คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #10 : (น่ารู้)เมื่อลิงไฮเปอร์ ต้องเจอกฎหมาย
| |
จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ เพราะมี นัก กฎหมาย/คอมพิวเตอร์ จำนวนหนึ่ง เขียนไปบ้างแล้ว เพียงแต่อาจยังไม่มีตัวอย่างจาก คดีความ หรือแง่มุมกฎหมายเยอรมัน เลยหยิบมาเล่าซ้าาา มหาชนคนเล่นเน็ท คงไม่มีใครไม่รู้จัก การเชื่อมต่อข้อมูลจากเว็บหนึ่ง สู่อีกเว็บหนึ่งที่เรียกกัน ติดปากสั้น ๆ ว่า การทำ Links หรอกนะครับ คำไทยที่ใช้กันก็มีทั้ง ลิงค์ ลิงก์ เชื่อมต่อ หรืออะไรก็สุดแท้ แต่มีใครรู้บ้างหรือไม่ว่า รูปแบบการทำลิงก์ที่ว่านี่ ปัจจุบัน มีหลากหลาย แถมเป็นปัญหาทางกฎหมาย อีกต่างหาก การเชื่อมต่อ หรือที่เรียกกันว่า ไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) ตามที่เรารู้จักแบบดั้งเดิม เลย คือ การเชื่อมต่อข้อมูลแบบพื้น ๆ แตะกันแบบผิว ๆ (Surface Links) โดยอาศัยวิธีการใส่ชื่อ URL ของหน้าเว็บไซท์ที่ต้องการเชื่อมเข้าไปยัง ถ้อยคำบ้าง รูปภาพบ้าง สัญลักษณ์บ้าง ตามแต่ใครจะครีเอท ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นประตู หรือทำหน้าที่คล้าย เมนู ที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต สามารถเปิดสู่อีกแห่งหนึ่งได้โดยสะดวกดาย วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของเจ้าลิงก์นี่ ก็เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ให้สามารถค้นหาอะไรต่อมิอะไรได้อย่างรวดเร็ว และก็ด้วยคุณสมบัติในการเชื่อมโยงที่ง่าย ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งอะไรให้ยุ่งยากแบบนี้แหละครับ ที่ทำให้ WWW หนึ่งในรูปแบบ การให้บริการ ในอินเตอร์เน็ท รวมทั้ง “เครื่องมือสืบค้น” (search engine) ที่มี ไฮเปอร์ลิงก์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นที่นิยมแพร่หลาย แซงหน้าบริการอื่น ๆ ที่เกิดก่อน แบบไม่เห็นฝุ่น จนทำให้โลกต้องขนานนาม อินเทอร์เน็ตว่า Information Superhighway หรือ ทางด่วนสู่ข้อมูลข่าวสาร นั่นแหละครับ แม้วัตถุประสงค์ในแง่ความสะดวกนั้นจะยังคงอยู่ แต่ในระยะหลัง ๆ ที่ผ่านมา ดูเหมือนมันจะถูก ขยายเพิ่มออกไปอีก บางคนทำลิงก์ของชาวบ้านไว้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำ หรือหาข้อมูลให้เว็บไซต์ตัวเอง ทำเพื่อหารายได้แบบรับทำ banner โฆษณาสินค้าให้ หรือที่นิยมกันในปัจจุบัน คือการ ทำลิงก์ต่างตอบแทน ประมาณว่า ฉันก็ทำให้เธอ เธอก็ทำให้ฉัน เราทำไว้ให้กัน แต่เข้าไปดูไปอ่านหรือเปล่า นั้นอีกเรื่อง (ฮา) แต่ก็ถือว่าช่วยกันโฆษณาไปในตัว เกิดเป็นชุมชน ขึ้นมาได้ เช่น ชุมชนบล็อก เป็นต้น หลักการทำงานของเจ้านี่ ก็คือ เมื่อผู้ใช้คลิ๊กไปที่ชื่อ หรือรูปภาพที่ใส่ URL ซ่อนไว้ โปรแกรม เว็บบราวเซอร์จะทำการเชื่อมต่อตรงไปยังที่อยู่ของหน้าเว็บที่ถูกลิงก์ จากนั้นก็ ดาวน์โหลด หรือทำสำเนา หรือทำซ้ำ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกลิงก์ ในขณะเดียวกันคอมพิวเตอร์ ของผู้ใช้จะบันทึกข้อมูลที่ดึงมานั้นเก็บไว้ที่หน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ (RAM) ซึ่งข้อมูลที่ถูกดึง มานั้นจะหายไปจากแรมทันทีเหมือนกัน เมื่อเราปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และด้วยลักษณะการทำงานแบบนี้ล่ะครับ เลยชักเริ่มมีประเด็นข้อกฎหมายถกเถียงกันว่า มันเป็นการ "ทำซ้ำ" หรือ “เผยแพร่” งานโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ทำได้แต่เพียงผู้เดียว ตามกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีบัญญัติไว้เกือบทุกประเทศหรือเปล่า ? หรือว่า ถือเป็นแค่ “การอ้างอิง” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตอบปัญหานี้ (ซึ่งหลายประเทศยังคงหาข้อยุติไม่ได้) ผมควรต้องเล่าก่อนว่า ปัญหาการละเมิดที่ว่านั่น ชักจะหนักหนาไปกันใหญ่ เพราะดังเกริ่นไปแล้วว่า ปัจจุบัน ไม่ได้มีเฉพาะ การทำลิงก์ทื่อ ๆ ไปยัง หน้าแรก หรือที่ โฮมเพจ ของเว็บไซท์ของใครต่อใครด้วย “ลิงไฮเปอร์” นี่เท่านั้นครับ แต่มันยังมีพัฒนาการในการ เชื่อมชนิดล้วงลึก เข้าไปอีก ดังเช่น |
Framing หรือ การล้อมกรอบ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเชื่อมต่อ แต่ต่างจาก การลิงก์ธรรมดา คือ แทนที่หน้าเว็บไซท์ที่ถูกเชืื่อม จะเข้ามาแทนที่ใหม่ทั้งหมดบนหน้าจอคอม ฯ หน้าเว็บหรือเนื้อหานั้น กลับไปแสดงผล อยู่ใน “กรอบ” ของเว็บไซท์ ที่เอาของเขามาเชื่อมไว้ซะอย่างนั้น แถมชื่อ URL ของเว็บที่โดนเชื่อม ยังโดนผนวกบวกเข้าไป กับชื่อเว็บที่เชื่อมอีกด้วย ...ถ้าพูดแบบนักวิชาการสังคมศาสตร์ ก็ต้องบอกว่า หาอัตลักษณ์ไม่เจอกันเลยทีเดียว
อืม...เปรียบไป ก็คงเหมือน เราแอบจิ๊กรูปแฟนคนอื่นมาใส่ไว้ในกรอบรูปของเรา เพื่อเอาไปให้เพื่อนดู แล้วปล่อยให้มันเข้าใจกันไปเองเป็นตุ เป็นตะนั่นแหละ (ฮา)
Inline Links หรือ การเชื่อมโยงแบบเนื้อในฝังรากลึกยิ่่่่่่่่่่่่่่่่่่่งกว่า คือ จิ้มไปแล้ว แทนที่ ลิงค์นั้นจะพาเราไปที่หน้าต่างของเจ้าของ มันกลับนำข้อมูลมัลติมีเดีย รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ ข้อเขียน เสียง ทุกอย่างบรรดามี มาแสดงผลเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเว็บตัวเองไปเสียเลย
Local Caching และ Proxy Caching หรือ การทำซ้ำแบบกึ่งถาวร ไว้ในฮาร์ดดิสก์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลที่เคยเรียกดูไปแล้ว ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อต้องการดูในครั้งต่อ ๆ ไป โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียกซ้ำจากเว็บไซท์นั้น ๆ ขึ้นมาอีก ซึ่งแน่นอนครับ ด้วยวิธีนี้ย่อมมีผลต่อจำนวน “คลิ๊ก” หรือจำนวนผู้เยี่ยมชม และอาจกระทบต่อ รายได้โฆษณาอันเกี่ยวพันกับจำนวนครั้งของการเยี่ยมเยียมเว็บไซท์ด้วย
ปัจจุบันประเด็นเกี่ยวกับ การเชื่อมต่อเนื้อหากับปัญหากฎหมาย ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการ ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือ เผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซท์อื่น ซึ่งอาจเป็นความผิดตาม กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เท่านั้นนะครับ แต่ยังมีประเด็น ขัดต่อกฎหมายป้องกันการแข่งขันอันไม่เป็นธรรม ด้วย เพราะ ทำให้คนอื่นเข้าใจว่า เป็นงานของผู้เชื่อมโยงเอง จนเกิดความเสียหายในแง่ธุรกิจ อย่างที่บอก
นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็น การเชื่อมโยงเอาเว็บไซท์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย มาไว้กับเว็บตัวเองด้วยว่า ผู้เชื่อมไปนั้น ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ อย่างไร เช่น หากเว็บ BioLawCom ของผมดันทะลึ่ง ไม่ดูตาม้าตาเรือ ไปหยิบเอาเว็บภาพโป๊เด็กมาเชื่อมเข้าล่ะก็ ก็มีเรื่องต้องถกเถียงกันเชียวว่า ผมรู้หรือไม่รู้ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ที่จะมีความสัมพันธ์กับเว็บไซท์ผิดกฎหมายเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดมันค่อนข้างยาวเปียด บล็อกนี้ผมเลยขอเอาแค่ ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาให้อ่านเล่น ๆ ก่อนนะครับ
ในประเทศไทย ประเด็นนี้ยังไม่ชัด ยังได้รับการพูดถึงน้อย และที่สำคัญยังไม่มี คดีความที่จะหยิบขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นได้หรอกครับ แต่ถ้าแอบมองไปแถวต่างประเทศล่ะก็ น่าสนใจทีเดียว โดยเขามีการแยกแยะ วิเคราะห์ประเด็นการละเมิดสิทธิ์ไว้ตามประเภทของ “เอกสิทธิ์” หรือ “สิทธิแต่เพียงผู้เดียว” ของเจ้าของงาน ในอันที่จะ เอา "ชิ้นงาน" ที่ตนสร้างขึ้น มา ทำซ้ำ ดัดแปลงแก้ไข หรือ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น
สำหรับประเด็นการละเมิดผลงาน ด้วยการ “ทำซ้ำ” โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ใน ประเทศอเมริกายังคงมี ข้อถกเถียง และมีความเห็นไม่สอดคล้องกันนักครับ ดังจะเห็นได้จาก เคยมีคดีหนึ่งในปี 1999 Intellectual Reserve, Inc. v Utah Ligthouse Ministry, Inc. 75 F. Supp. 2d 1290 (D. Utah 1999) (USA) ที่ศาลตัดสินให้ การทำไฮเปอร์ลิงก์ เป็นการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยให้เหตุผลว่า ทุกครั้งที่ผู้ใช้คลิ๊กไปยังไฮเปอร์ลิงก์ จะทำให้เกิดการทำซ้ำงานนั้นบนแรม (RAM) เมื่อยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของเขา ก็ย่อมมีความผิด !
แต่ พอมาอีกคดีหนึ่ง ในปี 2000 Ticketmaster Corp v Tickets.Com Inc, US District Court, Californai 27 March 2000 ศาลแคลิฟอร์เนียกลับตัดสินว่า การทำไฮเปอร์ลิงก์ ไม่เป็นการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะไม่ถือว่า การดึงข้อมูลมาเก็บไว้ที่แรม เป็นการทำซ้ำงานชิ้นนั้น เพื่อเผยแพร่ต่อไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก เมื่อจิ้มลิงก์เข้าไป เท่ากับว่าผู้ใช้ ต้องผ่านเข้าไปยังเว็บดั้งเดิม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของเอกสารนั้นก่อน จึงย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า ตนกำลังเข้าไปสู่อีกเว็บไซท์หนึ่ง ดังนั้น เนื้อหาที่ดู จึงเป็นของเว็บไซท์นั้น ไม่ใช่เนื้อหาที่ทำซ้ำไว้โดยเว็บที่เชื่อม
เทียบเคียงไปก็เป็นเช่นเดียวกับการใช้ บัตรดัชนี หาหนังสือ ในห้องสมุด ซึ่งแนะนำผู้ใช้ไปยังหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หากแต่ว่า ไฮเปอร์ลิงนั้นใช้ได้ง่าย และทำงานได้รวดเร็วกว่าเท่านั้น
เห็นไหมครับว่า...ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในประเด็นสำคัญมากทีเดียว
ดูทางฝ่าย ประเทศเยอรมนี บ้าง ความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่ค่อนข้างสอดคล้องต้องกันครับว่า การเชื่อมต่อด้วยวิธี Hyperlink ธรรมดา ไม่ได้มีผลกระทบต่อเอกสิทธิ์การ “ทำซ้ำ” ของเจ้าของผลงาน แต่อย่างใดเลย
และไม่เฉพาะแต่การเชื่อมต่อแบบธรรมดาเท่านั้น แม้แต่การทำ Deep Links ศาลแห่งสหพันธรัฐ Bundesgerichtshof (BGH Az.: I ZR 259/00) ก็เคยตัดสิน เมื่อปี 2003 ไปแล้วว่า ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายใด ๆ จนช่วยยุติประเด็นต่าง ๆ ที่บรรดานักกฎหมายเคยเถียงกัน คอเป็นเอนมาตลอดหลายปี
ความคิดเห็น