ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย

    ลำดับตอนที่ #2 : การแต่งกายของไทย : ยุครัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

    • อัปเดตล่าสุด 16 ต.ค. 49


    ยุคต้นรัตนโกสินทร์

               วัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยนี้ ทั้งทรงผม เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ยังคงลักษณะบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา แต่มีแตกต่างกันไปตามชุมชนทั้งในเมืองและท้องถิ่นต่าง ๆ
               การแต่งกายตามประเพณีนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของราษฎรจะแตกต่างไปจากประเพณีนิยมของราษฎรในเขตราชธานีภาคกลาง แม้แต่สังคมของคนกรุงเทพฯ ยุคนั้นการแต่งกายของราษฎรทั่วไปยังต่างกันไปตามชนชาติซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในขณะนั้น กลุ่มชนชาติต่าง ๆ อันมีพวกมอญ จาม ฝรั่ง ส่วนใหญ่รับราชการประจำกองทัพ คนจีนรับราชการในด้านกิจการค้าของรัฐในสังกัดกรมท่า คือการค้าสำเภาและการเก็บภาษีอากรภายใน

    การแต่งกายโดยทั่วไปของคนในสมัยนี้

    ชาย ไว้ผมตัดสั้นที่เรียกว่า "ผมมหาดไทย" นุ่งผ้าโจงหรือ จีบ ตามธรรมดา ไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นในเทศกาลเข้าร่วมในงานพระราชพิธีต่างๆ

    หญิง ห่มสไบ นุ่งผ้าโจงหรือผ้าจีบ เครื่องประดับชายหญิงและเด็กรวมทั้งเครื่องแต่งกายนั้น มีมากน้อยแตกต่างกันไปตามฐานะของกลุ่มคนในสังคมซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงและราษฎรสามัญ ลักษณะการแต่งกายตามแบบจารีตนิยมนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่ออิทธิพลของชาติตะวันตกขยายตัวเข้ามาในดินแดนแถบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการแต่งกายนี้ได้เกิดในกลุ่มชนชั้นนำก่อน





    การแต่งกายของชนชั้นสูง




               คนชั้นสูงในสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์ คือชนชั้นผู้นำ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำสูงสุด รองลงมาคือพระบรมวงศานุวงศ์ และถัดมาคือ ขุนนาง แบ่งฐานะเป็น ๒ ระดับตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระบบราชการคือ ขุนนางชั้นสูง ซึ่งเป็นขุนนางสัญญาบัตร ศักดินา ๔๐๐ ได้รับการถวายตัวในเวลาเข้ารับราชการ คนกลุ่มนี้มีตำแหน่งเข้าเฝ้าหน้าพระที่นั่งในเวลาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน หรืองานพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการต้อนรับแขกเมือง ทูตานุทูตต่างชาติ ขุนนางอีกระดับคือขุนนางผู้น้อย ศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ ไม่มีตำแหน่งในเวลาเข้าเฝ้า คนกลุ่มนี้นอกจากเป็นพวกเสมียนทนายประจำตัวของขุนนางผู้ใหญ่แล้วยังมีอีกพวกคือ กลุ่มคนจีนที่เข้ามาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มาประกอบการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของภายในชุมชน หรือเป็นเจ้าภาษีนายอากรของรัฐเป็นผู้ควบคุมดุแลการค้ากับต่างประเทศ คือการค้าสำเภา คนกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานตำแหน่งและยศศักดิ์ทางราชการ แต่มีศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ กลุ่มครอบครัวคนชั้นสูง ทั้งหญิงชายและเด็กที่เป็นเจ้านายและขุนนางเหล่านี้ มีวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยแบบแผนและขนบธรรมเนียมทางราชการการแต่งกายจึงเป็นไปตามรูปแบจารีตประเพณี



    เครื่องทรงหรือเครื่องแต่งพระองค์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เป็นแบบเครื่องพระองค์ที่กำหนดไว้ในกฏมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดไว้ลดหลั่นกันตามฐานะของเจ้านายเหล่านั้น ส่วนระเบียบเครื่องแต่งกายของขุนนาง กำหนดขึ้นแต่เฉพาะขุนนางชั้นสูงที่มีตำแหน่งเฝ้าเวลาเสด็จออกขุนนางเท่านั้น การแต่งกายของขุนนางในเวลาเข้าเฝ้าฯ ถึอเป็นพระราชนิยมที่ว่าไม่ทรงโปรดให้สวมเสื้อ แต่ต้องนุ่งผ้าสมปัก ซึ่งเป็นผ้าที่สวมได้เฉพาะเวลาเฝ้าเท่านั้น ห้ามนำไปนุ่งผิดกาละเทศะ คาดผ้ากรายแล้วเกี้ยวผ้าส่วนเวลาที่ขุนนางเหล่านี้ต้องตามเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนแห่เนื่องในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจองเปรียง พระราชทานพระกฐิน หรือเสด็จประพาสในที่ต่าง ๆ ขุนนางชั้นสูงเหล่านี้รวมทั้งภรรยาเอก ต้องแต่งกายตามประเพณีกำหนดด้วยเครื่องราชาปโภคตามลำดับยศและตามตำแหน่งขุนนางผู้นั้น


    ในปีพุทธศักราช ๒๓๔๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงประกาศพระราชกำหนดระบุให้เครื่องแต่งกายบางอย่างเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของขุนนางผู้ใหญ่ในกรมมหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ เป็นต้นว่า ผ้าสมปักแบบปูมท้องนาก เครื่องแต่งกายของขุนนางตามแบบเก่านี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเมื่อสังคมไทยต้องติดต่อทางการค้าและการทูตกับประเทศตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงประกาศแก้ไขระเบียบเครื่องแต่งกายของขุนนางในเวลาเข้าเฝ้าออกขุนนางให้ต้องสวม "เสื้ออย่างน้อย" (ดังเสื้อในรูป) ด้วย


    การแต่งกายตามแบบกองทัพ

    ในสังคมยุคนั้นเมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ชายไทยส่วนหนึ่งนิยมการศึกษาหาความรู้ด้านตำราวิชาอาคมและศาสตร์แห่งการต่อสู้ การแต่งกายของนักรบต้องจัดการให้ต้องตามตำรา เช่น นุ่งผ้าตามสีประจำวัน สวมเสื้อลงยันตร์ คาดเข็มขัด สวมมงคลบนหัว สวมแหวนถักพระพิรอด สะพายย่าม เป็นต้น


    การแต่งกายของคนสามัญ

    ราษฎรสามัญไทยมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาสวน และไร่ การแต่งกายจึงมีลักษณะทะมัดทะแมง กล่าวคือ นุ่งผ้าชิ้นเดียว ไม่สวมเสื้อ โพกผ้าที่ศีรษะ ไม่สวมรองเท้า ถ้าอยู่บ้านไม่ต้องทำงานก็นุ่งผ้าลอยชายหรือนุ่งโสร่งมีผ้าคาดพุง

               ในฤดูเทศกาลงานพิธี เช่น พิธีเนื่องด้วยชีวิตประจำวันทางพุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นที่วัดอันเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านชุมชน ในเวลาที่ชาวบ้านมาพบปะกัน การแต่งกายของชายจึงเรียบร้อยพิถีพิถันขึ้น มักนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าแพรสีต่าง ๆ และห่มผ้าคล้องคอ ปล่อยชายยาวทั้งสองข้างไว้ด้านหน้า หรือคล้องไหล่ทิ้งชายไว้ข้างหน้า หรือ พาดตามไหล่ไว้ ทัดดอกไม้ บุหรี่หรือ ยาดมไว้ที่หู ผัดหน้าด้วยแป้งหอม ตัดผมปีกหรือผมตัดแบบผู้ชายทั่วไป
               สตรีชาวบ้านทั่วไปนุ่งผ้าจีบห่มสไบ ถ้าในเวลาทำงานหนักก็ใช้ห่มแบบตะแบงมาน ปล่อยชายหรือผูกชาย ถ้าเป็นเวลาอยู่บ้านก็ห่มเหน็บหน้าแบบผ้าแถบ ในเวลาออกจากบ้านจึงห่มสไบเฉียง ในฤดูหนาวห่มผ้าแพรเพลาะคลุมไหล่สีของผ้าชาวบ้านมักเป็นสีดำหรือเขียวตะพุ่น ผ้าห่มสีขาว ตัดผมปีก ถ้าเป็นคนวัยสาว ตัดสั้นเป็นแบบดอกกระทุ่ม แล้วปล่อยท้ายยาวงอนถึงบ่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่ตัดผมปีกแบบโกนท้ายทอยสั้น สตรีที่แต่งงานแล้วเวลาอยู่บ้านอาจไม่ห่มสไบ หากเป็นสตรีชาวบ้านฐานะดีก็นุ่งผ้ายกทอด้วยไหมสีสดสวยกว่า ผู้ที่มีวัยสูงอายุ มักนุ่งห่มผ้าสีเรียบเป็นสีพื้น โดยเฉพาะผ้าตาขาวดำ ถือว่าเป็นสีสุภาพเหมาะแก่วัย



    จาก




    http://www.culture.go.th/knowledge/Dress/01.htm

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×