คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #10 : คำแนะนำ by ศาสตราจารย์ ดร.บุญ อินทรัมพรรย์
ศาสตราจารย์ ดร.บุญ อินทรัมพรรย์ ราชบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แปลและเรียบเรียงมาลงในหนังสือวารสารอนุรักษ์ดินและน้ำ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526
1. เขียนเพื่อให้อ่านง่าย คือ เขียนเพื่อสื่อความคิดและสื่อข้อเท็จจริงที่ถูกต้องพร้อมทั้งให้ความเพลิดเพลิน และการจูงใจผู้อ่าน นักเขียนระดับมาตรฐาน จะเรียงความโดยผูกเป็นประโยคให้ผู้อ่านอ่านได้ง่าย ๆ ชัดเจน จำได้เร็วและเกิดความสนใจ แสดงให้ประจักษ์ว่าใช้ความระวังในเรื่องหลักภาษาหรือไวยากรณ์ และเข้าใจเลือกคำเหมาะใช้ ทั้งนี้เรื่องที่เขียนนั้นก็เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้อ่านได้ถึง 5 ประการ อ่านได้เร็ว เข้าใจเรื่องได้ดี จะเรื่องราวได้นานพอสมควร ได้รับความเพลิดเพลิน และได้ความรู้จากงานเขียนหรือวรรณกรรมนั้น
2. คิดเสียก่อนเสมอ , แล้วจึงเขียน เขียนได้แจ่มแจ้งเท่าใด ก็ย่อมก่อให้ผู้อ่านได้มีความคิดมากขึ้นตามลำดับ
วิธีการที่นักเขียนนิยมปฏิบัติในระหว่างเวลาคิด ก็ใช้คำถาม 5 คำ คือ ใคร อะไร ที่ใด เมื่อไร และ ทำไม
เมื่อนักเขียนประมวลข้อความที่จะเขียนเป็นขั้นตอนแล้ว ก็ตั้งต้นเขียนตามลำดับความคิด คำแนะนำข้างต้นเป็นหลักการทั่วไปที่ได้ให้ความสำเร็จแก่นักเขียนหลายคนมาแล้ว
3. เขียนให้ถูกเป้าหมาย นักเขียนจะต้องเริ่มข้อความในประโยคแรกให้ตรงเป้าหมาย คือหัวข้อเรื่องที่กำหนดขึ้นนั้นเอง
4. ใช้คำชินหูชินตา การใช้ “คำใหญ่” หรือคำศัพท์สูง ๆ ก็ดีนั้น แสดงว่านักเขียนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่กระนั้นผู้เขียนก็ควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็น หากว่าผู้อ่านไม่เข้าใจความหมายของคำที่ผู้เขียนใช้ เขาก็เข้าใจความคิดของนักเขียนนั้นว่า ไม่มีอะไรดี ถ้านักเขียนทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องไม่ได้ ก็นับว่านักเขียนนั้นตกอันดับ คือผู้อ่านไม่นิยม
5. คำที่ใช้ต้องเหมาะสมและชัดเจน คำที่ใช้จะต้องเหมาะสมและชัดเจนและมีความหมายทางเดียว
วิธีการเขียนที่ดีคือ นักเขียนเลือกใช้คำที่เหมาะสม สุภาพและชัดเจน ซึ่งเป็นคำที่ผู้อ่านสัมผัสได้ด้วย การเห็น การฟัง และการลิ้มรส คำที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้อ่านสนใจ
6. ใช้คำคุณศัพท์ให้น้อยไว้ คำคุณศัพท์นั้นควรจะใช้ให้เหมาะสมแก่สภาพของเรื่อง เรื่องที่เขียนจึงจะเป็นรายงานหรือบทความที่ดี คำคุณศัพท์มากไปจะทำให้ผู้อ่านฉงน ดังนั้นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เด่นจึงแนะนำนักข่าวนวกะใช้คำคุณศัพท์เท่าที่จำเป็น
7. พยายามเขียนให้ประโยคสั้นแต่ได้ความมาก การเขียนที่ดีจักต้องเขียนให้ประโยคสั้น แต่กินความมาก นักเขียนที่ดีจะต้องหัดแต่งหนังสือของตนให้สั้นและได้ความหมายมาก ด้วยวิธีการตัดวลีและคำที่ไม่จำเป็นออก
8. เขียนวรรคสั้นดีกว่าเขียนวรรคยาว วรรคที่สั้นนั้นช่วยให้ผู้อ่านไม่ต้องเพ่งหนังสือ เป็นการช่วยลูกตาไม่ให้เพลีย ทำให้ลูกตาสามารถกราดดูตัวหนังสือได้ดีด้วย วรรคยาวย่อมมีข้อความมากเป็น “ก้อนใหญ่” ทำให้ผู้อ่านข้ามไป เลยทำให้ผู้อ่านเบื่อและไม่อยากจะอ่านหนังสือนั้นต่อไปอีกก็ได้ นักหนังสือพิมพ์จึงบอกว่าเขียนวรรคยาวทำให้ “เสีย” ลูกค้า ไม่ควรคิดว่าผู้อ่านอ่านหนังสือให้เร็ว เพราะเข้าใจว่าข้ามความข้ามวรรคนั้น เป็นกันทุกคน
9. เขียนหนังสือให้อ่านง่ายและเว้นการเขียนลีลาซับซ้อน หนังสือที่อ่านเข้าใจยากหรือซับซ้อนนั้นเป็นความบกพร่องของนักเขียน ไม่ใช่ข้อบกพร่องของผู้อ่าน นักเขียนจึงพึงเขียนเพื่อตนเองเข้าใจได้ง่ายด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเขียนข้อความซับซ้อนพัลวัน นักเขียนจึงเลือกใช้คำที่ง่าย เขียนประโยคง่าย เขียนวรรคสั้น
10. เขียนให้แจ่มแจ้งตรงกับความที่คิดไว้ ในการเขียนหนังสือ ต้องพยายามให้ได้ความแจ่มแจ้งถึงขั้นที่รับรองได้ว่าไม่มีปัญหาถามได้อีก ดังนั้นนักเขียนจึงผูกประโยคให้ได้ความตรงไปสู่เป้าหมาย ไม่ต้องอ้อมค้อม วิธีการก็คือผูกประโยคให้มีประธาน กิริยาและกรรม หัดพูดเป็นประโยคไว้เสมอ ๆ จะช่วยในการเขียนด้วย
11. รู้จักแก้หนังสือ วิธีการแก้หนังสือนั้นง่ายคือ อ่านร่างนั้นดัง ๆ วิธีเช่นนี้จะช่วยให้ผู้เขียนร่างนั้น “จับ” คำและประโยคที่ควรแก้ไข เมื่อเขียนร่างเสร็จครั้งแรกและอ่านอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าความหมายใดไม่แจ่มแจ้งก็แก้ไขข้อความให้ชัดเจนขึ้น โดยการดูวรรคตอนและการใช้เครื่องหมายวรรคตอน เปลี่ยนคำใหม่หรือตัดคำนั้นคำนี้ออกบ้าง สุดท้ายก็ถามตนอีกว่า ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องที่เขียนไหม ? ถ้าเห็นว่าผู้อ่านคงไม่เข้าใจ ผู้เขียนก็ต้องรู้ตัวว่าต้องแก้ไขอีกจนให้ได้ดีให้ได้ ฝึกหัดเช่นนี้ได้ ในไม่ช้าก็เขียนได้ดีและแทบจะไม่มีการแก้เลยก็ได้
12. พยายามแสดงความคิดของตน นักเขียนที่ดีจะต้องแสดงออกซึ่งความคิดของตนให้ประจักษ์แก่ผู้อ่าน
นักเขียนผู้สามารถแสดงความเห็นของตนให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ย่อมได้รับการยกย่องจากผู้อ่านเสมอว่าเป็นผู้ให้ความคิดที่มีคุณค่า
ความคิดเห็น