึงกับเขียนว่า

    “แต่แผ่นดินไทยก็ไม่ใช่แผ่นดินที่จะเอาเรื่องการผิดเพศมาประกาศว่า ฉันเป็นดินแดนเช่นนั้น…. หากจะมีที่ใดเหมาะควรจะเป็นเมืองหลวงแห่งชาวเพศที่สาม เมืองนั้นจึงยังไม่ใช่ประเทศไทย ที่ฝรั่งจำนวนมากยังรู้จักเข้าใจในชื่อสยาม… ผมนั้นเช่นเดียวกับฅนไทยส่วนใหญ่ที่รับเรื่องผิดเพศได้ ไม่รังเกียจ แต่ก็แน่นอนว่าระหว่างความปกติกับความผิดเพี้ยนไปนั้น ผมย่อมสบายใจ กับประการแรกมากกว่า เหมือนพี่น้องไทยทั่วๆ ไป” (หน้า 85)

    มันเป็นเรื่องยากที่จะเห็นว่า ความเป็นหญิงและชายนั้นมีความเป็นการเมือง เพราะมันไม่เห็น ชัดอยู่ทนโท่เหมือนจู๋และจิ๋มอันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด กระบวนการทางการเมืองของการสร้างหญิง และชายจึงมักถูกมองว่าเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นธรรมชาติ ผู้หญิงผู้ชาย หยิน หยาง เกิดมาคู่กัน

    ความรู้ข้อมูลว่าด้วยการร่วมเพศอันหลากหลาย ทั้งหญิงกับชาย ชายกับชาย หญิงกับหญิง ในโลกก่อนสมัยใหม่และในอีกหลายสังคมในโลกใบนี้จึงถูกละเลย

    และร้ายไปกว่านั้นหลังการสถาปนาสถาบันประชา อันเป็นหน่วยสำคัญของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่จำต้องมีเพียงหญิงและชาย ความสัมพันธ์ทางเพศที่นอกเหนือจากนี้ – รวมถึงระหว่างมนุษย์ กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ – จึงถูกสถาปนาให้กลายเป็นความป่วยไข้ วิปริต ผ่านความรู้ทาง การแพทย์ จิตวิทยา ศาสนา ดังที่ “พน” ใช้คำว่า “ผิดเพศ” อย่างปราศจากสำนึกที่ชอบทางการเมือง (politically incorrect)

    สัญลักษณ์ที่เห็นชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องทางการเมือง ระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศของเรากับสังคม รัฐชาติที่เราสังกัด คือการกำหนดวันพ่อ วันแม่ และวันเด็ก ด้วยการหมายสามจุดสำคัญนี้ลงบนสำนึก ทางการเมือง เราจึงรับรู้โดยอัตโนมัติว่า อ๋อ ชาติของเราย่อมเปรียบประหนึ่งครอบครัวใหญ่ อันมี พ่อ แม่ และลูก

    พ่อมีหน้าที่ออกไปทำงานนอกบ้าน หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจนั้น พ่อมีสิทธิกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบให้แก่สมาชิกในครอบครัยว

    โลกของพ่อคือโลกนอกบ้าน เป็นโลกสาธารณะ บทบาทของพ่อนอกจากทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องปกป้องผู้หญิงและเด็กที่อยู่ข้างหลัง (ทหาร-แนวหน้า – ปกป้องผู้หญิง, เด็ก-แนวหลัง)

    บทบาทของผู้หญิงใน “ชาติ” นั้นจะมีก็ต่อเมื่อเธอเป็นแม่ อันมีพัฒนาการมาจากการเป็นลูกสาว ใครสักฅน ก่อนจะมาเป็นเมียใครสักฅน แล้วบรรลุขั้นสูงสุดเมื่อได้เป็น “แม่” ของใครสักฅนหรือหลายฅน บรรลุไปกว่านั้น คือได้เป็นแม่ของลูกชายที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องบ้านเมือง

    จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงจำนวนมากเชื่อว่าความเป็นหญิงของตนจะไม่มีวันสมบูรณ์พร้อมหาก ไม่มีโอกาสเป็น “แม่ฅน” และเป็นที่มาของเนื้อเพลงประเภท “เป็นโสดทำไมให้เศร้าเหงาทรวง” ซึ่งเย้ยผู้หญิงโสดว่าจะตอบคำถามบางคำถามของยมบาลไม่ได้เมื่อตายไปแล้ว

    ซึ่งเท่ากับว่าหากผู้หญิงไม่มีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายเท่ากับเสียชาติเกิด และนี่เท่ากับ ปฏิเสธคุณค่าของประสบการณ์ทางเพศรคะหว่างหญิงกับหญิงด้วยกันเอง

    บทบาทของผู้หญิงจึงเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและเชื่อมโยงผู้หญิงกับ “แผ่นดิน” อันหมายถึงแหล่งกำเนิด ของสรรพชีวิต อวัยวะเพศของผู้หญิงก็เปรียบดั่งที่นาผืนน้อย (มีค่าอย่าเอาไปขาย โดยเฉพาะขาย ให้ต่างชาติ) เมื่อเป็นผู้ให้กำเนิดหรือเป็นแม่ บทบาทหน้าที่ของแม่คือการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอนลูก หรือเด็กคือการทำงานของ “แนวหลัง” เมื่อ “แนวหน้า” ต้องออกไปทำหน้าที่เพื่อชาติ

    เด็กคืออนาคติของชาติ เป็นคำขวัญที่ชี้ให้เห็นกระบวนการสร้างอัตษณ์ทางการเมืองอันเกี่ยวข้อง
    กับเพศ ครอบครัว และหน่วยทางการเมืองที่ชัดแสนชัด จึงไม่แปลกใจที่ “พน” จะสะท้อนความห่วงใย ของเขาออกมาว่า ในบรรดาพ่อแม่ที่กำลังจะมีลูกนั้นพวกเขาไม่รังเกียจว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชาย ขออย่างเดียว อย่า “เบี่ยนเบน” เพราะอาการเบี่ยงเบนย่อมสะท้อนความล้มเหลวงของพ่อแม่ และย่อมส่งผลกระทบต่อชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเรา

    สำนึกนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีใครฉุกถามว่า ลูกเป็นเกย์ แล้วไง ? พอๆ กับสำนึก เชื่อโดยอัตโนมัติว่า สีดำคือความทุกข์ สีแดงคือความรัก สีขาวคือความบริสุทธิ์ ลูกเป็นเกย์คือความ ผิดปกติ คือความล้มเหลว คือความเจ็บปวด โตขึ้นจะลำบาก จะถูกรังเกียจ จะอกหัก จะไม่มีวันพบ
    รักแท้ ฯลฯ

    เมื่อรัฐสมัยใหม่ตั้งอยู่บนฐานสำคัญในความสัมพันธ์ของ หญิง-ชาย , พ่อ-แม่-ลูก มันจึงเป็นรัฐที่ไม่มี โฮโมเซ็กช่วล ไม่เพียงแต่ไม่มี การเป็นโฮโมเซ็กช่วลยังบั่นทอนกำลังของรัฐ อย่างน้อยที่สุดความ สัมพันธ์แบบนี้ไม่ก่อให้ให้เกิดการเพิ่มของจำนวนประชากร จึงปริวิตกว่า หากเป็นเกย์กันเยอะเรา คงสิ้นชาติ หรือถูกกลืนชาติเข้าสักวัน

    กระบวนการทางการเมืองที่แบ่งเพศออกเป็นแค่ หญิง-ชาย และการตราให้เพศอื่นๆ เท่ากับการเบี่ยงเบน หรือผิดปรกติ จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

    รสนิยมทางเพศของเรา การร้องหรือไม่ร้องของเราเมื่อถึงจุดสุดยอด ความรักที่ถวิลหา ลูกแบบที่เรา อยากได้ ผัวแบบที่เราอยากมี เมียในอุดมคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง

    แต่ผ่านกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม ผ่านการเรียนรู้ปลูกฝัง ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือสารพัด แล้วเราก็อยู่กับมันแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง รู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอกบ้าง ที่แน่ ๆ รัฐชาติแบบนี้มี อายุตั้งสองร้อยกว่าปี

    และความรู้ทางการแพทย์ก็รับรองแก้ไขอคตินี้เรียบร้อยแล้ว โฮโมเซ็กช่วลมิใช่ความป่วยไข้ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ

    ในภาวะที่บ้านเมืองไทย ณ ขณะนี้ ขาข้างหนึ่งล่วงเข้าไปสู่ความฟาสซิสต์แล้ว ขออย่าได้นำเอา อคติล้าหลังอย่างนี้ออกมาสู่สาธารณะอีกเลย
    หาก “พน” จะแสดงความอับอาย กลัวฝรั่งจะรับรู้ “สยาม” ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของเกย์ ฉันคิดว่า สยามมีเรื่องอื่นให้อายมากกว่า เป็นต้นว่า มหกรรมแสดงความร่ำรวย มั่งคั่ง หรูหรา ของบรรดา ผู้มีอันจะกินอันจัดกันรายวัน รายคืนในโรงแรมหรูบ้าง ในห้างสรรพสินค้าดังบ้าง ในขณะที่ประชากร ส่วนใหญ่ของประเทศไม่ค่อยมีจะกินหรือมีก็มีแบบปากกัดตีนถีบ เรื่องแบบนี้น่าอายน่าขายขี้หน้า กว่าการเมืองเมืองหลวงของเกย์เป็นไหน ๆ

    เรื่องที่เรามีศูนย์การค้ามากๆ มีแฟชั่นโชว์สุดอลังการ และจะกลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่น ในขณะ เดียวกันเราเป็นประเทศที่ไม่มีห้องสมุดสาธารณะที่ดี เข้าถึงง่าย และประชากรของเราอ่าน หนังสือปีละไม่กี่บรรทัด ยิ่งน่าขายขี้หน้าเข้าไปใหญ่

    นี่เป็นตัวอย่างเบาะๆ เพราะหากจะจาระไนถึงเรื่องน่าขายขี้หน้าของประเทศไทยแล้ว คงเขียนหนังสือ ได้อีกเล่มเขื่อง ๆ

    ต่อเนื่องมาจากประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความห่วงใยที่ว่า ทุกวันนี้เรามีเด็กชายเป็นหนึ่ง ในสิงค้าสำหรับนักท่องเที่ยว หากหนังเรื่องนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศ มิกลายเป็นว่าจะมีบรรดา “ตาแก่ไม่รู้จักปรับใจให้สมวัยพวกนั้นหลั่งไหลมาสนับสนุนการท่องเที่ยวไปกันใหญ่ หรือไม่หนอ”

    ประโยคนี้ผิดตั้งแต่การจัดประเภท “ตาแก่ไม่รู้จักปรับใจให้สมวัย” เพราะฅนที่มาซื้อบริการ อาจจะไม่ใช่ฅนแก่เสมอไป และหากเป็นฅนแก่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดถึงกับต้องปรับใจให้สมวัย

    เพราะใครกำหนดมิทราบได้ว่า ฅนแก่มิบังควรมีอารมณ์ทางเพศ ?

    นอกจากนี้ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การซื้อขายทางกามารมณ์นั้น มิใช่ด้วยเรื่องทางกามารมณ์ และความเสี้ยนในกามแต่เพียงประการเดียว แต่เป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ทางอำนาจ

    ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการถูกทำให้เป็นหญิง เช่น การสร้างสาวเครือฟ้า เป็นมรดกให้กับเชียงใหม่

    ประเทศไทยก็ถูกระทำคล้ายๆ กันจากประเทศโลกที่หนึ่ง และเราก็น้อมรับความเป็นหญิงเช่นนั้น มาเป็นของเราแต่โดยดี

    เมื่อเราขายการท่องเที่ยว เราจึงขายความสวยงาม ความบริสุทธิ์ (ของธรรมชาติและภูมิประเทศ) ความอ่อนช้อย ความอ่อนหวาน (ของมารยาทแบบไทยๆ ) รอยยิ้ม มิตรไมตรี และน้ำใจที่ปรารถนา ให้ฅนที่มาเยือนบ้านเมืองของเราประทับใจไม่รู้ลืม

    และใครจะปฏิเสธได้ว่า เหล่านี้คือคุณศัพท์สำหรับการขายกามารมณ์ที่นักท่องเที่ยว หาไม่ได้ในประเทศ ของตน

    กามารมณ์เพื่อการขายของเราจึงมีแต่แต่ระดับอ่อนๆ ตั้งแต่การขาย โชว์ ประเภทต่างๆ และการนำ หญิงสาวห่มสไบนั่งตั่งแกะสลักผัก ผลไม้ให้นักท่เงที่ยว “จ้องมอง” ถ่ายรูป นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของ การขายความพึงพอใจอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างผู้มองกับผู้ถูกมอง

    ถึงที่สุด มันก็คือการขายบริการทางเพศในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

    และหากจะมีเด็กผู้ชายขายตูดให้ฝรั่ง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะการขาย ”ตูด” ด้วยตัวของมันเอง แต่ที่เราควรตระหนกให้มากคือสาเหตุและแรงผลักอันใดทำให้เด็กส่วนหนึ่งกลายเป็นสินค้าในธุรกิจนี้

    ที่แน่ ๆ เด็กลูกฅนชั้นกลาง หน้าใส เดินสยาม แบบพระเอกสองฅนในรักแห่งสยาม ไม่ใช่ฅนใน ชนชั้นที่จะกลายเป็นสินค้าทางเพศในแบบนั้นแน่ๆ (แต่อาจเป็นในแบบอื่นๆ )

    “พน” แสดงความห่วงใยว่า เราชักจะมีหนังเกี่ยวกับเกย์ออกมาถี่ไปหน่อยแล้ว แต่ฉันกลับเห็นว่าโลก ศิลปะบันเทิง หนัง เพลง วรรณกรรม ล้วนถูกผูกขาดโดยวัฒนธรรมของรักต่างเพศมานานแสนนาน

    ปริมาณหนัง เพลง วรรณกรรมเกย์ เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ อกจะน้อยถึงน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ และโดย เฉพาะอย่างยิ่งการเสนอเรื่องของโฮโมเซ็กช่วลที่ไม่ใช่อยู่ในกรอบของการเล่าเรื่องตามสูตรสำเร็จ เช่น เป็นเกย์เพราะขาดความอบอุ่น เป็นเกย์เพราะขาดพ่อ (ขาดต้นแบบที่ดีของความเป็นชาย) เป็นเกย์เพราะมีพ่ออ่อนแอ มีแม่เข้มแข็ง เป็นเกย์แล้วจึงต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการทำความดีอื่น ๆ มาทดแทน เพื่อให้สังคมยอมรับ เป็นเกย์แล้วถูกผู้ชายหลอก

    เรื่องเกย์ ผู้ชายว่ามีน้อยแล้ว เรื่องราวของเกย์ผู้หญิงแทบจะไม่มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในงานวรรณกรรม และเท่าที่รู้แทบจะไม่มีในหนังหรือละครไทย และประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวที่ถูกนำเสนอยังหนีไม่พ้น การตอกย้ำความสำคัญของสถาบันครอบครัวในแบบฉบับ

    นั่นคือ เห็นว่าปัญหาของสังคมมีที่มาจากปัญหาในครอบครัว ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็ง หากครอบครัวแตกหัก เสียหาย แม่ไม่ทำหน้าที่แม่ พ่อไม่ทำหน้าที่พ่อ ครอบครัวนั้นจะกลายเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้กับสังคมและผลิต “ประชากร” ที่มีปัญหาให้กับประเทศชาติ

    สังคมไทยผ่านกระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่มาไม่ถึงร้อยปีก็จริง แต่ก็แก่พอที่จะมีวุฒิภาวะพอ ที่จะก้าวผ่านภาวะการมีเพียงสองเพศ และขยายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับชาติให้พ้นไป จากการเป็นเพียงหน่วยขยายของ “ครอบครัว”

    แล้วเลิกอยู่กับแบบ พ่อๆ แม่ๆ ลูกๆ เสียที

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×