ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ไตรภูมิ

    ลำดับตอนที่ #2 : รู้จัก กับไตรภูมิ

    • อัปเดตล่าสุด 10 เม.ย. 49


                 หากไม่นับศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณคดีของไทยที่เก่าที่สุด พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 หลังจากที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว 6 ปี ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงนับเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ตราบเท่าปัจจุบันเพราะได้รวบรวมคติความเชื่อทุกแง่ทุกมุมของทุกชั้นชน มาร้อยเรียงเป็นเรื่องให้ผู้อ่านเกิดความสลดหดหู่ใจ หวาดกลัวยำเกรงในการกระทำบาป เกิดความรู้สึกปีติยินดีในบุญกุศล มุ่งมั่นกระทำคุณความดีนานาประการ ไตรภูมิพระร่วงจึงเป็นทั้งคำสาปแช่งคนที่ทำบาปทุจริต และคำสอนสรรเสริญคนที่กระทำความดี เป็นกรอบของสังคมให้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกทำนองคลองธรรม 
              หนังสือเรื่อง "ไตรภูมิ" ที่ปรากฏเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันมีหลายสำนวนคือ
    1.ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ไตรภูมิสำนวนสมัยกรุงสุโขทัยนี้ ไม่ปรากฏว่ามีต้นฉบับเดิมครั้งกรุงสุโขทัยตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ต้นฉบับที่นำมาใช้พิมพ์เผยแพร่ คือ ต้นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ (วัดกลางวรวิหาร) ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จึงได้จารเรื่อง ไตรภูมิ ไว้ในใบลาน 30 ผูก เมื่อ พ.ศ. 2321 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เรียกชื่อว่า "ไตรภูมิพระร่วง" ต่อมานายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้แนะนำให้นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ จัดหาผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบชำระปรับปรุงข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนที่ยังมีอยู่ และนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจได้มอบให้นายพิทูร มลิวัลย์ เปรียญธรรมประโยค 9 ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีพุทธศาสนาตรวจสอบชำระ โดยให้รักษาของเดิมให้มากที่สุด เมื่อตรวจสอบชำระเสร็จแล้ว ต่อมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2517, 2525 และ 2526 ตามลำดับ

                        2. ไตรภูมิโลกวินิจฉัย คือ ไตรภูมิสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งขึ้นเมื่อปีเถาะ จุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เป็นหนังสือจบ 1 ยังไม่สมบูรณ์ ครั้นถึง พ.ศ. 2345 โปรดให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัย ให้จบความ ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายพิทูร มลิวัลย์ แปล เรียบเรียงตรวจสอบชำระไตรภูมิโลกวินิจฉัยจากต้นฉบับหนังสือใบลาน และเมื่อ พ.ศ. 2520 ได้จัดพิมพ์ "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" ออกเผยแพร่ แบ่งออกเป็น 3 เล่ม

    3. หนังสือภาพไตรภูมิ ได้แก่ ไตรภูมิภาษาเขมร แผนที่ไตรภูมิโลกสันฐานสมัยอยุธยา แผนที่ไตรภูมิสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี แผนที่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย และไตรภูมิโลกวินิจฉัย โดยเฉพาะสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรีนั้น กรมศิลปากร โดยหอสมุดแห่งชาติได้อนุญาตให้คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2524 

              ไตรภูมิพระร่วง ในที่นี้จึงหมายถึงไตรภูมิกถาที่พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดในวรรณคดีสมัยสุโขทัย แสดงถึงปรัชญาแห่งพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังเป็นหนังสือเก่าที่มีการอ้างอิงอย่างละเอียดและหาได้ยากในบรรดาหนังสือรุ่นเก่าเช่นนี้ คือ มีการอ้างอิงคัมภีร์ต่างๆ รวม 32 คัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และปกรณ์พิเศษ ไตรภูมิกถาเป็นหนังสือทางพุทธศาสนา จึงมีศัพท์เฉพาะที่เป็นภาษาบาลีอยู่มาก มีถ้อยคำสำนวนภาษาไพเราะงดงามประณีตอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมของไทยด้านอักษรศาสตร์นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย เนื้อหาของหนังสือครอบคลุมโลกศาสตร์ หรือจักรวาลวิทยา อันได้แก่ศาสตร์ที่เกี่ยวกับกำเนิดโลก หรือจักรวาล และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจักรวาล โดยแบ่งจักรวาลออกเป็นสามภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ

    • กามภูมิ ได้แก่ดินแดนของผู้ที่ยังข้องอยู่ในกามคุณ มีความสุข และความทุกข์แยกย่อยออกเป็น 2 ภูมิ คือ สุคติภูมิและทุคติภูมิ สุคติภูมิแยกเป็น 2 ระดับคือ มนุสสภูมิ (แดนของมนุษย์) และสวรรค์ ส่วนทุคติภูมิแบ่งออกเป็น 4 ชั้น คือ อสุรกายภูมิ เปตภูมิ ดิรัจฉานภูมิ และนรกภูมิ

    • รูปภูมิ หรือสวรรค์สิบหกชั้นอยู่เหนือกามภูมิ เป็นแดนของพรหมผู้ไม่ข้องอยู่ในกามคุณ พรหมเหล่านี้ยังมีรูปร่างมีตัวตนอยู่

    • อรูปภูมิ เป็นแดนของพรหมผู้ดำรงอยู่ในสภาพของจิต ไม่มีร่าง ไม่มีตัวตน เสวยปีติสุขอยู่ด้วยฌานในระดับสูงกว่ารูปภูมิ ผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นนี้จะไม่กลับมาเกิดในมนุษยโลก จะบรรลุนิพพานในที่สุด

              ไตรภูมิกถายังกล่าวถึงโครงสร้างของจักรวาล กล่าวถึงความสูง ความกว้าง ของเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ การโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวพระเคราะห์ กลุ่มดาวนักษัตรต่างๆ เวลาในแต่ละทวีป การสลายตัวและการเกิดใหม่ของจักรวาลเมื่อสิ้นกัลป์ ฯลฯ วิธีการอธิบายในไตรภูมิกถานั้นใช้การยกเรื่องราวทำนองนิยายประกอบเป็นตอนๆ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงมนุสสภูมิ ตอนสุดท้ายกล่าวถึงนิพพานและวิธีปฏิบัติตนเพื่อบรรลุนิพพานด้วยการกำจัดกิเลสตามขั้นตอน และวิธีภาวนาโลกุตตฌานในระดับต่างๆ 

              โดยที่วรรณคดีเรื่องนี้มีกำเนิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อันเป็นระยะแรกของการก่อตั้งราชอาณาจักรไทย บ้านเมืองต้องการความสามัคคีและแนวทางที่จะสร้างสรรค์ความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชน เครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ความสงบสุขในหมู่ประชาชนในชาติก็คือ กฎหมายและศาสนา ไตรภูมิกถาเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของปวงชน มีอิทธิพลต่อรากฐานการปกครอง การเมือง และวัฒนธรรมของชาติ โดยได้ปลูกฝังอุดมการณ์ ความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว และนำทางปวงชนให้มีจิตใจยึดมั่นในความดีงามและใฝ่สันติ

              นอกจากนี้ วรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ยังมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ อย่างสูง ทั้งในด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม คีตกรรม ตลอดจน ประเพณีในราชสำนักและประเพณีพื้นบ้านทั่วไป ดังจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ และภาพจิตรกรรมในสมุดไทยหรือหนังสือใบลาน การสร้างปราสาทราชวังเป็นชั้นในชั้นนอก การสร้างพระเมรุมาศเป็นลักษณะเขาพระสุเมรุ เหล่านี้ ล้วนเป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากไตรภูมิกถา ทั้งสิ้น

              ในปี พ.ศ. 2524 โครงการวรรณกรรมอาเซียนภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้พิจารณาให้สมาชิกแต่ละประเทศคัดเลือกวรรณกรรมที่มีคุณค่าของตนและจัดแปลวรรณกรรมที่คัดเลือกแล้วเป็นภาษาอังกฤษ คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียนฝ่ายไทยได้พิจารณาคัดเลือกแปล "ไตรภูมิกถา" สำนวนที่เชื่อว่าพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ และใช้ฉบับพิมพ์ที่นายพิทูร มลิวัลย์ ตรวจสอบชำระและกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นต้นฉบับ และใช้ชื่อว่า "ไตรภูมิกถา-ภูมิทั้งสามอันเป็นที่อยู่ของสัตว์โลก(Traibhumikatha : The Story of the Three Planes of Existence )" เป็นหนังสือเล่มแรกที่ได้รับการจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2528 ในชุดวรรณกรรมอาเซียน (Anthology of ASEAN Literature VOLUME 1a)

              ต่อมาได้มีการเรียบเรียงถอดความไตรภูมิกถานี้ออกเป็นสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายแทนสำนวนเดิมที่มีมากว่า 700 ปี และได้รับการจัดพิมพ์ในชื่อว่า "ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ (Modernized Version)" รวมไว้ในหนังสือชุดวรรณกรรมอาเซียนด้วย (Anthology of ASEAN Literature VOLUME 1 b)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×