คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : บทส่งท้าย 2548 วรรณกรรม & หนังสือ
ทีมข่าวจุดประกายวรรณกรรม : รายงาน
อ้างอิง http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/20060101/news.php?news=column_19308877.html
--------------------------------------------
สวัสดีปีใหม่ 2549/2006
'จุดประกายวรรณกรรม' ขอกล่าวทักทายแฟนๆ ที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวแวดวงวรรณกรรมและธุรกิจหนังสือทั้งไทยและต่างประเทศมาโดยตลอด พร้อมทั้งขอให้ความสุขอันประเสริฐจงบังเกิดกับทุกท่านตลอดปี 2549 และตลอดไป
ปี 2548 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรมและธุรกิจหนังสือบ้านเรา ดังนั้น 'จุดประกายวรรณกรรม' จึงอยากจะสรุปเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญเพื่อเป็นบทส่งท้ายในปีนี้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็น่าจะสะท้อนความเป็นจริงบางด้านของวงการหนังสือที่เป็นอยู่ได้บ้างไม่มากก็น้อย
และต่อไปนี้จึงเป็นการสรุปให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์และความร้อนแรงในวงการหนังสือ ผู้ผลิต และนักเขียนแห่งปี 2548 ดังนี้
1.มหานครแห่งการอ่าน
ช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวงการธุรกิจหนังสือที่แนวโน้มการเติบโตของตลาดมีความสดใส โดยเฉพาะการกระตุ้นและส่งเสริมการรักการอ่านที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งมี ธนะชัย สันติชัยกูล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเป็นสมัยที่สอง ได้ดำเนินการมาอย่างน่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้อ่านทุกวัย เน้นยุทธศาสตร์เจาะกลุ่มวัยรุ่นให้หันมารักและเห็นความสำคัญของการอ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมการรักการอ่านตั้งแต่แรกเกิด ที่พ่อแม่ควรจะอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อสร้างพัฒนาการทางด้านสมองของเด็ก
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครประกาศความพร้อมผลักดันกรุงเทพฯ เป็น World Book Capital 2008 ตลอดจนการสร้างห้องสมุดชุมชนทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว อีกทั้งภาคเอกชนยังได้ผุดโครงการ Thailand Book Tower สร้างเมืองหนังสือในฝันของเมืองไทย เทียบเท่ากับประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง เพื่อรวมเอาหนังสือจากทุกสำนักพิมพ์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มาไว้ในที่เดียวกันและทุกสำนักพิมพ์จะมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง
เหล่านี้คือสัญญาณที่ดีสำหรับวงการอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ แต่ฝันนั้นจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามต่อไป
2.ปีแห่งรางวัลของนักล่าฝัน(วรรรณกรรม)
เมื่อภาพรวมของธุรกิจหนังสือไปได้สวย แต่ในขณะเดียวกันนักเขียนไทยกลับถูกวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศเบียดตกขอบ หลายๆ ค่ายจึงต่างให้ความสำคัญกับการจัดประกวดรางวัลทางวรรณกรรมเพื่อสร้างนักเขียนหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการ เดิมทีรางวัลที่จัดประกวดกันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น รางวัลนายอินทร์อวอร์ด ของค่ายอมรินทร์ ที่สามารถสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการนักเขียนหลายคน อาทิ อภิชาติ เพชรลีลา เจ้าของสารคดีนิยายเรื่อง 'กล่องไปรษณีย์สีแดง' หรือที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 'เพื่อนสนิท' ที่ประทับใจคอดูหนังมาแล้ว ปีนี้ยังเน้นกิจกรรมเวิร์คชอป โดยยกทัพขบวนนักเขียนชื่อดังออกไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนิสิตนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ
รวมถึง รางวัลวรรณกรรมเยาวชนแว่นแก้ว ของค่ายนานมีบุ๊คส์ที่จัดต่อเนื่อง และปีนี้ยังมี โครงการประกวดนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน (Crime & Mystery) ที่จัดเป็นครั้งแรก เพื่อค้นหานักเขียนดาวรุ่งที่เขียนนวนิยายแนวนี้ หรือรางวัล Nation Books Award ของสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ที่จัดประกวดกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองเช่นกัน
และที่น่าสนใจคือรางวัล ทมยันตี อวอร์ด จากฟากฝั่งสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม โดยมี ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของบทประพันธ์ 100 เรื่องเป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมทั้งจัดเวิร์คชอป 'โครงการถนนสู่ดวงดาวสู่วิชาชีพนักเขียน ชิงรางวัลเกียรติยศ ทมยันตี อวอดร์ด 2548' โดยออกเดินสายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ รางวัลนี้มีเงินจูงใจสูงถึง 300,000 บาท สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งปิดรับผลงานไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา และประมาณเดือนเมษายนคงได้ทราบผลกัน
นอกจากนี้ยังมีรางวัลวรรณกรรมอื่นๆ อีกหลายรางวัล เช่น รางวัลอมตะอวอร์ด, รางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้า, รางวัลสารคดีชีวิต คน ค้น ฅน เป็นต้น
รางวัลเหล่านี้นอกจากจะสร้างความคึกคักแล้วยังเปิดโอกาสให้กับนักล่าฝันวรรณกรรมอีกด้วย.....(คนที่เอาแต่นอนฝันหวานแต่ไม่ลงมือเขียนอย่ามายุ่งนะ)
3.นิยายรักแดนโสมยังไม่ตกเทรนด์
หันมามองเทรนด์หนังสือที่ยังขายดิบขายดีข้ามปี 2548 นั่นคือนิยายรักโรแมนติกจากแดนเกาหลีที่ยังคงเป็นที่นิยมของกลุ่มนักอ่านวัยรุ่นมากมาย แม้หนังสือแนวนี้จะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น 'วรรณกรรมขยะ' เนื่องจากพล็อตวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ แต่ก็โดนใจวัยรุ่นขายดิบขายดีจนหลายๆ สำนักพิมพ์หันมาเอาอย่าง สำนักพิมพ์แจ่มใส่ ซึ่งยึดครองตลาดอยู่ก่อนแล้วกันบ้าง
แน่นอนว่าเทรนด์เกาหลีนั้นมาแรง เริ่มจากกระแสของภาพยนตร์และละครทางโทรทัศน์ ซึ่งนิยายส่วนใหญ่นั้นแปลมาจากอินเทอร์เน็ต และบางเรื่องแทบแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำไปว่าเล่มไหนเป็นเรื่องแปล เล่มไหนเป็นเรื่องที่นักเขียนไทยเขียนขึ้น เพราะการดำเนินเรื่องแทบจะคล้ายๆ กัน ฉะนั้นผู้อ่านเองต้องรู้จักเลือกเฟ้นมากขึ้น
หากมองอีกแง่มุมหนึ่งนั้น ถือเป็นเรื่องดีที่นิยายเกาหลีสามารถสร้างปรากฏการณ์ให้เด็กๆ หันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ความหวังคือต่อไปเขาน่าจะหันมาหยิบจับอ่านวรรณกรรมดีๆ กันบ้าง
ดังนั้นผู้รับผิดชอบควรกลั่นกรองเป็นพิเศษก่อนจะพิมพ์ออกมา มิฉะนั้นนิยายเหล่านี้อาจจะกลายเป็น 'ยาพิษ' ที่ยากเกินเยียวก็ได้
4.พอคเก็ตบุ๊คจอมแฉ
แต่ที่แย่ไปกว่านิยายเกาหลียังมีอีก!! นั่นคือหนังสือประเภทแฉแหลกที่กลายเป็นเรื่องทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่างมากในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลเนื่องมาจาก 'วัฒนธรรมปาปาราซซี่' ของฝรั่งนั่นเอง ที่น่าสนใจคือคนที่ออกมาแฉกลับกลายเป็นคนดังของวงการบันเทิงเสียเอง
ดังนั้นจะเห็นว่ามีทั้งในรูปของพอคเก็ตบุ๊คและนิตยสารซุบซิบดาราออกมาแข่งกันบนแผงหนังสือสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ 'ดอกปนัดดา' ของ บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี จนถึง 'รักรสแซ่บ' ของ สุ่ย-พรนภา เทพทินกร ที่เป็นข่าวฮือฮาจนกลายเป็นข่าวดัง และกลับเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับหนังสือเล่มดังกล่าว รวมทั้งกรณีของ บอล-อธิป นานา ที่ออกหนังสือชื่อ 'เพราะรัก' แฉเรื่องความรักกับม่ายสาว 'มาช่า' นั่นเอง หรือหนังสือที่นำเสนอเรื่องผู้ชาย ผู้หญิง และประสบการณ์เรื่องเซ็กซ์อย่าง สำนักพิมพ์อนิต ที่ขายดิบขายดีเช่นเดียวกัน
แต่หนังสือแนวนี้เมื่อมีมาก็ต้องมีจากไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน...เชื่อจุดประกายวรรณกรรมเต๊อะ!
5.พระราชอำนาจ Vs การเมือง
ก่อนหน้าที่ สนธิ ลิ้มทองกุล จะกลายเป็นข่าวร้อนแรงกรณีข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ประมวล รุจนเสรี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ได้เขียนหนังสือ พระราชอำนาจ ที่นำเสนอประเด็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจจนกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากพรรครัฐบาลอย่างมาก
กระแสดังกล่าวได้สร้างความอยากรู้อยากเห็นให้กับประชาชน ยิ่งส่งผลให้ยอดขายหนังสือเล่มนี้ทะยานสูงขึ้นกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับ 1 แทบทุกร้านหนังสือ แซงหน้าหนังสือดังเล่มอื่นๆ ในช่วงนั้นไปอย่างชนิดไม่เห็นฝุ่น ด้วยยอดพิมพ์จำนวนมาก
นี่จึงเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่สร้างกระแสร้อนแรงไม่แพ้การเมืองเรื่องอื่นๆ ....(ร้อนแรงกว่าข่าว 'อ้อเล็ก' มีกิ๊กด้วยล่ะ)
6.สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม
ไดอารี่ สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม พระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สร้างกระแสยอดพิมพ์และยอดจองทะลุสูงกว่า 140,000 เล่ม ทันทีเมื่อออกวางขายตามร้านหนังสือ โดยไดอารี่ฉบับพิเศษ ประจำปี 2549 นี้ นอกจากจะมีลายพระหัตถ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล่าถึงสัตว์ต่างๆ ในวังสระปทุมแล้ว ยังมีประวัติและภาพถ่ายในอิริยาบถต่างๆ ของ 21 สุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งมีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ด้วยกัน ล้วนแต่น่ารักและน่าประทับใจทั้งสิ้น
สำหรับรายได้จากหนังสือนำสมทบทุนก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และนำไปจัดตั้งเป็นมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอีกด้วย
ถ้าใครกำลังมองหาของขวัญปีใหม่อยู่ ไดอารี่ 'สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม' จะเป็นของขวัญที่น่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้รับ
7.'พ่อมดน้อย' ยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง
กระแสการตอบรับ Harry Potter and the Half-Blood Prince นั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามนต์ขลังของพ่อมดน้อยยังคงเป็นหนังสือที่ครองใจนักอ่านทั่วโลกได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการทำสถิติหนังสือ 'ขายเร็ว' ที่สุดเป็นประวัติการณ์จากการเปิดขายเล่ม 6 พร้อมกันทั่วโลก เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ด้วยสถิติ 10 ล้านเล่ม ภายในเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมง
แม้บรรยากาศการเปิดตัวเล่ม 6 ในกรุงลอนดอนค่อนข้างซบเซา เพราะผู้คนยังไม่คลายความหวาดผวาจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถไฟใต้ดิน 3 แห่ง และรถเมล์โดยสารจนมีผู้เสียชีวิต แต่ยอดขายในสหรัฐพุ่งขึ้นไปถึง 6.9 ล้านเล่มในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เฉลี่ยแล้วขายได้ชั่วโมงละกว่า 250,000 เล่ม ทุบสถิติที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มก่อนๆ ทำไว้ในสหรัฐชนิดไม่เห็นฝุ่น กระทั่งภาคภาษาไทย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม เองก็สร้างสถิติยอดจองไปสามแสนกว่าเล่ม พร้อมๆ กับช่วงภาพยนตร์เข้าฉายในโรงพอดี
เล่มที่ 7 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เรื่องราวจะจบลงอย่างไร แฟนๆ พ่อมดน้อยคงตั้งหน้าตั้งตารออย่างใจจดจ่อ...(ถ้ารอไม่ไหวจริงๆ ก็ช่วยอุดหนุนจุดประกายวรรณกรรมไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกันนะน้อง)
8.เทพมารสะท้านภพ:การกลับมาของนิยายกำลังภายใน
หลังจากนวนิยายจีนกำลังภายในถูกวรรณกรรมแปลจากโลกตะวันตก และเกาหลี-ญี่ปุ่นบดบังมานาน ในที่สุด เทพมารสะท้านภพ จากปลายปากกาของ หวงอี้ ฉบับภาษาไทยแปลโดย น. นพรัตน์ ก็ได้หวนกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ในยุทธจักรเมืองไทยอีกครั้ง
'หวงอี้' นักเขียนยุคใหม่ชาวฮ่องกง เขาศึกษาทั้งวรรณกรรม ดาราศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และศาสตร์ลี้ลับว่าด้วยการเสี่ยงทายพยากรณ์ นวนิยายของเขาสร้างยอดขายพุ่งกระฉูดทั้งฮ่องกง และไต้หวัน รวมถึงเมื่อนำมาพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ว่ากันว่าความจริงแล้วนิยายจีนเรื่องนี้ ฉบับเดิมที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 ที่ฮ่องกง มีความยาวถึง 29 เล่มจบ แต่ว่าฉบับล่าสุด หวงอี้ได้แก้ไขปรับปรุงเพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ ทั้งตัดทอนและเพิ่มเติมอะไรบางอย่างเข้าไป ซึ่งฉบับแปลเป็นภาษาไทยคือต้นฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ จำนวน 18 เล่มจบ
นี่แสดงว่ายุทธจักรนิยายจีนกำลังภายในได้กลับมาร่ายเพลงกระบี่ได้อย่างสง่างามอีกครั้ง.....(เหมือนการกลับมาของก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับรังสิตอ๊ะป่าว?)
9.'เจ้าหงิญ' ซีไรต์ 2548
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 2548 (ซีไรต์) รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ ของ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนหนุ่มใหญ่ร่างท้วมก็ชนะใจคณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ และสร้างปรากฏการณ์ด้านยอดขายไม่แพ้หนังสือดังเล่มอื่นๆ ยิ่งเกิดกระแสข่าวของอดีต 'เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง' หรือ 'เจ้าหญิงเบนโล' ที่ได้รับความสนใจ รวมเรื่องสั้น 'เจ้าหงิญ' จึงถูกหยิบยกนำไปตีความและรับใช้พื้นที่ข่าวได้อย่างทันท่วงที
สำหรับรวมเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบ 8 เล่มสุดท้าย ได้แก่ 1.เจ้าหงิญ ของ บินหลา สันกาลาคีรี 2.ต้นไม้ประหลาด ของ อุเทน พรมแดง 3.นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ 4.นิทานกลางแสงจันทร์ ของ ประชาคม ลุนาชัย 5.เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 6.ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร 7.สายลมบนถนนโบราณ ของ มาโนช พรหมสิงห์ และ 8.อุบัติการณ์ ของ วรภ วรภา
และเป็นประจำเช่นทุกปีมักจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาจากคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลซีไรต์ สำหรับปีนี้น่าแปลกว่ามีกรรมการตัดสิน 'ตกรอบแรก' นั่นคือ 'คะนองฤทธิ์ อนุฤทธิ์' ที่โดนคณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่บีบให้ออกจากการเป็นกรรมการคัดเลือก ด้วยข้อหาว่า "นำความลับวาระซ่อนเร้นในที่ประชุมไปเปิดเผย" จึงกลายเป็นเรื่องที่สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับชุมชนคนวรรณกรรมมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ในที่สุดรวมเรื่องสั้น 'เจ้าหงิญ' ก็คว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2548 ไปครอง (ส่วนน้องแหม่ม-คัทลียา คว้ารางวัลเบนโลอวอร์ดไปครองอย่างไร้คู่แข่ง)
10.'พินเตอร์' นักเขียนม้ามืดรางวัลโนเบล
รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรรมก็เป็นอีกรางวัลที่สร้างความประหลาดใจสำหรับคนทั่วไป เมื่อ ฮาร์โรลด์ พินเตอร์ (Harold Pinter) เป็นม้ามืดคว้ารางวัลนี้ไปครอง แถมยังเป็นนักเขียนบทละครซึ่งน้อยคนนักที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
พินเตอร์ศิลปินชาวอังกฤษที่มีบทบาทหลากหลายตั้งแต่นักเขียนบท กวี ผู้กำกับ นักแสดง รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุด และทำให้เขาได้รางวัลโนเบลคือนักเขียนบทละคร โดยคำประกาศเกียรติคุณของราชบัณฑิตยสภาสวีเดน ได้เชิดชูเกียรติเขาในฐานะตัวแทนการละครอังกฤษในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังช่วยนำพาละครเวทีกลับไปสู่รากเหง้าเดิมๆ ซึ่งได้แก่ พื้นที่ปิดล้อมและบทสนทนาที่ไม่สามารถคาดเดาได้
ปกติการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจะถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด ก่อนหน้านั้นตัวเต็งที่คาดหมายว่าจะได้รับรางวัลนี้ อาทิ ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) นักเขียนนิยายชาวตุรกี หรือกวีชาวซีเรียชื่อ อดอนิส (Adonis) ไปจนถึงนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง จอยซ์ แครอล โอตีส (Joyce Carol Oates)
แต่กลับไม่มีใครนึกถึงพินเตอร์เลย...แม้แต่เจ้าตัวเองก็ประหลาดใจเอามั่กๆ ที่ได้รับรางวัลนี้.. (เพราะมัวแต่ตกตะลึงจนถึงกับอุทานว่า "โอ้...มายก็อด!ยังไงล่ะ")
11.ปรากฏการณ์ 'แดจังกึม'
ร้อนแรงสุดๆ สำหรับภาพยนตร์ชุด แดจังกึง จอมนางแห่งวังหลวง ที่สร้างจากนวนิยายเกาหลีของ Yu Min-Ju ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.ไพบูลย์ ปีตะเสน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมเกาหลีศึกษา และสร้างปรากฏการณ์ยอดขายไม่แพ้เรทติ้งละครทางช่อง 3 ก็ว่าได้ นวนิยายได้นำเสนอวัฒนธรรมเกาหลี โดยหยิบยกประเด็นเรื่องการทำอาหารต้นตำรับราชสำนักมาเป็นจุดขาย และเข้มข้นด้วยเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ของขุนนางที่ปกครองราชสำนัก (นักการเมืองไทยที่คอร์รัปชันควรอ่านและดูละครเรื่องนี้อย่างยิ่ง)
นวนิยายความยาว 4 เล่มจบ เสน่ห์ของเรื่อง แดจังกึม อยู่ที่เรื่องราวประวัติศาสตร์เกาหลี สตรีชนชั้นที่ยากจะได้รับการยอมรับทางสังคมให้เทียบเท่าผู้ชาย แต่ความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ เริ่มจากสิ่งที่ตนมีและทำให้ดีที่สุด ประกอบกับจิตใจมุ่งมั่น มิได้หวาดหวั่นต่ออำนาจ หรืออิทธิพลใดๆ และนำเอาสาระเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไพร่ หรือกษัตริย์ คือ เรื่องการกิน (อาหาร) และการเจ็บป่วย (การแพทย์) เป็นเรื่องที่เข้าได้กับจิตใจของทุกคน
ส่งผลให้ทั้งภาพยนตร์ชุดและนวนิยายโดนใจแฟนๆ อย่างไม่ต้องสงสัย....(อ้าว...ไผสิเอาลาบก้อยของข้อยไปไสล่ะเนี่ย...ฮ่วย!)
12.อากู๋แกรมมี่ดอดซื้อหุ้นมติชน!
ในบรรดาข่าวที่โด่งดังและร้อนแรงที่สุด ต้องยกให้ข่าว อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่ง แกรมมี่ ที่แอบซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชนมากถึง 32% นั่นแหละ เพราะนอกจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะช็อกวงการสื่อ ราวกับโดนกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูดจนดิ้นกระแด่วๆ แล้ว...ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านลุกลามไปอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีประชาชน องค์กรการเมืองอิสระ รวมทั้งแฟนประจำหนังสือพิมพ์มติชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกด้วย ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ขรรค์ชัย บุนปาน และคนในชายคามติชน รวมทั้งพันธมิตรต่างก็ออกมาต่อต้านสุดฤทธิ์ จนกระทั่งมีการเจรจาซื้อหุ้นคืนนั่นเอง สงครามระหว่างนายทุนยุคโลกาภิวัฒน์ที่อยากเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์กับคนหนังสือพิมพ์ครั้งสำคัญของเมืองไทยครั้งนี้ จึงสงบลงชั่วคราวและทำให้คนในวงการสื่อตื่นตัวระแวดระวังเสรีภาพของตนเองกันยกใหญ่
อากู๋นะอากู๋....ดอดมาเงียบจัง จะให้สุ้มให้เสียงซะหน่อยก็ไม่ได้...(แหม...ทำเอาโต๊ะใจโม๊ะเลย!)
13.วาณิช จรุงกิจอนันต์:นักเขียนจำเลยรัก
จากกรณี อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งแกรมมี่ แอบซื้อหุ้นมติชนจนกลายเป็นข่าวครึกโครมแห่ง 2548 ปรากฏว่า วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนคนหนึ่งในค่ายมติชน ต้องถูกต่อต้านและถูกยุบทุกคอลัมน์งานเขียนทุกชิ้นในหนังสือของเครือมติชนทั้งหมด โทษฐานที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายอากู๋ และถูกกล่าวหาว่าล่วงรู้การซื้อหุ้นล่วงหน้า แต่ไม่ยอมบอกให้คนในมติชนรับรู้เลย ทั้งๆ ที่อุตส่าห์ไว้เนื้อเชื่อใจและรักใคร่กันมาเนิ่นนาน
นอกจากนี้แล้วยังมีนักเขียนในค่ายมติชนเขียนวิพากษ์วิจารณ์ วาณิช จรุงกิจอนันต์ อย่างเผ็ดร้อนอีกด้วย จนกระทั่งเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา วานิช จรุงกิจอนันต์ จึงตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนถึง 30 ล้านบาท โดยฟ้อง พิเชียร คุระทอง เป็นจำเลยที่ 1 สุวพงศ์ จั่นฝังเพชร เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3
โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนเลยจริงๆ..อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น...(ไม่เชื่อลองไปถามน้องนัทกับเต๋าดูสิ)
14.เผด็จการวรรณกรรม
กลายเป็นข่าวที่เดือดดาลในหมู่ชุมชนคนวรรณกรรมขึ้นมาจนได้ เมื่อการประกาศผลการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้าปี 2548 ซึ่งมี ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ เป็นประธาน เกิดพลิกมติของคณะอนุกรรมการ โดยมีมติให้เรื่องสั้น 2 เรื่องที่สมควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ถูกตัดตอนให้ตกไป และไม่ได้รับรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องสั้นทั้ง 2 เรื่องนั้นก็คือ พญาอินทรี ของ จรัญ ยั่งยืน และเรื่อง กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด ผลงานของ อาลี โต๊ะอิลชา เหตุผลที่ถูกตัดสิทธิก็คือใช้ภาษาหยาบคายและล่อแหลมต่อความมั่นคง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาสาระมันค่อนข้างจะแสลงใจนักการเมืองและรัฐบาลขาลงต่างหาก
ชูวิทย์....ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อยู่ที่ไหนโว้ย!....ช่วยเอาเรื่องสั้นทั้ง 2 เรื่องนี้ไปอ่านทีเถอะ.....(ถ้าจะให้ดีต้องท้าไปสาบานที่วัดพระแก้วด้วยนะ)
15.นักโจรกรรมวรรณกรรม
มีนักเขียนคนหนึ่งนามปากกาว่า ทอฝัน ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ หรือเราไม่ได้รักกัน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใยไหม แต่ถูกเจ้าของผลงานตัวจริงๆ จับได้ โดยงานเขียนชุดดังกล่าวนั้น นำเอางานเขียนความเรียง 3 เล่มของ แสง สีรุ้ง หรือ จักร กัปปวัตนะ ซึ่งได้แก่ เรื่องความรักทำให้ผมต้องร้องไห้, เธอร้องไห้ทำไมฉันเจ็บ และเธอจะรักฉันถึงวันพรุ่งนี้ไหม? มาดัดแปลงนั่นเอง.....หลังจากเกิดเรื่องแล้ว เมื่อเจ้าของตัวจริงโทรไปถามไถ่นักเขียนนาม ทอฝัน ก็ยอมรับว่าลอกเลียนจริง ดังนั้น แสง สีรุ้ง จึงอยากจะให้ทางสำนักพิมพ์นำนักเขียนคนดังกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการและมีการนัดเคลียร์กันที่แห่งหนึ่ง แต่ตกลงกันไม่ได้ ในที่สุด แสง สีรุ้ง หรือ จักร กัปปวัตนะ เจ้าของผลงานตัวจริงจึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่าง....และนี่ถือเป็นข่าวร้อนในช่วงใกล้สิ้นปี
ทั้งหมดนั้นเป็นบทสรุปส่งท้ายปี 2548 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรมและหนังสือ 'จุดประกายวรรณกรรม' ขอให้ผู้อ่านทุกท่านจงมีความสุขตลอดปีใหม่นี้ครับผม 0
ความคิดเห็น