ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    :: เรื่องดีๆ จากคุณนายแสนรู้ ::

    ลำดับตอนที่ #7 : ==>> 6 ตัวเลขพิทักษ์ชีวิต

    • อัปเดตล่าสุด 29 ม.ค. 51


    6 ตัวเลขพิทักษ์ชีวิต
    หากคุณอยากมีหัวใจที่แข็งแรง อย่าลืมใส่ใจตัวเลขบ่งชี้สุขภาพทั้งหกประการดังต่อไปนี้


    ตัวเลขทั้งหกนี้เป็นดัชนีบ่งบอกสุขภาพของหัวใจ สามตัวแรก คุณสามารถตรวจสอบได้เอง โดยมีอุปกรณ์คือ ดินสอ สายวัด และนาฬิกาที่มีเข็มวินาที ส่วนอีกสามตัวคงต้องปรึกษาแพทย์ หากบันทึกตัวเลขของตนเองเป็นประจำเพื่อเปรียบเทียบในระยะยาว คุณจะรู้สถานะสุขภาพหัวใจของตนเอง

    1. แคลอรีที่ร่างกายต้องการต่อวัน

    ในแต่ละวัน คุณต้องการอาหารมากน้อยเพียงใด ทางทฤษฎี เราควรกินอาหารให้เพียงพอสำหรับร่างกาย ใช้เป็นพลังงาน แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนกลับกินอาหารมากเกินความจำเป็นวันละ 100 ถึง 1,000 กิโลแคลอรี อาหารที่เรา "ขอกินอีกสักคำ" คือตัวการที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และสะสมจนกลายเป็นโรคอ้วนซึ่งมีอันตรายต่อหัวใจ

    พลังงานที่แต่ละคนควรได้รับในหนึ่งวันสามารถคำนวณได้ไม่ยาก เพียงใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมคูณด้วย 28 ถึง 33 ทั้งนี้ขึ้น กับความขยันและการใช้พลังงานของแต่ละคน ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ผู้ชายต้องการวันละ 2,500 แคลอรี ซึ่งอาจแบ่งตามมื้ออาหารเป็นมื้อเช้า 300 ถึง 400 กิโลแคลอรี มื้อเที่ยง 500 ถึง 600 กิโลแคลอรี มื้อเย็น 600 ถึง 700 กิโลแคลอรี และอาหารว่าง 100 ถึง 200 กิโลแคลอรีวันละสองสามครั้ง

    การคำนวณพลังงานอย่างจุกจิกอาจไม่ใช่วิธีดีที่สุดสำหรับควบคุมอาหาร การเปลี่ยนชนิดอาหารน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เช่น เปลี่ยนมากินอาหารจำพวกผักและผลไม้ซึ่งมีพลังงานต่ำ เปลี่ยนมากินอาหารโปรตีนซึ่งอุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ และสารอาหารต่างๆที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ

    ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือทุกคนควรทราบปริมาณอาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับสุขภาพ และน้ำหนักของตนเองในหนึ่งวัน

    2. เส้นรอบเอว

    ความยาวของเส้นรอบเอวคือตัวเลขวัดสุขภาพหัวใจได้ดีที่สุดอีกประการหนึ่ง และตัวเลขที่มีความสำคัญชัดเจนยิ่งกว่าคือ อัตราส่วนระหว่างเส้นรอบเอวกับสะโพก (คำนวณจากความยาวของเส้นรอบเอวส่วนสั้นที่สุดหารด้วยความยาวของเส้นรอบสะโพกส่วนมากที่สุด) หากอัตราส่วนมากกว่า 0.9 ในผู้ชาย และมากกว่า 0.85 ในผู้หญิงถือว่าอ้วนแบบลงพุงและอาจเป็นโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิกซึ่งเป็นโรคที่ประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงอันตรายของโรคหัวใจ

    เซลล์ไขมันซึ่งสะสมอยู่ในผนังหน้าท้องและหุ้มรอบอวัยวะในช่องท้อง นอกจากเป็นแหล่งพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายเผาผลาญ ไม่หมดแล้วยังสามารถหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวกับกระบวนการอักเสบซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งและเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจพิบัติ

    นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสเกิดโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิกและภาวะดื้ออินซูลิน เนื่องจากสารเคมีของกระบวนการอักเสบรบกวนการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ตับ แถมยังรบกวนฮอร์โมนควบคุมความหิวทำให้อยากกินอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีไขมันสะสมเพิ่มขึ้น

    การวัดเส้นรอบเอวทำได้ง่ายเพียงใช้สายวัดพันรอบเอวตรงระดับสะดือ วัดแบบพอดีไม่แน่นเกินและไม่แขม่วท้อง ควรวัดเป็นประจำทุกสองสัปดาห์ ความยาวเส้นรอบเอวที่มีอันตรายต่อหัวใจคือมากกว่า 36 นิ้ว (90 ซม.) สำหรับผู้หญิง และมากกว่า 40 นิ้ว (100 ซม.) สำหรับผู้ชาย

    3. ระดับคอเลสเตอรอล

    นอกเหนือจากค่าคอเลสเตอรอลรวมแล้ว ตัวเลขอื่นที่คุณจำเป็นต้องทราบคือค่าคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (ไขมันชนิดร้าย) กับคอเลสเตอรอลเอชดีแอล (ไขมันชนิดดี) หากแพทย์เจาะเลือดของคุณเพื่อตรวจไขมัน ผลตรวจจะรายงานระดับไขมันในเลือดทุกชนิดที่กล่าวมา รวมถึงอัตราส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลรวมกับเอชดีแอล ควรจดตัวเลขเหล่านี้ไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว

    เป้าหมายของคุณคือควบคุมระดับคอเลสเตอรอลรวมให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร หรือต่ำกว่า 190 มก./ดล. หากคุณเป็นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวาน ระดับแอลดีแอลควรต่ำกว่า 135 มก./ดล. หากคุณเป็นโรคหัวใจ ระดับเอชดีแอลที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 40 ถึง 50 มก./ดล.

    หากต้องการตรวจไขมันในเลือด คุณจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจเลือดแปดถึง 12 ชั่วโมง ถ้าระดับคอเลสเตอรอลสูงเกิน 230 ถึง 250 มก./ดล. เป็นเวลานาน แพทย์มักแนะนำให้เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต กินยารักษา และตรวจซ้ำเป็นประจำ

    4. ความดันโลหิต

    ความดันโลหิตหมายถึงแรงดันโลหิตภายในหลอดเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด หากสูงเกินระดับปกติจะถือเป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและภาวะหลอดเลือดแข็ง

    โรคความดันโลหิตสูงหมายถึงภาวะที่ความดันโลหิตมากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอท หากอยู่ระหว่าง 120/80 ถึง 139/89 หมายถึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ และจำเป็นต้องหาวิธีป้องกัน เช่น กินผักหรือผลไม้ที่อุดมด้วยโพแทสเซียม

    การวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่พบแพทย์ช่วยให้คุณพบโรคนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดใช้ที่บ้านควรให้แพทย์วัดซ้ำเป็นประจำเช่นกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

    5. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์

    ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมาจากอาหารจำพวกไขมันและคาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไป ร่างกายสามารถเก็บสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน หากร่างกายขาดพลังงาน เนื้อเยื่อไขมันจะหลั่งไขมันไตรกลีเซอไรด์ออกมาใช้เป็นพลังงาน ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูงผิดปกติอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันโดยเฉพาะในผู้หญิง

    ภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงร่วมกับเอชดีแอลต่ำจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิกและภาวะดื้ออินซูลิน ระดับปกติของไขมันไตรกลีเซอไรด์คือไม่เกิน 177 มก./ดล.

    การตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์สามารถทำพร้อมกับการตรวจคอเลสเตอรอล ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการตรวจเป็นประจำเพื่อประเมินความเสี่ยงและช่วยป้องกันโรคหัวใจ

    6. ชีพจรในยามเช้า

    ชีพจรหมายถึงจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นในหนึ่งนาที การนับชีพจรเวลาเช้าก่อนลุกจากเตียงเป็นประจำสามารถใช้ประเมินความแข็งแรงของหัวใจจากการออกกำลัง ชีพจรปกติขณะพักผ่อนคือ 60 ถึง 90 ครั้งต่อนาที ผู้ที่มีสุขภาพดี ชีพจรจะเต้นช้าลงเนื่องจากหัวใจแข็งแรง หากชีพจรของคุณเต้นช้าทั้งที่ไม่เคยออกกำลังเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของโรคหัวใจบางประเภท

    อุปกรณ์สำคัญสำหรับการวัดชีพจรคือนาฬิกาที่มีเข็มวินาที ตำแหน่งที่เหมาะสมคือข้อมือหรือลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หลอดเลือดแดงอยู่ใกล้ผิวหนัง วางนิ้วชี้กับนิ้วกลางลงบนข้อมือด้านในบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ กดลงเบาๆจนสัมผัสกับชีพจร หรือวางนิ้วลงบนคอด้านข้างลูกกระเดือก นับการเต้นของชีพจรตลอด 15 วินาทีแล้วคูณด้วยสี่ คุณจะทราบชีพจรในหนึ่งนาที

    ควรวัดชีพจรเวลาเช้าก่อนลุกจากเตียงเดือนละหนึ่งครั้ง หากต้องการทดสอบประสิทธิภาพของการออกกำลัง ให้จับชีพจรสูง สุดหลังการออกกำลัง และจับเวลาที่ชีพจรกลับมาเต้นเท่าระดับปกติ หากสุขภาพแข็งแรงขึ้นเวลาที่ใช้จะลดน้อยลง โปรแกรมออกกำลังที่ช่วยให้ชีพจรขณะพักผ่อนลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติคือโปรแกรมที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×