คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : -STEP 1: PASSPORT & VISA (1)-
วันนี้หลังเลิกสอบกลางภาคเสร็จ เจ้าของบทความก็ตัดสินใจมาเดินเล่นร้านหนังสือพลางๆ (คลายเครียดกับมหาวิชาสุดโหดทั้งสี่) และรอน้องสาวที่นัดกันไว้อีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้สายตาของเจ้าของบทความไปจ๊ะเอ๋กับหนังสือเล่มเหลืองเล่มหนึ่งเข้า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขนาดปานกลางไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป พกพาสะดวก มีชื่อเรื่องที่สะดุดตาเจ้าของบทความอย่างมากถึงมากที่สุด นั่นก็คือ ‘เมืองนอก ไปเองก็ได้ ง่ายกว่าที่คิด’ พระเจ้า! นี่แหละคือสิ่งที่ตามหามานาน ก่อนหน้านี้เคยเจอเล่มหนึ่ง แต่เนื้อหาไม่ได้ละเอียดและค่อนข้างพรรณนาไปเสียจนราคาแตะหลัก 2XX บาท แต่หนังสือเล่มนี้ราคาเพียง 195 บาทเท่านั้นค่ะคุณ! (ถึงแม้ว่าอีก 5 บาทจะแตะเลข 2 แล้วก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอะไร) เจ้าของบทความจึงตัดสินใจสอยมาหนึ่งเล่มไว้ในความครอบครอง เนื้อหาภายในค่อนข้างกระชับและอธิบายตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องบินยันออกจากเครื่องบิน จัดว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้นักท่องเที่ยวมือใหม่อย่างเราๆ หามาไว้ในครอบครองกันนะคะ เป็นประโยชน์สุดๆ
สำหรับบทความ ‘서울’ ไม่ทิ้งนักอ่านไปไหนไกลแน่ๆ ถ้าใครที่ยังมีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ อาทิเช่น ‘ทำ Passport อย่างไร’, ‘ไปเกาหลีใต้ต้องขอวีซ่าหรือเปล่า’, ‘ตอบคำถามตม.โหดอย่างไรให้รอด’ เพียงคุณอ่านบทความข้างล่างนี้ และทำความเข้าใจไปพร้อมกับเรา เที่ยวต่างประเทศครั้งแรก ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป ถ้าพร้อมแล้ว ลุย!
-STEP 1: PASSPORT & VISA (1)-
หนังสือเดินทาง หรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า Passport นี้ ถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของมากที่สุด เรียกได้ว่า ‘เงินหายได้หายไปแต่ Passport ข้าใครห้ามแตะ’ และสาเหตุที่ Passport นี้มีความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เป็นอย่างมาก ก็เพราะว่าไอ้เจ้าหนังสือเดินทางเล่มเล็กๆ นี้มันเป็นเอกสารที่ใช้สำหรับยืนยันตัวตน น่ะสิคุณขา! พูดง่ายๆ ก็คือมีหน้าที่ไม่ต่างไปจากบัตรประจำตัวประชาชนที่ทุกคนมีติดตัวนั่นเอง หากแต่น้อง Passport เขาอินเตอร์กว่ามีความเป็นสากลกว่า เพราะสามารถใช้ได้ทั่วโลกนั่นเอง Passport ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการทำ วีซ่า (Visa) อีกด้วย ซึ่งจะไว้ค่อยพูดต่อไป รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าทำหายกันนะคะ เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ให้พกติดตัวไว้ด้วย อย่าทิ้งไว้ที่โรงแรมเด็ดขาด เพราะถ้าหายแล้วเตรียม ‘สนุก’ ได้เลยจ้า!
ปัจจุบันหนังสือเดินทางไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. หนังสือเดินทางธรรมดา หน้าปกสีแดงเลือดหมี เอ้ย! เลือดหมู (-..- ไม่ขำ) สำหรับประชาชนทั่วไป มีอายุการใช้งาน 5 ปี (นักท่องเที่ยวทั่วไปอย่างเราๆ ก็ใช้แบบนี้กันแหละค่ะ Highlight ไว้เลย)
2. หนังสือเดินทางราชการ หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม สำหรับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสมาชิกรัฐสภา ใช้เดินทางไปราชการเท่านั้น
3. หนังสือเดินทางชั่วคราว หน้าปกสีเขียว
4. หนังสือเดินทางทูต หน้าปกสีแดงสด
หลังจากที่พอรู้รายละเอียดประเภทของหนังสือเดินทางกันแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการขอหนังสือเดินทาง ดูเหมือนจะยุ่งยากและดูน่าวุ่นวาย แต่จากที่ได้ลองอ่านมาแล้ว (จากที่ไหนสักแห่ง) เขาบอกว่าใช้เวลาทำไม่เกิน 15 นาที (จริงป่ะเนี่ย?) จริงหรือเท็จ อันนี้เจ้าของบทความก็ไม่ทราบ แต่ไม่อยากเชื่อเต็ม 100% นัก เอาเป็นว่ามาเข้าเรื่องของเราเลยก็แล้วกัน ก่อนอื่นเลย ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าคนอายุ18 ปีกับคนอายุ 22 ปี แม้จะอายุห่างกันเพียงสองปี แต่เอกสารที่ใช้ในการขอหนังสือเดินทางก็แตกต่างกันแล้ว ดังนั้นอ่านให้ดีว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มอายุกลุ่มใด จะได้ทำการขอหนังสือเดินทางสำเร็จไปด้วยดี ไม่ต้องมาขอซ้ำอีกรอบ พร้อมแล้ว Let’s Go!
สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
- บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย (กรณีเป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย)
- หากมีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือวันเดือนปีเกิดที่ไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาด้วย
(จบอย่างเก๋ๆ เพียง 2 ย่อหน้า)
สำหรับผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี
- สูติบัตรฉบับจริง หรือฉบับสำเนาที่รับรองจากเขตหรืออำเภอ
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดา/มารดา หรือผู้ปกครอง
หากชื่อ-นามสกุลของบิดา/มารดา ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลมาแสดงด้วย
หากมารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามี ให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสมาแสดงด้วย
- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศของบิดา/มารดา ที่รับรองโดยอำเภอ/เขต
- บิดามารดาจะต้องมาแสดงตัวให้ความยินยอมด้วย หากมาไม่ได้ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงมาด้วย
- เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา
- กรณีอื่นๆ เช่น
บิดา/มารดาของผู้เยาว์เสียชีวิต, บิดา/มารดาของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้, บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้
ให้นำคำสั่งศาลที่ระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดงด้วย
สำหรับผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์
- บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย
- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่รับรองโดยอำเภอ/เขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองทั้งฉบับจริงและสำเนาพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน
ค่าใช้จ่ายในการขอหนังสือเดินทาง
ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท กรณีต้องการให้จัดส่งหนังสือเดินทางหลังทำเสร็จมาทางไปรษณีย์ มีค่าธรรมเนียม 40 บาท รวม 1,040 บาท (จ่าย ณ สถานทีขอหนังสือเดินทางเลยจ้า)
สถานที่ทำหนังสือเดินทาง (ในกรุงเทพ ONLY)
*ที่ต่างจังหวัดก็มีสถานที่ขอทำหนังสือเดินทางนะคะ
แต่เจ้าของบทความขอเลือกเขียนเฉพาะในกรุงเทพนะ*
1. กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. 0-2203-5000 กด 1 (เมื่อเข้าสู่ระบบกรมการกงสุลแล้ว กด 5 เพื่อติดต่อทำหนังสือเดินทาง)
2. สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ (อาคารบี ชั้น 7 ประตูฝั่งทิศตะวันออก) โทร. 0-2203-5000 ต่อ 49003-49012
3. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวบางนา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลซิตี้บางนา ชั้น B1 โทร. 0-2383-8401-3
4. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาปิ่นเกล้า ชั้น 5 โทร. 0-2433-0280-87
หมายเหตุ
1. ระเบียบต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ควรโทร.สอบถามก่อนให้แน่ใจ
2. การรับหนังสือเดินทาง สามารถรับได้ด้วยตัวเองภายใน 2 วันทำการ หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ภายใน 5 วันทำการ (ค่าธรรมเนียม 40 บาท)
3. แม้บางประเทศไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่ควรเดินทางโดยที่หนังสือเดินทางยังมีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 180 วัน นับจากวันที่เริ่มเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าเหลือไม่พอแนะนำว่าไปทำใหม่เลยดีกว่า
4. ชื่อ-สกุลภาษาอังกฤษที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางจะต้องเขียนให้ตรงกันเสมอ
จบไปแล้วกับหนังสือเดินทาง (เหนื่อยโฮกๆ กับการเขียนมาราธอน) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักอ่านทั้งหลายนะคะ ข้อความบางตอนก็คัดลอกมาทั้งดุ้นไม่ได้แก้ เพราะอย่างนั้นเดี๋ยวจะให้เครดิตไว้ข้างล่างนี้ด้วย เผื่อใครอยากหาซื้อไว้อ่านเป็นสมบัติส่วนตัว ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านบทความตอนนี้ ซึ่งยาวมากๆ และอย่าลืมติดตามตอนต่อไปที่ยังคงอยู่กับ STEP 1 เหมือนเดิม ในเรื่องต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันอย่างสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘วีซ่า’ (Visa)
uเมืองนอก ไปเองก็ได้ ง่ายกว่าที่คิด (สรายุทธ ลภัสภาธร เขียน)
ความคิดเห็น