ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สงครามโลกและยุโรป(ประวัติศาสตร์)

    ลำดับตอนที่ #21 : รวมประวัติความเป็นมาของดนตรีตะวันตก

    • อัปเดตล่าสุด 17 มี.ค. 54


     

     ยุคสมัยดนตรีตะวันตก

     

    ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ มนุษย์รู้จักนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากที่มนุษย์รู้จักการจดบันทึกข้อมูล จึงทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบประวัติความเป็นมาของดนตรี การศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรี ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และเข้าใจการสืบทอดทางวัฒนธรรมดนตรี

    การศึกษาวิชาประวัติดนตรีตะวันตก หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน และมักมีคำถามเสมอว่าจะศึกษาไปทำไม คำตอบก็คือ ดนตรีตะวันตกเป็นรากเหง้าของดนตรีที่เราได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้ ความเป็นมาของดนตรีหรือประวัติศาสตร์ดนตรีนั้นหมายถึง การมองย้อนหลังไปในอดีตเพื่อพยายามทำความเข้าใจกับแง่มุมต่างๆ ของอดีตในแต่ละสมัย นับเวลาย้อนกลับไปเป็นเวลาหลายพันปีจากสภาพสังคมที่แวดล้อม ทัศนะคติและรสนิยมของผู้สร้างสรรค์ และผู้ฟังดนตรีในแต่ละสมัยนั้นแตกต่างกันอย่างไร จากการลองผิดลองถูกลองแล้วลองอีกการจินตนาการ ตามแนวคิดของผู้ประพันธ์เพลง จนกระทั่งกลั่นกรองออกมาเป็นเพลงให้ผู้คนได้ฟังกันจนถึงปัจจุบันนี้ 

    การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือการมองย้อนกลับไปในอดีตนั้นนอกจากเป็นไปเพื่อความสุขใจในการได้ศึกษา เรียนรู้ และรับทราบเรื่องราวของอดีตโดยตรงแล้ว ยังเป็นการศึกษาเป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจดนตรีที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในแง่ของดนตรีในปัจจุบัน และเพื่อนำมาใช้ในการทำนายหรือคาดเดาถึงแนวโน้มของดนตรีในอนาคตด้วย  

    ดนตรีเกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ มนุษย์รู้จักการสร้างเสียงดนตรีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร เช่น การตีเกราะ เคาะไม้ การเป่าเขาสัตว์ การเป่าใบไม้ เพื่อส่งสัญญาณต่างๆ มนุษย์รู้จักการร้องรำทำเพลง เพื่อให้หายเครียด เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการประกอบพิธีกรรมต่างๆ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเสียงดนตรี มนุษย์ได้ทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาโดยตลอด ต่อมาเมื่อมนุษย์ได้สนใจดนตรีในด้านศิลปะ ดนตรีจึงได้วิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ  

     

     

    ยุคสมัยต่าง ๆ เป็นตัวแบ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สมัยอารยธรรมโบราณ สมัยต้นและกลางคริสต์ศตวรรษ สมัยบาโรค สมัยคลาสสิค สมัยโรแมนติค และสมัยปัจจุบัน การดนตรีในยุคต่าง ๆ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามาจากยุคใดและมีบทบาทอย่างไร ดังที่ ละเอียด เหราปัตย์ (2522: 1) กล่าวว่า ดนตรีในสมัยดึกดำบรรพ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากกว่าในสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงจิตวิทยา สังคม ศาสนา สิ่งสักการะบูชา และภาษา เพลงทุกเพลงในสมัยดั้งเดิมจะต้องมีความหมายทั้งสิ้น การจะเข้าใจในเพลงนั้น ๆ อย่างถูกต้องแท้จริงจะต้องไปศึกษาจากชาวพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของบทเพลงนั้น ดนตรีสมัยดึกดำบรรพ์มีหน้าที่ 2 ประการสำคัญ คือ

    (1) ก่อให้เกิดความตื่นเต้น เร้าใจ

    (2) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ความสุข

    ต่อมาในอารยธรรมโบราณ (Ancient Civilization) ความเจริญของโลกมีอยู่ในภูมิภาคตะวันออก ชาติที่มีความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น จีน ไทย อินเดีย ฯลฯ และภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น อียิปต์ ซุเมอร์ บาบิโลเนียน จูเดีย และกรีก ดนตรีทั้งในเอเซีย และยุโรปตะวันออก ได้เริ่มมีวิวัฒนการขึ้น โดยมีการคิดค้นบันไดเสียงเพื่อแบ่งแยก จัดระบบเสียงเป็นของแต่ละชนชาติขึ้นมา เอกลักษณ์นี้ยังคงมีร่องรอยอยู่ในยุคปัจจุบัน เช่น บันไดเสียงเพนทาโทนิค (Pentatonic Scale) ก็ยังคงมีใช้กันในดนตรีภูมิภาคเอเซีย แต่มีความแตกต่างไปในสำเนียงและการจัดระบบเสียง ดนตรีกรีกโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของดนตรีตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ คือ เมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล มีการคิดค้นการแบ่งระบบเสียงอย่างชัดเจนด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ โดยนักปราชญ์กรีก คือ พิธากอรัส และมีการคิดเรื่องเครื่องดนตรีประกอบการร้อง มีการใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงโดยใช้ Mode ซึ่งมีที่มาจากระบบเตตร้าคอร์ด (Tetrachord) ก่อให้เกิดบันไดเสียงโบราณต่างๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดนตรีในยุคต่อ ๆ มา

    Percy A scholes (อ้างถึงใน นพพร ด่านสกุล,2541:10) ได้กล่าวถึงการก่อเกิดบันไดเสียงในดนตรีตะวันตกไว้อย่างน่าสนใจ สรุปความว่า ในราวประมาณ 550 ปีก่อนคริสตกาล Pythagoras ได้ค้นพบวิธีคิดการใช้มาตรวัดเชิงคณิตศาสตร์กับดนตรีได้เป็นคนแรก โดยใช้เส้นลวดเป็นอุปกรณ์การทดลอง ซึ่งทำให้เขาพบว่าเสียงที่เกิดจากการดีดเส้นลวดจะทีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ เมื่อแบ่งครึ่งเส้นลวดระดับเสียงจะสูงขึ้นกว่าเดิม 1 ชุดระดับเสียง (Octave) ถือว่าเป็นความสำคัญระดับแรก เมื่อแบ่งเส้นเส้นลวดเป็น 3 ส่วนแล้ว 2 ใน 3 ส่วนของเส้นลวดจะมีระดับเสียงสูงขึ้นเป็นขั้นคู่ 5 เพอร์เฟ็ค ในกรณีนี้ถือว่าเป็นความสำคัญระดับรองลงมา และหากว่าแบ่งเส้นลวดออกเป็น 4 ส่วน 3 ใน 4 ส่วนดังกล่าวจะมีระดับเสียงสูงขึ้นจากพื้นเสียงเดิมเป็นขั้นคู่ 4 เพอร์เฟ็ค กรณีนี้ถือเป็นความสำคัญอันดับ 3 จากนั้น Pythagoras ยังนำเสนอไว้ว่าใน 1 ชุดระดับเสียง ประกอบด้วย กลุ่มเสียง 4 ระดับ (Tetrachord) 2 ชุดเชื่อมต่อกัน กลุ่มเสียง 4 ระดับตามแนวคิดของ Pythagoras มี 3 รูปแบบดังที่แสดงต่อไปนี้

    1. semitone – tone – tone เรียกว่ากลุ่มเสียง 4 ระดับแบบดอเรียน (Dorian Tetrachord)

    2. tone - semitone – tone เรียกว่ากลุ่มเสียง 4 ระดับแบบฟรีเจียน (Phrygian Tetrachord)

    3. tone – tone – semitone เรียกว่ากลุ่มเสียง 4 ระดับแบบลีเดียน (Lydian Tetrachord)

    ความที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เราทราบว่า พิธากอรัส ได้ใช้ระเบียบวิธีคิดอย่างสูงเกี่ยวกับการแบ่งระบบของเสียงดนตรี และจากการคิด Tetrachord ชนิดหลักๆ ทั้ง 3 กลุ่ม เมื่อเรียงต่อ Tetrachord เข้าด้วยกัน 2 ชุดจะก่อให้เกิดบันไดเสียงต่างๆ ซึ่งบันไดเสียงที่ที่คิดขึ้นได้เรียกว่า บันไดเสียงแบบพิธากอรัส (Pythagorian Scale) และเมื่อมีการขยายความรู้ไปใช้ในการขับร้องหรือเล่นเครื่องดนตรี ก็จะทำให้เกิดความนิยมเฉพาะกลุ่มจนเป็นชื่อเรียกบันไดเสียงขึ้นมาเฉพาะ เช่น บันไดเสียงไอโอเนียน (Ionian) ก็มาจากกลุ่มชนไอโอเนียนที่อยู่แถบริมทะเล บันไดเสียงไอโอเนียนเป็นที่คุ้นกันดีว่าเป็นบันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scale) ในยุคปัจจุบันนั่นเอง อย่างไรก็ดีในเรื่องของโหมด (Mode) หรือบันไดเสียงโบราณนี้ได้รับแนวคิดมาตั้งแต่สมัยกรีกของจริงอยู่ แต่เมื่อถึงยุคกลางแล้วชื่อและลักษณะของระบบไม่ตรงกับระบบของกรีกเลย ดังเช่น ดอเรียนโหมดของกรีก คือ โน้ต E- E (เทียบจากคีย์บอร์ดแป้นสีขาวทั้งสิ้น) แต่ดอเรียนโหมดของยุคกลาง คือ โน้ต D- D ซึ่งวิวัฒนาการเหล่านี้เป็นผลมาจากความนิยมในการใช้ทั้งสิ้น ตัวอย่างต่อไปนี้มาจากหนังสือ The Music of Early Greece โดย Beatric Perham (1937:24) ได้แสดงบันไดเสียงกรีกโบราณทั้ง 3 ประเภทดังนี้

    Dorian = E D CB, A G FE

    Phrygian = D CB A G FE D

    Lydian = CB A G FE D C

    หมายเหตุ การไล่บันไดเสียงดังกล่าวเป็นตามนิยมของกรีกคือ การไล่ลง (Descending Scale) และโน้ตที่ชิดกันคือระยะครึ่งเสียง

    (semitone) โน้ตที่ห่างกัน คือ ระยะเต็มเสียง (tone)

     

    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าโครงสร้างทางดนตรีตะวันตกได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีของชนชาติกรีกซึ่งเป็นชนชาติโบราณที่มีอารยธรรมสูงส่ง กรีกได้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ไว้มากมาย ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะดนตรี เมื่อกรีกกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน วัฒนธรรมด้านดนตรี ทั้งหมดจึงถูกถ่ายทอดไปสู่โรมัน เมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลาย วัฒนธรรมดนตรีที่โรมันรับมาจากกรีก ได้แพร่กระจายไปสู่ชนชาติต่างๆ ทั่วภาคพื้นยุโรป ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาเกิดขึ้น ดนตรีก็ยิ่งมีบทบาทควบคู่เป็นเงาตามตัวไปด้วย ยุคสมัยประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกแบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลา แต่ละช่วงระยะเวลาหรือแต่ละสมัย มีลักษณะผลงานทางดนตรีที่แตกต่างกันออกไป ประวัติศาสตร์ดนตรีเริ่มตั้งแต่สมัยกลาง สมัยเรเนสซองส์ สมัยบาโรค สมัยคลาสสิก สมัยโรแมนติก สมัยอิมเพรสชั่นนิสติค และสมัยศตวรรษที่ 20

     

     

    ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบันมีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านดนตรีตะวันตกเรื่อยมา อาทิ ทฤษฎีดนตรี โครงสร้างของดนตรี เครื่องดนตรีและวงดนตรีมาตรฐาน เทคนิคการเล่นเครื่องแต่ละชนิด การประสานเสียง และการประพันธ์เพลง เป็นต้น

     

    ต้นกำเนิดแห่งดนตรีตะวันตก

    1. ยุคกลาง (Middle Ages)

    2. ยุคเรเนสซองส์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (The Renaissance Period)

    3. ยุคบาโรก (The Baroque Period)

    4. ยุคคลาสสิก (The Classical Period)

    5. ยุคโรแมนติก (the Romantic Period)

    6. ยุคอิมเพรสชั่นนิสติค (The Impressionistic)

    7. ยุคศตวรรษที่ 20 (The Twentieth Century)

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×