คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : การแต่งกายของไทย : ยุครัตนโกสินทร์ ตอนที่ 2
รัตนโกสินทร์สมัยใหม่ (รัชกาลที่ ๕ - ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐)
นโยบายเปิดประเทศอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น โปรดให้ข้าราชการและเจ้านายสวมเสื้อเมื่อเข้าเฝ้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ การเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยของผู้ชายมาไว้ยาวแล้วตัดแบบชาวตะวันตกในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาการติดต่อกับต่างประเทศมีมากขึ้น ทั้งด้านความสัมพันธ์ทางการทูต การขยายตัวทางการค้าของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่สั่งสินค้าจากตะวันตกเข้ามาขาย เพื่อรับกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวตะวันตกเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการแต่งกายเดิม เชื่อว่าเป็นเพราะความนิยมใน "ความเจริญ
ในระยะต้นเป็นการดัดแปลงแบบตะวันตกผสมกับแบบการแต่งกายเดิม ราชสำนักเป็นแกนนำของความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราชสำนักฝ่ายใน แต่การ "แต่งอย่างฝรั่ง" ก็เป็นที่ยอมรับเพียงเวลา "ออกการออกงาน" หรือเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เป็นพิเศษเท่านั้น ปกติยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม
นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นแกนนำในการเผยแพร่แบบการแต่งกายของชาวตะวันตก ตลอดจนวิถีทางดำเนินชีวิตบางประการ เช่น การสังสรรค์ที่คลับสโมสร การจัดงานเลี้ยงที่เรียกว่า "ปาร์ตี้" (Party) ประกอบกับการสื่อสารกับประเทศตะวันตกและการสื่อสารภายในประเทศ การแต่งกายแบบ "สากลนิยม" จึงขยายตัวไปสู่กลุ่มชนชั้นกลาง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแก้ไขวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างเป็น "การใหญ่" โดยเริ่มนำแบบการแต่งกายของชาวตะวันตกมาผสมผสานกับแบบการแต่งกายตามประเพณีเดิม โปรดให้เปลี่ยนการไว้ทรงผมจากทรงมหาดไทยมาไว้ผมยาวแล้วตัดแบบฝรั่ง เพื่อให้เหมาะสำหรับ "การเข้าสมาคมแบบฝรั่ง" เป็นการปรับปรุงตามประเพณีนิยมของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก
หลังจากการเสด็จประพาสอินเดียและพม่าในปีต่อมา ได้โปรดให้แก้ไขแบบการแต่งกายตั้งแต่ครั้งเสด็จสิงคโปร์นั้น เพื่อมากำหนดเป็น "ยูนิฟอร์ม" (UNIFORM)สำหรับเจ้านายและขุนนางเมื่อเข้าเฝ้า โดยแก้ไขแบบเสื้อ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับอากาศเมืองไทย มาเป็นสวมเสื้อนอกสีขาวคอปิด ติดกระดุมห้าเม็ดแทน เรียกว่า "ราชแปตแตน" (RAJ PATTERN ภายหลังเพี้ยนเป็นเรียกว่า "ราชปะแตนท์" ) และยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมถุงน่องรองเท้า เหตุที่คงถุงน่องไว้เชื่อว่าเป็นเพราะเห็นเป็นเครื่องแต่งกายที่สุภาพ
ชายสามัญ โดยทั่วไปนุ่งโจงกระเบนผ้าลายผ้าพื้น หรือนุ่งผ้าลอยชายนิยมไม่ใส่เสื้อ ชายสูงอายุจะใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าชนิดอื่นพับแตะไว้ที่บ่า ส่วนคนหนุ่มจะใช้ผ้าคล้องไหล่ทิ้งชายมาข้างหน้า หรือห้อยคล้องคอโดยทิ้งชายไปข้างหลัง โดยสามารถใช้ประโยชน์เป็นทำผ้ากราบปัดยุงและยังคงไม่สวมรองเท้า
คนชั้นสูง
เมื่อแต่งกายแบบลำลอง นุ่งผ้าลอยชายหรือผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลมผ้าขาวบาง แขนเพียงศอก สมัยนี้ชายส่วนใหญ่เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย มาไว้ผมยาวแล้วตัดอย่างฝรั่ง มีทั้งหวีแสกและหวีเสย นิยมตบแต่งร่างกายตามความนิยมแบบฝรั่งด้วย เช่น ห้อยสายนาฬิกาพกที่อกเสื้อ สวมหมวกรูปทรงแบบยุโรป คล้องไม้เท้าไว้ที่แขน ขุนนางบางคนไว้หนวดหนาปรกริมฝีปาก
การแต่งกายของสตรี
โดยเฉพาะสตรีในราชสำนัก มีการดัดแปลงแก้ไขหลายครั้ง ต้นรัชกาลการภายในวังฝ่ายในขึ้นกับสมเด็จบรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓) ซึ่งโปรดให้เจ้านายฝ่ายในเปลี่ยนจากนุ่งโจงมานุ่งจีบห่มแพรสไบเฉียงตัวเปล่า ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แก้ไขใหม่คือ ให้คงการนุ่งจีบไว้เฉพาะเมื่อจะแต่งกับห่มตาดหรือสไบปัก ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่ของสตรีในวังเท่านั้น ปกติให้นุ่งโจงใส่เสื้อแขนกระบอก แล้วห่มผ้าสไบเฉียงทับตัวเสื้อ และให้สวมรองเท้ากับถุงเท้าหุ้มตลอดน่อง สำหรับเสื้อแขนกระบอกในสมัยนี้ มีการดัดแปลงเป็นแบบต่าง ๆ แล้วแต่จะตบแต่งตามความพอใจของแต่ละบุคคล เชื่อว่า เมื่อเลิกนุ่งจีบห่มสไบตัวเปล่าเครื่องประดับแบบที่เหมาะกับการแต่งกายดังกล่าว เช่น สร้อยสังวาลย์ กำไลต้นแขน จี้ขนาดใหญ่ ก็มักจะไม่ได้นำออกมาใช้ จึงหันไปประดับเครื่องประดับอื่นแทน เช่น เข็มกลัดติดผ้าสไบ ทำรูปแบบอย่างเข็มกลัดติดเสื้อของสตรีตะวันตก
ต่อมาได้มีการดัดแปลงการห่มสไบมาเป็นสะพายแพรแทน โดยการนำเอาแพรที่จับตามขวางเอวมาจีบตามยาวอีกครั้ง จนเหลือเป็นผืนแคบตรึงให้เหมาะแล้วสะพายบนบ่าซ้าย รวมชายไว้ที่เอวด้านขวา เป็นที่นอยมกว่าการห่มสไบเฉียง อาจเป็นเพราะว่าแพรสะพายไม่ปิดบังความงามของเสื้อ เช่น การห่มสไบ เพราะตัวเสื้อได้มีการประดับประดามาก
หลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการนำแบบอย่างการแต่งกายของสตรียุโรปมาดัดแปลงแก้ไข สตรีชั้นสูงเริ่มใช้เนื้อตัดตามแบบอังกฤษสมัยควีนวิคตอเรีย เป็นเสื้อแขนพองตรงไหล่ แขนยาว และบางครั้งก็นิยมแขนเพียงศอกเรียกว่า "เสื้อแขนหมูแฮม" หรือ "ขาหมูแฮม" ตัวเสื้อประดับประดาอย่างงดงามด้วยลูกไม้หรือติดโบว์ระยิบไปทั้งตัว ตัวเสื้อพอดีตัว คอเสื้อนิยมคอตั้งสูง แต่ยังคงนุ่งโจงกระเบนเป็นผ้าม่วง ผ้าลาย หรือผ้าพื้นเข้ากับสีเสื้อแล้วแต่โอกาส และสะพายแพรสวมถุงน่องรองเท้า
ตอนปลายรัชกาล แบบเสื้อได้เปลี่ยนไปอีก ช่วงนี้นิยมใช้ผ้าแพร ผ้าไหม และผ้าลูกไม้ตัดแบบยุโรปที่นิยมกันในสมัยนั้นคือ คอตั้งสูงแขนยาวฟูพองมีระบายลูกไม้เป็นชั้น ๆ รอบแขนเสื้อ เอวเสื้อจีบเข้ารูปหรือคาดเข็มขัด และยังสะพายแพรสวมถุงเท้าที่มีลายโปร่งหรือปักด้วยดิ้นงดงาม สวมรองเท้าส้นสูงสำหรับแพรสะพายไม่ใช้แพรจีบและตรึงอย่างแต่ก่อน แต่ใช้แพรฝรั่งระบายให้หย่อนพองามแทน เป็นผ้าที่สั่งเข้ามาสำหรับเป็นแพรสะพายโดยเฉพาะ เริ่มใช้เครื่องสำอางที่ส่งมาจากตะวันตกบ้าง เช่น น้ำหอม เครื่องประดับนิยมสร้อยไข่มุกซ้อนกันหลาย ๆ สาย ประดับเพชรนิลจินดามากกว่าแต่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกแบบแล้วสั่งทำจากต่างประเทศ ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปนั้น ยังคงนุ่งโจงกระเบน ส่วนมากเป็นผ้าพื้นและห่มผ้าแถบอยู่กับบ้านเช่นเคย สตรีในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ ๕ เลิกไว้ผมปีก แต่เปลี่ยนมาไว้ผมยาวประบ่าแทน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม
การแต่งกายของทั้งชายและหญิงได้เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นในระยะต่อมา ข้าราชการและคนในสังคมชั้นสูงทั่วไปยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน ใส่เสื้อราชปะแตนท์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อมีพระราชทานเลี้ยงในวัง โปรดให้เจ้านายและข้าราชการนุ่งโจงกระเบนสีกรมท่า แต่ใส่เสื้อราชประแตนท์สีดำแทนสีขาว จนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายบางอย่างตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการตราพระราชบัญญัติการแต่งกายพลเรือนให้ข้าราชการชายนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงโจงกระเบน แต่แบบเสื้อยังไม่มีการกำหนดให้ใช้แบบเสื้ออย่างชาวตะวันตก อย่างไรก็ตาม การนุ่งกางเกงก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในเวลานั้น
สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา การแต่งกายแบบลำลองของชาย เปลี่ยนจากการนุ่งผ้าลอยชายมาเป็นนุ่งกางเกงแพรลายสีต่าง ๆ เรียกว่า "กางเกงจีน" ยังคงใส่เสื้อคอกลมผ้าขาวบาง ถ้าจะออกนอกบ้านก็จะสวมเสื้อทับอีกชั้นหนึ่งและสวมหมวกเพื่อเป็นการสุภาพ
การแต่งกายของสตรีสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ยังคงนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อระบายลูกไม้ ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖ นิยมผ้าซิ่นมลายเชิงงดงาม แบบเสื้อจึงเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสำหรับใส่เข้าชุดกับผ้าซิ่น สตรีสมัยนี้ยังคงสวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง แต่ถุงน่องไม่นิยมที่เป็นผ้าโปร่งมีลวดลายหรือปัดดิ้นอย่างแต่ก่อน หันไปนิยมถุงน่องเป็นสีพื้นธรรมดา ให้เข้ากับสีฟ้าซิ่นหรือสีเสื้อแทน
ทางด้านทรงผมในระยะแรก มีพระราชดำริให้สตรีในราชสำนักปล่อยผมยาวแบบตะวันตกแทนการไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาก็เกล้าผมยาวนั้นตลบไว้ที่ท้ายทอย เรียกว่า ข้าง ๆ ตัด"ผมโป่ง" บางคนนิยมไว้ "ผมบ๊อบ" คือตัดผมยาวเสมอคอ ผมข้าง ๆ ตัดให้ดูเป็นจอนหู ถ้าจอนใหญ่มากเรียกว่า"บ๊อบหู" ในสมัยนี้นิยมใช้เครื่องประดับคาดที่ศีรษะ ผู้ริเริ่มคือ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระวรกัญญาปทาน
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ แบบเสื้อต่าง ๆ ของสตรีแทบจะกล่าวได้ว่า ลอกมาจากหนังสือแบบเสื้อตะวันตกที่ส่งเข้ามาขายสนสมัยนั้น หรือลอกเลียนจากภาพยนตร์ฝรั่งที่เข้ามาฉาย แบบเสื้อสตรีสมัยนี้คือเสื้อตัวหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาวคลุมสะโพก แขนเสื้อสั้นมากหรือไม่มีแขน นิยมตบแต่งชายเสื้อ ตรงเอวด้านซ้ายเป็นเหมือนโบว์ผูกทิ้งชายยาว นุ่งผ้าซิ่นโดยเปลี่ยนมาตัดเย็บเป็นถุงสำเร็จแทน คือเย็บผ้าซิ่นป้ายให้พอดีเอว ไม่ต้องคาดเข็มขัด ชายผ้าถุงสั้นขึ้นมาจนเหลือปรกเข่าเพียงเล็กน้อยหรือยาวพอดีเข่า เครื่องประดับนิยมสายสร้อยและต่างหูยาวแบบต่าง ๆ สวมรองเท้าส้นสูงและถุงน่องสีเข้ากับสีผ้าซิ่น สำหรับถุงน่องนั้น ต่อมานิยมเป็นถุงน่องไนล่อนตามที่ส่งเข้ามาขายด้านทรงผมสตรี ดัดเป็นคลื่นด้วยน้ำยาดัดผมที่ส่งเข้ามาขายแล้วหวีเรียบร้อย เรียกกันว่า "ผมคลื่น" ถ้าไม่ตัดผม ก็จะตัด "ผมบ๊อบ" เดิมนั้นให้สั้นเข้าที่ท้ายทอย จนเห็นเชิงผมสูงคล้ายผมผู้ชาย เรียกว่าทรง "ซิงเกิล"
ถ้าซอยเชิงผมให้สูงขึ้นไปมากและตัดผมเปิดให้เห็นใบหู จนดูเป็นทรงผมผู้ชาย เรียกว่าทรง "อีดันคร็อป" แต่นิยมเฉพาะผู้ที่ "ทันสมัย" บางคนเท่านั้น
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ การแต่งกายของสตรีไทยได้วิวัฒนาการเป็นการนุ่งกระโปรงใส่เสื้ออย่างฝรั่งล้วนและเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มของแฟชั่นจากตะวันตก แต่เมื่ออยู่กับบ้านตามปกติยังคงนุ่งผ้าซิ่นใส่เสื้อธรรมดา
กล่าวโดยทั่วไป แม้การแต่งกายแบบตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยในช่วงนี้ แต่อิทธิพลนั้นก็ยังครอบคลุมเฉพาะชนบางกลุ่มเท่านั้น สามัญชนทั่วไปยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม กล่าวคือ ชายยังคงนิยมสวมกางเกงแพร หรือสวมกางเกงขาสามส่วนที่เรียกว่า "กางเกงไทย" ใส่เสื้อธรรมดาและไม่นิยมสวมรองเท้า สตรียังคงนิยมใส่เสื้อคอกระเช้า เก็บชายเสื้อไว้ในผ้าซิ่นหรือโจงกระเบน ถ้าจะออกนอกบ้านก็จะแต่งสุภาพขึ้น
จาก
http://www.culture.go.th/knowledge/Dress/01.htm
ความคิดเห็น