คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #14 : 02__สถาปัตยกรรมยุคกลาง
ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก
ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก คือศิลปะที่สร้างโดยผู้นับถือคริสต์ศาสนาหรือโดยผู้ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้นับถือคริสต์ศาสนาที่เริ่มตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 100 จนถึงราวปี ค.ศ. 500 ก่อนหน้าปี ค.ศ. 100 ไม่มีหลักฐานทางศิลปะที่หลงเหลือให้เห็นที่จะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะหรือสถาปัตยกรรมของผู้นับถือคริสต์ศาสนาได้อย่างแท้จริง หลังจากปี ค.ศ. 500 ศิลปะและสถาปัตยกรรมคริสเตียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะของศิลปกรรมแบบไบแซนไทน์
ประวัติทั่วไป
ศิลปะคริสเตียนยุคแรก
ในดินแดนปาเลสไตน์ก่อน ค.ศ. 4 ปี จีซัส ไครสต์ ได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านเบธเลเฮมของชาวยิว ใช้ชีวิตวัยหนุ่มส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ในหมู่บ้านนาซาเรธ พระองค์เกิดมาในท่ามกลางของความกดขี่ขูดรีดอย่างหนักของจักรพรรดิโรมันต่อชาวยิว ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทำให้ชาวยิวต่างใฝ่ฝันที่จะได้ เมซไซ-อะ ( Messiah ) หรือผู้มาโปรดโลก เพื่อขับไล่ชาวโรมันให้ออกจากดินแดน และสถาปนารัฐยิวที่เป็นของชาวยิวขึ้นมา
จีซัส ไครสต์ ได้เริ่มต้นสั่งสอนให้มนุษย์มีความรัก ความกรุณาซึ่งกันและกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 28 หลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้แพร่หลายออกไป ก่อให้เกิดความสนใจต่อชาวยิวอย่างยิ่ง จนถึงกับทึกทักเอาว่าพระองค์ คือ เมซไซ-อะ ที่ทุกคนเฝ้ารอคอย แต่แล้วจีซัสกลับสนใจแต่เรื่องของวิญญาณ มิใช่เรื่องทางวัตถุ จึงก่อให้เกิดความผิดหวังและกลายเป็นการต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์การกระทำของพระองค์อย่างกว้างขวาง มีทั้งพวกคลั่งชาติ พวกเจ้าหนี้ที่คอยเอารัดเอาเปรียบ และพวกพระซึ่งเกรงว่าจีซัส จะทำให้ฐานะและสิทธิของตนหมดสิ้นไป ทุกฝ่ายต่างพากันกล่าวหาว่าจีซัสคือผู้ทำลายความสงบสุขและลบหลู่พระยะโฮวาอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน จนกระทั่งจีซัสถูกกล่าวหักหลังโดยบอกกับเจ้าหน้าที่มาจับตัวไปให้ศาลศาสนาซาเฮดรินของพวกยิวตัดสิน และถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนราวกับผู้ร้าย
การเสียสละชีวิตของจีซัสมีผลสะท้อนออกไปอย่างกว้างขวางและล้ำลึก สาวกผู้มีศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้าได้นำคำสั่งสอนของพระองค์ออกเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะแหล่งชุมชนของชาวยิว ซึ่งอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในเมืองต่างๆ แถบชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และที่อยู่ในกรุงโรม ต่อมาจึงค่อยเผยแพร่ออกไปสู่ชนชาติต่างๆ อย่างไม่จำกัดจนกลายเป็นศาสนาใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง
อนึ่ง ในระหว่างที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ ชาวโรมันมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แต่คนอื่นมิได้เป็นชาวโรมันกลับเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ทุกคนใฝ่ฝันที่จะมีเสรีภาพและความเสมอภาค พวกเขาพบว่าคริสต์ศาสนาได้สนองความต้องการของพวกตน ให้ความหวังในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาพในหมู่มนุษย์ ดังตัวอย่าง เช่น มีคำสอนในศาสนากล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าหรือพระบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักความกรุณาได้สั่งพระบุตรหรือพระเยซูลงมาเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ อนึ่ง ในเรื่องสิทธิการนับถือศาสนา แม้ว่าโรมันจะไม่มีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อความศรัทธาในศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ตราบใดที่ผู้นั้นยังร่วมถวายสักการะบูชาองค์จักรพรรดิ์ให้เป็นประดุจหนึ่งเทพเจ้าชาวโรมัน จะไม่ขัดขวางการนับถือศาสนานั้นๆเลย คตินิยมนี้ชาวคริสเตียนยินยอมไม่ได้ เพราะขัดกับความเชื่อเรื่องของพระเจ้าของพวกตน นอกจากนี้ชาวโรมันเชื่อว่าหน้าที่สำคัญของมนุษย์ควรพึงปฏิบัติต่อรัฐ ส่วนชาวคริสเตียนมีความคิดเห้นว่า หน้าที่สำคัญของมนุษย์ คือ การปฏิบัติต่อพระเจ้า ดังนั้น ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขั้นพื้นฐานของความศรัทธาระหว่างชาวโรมันและชาวคริสเตียน จึงเป็นไปอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ชาวคริสเตียนจะไม่ยอมร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่ที่ทางรัฐจัดขึ้น ไม่ยอมรับราชการทำหารหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทางการโรมันจึงต้องปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหดเป็นระยะเวลาร่วม 300 ปี แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปราบปรามมากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น จนมีผู้กล่าวว่า “ โลหิตของผู้เสียสละกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศาสนา ” ตราบจนกระทั่งถึงรัชสมัยของจักรพรรดิคอราแตนติน พระองค์ได้ทรงพระราชกรณียกิจที่สำคัญไว้สองประการ คือ ประการแรก ได้ออกพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองมิลาน ( Decoree of Milan ) ในปี ค.ศ. 313 ประกาศยกฐานะของชาวคริสเตียนให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวโรมัน ยกเลิกคำสั่งห้ามชาวคริสเตียนรับราชการ ยอมให้ถือกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามใจชอบ ประการที่สอง ได้สร้างกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่แคว้นบิแซนติอุมให้เป็นราชธานีของจักรวรรดิโรมันตะวันออก นับตั้งแต่นั้นมา คริสศาสนาอันถูกต้องตามกฎหมาย ยั่งกว่วนั้นรัฐบาลในยุคหลังเริ่มเกื้อกูลให้การอุปถัมภ์พร้อมกับร่วมมือในการทำลายเปลี่ยนแปลงเทวสถาน และกวาดล้างลัทธิอื่นๆ ซึ่งมิได้เป็นศาสนาคริสต์อีกด้วย
ศิลปกรรม
ศิลปกรรมของชาวคริสเตียนในระยะแรกเริ่ม นับตั้งแต่ศาสนาได้วางรากฐานลงในจักรวรรดิเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับอิสรภาพและกรุงโรมแตก แบ่งออกเป็น 2 สมัยด้วยกัน คือ
1. สมัยแห่งการถูกประหัตประหาร ( Period of Persecution ) นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 313 เป็นยุคที่ชาวคริสเตียนถูกปราบปรามและถือว่าเป็นพวกนอกกฎหมาย
2. สมัยที่ได้รับการรับรอง (Period of Recognition ) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 325 เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินยกฐานะศาสนาคริสต์ขึ้นจนคล้ายกับเป็นศาสนาของจักรวรรดิโรมันและสิ้นสุดลงเมื่อกรุงโรมตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาวป่าเถื่อนใรราวปี ค.ศ. 500 ซึ่งทำให้อำนาจของจักรวรรดิแตกสลาย
ศิลปกรรมสมัยถูกประหัตประหาร
· สถาปัตยกรรม ในสมัยแห่งการถูกประหัตประหาร ชาวคริสเตียนถูกตามล่าจองล้างจองผลาญจนต้องหาที่ปลอดภัยสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พวกเขาขุดอุโมงค์ลงไปใต้พื้นดินซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า คาตาโคมบ์ ( Catacombs ) เพื่อใช้เป็นที่ลี้ภัยประกอบพิธีกรรมและเป็นที่ฝังศพ โดยเลือกขุดจากบริเวณที่มีดินทูฟาอันแข็งแกร่ง การขุดอุโมงค์เริ่มกระทำกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งได้รับพระราชทางโองการอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามใจชอบจึงเลิกกระทำ ในกรุงโรมมีอุโมงค์อยู่หลายแห่ง บางแห่งยาวนับเป็นไมล์ๆ สร้างสลับคดเคี้ยวและซับซ้อนกันหลายชั้น ตามข้างกำแพงอุโมงค์จะเจาะเป็นช่องสำหรับบรรจุศพเรียงรายกันไป ช่องเหล่านี้เรียกว่า ( Loculi ) นอกจากนี้แต่ละอุโมงค์ยังมีห้องเล็กๆ โดยเฉพาะเรียกว่า คูบิคูลา ( Cibicula ) เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ จากการสำรวจภายในคาตาโคมบ์ค้นพบศพจำนวนทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้มีมากกว่า 2 ล้านศพฝังไว้ในนั้น
· ห้องคูบิคูลา หรือห้องประกอบศาสนกิจส่วนมากจะมีภาพจิตรกรรมวาดด้วยวิธีเฟรสโก้ประดับตกแต่งตามฝาผนังและบนเพดาน ฝีมือและรูปแบบยังคงเป็นแบบโรมันอยู่ ช่างชาวคริสเตียนได้นำมาดัดแปลงเสียใหม่ให้ตรงกับความเชื่อของตน มีการเน้นถึงความรู้สึกในเรื่องของวิญญาณและความศรัทธาในศาสนา มากกว่าจะมามัวเอาใจใส่แต่เรื่องของความงามเพียงอย่างเดียว เหมือนดังเช่นกรีก-โรมันชอบคำนึงถึง จากมูลเหตุดังกล่าว ทำให้ชาวคริสเตียนพุ่งความสนใจในการแสดงแบบสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นความงามที่มองเห้นด้วยตาได้ จากการที่ไม่พิถีพิถันในเรื่องฝีมือกับกรรมวิธีจึงทำให้ผลงานดูไม่มีสุนทรียภาพสูงและปราศจากฝีมือ
ศิลปกรรมสมัยได้รับการรับรอง
เมื่อจักรวรรดิคอนสแตนตินรับรองศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเจาะขุดอุโมงค์คาตาโคมบ์จึงเลิกไป คริสต์ศาสนิกชนได้หันมาแสวงหาสถานที่ใหม่บนพื้นดิน ระยะแรกคงกระทันหันเกินไป ไม่มีเวลาและเงินทองจะสร้างของใหม่ได้จึงนำเอาอาคารของชาวโรมันมาใช้ อาทิ เช่น นำเอาบาสิลิกามาดัดแปลงเป็นโบสถ์ ครั้นเวลาล่วงเลยมาจึงมีการสร้างเพิ่มเติมขึ้น แต่ก็ยังไม่มีรูปแบบเด่นเป็นพิเศษ ยังคงนิยมลอกเลียนสิ่งก่อสร้างของโรมันอยู่ ทั้งนี้จะเห็นได้จากโบสถ์หลังเก่าของเซนต์ปีเตอร์ ยืมเอารูปแบบของบาสิลิกามาใช้ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ให้มีแผนผังเป็นรูปตัว T นำเอา เอทริอุม ( Atrium = ลานบ้านชาวโรมัน อยู่หน้าบ้าน เปิดโล่งไม่มีหลังคา ) มาผสมกันกับบาสิลิกา กล่าวคือ มีบันไดขึ้นด้านหน้าสู่เฉลียงกว้างก่อนผ่านเข้าประตูใหญ่ เมื่อผ่านเข้าไปภายในจะเป็นลานขนาดใหญ่เปิดโล่งตามแบบเอทริอุมของโรมัน รอบลานนี้จะทำเป็นระเบียงทางเดินมุงหลังคาเรียบร้อย ตรงใจกลางลานมีน้ำพุสำหรับผู้มาประกอบพิธีกรรมล้างมือ ถัดจากบริเวณนี้จะเป็นตัวโบสถ์ซึ่งภายในทางด้านซ้ายและขวามือจัดเป็นที่นั่งฟังธรรม บริเวณดังกล่าวเรียกว่า ไอล ( Aisle ) จากประตูโบสถ์ถึงแท่นบูชามีช่องทางเดินกว้าง เรียกว่า เนฟ ( Nave ) ส่วนสุดห้องใช้เป็นที่ตั้งของแท่นบูชา ด้านข้างทั้งสองของแท่นบูชาขยายกว้างออกไปเป็นห้องยาวขวาง เรียกว่า ทรานเซพท์ ( Trancept ) คล้ายกับหางของตัว T
โครงสร้างหลังเก่าเซนต์ปีเตอร์ไม่ได้ใช้โวลท์ แต่หันไปใช้หลังคาจั่วแทน เพราะว่าการสร้างหลังคาด้วยระบบโวลท์และใช้คอนกรีตค่อยข้างแพง แต่เมื่อพิจารณาดูรูปทรงทั้งหมดยังคงมีเค้ารูปแบบคล้ายกับบาสิลิกาของโรมันอยู่ วิธีการวางแผนผังเช่นนี้เป็นที่นิยมในการสร้างโบสถ์ทั่วๆ ไปในระยะแรก
ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการรับรอง จักรวรรดิโรมันเริ่มอ่อนแอลงตามลำดับ ประจวบกับพวกป่าเถื่อนได้ถือโอกาสยกเข้าโจมตีปล้นสะดมกรุงโรมอยู่เป็นเนืองนิจ จักรพรรดิโฮโนริอุสจึงได้ย้ายเมืองหลวงจากโรมไปอยู่ที่เมืองราเวนนา ( Ravenna ) ในปี ค.ศ. 402 ที่ตั้งของราเวนนามีภูมิประเทศคับขัน สามารถป้องกันศัตรูได้ดี อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับเมืองท่าคลาสเส ( Classe ) ซึ่งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากจักรวรรดิบิแซนทีนหรือโรมันตะวันออกได้อย่างสะดวกสบาย ถึงอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 476 ราเวนนา เมืองหลวงสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันก็ทนต่อการรุกรานของพวกกอธไม่ไหว โอโดเชอร์ ผู้นำของชนเหล่านั้นได้เข้ายึดครองและเปลี่ยนแปลงราเวนนาให้เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโตรกอธ อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ราเวนนาได้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 540 และถึงกาลอวสานเมื่อจักรพรรดิจัสติเนียนของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือ บิแซนทีน ได้ส่งกองทัพมารบบุกยึดกรุงราเวนนาและอิตาลีไว้ได้ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของบิแซนทีนเข้ามามีอิทธิพลโดยตรงในอิตาลี ในขณะเดียวกันอำนาจของคริสตจักรที่โรมนับวันจะพอกพูนขึ้นทุกขณะ
สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
โบสถ์เซนต์มาร์ค ที่เวนิส ประเทศอิตาลี รูปแบบสถาปัตยกรรมบีเซินทีน
สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ หรือ สถาปัตยกรรมไบแซนทีน (อังกฤษ: Byzantine architecture; /bī-ˈzanˌtēn/) หรือ สถาปัตยกรรมบีเซินทีน (/ˈbɪzənˌtin/) คือสถาปัตยกรรมที่เริ่มประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 ลักษณะอาคารส่วนใหญ่เป็นโดมคลุมบนเนื้อที่กลม สี่เหลี่ยม หรือรูปหลายเหลี่ยม บางครั้งมีการจัดรูปทรงภายนอกเป็นโดมหลายอัน ต่างขนาดกัน ลดหลั่นกันไป โดยส่วนใหญ่ยึดหลักสมดุลชนิด 2 ข้างเท่ากันรอบแกนใดแกนหนึ่ง เช่น โบสถ์เซนต์มาร์ค ที่เวนิส ประเทศอิตาลี
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (ภาษาอังกฤษ: Romanesque architecture) เป็นคำที่บรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ไปจนถึงสมัยสถาปัตยกรรมกอธิคระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่อังกฤษจะเรียกกันว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน”
ลักษณะเด่นๆของสถาปัตยกรรมยุคนี้คือความเทอะทะ เช่นความหนาของกำแพง ประตูหรือหลังคา/เพดานโค้งประทุน เพดานโค้งประทุนซ้อน การใช้โค้งซุ้มอาร์เคดในระหว่างช่วงเสาหนึ่ง ๆ และในแต่ละชั้นที่ต่างขนาดกัน เสาที่แน่นหนา หอใหญ่หนัก และ การตกแต่งรอบโค้ง (เช่น:ซุ้มประตูหรืออาร์เคด (arcade)) ลักษณะตัวอาคารก็จะมีลักษณะเรียบ สมส่วนมองแล้วจะเป็นลักษณะที่ดูขึงขังและง่ายไม่ซับซ้อนเช่นสถาปัตยกรรมกอธิคที่ตามมา สถาปัตยกรรมจะพบทั่วไปในทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นประเทศใดหรือไม่ว่าจะใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์จะพบในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานและมหาวิหารเป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีบ้างที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาทในสมัยนั้น คริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ยังคงมีหลงเหลืออยู่ และบางแห่งก็ยังใช้เป็นสถานที่สักการะตราบจนทุกวันนี้
มหาวิหารทริเออร์ทางซ้าย
การตกแต่งซุ้มประตูที่มหาวิหารแบมเบิร์ก ที่ประเทศเยอรมนี
ความหมาย
คำว่า “โรมาเนสก์” ใช้เป็นครั้งแรกโดยนักโบราณคดีชาร์ลส์-อเล็กซีส-อาเดรียน ดูเอริสซิเยร์ เดอ แชวิลล์เมื่อต้นปีคริสต์วรรษที่ 19 เพื่อบรรยายสถาปัตยกรรมตะวันตก ที่เริ่มตั้งแต่คริสต์วรรษที่ 5 จนถึงคริสต์วรรษที่ 13 ในเวลาที่สิ่งก่อสร้างทั้งหลายยังระบุไม่ได้ว่าสร้างเมื่อไหร่[3] คำนี้ในปัจจุบันจำกัดเวลาแคบลงจากเดิมมาเป็นสถาปัตยกรรมตั้งแต่ปลายคริสต์วรรษที่ 10 จนถึงคริสต์วรรษที่ 12 คำว่า “โรมาเนสก์” บรรยายถึงลักษณะที่เป็นแบบบอกได้แน่นอนว่าเป็นยุคกลางแต่ก่อนสมัยสถาปัตยกรรมกอธิคแต่ก็ยังรักษารูปลักษณ์แบบสิ่งก่อสร้างโรมันเช่นซุ้มโค้งฉนั้นจึงดูเหมือนว่าเป็นศิลปะที่ต่อเนื่องมาจากโรมันซึ่งเป็นแบบเรียบง่ายแต่วิธีการก่อสร้างไม่ดีเท่าสิ่งก่อสร้างโรมัน
คำว่า “สถาปัตยกรรมก่อนโรมาเนสก์” บางครั้งจะหมายถึงสถาปัตยกรรมในประเทศเยอรมนี สมัยคาโรแล็งเชียงและแบบอ็อตโตเนียน (Ottonian) ขณะที่ “สถาปัตยกรรมก่อนโรมาเนสก์ต้น” กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างในประเทศอิตาลี ประเทศสเปน และบางส่วนของ ประเทศฝรั่งเศสที่มีลักษณะโรมาเนสก์แต่ก่อนหน้าอิทธิพลของแอบบีคลูนี
ปัจจัยในการขยายตัวของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
ที่มา
วัดโรมาเนสก์ซานทคลิเมนต์ที่เมืองทอล (Taüll) ประเทศสเปน
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่ไปทั่วยุโรปในสมัยจักรวรรดิโรมัน ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์ศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะกล่าวว่าสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เป็นสถาปัตยกรรมที่ต่อเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมโรมัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นวิธีการสร้างสิ่งก่อสร้างของโรมันสูญหายไปเกือบหมดสิ้นจากทวีปยุโรปแล้วเมื่อมาถึงสมัยโรมาเนสก์ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปซึ่งเกือบจะไม่ใช้วิธีก่อสร้างแบบโรมันนอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ยิ่งทางสแกนดิเนเวียวิธีก่อสร้างแบบโรมันมิได้เป็นที่รู้จักเลย
การก่อสร้างลักษณะโรมันกับสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์จึงเกือบจะไม่มีความเกี่ยวพันกันกันใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีบาซิลิกาใหญ่ๆ ที่สร้างในสมัยโรมันที่ยังใช้กันอยู่ในสมัยนั้นเป็นหลักฐาน สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของสถาปนิกในยุคกลางมิใช่สิ่งก่อสร้างของโรมันแต่เป็นบาซิลิการูปแปดเหลี่ยมแบบไบแซนไทน์ -- บาซิลิกาซานวิทาเล -- ที่เมืองราเวนนา ประเทศอิตาลี ดังเช่น ชาเปลพาเลไทน์ที่มหาวิหารอาเคิน (Palatine Chapel) ที่สร้างโดย จักรพรรดิชาร์เลอมาญ เมื่อปี ค.ศ. 800[4]
ไม่นานหลังจากที่สร้างมหาวิหารอาเคินแล้วก็มีการสร้างแอบบีเซนต์กอลล์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แผนผังการก่อสร้างของสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังอยู่ครบถ้วน ที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในบริเวณสำนักสงฆ์ ตัวตึกที่ใหญ่ที่สุดคือตัววิหารซึ่งเป็นผังแบบเยอรมนี ที่มีมุขทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกซึ่งจะไม่มีทำกันในภูมิภาคอื่น อีกลักษณะหนึ่งของตัวสำนักสงฆ์คือมีสัดส่วนที่เรียบ ทรงสี่เหลี่ยมตรงจุดตัดระหว่างทางเดินกลางกับแขนกางเขนเป็นผังที่ใช้เป็นรากฐานในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นของสำนักสงฆ์ ลักษณะเดียวกันนี้จะพบที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮินเดสไฮม์ในเยอรมนี ที่สร้างราวร้อยปีต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1001 ถึงปี ค.ศ. 1030[4]
ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก็เกิดขึ้นทางด้านเหนือของประเทศอิตาลี บางส่วนของประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศสเปน ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสำนักสงฆ์คลูนี สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์แบบนี้เรียกว่า “โรมาเนสก์ยุคแรก” หรือ “โรมาเนสก์แบบลอมบาร์ด” ซึ่งจะมีลักษณะเด่นเช่นกำแพงหนา ไม่มีรูปปั้น แต่จะมีรายละเอียดตกแต่งสม่ำเสมอรอบโค้งที่เรียก “คาดลอมบาร์ด”
การเมือง
เมื่อวันคริสต์มาสปี ค.ศ. 800 จักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงทำพิธีสวมมงกุฏเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าชาร์เลอมาญก็ยังมีอำนาจปกครองยุโรปต่อมา แต่ต่อมายุโรปก็เริ่มมีการแบ่งแยกเป็นราชอาณาจักร และ แคว้นเล็กแคว้นน้อยมากขึ้นและบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งหรือบางครั้งก็รวมตัวกัน เช่นราชอาณาจักรเยอรมนีที่กลายมาเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือการรุกรานอังกฤษของดยุคแห่งนอร์มังดีผู้ต่อมาได้เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1066 เมื่อยึดครองอังกฤษได้พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ก็ทรงวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่งเพื่อปัองกันการรุกรานโดยการสร้างปราสาทและคริสต์ศาสนสถานหรือซ่อมแซมคริสต์ศาสนสถานที่มีอยู่แล้วทั่วเกาะอังกฤษ
ในสมัยนั้นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่สมัยโรมันในจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็เสื่อมโทรมลงไปมาก กรรมวิธีการก่อสร้างก็สูญหายไป แต่การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแบบโดมและการแกะสลักหินยังคงมีการทำกันอยู่ แต่ลวดลายวิวัฒนาการไปจากแบบโรมันไปเป็นแบบไบแซนไทน์ สถาปัตยกรรมที่มามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกสมัยนั้นก็คือวัดโดมที่คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งมีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างในบางเมืองที่มีการติดต่อค้าขายผ่านสงครามครูเสด สิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลไบแซนไทน์ที่กล่าวนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมหาวิหารซานมาร์โค ที่เวนิส หรือมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ในประเทศฝรั่งเศส[5]
ทวีปยุโรปในยุคกลางเป็นการปกครองระบบศักดินา (Feudalism) โดยกสิกรทำมาหากินกับที่ดินที่เป็นของขุนนางและยอมเป็นทหารเมื่อถูกเรียกตัว เป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับการพิทักษ์ ฉนั้นถ้าขุนนางจะไปสงครามก็ระดมพลจากผู้ที่ขึ้นอยู่ในการปกครอง การสงครามนี้มิใช่แต่สงครามท้องถิ่น แต่อาจจะเป็นสงครามที่ต้องเดินทางข้ามทวีปยุโรปไปรบยังตะวันออกกลาง เช่นสงครามครูเสด สงครามครูเสดระหว่างปี ค.ศ. 1095 ถึง ปี ค.ศ. 1270 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปๆ มาๆ ระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเคลื่อนย้ายก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือความรู้ทางช่าง โดยเฉพาะการก่อสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกราน และงานโลหะเพื่อทำอาวุธซึ่งแปลงมาเป็นการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมได้ การเคลื่อนไหวของผู้คนที่รวมทั้งชนชั้นปกครอง ขุนนาง บาทหลวง ช่างฝีมือ และเกษตรกร ทำให้การก่อสร้างในยุโรปมีลักษณะใกล้เคียงกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด ที่เรียกกันว่า “แบบโรมาเนสก์”
ศาสนา
ผังของแอบบีแซงต์กอลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 12 มีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานกันขึ้นเป็นอันมาก สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ยังคงตั้งอยู่และยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับการสักการะกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ รวมทั้งคริสต์ศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักกันเช่นวัดซานตามาเรียอินคอสเมดิน หรือหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิที่ฟลอเร็นซ์ และ บาซิลิกาซานเซโนที่เวโรนาในประเทศอิตาลี
ตัวอย่างของคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ในประเทศฝรั่งเศสก็ได้แก่แอบบีดามส์และแอบบีโอมส์ ที่มีชื่อเสียงที่เมืองค็อง นอกจากสำนักสงฆ์แล้วคริสต์ศาสนสถานประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นทางเหนือของฝรั่งเศสจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์
ที่ประเทศสเปนจะพบวัดโรมาเนสก์ได้จากสำนักสงฆ์สำหรับนักแสวงบุญที่สร้างตามรายทางไปซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา และตัวมหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาเองก็เป็นแบบโรมาเนสก์
ในอังกฤษมหาวิหาร 27 แห่งยกเว้น มหาวิหารซอลสบรี ซึ่งย้ายไปจากโอลด์เซรัม (Old Sarum) ล้วนแต่มีฐานเป็นแบบโรมาเนสก์ทั้งหมด และอีกหลายแห่งเช่น มหาวิหารแคนเตอร์บรีที่สร้างบนฐานแซ็กซอน[7][8] นอกจากมหาวิหารแล้ววัดประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นในอังกฤษส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
ในประเทศเยอรมนียังมีคริสต์ศาสนสถานและสำนักสงฆ์ที่สร้างแบบโรมาเนสก์อยู่บ้างตามลุ่มแม่น้ำไรน์เช่นที่ไมนซ์, เวิมส์ , สเปเยอร์ และแบมเบิร์ก โดยเฉพาะที่โคโลญที่ยังมีคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ขนาดใหญ่ในเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยที่โครงสร้างยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
เมื่อมีการเผยแพร่ลัทธิศาสนาเช่นลัทธิออกัสติเนียนหรือลัทธิเบ็นนาดิคตินไปทั่วยุโรปก็มีการสร้างวัดแบบโรมาเนสก์ตามไปเช่นที่ อังกฤษ ประเทศโปแลนด์ ประเทศฮังการี สกอตแลนด์ สแกนดิเนเวีย ประเทศเซอร์เบีย และ ซิซิลี และอีกหลายแห่งที่สร้างในอาณาจักรครูเสด [9][10]
สำนักสงฆ์
เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 นักบุญเบ็นเนดิคก่อตั้งสำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินขึ้น ซึ่งเป็นระบบสำนักสงฆ์ที่นักบวชมาอยู่ด้วยกันอย่างชุมชนอิสระและปฏิบัติตามกฎของนักบุญเบ็นเนดิคที่เขียนไว้ สำนักสงฆ์ของลัทธิเบ็นนาดิคตินเผยแพร่ไปตั้งแต่อิตาลีจนไปทั่วยุโรป และไปนิยมกันมากที่สุดในอังกฤษ จากลัทธิเบ็นนาดิคตินก็ตามด้วยลัทธิคลูนี ลัทธิซิสเตอร์เชียน ลัทธิคาร์ทูเซียน ลัทธิออกัสติเนียน ลัทธิที่เกี่ยวกับสงครามครูเสดเช่น ลัทธิเซนต์จอห์น และลัทธิอัศวินเทมพลาร์
สำนักสงฆ์บางครั้งก็จะเป็นมหาวิหาร หรือมหาวิหารบางมหาวิหารก็จะไม่ขึ้นกับสำนักสงฆ์แต่จะเป็นแบบเซ็คคิวลาร์ ที่ปกครองโดยแคนนอน มหาวิหารสมัยนั้นเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากในยุโรป พระสังฆราชหรือเจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์สำคัญๆ จะมีความเป็นอยู่อย่างเจ้านาย นอกจากนั้นแล้วสำนักสงฆ์เป็นสถานศึกษาสำคัญหลายสาขาไม่เฉพาะแต่ศาสนา เช่นสำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินอาจจะสอนวิชาศิลปะด้วย นอกจากนั้นยังเป็นที่คัดลอกหนังสือสมัยก่อนที่จะมีโรงพิมพ์ แต่ผู้ที่อยู่ภายนอกสำนักสงฆ์ส่วนใหญ่จะไม่มีการศึกษา[2]
ภูมิภาคเบอร์กันดีในประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของสำนักสงฆ์ วัดที่มีอำนาจเช่นแอบบีคลูนีเป็นวัดที่สำคัญในการวางรากฐานของการออกแบบสำนักสงฆ์อื่นๆ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของคลูนีเอง แต่ตัวสำนักสงฆ์คลูนีในปัจจุบันเกือบจะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดใดเหลืออยู่ “คลูนี 2” ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 963 เป็นต้นมาก็ถูกทำลายไปหมด แต่ “คลูนี 3” ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1088 ถึงปี ค.ศ. 1130 ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปจนกระทั่งมาถึงสมัยเรอเนซองส์ มหาวิหารที่ยังเป็นรูปทรงโรมาเนสก์เดิมที่เหลืออยู่คือบาซิลิกาแซงต์แซร์แนง, ตูลูสในประเทศฝรั่งเศสที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1080 ถึงปี ค.ศ. 1120 แสดงให้เห็นลักษณะสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ที่ดูเทอะทะและใช้โค้งตกแต่งง่ายๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า[4]
การแสวงบุญ และ สงครามครูเสด
สงครามครูเสดเป็นสงครามศาสนาระหว่างผู้นับถือคริสต์ศาสนาจากยุโรป และ ผู้นับถือศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง เนื่องจากผู้นับถือคริสต์ศาสนาต้องการยึดครองกรุงเยรูซาเลมซึ่งถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา สงครามครูเสดทำให้คริสต์ศาสนิกชนเพิ่มความตื่นตัวทางด้านศาสนากันมากขึ้น โดยมีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เจ้านายจากยุโรปที่กลับมาจากสงครามโดยปลอดภัยก็อาจจะสร้างวัดฉลองหรือขยายวัดเดิม หรือถ้าไม่กลับมาคนที่อยู่ข้างหลังก็อาจจะสร้างวัดให้เป็นอนุสรณ์
ผลพลอยได้จากสงครามครูเสดอีกอย่างหนึ่งมีการนำวัตถุมงคลของนักบุญหรืออัครสาวกกลับมาด้วย หรือวัดหลายวัดเช่นมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ มีวัตถุมงคลของวัดเอง ขณะที่มหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลากล่าวว่าเป็นเจ้าของวัตถุมงคลของอัครสาวก ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาจึงกลายมาเป็นจุดหมายของการแสวงบุญที่สำคัญที่สุดในยุโรป นักแสวงบุญที่เดินทางไปแสวงบุญที่ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา บางครั้งก็เดินเท้าเปล่าเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกผิด เส้นทางแสวงบุญสายนี้เรียกว่า “เส้นทางเซนต์เจมส์” (Way of Saint James) ซึ่งเริ่มจากหลายประเทศทางตอนเหนือของยุโรปมาจนไปสิ้นสุดลงที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนที่เป็นที่ตั้งของเมืองซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา
“ถนนเซ็นต์เจมส์” มีด้วยกันสี่สายที่ผ่านเมืองต่างๆ เช่น ชูมิเยร์ (Jumieges) , ปารีส, เวเซอเล (Vezelay) , คลูนี, อาร์ลส์ (Arles) ในประเทศฝรั่งเศส และ แซงต์กอล (St. Gall) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนมารวมกันที่เป็นสองสายที่เทือกเขาพิเรนีส และในที่สุดก็รวมเป็นสายเดียวเมื่อเข้าสู่ประเทศสเปน สำนักสงฆ์ที่อยู่บน “ถนนเซนต์เจมส์” เช่นมอยซัค (Moissac) , ทูลูส, คองค์ส, ลิมอชส์ หรือเบอร์โยส ก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายและการบริการนักแสวงบุญ วัดเช่นวัดที่แซงต์เบนัวท์ดูโซลท์ (Saint-Benoît-du-Sault) เป็นตัวอย่างของวัดที่สร้างเพื่อนักแสวงบุญบน“ถนนเซนต์เจมส์”
ลักษณะสถาปัตยกรรม
ลักษณะโดยทั่วไปที่เราเข้าใจกันของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาหรือที่อยู่อาศัยคือจะมีลักษณะแน่นหนาเทอะทะ และแข็งแรง ซึ่งตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมคลาสสิคของกรีกและโรมัน และสถาปัตยกรรมกอธิคที่จะเพรียวกว่าในสมัยต่อมา โครงสร้างที่รับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นเสา เสาอิง และซุ้มโค้ง สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์คล้ายกับสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ตรงที่จะใช้กับกำแพง หรือช่วงกำแพงที่เรียกว่าเสาอิง หรือเสาสี่เหลี่ยม (Pier) เป็นสิ่งสำคัญในการรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้าง
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบ่งเป็นสองสมัย, “โรมาเนสก์สมัยต้น” และ “โรมาเนสก์สมัยสอง” ความแตกต่างของสองสมัยอยู่ที่ความชำนาญในการก่อสร้าง “โรมาเนสก์สมัยต้น” จะใช้ “กำแพงวัสดุ,” หน้าต่างแคบ, และหลังคาที่ยังไม่โค้ง “โรมาเนสก์สมัยสอง” ต่อมาฝีมือจะดีขี้นและมีใช้เพดานโค้งที่โค้งขึ้นรวมทั้งมีการตกแต่งหน้าหินเพิ่มขึ้น
ก |
ซานอัมโบรจิโอ (Sant'Ambrogio) ที่มิ ลาน ประเทศอิตาลี สร้างด้วยอิฐ
มหาวิหารไมนซ (Mainz Cathedral) เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่เป็นสามชั้น
เสากลองในห้องใต้ดินที่มหาวิหารสเปเยอร์ในประเทศเยอรมนี
การใช้การตกแต่งหินและเพดานโค้งแรกที่มหาวิหารเดอแรม ที่อังกฤษรูปโดย Nina Aldin Thune
กำแพง
กำแพงของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์มักจะหนามากและมีหน้าต่างหรือประตูแคบๆ เพียงไม่กี่ช่อง กำแพงจะเป็นสองชั้นภายในจุด้วยขยะสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “กำแพงวัสดุ”
วัสดุการก่อสร้างจะแตกต่างกันแล้วแต่ละท้องถิ่น ในประเทศอิตาลี โปแลนด์ เยอรมนี และบางส่วนของเนเธอร์แลนด์มักจะสร้างด้วยอิฐ บริเวณอื่นๆ จะใช้ หินแกรนิต หินปูน หรือ หินเหล็กไฟ[1] หินที่ใช้จะตัดเป็นก้อนไม่เท่ากันเชื่อมต่อกันด้วยปูน การตกแต่งหน้าหินยังไม่ใช่ลักษณะเด่นของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์โดยเฉพาะสมัยโรมาเนสก์ต้น แต่มาปรากฏภายหลังเมื่อมีการใช้หินปูนเป็นสิ่งก่อสร้าง[11]
เสา
เสาสี่เหลี่ยม เสาสี่เหลี่ยม หรือเสาอิง (Pier) ในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ใช้สำหรับรับซุ้มโค้ง จะทำจากปูนเป็นสี่เหลี่ยมบางส่วนและมีบัวหัวเสาตรงบริเวณที่เริ่มโค้ง บางครั้งเสาก็จะมีเสาแนบ[2] (Shaft) ประกบและมีบัวที่ฐาน แม้ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมแต่บางครั้งจะเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนโดยการใช้ตัวเสาหลักที่กลวงเป็นตัวรับซุ้มโค้ง หรือใช้กลุ่มเสาแนบประกบกันจนไปถึงซุ้มโค้ง บางครั้งเสาอิงก็ใช้สำหรับรับซุ้มโค้งสองซุ้มใหญ่ตัดกันเช่นภายใต้จุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขน และมักจะเป็นลักษณะไขว้เป็นฉากต่อกัน |
วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮิลเดสไฮม์ใช้เสาสี่เหลี่ยมสลับกับเสากลม
เสาคู่เช่นที่ดูราทอนใกล้เมืองเซปุลเวดาในประเทศสเปนเป็นแบบหนึ่งที่ใช้กันในระเบียงคดในสเปน อิตาลีและทางใต้ของฝรั่งเศส
มุขของมหาวิหาร Seu d'Urgell ที่สเปน มึหน้าต่างกุหลาบ และระเบียงรอบ รูปโดย K.Jeaves
ประตูโค้งครึงวงกลมตกแต่งด้วยโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกสลักเหนือประตูทำให้ประตูโค้งกลายเป็นประตูสี่เหลี่ยม
ภายในวัดเซนต์เกอทรูด (St Gertrude) นิเวลลส์ ประเทศเบลเยี่ยมมีเพดานแบบ king post
เสากลม
...เสาใช้แล้ว ในสมัยนี้ในอิตาลีจะมีการไปนำเอาเสาโรมันโบราณมาใช้ภายในสิ่งก่อสร้างโรมาเนสก์ เสาที่ชนิดที่ทนทานที่สุดก็จะเป็นเสาหินอ่อนเนื้อขนาน แต่ส่วนใหญ่ที่มีจะเป็นเนี้อตั้งและมีหลายสี บางครั้งก็จะนำเอาหัวเสาแบบโรมันของเดิมมาใช้ด้วยโดยเฉพาะหัวเสาแบบโครินเธียน[3] หรือแบบ “โรมันผสม”[9] สิ่งก่อสร้างบางแห่งเช่นเอเทรียมที่บาซิลิกาซานเคลเมนเตที่กรุงโรมจะประกอบด้วยเสาหลายชนิด บนหัวเสาเตี้ยก็ตั้งหัวเสาใหญ่ บนหัวเสาสูงก็ตั้งหัวเสาเล็กลงหน่อยเพื่อปรับระดับให้เท่ากัน[4] ความยืดหยุ่นในการก่อสร้างเช่นนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยสถาปนิกโรมันหรือกอธิค การเอาเสาโรมันมาใช้ในประเทศฝรั่งเศสก็มีบ้างแต่น้อย ส่วนในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ การสร้างเสาใหญ่ก็จะตัดจากหินก้อนเดียวทั้งเสา และวางสลับกับเสาอิงใหญ่[9]
...เสากลอง การใช้เสาในสมัยนี้จะเป็นเสาใหญ่หนักเพราะใช้รับน้ำหนักกำแพงหนาและหลังคาที่หนักในบางครั้ง วิธีก่อสร้างเสาขนาดใหญ่เช่นนี้มักจะตัดหินเป็นแว่นๆที่เรียกว่า “กลอง” แล้ววางซ้อนกัน เช่นเสาในห้องใต้ดินที่มหาวิหารสเปเยอร์ในประเทศเยอรมนี[9] วิธีสร้างเดียวกันนี้ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคเช่นที่ตึกแพนธีอันที่กรุงโรม
...เสากลวง ถ้าต้องใช้เสาใหญ่มากๆ เช่นที่มหาวิหารเดอแรมที่อังกฤษก็สร้างโดยใช้ปูนก่อกลวงภายในเสาก็อัดด้วยเศษวัสดุก่อสร้าง เสาลักษณะนี้บางทีก็จะมีการตกแต่ง
หัวเสา การแกะหัวเสาสมัยโรมาเนสก์ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากการแกะหัวเสาตกแต่งด้วยไบไม้แบบโครินเธียนของโรมัน ฝีมือการแกะก็ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดเท่าใดกับต้นตอเช่นการแกะหัวเสาในอิตาลีที่มหาวิหารปิซาหรือทางใต้ของฝรั่งเศสก็จะคล้ายต้นตำหรับมากกว่างานที่พบในอังกฤษเป็นต้น
ตรงฐานของหัวเสาแบบโครินเธียนจะกลมเพราะใช้วางบนเสากลม แต่ตอนบนจะเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อรับผนังหรือซุ้มโค้ง หัวเสาโรมาเนสก์ก็ยังใช้ลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งทำโดยการตัดหินเป็นสี่เหลี่ยมและปาดมุมล่างสึ่มุมออก ฉะนั้นด้านบนจึงยังคงเป็นสี่เหลี่ยมแต่ด้านล่างจะเป็นแปดเหลี่ยมจากการปาดมุมออก เช่นที่พบที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮิลเดสไฮม์ (St. Michael's Hildesheim)
การตัดเช่นนี้ทำให้ง่ายต่อการแกะตกแต่งผิวหินเช่นใบไม้หรือรูปอื่นๆ ทางตอนเหนือของยุโรปการแกะใบไม้บนหัวเสาจะคล้ายกับที่เห็นในหนังสือวิจิตรมากว่าจะเป็นหัวเสาแบบคลาสสิค การแกะหัวเสาในบางส่วนของฝรั่งเศสและอิตาลีจะไปทางศิลปะไบแซนไทน์ แต่การแกะหัวเสาเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ นอกเหนือไปจากไบไม้เป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ บางหัวเสาก็แกะจากตำนานจากคัมภีร์ไบเบิลหรือแกะเป็นรูปคนหรือสัตว์อัปลักษณ์ หรือจากจินตนาการ หรือแกะเป็นตำนานของนักบุญในท้องถิ่น[5]
บางครั้งหัวเสาทรงสี่เหลี่ยมปาดอย่างที่กล่าวก็จะถูกบีบลงมาเหลือเป็นเพียงแป้นโดยเฉพาะเมื่อใช้กับเสาปูนใหญ่ๆ หรือ เสาใหญ่ที่ใช้สลับกับเสาอิงเช่นที่พบที่มหาวิหารเดอแรม เป็นต้น
การใช้เสาในการแบ่งช่องว่างภายในตัวอาคาร
การแบ่งช่องว่างภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นวัดหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ โรมาเนสก์จะใช้ซุ้มโค้งสลับกับเสาต่างๆ เป็นเครื่องแบ่ง ลักษณะที่ง่ายที่สุดคือการใช้เสาระหว่างช่วง ที่ชูเมจส์ (Jumieges) ใช้เสากลองสูงระหว่างเสาสี่เหลี่ยม แต่ละเสาสี่เหลี่ยมก็จะรับด้วยเสาที่เตี้ยกว่า หรือที่มหาวิหารเดอแรมที่ใช้บัวและเสาแนบกับเสาสี่เหลี่ยมที่ตกแต่งอย่างสวยงาม และเสาปูนที่ใหญ่โต แต่ละเสาก็ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิต
บางครั้งความซับซ้อนของการแบ่งช่องว่างมิได้อยู่ที่การใช้เสาชนิดต่างๆ แต่อยู่ที่ตัวเสาชนิดเดียวกันที่แต่ละอันจะก็แตกต่างจากกันเช่นที่วัดซานอัมโบรจิโอที่มิลานที่ลักษณะเพดานโค้งเป็นตัวกำกับในการบ่งลักษณะของเสาสี่เหลี่ยมสลับที่ต้องรองรับน้ำหนักมากกว่าทำให้เสาสี่เหลี่ยมต้องสร้างให้ใหญ่กว่า
เพดานไม้ตกแต่งที่วัดซานมินิอาโต อัล มอนเต ที่ฟลอเรนซ์
การใช้โค้งหน้าต่างและประตู
โค้งในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์เป็นครึ่งวงกลมนอกจากบางแห่งที่ยกเว้นเช่นที่มหาวิหารแซงต์ลาซาร์แห่งโอทุงในประเทศฝรั่งเศส และมหาวิหารมอนริอาล ที่ซิซิลี แต่เป็นส่วนน้อย ทั้งสองแห่งใช้โค้งแหลม เชื่อกันว่าการใช้โค้งครึ่งวงกลมมีอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมอิสลาม การวางหน้าต่างจะมีขื่อเหนือหน้าต่าง ถ้าหน้าต่างใหญ่ก็จะเป็นหน้าต่างโค้ง ประตูก็เช่นกันจะเป็นโค้งครึ่งวงกลมด้านบน นอกจากประตูที่มีเสี้ยวครึ่งวงกลม หรือเสี้ยวพระจันทร์ (lunette) ตกแต่งเหนือประตูที่ทำให้ประตูกลายเป็นสี่เหลี่ยม
เพดานและหลังคา
หลังคาของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ในสมัยโรมาเนสก์จะเป็นไม้ลักษณะที่ใช้โครงรับ สำหรับวัดทางเดินข้างจะเป็นหลังคาโค้งแต่ทางเดินกลางจะเป็นหลังคาไม้เช่นที่มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ และมหาวิหารอีลี การใช้หลังคาไม้แบบแสดงโครงนิยมกันในอิตาลี และบางครั้งก็จะตกแต่งขื่อคานอย่างสวยงามเช่นที่บาซิลิกามินิอาโตอัลมอนเตที่ฟลอเรนซ์ เพดานที่ทำจากหินหรืออิฐมีด้วยกันหลายแบบและแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตามสมัยจนมาถึงสมัยกอธิค
...เพดานโค้งประทุน (Barrel vault) เพดานโค้งเป็นลักษณะเพดานที่ง่ายที่สุดโดยใช้โค้งจากเพดานด้านหนึ่งไปสุดอีกด้านหนึ่งเช่นจากด้านตะวันตกของวัดไปยังด้านตะวันออกเหนือทางเดินกลาง ตัวอย่างที่สำคัญที่ยังเหลืออยู่พร้อมด้วยจิตรกรรมฝาผนังคือเพดานที่แอบบีแซงต์-ซาแว็ง-ซูร์-การ์ตองป์ ในประเทศฝรั่งเศสทิ่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่หลังคาแบบนี้ต้องใช้กำแพงหนาที่มีหน้าต่างแคบ
...เพดานโค้งประทุนซ้อน เพดานโค้งประทุนซ้อน (Groin vault หรือ double barrel vault หรือ cross vault) เป็นเพดานที่นิยมใช้มากในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ เหมาะกับเพดานที่ไม่ใหญ่มากในการก่อสร้างสมัยต่อมาโดยเฉพาะการก่อสร้างห้องใต้ดินหรือทางเดินข้าง เพดานโค้งประทุนซ้อนส่วนใหญ่จะเป็นสี่เหลี่ยมและเป็นเพดานโค้งประทุนสองอันตัดฉากกัน เพดานโค้งประทุนซ้อนต่างจากเพดานโค้งสันตรงที่เพดานเองเป็นตัวโครงสร้างทั้งหมด และมักจะแบ่งเป็นส่วนๆ ด้วยโค้งสันต่ำเช่นที่มหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลลา ที่แอบบีเวเซอเลสันบางสันจะเป็นสี่เหลี่ยมยื่นออกมาและสลับสี
...เพดานโค้งสัน เพดานโค้งสัน (Rib vault) เป็นเพดานที่มีสันแล่นตลอดแนวเพดานตัดกันแต่ละช่วงจะเป็นสันทะแยง ในเพดานโค้งสันสันจะเป็นตัวโครงสร้างและช่องว่างระหว่างสันจะสร้างโดยวัสดุที่เบากว่าที่ไม่ต้องใช้เป็นโครงสร้างได้ แต่เพราะเพดานของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์มักจะเป็นแบบครึ่งวงกลม ปัญหาของโครงสร้างและการออกแบบของเพดานโค้งอยู่ที่ส่วนทะแยงจะยาวกว่าส่วนขวาง ซึ่งสถาปนิกโรมาเนสแก้ด้วยกันหลายวิธีๆ หนี่งก็คือใช้จุดที่สูงที่สุดเป็นจุดที่สันมาพบกันและช่วงระหว่างสันก็โค้งขึ้นไปหาจุดที่สูงที่สุดเป็นลักษณะคล้ายโดม วิธีแก้นี้ใช้ในอิตาลีที่วัดซานมิเคเล ที่ปาเวีย และซานอัมโบรจิโอที่มิลาน อึกวิธีหนึ่งคือเอียงสันส่วนขวางหรือกดสันทะแยงเพื่อให้เส้นกลางขนานแบบเพดานโค้งประทุน วิธีนี้ใช้ที่แอบบีดามส์และแอบบีโอมส์ที่เมืองค็องในประเทศฝรั่งเศส
...เพดานโค้งแหลม (Pointed arched vault) เมื่อปลายสมัยโรมาเนสก์ก็มีการแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กำหนดความสูงของสันทะแยงและสันขวางของสันบนเพดาน โดยการใช้โค้งที่มีรัศมีเท่ากันทั้งทางทะแยงและทางขวาง ซึ่งเห็นได้จากเพดานโค้งแหลมที่มหาวิหารเดอแรมในอังกฤษที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1128 มหาวิหารเดอแรมเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับสิ่งก่อสร้างสมัยโรมาเนสก์แต่กระนั้นสถาปนิกก็ยังทดลองวิธีใหม่ๆ ในการก่อสร้างซึ่งต่อมามามีอิทธิพลต่อวิธีก่อสร้างของสถาปัตยกรรมกอธิคที่ตามมา โครงสร้างอีกอย่างหนี่งที่มหาวิหารเดอแรมริเริ่มใช้คือค้ำยันแบบปีกซึ่งเป็นวิธีก่อสร้างแบบใหม่และมาอิทธิพลต่อมาในสมัยกอธิคเช่นกัน แต่ค้ำยันของเดอแรมซ่อนอยู่ใต้ทางเดินข้างและหลังคา เพดานโค้งแหลมแรกที่พบในฝรั่งเศสคือเพดานตรงทางเข้าแอบบีเวซาเลย์ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1130
สถาปัตยกรรมกอธิค
สถาปัตยกรรมกอธิค (อังกฤษ: Gothic architecture) เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองระหว่างยุคกลางตอนกลางและยุคกลางตอนปลายที่วิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และตามด้วยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยา สถาปัตยกรรมกอธิคเกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 16 โดยเริ่มขึ้นในฝรั่งเศสก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังอังกฤษ และต่อไปยังยุโรปโดยทั่วไป
สถาปัตยกรรมกอธิคเริ่มขึ้นในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และรุ่งเรืองต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในระยะแรก สถาปัตยกรรมทรงนี้เรียกกันว่า "แบบฝรั่งเศส" (Opus Francigenum) คำว่า "กอธิค" มาเริ่มใช้กันในตอนปลายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในทางที่เป็นการหมิ่นลักษณะสถาปัตยกรรม ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคที่เป็นที่รู้จักกันดีคือการใช้โค้งแหลม เพดานสัน และ ค้ำยันแบบปีก
สถาปัตยกรรมกอธิคเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมใช้ในการสร้างมหาวิหาร, แอบบี และ คริสต์ศาสนสถานอื่นๆ ของยุโรป นอกจากนั้นก็ยังใช้ในกาสร้างปราสาท, วัง, ตึกเทศบาลเมือง, มหาวิทยาลัย และบางครั้งก็สำหรับที่อยู่อาศัยแต่ก็ไม่มากนัก สถาปัตยกรรมกอธิคที่ใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานและมหาวิหาร และในสิ่งก่อสร้างบางสิ่งของฆราวาสที่เป็นการแสดงลักษณะการก่อสร้างอันมีพลัง ลักษณะรูปทรงของสิ่งก่อสร้างแบบกอธิคเป็นลักษณะที่ก่อให้เกิดความสะเทือนทางอารมณ์ ซึ่งทำให้เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศาสนา และสิ่งก่อสร้างหลายแห่งก็มีคุณค่าสูงพอที่จะได้รับการมอบฐานะให้เป็นมรดกโลก
ในอังกฤษในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบสถาปัตยกรรมกอธิค ที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ที่เผยแพร่ไปยังยุโรป ที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่นิยมใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานและมหาวิทยาลัย ความนิยมสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคดำเนินต่อมาจนถึง คริสต์ศตวรรษที่ 20
สถาปัตยกรรมกอธิคพัฒนาขึ้นจากปัญหาทางโครงสร้าง โบสถ์ในสมัยนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาใช้โครงสร้างหลังคาโค้งแหลม (point vault) แรงกดของโครงสร้างหลังคาโค้งแหลม จึงพุ่งเป็นเส้นดิ่งมากกว่าโค้งครึ่งวงกลมและถ่ายน้ำหนักจากหลังคาโค้งไปยังเสา (pier) ที่รองรับซึ่งจะสูงชะลูดและมีส่วนค้ำยันผนังเป็นครีบอยู่ภายนอกอาคาร ที่เรียกว่า ผนังครีบลอย ซึ่งตั้งต้นจากยอดของเสาด้านในเอียงมาจดผนังครีบริมนอก ช่วยรับน้ำหนักของโค้งอีกด้วย ส่วนน้ำหนักที่พุ่งออกมาจากด้านข้างของโค้งตรงส่วนข้างของโบสถ์อาศัยผนังครีบด้านนอกรับไว้ ช่วงแต่ละช่วงจึงมีระยะห่างไม่ได้มาก ดังนั้น ส่วนสัดของช่องระหว่างเสาและรูปทรงโบสถ์สมัยกอธิคจะสูงชะลูดและแคบ และเนื่องจากไม่ได้ใช้ผนังรับน้ำหนักอีกต่อไป จึงสามารถเจาะช่องหน้าต่างซึ่งมักทำเป็นรูปวงกลมมีลวดลาย และประดับด้วยกระจกสีที่เรียกว่า หน้าต่างกุหลาบ ได้มากขึ้น
ทางด้านจังหวะในงานสถาปัตยกรรม ในสมัยแรก ๆ มักใช้จังหวะตายตัวและซ้ำ ๆ กัน ภายในอาคารมักใช้เสารายเป็นแนว เพื่อดึงความสนใจไปเพียงที่แห่งเดียวคือ แท่นบูชา แต่ต่อมาก็เปลี่ยนแปลงไปจะใช้จังหวะที่เป็นอิสระมากขึ้น
คำว่า "กอธิค"
ด้านหน้ามหาวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ตร์
คำว่า "กอธิค" เมื่อกล่าวถึงสถาปัตยกรรมมิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับชาวกอธในประวัติศาสตร์ แต่เป็นคำที่เป็นเชิงดูหมิ่นถึงลักษณะสถาปัตยกรรม ที่นำมาใช้ราวคริสต์ทศวรรษ 1530 โดยจอร์โจ วาซารีในการบรรยายวัฒนธรรมที่ถือว่าหยาบและป่าเถื่อน[1] ในสมัยที่วาซารีเขียนอิตาลีกำลังอยู่ในสมัยของความรุ่งเรืองทางสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคที่ถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นสูง ในที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาซึ่งถือว่าเป็นจุดสูงสุดทางสถาปัตยกรรมและเป็นยุคทองแห่งการแสวงหาความรู้
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่ในที่สุดก็เผยแพร่ไปทั่วยุโรปที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่างๆ ของวัฒนธรรมก่อนหน้าการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ เน้นความสนใจในทางศาสนา และมีความเห็นว่าสมัยก่อนหน้านั้นเป็นสมัยของความงมงายและความขาดความรู้ ซึ่งเป็นที่มาของบทเขียนของฟรองซัวส์ ราเบอเลส์ (François Rabelais) นักเขียนชาวฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ใน "Gargantua and Pantagruel" ซึ่งเป็นนวนิยายที่กล่าวถึงแอบบีเทเลเม ที่บนประตูทางเข้ามีคำจารึกว่า "เทวสถานนี้ไม่อนุญาตสำหรับผู้เสรแสร้ง, ผู้ลำเอียง..." ที่เป็นนัยยะถึง "กอธ" และ "และออสโตรกอธ" ที่ถือว่าเป็นคนป่าเถื่อนเข้า[2]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 การใช้คำว่า "กอธ" ในอังกฤษเท่ากับการใช้คำว่า "แวนดัล" ซึ่งเป็นกลุ่มชนเชื้อสายเจอร์มานิคผู้นิยมการทำลายทรัพย์สินและสิ่งของ และกลายมาเป็นคำที่ใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมของทางตอนเหนือของยุโรปก่อนที่จะมาฟื้นฟูลักษณะสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคกันขึ้น
จากข้อเขียนในจดหมายที่เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในนิตยสาร Notes and Queries ในลอนดอนกล่าวว่า:
ไม่เป็นสิ่งที่ต้องสงสัยเลยว่าคำว่า "กอธิค" เป็นคำที่ใช้บรรยายลักษณะการก่อสร้างศาสนสถานในเชิงดูหมิ่น โดยผู้ที่มีความทเยอทยานในการเลียนแบบและฟื้นฟูสถาปัตยกรรมแบบกรีก หลังจากการฟื้นฟูวรรณกรรมคลาสสิคแล้ว นอกจากนั้นผู้มีอิทธิพลเช่นคริสโตเฟอร์ เร็นก็ยังมีส่วนช่วยในการลดคุณค่าของลักษณะสถาปัตยกรรมของยุคกลาง ซึ่งทำให้คำว่ากอธิคมามีความหมายเช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่หยาบและป่าเถื่อน |
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1710 สถาบันสถาปัตยกรรมก็ประชุมกันในปารีส ในบรรดาหัวข้อที่ถกเถียงกันที่เป็นที่สังเกตของที่ประชุมคือแนวโน้มของความนิยมในการใช้โค้งนูนโค้งเว้า "ในการก่อสร้างส่วนที่ปกคลุมตอนปลายของปล่องไฟ ซึ่งเป็นลักษณะที่คณะที่ประชุมไม่เห็นด้วยและถือว่าเป็นแบบที่ไม่สมบูรณ์ และเป็นลักษณะที่ออกไปทางกอธิค"[5]
อิทธิพลต่างๆ ที่มีต่อลักษณะสถาปัตยกรรม
ภูมิภาค
ในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ยุโรปก็แบ่งออกเป็นนครรัฐและราชอาณาจักรต่างๆ บริเวณที่รวมทั้งในปัจจุบันที่เป็นเยอรมนี, เนเธอรแลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, ทางตะวันออกของฝรั่งเศส และส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของอิตาลียกเว้นเวนิสก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และประมุขของท้องถิ่นก็ยังคงมีอำนาจพอสมควร ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ สเปน และ ซิซิลี ต่างก็เป็นราชอาณาจักรอิสระ รวมทั้งอังกฤษที่ปกครองโดยกษัตริย์แพลนทาเจเน็ทผู้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสในขณะเดียวกันด้วย นอร์เวย์มาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ขณะที่ประเทศสแกนดิเนเวียอื่นๆ และโปแลนด์อยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมนี กษัตริย์อองชูเป็นผู้นำวัฒธรรมกอธิคไปเผยแพร่ยังอิตาลีใต้
ยุโรปโดยทั่วไปในช่วงนั้นอยู่ในระหว่างความรุ่งเรืองทางการค้าที่เป็นผลมาจากความเจริญของเมืองต่างๆ เยอรมนีและกลุ่มประเทศต่ำมีเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองที่รุ่งเรืองมั่งคั่งที่แข่งขันกันอย่างสันติ และบางกลุ่มก็มารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเช่นกลุ่มสันนิบาตฮันเซียติก การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นของเมืองก็กลายมาเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมือง แต่ทางอังกฤษและฝรั่งเศสยังคงอยู่ในระบบการปกครองแบบศักดินาซึ่งทำให้สถาปัตยกรรมยังเป็นการเน้นการก่อสร้างสำหรับผู้ครองอาณาจักร แทนที่จะเป็นตึกเทศบาลเมืองหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นของประชาชนผู้มั่งคั่งในเมือง
วัสดุ
ปัจจัยอื่นที่เป็นอิทธิพลของท้องถิ่นก็คือวัสดุก่อสร้าง ในฝรั่งเศสหินปูนเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไปหลายระดับ ตั้งแต่ชนิดที่ละเอียดในบริเวณคอง (Caen) ที่เป็นที่นิยมของประติมากรในการใช้แกะสลัก อังกฤษมีหินปูนแต่หยาบกว่า และหินทรายสีแดง และ หินอ่อนเพอร์เบ็คสีเขียวคร่ำที่มักจะใช้ในการตกแต่ง
ทางตอนเหนือของเยอรมนี, เนเธอรแลนด์, สแกนดิเนเวีย, ประเทศในบอลติค และ ทางตอนเหนือของโปแลนด์ก็มีหินแต่การก่อสร้างนิยมการใช้อิฐซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมกอธิคอิฐ (Backsteingotik) และมักจะเป็นนัยยะถึงกลุ่มสันนิบาตฮันเซียติก
ในอิตาลีหินใช้ในการก่อสร้างป้อมปราการ แต่อิฐเป็นที่นิยมในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆ นอกจากนั้นอิตาลีก็ยังมีหินอ่อนเป็นจำนวนมากและหลายแบบ ด้านหน้าของสิ่งก่อสร้างจึงมักจะทำด้วยหินอ่อนบนด้านในที่เป็นอิฐ ฉะนั้นบางครั้งจึงพบสิ่งก่อสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จที่ด้านหน้ายังคงเป็นอิฐที่รอการต่อเติมให้เป็นหินอ่อนในเวลาต่อมา
การใช้ไม้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรม เช่นในการก่อสร้างเพดานที่ใช้คานแฮมเมอร์ (hammer-beam) อันวิจิตรของอังกฤษเป็นการก่อสร้างที่มีผลมาจากการขาดไม้ที่ตรงและยาวในตอนปลายของยุคกลาง เมื่อป่าถูกถางไปสร้างเรือและเพดานขนาดใหญ่
ศาสนา
ในสมัยยุคกลางตอนต้นยุคกลางตอนต้นเป็นสมัยของความรุ่งเรืองของสำนักสงฆ์นิกายต่างๆ ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นและแพร่ขยายไปทั่วยุโรป ลัทธิที่นำหน้ากว่าลัทธิอื่นคือลัทธิเบ็นนาดิคตินผู้สร้างแอบบีขนาดใหญ่มากมายกว่าลัทธิอื่นใดในอังกฤษ ลัทธิเบ็นนาดิคตินมักจะสร้างแอบบีภายในตัวเมือง ไม่เหมือนกับลัทธิซิสเตอร์เชียนที่มักจะสร้างในชนบท ลัทธิซิสเตอร์เชียนและลัทธิคลูนีจะเป็นลัทธิที่แพร่หลายในฝรั่งเศส สำนักสงฆ์ที่คลูนีสร้างกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่ใช้เป็นสำนักสงฆ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนที่กลายมามีอิทธิพลต่อการก่อสร้างกลุ่มสิ่งก่อสร้างสำหรับสำนักสงฆ์เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 นักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิก็ตั้งลัทธิฟรานซิสกัน หรือที่เรียกว่า "พระเทา" (Grey Friars) สาขาที่แยกออกมาลัทธิโดมินิกันที่ก่อตั้งโดยนักบุญโดเมนิโคในตูลูส และ โบโลนยามีอิทธิพลต่อการก่อสร้างสถาปัตยกรรมกอธิคในอิตาลี
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมกอธิควิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่แล้วการเปลี่ยนแปลงมิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่นที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของฟลอเรนซ์ไปเป็นสถาปัตยกรรมคลาสสิคโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือ สถาปัตยกรรมนอร์มันที่เป็นคำที่ใช้ในอังกฤษเพราะความสัมพันธ์กับการรุกรานของนอร์มันเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่วางรากฐานของรูปทรงพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมที่ค่อยมาเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดสมัยกลาง โครงสร้างพื้นฐานของมหาวิหาร, วัดประจำท้องถิ่น, สำนักสงฆ์, ปราสาท, วัง, โถงใหญ่ (great hall) และ เรือนเฝ้าประตูต่างก็ได้รับการวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการสร้างเพดานโค้งสัน, กำแพงครีบ, เสากลุ่ม (clustered columns), ยอดแหลม (spires), ประตูแกะสลัก[10]
ความเปลี่ยนแปลงสิ่งเดียวที่มีความสำคัญต่อการแยกระหว่างลักษณะของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับกอธิคคือการการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ผนังอันหนาเทอะทะที่มีช่องเปิดแคบๆ เป็นระยะๆ ไปเป็นลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยแสง ที่ใช้ลักษณะเด่นของเพดานโค้งแหลม การใช้เพดานโค้งแหลมทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการก่อสร้างหลายอย่างที่ได้ทำการทดลองกันตามที่ต่างจนเมื่อประสบผลสำเร็จแล้วจึงได้ทำการเผยแพร่ให้ใช้ได้โดยทั่วไป การพัฒนาก็เพื่อการตอบสนองความต้องการทางโครงร่าง, ความงดงาม และความต้องการทางปรัชญา ความเปลี่ยนแปลงก็รวมทั้งกำแพงปีกนก, ยอดแหลมรายบนหลังคา, หน้าต่างตกแต่งด้วยซี่หินเป็นลวดลาย
อิทธิพลจากตะวันออก
การสร้างเพดานแบบที่เรียกว่า 'pitched brick' ที่สามารถสร้างได้โดยไม่ต้องมีศูนย์กลางรับอาจจะทำมาตั้งแต่สมัยตะวันออกใกล้โบราณมาจนถึงสองร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช ตัวอย่างที่เก่าที่สุดของโค้งแหลมที่ทำด้วยปูนพบในสมัยสถาปัตยกรรมของปลายโรมัน และ จักรวรรดิซาสซานิยะห์ โดยเฉพาะในการสร้างคริสต์ศาสนสถานในสมัยแรกในซีเรีย และเมโสโปเตเมีย แต่บางครั้งก็พบในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาด้วยเช่นสะพานคารามาการา หลังจากการพิชิตดินแดนของมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 7 การก่อสร้างลักษณะนี้ก็กลายมาเป็นลักษณะมาตรฐานของสถาปัตยกรรมอิสลาม
ความเห็นของทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าการเพิ่มการเกี่ยวข้องกันทางทหารและทางวัฒนธรรม ที่รวมทั้งนอร์มันได้รับชัยชนะ (Norman conquest of southern Italy) ต่อซิซิลีของอิสลามในปี ค.ศ. 1090, สงครามครูเสดที่เริ่มในปี ค.ศ. 1096 และอิสลามในสเปน นำมาซึ่งความรู้ของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญมายังยุโรปยุคกลาง
อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเชื่อกันว่าโค้งแหลมวิวัฒนาการขึ้นตามธรรมชาติในยุโรปตะวันตกเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง พร้อมกับการเริ่มใช้ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ในคริสต์ศาสนสถานในฝรั่งเศสและอังกฤษ
ความคิดเห็น