คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : นิยามรักในแบบของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล - ที่มาของหนัง
นิยามรักในแบบของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล - ที่มาของหนัง
เราอาจจะเคยได้ยินนิยามรักมานับร้อยนับพัน แต่จะมีนิยามไหนเล่าที่มีความสุขได้เท่านิยามรักของผู้ชายคนนี้ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่อาจจะกำลังทำให้ความรักของใครหลายคนเต็มไปด้วยความหวังตลอดไป กับภาพยนตร์รักโรแมนติก ที่เชื่อกันว่ามีบทที่ดีที่สุด และเต็มไปด้วยเรื่องราวความรักที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้กับทุกคน
“ รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรักที่เกิดขึ้นกับหลายชีวิต หลายกลุ่มคน ที่เกาะเกี่ยวและโยงใยกันอยู่ในรูปแบบของความรักที่แตกต่าง ด้วยแรงปรารถนาแห่งรักที่ถูกบ่มเพาะมานานกว่า 4 ปีเต็มของผู้กำกับคนนี้ ถูกขัดเกลาจนกลายเป็นบทภาพยนตร์รักชั้นดี
“ รู้สึกว่าอยากทำหนังรักเรื่องหนึ่งที่มันไม่ใช่หนังรักแบบทั่ว ๆ ไป มุมมองความรักในแบบของเราคือ ความรักมันสำคัญกับชีวิตของเรายังไงมากกว่า ถ้าเราไม่กินข้าวเราตาย แต่ไม่มีความรักเราอยู่ได้ แต่ชีวิตจะเป็นยังไงถ้าไม่มีความรักเลย นี่คือไอเดียแรกที่เราอยากจะทำหนังรักเรื่องหนึ่งที่พูดถึงความสำคัญของรักต่อการมีชีวิต ก็เลยเริ่มเขียนบทรวบรวมเรื่องราวของคนที่ผ่านเข้ามา คนที่เราเคยเจอในความทรงจำ ก็ค่อยๆเขียนค่อยๆขัดเกลาใช้เวลาเรียนรู้อะไรประมาณหนึ่งถึงจะเข้าใจอะไรบางอย่างจนได้เป็นบทหนัง ซึ่งก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะเราก็เขียนไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่หนังยังไม่สร้าง มันก็จะมีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามาอีก ”
ไอเดียแรกแห่งรักของมะเดี่ยวถูกพัฒนาขึ้นไปพร้อมๆกับภาพในหัวที่อบอวลไปด้วยความรักในรูปแบบต่างๆ และเรื่องราวส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นที่นี่แห่งนี้ ‘ สยามสแควร์’ ซึ่งจะกลายเป็นฉากหลักในเรื่อง “รักแห่งสยาม”
“ ทำไมต้องรักแห่งสยาม หลายๆ คนจะเข้าใจว่าเป็นหนังโบราณรึเปล่าสยามประเทศ แต่รักแห่งสยามของเราคือสยามสแควร์นี้เอง เหตุที่เป็นสยามสแควร์เพราะว่าตอนที่เราเริ่มเขียนบท ตอนนั้นจริงๆ เราเพิ่งอยู่มหา’ ลัย อยู่จุฬา แล้วสยามก็เป็นที่ที่ไปประจำ แล้วก็ได้พบเห็นคู่รักมากมาย วัยรุ่นมากมายเต็มไปหมด แม้กระทั่งคนวัยทำงาน คนมีครอบครัวแล้วเค้าก็เดินสยาม มันเป็นสถานที่ในความทรงจำของหลายๆ คน เช่นเดียวกับตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้ เค้าพบรักกันที่สยาม เค้าอาจจะเลิกกันที่สยาม ไปเที่ยวกันที่สยาม เคยหัวเราะเคยร้องไห้ เคยมีความสุขกันในสยาม รู้สึกว่าสยามมันคลาสสิค แล้วมันก็ไม่ได้ถูกบอกเล่าในหนังไทยมานานแล้ว ดังนั้นก็เลยใช้สยามเป็นฉากหลังของหนังเรื่องนี้ ซึ่งสยามก็กลายเป็นที่ที่ตัวละครในเรื่องหลายๆ ตัวมาเจอกัน และมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย”
เมื่อตัวหนังสือในบทภาพยนตร์ถูกพัฒนาจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวบนแผ่นฟิล์ม ความหวังของผู้กำกับที่จะได้เห็นความทรงจำในสยามสแควร์ก็เริ่มใกล้เข้ามาทุกที และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อลมหนาวและสีสันของเทศกาลคริสมาสต์เข้ามาปกคลุมและเพลง Silent Night ก็ถูกบรรเลงอย่างครื้นเครงไปทั่วสยาม
“ ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ จะเป็นช่วงฤดูหนาว ช่วงคริสมาสต์ปีใหม่ บรรยากาศและการตกแต่งตึกรามบ้านช่องร้านค้าต่างๆ ก็จะประดับประดาไปด้วยไฟและสีสันของวันคริสมาสต์ ก็จะเป็นฉากที่สวยงามอารมณ์หนาวๆ ที่เราจะได้เห็นในสยาม ซึ่งก็ต้องถ่ายในช่วงนั้นจริงๆ เพราะเราต้องการฉากหลังแบบนั้น”
การปักหลักถ่ายทำภาพยนตร์กันที่กลางใจเมืองที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาอย่างสยามสแควร์ เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการควบคุมปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งความชุลมุนวุ่นวายของผู้คนมากมายที่แวะเวียนผ่านเข้ามาทำกิจกรรมในสยาม บ้างก็เดินผ่าน บ้างก็มุงดู บวกกับสภาพของเสียงรบกวนต่างๆ รอบด้านที่ ทำให้การถ่ายทำค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก
“ สำหรับการทำงานที่สยามสแควร์ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เป็นที่ที่คนจากทุกสารทิศจะแห่แหนกันมาช็อปปิ้ง มาเดินเล่น ซึ่งก็ยากที่จะควบคุม แต่ว่าเราก็ซื้อเพราะว่ามันมีความสับสนอยู่ในนั้น มันมีความเคลื่อนไหวมีคนเดินไปเดินมาตลอด ซึ่งถือว่ามันเป็นสีสัน แต่มันก็ยากที่จะควบคุมคน ยากที่จะบล็อกคนไม่ให้มาเดิน ซึ่งเราก็จะเจอทั้งคนที่ไม่ให้ความร่วมมือและคนให้ความร่วมมือดีๆ อย่างเช่นร้านพี่เปี๊ยก ดีเจสยาม เค้าก็สนับสนุนให้มาใช้ร้านเค้าถ่ายทำได้ และก็มีอีกหลายร้าน
และซีนที่ยากๆ อีกซีนหนึ่งก็คือซีนที่ลานน้ำพุเซ็นเตอร์พอยต์เลย ซีนนั้นเป็นซีนอารมณ์ของมาริโอ้กับเบสท์ที่บอกเลิกกันที่สยาม แล้วลำบากมาก เสียงดังจากจอเช็คเกอร์สกรีนหน้าเซ็นเตอร์พอยต์ ทั้งทีมงานและนักแสดงไม่มีสมาธิเลย เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลา Prime Time ช่วง 6 โมง- ทุ่มหนึ่ง คนก็เยอะมาก แห่มามุงดู นักแสดงก็ต้องทำงานหนักมากเพื่อจะรักษาสมาธิให้จนหมดซีน ก็ถือว่าเป็นซีนที่เหนื่อยจริงๆ เหนื่อยแต่ก็คุ้ม”
ความคิดเห็น