คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : คำแนะนำ by หลวงวิจิตรวาทการ
หลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนแนะนำผู้สนใจการเขียนการประพันธ์ หรือนักแต่งเรื่องหน้าใหม่ นำลงในหนังสือดวงประทีป ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 ประจำวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 เป็นฉบับแรก และต่อมาอีกสองครั้งคือฉบับที่ 23 ประจำวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม และฉบับที่ 29 ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ฯลฯ
“ความคิดของข้าพเจ้านั้น ข้อที่นักเขียนควรจำใส่ใจคือต้องยึดหลักสองขั้น ขั้นต้นคือความชัดเจน และขั้นที่สองคือความไพเราะ มีบางคนถือความไพเราะเป็นสำคัญเกินไปจนไม่นึกถึงความชัดเจน ข้อนี้เป็นความผิดมาก นักเขียนที่ดีคือนักเขียนที่สามารถแสดงความคิดของตนให้คนอื่นเข้าใจได้ตรงตามที่ตัวคิด คือต้องพูดภาษาคนให้คนเข้าใจ นักเขียนที่เขียนอะไรลงไปไม่มีใครเข้าใจนั้น ไม่เขียนเสียเลยดีกว่า อนึ่งเราจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า การที่จะเขียนอะไรให้ชัดเจนนั้น หลักไวยากรณ์เป็นข้อสำคัญมา ทุกภาษาย่อมมีไวยากรณ์ และภาษาไทยเราก็มีเหมือนกัน ผู้ที่เข้าใจว่าภาษาไทยไม่มีไวยากรณ์ และไม่เอาใจใส่ในไวยากรณ์ไทยเสียเลยนั้น จะเป็นนักเขียนที่ดีจริงไม่ได้ การเขียนถูกต้องตามไวยากรณ์ย่อมช่วยทำให้ความชัดเจนขึ้น ส่วนความไพเราะนั้นเป็นเรื่องในขั้นที่สอง หัดเขียนให้ชัดเจนเสียก่อน ส่วนความไพเราะนั้นมีขึ้นได้ในภายหลังเอง
ในการประพันธ์นั้น ข้อที่ยากยิ่งคือการพรรณนาและแปลงภาพออกมาเป็นตัวหนังสือ งานขั้นต้นของผู้ที่หัดประพันธ์ก็คือการหัดเขียนพรรณนาเสียก่อน การหัดเขียนพรรณนานั้นมีวิธีอยู่ดังนี้
1. หารูปภูมิประเทศรูปใดรูปหนึ่งมาวางไว้ตรงหน้าพิจารณาดูรูปนั้นให้ดี แล้วเขียนพรรณนาถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในรูปนั้นอย่างละเอียด ครั้นแล้วก็ปิดรูปนั้นเสีย เอาข้อความที่เขียนไว้นั้นขึ้นมาอ่านแล้วลองวัดความรู้สึกดูว่า ในเวลาที่เราอ่านข้อความที่เราเขียนแล้วนั้น เรามีความรู้สึกเหมือนกันกับเวลาดูภาพนั้นหรือไม่ ถ้ายังไม่เหมือนก็ยังใช้ไม่ได้ และต้องเขียนใหม่จนกระทั่งแน่ใจว่าคนอื่นที่มาอ่านข้อความที่เราเขียนแสดงถึงภูมิประเทศนั้นจะหลับตาเห็นภูมิประเทศ และมีความรู้สึกที่เรารู้สึกในเวลาดูภาพนั้นจริง ๆ เมื่อฝึกหัดจากรูปภาพดีแล้ว ก็ลองฝึกหัดจากภูมิประเทศจริง ๆ
2. เมื่อฝึกหัดในเรื่องภูมิประเทศดีแล้ว ก็ลองฝึกหัดในเรื่องคน เราจะรูสึกว่าในเรื่องคนนั้นยากกว่าเรื่องภูมิประเทศมาก ในขั้นแรกควรใช้ภาพก่อน ต่อไปจึงค่อยลองเขียนจากตัวคนจริง ๆ ในขั้นแรกหัดพรรณนาแต่รูปร่างหน้าตาและภายหลังจึงพรรณนาถึงกิริยาท่าทางถ้อยคำและการพูดของคนผู้นั้น
3. ขั้นที่สามยากขึ้นไปอีกคือ หัดเขียนความรู้สึกในใจของตนเอง เรื่องนี้มีวิธีทำได้หลายทาง เช่นเดินเข้าในห้องห้องหนึ่ง ยืนอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่งและพิเคราะห์ดูว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร ในเมื่อเราเข้าไปในห้องนั้น จำความรู้สึกอันนั้นไว้แล้วกลับมาเขียนถึงความรู้สึกอันนั้นให้ถี่ถ้วน ที่ ๆ จะฝึกหัดเช่นนี้ได้ มีหลายแห่งเช่น ในโรงมหรสพ ในที่ชุมนุมชน เวลากลัว เวลาหิว เวลาตกใจ เวลาโกธร ใช้ได้ทั้งนั้น
ทั้งสามชันนี้เป็นการฝึกหัดเบื้องต้น และต้องเข้าใจว่าข้อสำคัญที่สุดของนักเขียนนั้นคือ ความซื่อตรง เขียนไปตามความเป็นจริง และให้คนเข้าใจได้เท่ากับที่เป็นจริง ๆ ต้องหัดแสดงความจริงเสียก่อน ส่วนความคิดประดิษฐ์โลดโผนนั้นจะมีภายหลัง ถ้าไม่หัดพรรณนาอะไรให้ตรงตามความจริงเสียก่อน พอเริ่มต้นก็ประดิษฐ์โลดโผนแล้วจะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เลย
ความคิดเห็น