ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Love the King

    ลำดับตอนที่ #3 : เนื่องในมหามงคลสมัย...ธรรมเนียมปฏิบัติกับราชาศัพท์ที่คนไทยควรทราบ

    • อัปเดตล่าสุด 2 ต.ค. 54





          
    “...การใช้ราชาศัพท์ ถ้าเอาไปใช้ในการแต่งบทประพันธ์ หรือวรรณคดีนั้นเราใช้ได้ เป็นศิลปะ แต่เมื่อใช้ราชาศัพท์ต่อองค์พระมหากษัตริย์นี้ เราต้องรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี จะต้องเรียนจริง ๆ จัง ๆ จะต้องใช้เวลา แล้วก็ต้องมีความชำนิชำนาญในการที่จะใช้ นี่เป็นการเตือนเพื่อนครูภาษาไทยว่า เมื่อได้ฟังใครเขาใช้ราชาศัพท์ ไม่ใช่ว่าจะถูกทุกทีไป คือว่าควรจะถามหลาย ๆ คนว่าที่ใช้อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่...

           (หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ อภิปราย ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2505)

           คำที่ยกมาข้างต้นนั้น ทำให้เราตะหนักและภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เราทั้งหลายต่างถวายความจงรักภักดีสืบมา การใช้ราชาศัพท์จึงเป็นเรื่องที่ควรสืบทอด รักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามไว้





           ความที่ในองค์กรให้ผู้เขียนรับผิดชอบประสานงานกับกองพระราชพิธีของเจ้านายหลายพระองค์ จึงจำเป็นจะต้องศึกษาอย่าจริงจังในการใช้ราชาศัพท์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบติที่ต้องเคร่งครัด ในยามที่ต้องร่างบทอาเศียรวาท (หรืออาศิรวาท) คำกราบบังคมทูล รวมทั้งคำกราบบังคมทูลเป็นหนังสือ (หรือ ที่เรียกภาษาสามัญว่าจดหมาย) สำหรับผู้บริหารกราบบังคมทูล, กราบทูล องค์ประธานในงาน เพื่อส่งให้ทางกองพระราชพิธีตรวจ ก่อนจะมีงานที่พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จ, เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นองค์ประธานในงานนั้นๆ ซึ่งแต่ละพระองค์ก็จะใช้ศัพท์ต่างกันออกไป

          
    เนื่องด้วยมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่กำลังจะมาถึงนี้ และเราเริ่มที่จะเห็นคำถวายชัยมงคลผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น ซึ่งพบว่า มีทั้งที่ถูกและผิด อาจจะด้วยความไม่รู้ หรือขาดการตรวจสอบ จึงอยากจะขอแบ่งปันหลักการใช้ศัพท์ต่างๆ สำหรับท่านที่ทราบดีแล้วก็ถือว่าเป็นการทบทวนก็แล้วกันนะครับ


           คำขึ้นต้น

           1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คำขึ้นต้นคำกราบบังคมทูล หรือหนังสือกราบบังคมทูลใช้ว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม คำสรรพนามบุรุษที่สองสำหรับพระองค์ใช้ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สรรพนามสำหรับผู้กราบบังคมทูลใช้ว่าข้าพระพุทธเจ้า และคำลงท้ายใช้ว่าด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะซึ่งทุกคนทราบดี ไม่ค่อยจะมีผิดพลาดให้เห็น

           แต่ที่พบผิดบ่อยคือ คำโปรยที่ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ซึ่งใช้สำหรับ (เพศชาย) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น บางคนเขียน ฑีฆา (ใช้ ฑ-นางมณโฑ) เขียนผิด ที่ถูกต้องเป็น ท-ทหาร (ทีฆ ทีฆา = ยาว)

           อีกประการหนึ่ง บางคนใช้ข้อความเดียวกันนี้ (ทีฆายุโก โหตุ”) สำหรับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีบอกว่า เมื่อเป็นเพศหญิง คำที่ใช้ต้องเปลี่ยนเป็น ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี จึงจะถูกต้อง ซึ่งถึงวันนี้ ยังพบว่ามีคนใช้ผิดอยู่มาก

           อนึ่ง ในหนังสือฯ ยังแนะนำว่า ในการเขียนหนังสือกราบบังคมทูล คำลงท้ายให้ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ แล้วลงนามผู้เขียน (หรือจะลงนามผู้เขียนก่อน แล้วจึงลงว่า ขอเดชะ ตามหลังก็ได้)


          
    2. สำหรับการเขียนบทอาเศียรวาทหรือบทสรรเสริญ หรือบทสดุดีพระเกียรติคุณพระมหากษัตริย์
    ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฯลฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ องคมนตรีที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านเคยแนะนำว่าควรใช้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม เฉยๆ โดยไม่ต้องมี ขอเดชะ ด้วย เพราะผู้เขียนไม่ได้กราบบังคมทูลเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ท่าน


           3. สำหรับพระยุพราช
    คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คำกราบบังคมทูลให้ขึ้นต้นว่า ขอเดชะฝ่าละอองพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม คำสรรพนามแทนพระองค์ใช้ว่า ใต้ฝ่าละอองพระบาท คำสรรพนามแทนตนใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า และคำลงท้ายใช้ว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

           แต่ถ้าเป็นในการเขียนหนังสือกราบบังคมทูลให้ใช้ขึ้นต้นว่า ขอพระราชทานกราบบังคมทูล (พระนามาภิไธย) ทราบฝ่าละอองพระบาท

           อนึ่ง ถ้าเป็นคำลงท้ายในหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระยุพราชทั้งสองพระองค์ ให้ลงท้ายหนังสือว่า ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แล้วลงนาม


           4. สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า (สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) คำขึ้นต้นในหนังสือกราบบังคมทูลให้ใช้ว่า ขอพระราชทานกราบทูล (พระนาม) ทราบฝ่าพระบาท คำสรรพนามสำหรับพระองค์ท่านให้ใช้ว่า ใต้ฝ่าพระบาท คำสรรพนามผู้เขียนใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า และคำลงท้ายให้ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม


           5.สำหรับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวดี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์) คำขึ้นต้นหนังสือใช้ว่า ขอประทานกราบทูล (พระนาม) ทราบฝ่าพระบาท คำสรรพนามสำหรับพระองค์ใช้ว่า ฝ่าพระบาท สรรพนามของผู้กราบทูลใช้ว่า เกล้ากระหม่อม (ชาย) หรือ เกล้ากระหม่อมฉัน (หญิง) คำลงท้ายใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม


     


           ควรใช้ถวายพระพร หรือ ถวายชัยมงคล/ คำว่าพระชนมพรรษา-พระชนมายุ-พระชันษา ใช้ต่างกันอย่างไร


           มีผู้รู้บอกว่า ถวายพระพรเป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ ฉะนั้น สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชนโดยทั่วไป ท่านจึงแนะนำให้ใช้ว่า ถวายชัยมงคล แต่คนทั่วไปก็ชอบที่จะพูดว่า ถวายพระพร ซึ่งผิด

           คำว่า พระชนมพรรษา (พฺระ-ชน-มะ- พัน-สา) แปลว่า ขวบปีที่เกิด อายุ. เป็นคำราชาศัพท์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ. ใช้ว่า มีพระชนมพรรษา หรือ ทรงเจริญพระชนมพรรษา เช่น ในปีพุทธศักราช 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 72 พรรษา. หรือ ในปีพุทธศักราช 2552 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 77 พรรษา

           บางหน่วยงานขึ้นคัตเอ้าท์ตัวโตว่า ในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 77 พรรษา ซึ่งใช้ผิด และไม่ต้องมีคำว่า ครบ เพราะคำว่าครบจะใช้เมื่อ ครบวาระสำคัญต่างๆ เช่น ครบ 6 รอบ หรือ ครองราชย์ครบ 60 ปี เป็นต้น

           ฉะนั้น ควรจำว่า คำว่า ปี สำหรับอายุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใช้ว่า พรรษา แต่ถ้าเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี คำว่า อายุ ใช้ว่า พระชนมายุ ส่วนคำว่า ปี ใช้ว่า พรรษา เช่นเดียวกัน เช่น ปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 54 พรรษา


     


           นอกจากนี้ เกี่ยวกับราชาศัพท์ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีต่างๆ นั้น ม.ร.ว. แสงสูรย์  ลดาวัลย์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้ว่า  "พระชนมพรรษา พระชนมายุ พระชันษา เป็นราชาศัพท์ แปลว่า  'อายุ' ทั้ง 3 คำ เวลานี้ดูจะใช้ปะปนกันไปหมด ไม่ว่าในหลวง สมเด็จพระบรมราชินี  พระราชวงศ์ใหญ่น้อย เรามักจะใช้ พระชนมายุ  กันทั้งนั้น ซึ่งไม่ถูกต้องเลย

           ประเพณีการใช้ถ้อยคำแต่ก่อนท่านกำหนดให้ใช้ต่างกันตามลำดับพระอิสริยศักดิ์ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใช้คำว่า 'พระชนมพรรษา' แทนคำว่า 'อายุ' และใช้คำว่า 'พรรษาแทนคำว่า  'ปี'..."

           สมเด็จพระอัครมเหสี, สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระมหาอุปราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล, สมเด็จพระอนุชาธิราช, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  เจ้านายทั้ง 6 ตำแหน่งนี้จึงใช้คำว่า 'พระชนมายุ' แทน 'อายุ' และใช้คำว่า 'พรรษา' แทน 'ปี' เช่นเดียวกัน

           ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วใช้คำว่า 'พระชันษา' แทนคำว่า 'อายุ' และจำนวน 'ปี' ไม่เปลี่ยนเป็น 'พรรษา'

           ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง การทำหนังสือ หรือ ทำจดหมายกราบทูล กราบบังคมทูล เมื่อต้องส่งถึงสำนักราชเลขาธิการในพระองค์ฯ หรือ สำนักกองพระราชพิธี เมื่อต้องใส่ตัวเลข จะต้องเขียนเป็นเลขไทยเท่านั้น และเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษ โดยหากมีคำไทยก็ให้ใช้คำไทย เช่น หากงานที่กราบทูลเชิญเสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน หากมีทั้งชื่อไทยและอังกฤษ ควรใช้แต่ภาษาไทยในจดหมายหรือคำกราบบังคมทูล, คำกราบทูล เท่านั้น

    เชื่อว่าที่แบ่งปันมา จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่เข้ามาศึกษาครับ


    เครดิต : บล็อกโอเคเนชั่น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×