ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รักรัญจวนใจ

    ลำดับตอนที่ #2 : บทที่ ๑ ตัวใหญ่ ใจร้าย หน้าดุ

    • อัปเดตล่าสุด 19 พ.ค. 58


    บทที่ ๑

     

                แดดเดือนมีนาคมยังคงร้อนจัดจนพื้นถนนระอุขึ้นเป็นไอ เหมภาสถอดหมวกปีกกว้างออกจากศีรษะที่บัดนี้ชุ่มไปด้วยเม็ดเหงื่อ แขนเสื้อถูกใช้ต่างผ้าเช็ดหน้า เขาถอยหลังไปพิงต้นมะม่วงใหญ่อาศัยร่มหลบแดดขณะที่กำลังคุมคนงานขนดอกไม้ชุดใหญ่สำหรับสวนในโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ ช่วงบ่ายยังมีอีกงานที่เขาต้องคุมในการขนต้นไม้อีกล็อตใหญ่

    อาณาเขตกว้างใหญ่ของพื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนเพาะชำที่อยู่ด้านหลัง ขณะที่ต้นไม้ที่พร้อมสำหรับขนส่งจะย้ายมาอยู่ด้านหน้าสุด รวมถึงเพื่อเป็นสินค้าขายปลีกสำหรับคนที่แวะผ่านไปมา อีกส่วนคือพื้นที่อยู่อาศัยที่สวนศุภลักษณ์แห่งนี้เป็นแหล่งขยายพันธ์และขายไม้ดอกไม้ประดับขนาดใหญ่ของนครปฐม ที่นี่ไม่ได้เพาะเฉพาะไม้ไทยแต่ยังเพาะพันธุ์ไม้จากเมืองนอกอีกหลายพันธุ์จึงเป็นเหตุให้ที่นี่เป็นแหล่งกระจายพันธุ์ไม้อันดับต้น ๆ ของภาคตะวันออก

    เหมภาสคือผู้คุมงานทั้งการจัดส่งสินค้าและส่วนวิจัยขยายพันธุ์ แม้จะสภาพของชายหนุ่มจะไม่เหมือนพวกนักวิจัยนักแต่เขาก็จบสาขาการเกษตรโดยตรง สภาพคนที่ทำงานกลางแดดจนผิวคล้ำ เสื้อเชิ้ตของเขาเต็มไปด้วยคราบเหงื่อ ดิน และปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งทำให้เหมภาสกลิ่นเหมือนคนงานมากกว่าจะเป็นเจ้าของไร่

    “คุณเหมครับผมเช็คของแล้วนะครับ” คนงานชายรายหนึ่งก้าวเข้ามาใกล้ “ขอใบส่งหน่อยครับ เดี๋ยวไอ้ชัดจะขับไปส่งที่อยุธยาเอง”

    ชายหนุ่มใช้หมวกต่างพัด “ให้เทิดไปด้วยอีกคน คุมกันดีกว่า ไอ้ชัดมันใจร้อนแล้วนี่ก็ของล็อตใหญ่ไม่อยากให้มีปัญหา”

    “แต่ไอ้เทิดมันต้องขับไปส่งของในกรุงเทพฯ นะครับ”

    เขาส่ายหน้า “ไม่เป็นไร ให้มันไปนั่นแหละ เดี๋ยวฉันเข้ากรุงเทพฯ เอง”  คนพูดเดินหายกลับเข้าไปในตึกสำนักงานที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ที่นั่นมีไว้สำหรับต้อนรับลูกค้าและเก็บเอกสารสำคัญ ในส่งสินค้าสองใบที่จดรายละเอียดสถานที่เอาไว้เรียบร้อยสำหรับอยุธยาและกรุงเทพฯ ตอนนั้นเองที่ประตูถูกเปิดออกโดยชายสูงวัยทว่าท่าทางยังแข็งแรงเกินอายุและอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากเหมภาสนัก

    “จะไปส่งที่กรุงเทพฯ เองเหรอเหม”

    ชายหนุ่มตอบรับโดยไม่หันมามองเพราะจำเสียงได้แม่นยำ “ครับพ่อ”

    ภาสกรเดินเข้ามาตบบ่า พอยืนเทียบกันพ่อลูกคู่นี้ก็มีความสูงไม่แตกต่างกันนัก เหมภาสอาจสูงกว่าพ่อเพียงเล็กน้อย สีผิวก็แบบเดียวกัน ติดเสียแต่ว่าใบหน้าที่แต้มด้วยริ้วรอยแห่งวัยดูเหมือนจะขึงขังน้อยกว่า “ขากลับฝากรับอ้อนที่วิทยาลัยด้วยสิ วันนี้ปิดเทอมพอดี”

    “พ่อไปเองก็ได้ วิทยาลัยดนตรีใกล้แค่นี้เอง” เสียงบอกเล่าราบเรียบไม่แสดงอารมณ์ แต่ใครฟังก็คงรู้ว่าคนพูดไม่พอใจ

    “อะไรกัน...ยังไงก็ทางผ่านไม่ใช่เหรอ แวะรับน้องหน่อยจะเป็นอะไร เดี๋ยวพ่อต้องเข้าไปคุยงานกับผู้ใหญ่หน่อย”

    เหมภาสถอนหายใจยาว พยักหน้ารับคำพ่ออย่างเสียไม่ได้ ก่อนจะถือใบส่งของไปหาลูกน้องข้างนอก ต้นไม้ที่เขาต้องไปส่งเป็นไม้ดอกพันธุ์ต่างประเทศหายากจำนวนสามสิบต้นสำหรับจัดสวนขนาดกลาง ดอกไม้พวกนั้นถูกจัดใส่รถกระบะที่มีหลังคาคลุมไม่ให้โดนลมกับแดดแรง ๆ ด้านนอกมากนัก พวกนี้เป็นไม้เมืองหนาวที่ต้องปลูกในที่ร่ม เขาว่าจะแวะไปดูคนเอามันลงดินด้วยตัวเองเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

     

    ความร้อนที่ทำให้ถนนพื้นถนนระอุลอยเข้าปะทะใบหน้าเขาโดยตรงแม้จะใส่แว่นกันแดดอยู่ในรถก็ตาม แอร์รถทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะความร้อนจัดแต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าอยู่ด้านนอกมาก การจราจรตอนบ่ายของกรุงเทพฯ ยังไม่ติดขัดมากนัก ทำให้ขับรถแค่ครึ่งชั่วโมงก็มาถึงด้านหน้าประตูหมู่บ้านขนาดใหญ่ สถานที่ส่งเป็นบ้านของเศรษฐีที่หวังจะจัดสวนใหม่เลียนแบบสวนของอังกฤษที่ไม่ค่อยเหมาะกับอากาศในตอนนี้นัก แต่เขาก็ไม่มีหน้าที่ออกความคิดเห็น นอกจากคอยดูให้พวกนั้นปลูกต้นไม้พวกนี้อย่างถูกวิธี

    ปลายทางด้านหน้าคือคฤหาสน์ทรงยุโรปหลังงาม ประตูบ้านด้านหน้าเปิดกว้าง มีคนงานบางส่วนกำลังจัดการกับสวนด้านหน้า เขาจอดรถต่อท้ายระกระบะที่อยู่ด้านหน้า ชายวัยกลางคนในชุดซาฟารีคนหนึ่งวิ่งตรงเข้ามาหา เหมภาสจึงเปิดประตูรถลงไปหาพร้อมยื่นใบส่งของให้

    “มาส่งต้นไม้ครับ”

    “ยกวางไว้ข้างล่างเลย เดี๋ยวผมเอาใบส่งของไปให้เจ้านายก่อน” บอกเสร็จก็ดึงกระดาษในมือวิ่งหายเข้าไปในตัวบ้าน ความจริงเขาต้องให้คนจ่ายเซ็นรับของงเองกับมือ แต่บางทีคนรวยพวกนี้อาจไม่อยากเสวนาคนกับทำไร่ทำสวนมากนัก และชายหนุ่มก็รู้ดีว่ายามนี้กลิ่นดินปนกลิ่นเหงื่อของเขาคงไม่น่าพิสมัยนัก

    เขาออกมายืนมองหาที่จะเอาต้นไม้วาง แต่บ้านนี้แทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ หรือจะมีก็แค่ต้นสนเล็ก ๆ สองสามต้นที่ปลูกเรียงติดกัน มันไม่มีร่มมากพอสำหรับต้นไม้ของเขา ดังนั้นชายหนุ่มจึงยืนพิงรถอยู่อย่างนั้น บางทีถ้าพวกเขาไม่มีร่มให้ต้นไม้พวกนี้บ้างเขาก็อาจจะไม่ยอมเอาต้นไม้ลงให้

    “อ้าว...ทำไมยังไม่เอาลงอีกล่ะ” ชายคนเดิมกลับมา

    “พวกเขาจะเอาต้นไม้ไปลงตรงไหนครับ”

    “ตรงนั้น” คำบอกเล่าประกอบท่าทางชี้มือไปยังจุดที่คนสวนกำลังขุดดินรอ “จะรอขนลงทีเดียวเลยก็ดีเหมือนกัน แต่ไม่จ่ายค่าแรงเพิ่มหรอกนะ”

    “หือ...” เหมภาสครางเสียงต่ำในลำคอ แสดงความไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน ริมฝีปากหนาเม้มแน่น ดวงตาหลังกรอบแว่นเป็นอย่างไรก็ยากจะรู้ แต่คงไม่น่าพิสมัยนัก “จะมีอะไรมาลงตรงนั้นอีกหรือเปล่า พวกศาลาหรือต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาอะไรแบบนั้น”

    “ไม่มี เขาจะลงดอกไม้อย่างเดียว มันจะได้โล่ง สะอาดตา” คำอธิบายทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจได้ในทันที

    “ใบส่งไม่ต้องเอามาคืนแล้วนะ เงินก็ไม่ต้อง ผมไม่ลงต้นไม้ให้” คำบอกสั้น เสียงต่ำครางในลำคอเหมือนเครื่องยนต์ ด้วยขนาดตัวสูงใหญ่และท่ากอดอกนิ่ง ๆ นั่นทำให้คนฟังเผลอถอยหลังโดยไม่รู้ตัว เหมภาสเดินอ้อมหลังรถไปปิดท้าย ดึงผ้าใบลงมาคลุมแล้วเดินไปยังที่นั่งคนขับ แต่ยังไม่ทันได้ติดเครื่องยนต์ชายคนนั้นก็เดินเข้ามาเคาะกระจก เขาจึงลดกระจกลงครึ่งหนึ่ง

    “ทำไมล่ะ มาส่งแล้วนี่จะกลับได้ยังไง”

     “ไปบอกเจ้านายคุณแล้วกันว่าถ้าไม่พอใจผมจะชดใช้ค่าเสียหายให้ แต่ไม่เอาต้นไม้ลง ไอ้พวกนี้มันไม่ชอบแดด เอามันมาไว้กลางแจ้งทั้งวันทั้งคืนไม่ถึงเจ็ดวันก็แห้งตาย ผมไม่เอาด้วยหรอก ส่งสารต้นไม้ผม” เสียงเข้มขรึมจริงจัง คนฟังชะงักไปแต่ก็แค่อึดใจเท่านั้น

    “ได้ที่ไหนเล่า ของมาส่งแล้ว ซื้อแล้ว”

    “เงินก็ยังไม่ได้จ่ายไม่เสียหายมากหรอก ถ้าจะปลูกแบบนี้ไปเอาไม้เมืองร้อนที่มันชอบแดดเถอะ” เขากดเสียงต่ำด้วยความไม่พอใจ  พยายามเลื่อนกระจกขึ้นเพื่อติดเครื่องขับรถกลับ ยิ่งอากาศร้อนเขาก็ยิ่งหงุดหงิด แต่เสียงหนึ่งที่แทรกถามขึ้นมาทำให้ต้องชะงัก

    “มีอะไรกันหรือเปล่า”

    “เขาจะไม่ขายต้นไม้ให้เราครับ ผมกำลังคุยอยู่” นายคนที่มารับหน้าหันไปคุยกับใครสักคน

    “ทำไมล่ะคะ” ความหวานในทำนองเสียงนั้นฉุดให้เหมภาสเงยหน้าขึ้นมอง หญิงสาววัยสิบถึงยี่สิบห้าหน้าตาสะอาดสะอ้านสวยงามในชุดเครสสีฟ้ากำลังวิ่งตรงมาที่รถ พอก้าวถึงประตูก็ยื่นมือมาเกาะขอบกระจกแน่นไม่ยอมให้เขาดันขึ้น “ขอโทษนะคะ แต่ทำไมถึงไม่ยอมขายให้ล่ะคะ”

    ชายหนุ่มเปิดประตูลงจากรถ ผ่อนลมหายใจด้วยความหงุดหงิด เขาถอดแว่นกันแดดออกเพื่อให้เห็นแววตาไม่สบอารมณ์ “ผมบอกไปแล้ว คุณจะปลูกต้นไม้พวกนี้ต้องรู้จักต้นไม้ ไม่ใช้สักแต่ว่าจะปลูก ตอนไปเลือกซื้อผมก็เตือนว่าไม้ดอกพันธุ์นี้ต้องปลูกในร่ม แต่นี่อะไร...” มือชี้สภาพสวนที่เตรียมเอาไว้ “ปลูกกลางแจ้งแดดลงทั้งวันต้นไม้ก็ตายพอดี ถ้าจะทำแบบนี้ไปหาไม้เมืองร้อนที่ชอบแดดโน่น”

    “แต่ฉันชอบไม้พันธุ์นี้นะคะ ไปหาที่อื่นก็ไม่มีแล้ว มีแต่สวนคุณที่เดียว”

    “จะปลูกไปทำไมถ้าทำแบบนี้ไม่เกินเจ็ดวันก็เหี่ยวตาย ถ้าคุณชอบต้นไม้ต้องหัดหาข้อมูลบ้าง ไม่ใช่สักแต่ปลูก” แววตาที่จ้องลึกลงไปทำให้หญิงสาวตรงหน้าเขาผงะถอย เหมภาสรู้ดีว่าตัวเองทำตัวน่ากลัวเกินไปอีกแล้ว แต่เขาไม่ใส่ใจว่าใครจะคิดอย่างไร

    “แล้วฉันต้องทำยังไงคะ”

    “ถ้าอยากปลูกก็หาที่ร่ม แต่ดูลักษณะบ้านนี้คงไม่มี ก็ต้องสร้างร่มขึ้นมา หาต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงามาสักต้นก็ได้ มันคงไม่เกินกำลังเงินบ้านคุณหรอกมั้ง หรือถ้าไม่อยากได้ต้นไม้ใหญ่ หาศาลาเล็ก ๆ พอให้มันหลบแดดบ้างก็ยังดี ไอ้ที่ทำตอนนี้มันตากแดดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็น รดน้ำให้ตายก็ไม่รอด” ถ้อยคำห้วนสะบัดเสียงไม่พอใจ “แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยาก หาอย่างอื่นมาปลูกง่ายกว่า ดอกไม้เมืองร้อนสวย ๆ ก็มีเยอะ”

    “แต่ฉันอยากได้ต้นนี้นี่คะ แต่ถ้าคุณบอกว่าต้องหาร่ม ฉันจะสั่งต้นไม้ใหญ่จากสวนคุณอีกสักต้นได้ไหม คุณไม่ส่งของวันนี้ก็ไม่เป็นอะไร คุณมาวันหลังก็ได้ ขอต้นไม้ใหญ่สักต้น ฉันจะเพิ่มเงินให้นะคะ คุณจัดการได้เลยขอให้ฉันได้ปลูกต้นไม้ไว้ที่นี่ก็พอ” ท่าทางวิงวอนขอร้องทำให้เหมภาสชัดใจอ่อน ดูเหมือนเธอจะต้องการปลูกดอกไม้พันธุ์นี้เอาเสียจริง

    “ผมคิดเงินเพิ่มแน่ล่ะ ค่าขับรถจากนครปฐมมากรุงเทพฯ เสียเปล่า เอาเป็นว่าขอเวลาอีกสองวัน เดี๋ยวจะหาไม้ใหญ่ให้ เอาที่เตี้ยหน่อยก็แล้วกันจะได้ไม่ดูแกะกะนัก สั่งคนขุดหลุมกว้าง ๆ สักหลุมให้ผมด้วย”

    หญิงสาวฉีกยิ้มหวานเก็บอาการดีใจไว้ไม่มิด “ขอบคุณมากนะคะที่ช่วย”

    “โธ่...เราเสียเงินซื้อนะครับไม่ได้ขอเขา”

    ผู้ชายอีกคนที่อยู่นอกบทสนทนาบ่นอุบ แต่เขาไม่ได้สนใจเพราะอย่างไรคนจ่ายเงินให้ก็คือหญิงสาวอีกคน เขาไม่ได้เอ่ยลาด้วยซ้ำก่อนที่ก้าวขาขึ้นไปนั่งบนรถแล้วติดเครื่องยนต์ขับจากมา นี่นับเป็นความกรุณาเท่าไรแล้ว ถ้าเป็นรายอื่นต่อให้ทุ่มเงินมากกว่าก็ไม่เมียเวลาแม้แต่จะมองหน้า ก็...เขารักต้นไม้มากกว่าเงิน มากกว่าคนด้วยซ้ำ

     

                เพราะไม่ได้ขนต้นไม้ลงเขาจึงมีเวลาอีกครู่ใหญ่ก่อนจะถึงเวลาที่ต้องไปแวะรับเด็กที่หน้าวิทยาลัยดนตรี ชายหนุ่มเลยซื้อหนังสือพิมพ์ข้างทางอ่านฆ่าเวลารออยู่ในรถ สภาพผู้ชายร่างใหญ่ใส่แว่นดำนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่บนรถกระบะปิดท้ายสีทึบคงเหมือนโจร หรือนักฆ่ามากกว่าผู้ปกครองมารอรับนักเรียน เหมภาสเห็นผ่านแว่นตาว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยสองสามคนจ้องเขาอยู่สักพักหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้เข้ามาทำอะไร ถ้าไว้หนวดอีกสักนิดอาจจะโดนเรียกไปตรวจแล้วก็เป็นได้ การตกเป็นเป้าสายตาไม่ใช่เรื่องที่เขาใส่ใจมากนัก ทว่าสาเหตุที่ไม่อยากมารับเพราะความวุ่นวายแล้วเจ้าตัวคนที่ต้องมารับด้วยนั่นแหละ

                “ขอโทษนะคะ ไม่คิดว่าคุณเหมจะมา” ชายหนุ่มพับหนังสือพิมพ์ลงแล้วมองสาวน้อยมัธยมปลายปีสุดท้ายตรงหน้า อธิกานต์กลายเป็นสาวน้อยผมยาวเกือบถึงกลางหลังรูปร่างได้สัดส่วนบอบบางและยังคงตัวเล็กถ้าเทียบกับคนมารับเพราะเธอยังต้องแหงนคอมองเขาในระยะประชิด

                “ทำไมช้านัก เด็กคนอื่นเขาออกมาเป็นชาติแล้ว” คนบ่นหงุดหงิด เพราะวันนี้เจอเรื่องไม่สบอารมณ์มาเยอะเหลือเกิน

              “คุยกับอาจารย์เรื่องเรียนพิเศษตอนปิดเทอมค่ะ” เสียงตอบเบาลงตามประสา

    เด็กคนนี้เคยกลัวเขาอย่างไรเมื่อสองปีก่อนก็ยังกลัวอยู่จนบัดนี้ ทั้งที่เห็นหน้ากันอยู่เกือบทุกวัน แม้ไม่ค่อยได้คุยกันนักก็ตาม เนื่องจากฝ่ายก็หมกตัวซ้อมดนตรี เรียนพิเศษ อีกคนก็วุ่นวายกับงาน บางทีเขาแทบไม่ได้กลับบ้านหากแต่หมกตัวเองอยู่ในห้องเพาะจนแทบจะกินนอนในนั้น ระยะทางจึงไม่เป็นอุปสรรคเท่ากันเวลา คนอยู่บ้านเดียวกันสองคนจึงยังเป็นคนแปลกหน้าไม่เปลี่ยนแปลง

    “เอาเถอะ ขึ้นรถ” เขาสั่งแล้วโยนหนังสือพิมพ์ไว้ที่เบาะหลัง ปล่อยให้เสียงเครื่องยนต์ทำงานจากวิทยาลัยดนตรีไปจนเกือบถึงบ้านโดยไม่พูดจาอะไรกัน เด็กคนนั้นก็คล้ายไม่สนใจเพราะเสียบหูฟังอ่านสมุดบันทึกไปด้วย พอได้โอกาสติดไฟแดงมือหน้าใหญ่ก็เอื้อมไปฉวยสมุดออกมา

    “อ่านหนังสือในรถเดี๋ยวก็เสียสายตา” น้ำเสียงไม่เชิงตะคอกแต่ก็ดังลั่นรถ ถ้าจอดนิ่งอยู่ข้างทางคนด้านนอกอาจจะได้ยินก็เป็นได้

    อธิกานต์ก้มหน้าจนคางแทบจะชิดอก “ขอโทษค่ะ”

    เขาเกือบถอนหายใจ เด็กนี่ทำให้เขาดูเหมือนยักษ์เหมือนมารเข้าไปทุกทีที่ได้คุยกัน “ช่างเถอะ เห็นพ่อบอกว่าปิดเทอมนี้จะมีเรียนพิเศษด้วยนี่”

    แม้จะไม่ได้พบปะพูดคุยกันมากนัก แต่ข่าวของเด็กในอุปการะจะผ่านปากพ่อสู่ความรับรู้ของเขาเสมอ แทบทุกครั้งที่พบหน้าถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็เรื่องหลานสาวสุดที่รักคนนี้ที่พูดถึงด้วยความสุดเสน่หา ดังนั้นเขาจึงรับรู้ในเกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องที่ว่าปิดเทอมกลางภาคครั้งนี้จะมีการเรียนพิเศษเกิดขึ้น สำหรับชั้นเรียนปีสุดท้ายของเด็กมัธยมปลายวิทยาลัยดนตรี

    “ค่ะ จะเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติมค่ะ”

    “อ้อ ไอ้ที่บอกว่าจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยดนตรีที่ออสเตรียใช่ไหม” เขาเคยได้ยินมาบ้าง แต่จำชื่อมหาวิทยาลัยอาร์ต ๆ อะไรสักอย่างนั่นไม่ได้ “แล้วยังไง เห็นว่ายืนยันจะขอออกค่าเรียนเอง”

    เด็กสาวพยักหน้ารับ “เงินของพ่อกับแม่น่ะค่ะ ยังพอเหลือสำหรับค่าเรียนพิเศษ”

    “เห็นบ้านฉันยากจนข้นแค้นอะไรนักหรือไง กะอีแค่เงินเรียนพิเศษไม่กี่บาทให้พ่อเขาออกไปเถอะ” ก็เพราะพ่อมาคร่ำครวญว่าหลานรักไม่ยอมรับไมตรีส่วนที่จะขอออกค่าเล่าเรียนพิเศษให้ ทุกวันนี้เด็กนี่ก็ใช้เงินรายปีจากเงินประกันชีวิตและมรดกของพ่อแม่ตัวเองมาจ่ายค่าเรียนอยู่แล้ว “เห็นเขาร่ำร้องแล้วมันน่ารำคาญ” ก็รำคาญจริง ๆ นั่นแหละ

    ความรักที่พ่อมอบให้เด็กคนนี้เหมือนจะเป็นลูกสาวเข้าไปทุกที จนเกิดข่าวลือไปทั่วนครปฐมว่าบางทีอธิกานต์อาจเป็นลูกลับจากเมียของพ่อสักคนที่นับจากอายุแล้วคงกุกกิ๊กกันก่อนที่แม่เขาจะตายหลายปี เหมภาสไม่ได้เชื่อข่าวลือพวกนั้นเพราะเด็กนี่ไม่มีอะไรเหมือนพ่อเขาเลยสักนิด ไม่ว่าหน้าตา ผิวพรรณ หรือนิสัย

    “หนูเกรงใจค่ะ”

    “อยู่บ้านฉันมาสองปีน่าจะเลยช่วงเกรงใจไปได้แล้วมั้ง”

    “คุณเหมประชดหนูหรือคะ” คนถามไม่ใช่ว่าจะหาเรื่อง แต่ท่าทางจะถามเพราะอยากรู้

    “คงชื่นชมอยู่หรอกมั้ง นั่งเฉย ๆ ฟังเพลงบ้าบออะไรของเธอไป ไฟเขียวแล้ว” ไม่ใช่ว่าต้องใช้สมาธิกับการขับรถอะไรนักหนา แต่ขี้เกียจมาตอบคำถามของเด็กที่โตแต่ตัว บางทีพ่อเขาอาจเลี้ยงเด็กคนนี้มาดีเกินไปถึงได้คิดอะไรชักช้านัก ไม่เท่าทันคนอื่นแบบนี้ออกไปข้างนอกพ้นอกพ่อเมื่อไรก็ตายเมื่อนั้น

     

    เหมภาสแวะส่งเด็กคนนั้นลงที่หน้าสำนักงานเพราะคาดว่าพ่อจะอยู่ที่นั่น พอเปิดประตูเข้าไปก็เห็นภาสกรนั่งก้มหน้าดูเอกสารในแฟ้มอยู่กับพื้น ข้างตัวมีแต่จานขนมกับแก้วน้ำหวาน เหมือนโรงเลี้ยงเด็กมากกว่าสำนักงานสวนไม้ดอกไม้ประดับ แล้วไอ้ที่นั่งขัดสมาธิบนพื้นก็เหมือนเด็กมากกว่าผู้ใหญ่วัยห้าสิบกว่า

    “ถ้ามดขึ้นสำนักงานพ่อเก็บกวาดเองนะ” ชายหนุ่มเปรยขณะที่เดินเลี่ยงกองเอกสารไปนั่งที่โต๊ะรับรองแขก

    เจ้าของสวนไม่เงยหน้าขึ้นมามอง “เออน่า เฮ้ยไอ้เหมแกเห็นใบรับของที่ปราจีนบุรีอาทิตย์ที่แล้วหรือเปล่า พ่อว่าพ่อเก็บไว้ในแฟ้มนี้นะแต่หายไปไหนก็ไม่รู้ พ่อว่าจะเทียบบัญชีหน่อย ตัวเลขมันแปลก ๆ”

    “ไม่รู้หรอก เก็บไว้ที่อื่นหรือเปล่า แก่แล้วก็หลงลืมกันได้พ่อ”

    “แกเอาเวลาปากเสียมาช่วยพ่อหาไม่ดีกว่ารึไง เออ...แล้วหนูอ้อนล่ะแกไปรับมารึเปล่า”

    “รับ” เขามองภาพตรงหน้าด้วยความรู้สึกหลากหลาย “ก็นั่งพับเพียบยกมือไหว้เก้ออยู่หน้าพ่อนั่นไง ถ้าพ่อไม่เงยหน้ามารับไหว้จะกลายเป็นอนุสาวรีย์แล้วล่ะ”

    อธิกานต์วางกระเป๋านักเรียนไว้ข้างประตู ทรุดตัวลงนั่งพับเพียบอยู่ข้างหน้าภาสกรแล้วยกมือไหว้รอให้มองอยู่นานสองนานตั้งแต่เขาเข้ามาแล้ว คนถูกไหว้ไม่สนใจ คนรอไหว้ก็ไม่เรียก เขาซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเลยนั่งมองเฉย ๆ รอว่าจะรู้ตัวกันเมื่อไร แต่ดูเหมือนถ้าไม่ทำอะไรคงได้นั่งไหว้รอท่านั้นไปอีกนาน

    ผู้แก่วัยกว่าเงยหน้ามอง ก่อนจะโน้มตัวข้ามบรรดาของที่ระเกะระกะไปรวบมือรับไหว้แล้วหัวเราะแก้เก้อ ประโยคต่อมาจะคุยอะไรกันเขาก็ไม่แน่ใจ เห็นกระซิบกระซาบหัวเราะคิกคักกันอยู่สองคน บางทีนี่อาจเป็นความพึงพอใจประการเดียวที่เขามีต่อเด็กอุปการะของพ่อ นับตั้งแต่เขาสูญเสียแม่ไปด้วยโรคร้ายเมื่อสิบกว่าปีก่อน พ่อเขาแทบไม่เคยหัวเราะจากใจ การหัวเราะของพ่อเป็นไปตามสถานการณ์ และความเหมาะสม ทว่าตั้งแต่เด็กคนนี้เข้ามาอยู่ในบ้าน พ่อก็เริ่มกลับมาหัวเราะจากข้างในอีกครั้ง

    “เออ อาทิตย์หน้าพ่อจะจัดงานวันเกิดนะ”

    “ฮะ!” เหมภาสแทบไม่เชื่อหู “จัดงานอะไร ปกติก็แค่ตักบาตร”

    “พ่อจัดเองที่ไหน ทางสมาคมเขาจะจัดให้ รบเร้าอยู่นั่นแหละว่าต้องจัด ๆ พ่อก็เลยรับคำตัดรำคาญไป”

    “แล้วเรื่องอะไรเขาต้องมาจัดให้พ่อ พ่อไม่ใช่ประธานเสียหน่อย”

    ความเงียบที่บังเกิดทำให้ชายหนุ่มสะดุดใจ เขาหรี่ตามองพ่อที่พยายามหลบสายตา ส่วนอธิกานต์ทำหน้าเหรอหรา “อ้าว...คุณลุงยังไม่ได้บอกคุณเหมอีกเหรอคะ”

    เท่านั้นเขาก็กระจ่างแก่ใจ ที่สำคัญคือเด็กนั่นรู้! แต่เขาที่เป็นลูกทำงานด้วยกันทุกวันกลับไม่รู้ มือที่กำแน่นทุบลงบนที่เท้าแขนเสียงดังสนั่นจนสะดุ้งกันไปทั้งแทบ น้ำเสียงที่เอ่ยออกมาเยียบเย็นต่ำลึกจนน่าขนลุก

    “ตั้งแต่เมื่อไหร่พ่อ”

    “อาทิตย์ก่อนนี่เอง” รอยยิ้มสำนึกผิดฉาบฉายบนใบหน้า “ประธานคนเก่าเขาจะย้ายตามลูกไปอยู่ใต้ก็เลยเลื่อนวาระเลือกตั้งมาเร็วกว่าปกติหกเดือน วันนั้นพ่อก็ยุ่ง ๆ เลยไม่ได้ไปประชุม รู้ตัวอีกทีเขาก็โทรศัพท์มาบอกแล้วว่าพ่อได้เป็น พ่อก็อยากจะบอกแกนะ แต่อาทิตย์ก่อนแกอยู่แต่ในโรงเพาะ พ่อก็เลยลืม” การหัวเราะแถมท้ายด้วยท่าทางเกาหัวไม่ได้ทำให้ความผิดนั้นกลายเป็นลหุโทษ

    “แล้วทำไมยัยเด็กนี่รู้” เขาเกรี้ยวกราดพอสมควรเพราะเป็นเรื่องสำคัญ พ่อถูกเลือกเป็นประธานสมาคมผู้ค้าไม้ดอกไม้ประดับของนครปฐม แต่ลูกชายได้รู้เป็นคนสุดท้าย

    “ก็หนูอ้อนเขาไม่ได้ยุ่งอย่างแกนี่หว่า อีกอย่างพ่ออยากให้หนูอ้อนเขาโชว์เปียโนในงานก็เลยต้องบอกไว้ก่อนจะได้เตรียมตัวทัน”

    เขามั่นใจเต็มร้อยว่านั่นเป็นแค่ข้ออ้าง พ่ออยากจัดงานนี้แต่ให้เขารู้ไม่ได้ทั้งที่ปกติเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวาย เขาเดาว่าน่าจะมีจุดประสงค์อะไรบางอย่าง พ่อไม่บอกเพราะรู้ว่าลูกชายจะคัดค้านหัวชนฝาเลยมาบอกก่อนถึงงานที่สัปดาห์เดียว ที่เอาเข้าจริงก็เหลืออีกแค่ห้าวัน ถึงเวลานี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

    ชายหนุ่มทุบที่เท้าแขนอีกครั้ง “ก็ได้...พ่อจัดไปแต่ผมไม่มาแน่ อย่าให้ใครไปยุ่งยามกับโรงเพาะของผมแล้วกัน”

    “ได้ไง!” ภาสกรลุกขึ้นกระโจนข้ามของที่วางอยู่บนพื้นถึงตัวลูกชายในเสี้ยววินาที “แกเป็นลูกพ่อนะโว้ย งานพ่อลูกไม่มาชาวบ้านเขาก็นินทาตายชัก”

    “มียัยเด็กนั่นนั่งปั้นหน้าเป็นลูกสาวอยู่แล้วนี่ จะเอาผมไปทำอะไร” พูดเสร็จก็ลุกขึ้นเตรียมตัวจะออกไปจากห้อง ทว่าอธิกานต์ก็ก้าวขวางทำท่าทางขึงขังไม่ให้เขาไป ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ยอมสบตาเอาแต่ก้มหน้ามองพื้น “ทีหลังถ้าขี้ขลาดก็อย่ามายืนขวางทางคนอื่น”

    นั่นแหละถึงได้เงยหน้าขึ้นให้เห็นดวงตากลมโตใสแจ๋วเหมือนตากวาง “คือ...คุณเหมไม่ชอบหนูไม่มาก็ได้นะคะ ยังไงคุณลุงเขาก็ต้องอยากให้ลูกชายมางานวันเกิดตัวเองอยู่แล้ว ถ้าหนูไม่ไปงานคุณเหมจะไปใช่ไหมคะ”

    “นี่ประโยคคำถามหรือประโยคคำสั่ง”

    “ประโยคขอร้องค่ะ” เสียงคนพูดสั่นสะท้าน ภาสกรเดินมาตบบ่าลูกชาย

    “หน้าโจรยังทำตัวอย่างกับโจร ไปตะคอกหนูอ้อนเขาได้ยังไง ดูสิ...”

    ดูสิ...ยัยเด็กนี่ทำท่าเหมือนจะร้องไห้ กรรมอะไรของไอ้เหมนักวะ “ไม่ต้องร้องได้ไหม ฉันไม่ได้จะฉีกเนื้อเถือหนังเธอมากินสักหน่อย” ชายหนุ่มถอนหายใจ “เออ...มาก็ได้ แต่ช่วยหลบทางหน่อยได้ไหมต้องเอาต้นไม้ไปลงอีก”

    เด็กสาวเบี่ยงตัวหลบให้ร่างสูงใหญ่นั้นก้าวผ่านไป สิ่งเดียวที่เหมภาสไม่รู้คือ...ทันทีที่เขาคล้อยหลังหลับตา สองลุงหลานก็หันมายิ้มให้กันอย่างมีชัย เพราะถึงเหมภาสจะหน้าโจรทำตัวเหมือนโจรอย่างไรเขาก็ไม่เคยทำร้ายจิตใจใครได้อย่างจริงจัง เป็นผู้ชายตัวใหญ่ขี้ใจอ่อนนี่เอง...

     

     

              กลับมาแล้วกับบทที่หนึ่ง หลังจากนี้ไปคงพบกันบ่อยขึ้นนะคะ พยายามจะเอาสถิติเดิมของตัวเองกลับมา แม้ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปได้สักกี่น้ำ แต่เปิดเรื่องมาหลายคนคงรู้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ค่อยมีดราม่า เน้นแนวผู้ใหญ่กับเด็กใส ๆ เสียมากกว่า แต่ขาดราม่าอย่าเพิ่งน้อยใจ มีแทรกให้ซึมลึกอย่างแน่นอน 555

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×