คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : การแต่งกายของไทย : ยุครัตนโกสินทร์ ตอนที่ 3
สมัยรัฐนิยมและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยมีลักษณะเด่นด้านการนิยมแบบตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก (พ.ศ. ๒๔๘๑ -๒๔๘๗) มีนโยบายสำคัญในการสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม โดยได้มีการวางเป้าหมายปลูกฝังให้ประชาชนชาวไทยเป็นผู้มี "วัธนธัมดี มีศิลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี"
ด้านการแต่งกายรัฐได้วางระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะ รัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ มีใจความสำคัญคือ
เน้นการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเมื่อปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณชน และแยกแยะประเภทเครื่องแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผ้าผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน
ชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่าง ๆ หรือนุ่งผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นนุ่งกางเกงขายาวแทน กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ วางระเบียบเครื่องแต่งกายของข้าราชการในเวลาทำงานปกติ และทั่วไปเพื่อให้เป็นแบบอย่างอันดี ในเวลาทำงานปกติข้าราชการหญิงต้องใส่เสื้อขาวนุ่งกระโปรงสีสุภาพ หรือผ้าถุง และสวมรองเท้าหุ้มส้น ถุงเท้าสั้นหรือยาวก็ได้ และต้องสวมหมวก สีของเครื่องแต่งกายนั้นถ้าเป็นงานกลางแจ้งควรใช้สีเทา ถ้าเป็นงานในร่มหรือเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรใช้สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น
รัฐบาลได้จัดตั้งสถาบันและคณะกรรมการวางระเบียบเครื่องแต่งกายสตรีทั้งที่เป็นข้าราชการและที่มีตำแหน่งเฝ้า ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีสาขา คือ สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง มีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ พิจารณาเครื่องแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ และกำหนดเครื่องแต่งกายผู้ประกอบอาชีพบางจำพวก เช่น คนขายอาหาร พนักงานเดินโต๊ะอาหาร (พนักงานเสิร์ฟ) ช่างตัดผม หญิงตัดผม เป็นต้น มีการวางระเบียบปฏิบัติตลอดจนให้ความหมายของเครื่องแต่งกายอย่างละเอียด
การใส่หมวกของสตรีเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมาก ถึงกับมีคำว่า "มาลานำชาติไทย" มีการแบ่งหมวกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภททั่วไป และประเภทพิเศษ
ประเภททั่วไป หมายถึง ประเภทที่ใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุภาพเรียบร้อยสมกับประเพณีนิยม และเพื่อประโยชน์ในการกันแดด กันฝน กันน้ำค้าง มักเป็นหมวกมีลักษณะเรียบ ปีกเล็ก หรือไม่มีปีก สีไม่ฉูดฉาด
สำหรับหมวกประเภทพิเศษ หมายถึงหมวกที่ใช้เป็นอาภรณ์ประดับเพิ่มความงาม มีการประดับด้วยอาภรณ์ต่าง ๆ ใช้ในโอกาสพิเศษ
ทรงผมของสตรีไทยในสมัยนี้ เพิ่งจะเริ่มนิยมผมดัดด้วยไฟฟ้าเป็นลอนมากบ้างน้อยบ้าง นิยมไว้ผมยาวมากขึ้น มีการดัดยาวและดัดสลวยแบบหญิงตะวันตก สตรีสูงอายุมักนิยมเกล้ามวย ส่วนใหญ่เป็นมวยแบบเรียบ
ทรงผมของผู้ชายนั้น ทั่วไปนิยมทรงสั้นแบบรองทรงคือไว้ยาวมากขึ้นและตัดสั้นด้านข้างตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖
การแต่งกายของชายไทย
เครื่องแต่งกายของชายไทยนิยมแบบสากล ประกอบด้วยหมวก เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือคอปิด ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปกมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากลสวมรองเท้าถุงเท้า
นอกจากกางเกงขายาวที่สวมปกติแล้วชายนิยมนุ่งกางเกงที่เรียกว่า "กางเกงขาสั้นแบบไทย" ด้วยคือ กางเกงที่นักเรียนใช้ หรือนิยมใส่เล่นกีฬาเป็นกางเกงขาสั้นเพียงแค่เข่า หรือใต้เข่าประมาณ ๑ ฝ่ามือ ถือว่าเป็นกางเกงสุภาพใช้ใส่ลำลอง หรือไปสโมสรก็ได้เป็นที่นิยมมากในระหว่างน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕
วิธีการปฏิวัติวัฒนธรรมการแต่งกายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รัฐบาลพยายามให้มีการปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบใหม่อย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีการเผยแพร่คำขวัญที่ว่า "สวมหมวก ไว้ผมยาว นุ่งถุง สวมเสื้อ สวมถุงเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น" ชี้แจงเหตุผลว่านุ่งผ้าถุงประหยัดมากกว่าการนุ่งโจงกระเบน เป็นต้น
ระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ ๒๕๒๕
ในช่วงเวลานี้ได้มีวิวัฒนาการการแต่งกายแบบไทยที่สำคัญคือ การแต่งกายแบบไทยตามแนวพระราชนิยม คือ ชุดไทยพระราชนิยมสำหรับหญิง และชุดไทยพระราชทานสำหรับชาย ทั้งสองชุดนี้ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นชุดประจำชาติของไทย
การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระที่โดยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป และ สหรัฐอเมริกา โดยทีทรงมีพระราชดำริว่าไทยเรายังไม่มีชุดแต่งกายปะจำชาติที่เป็นแบบแผนเหมือนชาติอื่น ๆ และการเสด็จประพาสครั้งนี้ก็เป็นราชการสำคัญ จึงโปรดฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้หารือกับผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของไทยสมัยต่าง ๆ และโปรดให้คุณอุไร ลืออำรุง ช่างตัดฉลองพระองค์เลือกแบบต่าง ๆ มาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสม จัดเป็นชุดไทยพระราชนิยมหลายชุด และกำหนดให้เลือกใช้ในวาระต่าง ๆ กัน คือ
ชุดไทยเรือนต้น สำหรับใช้ในโอกาสลำลอง เหมาะแก่งานที่ไม่เป็นพิธีการ เช่น งานกฐิน งานทำบุญต่าง ๆ ใช้ผ้าซิ่นฝ้ายหรือไหม มีริ้วตามยาวหรือขวาง หรือผ้าเกลี้ยงมีเชิงยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า สีของเสื้อจะกลมกลืนหรือตัดกันกับผ้าซิ่นก็ได้ เป็นชุดคนละท่อน แขนสามส่วน ผ่าอกกระดุม ๕ เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบ เครื่องประดับที่ใช้นิยมติดเข็มกลัดขนาดใหญ่พอสมควรเหนืออกเสื้อด้านซ้าย ตุ้มหูต้องเป็นแบบติดกับใบหู สร้อยคอประเภทไข่มุกหรือสร้อยทองสองสามสาย
ชุดไทยจิตรลดา คือ ชุดไทยพิธีกลางวัน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าคนละท่อนกับตัวเสื้อซึ่งแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อย ๆ ใช้ในงานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทสที่มาเยือนเป็นทางการ พิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หญิงไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรสวยงามมากให้สมโอกาส สำหรับงานพิธีนิยมเครื่องประดับที่หรูหราขึ้น
ชุดไทยอมรินทร์ คือ ชุดไทยสำหรับงานพิธีตอนค่ำ ไม่คาดเข็มขัด ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งชุด ผู้สูงอายุอาจใช้คอกลมกว้าง ไม่มีขอบตั้งและแขนสามส่วนได้ เครื่องประดับเป็นชุดสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ ซึ่งเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานเฉพาะวันเฉลิมพระชนมพรรษา หญิงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย
ชุดไทยบรมพิมาน ใช้ในพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัด ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ ตัดแบบติดกัน ซิ่นมีจีบยกข้างหน้าและมีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาดซิ่นยาวจรดข้อเท้า เสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้งผ่าด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ ชุดนี้ใช้ในงานเต็มยศหรือครึ่งยศ งานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ใช้เครื่องประดับสวยงาม
ชุดไทยจักรีหรือชุดไทยสไบ ใช้ในพิธีเต็มยศ งานราตรี ผ้านุ่งจีบยกข้างหน้ามีชายพก คาดเข็มขัดไทยและห่มสไบ ผ้ายกเป็นแบบมีเชิงหรือยกทั้งตัว เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ทิ้งชายยาวด้านหลังพอสมควร เครื่องประดับงดงาม
ชุดไทยจักรพรรดิ์ เป็นแบบไทยแท้แบบหนึ่ง ตัวซิ่นใช้ผ้ายกทั้งตัว มีเชิงยกไหมทองหรือดิ้นทองจีบหน้านางมีชายพก ห่มแพรจีบแบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชิ้นที่หนึ่งก่อน แล้วใช้ผ้าห่มปักอย่างสตรีบรรดาศักดิ์สมัยโบราณ ห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง
ชุดไทยศิวาลัย เป็นแบบไทยแท้ เสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ ตัดแบบแขนยาว เสื้อใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง ตัดแบบติดกัน ซิ่นยาว จีบหน้านางมีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ตัวเสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้งเล็กน้อย ผ่าหลัง ตัวเสื้อตัดติดกับซิ่นคล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้าปักลายไทย ใช้ในโอกาสพิเศษ ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
ชุดไทยดุสิต สำหรับงานพิธีตอนค่ำ เน้นการปักตกแต่งตัวเสื้อเป็นลวดลวยด้วยไข่มุก ลูกปัด และเลื่อม ฯลฯ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง มีจีบยกข้างหน้า และชายพก คาดชายพกด้วยเข็มขัดไทย ตัวเสื้อแบบคอกลมกว้าง ไม่มีแขน ผ่าหลังปักแต่งลวดลายที่ตัวเสื้อ เหมาะสำหรับการสวมสายสะพายในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งเต็มยศ
ชุดไทยประยุกต์แบบต่าง ๆ ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใช้กันมาก ผ้าซิ่นยกมีเชิงหรือยกทั้งตัว จีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย เสื้อคอกลมหรือคอกว้าง ไม่มีแขน แต่นิยมปักเลื่อมลูกปัด ตกแต่งสวยงาม ใช้ในงานราตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาว
การแต่งกายแบบไทยชุดพระราชทาน
เดิมชายไทยนิยมแต่งกายแบบสากลนิยม ต่อมาได้มีการคิดค้นแบบเสื้อสำหรับชายไทยขึ้น เรียกว่า ชุดพระราชทานและค่อนข้างจะเป็นที่นิยมใส่กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากประหยัด เรียบร้อย กระทัดรัดดูสวยงามและสวมใส่สบาย ชนิดของผ้าเลือกใช้ตามความเหมาะสม
แบบของเสื้อกำหนดเป็น ๓ แบบ คือ
๑. เสื้อชุดไทยแขนสั้น ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าอกตลอด คอตั้งสูงประมาณ ๓.๕ ๔ ซม. มีสาบกว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ขลิบรอบคอ สาบอก และที่ปลายแขนซึ่งจะพับหรือไม่ก็ได้ ติดกระดุมหุ้มผ้าสีเดียวกับเสื้อ ๕ เม็ด กระเป๋าบนจะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ามีต้องเป็นกระเป๋าเจาะด้านซ้าย ๑ กระเป๋า ด้านล่างมีกระเป๋าเจาะ ๒ กระเป๋า อยู่สูงกว่ากระดุมเม็ดล่างสุดเล็กน้อย มีขลิบที่กระเป๋า ชายเสื้อจะผ่าข้างที่ชายกันตึงก็ได้ ชุดนี้มักใช้สีเรียบจาง ลวดลายสุภาพใช้ในโอกาสธรรมดาในการปฏิบัติงานหรือพิธีกลางวัน ส่วนกลางคืนอาจใช้สีเข้ม
๒. ชุดไทยแขนยาว ส่วนอื่นเหมือนกับชุดไทยแขนสั้น แต่ตรงส่วนที่เป็นแขนยาวให้ตัดแบบเดียวกับเสื้อสากล มีขลิบที่ปลายแขนเสื้อ
๓. ชุดไทยแขนยาวคาดเอว ตัวเสื้อเหมือนแบบที่ ๒ แต่เพิ่มผ้าคาดเอวขนาดกว้างประมาณ ๑๐ - ๑๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๖ ๗ ฟุต เวลาคาดเอวพับ ๓ หรือ ๔ ทบ
ชุดไทยพระราชทานแขนยาวนี้ ส่วนมากมักจะใช้ในพิธีที่กำหนดว่าเป็นชุดสากล หรือ ชุดราตรีสโมสร
ส่วนงานอื่น ๆ เช่น งานศพใช้ได้ทั้งเสื้อแขนสั้นและแขนยาว สีเสื้อจะเป้นสีขาวหรือดำก้ได้แต่ไม่ต้องติดแขนทุกข
การแต่งกายแบบสากลนิยม
การแต่งกายสตรีในระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบัน กล่าวได้คือ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอร้องให้สตรีนุ่งกระโปรง สวมหมวกและเลิกกินหมาก เพื่อจะได้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ราว พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา มีแฟชั่นกระโปรงนิวลุค (New Look)
ชุดกระโปรงได้มีวิวัฒนาการมาหลายขั้นตอน ได้เปลี่ยนเป็นกระโปรงสั้น ซึ่งมีแบบสั้นแค่เข่าและเหนือเข่าที่เรียกว่า มินิสเกิ๊ตและไมโครสเกิ๊ต (Mini skirt and Micro skirt) ต่อมามีกระโปรงชุดติดกันทรงเอไลน์ (A Line) ต่อมาชายกระโปรงยาวครึ่งน่องเรียกว่า ชุดมิดี้ (Midi) ถ้ายาวถึงกรอมเท้าเรียกว่าชุด แมกซี่ (Maxi)
นอกจากนี้ก็มีชุดแลลอด (See through) ส่วนมากใช้ผ้าซับในหรือชุดชั้นในสีเดียวกับผิวเนื้อคนสวมใส่ สำหรับชายกระโปรงภายหลังกลับหดสั้นขึ้นอีก ปัจจุบันอยู่ในระดับใต้หรือเหนือเข่าเล็กน้อย หรือเสมอเข่า
สำหรับแฟชั่นกางเกง เป็นที่กล่าวขวัญและสะดุดตามากก็คือทรงฮอทแพ้นท์ (Hot pants) ซึ่งเป็นกางเกงขาสั้นถึงสั้นมาก ใช้ได้ทุกโอกาส การนิยมกางเกงมีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกกระทัดรัดกว่ากระโปรง ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นยุคของกางเกงทรงจีบพองหรือรูดรอบๆ เอว ยาวแค่เข่าหรือข้อเท้า
รองเท้าเปลี่ยนไปตามแฟชั่นเสื้อผ้า เช่นกระโปรงนิวลุคสวมรับกับรองเท้าหัวแหลมทั้งส้นเตี้ยและสูง
ส้นเล็กแบบส้นเข็ม ข้อสังเกตก็คือ เมื่อใดชายกระโปรงยาวส้นรองเท้าจะเรียวเล็กลง ถ้าชายกระโปรงสั้นขึ้น รองเท้าจะมีส้นเตี้ยและใหญ่
สำหรับทรงผมนั้น การดัดผมทำให้เกิดทรงผมต่าง ๆ เช่น ผมทรงบ๊อบ ซิงเกิล ผมดัดเป็นลอน หรือ หยิกฟูทั้งหัว ทรงรากไทร ทวิกกี้ ผมเกล้าแบบต่าง ๆ หรือผมทรงแอฟโร (afro) สิ่งที่น่าสนใจในยุคนี้ได้แก่วิกผม ( Wig ) ซึ่งแพร่หลายมาจากโลกตะวันตก มีทั้งของบุรุษและสตรี มีราคาแพงแต่ช่วยประหยัดเวลาและสะดวกมาก
การแต่งกายของบุรุษนั้นยึดแนวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ก็ไม่โลดโผนเหมือนสตรี เช่น เสื้อนิยมปกใหญ่ขึ้น พอเบื่อก็เปลี่ยนเป็นปกเล็ก เน็คไทเปลี่ยนขนาดจากเปลี่ยนจากใหญ่เป็นกลาง และเล็กตามสมัยนิยม มีหลายรูปแบบ ส่วนกางเกงนิยมทรงหลวมมีจีบบ้าง เรียบบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายสากลบางแบบไม่เหมาะกับสภาพพดินฟ้าอากาศ และสภาพแวดล้อมของเมืองไทย เมื่อมีการคิดแบบเสื้อพระราชทานขึ้นจึงเป็นที่นิยมสวมใส่กันแพร่หลาย
ในภาวะเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ "เสื้อสำเร็จรูป" ดูจะมีบทบาทที่เหมาะสมกับกาลเวลามากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่มีราคาถูก ประหยัดเวลาและสะดวกในการซื้อหา ทั้งฝีมือในการตัดเย็บก็ไม่เลวนัก เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีทั้งของบุรุษ สตรีและเด็ก เป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วไป และมีการผลิตเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศปีละมาก ๆ ด้วย
ยุค ๒๕๒๕ - ๒๕๓๗ ๒๕๔๔
หญิงไทยในยุคนี้จะแต่งกายตามสมัยนิยมและกล้าที่จะแต่งชุดที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย เช่น นุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าจนเห็นขาอ่อน (
อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีรูปแบบหรือไม่อย่างไร คงหมุนไปตามกระแสแฟชั่นของโลก
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เริ่มดำเนินโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และสืบทอดวัฒนธรรมไทยในสาขาต่าง ๆ
การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย การแต่งกายแบบไทย เป็นนโยบายสำคัญที่ได้มีการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ผลของการดำเนินตามนโยบายการใช้ผ้าไทยก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งเป็นการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านประเภทสิ่งทอไทย เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การออกแบบลายผ้า การมัดย้อมให้สวยงาม มีการนำผ้าไทยมากำหนดเป็นแบบเสื้อชุดไทยพระราชทานสำหรับบุรุษ นับว่าเป็นครั้งสำคัญที่ได้มีการกำหนดแบบเสื้อไทยสำหรับสุภาพบุรุษและกำหนดให้ใช้แทนชุดสากลได้ นับเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์การแต่งกายแบบไทย ประหยัดและส่งเสริมหัตถกรรมของคนไทย อันเป็นการรณรงค์และสืบสานวัฒนธรรมด้านการแต่งกายได้อย่างดียิ่ง ในช่วงปีดังกล่าวการแต่งกายแบบไทยโดยใช้ผ้าทอที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนให้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเริ่มจากกลุ่มข้าราชการชาย หญิง และแพร่หลายออกไปสู่ประชาชนและสาขาอาชีพอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง มีการเลือกสรรผ้าไทยจากท้องถิ่นต่าง ๆ มาออกแบบ ตัดเย็บอย่างสวยงาม วงการแฟชั่นทั้งชาย หญิง ต่างยอมรับความงดงามของผ้าไทยและสนับสนุนผ้าไทยกันอย่างเต็มที่ นับได้ว่าการริเริ่มใช้ผ้าไทยตามโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ มานั้น ได้รับการสืบสานมาจวบจนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ในทุกสาขาอาชีพ
การแต่งกายยุคเทคโนโลยีข่าวสารหรือยุคไอที เปรียบเทียบกับการแต่งกายแบบไทยกับวัยรุ่นยุคไอที.........แบบใดจะยืนยงกว่า...น่าจะพิจารณาได้
http://www.culture.go.th/knowledge/Dress/01.htm
บรรณานุกรม(ที่เขียนไว้ในเว็บ)
๑. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน. เสื้อชุดไทย กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๓๘. ๖๒ หน้า
๒. ศิลปากร,กรม.สมุดภาพวิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๕. ๑๔๒ หน้า (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕)
๓. อเนก นาวิกมูล,ผู้รวบรวม. การแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (หนังสือชุดกรุงเทพฯสองศตวรรษ) กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๒๕. ๑๗๐ หน้า
ความคิดเห็น