ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การทหารของไทย

    ลำดับตอนที่ #3 : สมัยสุโขทัย

    • อัปเดตล่าสุด 16 ส.ค. 49


    การทหารของไทยสมัยสุโขทัย

     loading picture
    กิจการทหารของไทย มีอยู่ควบคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดมา  ตั้งแต่ชนชาวไทยได้รวมกันเป็นแว่นแคว้นในสุวรรณภูมิ มีตำนานเล่าขานสืบมาช้านาน  มีแบบอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ได้ประยุกต์มาจากภูมิปัญญาของไทย
    เมื่อเกิดอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จากหลักฐานทางศิลาจารึกพบว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารโดยตรง และทรงนำกองทัพเข้าสงครามด้วยพระองค์เองในฐานะเป็นจอมทัพ บรรดาชายฉกรรจ์ทั้งปวงจะเป็นทั้งพลเมืองและทหารในกองทัพหลวง ตามกรมกองที่ตนสังกัด
     loading picture
    การฝึกหัดทหาร จะใช้หัวหน้าสกุลในแต่ละหมู่บ้าน เป็นผู้ควบคุมฝึกสอนวิชาการต่อสู้  เมื่อเกิดศึกสงครามทหารทุกคน จะมีอาวุธคู่มือที่ตนได้ฝึกซ้อมไว้ช่ำชองดีแล้ว พร้อมที่จะใช้งานส่วนเสบียงอาหารก็จะเตรียมไว้เฉพาะตน  ในขั้นต้น มีความสมบูรณ์ในตนเอง  พร้อมที่จะออกศึกได้ทันที
     loading picture
    การสร้างค่าย คู ประตู หอรบนั้น จะมีอยู่ทั้งที่ตั้งปกติ  คือเมืองซึ่งจะมีการสร้างอย่างถาวร สมบูรณ์แข็งแรงตามขนาด และความสำคัญของเมืองนั้น ๆ และจะสร้างอย่างชั่วคราว เมื่อยกทัพไปทำศึกและต้องหยุดทัพตั้งมั่น ดังจะเห็นได้จากเมืองโบราณทุกแห่ง สำหรับกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองหลวง จะมีการสร้างคันดินคูน้ำเป็นกำแพงเมือง  และมีคูเมืองล้อมรอบอยู่สามชั้นเรียกว่า ตรีบูร มีป้อมประจำประตูเมืองทั้งสี่ทิศ
    อาณาเขตของกรุงสุโขทัย ในระยะที่ชนชาวไทยตั้งตนเป็นอิสระในปี พ.ศ. 1800 นั้น มีแคว้นสำคัญที่อยู่โดยรอบดังนี้
    ด้านเหนือ   ติดกับแคว้นล้านช้างและล้านนา
    แคว้นล้านนา   ประกอบด้วย เมืองต่าง ๆ  ที่ชนชาวเผ่าไทยปกครองตนเอง เป็นส่วนใหญ่เช่น เมืองเชียงราย เมืองพะเยา เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ซึ่งปกครองด้วยราชวงศ์จามเทวี (มอญ)
    แคว้นล้านช้าง   ซึ่งเป็นถิ่นของชนชาวเผ่าไทย เช่นกัน แต่เรียกชื่อว่าลาว มีเมือง ชวา (หลวงพระบาง) เป็นราชธานี
    ในระยะนั้นทั้งสองแคว้นคือ ล้านนาและล้านช้าง ยังมีฐานะเป็นเมืองส่วยของอาณาจักรกัมพูชา
    ด้านตะวันออก   มีอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งราชวงศ์ขอมปกครองอยู่  และยังมีอำนาจแผ่เข้ามาปกครองหัวเมืองในภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน แต่อยู่ในสภาพที่อ่อนแอลงไปมาก
    ด้านใต้    มีแคว้นละโว้ซึ่งยังอยู่ในปกครองของขอม ประกอบด้วยเมืองอโยธยา เมืองสุพรรณบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี  เมืองศรีวิชัย (นครชัยศรี) และเมืองนครศรีธรรมราช
    ด้านตะวันตก   มีอาณาจักรพุกามของพม่า ประกอบด้วยเมืองตะนาวศรี  เมืองทวาย  เมืองเมาะตะมะ เมืองตองอู  มีชนพื้นเมืองเป็นชาวมอญกระหนาบอยู่  และมีเมืองฉอด  ที่มีชนเผ่าไทยปกครองอยู่
            ในช่วงระยะเกือบ 200 ปี (พ.ศ. 1800-1981)  อาณาจักสุโขทัย ได้แผ่ไพศาลไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822-1862)  จากศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังนี้
            ทิศเหนือ         ได้เมืองหลวงพระบาง
            ทิศตะวันออก         ได้เมืองเวียงจันทน์  และเมืองเวียงคำ
            ทิศใต้         ได้เมืองนครศรีธรรมราช  ไปจนสุดแหลมมาลายู
            ทิศตะวันตก         ได้เมืองหงสาวดีไว้ในอำนาจ

    การดำเนินการด้านยุทธศาสตร์
     loading picture
    เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของราชธานี ซึ่งถือว่า เป็นหัวใจของอาณาจักร  เพราะการเสียราชธานี ก็เท่ากับเป็นการเสียราชอาณาจักร เพราะราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในทุกด้าน  ดังนั้น  การระวังป้องกันสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ราชธานี จึงนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของราชอาณาจักร
    การแบ่งพื้นที่การปกครอง ในสมัยสุโขทัย ได้กำหนดพื้นที่เป็น 3 ชั้น ตัวราชธานี เป็นเขตชั้นใน  บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบราชธานี เป็นเขตชั้นกลาง และเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นนอกออกไป เป็นเมืองประเทศราช
    หัวเมืองชั้นกลาง   สันนิษฐานว่า น่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เมืองลูกหลวง และหัวเมืองใหญ่
    เมืองลูกหลวง   เป็นเมืองที่ทรงส่งลูกหลวง หรือบุคคลสำคัญในราชวงศ์ หรือข้าหลวงที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครอง มีหน้าที่เตรียมกำลังทหาร ไว้ป้องกันพื้นที่ของตนเองและของราชธานี หรือสมทบกำลังเข้ากับทัพหลวง จึงเรียกว่า เมืองหน้าด่าน   เมืองหน้าด่านนี้จะตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพเข้าสู่ราชธานีทั้งสี่ทิศ ที่จะต้องใช้เวลาเดินทัพประมาณ 1 วัน ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร  ดังนั้น ทางด้านทิศเหนือจะมีเมืองศรีสัชนาลัย ทางด้านทิศตะวันออกจะมีเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ทางด้านทิศใต้มีเมืองสระหลวง (เมืองพิจิตรเก่า) และทางด้านทิศตะวันตก มีเมืองนครชุม
    หัวเมืองใหญ่   หรือที่เรียกกันภายหลังว่า เมืองพระยามหานคร มีขุนเป็นผู้ปกครอง เว้นแต่ด้านการต่างประเทศและด้านการทหาร ต้องขึ้นกับราชธานี ดังนั้นเมื่อเกิดศึกสงคราม จะได้รับคำสั่งให้ยกมาสมทบกองทัพหลวง เมืองดังกล่าวได้แก่เมืองฉอด เมืองพระบาง และเมืองเชียงของ เป็นต้น
    ประเทศราช หรือ เมืองออก   เป็นดินแดนที่ปกครองตนเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ราชธานี ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด  และเมื่อราชธานีเกิดมีสงครามใหญ่ อาจมีพระบรมราชโองการให้ยกทัพไปช่วยก็ได้  เมืองดังกล่าวได้แก่ เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองชวา (หลวงพระบาง) เมืองเวียงจันทน์ เมืองหงสาวดี เมืองสุพรรณภูมิ และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

      การเตรียมกำลังทหาร
     loading picture
    มีหลักอยู่ว่า ผู้ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร ดังนั้นในยามปกติ ก็ดำเนินชีวิตไปตามครรลองของตน แต่เมื่อเกิดศึกสงคราม ทุกคนก็ทำหน้าที่เป็นทหาร การที่จะดำรงอยู่ในภาวะดังกล่าวได้จะต้องมีระบบรองรับ โดยที่เริ่มจากระดับล่างสุด คือครอบครัว โดยที่หัวหน้าครอบครัวหรือหัวหน้าสกุล  ทำหน้าที่ควบคุมทหารในสกุลของตน เรียกว่าเจ้าหมู่  จัดว่าเป็นหน่วยทหารที่เล็กที่สุดในระบบการจัด  สำหรับตัวพ่อขุนจะเป็นจอมทัพด้วยพระองค์เอง
    เมื่อสันนิษฐานจากข้อมูลในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 พออนุมานได้ว่า ชาวไทยชาวสุโขทัยทุกคนต้องเป็นทหารเมื่ออายุ 18 ปี และปลดพ้นการเป็นทหารเมื่ออายุ 60 ปี  เกณฑ์นี้ได้ถือปฏิบัติต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
     loading picture
    การจัดเหล่าทหาร  ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ที่พบในมังรายศาสตร์ มีการจัดเหล่าทหารไว้เป็นสามเหล่าคือ
                    ชั้นสูง  ได้แก่  เหล่าพลช้าง เรียกว่า นายช้าง
                    ชั้นกลาง  ได้แก่  เหล่าพลม้า เรียกว่า นายม้า
                    ชั้นต่ำ  ได้แก่  เหล่าพลราบ เรียกว่า นายตีน
     loading picture
    การจัดหน่วยทหาร   ตามมังรายศาสตร์ ได้กล่าวถึงการจัดหน่วยทหาร ตั้งแต่เล็กไปใหญ่ ตามหลักจำนวนไพร่พลที่มีอยู่ในหน่วยนั้น ๆ เริ่มต้นจากหน่วยเล็กที่สุดคือ
            ไพร่สิบคน  ให้มีนายสิบผู้หนี่ง ข่มกว้านผู้หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อ (เทียบเท่าผู้บังคับหมู่ในปัจจุบัน)
            นายสิบห้าคน  ให้มีนายห้าสิบผู้หนึ่ง มีปากขวาและปากซ้ายเป็นผู้ช่วย (เทียบเท่าผู้บังคับหมวดในปัจจุบัน)
            นายห้าสิบสองคน  ให้มีนายร้อยผู้หนึ่ง    (เทียบเท่ากับผู้บังคับกองร้อยในปัจจุบัน)
            นายร้อยสิบคนให้มีเจ้าพันผู้หนึ่ง       (เทียบเท่ากับผู้บังคับกองพันในปัจจุบัน)
            เจ้าพันสิบคน  ให้มีเจ้าหมื่นผู้หนึ่ง       (เทียบเท่ากับผู้บัญชาการกองพลในปัจจุบัน)
            เจ้าหมื่นสิบคน  ให้มีเจ้าแสนผู้หนึ่ง      (เทียบเท่ากับแม่ทัพในปัจจุบัน)
            การจัดดังกล่าวนี้ร่วมสมัยกับสมัยกรุงสุโขทัย จึงอาจนำมาใช้กับการทหารของกรุงสุโขทัยได้
    อาวุธยุทโธปกรณ์   อาวุธที่ใช้ในสมัยนั้น จะเป็นอาวุธประจำกายของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น เช่น ทวน  หอก  ดาบ แหลน หลาว เกาทัณฑ์ หน้าไม้ ของ้าว ง้าว ตะบอง ขวาน เป็นต้น อาวุธดังกล่าวนี้ทุกคนจะมีอยู่ประจำตัว ตามความถนัดของแต่ละคนและมีการฝึกใช้อาวุธนั้น ๆ  อย่างช่ำชองดีแล้ว ตั้งแต่ในยามปกติ เป็นอาวุธคู่มือ เมื่อเกิดศึกสงครามก็จะใช้อาวุธคู่มือนี้เข้าทำการรบ
    เสบียงอาหารจะมีการนำติดตัวไปจำนวนหนึ่งไว้ใช้เมื่อจำเป็นในขั้นแรก โดยธรรมดาจะแสวงหาอาหารในท้องถิ่นกิน ส่วนเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ จะส่งไปจากราชธานีและหัวเมืองใหญ่ส่วนหนึ่งกับเรียกเกณฑ์ ให้ผู้ปกครองท้องถิ่นเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า  แล้วคอยจ่ายให้เมื่อกองทัพเดินทางมาถึง
    ด้านยานพาหนะอันประกอบด้วย  ช้าง ม้า วัว และเกวียน ใช้เป็นส่วนกำลังรบ และส่วนสนับสนุน การรบ กล่าวคือ
    ช้าง  ใช้เป็นพาหนะของแม่ทัพ เข้าต่อสู้กับแม่ทัพฝ่ายข้าศึก ที่เรียกว่าทำยุทธหัตถี ใช้เป็นกำลังเข้าบุกตลุยข้าศึกในสนามรบ และใช้ในการลำเลียงในถิ่นทุรกันดารที่เป็นพื้นที่ป่าเขา
    ม้า  ใช้เป็นพาหนะของผู้บังคับบัญชาทหารในระดับรองลงมา ใช้เป็นพาหนะของหน่วยทหารม้าที่ต้องการเคลื่อนที่เร็ว ใช้ในการลาดตระเวณหาข่าว การติดต่อสื่อสาร
    วัว  ใช้เทียมเกวียนบรรทุกสัมภาระต่าง ๆ ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสบียงอาหาร
    ผลประโยชน์ที่ทหารได้รับ
    การป้องกันบ้านเมือง  เพื่อมิให้ตกเป็นทาสของฝ่ายข้าศึก ก็เป็นการป้องกันตนและครอบครัวไม่ให้ตกอยู่ในฐานะดังกล่าว  นอกจากนี้เมื่อได้ชัยชนะต่อข้าศึก ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สมบัติของข้าศึกที่ยึดมาได้ ได้เชลยมาใช้สอย  เพราะทหารที่ไปรบไม่มีเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน เป็นรายได้ประจำ แต่จะมีเกณฑ์การได้บำเหน็จความชอบในรูปแบบต่าง ๆ ในมังรายศาสตร์ มีกำหนดไว้ตอนหนึ่งว่า
    "นายตีนผู้ใดรบศึกในสนามรบ ได้หัวนายช้าง นายม้ามา  ควรเลี้ยงดูให้เป็นใหญ่.....ผู้ใดรบชนะ ได้หัวข้าศึกมาให้รางวัลหัวละ 300 เงิน ให้ไร่นา ที่ดินและเลี้ยงดูให้เป็นใหญ่  หากนายตีนได้หัวนายม้า ควรเลื่อนขึ้นเป็น นายม้า นายตีนได้หัวนายช้าง ควรเลื่อนขึ้นเป็นนายช้าง ให้มีฉัตรกั้น ให้ภริยา เครื่องทอง ทั้งทอง ปลายแขน เสื้อผ้าอย่างดี...."
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×