คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : คำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์
ความหมายของคำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์ คือ คำสุภาพที่ใช้ให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคลต่างๆ คำราชาศัพท์เป็นการกำหนดคำและภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของไทย แม้คำราชาศัพท์จะมีโอกาสใช้ในชีวิตน้อย แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงความละเอียดอ่อนของภาษาไทยที่มีคำหลายรูปหลายเสียงในความหมายเดียวกัน และเป็น ลักษณะพิเศษของภาษาไทย โดยเฉพาะ ซึ่งใช้กับบุคคลกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
2. พระบรมวงศานุวงศ์
3. พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
4. ขุนนาง ข้าราชการ
5. สุภาพชน
บุคคลในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะใช้ราชาศัพท์ชุดเดียวกัน เช่นเดียวกับบุคคลในกลุ่มที่ 4 และ 5 ก็ใช้คำราชาศัพท์ในชุดเดียวกันและเป็นคำราชาศัพท์ที่เราใช้อยู่เป็นประจำในสังคมมนุษย์เราถือว่าการให้เกียรติแก่บุคคลที่เป็นหัวหน้าชุมชน หรือผู้ที่ชุมชนเคารพนับถือนั้น เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างยกย่องให้เกียรติแก่ผู้เป็นประมุขของชุมชนด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแทบทุกชาติ ทุกภาษาจึงต่างก็มี คำสุภาพ สำหรับใช้กับประมุขหรือผู้ที่เขาเคารพนับถือ จะมากน้อยย่อมสุดแต่ขนบประเพณีของชาติ และจิตใจของประชาชนในชาติว่ามีความเคารพในผู้เป็นประมุขเพียงใด เมืองไทยเราก็มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และพระประมุขของเรา แต่ละพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความ เคารพสักการะอย่างสูงสุดและมีความจงรกภักดีอย่างแนบแน่นตลอดมานับตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันคำราชาศัพท์เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด
ในแหล่งอ้างอิงบางฉบับได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า คนไทยเริ่มใช้คำราชาศัพท์ในรัชสมัยพระธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 แห่งสุโขทัย เพราะศิลาจารึกต่างในแผ่นดินนั้น รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ของท่าน คือ ไตรภูมิพระร่วง ปรากฏว่ามีคำราชาศัพท์อยู่หลายคำ เช่น ราชอาสน์ พระสหาย สมเด็จ ราชกุมาร เสด็จ บังคม เสวยราชย์ ราชาภิเษก เป็นต้น
บางท่านกล่าวว่า คำราชาศัพท์นั้นเริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพระปฐมบรมกษัตริย์ที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงนิยมเขมร ถึงกับเอาลัทธิและภาษาเขมรมาใช้ เช่น เอาคำว่า "สมเด็จ" ซึ่งเขมรใช้เป็นคำนำพระนามพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นคำนำพระนามของพระองค์ และใช้ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์
และจากหลักฐานที่พบข้อความในศิลาจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงเรื่องตั้งราชวงศ์และเมืองสุโขทัยตอนหนึ่งมีความว่า "พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขไท" คำว่า "อภิเษก" นี้เป็นภาษาสันสกฤต ไทยเรารับมาใช้สำหรับพิธีการแต่งตั้งตำแหน่งชั้นสูง จึงอยู่ในประเภทราชาศัพท์ และพิธีนี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์สุโขทัย จึงน่าสงสัยว่าในสมัยนั้นอาณาจักรสุโขทัยนี้ ก็คงจะมีการใช้คำราชาศัพท์บางคำกันแล้ว
ภาษาที่ใช้คำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์มิได้มีที่มาจากภาษาไทยภาษาเดียว ด้วยว่าการใช้คำราชาศัพท์เป็นการใช้ด้วยตั้งใจ จะทำให้เกิดความรู้สึกยกย่อง เทิดทูน จึงได้เจาะจงรับคำในภาษาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาใช้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาษาที่นับถือกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ คำราชาศัพท์ส่วนใหญ่จึงมีที่มาจากภาษาต่างประเทศมากมาย อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำราชาศัพท์จำนวนไม่น้อยที่ใช้คำภาษาไทยแท้ ซึ่งเป็นคำสามัญยกระดับขึ้นเป็นคำราชาศัพท์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าคำราชาศัพท์นั้นมีที่มาจากทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยของเราเอง ดังจะได้พิจารณาต่อไปนี้จากภาษาต่างประเทศ
ตั้งแต่สมัยโบราณมา คนไทยได้ติดต่อกับคนต่างชาติต่างภาษามากมาย ในบรรดาภาษาทั้งหลายเหล่านั้น มีบางภาษาที่เรายกย่องกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็ได้แก่ ภาษาเขมร บาลี และสันสกฤต ภาษาอื่นๆก็นำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์บ้าง แต่ก็ไม่มากและสังเกตได้ชัดเจนเท่า 3 ภาษาที่กล่าวแล้ว
การเรียนรู้เรื่องคำราชาศัพท์
ตามที่หลายคนคิดว่าคำราชาศัพท์เป็นเรื่องของในรั้วในวัง เป็นเรื่องของผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทนั้น ทำให้คิดต่อไปอีกว่า คำราชาศัพท์เป็นเรื่องยากซึ่งเมื่อก่อนอาจเป็นจริง แต่ปัจจุบันคำราชาศัพท์เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว แม้มิได้ใช้มากเท่ากับภาษาสามัญที่ใช้อยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันแต่ทุกคนโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาก็ต้องมีโอกาสที่จะสัมผัสกับคำราชาศัพท์ทุกวัน ไม่โดยตรงก็โดยทางอ้อม โดยเฉพาะทางสื่อมวลชน
การเรียนรู้วิธีใช้คำราชาศัพท์นั้น กล่าวโดยสรุป ต้องเรียนรู้ใน 2 ประการ คือ เรียนรู้คำ ประการหนึ่งกับ เรียนรู้วิธี อีกประการหนึ่ง
1. เรียนรู้คำ คือ ต้องเรียนรู้คำราชาศัพท์
2. เรียนรู้วิธี คือ ต้องเรียนรู้วิธีหรือเรียนรู้ธรรมเนียมการใช้คำราชาศัพท์
ประโยชน์ของการเรียนรู้คำราชาศัพท์
เพราะเหตุที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สูงสุดของประเทศมาแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินทรงใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแนบแน่นประการหนึ่ง คำราชาศัพท์นั้นเป็นแบบอย่างวัฒนธรรมอันดีทางด้านการใช้ภาษาไทยประการหนึ่ง และการอ่านหรือศึกษาวรรณคดีก็ดี การรับสารสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ดี เหล่านี้ล้วนต้องมีคำราชาศัพท์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมออีกประการหนึ่ง ดังนั้นการเรียนรู้คำราชาศัพท์จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ดังจะเห็นได้ดังต่อไปนี้
ประโยชน์ทางตรง
เป็นประโยชน์ที่เกิดจากการตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้า อันได้แก่
1. ประโยชน์จากการใช้คำราชาศัพท์ถูกต้อง
ที่เรียกว่าใช้คำราชาศัพท์ถูกต้องนั้น คือ ถูกต้องตามบุคคลที่ใช้ว่าบุคคลใดควรใช้ราชาศัพท์ขั้นไหน อย่างไร ประการหนึ่ง ถูกต้องตามโอกาส คือ โอกาสใดใช้คำราชาศัพท์หรือไม่เพียงใด ประการหนึ่ง และถูกต้องตามวิธีการใช้คือ ใช้ถูกต้องตามแบบแผนที่นิยมนั้นก็อีกประการหนึ่ง การใช้ราชาศัพท์ต้องใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์เป็นดุลยพินิจให้ถูกต้อง
2. ประโยชน์จากการเข้าใจที่ถูกต้อง
ไม่ว่าจากการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ เช่น วรรณกรรมทั่วไป วรรณคดี หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ทั้งหลาย โทรทัศน์ วิทยุ ตลอดจนสิ่งบันเทิงทั้งหลาย มีภาพยนตร์ ละคร โขน ลิเก เป็นต้น เพราะการรับรู้ รับฟัง บางครั้งต้องมีสิ่งที่เรียกว่า คำราชาศัพท์ร่วมอยู่ด้วยเสมอ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ประโยชน์โดยทางอ้อม
เป็นประโยชน์ผลพลอยได้ แม้ตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้าหรือไม่ตั้งเป้าหมายไว้ก็ตาม คือ เมื่อรู้คำราชาศัพท์ดี ถูกต้อง ฟังหรืออ่านเรื่องราวที่มีคำราชาศัพท์เข้าใจผลประโยชน์พลอยได้ ก็จะเกิดขึ้นเสมอ ดังนี้
1. ธำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีงานของชาติไว้
คือ รักษาให้คงอยู่ไม่เสื่อมสูญ ถือเป็นการธำรงรักษาวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ
2. เพิ่มความมีเสน่ห์ในตัวบุคคล
คือ บุคคลผู้รู้และใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้อง เป็นการแสดงออกซึ่งความมีวัฒนธรรมอันดีงามทางภาษา
คำราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ลำดับพระราชอิสริยศักดิ์พระบรมราชวงศ์
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
2. สมเด็จพระบรมราชินี , สมเด็จพระบรมราชชนนี , สมเด็จพระยุพราช , สมเด็จพระสยามบรมราชกุมารี
3. สมเด็จเจ้าฟ้า
4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
5. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
6. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
7. หม่อมเจ้า
มูลเหตุที่ทำให้เกิดมีคำราชาศัพท์
คือ ต้องการยกย่องให้เกียรติดังนั้นการศึกษาเรื่องคำราชศัพท์ นี้ จึงแบ่งเป็น 2 ตอน ใหญ่ๆคือ ตอนที่ 1 ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตอนที่ 2 ศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์
ราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์
- คำนามที่เป็นชื่อสิ่งของสำคัญที่ควรยกย่อง มีคำเติมหน้า ได้แก่ พระบรมมหาราช พระบรมมหา พระบรมราช พระบรม พระอัคราช พระอัคร และพระมหา เช่น พระบรมมหาราชวัง พระบรมมหาชนกพระบรมราชชนนี พระบรมราชวงศ์ พระบรมอัฐิ พระบรมโอรสาธิราช พระอัครชายา พระมหาปราสาท พระมหาเศวตฉัตร เป็นต้น
- คำนามเป็นชื่อสิ่งสำคัญรองลงมา นำหน้าด้วยคำ“พระราช” เช่น พระราชวังพระราชวงศ์ พระราชทรัพย์ พระราชลัญจกร เป็นต้น
- คำนามเป็นชื่อของสิ่งสามัญทั่วไปที่ไม่ถือว่าสำคัญส่วนใหญ่เป็นคำบาลีสันสกฤต เขมร และคำไทยเก่า แต่บางคำก็เป็นคำไทยธรรมดานำหน้าด้วยคำ “พระ” เช่น พระกร พระบาทพระโรค พระฉาย พระแท่น พระเคราะห์ เป็นต้น คำนามใดที่เป็นคำประสม มีคำ “พระ” ประกอบอยู่แล้ว ห้ามใช้คำ “พระ” นำหน้าซ้อนอีก เช่น พานพระศรี (พานหมาก) ขันพระสาคร (ขันน้ำ) เป็นต้น
- คำนามที่เป็นชื่อสิ่งไม่สำคัญและคำนั้นมักเป็นคำไทย นำหน้าด้วยคำว่า “ต้น” เช่น ม้าต้น ช้างต้น เรือนต้น และนำหน้าด้วย “หลวง” เช่น ลูกหลวง หลานหลวง รถหลวง เรือหลวง สวนหลวง ส่วน “หลวง” ที่แปลว่าใหญ่ ไม่จัดว่าเป็นราชาศัพท์ เช่นภรรยาหลวง เขาหลวง ทะเลหลวง เป็นต้น นอกจากคำว่า “ต้น” และ “หลวง” ประกอบท้ายคำแล้ว บางคำยังประกอบคำอื่นๆ อีก เช่น รถพระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง รถทรง เรือทรง ม้าทรง ช้างทรง น้ำสรง ห้องสรง ของเสวย โต๊ะเสวย ห้องบรรทม เป็นต้น
ศัพท์สำหรับเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ คือตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชินีลงไปถึงหม่อมเจ้า
- ใช้พระราชนำหน้า เช่น พระราชเสาวนีย์ พระราชประวัติ พระราชดำรัlส พระราชกุศล พระราโชวาท พระราโชบาย เป็นต้น
- ใช้พระนำหน้า เช่น พระเศียร พระองค์ พระหัตถ์ พระทัย พระบาท เว้นแต่หม่อมเจ้าไม่ใช้ “พระ” นำหน้า ใช้ว่า เศียร องค์ หัตถ์ หทัย บาท เป็นต้น
- คำนามราชาศัพท์สำหรับเจ้านายอยู่ในตัว ไม่ต้องใช้คำนำหน้าหรือคำต่อท้าย เช่น วัง ตำหนัก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
คำราชาศัพท์ที่ควรทราบ
คำราชาศัพท์ที่ใช้เป็นคำนาม
คำสามัญ | คำราชาศัพท์ | คำสามัญ | คำราชาศัพท์ |
หัว(พระมหากษัตริย์) | พระเจ้า | หัว | พระเศียร |
ผม(พระมหากษัตริย์) | เส้นพระเจ้า | ผม | พระเกศา,พระเกศ,พระศก |
หน้าผาก | พระนลาฎ | คิว | พระขนง,พระภมู |
ขนระหว่างคิว | พระอุณาโลม | ดวงตา | พระจักษุ,พระนัยนา,พระเนตร |
จมูก | พระนาสา,พระนาสิก | แก้ม | พระปราง |
ปาก | พระโอษฐ์ | ฟัน | พระทนต์ |
ลิ้น | พระชิวหา | คาง | พระหนุ |
หู | พระกรรณ | คอ | พระศอ |
ดวงตา | พระพักตร์ | หนวด | พระมัสสุ |
บ่า,ไหล่ | พระอังสา | ต้นแขน | พระพาหา,พระพาหุ |
ปลายแขน | พระกร | มือ | พระหัตถ์ |
นิ้วมือ | พระองคุลี | เล็บ | พระนขา |
ห้อง | พระอุทร | เอว | พระกฤษฎี,บั้นพระเอว |
ขา,ตัก | พระเพลา | แข้ง | พระชงฆ์ |
เท้า | พระบาท | ขน | พระโลมา |
ปอด | พระปัปผาสะ | กระดูก | พระอัฐิ |
หมวดขัตติยตระกูล
คำสามัญ | คำราชาศัพท์ | คำสามัญ | คำราชาศัพท์ |
ปู่,ตา | พระอัยกา | ย่า,ยาย | พระอัยยิกา,พระอัยกี |
ลุง,อา(พี่-น้องชาย ของพ่อ | พระปิตุลา | ป้า,อา(พี่-น้องสาวของ พ่อ) | พระมาตุจฉา |
พ่อ | พระชนก,พระบิดา | แม่ | พระชนนี,พระมารดา |
พี่ชาย | พระเชษฐา,พระเชษฐภาตา | น้องสาว | พระราชธิดา,พระธิดา |
หลาน | พระนัดดา | แหลน | พระปนัดดา |
ลูกเขย | พระชามาดา | ลูกสะใภ้ | พระสุณิสา |
หมวดเครื่องใช้
คำสามัญ | คำราชาศัพท์ | คำสามัญ | คำราชาศัพท์ | คำสามัญ | คำราชาศัพท์ |
ยา | พระโอสถ | แว่นตา | ฉลองพระเนตร | หวี | พระสาง |
กระจก | พระฉาย | น้ำหอม | พระสุคนธ์ | หมวก | พระมาลา |
ตุ้มหู | พระกุณฑล | แหวน | พระธำมรงค์ | ร่ม | พระกลด |
ประตู | พระทวาร | หน้าต่าง | พระบัญชร | อาวุธ | พระแสง |
ฟูก | พระบรรจถรณ์ | เตียงนอน | พระแท่นบรรทม | มุ้ง | พระวิสูตร |
ผ้าห่มนอน | ผ้าคลุมบรรทม | ผ้านุ่ง | พระภูษาทรง | ผ้าเช็ดหน้า | ผ้าชับพระพักตร์ |
น้ำ | พระสุธารส | เหล้า | น้ำจัณฑ์ | ของกิน | เครื่อง |
ช้อน | พระหัตถ์ ช้อน | ข้าว | พระกระยาเสวย | หมาก | พระศรี |
คำราชาศัพท์ที่ใช้เป็นคำสรรพนาม
บุรุษที่ 1
สรรพนาม | ผู้พูด | ผู้ฟัง |
ข้าพระพุทธเจ้า | บุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,เจ้านายชั้นสูง |
เกล้ากระหม่อมฉัน | บุคคลทั่วไป(หญิง) | เจ้านายชั้นรองลงมา |
เกล้ากระหม่อม | บุคคลทั่วไป(ชาย) | |
เกล้ากระผม | บุคคลทั่วไป | |
บุรุษที่ 2
สรรพนาม | ผู้พูด | ผู้ฟัง |
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,พระบรมราชินีนาถ |
ใต้ฝ่าละอองพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | พระบรมโอรสาธิราช,พระบรมราชกุมารี |
ใต้ฝ่าพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | เจ้านายชั้นสูง |
ฝ่าพระบาท | เจ้านายที่เสมอกันเหรือผู้น้อย | เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ |
บุรุษที่ 3
สรรพนาม | ผู้พูด | ใช้กับ |
พระองค์ | บุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,เจ้านายชั้นสูง |
ท่าน | บุคคลทั่วไป | เจ้านาย |
คำขานรับ
คำ | ผุ้ใช้ | ใช้กับ |
พระพุทธเจ้าข้าขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม | ชาย | พระมหากษัตริย์ |
เพคะใส่เกล้าใส่กระหม่อมหรือเพคะ | หญิง | พะมหากษัตริย์ |
พระพุทธเจ้าข้าขอรับ,พระพุทธเจ้าข้า | ชาย | เจ้านายชั้นสูง |
เพค่ะกระหม่อม | หญิง | เจ้านายชั้นสูง |
คำราชาศัพท์ที่ใช้เป็นคำกริยา
เป็นคำแสดงอาการ แบ่งเป็น 4 ชนิด
- กริยาที่เป็นราชาศัพท์ในตัวเอง เช่น ตรัส(พูด) เสด็จ(ไป) กริ้ว(โกรธ) ประชวร (ป่วย) ประสูติ(เกิด) ทูล(บอก) เสวย(กิน) ถวาย(ให้) บรรทม(นอน) ประทับ(อยู่) โปรด(รัก,ชอบ) ทรงม้า(ขี่ม้า) ทรงดนตรี(เล่นดนตรี)
- ใช้ทรงนำหน้ากริยาธรรมดา เช่น ทรงฟัง ทรงยืน ทรงยินดี
- ห้ามใช้ทรงนำหน้ากริยาที่มีนามราชาศัพท์ เช่น มีพระราชดำริ(ห้ามใช้ทรงมีพระราชดำริ) มีพระบรมราชโองการ (ห้ามใช้ทรงมีพระบรมราชโองการ)
- ใช้เสด็จนำหน้ากริยาบางคำ เช่นเสด็จกลับ เสด็จขึ้น เสด็จลง
คำกริยาที่ประสมขึ้นใช้เป็นราชาศัพท์ตามลำดับชั้นบุคคล
กริยา | ราชาศัพท์ | ชั้นบุคคล |
เกิด | พระราชสมภพ | พระมหากษัตริย์,พระบรมราชินี |
ประสูติ | เจ้านาย | |
ตาย | สวรรคต | พระมหากษัตริย์,พระบรมราชินี |
ทิวงคต | พระยุพราชหรือเทียบเท่า | |
สิ้นพระชนม์ | พระองค์เจ้าหรือเจ้านายชั้นสู | |
ถึงชีพิตักษัย,สิ้นชีพิตักษัย | หม่อมเจ้า | |
ถึงแก่อสัญกรรม | นายกรัฐมนตรี | |
ถึงแก่อนิจกรรม | รัฐมนตรี | |
คำขึ้นต้นและคำลงท้ายในการกราบบังคมทูล กราบทูล และทูลด้วยวาจา
ฐานันดรของผู้ฟัง | คำขึ้นต้น | คำลงท้าย |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระบรมราชินีนาถ | ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม | ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ |
สมเด็จพระบรมราชินี , สมเด็จพระบรมราชชนนี , สมเด็จพระยุพราช , สมเด็จพระสยามบรมราชกุมารี | ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท | ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ควรมีควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม |
สมเด็จเจ้าฟ้า | ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท | ควรมีควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า | ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท | ควรมีควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า | กราบทูลฝ่าพระบาท | ควรมีควรแล้วแต่จะโปรด |
หม่อมเจ้า | ทูลฝ่าพระบาททรงทราบ | แล้วแต่จะโปรด |
การใช้คำราชาศัพท์ในการเพ็ดทูล
หลักเกณฑ์ในการกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน
1. ถ้าผู้รับคำกราบบังคมทูลไม่ทรงรู้จัก ควรแนะนำตนเองว่า "ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกหระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ......................ชื่อ.................... ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท" และลงท้ายว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
2. ถ้ากราบบังคมทูลธรรมดา เช่น ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถามส่าชื่ออะไร ก็กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ชื่อ ...................พระพุทธเจ้าข้า"
3. ถ้าต้องการกราบบังคมทูลถึงความสะดวกสบาย หรือรอดอันตรายให้ใช้คำว่า "เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม......................"
4. ถ้าจะกราบบังคมทูลถึงสิ่งที่ทำผิดพลาดไม่สมควรทำให้ใช้คำนำ "พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม"
5. ถ้าจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาใช้คำว่า "ขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม"
6. ถ้าจะกราบบังคมทูลถึงของหยาบมิบังควร ใช้คำว่า "ไม่ควรจะกราบบังคมพระกรุณา"
7. ถ้าจะกราบบังคมทูลเป็นกลางๆ เพื่อให้ทรงเลือก ให้ลงท้ายว่า "ควรมีควร ประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม"
8. ถ้าจะกราบบังคมทูลถึงความคิดเห็นของตนเองใช้ว่า "เห็นด้วยเกล้าด้วยกระกม่อม"
9. ถ้ากราบบังคมทูลถึงสิ่งที่ที่ทราบใช้ว่า "ทราบเกล้าทราบกระหม่อม"
10. ถ้าจะกราบบังคมทูลถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งถวายใช้คำว่า "สนองพระมหากรุณาธิคุณ"
11. ถ้าจะกล่าวขออภัยโทษ ควรกล่าวคำว่า "เดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า" และลงท้ายว่า ด้วยเกล้าด้วยกระกม่อม
12. การกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับความอนุเคราะห์ ให้ใช้คำว่า "พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม"
สำหรับเจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป
1. ในการกราบบังคมทูล ไม่ต้องใช้คำขึ้นต้นและลงท้าย ถ้าเป็นพระยุพราช , พระราชินีแห่งอดีตรัชกาลและสมเด็จเจ้าฟ้า ควรใช้สรรพนามแทนพระองค์ท่านว่า "ใต้ฝ่าละอองพระบาท" ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" และใช้คำรับว่า "พระพุทธเจ้าข้า"
2. เจ้านายชั้นรองลงมา ใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า "ใต้ฝ่าพระบาท" ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "เกล้ากระหม่อม" ใช้คำรับว่า "พระเจ้าข้า" เจ้านายชั้นสมเด็จพระยาและพระยาพานทอง ใช้สรรพนามของท่านว่า "ใต้เท้ากรุณา" ใช้สรรพนามของตนว่า "เกล้ากระหม่อม" ฝช้คำรับว่า "ขอรับกระผม"
3. คำที่พระภิกษุใช้เพ็ดทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน แทนคำรับว่า "ถวายพระพร" แทนตนเองว่า "อาตมภาพ" ใช้สรรพนามของพระองค์ว่า "มหาบพิตร"
วิธีใช้คำประกอบหน้าคำราชาศัพท์
1. พระบรมราช ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญยิ่ง ในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระราชอำนาจ
2. พระบรม ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญยิ่ง ในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระราชอิสริยยศ
3. พระราช ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญรองมาจาก พระบรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งเฉพาะขององค์พระเจ้าแผ่นดิน
วิธีใช้คำประกอบหลังคำราชาศัพท์
1. ทรง ใช้ประกอบหลังคำนาม เพื่อเป็นคำนามราชาศัพท์
2. ต้น ใช้ประกอบหลังคำนามสำคัญทั่วไป เพื่อทำให้เป็นคำนามราชาศัพท์ มักใช้กับสิ่งที่โปรดเป็นพิเศษ
3. หลวง ใช้ประกอบหลังคำนามสามัญทั่วไป เพื่อให้เป็นนามราชาศัพท์
4. พระที่นั่ง ใช้ประกอบหลังคำนามสามัญ เพื่อให้เป็นนามราชาศัพท์ มีความหมายว่าเป็นที่ประทับส่วนพระองค์
ราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์
ไทยเรามีคำพูดที่ใช้กับพระภิกษุโดยเฉพาะอยู่ประเภทหนึ่งบางทีก็เป็นคำที่พระภิกษุเป็นผู้ใช้เอง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันหมดแล้ว เช่น คำว่า อาตมาภาพ หรืออาตมา มีความหมายเท่ากับ ฉัน บางคำก็ทั้งท่านใช้เองและเราใช้กับท่าน เช่น คำว่า ฉัน หมายถึง กิน เป็นต้น การพูดกับพระภิกษุต้องมีสัมมาคารวะ สำรวม ไม่ใช้ถ้อยคำที่เป็นไปในทำนองพูดเล่นหรือพูดพล่อยๆ ซึ่งจะเป็นการขาดความเคารพไปสำหรับพระภิกษุ เราจำเป็นต้องทราบราชทินนาม เรียกว่า พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์ ของพระภิกษุเรียงลำดับได้ดังนี้ เพื่อที่จะได้ใช้ได้อย่างถูกต้อง
1. สมเด็จพระสังฆราช
2. สมเด็จพระราชาคณะ หรือ ชั้นสุพรรณปัฎ คือ พระภิกษุที่มีราชทินนามนำหน้าด้วยคำว่า "สมเด็จพระ"
3. พระราชาคณะชั้นรอง
4. พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "ธรรม" นำหน้า
5. พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "เทพ" นำหน้า
6. พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "ราช" นำหน้า
7. พระราชาคณะชั้นสามัญ
8. พระครูสัญญาบัติ , พระครูชั้นประทวน , พระครูฐานานุกรม
9. พระเปรียญตั้งแต่ 3-9
การใช้คำพูดกับพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ ที่ผิดกันมากคือชั้นสมเด็จพระราชาคณะเห็นจะเป็นเพราะมีคำว่า "สมเด็จ" นำหน้าจึงเข้าใจว่าต้องใช้คำราชาศัพท์ ซึ่งผิด ความจริงแล้ว พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ที่ต้องใช้ราชาศัพท์มีเฉพาะเพียงสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น เว้นแต่พระภิกษุรูปนั้นๆ ท่านจะมีฐานันดรศักดิ์ทางพระราชวงศ์อยู่แล้ว.
คำราชาศัพท์ที่ควรทราบ
พระภิกษุที่เป็นพระราชวงศ์ ใช้ราชาศัพท์ตามลำดับชั้นแห่งพระราชวงศ์ สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระราชวงศ์) ใช้ดังนี้
คำขึ้นต้น ใช้ว่า ขอประทานกราบทูล (กล่าวพระนามเต็ม)
สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า
สรรพนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ใต้ฝ่าพระบาท
คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ใช้ราชาศัพท์เสมอพระเจ้าวรวงศ์เธอ (ที่มิได้ทรงกรม) เช่น
คำขึ้นต้น ใช้ว่า กราบทูล (กล่าวพระนามเต็ม)
สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า เกล้ากระหม่อม (สำหรับชาย), เกล้ากระหม่อมฉัน(สำหรับหญิง)
สรรพนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ฝ่าพระบาท
คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
สรรพนามบุรุษที่ 1 ที่พระภิกษุใช้
คำที่ใช้ | โอกาสที่ใช้ |
อาตมา | พระภิกษุใช้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ใหญ่หรือมีฐานะตำแหน่งสูงในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ |
อาตมาภาพ | พระภิกษุใช้กับพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป และใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การแสดงพระธรรมเทศนา |
เกล้ากระผม | พระภิกษุใช้กับพระภิกษุที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์หรือที่ดำรงสมณศักดิ์สูงกว่า |
ผม,กระผม | พระภิกษุใช้กับพระภิกษุด้วยกันโดยทั่ว ๆ ไป |
สรรพนามบุรุษที่ 2 ที่พระภิกษุใช้
คำที่ใช้ | โอกาสที่ใช้ |
มหาบพิตร | พระเจ้าแผ่นดิน |
บพิตร | พระราชวงศ์ |
คุณโยม | บิดา, มารดา, ญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่อาวุโสสูง |
คุณ,เธอ | ใช้กับบุคคลทั่วไป |
สรรพนามบุรุษที่ 2 ที่ฆราวาสใช้
คำที่ใช้ | โอกาสที่ใช้ |
พระคุณเจ้า | ฆราวาสใช้กับสมเด็จพระราชาคณะ, รองสมเด็จพระราชาคณะ |
พระคุณท่าน | ฆราวาสใช้กับพระราชาคณะชั้นรองลงมา |
ท่าน | ใช้กับพระภิกษุทั่วไป |
คำขานรับที่พระภิกษุใช้
คำที่ใช้ | โอกาสที่ใช้ |
ขอถวายพระพร | พระราชวงศ์ |
เจริญพร | ฆราวาสทั่วไป |
ครับ,ขอรับ | ใช้กับพระภิกษุด้วยกัน |
ศัพท์สำหรับพระภิกษุที่พบบ่อย
คำที่ใช้ | โอกาสที่ใช้ |
รูป | ลักษณะนามสำหรับพระภิกษุสงฆ์ |
อาราธนา | ขอเชิญ |
เจริญพระพุทธมนต์ | สวดมนต์ |
ภัตตาหาร | อาหาร |
ประเคน | ยกของ(ด้วยมือ)ให้พระ |
ฉัน | กิน |
ถวาย | มอบให้ |
เครื่องไทยธรรม | ของถวายพระ, ของทำบุญต่าง ๆ |
อนุโมทนา | ยินดีด้วย |
อาสนะ, อาสน์สงฆ์ | ที่นั่ง |
ธรรมาสน์ | ที่แสดงธรรม |
เสนาสนะ | สถานที่ที่ภิกษุใช้ |
จำวัด | นอน |
สรง | อาบน้ำ |
มรณภาพ | ตาย |
ปลงผม | โกนผม |
กุฏิ | เรือนพักในวัด |
จำพรรษ | อยู่ประจำวัด |
อุปสมบท | บวช (บวชเป็นพระภิกษุ) |
บรรพชา | บวช (บวชเป็นสามเณร) |
ลาสิกขา | สึก |
คิลานเภสัช | ยารักษาโรค |
ลิขิต | จดหมาย |
ครองผ้า | แต่งตัว |
ถวายอดิเรก | กล่าวบทอวยพรพระมหากษัตริย์ |
บิณฑบาต | รับของใส่บาตร |
ปลงอาบัติ | แจ้งความผิดให้ทราบ |
ปัจจัย | เงิน |
ทำวัตร | สวดมนต์ |
เผดียงสงฆ์ | แจ้งให้สงฆ์ทราบ |
สุผ้า | ซักผ้า, ย้อมผ้า |
อาพาธ | ป่วย |
ความคิดเห็น