ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้soบตัวไม่น่าเบื่๐๐ย่าJที่คิด

    ลำดับตอนที่ #3 : สJคsามโลกครั้งที่ 2 (ตouที่ 1)

    • อัปเดตล่าสุด 6 ธ.ค. 49


    ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจในยุโรปต่างพยายามที่ขยายลัทธิการปกครองและดินแดนของตน ออกไป
    - ในรัสเซียนับจากปี ค.ศ. 1927 อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์นำโดย โจเซฟ สตาลิน ( Jeseph Stalin ) และเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Party )
    - ในอิตาลีนับจากปี ค.ศ. 1922 อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการฟาสซีส ( Fascist ) นำโดย เบนิโต มุสโสลินี ( Benito Mussolini ) และเป็นหัวหน้าพรรคฟาสซีส ( The Fascism )
    - ในเยอรมนีนับจากปี ค.ศ. 1934 อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการนาซี ( Nazi ) นำโดย อดอลฟ ฮิตเลอร์ ( Adolf Hitler ) และเป็นหัวหน้าพรรคนาซี ( The Nazi Party or The National Socialist Party )
    ตุลาคม ค.ศ. 1936 เยอรมนีและอิตาลีร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารร่วมกันและเรียกตนเองว่า "ฝ่ายอักษะ " ( The Axis Power ) ต่อมา 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936 ญี่ปุ่นร่วมลงนามกับเยอรมนีเป็นพันธมิตรกันด้าน กองกำลังทหารระหว่างญี่ปุ่นกับฝ่ายอักษะ

    สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ก่อนที่เยอรมนีจะบุกโปแลนด์วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 กองกำลังเยอรมนีข้ามพรมแดนทางตะวันออกบุกเข้ายึดเชคโกสโลวาเกีย ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม กองกำลังเยอรมนีบุกยึดเมืองท่าเมเมล ( Mamel ) ของลิทัวเนีย ( Lithuania ) บนชายฝั่งทะเลบอลติกและในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีเรียกร้องยึดครองโปแลน์และดานซิก ( Danzing ) ดานซิกเป็นแคว้นอิสระจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงสนธิสัญญา แวร์ซายส์ ปี 1919 ตั้งอยู่บนอ่าวดานซิกทางตอนเหนือของโปแลนด์ จากการเรียกร้องของเยอรมนี เป็นผลให้ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 อังกฤษและฝรั่งเศสได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่โปแลนด์หากถูกเยอรมนีรุกราน
     

    เมื่อมีการรุกรานอธิปไตยของประเทศต่างๆในยุโรปอังกฤษและฝรั่งเศสเห็นความจำเป็นต้องชักชวนรัสเซียเข้าเป็นพวกเพื่อการถ่วงดุลย์อำนาจทางยุโรป แต่ทางด้าน เยอรมนีเกรงว่าจะถูกโจมตีสองด้านเพราะเยอรมนีอยู่ระหว่างรัสเซียและฝรั่งเศสเยอรมนีจึงรีบดำเนินการทางการทูตกับรัสเซียตัดหน้าอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นผลให้ใน วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีและรัสเซียร่วมลงนามในข้อตกลงไม่รุกรานกัน ปี 1939 ( The Nazi - Soviet Pact or The Nonaggression Pact of 1939 ) กำหนดไม่รุกรานกันหรือวางตนเป็นกลางขณะพันธมิตรรุกรานประเทศอื่น ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 1939 กองกำลังเยอรมนีข้ามพรมแดนตะวันออกบุกโจมตีรุกรานดินแดนทางด้านตะวันตกของโปแลนด์อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2

    ฝ่ายอักษะ คือ กลุ่มชาติผู้ก้าวร้าวนำโดย เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น


    ฝ่ายสัมพันธมิตร ( The Allied Power or The Allies ) คือ กลุ่มชาติที่ทำการต่อต้านการก้าวร้าวนำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส

      
    ฝรั่งเศสซึ่งมีพรมแดนทางตะวันออกติดเยอรมันเตรียมกองกำลังตั้งรับการบุกของเยอรมัน เยอรมันเคลื่อนกองกำลังรุกรานระหว่าง วันที่ 9 เมษายน - 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 มีชัยชนะเหนือเดนมาร์ค นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และมุ่งเคลื่อนกองกำลังมายังดินแดนทางตอนเหนือของฝรั่งเศสแทนการเข้าฝรั่งเศสตามแนวชายแดนตะวันออก จากการรุกรานอย่างรวดเร็วของกองกำลังเยอรมนีเป็นผลให้ เนวิล แชมเบอร์แลน ( Neville Chamberlain ) ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทน ในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองกำลังอังกฤษพร้อมอาวุธทันสมัยร่วมกับกองกำลังฝรั่งเศสตั้งรับการบุกของกองกำลังเยอรมนีที่ดันเคริก ( Dunkirk ) เมืองท่าตอนเหนือของฝรั่งเศสบนช่องแคบโดเวอร์ ( Strait of Dover ) จากการบุกโจมตีอย่างหนักของกองกำลังเยอรมนีเป็นผลให้ในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองกำลังอังกฤษต้องทิ้งอาวุธทันสมัยไว้ที่ดันเคริก และถอนกองกำลังอังกฤษข้ามช่องแคบอังกฤษกลับอังกฤษทิ้งให้กองกำลังฝรั่งเศสรับการบุกของเยอรมนี

    อิตาลีเฝ้าติดตามการรบอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าเยอรมนีต้องมีชัยชนะในอนาคต เป็นผลให้ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 อิตาลี ประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อไม่สามารถต้านกองกำลังเยอรมนีได้ ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสลงนาม ยอมแพ้ต่อเยอรมนี เยอรมนีสนับสนุนให้ นายพล เปแตง ( Marshal Petain ) จัดตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การควบคุมของ เยอรมนี (รัฐบาลวิกชี) ที่เมืองวิกชี (Vichy) ในดินแดนตอนกลางของฝรั่งเศส จากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 เป็นผลให้อังกฤษต้องหยัดยืนโดยลำพังต่อสู้กับกองกำลังเยอรมนีผู้มีแผนครองโลก การบุกยึดหมู่เกาะอังกฤษเป็นงานหลักที่เยอรมนีจะทำต่อไป

    อังกฤษนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล เยอรมนีเริ่มบุกหมู่เกาะอังกฤษในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1940 โดยใช้เครื่องบินจากเยอรมนีบินข้ามทะเลเหนือทิ้งระเบิดโจมตีอังกฤษอย่างดุเดือด ช่วงวันที่ 8 สิงหาคม - 10 ตุลาคม ค.ศ. 1940 ผลของการโจมตีคือเยอรมนีไม่สามารถที่จะยึดหมู่เกาะอังกฤษได้ เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์จำต้องหยุดปฏิบัติการโจมตีอังกฤษชั่วคราวโดยได้เริ่มโจมตีอังกฤษใหม่ในต้นปี ค.ศ.1941 สาเหตุที่อังกฤษยังคงยืนหยัดอยู่ได้เพราะนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลได้กล่าวกับประชาชนชาวอังกฤษ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจคนอังกฤษให้ยืนหยัดต่อสู้ไม่หวาดกลัวท้อแท้การก้าวร้าวโจมตีใดๆ ของเยอรมนีและให้ความหวังว่าชัยชนะจะต้องมีขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน กองกำลังทั้งทางเรือและอากาศของอังกฤษปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งรักษาช่องแคบอังกฤษจากการถูกกองกำลังเยอรมนียึดครองหรือใช้เป็นทางเข้าสู่หมู่เกาะอังกฤษ และในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1940 สหรัฐอเมริกาจัดส่งเรือพิฆาต 50 ลำ เข้าร่วมกับกองกำลังทัพเรืออังกฤษเพื่อช่วยกันต่อต้าน การบุกโจมตีของกองกำลังเยอรมนี อังกฤษตอบแทนความช่วยเหลือรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการให้สิทธิสหรัฐฯเช่าพื้นที่ในเขตยึดครองของอังกฤษมีระยะเวลา 99 ปี ที่นิวฟาวแลนด์ (Newfoundland) เบอร์มิวดา (Bernuda) บาฮามาส (Bahamas) จาไมก้า (Jamaica) แอนติกัว (Antigua) เซนต์ลูเซีย (St.Lucia) ทรินิแดด (Trinidad) ล้วนเป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนและบริทิชกิอานา (British Guiana) ในอเมริกาใต้เพื่อตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพ อากาศทางด้านญี่ปุ่น ในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 ญี่ปุ่นลงนามให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธปัจจัยแก่เยอรมนีและอิตาลี ทั้งให้สัญญาว่าจะโจมตีสหรัฐอเมริกาถ้าสหรัฐอเมริกาเข้ายุ่งเกี่ยวในสงครามทางยุโรป
     

    ญี่ปุ่นร่วมลงนามในข้อตกลงลดอาวุธที่กรุงวอชิงตัน ปี ค.ศ. 1922 เข้าร่วมลงนามประฌามการใช้สงครามเป็นเครื่องมือตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศปี ค.ศ. 1927 และร่วมลงนามในข้อตกลงควบคุมแสนยานุภาพทางเรือที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1930 ดูเสมือนว่าญี่ปุ่นใฝ่หาสันติภาพ แต่ในทางปฏิบัติได้กระทำการก้าวร้าวบุกยึดแมนจูเรียจากจีน (ดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน) จากรายงานการรุกรานของญี่ปุ่นในแมนจูเรียโดยคณะกรรมการผู้ตรวจสอบของสันนิบาตชาติ เป็นผลให้สันนิบาตชาติสั่งให้ญี่ปุ่นถอนกองกำลังทหารออกจากแมนจูเรีย ในทางปฏิบัติญี่ปุ่นคงยึดครองแมนจูเรียและนำญี่ปุ่นออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาติชาติ
    ญี่ปุ่นปฏิบัติการก้าวร้าวบุกยึดแมนจูเรียในปี ค.ศ. 1931 ต่อมาในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1936 ญี่ปุ่นยืนยันการเสริมสร้างแสนยานุภาพกองทัพเรือ ให้ประสิทธิภาพทัดเทียมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษด้วยการประกาศถอนญี่ปุ่นออกจากการร่วมลงนามในสนธิสัญญาลดอาวุธที่วอชิงตัน ปี ค.ศ. 1922
    ในปี ค.ศ. 1938 กองกำลังญี่ปุ่นบุกโจมตีรุกรานจีนด้วยกองกำลังทั้งทางบก เรือและอากาศ เริ่มจากชายฝั่งจีนเป็นผลให้ชาวจีนต้องอพยพหลบหนีการรุกรานเข้าไปในดินแดนตอนในของจีน ญี่ปุ่นพยายามที่จะขยายอาณาเขตในทวีปเอเชีย จากการที่ญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศสได้สำเร็จในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาตอบโต้ทางเศรษฐกิจการค้าและการเงินทันทีต่อการก้าวร้าวของญี่ปุ่นด้วยการยึดทรัพย์สินและอายัดเงินของชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา หยุดทำการ ค้ากับญี่ปุ่นโดยสั่งห้ามเรือขนสินค้านำสินค้าส่งญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเครื่องยนต์ เครื่องจักรและเหล็กออกจากท่าเรืออเมริกา (ญี่ปุ่นตอบโต้สหรัฐฯทันทีใน ทำนองเช่นเดียวกัน) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐฯเสนอความช่วยเหลือด้านอาวุธและยุทธปัจจัยในรูปให้ยืม-ให้เช่าแก่จีนเพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นในจีนสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ประธานาธิบดีรูสเวลท์ เรียกกองกำลังฟิลิปปินส์เข้าประจำการในกองกำลังอเมริกา ภายใต้การบังคับบัญชาของ นายพลโท ดักลาส แมคอาเธอร์ (Lieutenant General Douglas MacArthur) และประกาศแต่งตั้งให้นายพลโท ดักลาส แมคอาเธอร์เป็นผู้บัญชาการกองกำลังอเมริกาและกองกำลังฟิลิปปินส์

    อ้างอิง : ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา 2 : รศ. อรพินท์ ปานนาค
    เรียบเรียงโดย : สาระเน่

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×