ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    [AD'54] ตามฝัน...อักษร จุฬาฯ

    ลำดับตอนที่ #21 : [O-NET Exam] : อ่าน O-NET ใน 10 วัน

    • อัปเดตล่าสุด 28 ม.ค. 56


     
               สวัสดีครับน้อง ๆ ทุกคน พี่ไม่ได้เข้ามาเขียนบทความใหม่นานเลย ไม่รู้ว่ายังมีใครติดตามอยู่รึเปล่าเนอะ แต่เห็นว่าวันสอบ O-NET กำลังใกล้เข้า วันนี้เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การอ่านหนังสือในน้อง ๆ ฟัง
     
              ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว พี่จำได้ว่า พี่มีเวลาอ่านหนังสือประมาณ 10 วัน (ถ้าจำไม่ผิดนะ) เพราะก่อนหน้านี้ พี่มีสอบปลายภาคครับ และพี่ก็ยังไม่มีที่เรียนด้วย เรียกได้ว่า ตอนนั้นพี่เครียดมาก เพราะต้องเลือกว่าจะอ่านปลายภาคหรือ O-NET ดี น้อง ๆ หลายคนคงจะเลือกอย่างหลัง เพราะคิดว่ามันสำคัญกว่า แต่สำหรับพี่ พี่เลือกอย่างแรกครับ พี่เลือกที่จะอ่านหนังสือปลายภาคเพื่อจะทำให้ได้เกรดดี ๆ อย่าลืมนะว่า GPAX เรามีค่าถึง 30% เชียวนะ อย่าทิ้งเชียว 
     
                และหลังจากที่พี่สอบเสร็จ พี่ก็เริ่มอ่าน O-NET ครับ อย่างแรกที่เราต้องทำเลย ก็คือ วางแผนครับ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ นะครับ มันมีอยู่ 8 วิชาใช่มั้ยครับ ที่นี้มันก็หยิบกระดาษขึ้นมา เขียนไปเลยว่า วันนี้เราจะอ่านวิชานี้ เล่มนี้ ยัดลงไปให้หมดในจำนวนวันที่เราเหลืออยู่ครับ ซึ่งใน 10 วันที่เหลืออยู่ของพี่เนี่ย พี่อ่านหนังสือวันนึงแบบเกือบเต็มวันเลยนะครับ คือพี่จะเริ่มอ่านประมาณ 8 โมงเช้า ยาวไปถึงเที่ยงคืนหรือตี 2 จะมีเว้นระยะให้ตัวเองพักบ้าง เวลากินข้าว หรือพักระหว่างวิชา หรือพักไปอยู่กับครอบครัวบ้าง อย่าให้ตัวเองเครียดเกินไปครับ เพราะความเครียดไม่ได้ทำให้น้องอ่านหนังสือได้ดีขึ้น เชื่อพี่สิ 
     
    ทีนี้มาดูแต่ละวิชา ว่าพี่อ่านหนังสือยังไง 
     
                 วิชาแรก สังคมศึกษา วิชานี้คงเป็นวิชาที่น้อง ๆ “ยี้” ที่สุด ก็เพราะเนื้อหามันเยอะมากเลย เรื่องอะไรนักก็ไม่รู้ แต่สำหรับพี่ พี่กลับรู้สึกสนุกที่ได้อ่านวิชานี้นะ พี่มีเทคนิคการอ่านคือ พี่จะอ่าน 3 รอบครับ รอบแรก พี่จะเปิดหนังสือแบบผ่าน ๆ ดูว่าเราต้องอ่านเรื่องอะไรบ้าง เช่น มีประวัติศาสตร์ กฎหมาย ฯ พี่พยายามทำให้ตัวเองรู้สึกสนใจเนื้อหาเหล่านั้นครับ เพราะให้รู้สึกกระตือรือร้นที่จะอ่านมัน ส่วนรอบที่สอง พี่จะเริ่มอ่านจริงจังครับ อ่านแบบตั้งใจจริง ๆ ข้างมือพี่จะมีปากกาสีและโน้ตแพ็ด พี่จะเขียนพวกคำสำคัญลงไปแล้วแปะบนหน้านั้น ๆ แล้วก็สรุปเนื้อหาที่พี่คิดว่ามันสำคัญด้วยครับ เวลากลับมาอ่านอีกรอบ เราจะได้รู้ว่าจุดไหนที่ควรอ่าน ควรจำ ควรดู และรอบที่สาม พี่จะอ่านเฉพาะโน้ตแพ็ดครับ พอเราอ่านแล้วไม่เข้าใจตรงไหน พี่ก็จะกลับไปเนื้อหาในหน้านั้นในเข้าใจ โดยรอบนี้พี่จะอ่านในวันที่ใกล้สอบครับ จะได้ไม่เสียเวลา

               วิชาที่สอง ภาษาอังกฤษ ต้องยอมรับว่า วิชานี้พี่อ่านหนังสือน้อยที่สุดครับ เพราะพี่ค่อนข้างมั่นใจวิชานี้ พี่ใช้เวลากับมันน้อยมาก ๆ โดยที่พี่จะเน้นไปที่การทำโจทย์เป็นหลักครับ ทำข้อสอบเก่า ๆ 15 พ.ศ. ซึ่งจริง ๆ พี่ก็ทำไม่หมดหรอกนะ มันเยอะ ส่วนวันท้าย ๆ พี่ก็จะหยิบแผ่นศัพท์ขึ้นมาอ่านครับ 
     
              วิชาที่สาม ภาษาไทย วิชานี้ พี่ว่าคนส่วนใหญ่คงทำได้  เพราะมันเป็นภาษาของเรานี่เนอะ พี่เลยอ่านวิชานี้น้อยเหมือนกัน วิชาการอ่านของพี่ก็จะคล้ายกับสังคมครับ อ่านสามรอบเหมือนกัน และก่อนสอบพี่จะอ่าน Mini Thai Book ของอาจารย์ปิงสุดเงี่ย ขอบอกว่ามันเจ๋งมาก ๆ สั้น  กระชับ ได้ใจครับ น้อง ๆ คนไหนจะอ่านแค่เล่มนี้ก็ยังได้เลยนะ เอ้อ พวกวรรณคดี พี่ว่าไม่ต้องอ่านไปเยอะนักหรอก พี่รู้สึกว่าข้อสอบออกไม่เยอะ และส่วนมากเราก็น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวพวกนี้อยู่แล้วด้วย
     
              วิชาที่สี่ วิทยาศาสตร์ วิชานี้เด็กสายศิลป์คงจะร้องโวยวายไม่อยากอ่าน พี่สายวิทย์ยังไม่อยากอ่านเล้ย ฮ่า ๆๆๆ แต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอกครับ วิชานี้พี่ก็ไม่ได้เน้นอะไรมากมายเหมือนกัน อาจตามมีตามเกิด อาจเพราะพี่คิดว่าตัวเองน่าจะพอมีความรู้จากการเรียนสายวิทย์แล้วก็ได้นะ วิธีการอ่านของพี่ก็เหมือนเดิมครับ สามรอบ แต่สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ถนัดจริง ๆ ก็อย่าไปเครียดมาก ไปทุ่มวิชาที่เราเก่งดีกว่าเนอะ
     
               วิชาที่ห้า คณิตศาสตร์ วิชานี้เป็นวิชาที่พี่ชอบนะ สนุกดี พี่ไม่เน้นอ่านเนื้อหาครับ (เพราะเนื้อหามันก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้วด้วย) พี่ทำโจทย์เลยครับ ทำย้อนหลังทุกปีเลย มันไม่ยากเลยจริง ๆ นะ พี่ว่าสายวิทย์หรือสายศิลป์น่าจะเก็บคะแนนได้ไม่ยาก เนื้อหาของโจทย์ พี่คิดว่าก็ไม่ต่างกันมากในแต่ละปี ข้อสอบเก่าช่วยได้ ฟันธง
     
              ส่วนกลุ่มวิชาศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี พี่ไม่แนะนำให้อ่าน เพราะมันเสียเวลา อ่านไปก็ทำไม่ได้ -*- พี่ดูข้อสอบเก่ามันนิดหน่อยครับ แต่ผลก็คือ ข้อสอบไม่คล้ายกันเลย ดังนั้น เอาเวลาไปอ่านวิชาอื่นดีกว่า ฮ่า ๆๆ
    นอกจากเวลาอ่านหนังสือแล้ว พี่แนะนำให้น้องลองโทรศัพท์คุยกับเพื่อนดูนะ คุยกันว่าคนไหนอ่านถึงไหนกันแล้ว พี่ว่ามันเป็นกำลัวใจที่สำคัญเลยล่ะ เวลาได้ยินว่าเพื่อนก็อ่านไม่ถึงไหนเหมือนเรา ฮ่า ๆๆ 
     
               ส่วนวันก่อนสอบ พี่ไม่แนะนำให้พักนะ พิ่คิดว่าการพักจะทำให้เราลืมเนื้อหาที่อ่านมา (ที่นี้ล่ะหายนะแน่ ๆ) พี่ ๆ แนะนำให้เป็นวันที่น้องทบทวนเนื้อหาของทุกวิชา โดยอ่านเฉพาะโน้ตที่เราจดเอาไว้ก็พอ อย่าคร่ำเครียดมากนะ แล้วก็จัดกระเป๋าให้เรียบร้อย ปากกา ดินสอสองบี(พี่เอาไปเป็นสิบแท่ง) ยางลบ(หลาย ๆ ก้อน) กบเหลาดินสอ บัตรประชาชน บัตรเข้าสอบ แล้ววันนั้นก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่าเกินสี่ทุ่ม และตื่นเช้า ๆ อย่างพี่ พี่จะชอบอ่านหนังสือตอนเช้ามาก เพราะมันเป็นเวลาทองสำหรับพี่ที่พี่จะจำเนื้อหาที่อ่านได้แทบหมดเลย ไปถึงห้องสอบให้เร็ว ๆ อาจจะนัดเพื่อนไปติวกับจนนาทีสุดท้ายก็ได้ เอ้อ ก่อนออกจากบ้านก็อย่าลืมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของเรา นั่นก็คือพ่อแม่ของน้อง ๆ นะ


    พี่เป็นกำลังใจให้นะ


    ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีกับการสอบครับ

    ***น้องคนไหนที่อยากรู้ว่าพี่อ่านหนังสือเล่มไหนบ้าง และประสบการณ์สอบปีที่แล้วของพี่ ก็ย้อนไปดูตอนที่ 3 กับ 4 นะครับ
    ***ส่วนคนที่อยากรู้ว่าพี่ได้คะแนนเท่าไหร่ ก็ย้อนไปที่ดูที่ตอน 9 ครับ
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×