คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : วิชาเรียนปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1
Pharmacology in Pharmaceutical Care
หรือก็คือวิชาเภสัชวิทยานั่นเองครับ เป็นวิชาที่สำคัญมากวิชาหนึ่งของเภสัชกรเลยทีเดียวก็ว่าได้ครับ แต่พี่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์แทนที่จะเป็นคณะเภสัชฯ แต่อย่างไรก็ตาม พี่ได้ยินมาว่าอาจารย์หลายคนที่สอนวิชานี้จบเภสัชฯมานะครับ วิชานี้เรียนเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกายครับ จะเรียกว่าเป็นวิชาที่ต่อเนื่องจากวิชาสรีรวิทยาก็ได้ เพราะถ้าน้องไม่แม่นเรื่องกลไกการทำงานของระบบต่างๆ น้องก็จะไม่สามารถใช้ยาได้ถูกต้องครับ แต่วิชานี้จะบอกน้องแค่ว่าโรคนี้ "สามารถ" ใช้ยาอะไรได้บ้างนะครับ ส่วนเรื่อง "ควรจะ" ใช้ยาอะไรนั้น น้องจะได้เรียนในวิชา Pharmacotherapy ต่อไปครับ วิชานี้ 6 หน่วยกิต มีปฏิบัติการด้วยนะครับ เป็นการทดลองที่สนุกที่สุดเท่าที่พี่เคยทำมาเลย น้องจะได้ฝึกการให้ยาสัตว์ทดลอง (หนู rat , mice และกระต่าย) }, ฝึกการคำนวณปริมาณยาที่จะให้สัตว์ , ฝึกการวัดค่าต่างๆหลังจากการให้ยาแล้ว , ฯลฯ ใครที่กลัวหนู พี่ขอแนะนำให้ไปทำความคุ้นเคยกับมันซะนะครับ เพราะว่ามีสอบปฏิบัติการด้วยละ จับหนูไม่เป็นได้ 0 ทันทีเลยนะครับ บอกไว้ก่อน ส่วนเรื่องการสอบข้อเขียนก็ไม่ยากมากครับ ขยันอ่านเข้าครับ อ่าน sheet เก็งข้อสอบของรุ่นพี่ก็ได้ ออกตรงหลายข้ออยู่เหมือนกันนะ
Pharmacokinetics
วิชาเภสัชจลนศาสตร์ เป็นวิชาของภาคเภสัชกรรมคลินิก และเป็นวิชาที่พี่ว่ายากที่สุดแล้วสำหรับเทอมนี้ครับ เพราะเนื้อหามีทั้งภาคบรรยายและคำนวณ แถมเป็นการคำนวณแบบที่เราไม่คุ้นเคยด้วยครับ แต่ไม่ต้องห่วงครับ เพราะถ้าน้องถนัดด้านการคำนวณหรือบรรยายแม้เพียงอย่างเดียว น้องก็สามารถผ่านวิชานี้มาได้ไม่ยากมากครับ แต่ความจริงแล้ว ข้อสอบวิชาน้เน้นไปทางคำนวณนะพี่ว่า ส่วนอาจารย์ที่สอนวิชานี้เป็นอาจารย์คณะเภสัชฯเองครับ ซึ่งก็มีทั้งท่านที่สอนเข้าใจและไม่ค่อยเข้าใจ น้องต้องค่อยๆเรียนรู้ไปเรื่อยๆครับ แล้วจะรู้ว่าอาจารย์ที่คณะมีอะไรแปลกๆอีกหลายอย่างครับ (ไม่อยากบอก เดี๋ยวจะหาว่าพี่นินทาอาจารย์)
Pathophysiology in Pharmaceutical Care I
นี่เป็นวิชาของคณะเภสัชฯครับ ทั้งๆที่พี่ว่าน่าจะให้คณะแพทยศาสตร์มาสอนมากกว่า เพราะว่านี่คือวิชาพยาธิสรีรวิทยา (พะ - ยา ทิ นะครับ ไม่ใช่ พะ - ยาด สังเกตว่าจะมีสรีรวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) เรียนเกี่ยวกับเรื่องความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกายครับ เป็นอีกวิชาหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้ทาง Physiology เข้ามาช่วย แต่เนื้อหาเยอะกว่ามากครับ เรียน 2 ตัว ตัวละ 4 หน่วยกิตเข้าไปแล้ว แถมไม่มีปฏิบัติการเลยด้วยครับ เรียกว่าท่องกันอย่างเดียวเลยละ แต่ถ้าถามพี่นะ พี่ว่าเรียนให้เข้าใจจะดีกว่าครับ อย่าไปห่วงเรื่องคะแนนมากเลยครับ เพราะว่าวิชานี้จะเป็นประโยชน์มาในการสันนิษฐานโรคเพื่อจ่ายยาในอนาคต ซึ่งตรงนี้ เภสัช 5 ปีจะไม่ได้เรียนด้วยครับ (เขาจะเรียน Dispensing Pharmacy เท่านั้น) แล้วถ้าน้องมีโอกาสได้เดิน round ward กับแพทย์ ความรู้ตรงนี้ควรมีติดตัวไว้ให้มากเลยครับ
Medicinal Chemistry in Pharmaceutical Care I
มีคนยกย่องว่านี่เป็น "วิชาแม่" ของเภสัชกร เพราะว่าเป็นเรื่องเดียวที่แม้แต่แพทย์ก็ไม่รู้เกี่ยวกับยา ครับ... นี่คือวืชาเคมียาอันแสนจะโหดร้ายทารุณ นอกจากน้องจะต้องจำสูตรโครงสร้างทางเคมีของยาเป็นหน้าๆแล้ว น้องยังต้องจำตำแหน่งที่ยาออกฤทธิ์ แล้วก็จำปฏิกิริยาทางเคมีของยานั้นๆด้วยครับ แต่อย่าเพิ่งตกใจไปครับ เพราะว่าส่วนใหญ่อาจารย์จะไม่ถึงกับให้น้องจำยาทุกตัวหรอก แค่จำกลุ่มยาให้ได้ก็พอแล้วครับ ยาในกลุ่มเดียวกันมักจะมีสูตรโครงสร้างคล้ายๆกัน แล้วถ้าน้องสามารถเชื่อมโยงคุณสมบัติของยาที่เรียนมาในวิชา Pharmacology ได้ด้วยละก็ จะทำให้การจำง่ายขึ้นอีกมากเชียวครับ อ้อ แต่มีช่วงหลังๆที่ยาจะเป็นตัวที่ไม่มีในวิชา Pharmacology นะครับ อันนี้ก็ต้องพยายามกันหน่อยครับ รับรองว่าไม่ยากเกินไป ถ้าน้องจำโครงสร้างยาได้ละก็ เอาไปอวดเพื่อนที่เรียนหมอได้เลยละครับ
Pharmacy Service Skill
เป็นอีกหนึ่งวิชาที่เราจะได้เรียนกับเพื่อนๆ 5 ปีครับ วิชานี้อาจารย์สอนสนุกมากครับ รุ่นพี่ก็บอกว่าง่าย เรียนวิชาทักษะการบริการมันก็เหมือนกับการใช้สามัญสำนึกน่ะครับ อาจจะมีหลักการบางอย่างที่ขัดกับความรู้สึกอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วพี่เชื่อว่าน้องๆทุกคนมีความสามารถนี้อยู่แล้วละครับ นอกจากการเรียนในห้องแล้ว วิชานี้ยังได้ฝึกเล่นละครด้วยนะครับ! อาจารย์จะให้เราสมมติบทบาทแสดงเป็นเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา แล้วก็อัด video ไว้ นำมาอภิปรายกันภายหลัง พี่ว่าสนุกมากเลยนะ แต่วิชาก็มีที่น่าเบื่ออยู่อย่างหนึ่งครับ คือมีการบ้านให้ทำทุกครั้งที่เข้าเรียนเลย แล้วก็เป็นการบ้านแบบเขียนหมดเลยด้วย ถ้าไม่อยากนั่งปั่นงานเอาวันใกล้ส่ง ก็ต้องขยันทำไว้ล่วงหน้าเยอะๆหน่อยนะครับ
วิชาเลือกภาษาอังกฤษ 3 หน่วยกิต
วิชาภาษาอังกฤษที่เพื่อนๆของพี่เลือกกันก็มีหลากหลายครับ มีตั้งแต่ Conversation , Grammar for Real Life , Communication in English in Science and Technology , etc. ซึ่งระดับความยากง่ายก็ต่างๆกันไปครับ เวลาจะลงก็เลือกที่เวลาเรียนไม่ชนกับของวิชาหลักน่ะครับ แล้วก็ถ้าลงวิชาที่ง่ายๆได้ก็ลงไปก่อน เช่น Conversation ครับ (เขาว่าง่ายนะ พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะพี่ลง Communication in English in Science and Technology ครับ)
ความคิดเห็น