คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : 4th step: โหด-มันส์-ฮา การเรียนแบบเน้น Seminar และ Self-Study กับ สมาชิกนานาชาติ
สวัสดีผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลังจากที่เราได้หาย(หัว) ไปนานมาก เนื่องจากการเรียนก่อนจบเทอมหนึ่งอันหนักหน่วง ทำให้เราไม่มีเวลาอัพเดตชีวิตที่อังกฤษเท่าไหร่นัก ที่ว่าหนักเนื่องจากมันไม่ได้มาจากตัวเองอย่างเดียว แต่มันมาจากคนอื่นด้วยนะสิ แล้วเราจะเรียนจบม้ายเนี่ยถ้าชีวิตต้องขึ้นกับคนอื่น ว่าแล้วเราก็เลยคิดหัวข้อในวันนี้ออก และเอามาบอกกล่าวเผื่อทุกท่านที่คิดจะเรียนที่นี่ให้เตรียมพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ
ระบบการเรียนปริญญาโทที่อังกฤษใน Business school ส่วนมากไม่ได้เน้น Lecture เท่าไหร่ ถ้าเทียบจาก 100 ก็จะมี Lecture ไม่เกิน 50 ที่เหลือเป็น Seminar and Self-Study และเท่าที่ทราบอย่างเพื่อนเราที่เรียนLaw เองก็เรียน Lecture น้อยมาก คือ เดือนหนึ่ง มีLecture 1 สัปดาห์ และที่เหลือให้ หาข้อมูลทำรายงานส่ง กับ Seminar อีกคณะที่เรารู้จักและแทบไม่มีเรียนLecture คือ Supply chain ที่เรียน Lecture อาทิตย์เดียว อีก 2 เดือนเป็นเวลา Self-study เพื่อทำ Project ของตัวเอง (แต่ไม่แน่ใจว่ามหาลัยอื่นๆจะเป็นแบบนี้หมดม้าย)
กลับมาที่Business School ของเรากันต่อ มหาลัยเราเรียนเต็ม 5 วัน เทอมหนึ่ง มี 5 วิชา แบ่งเป็น Lecture 5 และ Seminar 5 (คือ ทุกวิชาจะมีคาบ Seminar ของตัวเอง) จะเห็นว่าสัดส่วนนี่ครึ่งต่อครึ่งเลย และเพื่อให้การจัดการในวิชา Seminar ง่ายขึ้น เค้าก็จะแบ่งเด็กนักเรียน ออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5-6 คน โดยแต่ละกลุ่ม จะต้องมีเชื้อชาติที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อความหลากหลายทางด้านความคิด ซึ่งจุดประสงค์มันดีมากๆ เพราะจะทำให้เรารู้จักโลกที่กว้างขึ้น ผ่านทางเพื่อนในกลุ่มที่มาจากประเทศที่ต่างกัน รู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่น และได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วย (คือ เป็นภาคบังคับมาก เพราะเราไม่ได้อยู่กะคนชาติเดียวกันเลย ซึ่งนับว่าดี ไม่งั้นให้จับกลุ่มกันเองส่วนใหญ่ใครมาจากชาติไหนก็มักไปจับกับชาตินั้น)
แต่ในมุมกลับกันนั้น เหอ เหอ….เพราะมาจากที่ต่างกัน ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษานี่แหละ ทำให้แรกๆคุยกันไม่รู้เรื่อง คือทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ดูเหมือนเข้าใจกัน แต่ในด้านความคิดนี่ คำพูดนึงแต่ละคนเข้าใจไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง คนอินเดีย เวลาทำท่าเข้าใจ หรือบอกว่าตกลง เค้าจะส่ายหัว เราก็แบบเฮ้ยยย งงอ่า ตกลงเข้าใจหรือไม่เข้าใจกันแน่ (แต่อาการนี้ไม่ได้เป็นกะอินเดียทุกคนนะ) และเรื่องการส่งงานเหมือนกัน เราเห็นคนจีนกะคนอิตาลีเถียงกัน เรื่องเวลาส่งงานด้วย เพราะ คนอิตาลีคิดว่าเราต้องรีบทำได้แล้ว จะได้เสร็จเร็วๆ ส่งๆไปซะ แต่คนจีนจะแบบว่าไม่อ่า จะรีบทำไม ทำไมต้องจริงจังด้วย (อันนี้เป็นตัวอย่าง ไม่ได้หมายความว่าจีนทุกคน หรืออิตาลีทุกคนต้องเป็นแบบนี้) ปัญหาที่เกิดคือ ถ้าเราได้กลุ่มที่ดีก็จะดีมากเลย เพราะเราต้องอยู่ด้วยกันจนจบเทอม และเรายังต้องทำProject ร่วมกันเพื่อเอาคะแนนด้วย ดังนั้นถ้าทุกคนดี เก่ง และมีความรับผิดชอบ นักเรียนกลุ่มนั้นจะไปได้ไกลมาก เพราะ เวลาSeminar ทุกคาบ ทุกวันนั้น อาจารย์จะให้ทุกกลุ่ม Brainstorm และเสนอความคิดเห็น บางทีก็ต้องส่งตัวแทนมาอธิบายหน้าชั้น ถ้าทุกคนเก่งและช่วยกันดี ความคิดที่ออกมาจะหลากหลายและใช้ได้จริง หรือเป็นไอเดียที่แหวกแนวแต่เจ๋ง แต่ถ้ากลุ่มไหนได้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ดีละก็ แทบจะร้องไห้ทั้งเทอมเลย เช่น เวลาทำงานที่ต้องช่วยกันคิดวิเคราะห์ จะเห็นว่าบางทีเราก็ต้องคิดเอง ทำเอง โดยที่คนอื่นไม่ได้ช่วยคิดเลย ได้แต่นั่นงียบ ซึ่งก็เป็นเพราะว่าก่อนสัมมนาในหัวข้อนั้นๆ เค้าไม่ได้อ่านมาก่อน ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มที่รับผิดชอบละก็ทุกคนต้องทำการบ้านมาก่อน เพื่อมาแชร์ ความคิด นำไปสู่การ Present หน้าห้อง
เรื่องสัมมนายังไม่เท่าไหร่ มาปัญหาหลักๆดีกว่า คือเรื่องProject ที่ต้องทำร่วมกันดีกว่า เพราะคิดเป็น 100% คือต้องซ้ำชั้นไม่ซ้ำชั้นก็งานนี้เลย (แต่วิชาที่เหลือต้องสอบ 100%) เนื่องจากมาจากคนละ Culture ดังนั้นปัญหานี้ค่อนข้างสำคัญ ขออณุญาติยกตัวอย่างเท่าที่เห็น ( เป็นแค่ตัวอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนชาตินั้นทุกคนต้องเป็น) คนไทย…มาสาย แต่ มีความรับผิดชอบสูง ทำงานหนัก ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ( แบบพอเทอมสอง อาจารย์จะให้จัดกลุ่มกันเอง คนไทยจะเป็นที่ต้องการมาก) , คนจีน…ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ค่อนข้างเงียบ ความรับผิดชอบขึ้นอยู่กับคน เรื่อยๆ ประนีประนอม, ไต้หวัน…ภาษาอังกฤษดี สไตล์ คล้ายๆคนไทย, อินเดีย… พูดเก่งมาก ให้พรีเซ้นต์งานนี่เริ่ดเลย ภาษาอังกฤษดี แต่มักจะหายตัวเวลาให้มาช่วยทำงานกลุ่ม, อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และ ฝรั่งชาติอื่น จะ Proactive ค่อนข้าง serious เวลาทำงาน ไม่ค่อย Flexible ตรงเวลามากๆ ถ้ากลุ่มไหนมีฝรั่งอยู่ด้วย ฝรั่งมักจะเป็นผู้นำสั่งให้คนในกลุ่มทำตาม เอาสั้นๆตามนี้
ซึ่งเราก็ได้ประสบการณ์จากการทำงานในเทอมหนึ่งเพือมาปรับใช้ในเทอมสอง ดังนี้
1. เมื่อได้รับงานมาแล้ว ต้องเขียนPlan เลยว่าProcess ของงานเป็นอย่างไร
2.งานทุกอย่างเมื่อกระจายงานให้คนในกลุ่มแล้วต้อง มีกำหนดส่งที่แน่นอน และทุกคนต้องยอมรับในข้อนี้
3. Put the right man on the right job ใครถนัดอะไรก็ให้ทำงานนั้น เช่น คนอินเดีย Present เก่ง ก็ให้ไปPresent ส่วนคนที่เหลือก็ทำงานอื่นตามถนัด
4. ต้องรู้เบอร์โทรศัพท์, FB (ควรทำ FB group), LINE และช่องทางติดต่อที่เป็นไปได้ของสมาชิก เพราะเมื่อถึงคราวต้องส่งและ สมาชิกนั้นๆยังไม่ส่งละก็ ทุกคนจะได้ช่วยตาม ……เราออกแนวโหดค่ะ เพราะเจอประสบการณ์ตรงที่ต้องตามจิกสมาชิก ไม่งั้นงานเสร็จไม่ทันส่ง
5. อันนี้เป็นข้อคิดที่ได้ค่ะ ว่า เพื่อนที่เห็นว่าเข้ากันได้ดี เธอทำอะไร ฉันก็ว่าดี พอเวลามาทำงานจริงๆ…..โอ้ว มันไม่ใช่เลยอ่า ดังนั้น บางที่เรื่องงานกลุ่มมันก็แล้วแต่ดวงเหมือนกันนะคะ ว่าจะได้สมาชิกแบบไหน เพราะมันไม่ใช่แค่เรารับผิดชอบงานตัวเอง เสร็จแล้ว จบ แต่เราต้องรับผิดชอบงานกลุ่มด้วย ถ้าคนอื่นๆไม่ทำล่ะ เราอาจต้องทำ เพื่อให้มันผ่านไปได้
หวังว่าที่เราพูดมาจะไม่ทำให้คนอ่านกลัวไปก่อนนะคะ เพราะจริงๆแล้วมันก็มีข้อดีมากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นข้อดีที่ได้พูดไว้ข้างต้น หรือ ข้อดีที่ว่าในชีวิตการทำงานจริง เราก็ต้องเจอคนหลากหลาย โดยเฉพาะเมือประเทศไทยจะเข้าสู่สมาคมอาเซียนแล้ว การที่เรารู้จักคนจากหลาหลายเชื้อชาติ และวัฒนธรรม มันก็เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริงค่ะ แถมอีกนิด แล้วเราก็ได้เพื่อนใหม่ๆด้วย เป็นการเปิดโลกทัศน์ไปในตัวค่ะ
ตอนนี้เราก็เรียนจบเทอมหนึงมาสดๆร้อน จะได้ปิดเทอม ประมาณเกือบเดือน เพื่อนบางคนก็กลับเมืองไทย บางคนก็ไปท่องเที่ยวยุโรป ( เพราะจากอังกฤษ ไปฝรั่งเศส อิตาลี นี่คาใช้จ่ายไม่แพงเลยค่ะ) ไว้ครั้งหน้าจะมาเล่าประสบการณ์การไปเที่ยวให้ทุกคนฟังบ้างนะคะ เพราะมันเป็นเหมือนรางวัลหลังจากเรียนมาอย่างหนักหน่วง ^o^
ความคิดเห็น