ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การทหารของไทย

    ลำดับตอนที่ #8 : สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่7-8

    • อัปเดตล่าสุด 16 ส.ค. 49


    กองทัพไทยสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 8     (พ.ศ. 2468-2489)
            ในห้วงเวลานี้ได้มีการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ ของกองทัพไทย โดยจัดส่วนราชการที่สำคัญคือ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
       พ.ศ. 2469    กรมอากาศยาน เดิมขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการทหารบก เปลี่ยนเป็นขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม
       พ.ศ. 2474   กระทรวงกลาโหม รับโอนงานจากกระทรวงทหารเรือ มาขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม  มีเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา กรมทหารบกและกรมทหารเรือ และได้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารเรือขึ้น
       พ.ศ. 2475
                กระทรวงกลาโหม   แบ่งกิจการออกเป็นสามส่วนคือ กองบังคับการกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และกองทัพเรือ 
                กองทัพบก   มีผู้บังคับทหาร เหล่า ชนิดและเจ้ากรมต่าง ๆ ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารบก แบ่งออกเป็น หน่วยของฝ่ายกำลังรบ และหน่วยทางฝ่ายธุรการ หน่วยดังกล่าวแบ่งออกเป็น กองและแผนก
                กรมทหารเรือ   มีหน่วยขึ้นตรงคือ กองทัพเรือ กรมเสนาธิการทหารเรือ และสถานีทหารเรือกรุงเทพ ฯ
                กรมอากาศยาน   เปลี่ยนเป็นหน่วยกำลังรบ ขึ้นตรงต่อกองทัพบก
       พ.ศ. 2476
                กระทรวงกลาโหม    มีส่วนกำลังรบ 2 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก และกองทัพเรือ
                กองทัพเรือ    กรมทหารเรือเปลี่ยนชื่อเป็น กองทัพเรือ ส่วนกองทัพเรือเดิมเปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือรบ
       พ.ศ.2478
                กระทรวงกลาโหม  มีส่วนกำลังรบ 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมทหารอากาศ
                กรมทหารอากาศ  กรมอากาศยานเปลี่ยนชื่อเป็นกรมทหารอากาศ
       พ.ศ. 2480
                กระทรวงกลาโหม  มีส่วนกำลังรบ 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
                กองทัพอากาศ  ยกฐานะกรมทหารอากาศ  เป็น กองทัพอากาศ  ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการจัดตั้ง กรมเสนาธิการทหารอากาศ และส่วนราชการต่าง ๆ

       กรณีพิพาทอินโดจีน
     loading picture
                รัฐบาลไทยต้องการดินแดนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศษ ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ กลับคืนมา  ดังนั้นในห้วงระยะเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482  ฝรั่งเศษได้ขอทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทย  ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามโลก คือในปี พ.ศ. 2482  เพราะการทำสงครามในยุโรป ฝรั่งเศษ เพลี่ยงพล้ำแก่เยอรมัน จึงต้องการที่จะรักษาผลประโยชน์ในดินแดนต่าง ๆ ที่เป็นอาณานิคมเอาไว้
            ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ  ก่อนที่จะยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศษ  ในการทำสัญญาไม่รุกรานกัน ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องการปรับปรุงเขตแดน  ระหว่างไทยกับฝรั่งเศษ มีอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ
                1. ใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย กับอินโดจีนฝรั่งเศษ ตามแบบแผนสากล
                2. ขอดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง และฝั่งตรงข้ามปากเซ คืนให้ไทย
                3. กรณีที่ฝรั่งเศษไม่ได้ปกครองแหลมอินโดจีนแล้ว ขอให้คืนลาวและกัมพูชาให้ไทย
            ข้อเสนอดังกล่าวฝรั่งเศษไม่ยอมรับและสงครามได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 โดยเครื่องบินของฝรั่งเศษ  ได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่บริเวณจังหวัดนครพนม  และได้มีการรบทางบก ตามบริเวณแนวชายแดนไทย-อินโดจีนฝรั่งเศษบางแห่ง
             ฝ่ายไทยได้มีการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ เมื่อ 13 พ.ย. 2484
     loading picture
       กองทัพบก      ได้จัดกองทัพบกสนาม  โดยมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย กองพลผสมปักษ์ใต้  กองพลพายัพ  กองทัพบูรพา  กองทัพอีสาน และกองพลผสมกรุงเทพ ฯ  มีการประกอบกำลัง ดังนี้
             กองทัพบูรพา  ประกอบด้วย  กองพลพระนคร  กองพลลพบุรี  กองพลปราจีณบุรี  กองพลวัฒนานคร กองพลจันทบุรี  โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดปราจีณบุรี   มีนายพันเอก หลวงพรหมโยธี  เป็นแม่ทัพ
             กองทัพอีสาน  ประกอบด้วย  กองพลอุดรธานี  กองพลอุบลราชธานี  กองพลสุรินทร์  กองพลธนบุรี กองพลนครราชสีมา หน่วยขึ้นตรงกองทัพฝ่ายกิจการพิเศษ กองหนุนกองทัพ และหน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีนายพันเอก หลวงเกรียงศักดิ์ พิชิต  เป็นแม่ทัพ
             กองพลผสมปักษ์ใต้   ประกอบด้วย  กองพลสงขลา และกองพลนครศรีธรรมราช  มีนายพันเอก หลวงเสนาณรงค์  เป็นแม่ทัพ
             กองพลพายัพ    ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ 30,31,28 (หนุน) 30 (หนุน)  และกองทหารสื่อสาร  มีนายพันโท หลวงหาญสงคราม  เป็นผู้บัญชาการกองพล
             กองพลผสมกรุงเทพ ฯ    ประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่ 1  กองพันทหารช่างที่ 7  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 16  กองสื่อสารและกองรถรบ
      กองทัพเรือ     ได้จัดกำลังทางเรือเพื่อรักษาน่านน้ำไทย  โดยได้วางหลักดำเนินการทางเรือไว้ ดังนี้
                  1.  หาโอกาสใช้กำลังส่วนใหญ่ทำลายกำลังส่วนย่อยของข้าศึก ในย่านที่สามารถดำเนินการได้
                  2.  ทำการรักษาเส้นทางคมนาคมภายในทางทะเล ไว้สำหรับการลำเลียงทางทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธสัมภาระ
                  3.  ป้องกันไม่ให้ข้าศึก มาทำการรังควาญเส้นทางคมนาคม หรือมาลำเลียงทหารขึ้นบกในดินแดนไทยได้ เพื่อเป็นการป้องกันปีก และด้านหลัง ของกำลังที่ทำการรบบนบก อย่าให้ต้องชะงักลง
                  4.  ให้ความอุ่นใจแก่ราษฎรชายแดนริมฝั่งทะเล ในการดำเนินการตามหลักการดังกล่าว ให้ทำการร่วมมือกับกองทัพอากาศ
            กองทัพเรือได้จัดส่งกำลัง ไปป้องกันตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด  อันเป็นตำบลชายแดนสุดทางตะวันออก ติดต่อกับอินโดจีนฝรั่งเศษ และได้เริ่มลำเลียงทหารพรรคนาวิกโยธิน  อันเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองพลผสมจันทบุรี ไปยังจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด   เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึกทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และเป็นการป้องกันรักษาปีก และการตีโอบหลังกำลังทางบกของฝ่ายเรา
              เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484   กำลังทางเรือของไทย จำนวน 6 ลำ ได้ปะทะกับกำลังทางเรือของฝรั่งเศษ จำนวน 7 ลำ ที่บริเวณเกาะช้าง ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายอย่างหนัก กองเรือของฝรั่งเศษต้องล่าถอยไป โดยไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้
       กองทัพอากาศ     กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองทัพอากาศสนามขึ้น มีนายนาวาเอก หลวงอธึกเทวเดช  เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วย
              กองบินใหญ่ภาคเหนือ   ประกอบด้วย กองบินน้อยผสมที่ 73 อุบลราชธานี และกองบินน้อยผสมที่ 35 จังหวัดอุดรธานี มีนายนาวาโท หลวงเชิดวุฒากาศ เป็นผู้บังคับการกองบินน้อยผสมที่ 73 อุบล มี 1 ฝูงบินตรวจการณ์และ 1 ฝูงบินทิ้งระเบิด และกองบินน้อยผสมที่ 35 อุดร มี 1 ฝูงบินตรวจการณ์ และ 1 ฝูงบินขับไล่
              กองบินใหญ่ภาคใต้   ประกอบด้วย กองบินน้อยที่ 66 ดอนเมือง กองบินน้อยผสมที่ 75 จันทบุรี และฝูงบินร่วมกับกองทัพเรือจันทบุรี มี นายนาวาโท ขุนรณนภากาศ เป็นผู้บังคับการ
              กองบินน้อยที่ 66 ดอนเมือง   มี 2 ฝูงบินโจมตีทิ้งระเบิด และ ๑ ฝูงบินขับไล่
              กองบินน้อยผสมที่ 75 จันทบุรี   มี 2 ฝูงบินขับไล่ 1 ฝูงบินตรวจการณ์ และ 1 หมู่บินลาดตระเวณ
              ฝูงบินร่วมกับกองทัพเรือ จันทบุรี   มี 1 ฝูงบินขับไล่ และ 1 หมู่บินลาดตระเวณ
              กองบินประจำกองทัพภาคที่ 1   ประกอบด้วยฝูงบินขับไล่ที่ 75 ศรีษะเกษ ฝูงบินขับไล่ที่ 83 ปราจีนบุรี และฝูงบินโจมตีที่ 35 ปราจีนบุรี
              กองบินประจำกองทัพภาคที่ 2   ประกอบด้วย ฝูงบินโจมตีที่ 41 อุบลราชธานี ฝูงบินโจมตรีที่ 43 นครราชสีมา และฝูงบินตรวจการณ์ที่ 42 สุรินทร์
              กองบินหนุนดอนเมือง   ประกอบด้วยฝูงฝึกขั้นต้น ฝูงฝึกขั้นกลาง ฝูงฝึกขั้นปลาย ฝูงสื่อสาร และหมู่ถ่ายรูป
              ต่อมากองทัพอากาศสนาม  ได้จัดตั้งกองบินผสม และกองกำลังเพิ่มเติมอีก คือกองบินน้อยผสมจันทบุรี และกองกำลังภาคบูรพา เพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและด้านทะเล
              สนามบินที่ใช้ปฏิบัติการร่วมคือ สนามบินดอนเมือง สนามบินโคกกระเทียม ลพบุรี สนามบินดงพระราม สนามบินวัฒนานคร สนามบินอรัญญประเทศ สนามบินเขาอีโต้ ปราจีนบุรี สนามบินปรุใหญ่ นครราชสีมา สนามบินศรีษะเกษ สนามบินปทุม อุบลราชธานี สนามบินสกลนคร สนามบินนครพนม สนามบินขอนกว้าง อุดรธานี และสนามบินพลอยแหวน จันทบุรี
              การปฏิบัติการทางอากาศในกรณีพิพาทอินโดจีน กองทัพอากาศได้ปฏิบัติการตามภารกิจทั้งมวล ในบทบาทของกำลังทางอากาศคือ  การสู้รบในอากาศ  การโจมตีเป้าหมายทางพื้นดิน และทางทะเล  การร่วมรบกับหน่วยทหารภาคพื้นดิน สามารถครองความเป็นเจ้าอากาศเหนือยุทธบริเวณ
     loading picture
    ผลของสงคราม     กองทัพบกยึดดินแดนต่าง ๆ ได้ดังนี้
              กองพลพายัพ     ยึดได้ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง และห้วยทราย ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
              กองพลอุบล     ยึดได้แคว้นจำปาศักดิ์
              กองพลสุรินทร์     ยึดได้สำโรงและจงกัล
              กองทัพบูรพา     ยึดได้ทางตะวันตกของศรีโสภณ
              กองพลจันทบุรี   ยึดได้บ้านกุมเรียง และบ้านห้วยเขมร
              ญี่ปุ่นได้เสนอตนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทครั้งนี้ ทั้งไทยและฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอ  จึงได้มีการจัดตั้งผู้แทนขึ้น 2 คณะ  คณะหนึ่งทำการเจรจาพักรบที่ไซ่ง่อน อีกคณะหนึ่งทำการเจรจาสันติภาพที่โตเกียว  ไทยและฝรั่งเศสได้พักรบต่อกัน เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484
              ดินแดนที่ประเทศไทยได้รับ   จากผลการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น  ลงนามที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 มีดังนี้
                1.  แคว้นหลวงพระบาง   ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ไทยยกเป็นจังหวัดล้านช้าง
                2.  แคว้นจำปาศักดิ์   ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ไทยยกฐานะเป็นจังหวัดนครจำปาศักดิ์
                3.  เมืองเสียมราฐ   ไทยยกฐานะ เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม
                4.  เมืองพระตระบองและศรีโสภณ   ไทยยกฐานะเป็นจังหวัดพระตระบอง

       สงครามมหาเอเชียบูรพา
     loading picture
              กองทัพญี่ปุ่น ได้เคลื่อนกำลังพลทางเรือ ยกพลขึ้นบกเข้าโจมตีประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ฟิลิปปินส์ ไทย มลายู และอินโดนีเซีย พร้อมกันในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากเข้าโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ของสหรัฐ ฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484
              กองทัพไทยได้ทำการต่อสู้ต้านทานอย่างเข้มแข็ง ในทุกพื้นที่ที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก แต่ไม่สามารถต่อต้านกำลังทหารของกองทัพญี่ปุ่นได้  ประกอบกับรัฐบาลไทยเห็นว่า ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไม่มีนโยบายและไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติประเทศไทยจึงยอมให้ญี่ปุ่น เดินทัพผ่านประเทศไทยไปรบพม่า และพักอยู่ในประเทศไทยได้ โดยทางญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะเคารพในอธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย
              ต่อมาไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อป้องกันประเทศไทย และต่อมาประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 และกองทัพไทยได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ด้าน สหรัฐไทยเดิม (Shan State)  โดยมีการจัดกำลังเป็นกองทัพบกสนาม ประกอบด้วย กองทัพพายัพ กองหนุนทั่วไปของกองทัพสนาม และหน่วยรักษาชายแดนและคมนาคม
       กองทัพพายัพ   ประกอบด้วยกองพล 5 กองพลด้วยกัน คือ  กองพลที่ 2   กองพลที่ 3   กองพลที่ 4  กองพลทหารม้า  กรมทหารม้าที่ 12   กองทหารปืนใหญ่กองทัพ   กองทหารช่างกองทัพ  หน่วยทหารสื่อสารกองทัพ  กองปืนต่อสู้อากาศยาน  กองบินกองทัพ  กองพันทหารราบที่ 35  กองรถรบสนามเขต 1 และ 2 กับหน่วยบำรุงและช่วยรบ  กองบัญชาการกองทัพ ตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง  โดยมีหน่วยกำลังหลักในระดับกองพล ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ  คือ  เชียงใหม่  เชียงราย และนครสวรรค์
       กองหนุนทั่วไปของกองทัพสนาม   ประกอบด้วย  กองพลที่ 1 กองพันทหารราบที่ 12 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 16 กองปืนต่อสู้อากาศยานและกรมรถรบ  กำลังส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ และลพบุรี
       หน่วยรักษาชายแดนและคมนาคม   ประกอบด้วย กองพลที่ 6 ซึ่งมี 3 กรมทหารราบ และ 2 กองพัน ทหารปืนใหญ่ตั้งอยู่ทางพื้นที่ภาคใต้ของไทย
              กองทัพบกสนาม ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในสหรัฐไทยใหญ่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ยึดนครเชียงตุง ได้ในเดือนเดียวกัน ต่อมาก็สามารถยึดได้อีกหลายเมืองคือ เมืองยอง (30 พ.ค. 85) เมืองยู้ (1 มิ.ย. 85) และเมืองคาก (11 มิ.ย. 85)
              30 ส.ค. 2486 ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามร่วมกัน  ในสนธิสัญญาว่าด้วยอาณาเขตประเทศไทยในรัฐมาลัย และภูมิภาครัฐฉาน และประกาศเปลี่ยนชื่อสหรัฐไทยใหญ่ (รัฐฉาน) เป็นสหรัฐไทยเดิม  ได้รับมอบรัฐมาลัย อันประกอบด้วยไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส เมื่อ 3 ก.ย. 2486
       ด้านกองทัพเรือ   ได้มีข้อตกลงระหว่าง ผู้บัญชาการเรือไทยกับผู้ช่วยทูตทหารญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพ ฯ  ถึงการปฏิบัติการร่วมกัน ในฐานะพันธมิตร ดังนี้
                   1.   การลาดตระเวณรักษาอ่าวไทย  ด้านเหนือของแนวระหว่างแหลมญวณกับตากใบ เป็นหน้าที่ของราชนาวีไทย
                   2.   ให้ความร่วมมือกับจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น  ในการขับไล่ต่อตีเรือดำน้ำข้าศึก บริเวณภาคใต้น่านน้ำของอินโดจีนฝรั่งเศส
                   3.   การควบคุมและคุ้มกันเรือต่าง ๆ  ของญี่ปุ่นในน่านน้ำดังกล่าวข้างต้น  ญี่ปุ่นจะปฏิบัติการเองทั้งสิ้น
                   4.   การใช้ฐานทัพของจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น สำหรับเรือ ใช้ฐานทัพเรือตามแนวชายฝั่งของไทย สำหรับเครื่องบิน ใช้ฐานทัพตามแนวชายฝั่งของอ่าวไทย
                   5.   การส่งกำลังบำรุง  การเพิ่มเติมเครื่องใช้และเสบียงอาหาร จักรพรรดิ์นาวีญี่ปุ่น จะจัดหาให้ราชนาวีไทย ตามความจำเป็น
                   6.   การติดต่อระหว่างราชนาวีไทยกับจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น  โดยหลักการผ่านทางผู้ช่วยทูตทหารเรือญี่ปุ่นในกรุงเทพ ฯ  ส่วนการติดต่อในพื้นที่ปฏิบัติการในทะเลนั้น  ใช้ประมวลสัญญาณสากลเท่านั้น  การปฏิบัติการใด ๆ ของราชนาวีไทย จะต้องปรึกษากับจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเรือรบ เรือต่าง ๆ และเครื่องบินไทย
       ด้านกองทัพอากาศ   ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่น ได้เข้าโจมตีสนามบินวัฒนานคร ยิงเครื่องบินของกองทัพอากาศที่จอดอยู่บนสนามบิน พร้อมทั้งโจมตีที่ตั้งทางทหารบริเวณสนามบิน ได้รับความเสียหาย  เครื่องบินของกองทัพไทยได้ทำการต่อสู้กับเครื่องบินฝ่ายญี่ปุ่น  แต่สู้ไม่ได้   ที่กองบินที่ 5 จังหวัดประจวบคีรีขัณฑ์ ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากให้ยกพลขึ้นบก เพื่อยึดกองบิน  ฝ่ายไทยได้ต่อสู้เป็นสามารถ จนในที่สุด   เมื่อรัฐบาลไทยมีคำสั่งให้หยุดยิง จึงได้ยุติการต่อสู้
                กองทัพอากาศได้โยกย้ายกำลังทางอากาศ ไปประจำที่สนามบินต่างจังหวัด  คือ  เชียงใหม่  เชียงราย  ลำปาง  แพร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์  ท่าโขง บ้านแพะ จังหวัดสิงห์บุรี  ขอนแก่ชัยภูมิ และภูเขียว
                 การปฏิบัติการรบทางอากาศในภาคเหนือ   กองทัพอากาศได้แบ่งกำลังทางอากาศออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด และอีกส่วนหนึ่งปฏิบัติการร่วมรบกับกองทัพพายัพ
    ผลของสงคราม
                  ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ 14  ส.ค. 88   ประเทศไทยก็ประกาศว่าการสงครามกับ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นโมฆะ  ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาตกลงกันที่สิงคโปร์ เมื่อ 1  ม.ค. 89  การสงครามดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับความกระทบกระเทือน  ทั้งด้านการเมือง   เศรษฐกิจและสังคม แต่สามารถรักษาความเป็นเอกราชและบูรณภาพของดินแดนไว้ได้ โดยรัฐบาลยอมเสียดินแดนที่ได้กลับคืนมา ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสให้แก่ฝรั่งเศส  และที่ได้กลับคืนมาตอนต้นสงครามมหาเอเชียบูรพาให้แก่อังกฤษ เป็นข้อแลกเปลี่ยนคือ
                      1.  คืนจังหวัดพระตระบอง พิบูลสงคราม และจำปาศักดิ์ ให้แก่ฝรั่งเศส
                    2.  คืนรัฐกลันตัน ตรังภานู เคดาห์ ปะลิส และรัฐฉาน ให้แก่อังกฤษ
                    3.  ขาย ยาง ดีบุก และข้าว  ตามราคาที่กำหนด พร้อมทั้งส่งข้าว จำนวน 150,000 ตันให้แก่อังกฤษ โดยไม่คิดมูลค่า
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×