วัดอยุธยา
วัดในอยุธยาและสถานที่โบราณรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ต่างในอยุธยาที่ควรไปดู
ผู้เข้าชมรวม
3,477
ผู้เข้าชมเดือนนี้
10
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี
พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2497 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่า หลวงพ่อซำปอกงคำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้น คำว่า วัดพนัญเชิง / วัดพระแนงเชิง หรือ / วัดพระเจ้าพแนงเชิง จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก นั้นเอง หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต
วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว" หรือ "วัดเจ้าไท" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่คาดว่าประมาณ พ.ศ. 2043 (พ.ศ.2443 เป็นปีในสมัยรัชกาลที่5 แห่งราชวงศ์จักรี ข้อมูลไม่น่าถูกต้อง) เป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัตน์เป็นประธานสงฆ์ จึงได้ชื่อว่า วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว
สันนิษฐานว่าเป็นที่กระทำการเสี่ยงเทียน ในคราวก่อนที่พระเฑียรราชาจะทรงปราบดาภิเษก ยึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์
ในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่พำนักของ สมเด็จพระวันรัตน์ ผู้เป็นพระเถระที่สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ความเคารพ ในคราวที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะพระมหาอุปราชของหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระพิโรธต่อบรรดาแม่ทัพนายกองที่ตามทัพไม่ทัน ทรงดำริจะลงพระราชอาญาประหารชีวิต แต่สมเด็จพระวันรัตน์ได้ทูลขอพระราชทานชีวิตของแม่ทัพนายกองเหล่านั้นไว้ โดยยกเอาพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องผจญมารอยู่โดยลำพัง เปรียบเสมือนกับสมเด็จพระนเรศวรที่ต้องทรงกระทำยุทธหัตถีโดยลำพัง และได้ทูลแนะนำให้ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นแทนการประหารชีวิต สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นด้วยและทรงให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้น ชื่อว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" ประมาณ พ.ศ. 2135 มีความสูง 1 เส้น 1 วา เป็นเจดีย์ ที่สูงที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจนทุกวันนี้
วัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท ต้องร้างลงเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2309 หงสาวดีได้ยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้า ให้ยกทัพเรือออกจากพระนคร ไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว แต่ทัพเรือสยามเสียทีข้าศึก พระยาเพชรบุรีถูกสังหาร กองทัพหงสาวดีบางส่วนได้ยึดเอาวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท เป็นฐานปฏิบัติการ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 วัดแห่งนี้จึงได้ร้างลง
ยุคฟื้นฟู
หลังจากที่วัดใหญ่ หรือ วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท ได้ร้างลงกว่า 400 ปี ได้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของพระฉลวย สุธมฺโม ได้เข้ามาหักร้างถางพงที่รกเรื้อปกปิดอารามอันเก่าแก่แห่งนี้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ 4 ปี ท่านต้องการออกจาริกอีกครั้งจึงได้ไปนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาส วัดยม อำเภอบางบาล ให้มาดูแลวัดใหญ่ชัยมงคลต่อ
พระครูภาวนาพิริยคุณ (เปลื้อง วิสฏฺโฐ) ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี หักร้างถางพง ฟื้นฟูวัดแห่งนี้จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดราษฎร์ที่มีพระภิกษุจำพรรษา ในปี พ.ศ. 2500 โดยได้ชื่อว่าวัดใหญ่ชัยมงคล ส่วนพระครูภาวนาพิริยคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี
วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง ในต้นสมัยอยุธยา เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์
สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้ คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งคงสร้างขึ้นราวรัชกาลของพระเจ้าปราททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวง
สำหรับพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ก็สร้างในคติของพระพุทธเจ้าาปางโปรดพญามหาชมพู ตามความในมหาชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนกลางต่อลงมาจนถึงสมัยรันตโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้อาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องภายในเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนารามที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราททองได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงอนุมานได้ว่าพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน
ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากพระอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบทวาราวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา
เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน นับเป็น 1 ใน 6 องค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ามาก
ข้าง ๆ พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ยังมีวิหารน้อยหรือวิหารเขียน ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ แล้วยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ สลักจากหินปูนสีเขียวแก่ เรียกว่า "หลวงพ่อคันธารราฐ" ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่สมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบูโรพุทโธ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว
เจดีย์ราย 3 องค์ ที่มีรากไทรแผ่เข้าครอบคลุม ด้านหลังพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ น่าจะคุ้นตาสำหรับผู้ที่เคยเห็นภาพวาดกรุงศรีอยุธยาในหนังสือของ อังรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามา ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา
นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯนี้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศคือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Research Based Reconstruction) โดยนำวิชาการเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาจัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย
จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับ ขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณ ที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยา โดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน เพื่อ เป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้ สถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี
สำหรับพิพิธภัณฑ์ในศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ประกอบด้วยนิทรรศการ 5 เรื่อง คือ
· -อยุธยาในฐานะที่เป็นราชธานี
· -อยุธยาในฐานะราชธานีอยุธยาในฐานะเมืองท่า
· -อยุธยาในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ
· -วิถีชีวิตของคนไทยโดยทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่เกิดจนตาย
· -อยุธยาและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยนิทรรศการหัวข้อนี้จัดแสดงไว้ที่อาคารประกอบที่หมู่บ้านญี่ปุ่น ตำบลเกาะ-เรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์ใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตร
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ให้ชื่อว่าวัดทอง เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดเกล้าให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด จึงถือว่า วัดนี้เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี
ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา
ภายในวัดมีจิตรกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถ ยังรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 อีกด้วย ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนปรีดีพนมยงค์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ
ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า “ โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”
ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้สร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้น เพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดนี้ โดยใช้เงินเงินบริจาคจากประชาชน และผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 มีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า
โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่
กรมศิลปากรจึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารก่อสร้างด้วยเงินบริจาคจากประชาชน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504
โบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ พระแสงดาบทองคำ ขนาด ยาว 115 ซม. กว้าง 5.5 สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระเต้าทักษิโณทกทองคำ ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 ซม. สูง 18.5 ซม. สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ช้างทรงเครื่องทองคำ ขนาด ยาว 15.5 ซม. สูง 12 ซม. สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
นอกจากนี้จัดแสดงในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในแหล่งอนุสรณ์สถาน คือ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน ซึ่งจัดแสดง 3 อาคาร ซึ่งได้จัดแสดง เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องถ้วย เงินตรา จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา รัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ ฯลฯ
พระราชวังโบราณ อยุธยา คือ พระราชวังหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 2 องค์แรก
มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท 3 องค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี
ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกล้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีก 2 องค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์
ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมี พระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น ๖ องค์ เป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310
พระบรมมหาราชวังระยะหลังนั้น มีป้อมรอบพระราชวัง 8 ป้อม ประตูน้ำ 2 ประตู ประตูบก 20 ประตู พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ดังนี้
v เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง ศาลาสารบัญชี
v เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาท 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของคลังมหาสมบัติ โรงช้าง โรงม้า เป็นต้น
v เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ โรงเครื่องต้น และที่อยู่ของฝ่ายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี
v พระที่นั่งตรีมุข ในปัจจุบันพบเป็นซากฐาน เมื่อครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้สร้างพลับพลาตรีมุข เพื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบรรพกษัตริย์ในวาระที่พระองค์ครองราชย์ครบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นเวลายาวนานเท่ากับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งอยุธยา
v สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ อันเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ได้แก่ คลังศุภรัตน์ คลังพิมาณอากาศ คลังวิเศษ โรงราชรถ คลังแสง เป็นต้น เช่นเดียวกับหอพระเทพบิดร และหอพระมณเฑียรธรรม
v สวนองุ่น เป็นสวนหลวงประจำพระราชวัง มีตำหนักสระแก้ว ตำหนักสวนกระต่าย และตำหนักศาลาลวดตั้งอยู่ บริเวณนี้
v วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหลวงประจำพระราชวัง
วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ อยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นต้นแบบของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย,วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ "สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2035 รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลางเพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐา
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2042 พระองค์โปรดให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้น
ในปีต่อมา พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด และองค์พระพังยับเยิน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาประดิษฐานวัดพระเชตุพนและ บรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4(พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง พระที่นั่งจอมทอง ตั้งอยู่ใกล้ๆ กำแพงทางด้านติดกับ วิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์
ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้ดำเนิน การขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูป เครื่องทอง มากมาย และในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะวัดนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์
สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตามพงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของ พระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นรูปร่างคล้ายๆมณฑป
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๔๖ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาต เนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระพาหา (แขน) เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์เดียวในประเทศไทย ลงรักปิดทองมีแกนเป็นอิฐ ส่วนผิวนอกบุด้วยสำริด ทำเป็นท่อนๆมาเชื่อมกัน สูง ๑๒.๕๔ เมตร หน้าตักกว้าง ๔ วาเศษ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระไชยราชา ราวพ.ศ. ๒๐๘๑ เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าให้อัญเชิญมาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดที่อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา แต่ก็มีความสำคัญมากวัดหนึ่งในพระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
ฐานภายใน
วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบๆพระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้างๆมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น และ มีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างเพิ่มในภายหลัง
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงได้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535
เมรุทิศเมรุราย
เมรุทิศเมรุราย ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 องค์ โดยผนังภายในเมรุเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนก ซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกของเมรุมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ จำนวน 12 ภาพ ซึ่งในปัจจุบันเลือนไปแล้วเช่นกัน แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วยังสามารถเห็นได้ชัด
เมรุเป็นทรงปราสาท ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น รองรับส่วนยอดที่ ชื่อที่มานั้นนำมาจากเมรุ พระบรมศพพระมหากษัตริย์สมัยพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแนวความคิด มาจากคติเขาพระสุเมรุอีกต่อหนึ่ง
วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "ตำบลเวียงเล็กหรือเวียงเหล็ก" ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง อนึ่ง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกพม่าทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธาน พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมแต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆสะไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์, วิหารพระนอน และตำหนักท้าวจตุคามรามเทพ
ผลงานอื่นๆ ของ Mujitcentes ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Mujitcentes
ความคิดเห็น