คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : [นอกเรื่อง] หลักสูตรเภสัชศาสตร์ 5 ปี vs 6 ปี
นานนานจะได้ตั้งกระทู้เกี่ยวกับวิชาชีพตัวเอง แบบตอบๆกระทู้มาส่วนใหญ่ก็อยู่เฉลิมไทย จนบางคนคิดว่าต้องเป็นทางสายศิลป์ หรือเกี่ยวข้องกับพวกในวงการประมาณนี้แน่เลย ความจริงไม่ใช่ครับ เป็นเภสัชกร และบังเอิญมีประเด็นเกี่ยวกับวิชาชีพชวนให้ตั้งกระทู้ เลยมาตั้งกระทู้ในมาดเภสัชเสียที
ส่วนเนื้อหาในกระทู้
อยากทราบความคิดเห็นทั้งจากบุคคลทั่วไป และจากบุคคลในแวดวงวิชาชีพครับ
ที่มาคือ สภาเภสัชกรรมซึ่งจะเป็นผู้อนุมัติใบประกอบวิชาชีพให้แก่บัณฑิตเภสัชศาสตร์ นั่นหมายความว่าคนที่เรียนเภสัช นอกจากจะเรียนและสอบผ่านตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ยังต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพจากสภาเภสัชกรรม เพื่อจะสามารถปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรได้ ในปัจจุบันหลักสูตรเภสัชในไทยมี 2 กลุ่มใหญ่ๆคือหลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร 6 ปี ซึ่งทั้งสองหลักสูตรนี้จะใช้การสอบเหมือนกัน เกณฑ์ผ่านเหมือนกัน และถ้าสอบผ่าน ก็จะได้ใบประกอบวิชาชีพเหมือนๆกัน
แต่ต่อมา สภาเภสัชกรรมได้กำหนดข้อบังคับว่าจะให้เฉพาะผู้ที่จบจากหลักสูตรเภสัช 6 ปีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบใบประกอบวิชาชีพ นั่นหมายความว่าหลักสูตร 5 ปี จะสูญพันธุ์ไป เพราะถึงจะมี ก็ได้แค่วุฒิปริญญา โดยไม่สามารถเป็นเภสัชกรได้ ทั้งที่แต่เดิม เภสัชก็เรียน 5 ปี และปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอด โดยหลักสูตร 6 ปีเพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงหลังนี้เท่านั้น
โดยทางสภาให้เหตุผลในการใช้ข้อบังคับนี้หลักๆคือ ไม่ต้องการให้เกิดการลักลั่น 2 มาตรฐาน หลักสูตร 6 ปี เป็นหลักสูตรที่อเมริกาใช้ และการที่นิสิตนักศึกษาเรียนหนักเกินไป จากการเรียน 5 ปี และทางสภาก็ค่อนข้างดึงดันว่าจะต้องประกาศใช้บังคับนี้ให้ได้ (ตั้งแต่นิสิตนักศึกษาที่เข้าเรียนตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป) แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะในหมู่เภสัชกร
ความเห็นส่วนตัว
ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาเรียนหนักจริงครับ จำนวนหน่วยกิตเกินที่เขากำหนดไว้ทุกมหาวิทยาลัย แต่การเรียน 6 ปี ก็ไม่ได้แปลว่าจะเบากว่า 5 ปี เพราะหน่วยกิตของหลักสูตร 5 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 185 หน่วยกิต ในขณะที่ 6 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 230 หน่วยกิต ซึ่งตรงนี้น่าเห็นใจทั้งคนเรียน และทั้งวิชาชีพ เพราะการเรียนที่อัดอย่างเดียว ยากที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ และถ้าจะว่าไปจริงๆมีหลายวิชาที่ over require หรือลึกเกินกว่าหลักสูตรปริญญาตรี (แต่พอดีเข้าทางและสาขาอาจารย์ผู้สอน) ซึ่งถ้าตัดไอ้พวกที่มันเกินๆได้ ส่วนตัวคิดว่าหน่วยกิตน่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยกิต
แต่ถ้าไม่มีใครคิดจะตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก หลักสูตร 6 ปี ก็ดูจะเหมาะแก่การศึกษาปัจจุบันสำหรับหลักสูตร 5 ปี (นั่นคืออย่าไปเพิ่มอะไรอีกนะ) ส่วนพวก 6 ปี เปลี่ยนไปเรียนซัก 7 ปี ก็กำลังดี แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ
1. หลักสูตร 6 ปีจะเน้นที่การบริบาลผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับทาง pharmaceutical science น้อยลง (ดูจากข้อกำหนดว่าหลักสูตร 6 ปีควรเป็นอย่างไรตามที่สภาประกาศ) นั่นคืองานพวกวิจัยและพัฒนา การผลิตยา การคิดค้นยา การควบคุมคุณภาพยา การตลาดยา จะลดความสำคัญ เพราะงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเรียนสัก 5 ปี ก็ได้เนื้อหาที่ครอบคลุม ครบถ้วนแล้ว บางคนอาจคิดว่า อ้าว แล้วเรียนนานขึ้น ไม่ครอบคลุมเหรอ ไม่ครับ เพราะเวลาที่เพิ่มขึ้นตามที่สภากำหนดหลักๆมาจากการฝึกงานกับผู้ป่วย ซึ่งคนที่เรียนทาง Pharm Sci เรียนครบถ้วนตั้งแต่ 5 ปีแล้ว ทำไมไม่ให้เขาไปทำงานเลย แต่ไปเพิ่มอะไรที่ไม่ได้มีความจำเป็นเข้ามา หรือแม้แต่การให้ไปฝึกงานบริษัท สถาบันวิจัยก็ได้ แต่จากเสียงสะท้อนที่ผ่านๆมา การฝึกงานทาง Pharm Sci ไม่ได้มีความจำเป็นเท่าทางบริบาลเภสัช โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการทำงานจริงๆ แถมการทำงานจริงๆได้เงินเดือนอีกต่างหาก แล้วจะเสียเวลาทำไม
2 . เวลา 1 ปีที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จบมาทำงานช้าลง กระทบทั้งผู้เรียน และผู้ใช้บัณฑิต ทางผู้ใช้อาจโอเคถ้าเป็นงานที่ต้องใช้กับผู้ป่วย แต่งานบางอย่างที่ไม่ใช่ ผู้ใช้เภสัช ก็ต้องรับภาระกับเงินเดือนที่สูงขึ้น (ก็เรียนมากขึ้นนี่) สุดท้ายอาจต้องหันไปหาแรงงานอื่นๆที่ไม่ใช่เภสัช อาจทำงานได้ไม่ดีเท่า แต่จ้างถูกกว่า
3. นิสิตนักศึกษาที่เรียน 6 ปี อาจเสียโอกาสบางอย่าง เช่นการได้ทำงานช้าลง อายุงานน้อยลง (เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เรียน 5 ปี) เสียค่าเล่าเรียนมากขึ้นอีกปีนึง แม้แต่การเรียนต่อระดับป.โท หรือเอก ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าจะจบ 5 หรือ 6 ปี ต้องมาเริ่มที่จุดเดียวกัน (แถมบางหลักสูตรที่ไม่จำเป็นต้องจบเภสัชถึงเรียนได้ ก็มีคนจบหลักสูตรปริญญาอื่นๆแค่ 4 ปีมาเรียนก็มีด้วยซ้ำ)
4. ในเมื่อสภาใช้การสอบเป็นตัวกำหนดการอนุมัติใบประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว การเรียนห้าปีแล้วสอบได้ ก็แสดงว่าเขาผ่านข้อกำหนดของสภาแล้วไม่ใช่หรือ และจากการสอบที่ผ่านๆมา ก็ไม่มีหลักฐานตรงไหน แสดงว่าหลักสูตร 6 ปีสอบผ่านมากกว่าหลักสูตร 5 ปี
ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านกับการมีหลักสูตร 6 ปี เพราะก็ยอมรับว่าถ้าต้องการเน้นบริบาลเภสัชกรรม เรียน 6 ปี ฝึกปฏิบัติมากขึ้น ก็ดูเหมาะสมดี แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการตัดเด็ดขาดว่าจะไม่มีหลักสูตร 5 ปีอีกต่อไป เพราะหลักสูตร 5 ปีก็มี เภสัชกรที่จบหลักสูตรนี้มากมายที่มีคุณภาพทั้งต่อสังคมและวิชาชีพ(ขออนุญาตอ้างชื่อ ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นตัวอย่าง) การทำให้หลักสูตร 5 ปีสูญพันธุ์ก็เหมือนกับการตัดแขนตัดขาตัวเอง ลดความยืดหยุ่นในวิชาชีพตัวเอง และอาจส่งผลกระทบในระดับชาติด้วยซ้ำ (ถ้าไม่เน้นการผลิตอีกต่อไป ยาก็ต้องมาจากการนำเข้า มากขึ้น แล้วต้องเสียดุลอีกเท่าไร) เป็นยังนี้แล้ว จะให้นิ่งเงียบ และซ้ายหันขวาหันตามสภาสั่งโดยไม่ทำอะไรได้อย่างไร
จากคุณ : I'm wu
เคดิต : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pong318&month=02-2008&date=24&group=4&gblog=3
ปล, พี่เรียนหลักสูตรห้าปีรุ่นสุดท้ายของม.รังสิต แล้วเราจะมีสิทธิ์สอบใบประกอบมั้ยเนี้ยยยยยยย =="
ความคิดเห็น