ลำดับตอนที่ #6
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : ==>> ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ
จักรพันธุ์ กังวาฬ : เรื่อง / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ
เปิดประตูส้วม...
“สารคดี ไม่มีเรื่องอะไรจะทำแล้วหรือไง...ถึงได้คิดจะทำเรื่องส้วม ?”
“ส้วมมีอะไรน่าสนใจ ถึงขนาดเขียนเป็นเรื่องได้เชียวหรือ ?”
คนรู้จักบางคนถามไถ่เช่นนี้ เมื่อรับรู้ว่าสารคดีคิดจะทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับเรื่องส้วม และเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็อาจมีข้อสงสัย (แกมขบขัน) ทำนองเดียวกันว่า ส้วม--ในฐานะห้องสี่เหลี่ยมแคบเล็กสำหรับการขับถ่าย จะมีอะไรน่าสนใจนักหนา (แค่เริ่มจินตนาการถึงส้วม ก็ได้กลิ่นโชยมาแล้ว...)
ในฐานะผู้รับผิดชอบเขียนสกู๊ปเรื่องนี้ ผมจึงมีหน้าที่ต้องค้นหาความสำคัญของส้วมออกมาตีแผ่ให้จงได้ ผมพยายามครุ่นคิด ว่าส้วมมีคุณค่าความหมายในแง่มุมใดบ้าง และคนเราจะเห็นความสำคัญของส้วมมากที่สุดในช่วงเวลาใด...
แล้วเหตุการณ์ตอนหัวค่ำวันหนึ่งราว ๒-๓ ปีมาแล้ว ก็หวนกลับคืนสู่ความทรงจำ ผมขับรถอยู่บนถนนที่การจราจรติดขัด ขบวนรถแออัดยาวเหยียดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ช้า ๆ สลับหยุดนิ่ง อาหารมื้อเย็นชักจะไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว ก็เพราะ “ข้าศึกจากภายใน” มันทำท่าจะบุกทะลวงออกมาข้างนอก !
ท้องไส้ผมเริ่มปั่นป่วน ปวดมวนและลั่นโครกครากบางขณะ ลำไส้บีบตัวเป็นระยะ รู้สึกได้ว่ามือเท้าเย็นวาบและมีเหงื่อผุดซึมตามรูขุมขน สะบัดร้อนสะบัดหนาวในห้วงเดียวกัน ช่างเป็นช่วงเวลาแสนร้ายกาจ ชั่วขณะนี้ผมไม่นึกถึงอะไรอีกแล้ว ส้วมมีความสำคัญสูงสุดต่อชีวิต ! เพราะข้าศึกโจมตีหนักหน่วงขึ้นทุกที จนขนเริ่มลุกเกรียว กลัวจะต้านไม่อยู่ จำได้ว่าข้างหน้ามีปั๊มน้ำมัน แต่รถช่างแล่นช้าไม่ทันใจเอาเสียเลย ก็ข้าศึกมันบุกมาอีกระลอกแล้ว !
มองเห็นปั๊มน้ำมันอยู่ข้างหน้า เลี้ยวรถเข้าที่จอดแทบไม่ทัน ผมถลาเข้าห้องน้ำแล้วปิดประตูมิดชิด มือไม้สั่นขณะปลดกระดุมกางเกง เหตุการณ์ถัดจากนั้นไม่สามารถบรรยายได้ ผมออกมาจากห้องน้ำอีกครั้งด้วยความปลอดโปร่งเบาสบาย จิตใจอิ่มเอิบผ่องใสเหมือนมีชีวิตใหม่ ขอบคุณที่โลกนี้มีส้วม
ผมยกเหตุการณ์ข้างต้นมาเล่า ก็เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของส้วม แต่แล้วผมฉุกคิดถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา
หลายปีก่อนที่อินเดีย ผมนั่งรถโดยสารเที่ยวกลางคืนลงมาจากทางตอนเหนือของประเทศ มาถึงทุ่งข้าวย่านชานเมืองก่อนถึงกรุงนิวเดลีในตอนเช้าตรู่ (คล้ายนั่งรถผ่านนาข้าวจังหวัดอยุธยาก่อนถึงกรุงเทพฯ) รถแล่นช้าเอื่อย และเมื่อมองผ่านหน้าต่างรถออกไป ผมได้พบภาพที่ยังตรึงใจมาจนทุกวันนี้
ท่ามกลางนาข้าวสีเขียวโล่งกว้าง หมอกบางลอยเรี่ย บรรยากาศยามเช้าชวนรื่นรมย์ มีผู้ชายราว ๕-๖ คนนั่งกระจายอยู่ห่างกันบนแนวคันนา แต่ละคนนั่งยอง หันหลังให้ถนน ชายเสื้อรวบเหนือสะโพก ขอบกางเกงผ้าเนื้อบางรูดพ้นก้น ถูกแล้ว พวกเขากำลังนั่งถ่ายทุกข์กันอยู่นั่นเอง
ผู้ชายอีกคนเดินตัดคันนาตรงมาสู่ถนน เขาแวะทักชายผู้ซึ่งนั่งยองถ่ายทุกข์อยู่บนแนวคันนาตัดขวางระหว่างทางเดินผ่าน ทั้งสองพูดคุยกันด้วยท่าทางปรกติธรรมดา
ในวันนี้ผมนึกถึงภาพเหตุการณ์นั้นด้วยความคิดว่า การขับถ่ายของชาวอินเดียกลุ่มนั้นช่างเป็นเรื่องแสนธรรมดา เมื่อพวกเขาปวดท้อง ก็เพียงเดินออกมาถ่ายทุกข์กันท่ามกลางธรรมชาติโล่งกว้าง ไม่มีเรื่องอะไรต้องซ่อนเร้นปิดบัง เพื่อนเดินผ่านมายังคุยกันได้เป็นปรกติ
ผิดกับผมที่ต้องนั่งกระวนกระวายบนถนนที่รถติดในเมืองใหญ่ แล้วก็ต้องไปถ่ายทุกข์ในห้องสี่เหลี่ยมแคบเล็ก
ว่ากันว่าคนไทยสมัยก่อนก็ขับถ่ายกลางแจ้งเช่นกัน (เพียงแต่อาจไม่เปิดเผยเท่านี้) จากรูปแบบการขับถ่ายในที่โล่งโดยเปิดเผย มาสู่การขับถ่ายในห้องส้วมที่ปิดล้อมรอบด้าน ในระยะห่างระหว่างการขับถ่ายสองรูปแบบดังกล่าว ดูเหมือนจะมีรายละเอียดหรือกระบวนการบางอย่างที่ชวนคิดซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่ผมยังนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร
ระหว่างนี้ผมจึงมักนั่งคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เคยผ่านพบเกี่ยวกับเรื่องส้วมหรือพฤติกรรมการขับถ่ายอยู่บ่อย ๆ
------------- ๑. -------------
เมื่อลองนึกย้อนกลับไป ผมพบว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับส้วม การเข้าส้วม หรือพฤติกรรมการขับถ่ายที่อาจนับเป็นเหตุการณ์พิเศษ ติดค้างอยู่ในความทรงจำหลายเรื่องราว เป็นเพราะผมต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลงานสารคดีนอกสถานที่อยู่บ่อย ๆ ทั้งพอจะมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ้าง จึงได้พบว่าส้วมแต่ละแห่งที่ โดยเฉพาะส้วมแต่ละประเทศ ล้วนมีรูปแบบและการใช้งานที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทว่าประสบการณ์การเดินทางและพบเห็นโลกของผมอาจนับได้ว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับบุคคลอีกผู้หนึ่ง ชื่อของ ภาณุ มณีวัฒนกุล คงเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักอ่านที่ชื่นชอบงานสารคดีแนวการเดินทาง นักเขียนสารคดีรุ่นใหญ่ของเมืองไทยผู้นี้ผ่านการเดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก ผลงานที่ปรากฏมากมาย ทั้งในรูปบทความในนิตยสาร และหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับการเดินทางและเรื่องอื่น ๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ชีวิตเข้มข้น ความรอบรู้รอบด้าน และสายตาแหลมคมเต็มไปด้วยความช่างสังเกต
อาจฟังดูตลก เมื่อผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงบ้านพี่ภาณุที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกันในหัวข้อหลักเกี่ยวกับเรื่องส้วมล้วน ๆ โดยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นเรื่องรอง
เท่าที่ผ่านมา งานเขียนของพี่ภาณุครอบคลุมทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน วัฒนธรรม ภูมิประเทศและบ้านเมือง รวมทั้งอาหารการกินในท้องถิ่นต่าง ๆ ครั้งนี้เมื่อขอให้เขาพูดเรื่องส้วมและการเข้าส้วมของผู้คนนานาประเทศ มุมมองของเขาในเรื่องนี้ยังน่าสนใจและสนุกสนานเช่นเดิม
เดิมทีผมคาดว่าจะได้ฟังเรื่องราวประเภทโหด มัน ฮา หรือสีสันของชีวิตในการเข้าส้วมประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะส้วมของประเทศอินเดียและจีนที่นักเดินทางหลายรุ่นร่ำลือกันหนักหนา
ทว่าพี่ภาณุดูเหมือนไม่สนใจเรื่องทำนองนั้นสักเท่าไร...
“หลายคนที่ไปอินเดียกับจีนมักกลับมาบอกว่าห้องส้วมสกปรกมาก เราก็ เอ๊ะ ! ห้องส้วมมันเป็นที่ที่ต้องสกปรกอยู่แล้วหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่เห็นน่าจะประหลาดอะไรถ้าห้องส้วมสกปรก แต่ขณะที่ถ้าคุณไปประเทศอย่างเยอรมนีหรือสิงคโปร์ จะพบว่าหาส้วมสาธารณะโคตรยากเลย กลับไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องนี้ เรามัวไปคำนึงถึงเรื่องไฮจีน (hygiene-อนามัย) เรื่องความสะอาด
“อย่างประเทศอินเดีย เรื่องถ่ายเรื่องขี้อะไรนี่ เขามองเป็นเรื่องปรกติ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไร อยากถ่ายคุณก็ถ่ายไปสิ เก็บไว้ทำไมล่ะ หรือส้วมประเทศจีนเป็นห้องเปิดโล่ง แค่มีแผงกั้นเป็นช่อง คนนั่งขี้อยู่ เราเดินเข้าไปก็มองเห็นหมด ผมว่าเป็นปรัชญาที่ติดดินมากเลย มันสะท้อนถึงความเรียบง่ายในชีวิตน่ะ ผู้หญิงอินเดียนุ่งส่าหรี เวลาฉี่เขาแค่นั่งลง พอฉี่ลงไปแล้วก็เป็นธรรมชาติ ปัญหาคือเราชอบไปกำหนดว่า ไฮจีนต้องเป็นอย่างนี้ ๆ ๆ เข้าส้วมต้องมีน้ำราด ต้องมีอะไรมากมาย”
จากประเทศอินเดียไปสู่ประเทศปากีสถานบ้าง
“เมื่อตอนผมไปปากีสถาน พบว่าผู้ชายที่นั่นนั่งฉี่นะ แล้วเรื่องนี้มันมีเหตุผลไง เพราะประเทศนี้ลมแรง ภูมิประเทศก็เปิดโล่ง ถ้าคุณยืนฉี่ คุณเคยไหม ฉี่โดนลมตีกลับมาโดนเราน่ะ มันคุมไม่อยู่ แต่นั่งฉี่ไม่มีปัญหาเลย แล้วที่สำคัญ ชุดที่คนปากีฯ ใส่ (กางเกงขาพองผ้าเนื้อบาง) กระตุกเชือกทีเดียวหลุดเลย ง่ายนิดเดียว
“อย่างส้วมในปากีสถาน เขาจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นที่อาบน้ำละหมาด มีก๊อกน้ำไว้ให้ เพราะคนมุสลิมต้องละหมาดวันละ ๕ เวลา ในห้องน้ำจึงมีที่สำหรับล้างมือล้างเท้าให้สะอาด ตอนหลังถ้าผมไปสนามบินดอนเมือง ผมก็จะไปคุยกับพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำ ว่าอย่าไปว่าคนแขก (มุสลิม) เลย พวกนี้ชอบว่าคนแขกสกปรก เพราะมาล้างมือแล้วก็ชอบยกเท้าขึ้นมาล้างที่อ่างล้างหน้า จริง ๆ เป็นเพราะเขาจะต้องอาบน้ำละหมาด ห้องน้ำประเทศเขามันมีที่ล้างตัวด้วยไง แต่ทีนี้บ้านเราเป็นเมืองพุทธ เขาเลยไม่รู้จะทำยังไง ยกเท้าขึ้นไปล้างตรงอ่างล้างหน้าก็แล้วกัน ตรงนี้เราต้องเข้าใจ จะไปว่าเขาก็ไม่ได้
“ส้วมที่ตุรกีก็น่าสนใจ เพราะประเทศนี้เป็นรอยต่อของทวีปยุโรปและเอเชีย ส้วมจึงมีทั้งโถนั่งยองกับโถนั่งราบที่เป็นชักโครก พื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวมากหน่อยจะมีส้วมชักโครกเยอะ แต่ถ้าคุณไปพักในเกสต์เฮาส์ระดับชาวบ้าน หรือขึ้นไปทางเหนือแถบทะเลดำ ซึ่งไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ จะเป็นส้วมนั่งยอง ๆ และค่อนข้างมีกลิ่น
“ส่วนที่อเมริกา ส้วมเป็นแหล่งเพาะความเลวร้ายหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างผมไปปาร์ตี้ที่ซีแอตเทิล ผู้ชายผู้หญิงเข้าไป (เซ็นเซอร์) กันในห้องส้วม เป็นพฤติกรรมที่ตลกมากเลย ผมกำลังฉี่อยู่ ผู้หญิงหากินเดินออกมาทัก ฮัลโล่ ก๋าย เห็นมาหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง มันเป็นเรื่องปรกติของที่นั่น”
“ฝรั่งมีเขียนด่ากันในห้องน้ำบ้างไหมครับ” เพื่อนชาวสารคดีที่ไปกับผม เอ่ยถามพี่ภาณุ
“มีเยอะมาก ไม่ใช่ด่า แต่สอนกัน อย่างคนกรีก หรือตุรกี ซึ่งไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เวลาเข้าส้วมก็จะไปเขียนข้อความที่ฝาผนังด้วยภาษาอังกฤษ แล้วสะกดผิด เช่น police เขียนเป็น polise หรือ taxi ไปเขียนเป็น taci ทีนี้ไอ้พวกประเทศที่พูดอังกฤษเป็นภาษาแม่ มันจะชอบเข้าไปแก้คำผิด นึกออกไหม ฝรั่งเจอคำสะกดผิดมันจะไปแก้ว่า มันผิดตรงนั้นตรงนี้นะ เฮ้ย เขียนตกตรงนี้นะ ตรงนี้ต้องเติม s ต้องตัดตัวนี้ออก คือมันเห็นเป็นเรื่องสนุกไปด้วยไง แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า กูนี่แหละเจ้าของภาษา แล้วจะมีบางคนเขียนบอกว่า มึงจะไปสนใจทำไมเล่า จะเขียนผิดเขียนถูกก็ช่างมัน”
เท่าที่ฟังพี่ภาณุเล่ามาทั้งหมด ผมพอจับเค้าได้ว่า รูปแบบของส้วมและการใช้ส้วมในแต่ละประเทศมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น
“ใช่ ตรงนี้ผมว่ามันสำคัญมากเลย เพียงแต่ว่าเราเอามาตรฐานอะไรไปวัดว่าส้วมแบบไหนดีหรือไม่ดี ผมไปอินเดียครั้งหนึ่ง เจอคู่สามีภรรยาฝรั่งซึ่งมาเที่ยวได้ ๓ อาทิตย์แล้ว เขาบอกว่าคิดถึงอะไรมากที่สุดรู้ไหม ? อาหารของเขากับห้องส้วมมาตรฐานของเขา ที่มีโถส้วมแบบชักโครกน่ะ นั่นคือความหรูหรา ความสะดวกสบายไง แต่ทีนี้ถ้าเอามาเทียบกัน ผมว่าส้วมนั่งยอง ๆ มีประโยชน์มากกว่านะ มันเป็นการถ่ายที่ถูกสุขลักษณะที่สุดเลย เป็นท่านั่งที่อึเรา ‘พรวดลงไปเลย’ มันออกมาหมดเลยไง”
ตรงกับข้อสงสัยในใจผมก็คือ แท้จริงแล้วนักเดินทางควรปรับตัวให้เข้ากับส้วม (ท้องถิ่น) หรือส้วมต้องปรับปรุงตัวให้เข้ากับนักเดินทาง ? ทว่าโลกยุคปัจจุบันดูจะโน้มเอียงไปทางแบบหลังเสียมากกว่า ดังเช่นประสบการณ์ในประเทศลาวที่พี่ภาณุเล่าให้ฟัง
“ตอนที่ผมไปลาวเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว โรงแรมแห่งหนึ่งอยากรับฝรั่งนักท่องเที่ยว เลยทำห้องส้วมแบบใช้ชักโครก (โถส้วมนั่งราบแบบนั่งเก้าอี้) ทีนี้คนท้องถิ่นเข้าไปใช้ก็ขึ้นไปนั่งยองบนชักโครก ฝารองนั่งเลยแตก หรือที่ใช้ได้ คุณก็นั่งไม่ได้ เพราะขี้มันไปตกตรงที่เราต้องนั่งไง
“ลองคิดดูว่าส้วมแบบคอห่าน ตักน้ำราด ๒ ขันก็ลงหมดแล้ว แต่ส้วมชักโครกต้องใช้น้ำครั้งละเป็น ๑๐ ลิตร พื้นที่บางแห่งที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เช่นที่ลาดักในประเทศอินเดีย หรือเมืองฮุนซ่าที่ปากีสถาน หรือเมืองต้าลี่ในจีนก็ตาม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปจำนวนมาก ก็พากันสร้างส้วมชักโครกเพื่อรองรับ ทำให้ยิ่งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ระบบนิเวศแทบจะพังพินาศ”
แคว้นลาดักตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย ภูมิประเทศในที่สูงกว่า ๓,๕๐๐ เมตรทำให้ต้องพบกับสภาพอากาศอันรุนแรง ทั้งร้อนจัดและหนาวจัด ชาวลาดักส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าวบาร์เลย์เป็นหลัก
ส้วมหลุมของชาวลาดักสร้างเป็นห้องเล็กขนาดสองชั้นแยกจากตัวบ้าน ห้องส้วมอยู่ชั้นบน เจาะรูที่พื้นห้องสำหรับนั่งขับถ่าย จึงไม่ต้องใช้น้ำราด ของเสียที่ตกลงสู่ห้องชั้นล่างจะถูกคลุกเคล้าด้วยดินและเถ้าจากในครัว ทั้งช่วยดับกลิ่นและเร่งกระบวนการย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีเพื่อนำไปใช้ในแปลงเกษตร
ส้วมของชาวลาดักนับเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแสดงให้เห็นรูปแบบของส้วมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของผู้คนในดินแดนกันดาร ที่รู้จักนำทุกสิ่งทุกอย่างหมุนเวียนกลับมาใช้อย่างรู้คุณค่า ไม่ปล่อยให้สิ่งใดเสียเปล่าอย่างไร้ประโยชน์
ทว่าส้วมชักโครกที่รุกเข้าสู่ลาดักตามหลังนักท่องเที่ยว นอกจากทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ในฤดูหนาวอันยาวนานที่อุณหภูมิอาจลดต่ำถึงติดลบ ๔๐ องศาเซลเซียส ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน้ำในถังชักโครกจะกลายเป็นน้ำแข็งจนใช้ไม่ได้ นอกเสียจากติดเครื่องทำความร้อนให้มันเท่านั้น
เรื่องราวของส้วมนานาชาติจากความทรงจำพี่ภาณุช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมให้กว้างไกลขึ้น เพราะทำให้รู้ว่าโลกนี้มีหลากหลายวัฒนธรรม จึงทำให้ส้วมมีหลากหลายรูปแบบ
แล้วส้วมของไทยเราเองล่ะ มีความเป็นมาและพัฒนาการอย่างไร สอดคล้องกับสภาพชีวิตของคนไทยแต่ละช่วงเวลามากน้อยแค่ไหน ?
ผมยังมีนัดไปขอความรู้จากนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องส้วมไทยอย่างถ่องแท้
------------- ๒. -------------
“คุณไม่มีเรื่องอะไรจะทำแล้วเหรอ ?”
“ประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องอะไรให้ศึกษาแล้วหรือ ?”
หลายปีก่อน เมื่ออาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ ยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบางคนที่แสดงความสงสัยปนหงุดหงิดผ่านคำถามข้างต้น เมื่อรู้ว่าเธอกำลังทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย”
คงไม่แปลกหากจะมีคนสงสัยว่าเรื่องส้วมจะเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างไร หรือยิ่งกว่านั้น งานทางวิชาการควรมีความสง่างามเกินจะมาเกลือกกลั้วกับเรื่องส้วมและการขับถ่าย ทว่าในภายหลัง งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊กหนา ๓๙๒ หน้า
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างใคร่รู้ อาจารย์มนฤทัยชี้แจงไว้อย่างน่าสนใจว่า...
“การที่ผู้เขียนเลือกเรื่องส้วมและสุขภัณฑ์มาศึกษาวิจัย เนื่องจากการขับถ่ายและการชำระร่างกายของมนุษย์นั้นสามารถสะท้อนให้เห็นความสำคัญ ๓ ประการคือ
“ประการแรก เรื่องของการขับถ่ายและการชำระร่างกายเป็นกิจกรรมด้านชีววิทยาของมนุษย์ เช่นเดียวกับการกิน อยู่ หลับนอน และสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกชาติและทุกเผ่าพันธุ์ต้องมีอยู่ ไม่ว่าจะในยุคสมัยใดก็ตาม
“ประการที่สอง การขับถ่ายและการชำระร่างกายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของแบบแผนและพิธีกรรม เป็นการแสดงถึงความประณีตในวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนระดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ เป็นการควบคุมทั้งในแง่ของการสร้างกฎเกณฑ์และจัดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมกำจัดของเสียและการทำความสะอาดร่างกายของเรา
“ประการสุดท้าย วัฒนธรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายเป็นเรื่องของสังคม และสามารถสะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อชีวิตและต่อสังคม ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ใช้แสดงสถานภาพและสามารถโอ้อวดได้ทางสังคม การสร้างความสุขในทางโลกียวัตถุ และสะท้อนการบริโภคเชิงสัญญะในสังคมปัจจุบัน”
ผมได้ไปพบอาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
“การขับถ่ายของมนุษย์เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างไรครับ อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง ?” ผมเปิดประเด็นด้วยคำถามนี้ในช่วงแรก
“แน่นอน เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มของคนชั้นสูง เช่นกษัตริย์และเจ้านาย เพราะว่าการกิน อยู่ หลับนอน รวมถึงการขับถ่าย จะต้องมีรูปแบบที่เป็นพิธีรีตอง”
อาจารย์มนฤทัยอธิบายว่า ในสังคมเดิมของไทย ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย้อนขึ้นไปถึงสมัยอยุธยาและสุโขทัย พอจะจำแนกรูปแบบของชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งพฤติกรรมการขับถ่ายของผู้คนออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีฐานะดี, กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย, กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม
ในสังคมเดิม เฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์สร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ที่ลงบังคน หรือ ห้องบังคน เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า บังคน เช่นกัน เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ แล้วมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ว่า
“ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น”
(จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, ๒๕๑๐)
ขณะที่พระธรรมวินัยก็กำหนดไว้ให้พระสงฆ์ต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ หรือ เวจกุฎี ลักษณะเป็นหลุมถ่ายซึ่งอาจก่ออิฐ หิน หรือไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง แล้วมี เขียงรอง ทำจากแผ่นหินหรือแผ่นไม้ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ อาจมีฝาทำจากไม้ อิฐ หรือหิน ล้อมไว้เพื่อให้เป็นสถานที่มิดชิด
ทว่าสำหรับชาวบ้านทั่วไป พวกเขามีถ้อยคำใช้แสดงความหมายของการไปขับถ่ายว่า “ไปทุ่ง” “ไปท่า” และ “ไปป่า” เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านี้ โดยเฉพาะคำว่า “ไป” แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน
เมื่อใดที่ชาวชุมชนบ้านป่าปวดท้องถ่าย พวกเขาก็เดินไปหาที่เหมาะ ๆ ในป่าเพื่อปลดทุกข์ (ต้องระวังสัตว์ป่าทำร้าย) ขณะชาวบ้านทุ่งก็ต้องเลือกป่าละเมาะหรือพุ่มไม้ในบริเวณเรือกสวนไร่นาของหมู่บ้าน (ถือไม้ไปคอยไล่หมูไม่ให้เข้ามากวน) ส่วนชาวชุมชนที่อยู่ใกล้น้ำก็อาศัยขับถ่ายบริเวณท่าน้ำหรือริมน้ำโดยสะดวก เพราะสามารถใช้น้ำชำระได้เลย
“เรามองว่าพฤติกรรมการขับถ่ายจะสัมพันธ์กับสภาพสังคม แล้วเราก็ศึกษาตั้งแต่การใช้ถ้อยคำเลยว่า คนสมัยก่อนซึ่งอยู่ในสังคมเกษตรกรรม เวลาจะไปขับถ่าย เขาบอกว่า ไปทุ่ง ไปท่า คนที่ไปทุ่ง ขับถ่ายของเสียแล้วจะมีหมูหมามาจัดการให้ หรือปล่อยให้ย่อยสลายไปเอง ส่วนคนที่ไปท่า ของเสียก็จะมีปลามาตอดกิน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในสังคมเดิมที่เรียบง่ายและกลมกลืนไปกับวงจรธรรมชาติ แล้วขณะเขาไปทุ่ง ไปท่า ก็อาจมองหาผัก ผลไม้ หรือของกินอื่นกลับมาทำเป็นอาหารได้อีกด้วย แต่ว่าพอสภาพสังคมเปลี่ยน เริ่มกลายเป็นสังคมเมือง พฤติกรรมแบบ ไปทุ่ง ไปท่า มันใช้ไม่ได้อีก”
จากสังคมแบบบ้านทุ่งบ้านป่า ซึ่งแวดล้อมด้วยที่รกร้างว่างเปล่ามากพอที่ธรรมชาติสามารถจัดการอุจจาระ ของเสียจากร่างกายมนุษย์ ได้อย่างสมดุล เข้าสู่ยุคสังคมเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องเริ่มแออัด จึงเหลือพื้นที่ว่างไม่พอรองรับของเสียจากการขับถ่ายแบบ ไปทุ่ง ไปท่าได้
กรุงเทพมหานครคือเมืองหน้าด่านที่พบความเจริญรวดเร็วกว่าท้องถิ่นอื่นในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่เศรษฐกิจการค้าขยายตัว บ้านเรือนและพลเมืองก็หนาแน่นขึ้น รวมทั้งเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อาศัยของตนเอง การขับถ่ายนอกสถานที่ส่งผลให้ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลอง กลาดเกลื่อนด้วยกองอุจจาระ ดูไม่เจริญตา ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และที่สำคัญคือเป็นสาเหตุของโรคระบาด อีกทั้งเวจหรือถานพระที่มีอยู่ตามวัด ก็ปลูกสร้างแบบปล่อยอุจจาระทิ้งลงน้ำบ้าง หรือปล่อยทิ้งลงพื้นเรี่ยราด มีทั้งสัตว์มาคุ้ยเขี่ยและแมลงวันไต่ตอม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามา “จัดระเบียบ” การขับถ่ายของราษฎร เพื่อความเรียบร้อยสวยงามของบ้านเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หรือปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ รัฐโดยกรมสุขาภิบาลซึ่งก่อตั้งในปีเดียวกันนั้น ได้ดำเนินการจัดสร้างส้วมสาธารณะ หรือสมัยนั้นเรียกว่า “เวจสาธารณะ” ขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นรัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๔๐ มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม
ส้วมสาธารณะที่กรมสุขาภิบาลจัดสร้างในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ยาว กั้นแบ่งเป็นห้อง ประมาณ ๕-๖ ห้อง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนอยู่คับคั่ง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร หรือกระจุกตัวตามชุมชนวัด ทั้งบริเวณรอบวัด เช่น บริเวณหน้าวัดบรมธาตุ ข้างวัดกำโลยี่ ตรอกข้างวัดมหรรณ์ หรืออยู่ในวัด เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชบุรณะ นอกจากนี้ยังมีส้วมสาธารณะจำนวนมากตั้งอยู่ในบริเวณใกล้วังของเจ้านาย และตามสถานที่ราชการ เช่น โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น
ส้วมสาธารณะยุคเริ่มแรกเป็นส้วมถังเท รูปแบบคล้ายส้วมหลุม นั่นคือปลูกสร้างตัวเรือนคร่อมหลุมเอาไว้ มีฐานไม้ปิดหลุมเจาะรูเอาไว้สำหรับนั่งขับถ่าย แล้วมีถังสำหรับรองรับอุจจาระอยู่ใต้หลุมนั้น โดยมีบริษัทรับขนเทอุจจาระซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ เช่น “บริษัทสอาด” หรือ “บริษัทออนเหวง” เป็นผู้ดำเนินการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระไปเททิ้ง และเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ให้วันละครั้ง
นั่นหมายความว่า จากคนที่เคยขับถ่ายในที่โล่งกลางแจ้ง ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาสู่การขับถ่ายในห้องที่ปิดทึบ
“มันเป็นปัญหาใหญ่นะสำหรับคนที่เคยขับถ่ายในที่โล่ง แล้วคุณไปจับเขามาขับถ่ายในห้อง เพราะว่าส้วมหลุมหรือส้วมถังเทมันเหม็นมาก” อาจารย์มนฤทัยกล่าว
------------- ๓. -------------
คำกล่าวของอาจารย์มนฤทัยทำให้ผมนึกถึงเมื่อครั้งตนเองไปเก็บข้อมูลทำสารคดีเรื่องชีวิตชาวเลเผ่ามอแกน ที่หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อ ๔ ปีก่อน
เช้าตรู่ในหมู่บ้านของพวกเขาที่อ่าวบอน ผมเห็นชาวมอแกนชายหญิงทยอยเดินไปทางหัวหาด บริเวณที่ตั้งกลุ่มโขดหินน้อยใหญ่ระเกะระกะ เต็มไปด้วยช่องโพรง รับรู้ภายหลังว่าพวกเขาเดินไปถ่ายทุกข์ อันเป็นกิจวัตรก่อนเริ่มการงานในวันใหม่
ภายหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย ชาวมอแกนถูกทางการอพยพขึ้นฝั่งไปอยู่อาศัยชั่วคราวภายในวัดแห่งหนึ่ง ผมติดตามข่าวพวกเขาทางหนังสือพิมพ์ เฒ่าทะเลที่คุ้นเคยกันคนหนึ่งให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า เรื่องที่พวกเขารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจก็คือการเข้าส้วม ผู้ใหญ่และเด็กไม่คุ้นชินกับการขับถ่ายในห้องปิดทึบ จึงรู้สึกอึดอัด ทั้งหลายคนไม่รู้จักใช้น้ำราด อุจจาระจึงทับถมพอกพูนคาคอห่าน โชยกลิ่นเหม็นคลุ้งอบอวล
ความอึดอัดของคนมอแกนคงคล้ายสภาพจิตใจคนกรุงเทพฯ สมัยปี ๒๔๔๐ ที่ต้องหัดเข้าห้องส้วมถังเทเป็นครั้งแรก
“เมื่อประชาชนไม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติต่อส้วม จึงมีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง คือ อย่างแรก ราษฎรหลีกเลี่ยงการใช้ส้วม ทำให้ตามถนนหนทางและที่สาธารณะมีผู้แอบไปถ่ายไว้ อย่างหลังเมื่อราษฎรไปใช้ส้วมแล้วก็มีปัญหาตามมาอีก ดังสะท้อนได้จากข้อความข้างต้น คือเมื่อถ่ายแล้วก็ไม่รู้จักระมัดระวัง ทำให้เปื้อนเปรอะ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย นับเป็นปัญหาของการปรับตัวเพื่อใช้ส้วมจากถ่ายไม่เป็นที่ เป็นถ่ายถูกที่แต่ไม่ถูกต้อง”
(จากหนังสือ ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย, ๒๕๔๕)
อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับถ่ายของราษฎร โดยการสร้างเวจหรือส้วมสาธารณะ เป็นส้วมแบบถังเทในเขตเมือง และส้วมหลุมในเขตท้องถิ่น ควบคู่กับการออกกฎหมายบังคับ และมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืน ค่อย ๆ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ เห็นความสำคัญและเรียนรู้การใช้ส้วม กระทั่งเริ่มมีผู้สร้างส้วมไว้ในบ้านตนเองภายในช่วงระยะประมาณ ๑๐ ปี
กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่สำคัญ หรือหมุดหมายของการพัฒนาส้วมของไทย เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นต้นมา กระทั่งช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๑ ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่จัดตั้งโดยเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคพยาธิปากขอ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น “ส้วมหลุมบุญสะอาด” ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม สามารถแก้ปัญหาเรื่องแมลงวันและกลิ่นเหม็นของส้วมหลุมแบบเก่า ทั้งยังประหยัดน้ำและราคาถูก สามารถสร้างใช้ในท้องถิ่นได้สะดวก ดังนั้นส้วมคอห่านจึงเข้ามาแทนที่ส้วมหลุมในที่สุด และยังคงใช้แพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายขยายการดูแลพฤติกรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายของประชาชนในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการปลูกฝังถ่ายทอดเรื่องนี้ในการศึกษาผ่านหนังสือแบบเรียนของเด็ก นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนค่อย ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อส้วม
ประวัติศาสตร์ส้วมของไทยคงไม่สมบูรณ์ หากไม่กล่าวถึงการเข้ามาของส้วมชักโครกแบบตะวันตก เนื่องจากส้วมชนิดนี้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งมีราคาแพง และใช้ท่านั่งราบ (แบบนั่งเก้าอี้) ขณะที่ชาวบ้านเคยชินกับการขับถ่ายแบบนั่งยองมากกว่า ในระยะแรกคือช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๙๐ ส้วมชักโครกจึงยังไม่ค่อยแพร่หลายสู่คนทั่วไป คงมีเฉพาะตามวังและบ้านเรือนของผู้มีฐานะดีที่จบการศึกษาหรือเคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทั่งต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งถึงปัจจุบัน ดูเหมือนคนไทยทั่วไปโดยเฉพาะคนเมือง จะคุ้นเคยกับส้วมชักโครกจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ส้วมชักโครกได้รับการพัฒนาไปไกล ทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม และเทคโนโลยีการใช้งานล้ำยุคอย่างที่หลายคนอาจไม่คาดคิด ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงว่ายุคนี้ห้องน้ำกลายเป็นส่วนสำคัญภายในบ้านที่ขาดไม่ได้
“จะเห็นว่าพื้นที่สำหรับการขับถ่ายมันเดินทางเข้ามาหาเรา” อาจารย์มนฤทัยตั้งข้อสังเกต พร้อมขยายความว่า “เพราะบ้านไทยสมัยก่อนไม่มีส้วม คนไม่เห็นความจำเป็น พอปวดท้องเขาก็ออกไปทุ่ง ไปท่า แต่เดี๋ยวนี้ส้วมมันเข้ามาอยู่ในบ้าน กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว”
จากการไปทุ่ง ไปท่า มาสู่การเข้าส้วม จากการขับถ่ายท่านั่งยอง มาสู่การใช้ชักโครกนั่งราบแบบตะวันตก...
“จริง ๆ แล้วรูปแบบการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป มีส่วนสัมพันธ์กับหลายสิ่ง เช่น เครื่องแต่งกายเราก็เปลี่ยน วัฒนธรรมการกินเราก็เปลี่ยน สมัยก่อนผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น ถ่ายปัสสาวะแค่นั่งยอง ๆ คนไม่รู้หรอก แต่ผู้หญิงสมัยนี้นุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้น คงทำอย่างเดิมไม่ได้ หรือคนไทยสมัยก่อนกินน้ำพริก กินผักเป็นส่วนใหญ่ กินเนื้อสัตว์ไม่มาก การขับถ่ายจึงทำได้สะดวกรวดเร็ว เหมาะกับการนั่งยอง ๆ ไม่ทันเป็นตะคริวก็เสร็จเรียบร้อย แต่คุณลองนึกดูสิ ถ้าวันไหนคุณกินสเต๊ก หรือกินอาหารแบบฝรั่ง หรือกินเนื้อสัตว์มาก ๆ อย่างคนไทยสมัยนี้ การขับถ่ายย่อมใช้เวลานาน ซึ่งส้วมชักโครกแบบนั่งราบมันรองรับการนั่งนาน ๆ ได้ดีกว่า แล้วคนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้มักมีปัญหาเรื่องท้องผูกด้วย”
อาจารย์มนฤทัยยังชี้ชวนให้เราคิดต่อไปอีกว่า “แล้วบางทีมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเหมือนกันนะ อย่างในอดีตเวลาจะอาบน้ำ คนในหมู่บ้านหรือสาว ๆ จะชวนกันไปท่าน้ำหรือริมน้ำเป็นหมู่ หรือหลายคนไปขับถ่ายในป่า อาจนั่งรอบกอไผ่หรือในซุ้มไม้ใกล้ ๆ กัน ถ่ายไปส่งเสียงคุยกันไป เพื่อระวังภัยให้กันไปด้วย หรือสมัยก่อนตอนที่เริ่มมีห้องน้ำในบ้าน พี่กับน้องอาจเข้าอาบน้ำพร้อม ๆ กัน หรือมีสบู่ก้อนหนึ่งใช้ด้วยกันทั้งบ้าน แต่โลกของห้องน้ำในปัจจุบันเป็นโลกที่ปัจเจกมาก ๆ เราไปอยู่ในห้องน้ำเหมือนไปอยู่ในโลกส่วนตัว ขนาดของใช้ในห้องน้ำยังต้องแบ่งชนิดอย่างยิบย่อย ของใครของมัน เช่น ต้องมีสบู่ผู้ชาย สบู่ผู้หญิง สบู่เด็ก แชมพูผู้ชาย แชมพูผู้หญิง แชมพูเด็ก สารพัดชนิด”
ทว่ายิ่งห้องน้ำห้องส้วมปิดมิดชิด สร้างความรู้สึกถึงความเป็นโลกส่วนตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ทำให้ความรู้สึกอยาก “ล่วงล้ำ” ของคนภายนอกยิ่งรุนแรงมากขึ้น
“เราว่าพฤติกรรมการแอบดูคงติดตัวมนุษย์มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยนี้ แต่ในสมัยก่อน ผู้หญิงไปอาบน้ำกลางแจ้ง ที่ท่าน้ำ การแอบดูคงไม่ชัดเจน ผู้ชายอาจอ้างว่าเขาจะพายเรือผ่านมาที่ท่าน้ำเหมือนกัน แต่ในสมัยนี้ห้องน้ำมิดชิด กรณีการแอบดูจึงชัดเจนขึ้น หรือที่เรียกว่าถ้ำมอง เหมือนของที่เขาหวง เขาไม่อยากให้ดู พวกถ้ำมองยิ่งอยากล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น แล้วยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไป ระดับการแอบดูยิ่งรุนแรง อย่างเช่นปัจจุบันมีการตั้งกล้องแอบถ่ายภายในห้องน้ำ และในยุคที่สื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นเช่นนี้ เรื่องพวกนี้ก็ยิ่งกลายเป็นข่าวดัง”
แล้วอาจารย์มนฤทัยก็วกเข้าสู่หัวข้อเดิม “จากสมัยก่อนที่บ้านไทยไม่เคยมีส้วม มาถึงยุคที่คนสร้างส้วมภายในบ้านเพราะเห็นเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่องสุขภาพอนามัย ความสะอาด แต่เดี๋ยวนี้สำหรับคนบางกลุ่มแล้ว ส้วมเดินทางมาไกลเกินกว่าความหมายแค่เป็นที่ขับถ่ายธรรมดา คือได้ไปสู่ระดับของสิ่งที่สามารถแสดงถึงรสนิยมหรือสร้างภาพลักษณ์บางอย่างของเจ้าของ”
อาจารย์มนฤทัยยกตัวอย่างประกอบ “ส้วมชักโครกสมัยก่อนเวลากดน้ำจะมีเสียงดังใช่ไหม แต่สุขภัณฑ์ยี่ห้อดัง ๆ เวลาใช้งานต้องเงียบ ถึงจะดูมีรสนิยม อีกหน่อยมันอาจจะใช้แล้วไม่มีกลิ่นเหม็นด้วย ไม่รู้จะไปไกลถึงขนาดนั้นหรือเปล่า หรือบางครั้งเราค่อนข้างงงมาก เคยไปเดินดูอ่างอาบน้ำที่ราคาอาจแพงกว่าบ้านทั้งหลัง เช่น อ่างจาคุชชี่หรืออ่างน้ำวนบางอัน ราคา ๔ แสนหรือ ๕ แสนบาท”
ผมนึกถึงข้อเสนอของอาจารย์มนฤทัยที่ว่า ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์สามารถใช้เป็นสิ่งโอ้อวดได้ในทางสังคม และสร้างความสุขในทางโลกียวัตถุ คิดง่าย ๆ ว่า ห้องน้ำในบ้านสมัยก่อนอาจมีแค่ตุ่มน้ำตักอาบหรือฝักบัวธรรมดา คงยังไม่มีใครนอนแช่อ่างอาบน้ำจาคุชชี่ราคาหลักแสน พร้อมจิบไวน์อย่างสบายอารมณ์เช่นบางคนในยุคนี้
แต่ก่อนที่จะไปถึงหัวข้อดังกล่าว เราคงไม่อาจละเลยรายละเอียดเรื่องของสุขภาพอนามัย ซึ่งนับเป็นชุดความรู้สำคัญอีกแง่มุมหนึ่งของส้วมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
หลังได้รับความรู้จากการพูดคุยกับอาจารย์มนฤทัยเรียบร้อยดีแล้ว ผมเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่กลับเข้ากรุงเทพฯ เวลาต่อมาจึงมีนัดพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานการประชุมส้วมโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้
------------- ๔. -------------
ในวันที่ ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพงาน “การประชุมส้วมโลก” ครั้งที่ ๒ ณ ศูนย์การจัดประชุมและแสดงนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี
การประชุมครั้งนี้มีเจ้าภาพหลักคือกระทรวงสาธารณสุข และมีเจ้าภาพร่วม ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีหน่วยงานสนับสนุนการประชุมคือ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสมาคมที่เป็นสมาชิกของ World Toilet Organization จำนวน ๔๙ สมาคมจาก ๓๘ ประเทศ
ก่อนการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องส้วมจะจัดขึ้น ทีมเจ้าหน้าที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกตระเวนสำรวจส้วมสาธารณะในจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย เช่น จังหวัดนนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อำนาจเจริญ กำแพงเพชร พิษณุโลก เชียงราย กระบี่ และปัตตานี ในแต่ละกลุ่มสถานที่ ทั้งวัด ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ ตลาดสด โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ
ผมมีโอกาสได้เข้าพบ นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย เพื่อสอบถามท่านเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยในส้วม และสถานการณ์ส้วมสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน
“ส้วมมีความสำคัญอย่างไรครับ ถึงขนาดสามารถเป็นหัวข้อการประชุมระดับโลก ?” ผมถามข้อสงสัย
นพ. โสภณอธิบายว่า “ตราบใดที่คนเราต้องกินอาหาร ก็ต้องมีการขับถ่าย หลายคนพูดว่าการเข้าส้วมก็คือการปลดทุกข์ คนที่เคยปวดท้อง ทั้งถ่ายหนักถ่ายเบา ลองคิดถึงสภาพตอนนั้นของเราเองว่าทุกข์ไหม แล้วหลังจากเราไปถ่ายออก เกิดความสุขขึ้นมาใช่ไหม ดังนั้นถ้าเกิดไม่มีสถานที่สำหรับปลดทุกข์เลย ปวดอุจจาระปัสสาวะแล้วไม่สามารถหาที่ถ่ายได้เลยจะทนได้ไหม ทนไม่ได้แน่นอน
“และส้วมก็คือที่รองรับสิ่งที่คนเราขับถ่ายออกมา ก็คือกากอาหารที่เหลือใช้แล้ว ซึ่งบางครั้งมีแบคทีเรีย มีเชื้อโรค ยิ่งถ้าเราเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ หรือท้องเสีย ของเสียจากการขับถ่ายก็จะมีเชื้อโรคด้วย ถ้าเราจัดการกับเชื้อโรคเหล่านั้นไม่ดี มันอาจแพร่สู่สภาพแวดล้อม ติดต่อถึงผู้อื่นได้ ดังนั้นต้องมีการจัดการกับของเสียให้ถูกสุขลักษณะที่สุด นั่นคือต้องมีห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน
“ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าส้วมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน”
ถ้าอย่างนั้นส้วมที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานเป็นอย่างไร ?
นพ. โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศสำหรับส้วมสาธารณะของไทย โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ความสะอาด (Healthy) ความพอเพียงหรือการเข้าถึงบริการ (Accessibility) ความปลอดภัย (Safety) หรือใช้คำย่อว่า HAS
“เกณฑ์มาตรฐานของส้วมทั้งหมดมี ๑๖ ข้อ สำคัญจริง ๆ คือกลุ่มเรื่องความสะอาด เช่น พื้นส้วม หรือผนัง เพดาน โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ต้องสะอาด ไม่มีคราบสกปรก มีน้ำให้ชำระล้างเพียงพอ มีกระดาษชำระ มีสบู่ล้างมือ ถ้าเราถ่ายหนักแล้วไม่มีสบู่ เชื้อโรคอาจปนเปื้อนติดมือได้ หรือต้องมีถังขยะที่มีฝาปิดอยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม รวมทั้งต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น
“เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มที่ ๒ เรื่องการเข้าถึงบริการ หมายถึงต้องมีส้วมเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องมีส้วมนั่งราบที่เพียงพอ เพราะถ้ามีแต่ส้วมนั่งยอง กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่ข้อเข่าไม่ดี จะมีปัญหา
“กลุ่มสุดท้ายเรื่องความปลอดภัย เช่น สถานที่ตั้งของส้วมไม่ควรอยู่ในที่ลับตาคน ควรแยกห้องส้วมชายหญิง มีแสงสว่างเพียงพอ กลอนล็อกประตูแน่นหนา รวมทั้งพื้นห้องต้องแห้ง ผู้ใช้จะได้ไม่ลื่นล้ม”
“ความแห้งสะอาดก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปลอดเชื้อโรคในห้องน้ำด้วยใช่ไหมครับ ?” ผมถามตามที่เคยได้ยินมา
“ถูกแล้ว เพราะเชื้อโรคจะเจริญเติบโตในสภาพชื้นแฉะได้ดี แต่ถ้าส้วมแห้งสะอาด เชื้อโรคจะอยู่ได้ยาก หรือตายไปในเวลาไม่นาน”
นพ. โสภณยังขยายความเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัยในส้วมอีกว่า
“ผู้ที่ถ่ายเสร็จแล้วใช้กระดาษชำระเช็ด เราแนะนำว่าให้ทิ้งกระดาษนั้นลงไปในโถเลย แล้วกดชักโครกเพื่อให้กระดาษลงไปอยู่ในบ่อเกรอะบ่อซึม เป็นการกำจัด เราไม่อยากให้ทิ้งกระดาษชำระใช้แล้วใส่ถังขยะ ยิ่งถังขยะที่ไม่มีฝาปิด เชื้อโรคฟุ้งกระจายได้ หรือแมลงวันมาตอม แม้ถังขยะมีฝาปิด ในขั้นตอนการเก็บขยะ กระดาษทิชชูซึ่งปนเปื้อนอุจจาระก็อาจปะปนกับขยะทั่วไป เชื้อโรคก็กระจายไปได้ เราพยายามป้องกันสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรค”
ผลการสำรวจส้วมสาธารณะทั่วประเทศโดยเจ้าหน้าที่กรมอนามัย พบว่ามีจำนวนน้อยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศ (HAS) ๑๖ ข้อ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด
ข้อมูลระบุว่า จากการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๔๙ พบว่ามีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์เพียง ร้อยละ ๒.๕ เท่านั้น ปัญหาหลักที่พบคือเรื่องความสะอาด ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมนั่งราบสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ หรือใช้ถังขยะไม่ถูกสุขลักษณะ (ไม่มีฝาปิด) และไม่มีสบู่ไว้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในรอบหลังพบว่า มีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศจำนวนมากขึ้น การสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีส้วมผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ ๑๐.๖๑ และเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๑.๔๓ ในเดือนกันยายน
“จริง ๆ แล้วเราแบ่งการสำรวจเป็น ๒ ส่วน” นพ. โสภณกล่าวต่อ “ส่วนแรกไปสำรวจเชิงสุ่มตรวจส้วมสาธารณะ ตามเกณฑ์ HAS ๑๖ ข้อดังที่กล่าวแล้ว แต่ในส่วนที่ ๒ เราไปตรวจดูส้วมที่มีผู้ส่งเข้าประกวด เนื่องจากขณะนี้เรามีโครงการประกวดสุดยอดส้วมแห่งปี รับสมัครผู้เข้าแข่งขันโดยแบ่งสายเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มโรงเรียน วัด ตลาดสด ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยแต่ละกลุ่มแข่งกันเองในระดับจังหวัดก่อน เมื่อได้ตัวแทนก็แข่งในระดับเขตต่อไป แล้วดูว่าใครจะได้ที่ ๑ ของแต่ละกลุ่ม เพื่อมารับรางวัลในการประชุมส้วมโลก วันที่ ๑๖ พฤศจิกายนนี้
“ส้วมที่ส่งเข้าประกวดหลายแห่งมีคุณภาพดีมาก อยากพูดว่าเหมือนเป็น อันซีน ทอยเล็ต (unseen toilet) ก็ได้ สาเหตุสำคัญคือเจ้าของสถานประกอบการ อาจเป็นร้านอาหารหรือปั๊มน้ำมัน มักมีแรงจูงใจที่จะทำห้องน้ำให้ดี เช่นรายหนึ่งบอกว่า เขาเห็นความสำคัญของห้องน้ำ เพราะบางครั้งออกไปข้างนอก เข้าห้องน้ำที่อื่นไม่ได้เพราะสกปรก ก็เลยต้องทำห้องน้ำในสถานประกอบการของตนเองให้สะอาด หรือเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดยโสธร บอกว่าเขาอยากทำให้เป็นห้องน้ำชั้นหนึ่งของจังหวัด
“เจ้าของปั๊มน้ำมันหลายแห่งบอกว่า ห้องน้ำเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันด้วยซ้ำ เพราะถ้าห้องน้ำสะอาด คนจะขับรถมาแวะ แล้วเติมน้ำมันเขาด้วย บางแห่งลงทุนสร้างและตกแต่งห้องน้ำสี่ห้าล้านบาทก็มี” นพ. โสภณกล่าวพร้อมยกตัวอย่างรายชื่อปั๊มน้ำมันเหล่านั้นให้ฟัง
ผมถึงกับหูผึ่งเมื่อได้ยินว่าส้วมมีความสำคัญถึงขนาดเป็นจุดขายของบางสถานที่ จึงตั้งใจจะตามรอยไปพิสูจน์ด้วยตาตนเอง
------------- ๕. -------------
“ลูกค้าบางคนบอกกับเราว่า เวลาเขาขับรถมาจากภาคอีสานตอนบน จะต้องมาแวะที่ปั๊มน้ำมันของเราทุกครั้ง เพราะเป็นปั๊มใหญ่และมีห้องน้ำสะอาด”
อาทิตย์ จิระสุข ชายหนุ่มเจ้าของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์บอกกับผม
ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ให้บริการน้ำมันของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ตั้งอยู่ริมถนนสายเลี่ยงเมือง (บายพาส) สายนครราชสีมา-ขอนแก่น โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร
ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์จะมีอายุครบ ๒ ปี
ปั๊มน้ำมันมีพื้นที่กว้างขวางถึง ๑๐ ไร่โดยยังไม่นับรวมลานจอดรถขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ด้านหลัง จุดเติมน้ำมันตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่ มีตู้และหัวเติมน้ำมันมากเพียงพอ แต่นับเป็นพื้นที่ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับลานโล่งรอบด้านซึ่งเรียงรายด้วยร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของที่ระลึกประเภทของกิน-ของฝาก ศาลาขายอาหาร ร้านกาแฟสด ห้องน้ำ ทั้งยังปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มแทรกแซมระหว่างอาคารต่าง ๆ บรรยากาศที่นี่จึงสวยงามและปลอดโปร่งเหมือนยกเอาสวนสาธารณะและศูนย์การค้าขนาดย่อมมาตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน
สิบโมงเช้าของวันนั้น ผมนั่งคุยกับคุณอาทิตย์และพี่สาวของเขา-คุณมณีพร ทราสุนทร อยู่ที่โต๊ะบนระเบียงร้านกาแฟ คุณมณีพรหรือคุณเก๋อธิบายว่า ปั๊มน้ำมันลักษณะนี้สร้างจากแนวความคิดใหม่ที่ ปตท. สนับสนุน นั่นคือเป็นปั๊มน้ำมันที่มีพื้นที่กว้างขวาง ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านค้า ร้านกาแฟ และห้องน้ำสะอาด เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หัวข้อหลักที่ผมสนใจในช่วงนี้ยังคงเป็นเรื่องส้วมเหมือนเคย (แต่ขณะที่คุยกัน เราใช้คำเรียกโดยรวมว่าห้องน้ำ)
“ห้องน้ำของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์เข้าประกวดสุดยอดส้วมของไทยด้วยใช่ไหมครับ” ผมถาม
“ใช่ค่ะ ขณะนี้ (กลางเดือนตุลาคม ๒๕๔๙) ติดอันดับ ๑ ใน ๙ จากห้องน้ำของปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ กำลังจะคัดเลือกว่าใครจะได้เป็นที่หนึ่ง” คุณเก๋ตอบ
หลายคนอาจสงสัยว่า ห้องน้ำปั๊มน้ำมันที่กำลังลุ้นว่าจะเป็นที่หนึ่งของประเทศมีสภาพเช่นไร ? จากที่ผมได้เข้าไปสำรวจดูแล้วในห้องน้ำชาย ภายในนั้นยังมีสภาพใหม่ ปราศจากกลิ่นเหม็น พื้นและผนังแห้งสะอาด ด้านหนึ่งเป็นห้องส้วมซึ่งมีอยู่หลายห้อง ลองชะโงกหน้าเข้าไปดูก็เห็นโถชักโครกแบบนั่งยองสะอาดเอี่ยม มีสายน้ำฉีดชำระ ขณะที่เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้านอกห้องส้วม ก็มีการจัดเตรียมสบู่เหลวให้อย่างเรียบร้อย
โถปัสสาวะติดตั้งเรียงรายเป็นแถวอยู่ที่ผนังหลังห้องน้ำในมุมค่อนข้างมิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ แต่ละโถเป็นสีขาวแวววาว ดูสะอาดปราศจากคราบใด ๆ เกาะแม้แต่น้อยนิด ทั้งไม่อุดตันจนมีน้ำสกปรกขังอยู่เช่นห้องน้ำของปั๊มน้ำมันอื่นที่เคยเจอ
“ห้องน้ำชายของเราจะมีห้องส้วมแบบนั่งยอง ๑๐ ห้อง และมีโถปัสสาวะ ๑๖ โถ” คุณเก๋ให้รายละเอียด “ส่วนห้องน้ำหญิงแบ่งเป็นส้วมแบบนั่งยอง ๑๔ ห้อง และส้วมแบบนั่งราบอีก ๑๐ ห้อง นอกจากนั้นเรายังมีห้องน้ำคนพิการ และห้องน้ำสำหรับพระภิกษุอีก ๒ ห้อง เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องปะปนกับคนอื่น”
พร้อมเปิดเผยว่า งบประมาณค่าก่อสร้างและตกแต่งห้องน้ำแห่งนี้รวมเป็นเงินประมาณ ๔ ล้านบาท
ผมถามทั้งสองคนว่าทำไมถึงให้ความสำคัญกับห้องน้ำขนาดนี้ ?
คุณอาทิตย์เป็นผู้ตอบ “เพราะห้องน้ำถือว่าเป็นจุดสำคัญของปั๊มน้ำมัน ในมุมมองของผม คนเดินทางเขาต้องเลือกห้องน้ำสะอาด เวลาลูกค้ามาที่นี่ ส่วนมากเข้าห้องน้ำเป็นอันดับแรก เขาขับรถมาเหนื่อย ๆ ได้เข้าห้องน้ำสะอาด สภาพแวดล้อมของปั๊มก็ดี ได้เดินดูโน่นดูนี่ เขาก็สบายใจ ประทับใจ”
เรื่องความสะอาดนับเป็นหัวใจสำคัญของห้องน้ำ ทางปั๊มน้ำมันจึงจ้างพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำตลอด ๒๔ ชั่วโมง เท่าช่วงเวลาที่ปั๊มน้ำมันเปิดบริการ
“เราแบ่งพนักงานทำความสะอาดเป็น ๒ กะ ทำงานกะละ ๑๒ ชั่วโมง โดยกะหนึ่งมีพนักงาน ๔ คน ทำความสะอาดห้องน้ำชาย ๒ คน และห้องน้ำหญิงอีก ๒ คน แม้ต้องใช้พนักงานมากหน่อย แต่เราต้องรักษามาตรฐานความสะอาด”
คุณเก๋เสริมว่า “ที่พนักงานต้องทำความสะอาดตลอดเวลา เพราะห้องน้ำของเราเป็นแบบเปียก การดูแลทำความสะอาดต้องถี่มาก พอลูกค้าออกมาจากห้องน้ำ ก็แทบจะต้องเข้าไปเช็ดทันที”
ห้องน้ำแบบเปียก ก็คือส้วมที่มีสายฉีดชำระหรืออ่างน้ำตักราดและชำระ ส่วนห้องน้ำแบบแห้งนั้นมีแต่โถชักโครกและกระดาษชำระ ไม่มีสายฉีดหรืออ่างน้ำแต่อย่างใด พื้นห้องจึงแห้งตลอดเวลา ห้องน้ำแบบแห้งส่วนมากอยู่ในเขตตัวเมืองใหญ่หรือสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ
ทั้งสองคนบอกผมว่า ที่เลือกทำห้องน้ำแบบเปียก เพราะต้องการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเคยชินในการเข้าส้วมของคนท้องถิ่น
“ตอนแรกพวกเราก็คุยกันว่า จะเอาห้องน้ำแบบเปียกหรือแบบแห้ง ห้องน้ำแบบแห้งทำความสะอาดง่ายกว่า เพราะมันไม่เลอะ แต่ทีนี้เราอยู่ทางอีสานใช่ไหมครับ คนอีสานจะไม่ชินกับห้องน้ำแบบแห้ง เวลาเขาเข้าห้องน้ำจะต้องใช้น้ำชำระ เราเลยตกลงทำห้องน้ำแบบเปียก เพราะฉะนั้นห้องน้ำจึงดูแลยากขึ้นอีกหน่อย เช่นบางครั้งลูกค้าใส่รองเท้าเลอะขี้ดิน เดินเข้ามาพื้นห้องน้ำก็สกปรก พนักงานของเราก็ไปทำความสะอาด แต่ไม่มีบ่น ไม่เป็นไร”
ผมถามว่าพฤติกรรมลูกค้าเข้ามาใช้ห้องน้ำสร้างปัญหาอย่างอื่นหรือไม่ ? ทั้งสองคนช่วยกันตอบ
คุณอาทิตย์ “มีเรื่องของในห้องน้ำหาย เช่น ขันตักน้ำ หรือต้นไม้ดอกไม้ที่เราใส่กระถางประดับเพื่อความสวยงาม เช่น ซื้อกล้วยไม้ ตะบองเพชร มาวางแค่ ๒ ชั่วโมง พอมาดู หายไปแล้ว บางครั้งเราติดกาวที่กระถางต้นไม้แปะกับพื้น คนยังแซะเอาไปได้ ที่เขี่ยบุหรี่และถังขยะสแตนเลสยังหายเลย อันใหญ่ ๆ เขายังยกไปทั้งอันเลย เราก็พยายามบอกพนักงานให้ดูแลหน่อย”
คุณเก๋ “บางทีตอนกลางคืนพนักงานเขาไปกินข้าว หรือเผลอทำอย่างอื่นบ้าง ของเลยหาย อย่างพวกหัวสายฉีดชำระ หรือสายฉีดชำระทั้งเส้น ก็มีคนเอาไป บางครั้งตะขอแขวนเสื้อผ้าในห้องส้วมก็หาย”
คุณอาทิตย์ “บางคนเข้าไปใช้ห้องส้วมคนพิการซึ่งเป็นโถชักโครกแบบนั่งราบ เขาไม่เคยใช้ เลยขึ้นไปนั่งยองเอาเท้าเหยียบบนฝารองนั่ง จนฝารองนั่งแตก ต้องคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ”
คุณเก๋ “หรือลูกค้าบางคนกดชักโครกแรงจนที่กดหลุด น้ำพุ่งก็มี แต่ทางเราก็ต้องทำใจ ถึงอย่างไรก็ต้องให้บริการลูกค้า”
ผมสงสัยว่าแต่ละวันมีผู้เข้าใช้ห้องน้ำกี่คน ?
“ปรกติแล้วประมาณหมื่นคนต่อวัน” คุณอาทิตย์บอก “เพราะผมเคยให้คนมายืนนับตลอด ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลา ๓ วัน เขาบอกว่าเฉลี่ยแล้วตกประมาณวันละหมื่นคน ตอนสาย ๆ อย่างนี้รถเข้ามายังไม่มากเท่าไร วันเสาร์อาทิตย์จะมากกว่านี้ ช่วงเย็นบางวัน รถบัสของบริษัทนำเที่ยวเข้ามาที ๑๐ คัน ๒๐ คัน เข้ามาจอดจนเต็มลานจอดรถด้านหลัง เขามาเติมน้ำมัน ปล่อยคนกินข้าว เข้าห้องน้ำ
“แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่หรือสงกรานต์ คนมากกว่านี้ประมาณ ๓-๔ เท่าได้ เข้ามาตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลย คนต้องยืนต่อแถวเข้าห้องน้ำ บางครั้งเป็นอย่างนี้ ๓-๔ วันติดกัน พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำต้องทำงานหนัก และเหนื่อยมาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลเราจึงต้องจ้างพนักงานทำความสะอาดมาเสริม และเพิ่มค่าแรงให้เป็นพิเศษ”
คุณอาทิตย์ยังกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์เป็นที่รู้จักดีในหมู่รถบัสรถทัวร์ส่วนใหญ่ ว่าจะต้องมาแวะจอดพักรถที่นี่ เพราะตรงนี้เป็นเส้นทางผ่านของรถจากอีสานตอนบนทั้งหมด เราเคยคุยกับคนขับรถบัสที่มาจากขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือจังหวัดอื่น ๆ เขาบอกว่าจะขับรถรวดเดียวมาจอดพักที่นี่ แล้วเขาจะตียาวเข้าไปส่งผู้โดยสารเข้ากรุงเทพฯ เลยทีเดียว”
แม้ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีก็จริง ทว่าบนถนนเส้นเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงยังมีปั๊มน้ำมันแห่งอื่นตั้งเรียงรายเป็นระยะ เหตุที่ปั๊มน้ำมันแห่งนี้กลายเป็นจุดแวะพัก-จุดนัดพบของรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นเพราะบรรยากาศและความสะดวกสบายจากบริการนานาประเภทพร้อมสรรพ
ซึ่งย่อมนับรวมถึงห้องน้ำหรือส้วมที่สะอาดได้มาตรฐาน อันถือเป็นจุดขายสำคัญของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์อย่างไม่ต้องสงสัย
------------- ๖. -------------
นอกจากปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์แล้ว ในจังหวัดนครราชสีมายังมีส้วมของสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอาจนับเป็น “จุดขาย” ได้เช่นเดียวกัน
“ตะลึง ! ส้วมทองคำ วัดเมืองโคราช เจ้าของไอเดียเป็นเจ้าอาวาส อดีตพระเลขาฯ ‘หลวงพ่อคูณ’ สร้างมาตั้งแต่ปี ๔๕ ไว้สำหรับต้อนรับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนแขกบุคคลสำคัญ เป็นส้วมแบบคอห่านนั่งยอง ๆ มีด้วยกัน ๖ ห้อง อยู่ในกุฏิวีไอพี เวลาเปิดไฟจะเหลืองอร่ามไปทั้งห้อง แต่ชาวบ้านเห็นแล้วไม่กล้าใช้เพราะดูอลังการเกินไป เจ้าอาวาสระบุไม่ได้สร้างไว้โชว์ใคร คิดว่าน่าจะสวยดีเลยลองสร้างดู ตอนนี้เริ่มมีคนมาเที่ยวชมแล้ว”
(ที่มา : หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ๑๙ ม.ค. ๔๙)
เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ เรื่องราวของ “ส้วมทองคำ” กลายเป็นข่าวดังเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งออกอากาศทางรายการโทรทัศน์หลายช่อง ผู้ติดตามข่าวสารหลายคนสนใจถึงขนาดเดินทางไปดูให้เห็นกับตาถึงสถานที่จริง นั่นคือ วัดหนองบัวทุ่ง อ. คง จ. นครราชสีมา
กลางเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ผมและทีมงาน สารคดี ก็เดินทางมุ่งหน้าสู่วัดหนองบัวทุ่ง ซ้ำรอยคนหลายกลุ่มหลายคณะผู้มาก่อนด้วยแรงดึงดูดจากส้วมทองคำ
ใครจะคาดคิดว่ามีคนสร้างส้วมเป็นทองคำ เมื่อโลหะสูงค่าอย่างทองคำต้องมารองรับอุจจาระซึ่งเป็นของเสียและของเหม็นจากร่างกาย อาจเพราะความขัดแย้งขั้นรุนแรงเช่นนี้เองที่กระตุ้นความสนใจของใครต่อใคร และนักข่าวคงเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่มีความรู้สึกไวต่อเรื่องราวทำนองนี้
วัดหนองบัวทุ่งที่พวกเราไปถึงมีพื้นที่กว้างขวาง อาคารขนาดใหญ่หลายหลังปลูกกระจัดกระจาย ทว่าบรรยากาศค่อนข้างเงียบ ผมนึกแปลกใจตรงที่ไม่มีป้ายใด ๆ บอกทางไปส้วมทองคำเลย มีเพียงป้ายที่เขียนว่า ทางไปชมโบสถ์เบญจรงค์ เชิญนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ทางไปชมกุฏิเสาใหญ่ ฯลฯ
ผมได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านบอกว่าวัดแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ ๘๐ ไร่ แต่มีพระภิกษุเพียง ๗ รูปเท่านั้น
ผมสอบถามท่านเรื่องส้วมทองคำ ท่านตอบว่า
“ต้องไปคุยกับพระครูปลัดนุช (หลวงตานุช) เพราะท่านเป็นผู้คิดสร้างส้วมทองคำ คือหลวงตาท่านก็ไม่ได้ห้ามคนอื่นพูดเรื่องส้วมทองคำหรอก แต่ถ้าท่านพูดรูปเดียว การให้ข้อมูลก็น่าจะไปแนวทางเดียวกัน”
พระครูปลัดนุชเคยเป็นเลขานุการของหลวงพ่อคูณ ทว่าไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวทุ่ง ท่านเป็นพระอาวุโสของวัดที่ทุกคนให้ความเกรงใจ ปัจจุบันไปช่วยให้คำปรึกษาอยู่ที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี กำลังสร้างมหาวิหารซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพระเอกภาพยนตร์ไทย สรพงษ์ ชาตรี เป็นประธานมูลนิธิ
ในที่สุดพระรูปที่ผมคุยด้วยก็ยอมพูดเรื่องส้วมทองคำ แต่ท่านขอไม่เปิดเผยตัว
“คือบางทีข่าวเรื่องนี้ออกไป แล้วก็มีคนวิจารณ์กัน บางคนเป็นนักวิชาการ อาตมาเคยอ่านเจอ เขาว่าไม่น่าเอาทองมาทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสม บางทีกลายเป็นภาพลบของทางวัด ก็เลยไม่อยากจะให้ข่าวอะไร
“อาตมาไม่อยากจะพูดอะไร แล้วแต่คนเขาจะพูดกันไป พูดไปทางที่ดีมันก็ดี พูดไปทางไม่ดีมันก็ดีอย่างหนึ่ง คือคนก็อยากมาดูนั่นแหละ
“มีคนมาเที่ยวชมส้วมทองคำอยู่เรื่อย ๆ หรือครับ ?” ผมถาม
“จ้ะ เขามาทุกวัน แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ก็คนแถว ๆ นี้บ้าง หรือคนทางไกล บางทีเขามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ อาจจะไปดูปราสาทหินพิมายมาก่อน เผอิญตรงนี้เป็นทางผ่าน เขาก็แวะเข้ามาบ้าง”
หลวงพ่อเน้นว่า “จริง ๆ แล้วส้วมทองคำไม่ใช่จุดขายของวัด หลวงตาท่านไม่ได้เน้นตรงนี้ แต่คนกลับฮือฮาเรื่องนี้ มันอาจดูแปลกก็ได้ ทั้งที่วัดเรามีพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วเรากำลังสร้างโบสถ์เบญจรงค์ทั้งหลัง มีพระหยกที่นำมาจากพม่า เป็นหยกขาว หนักประมาณ ๕ ตัน และหยกเขียว หนักประมาณ ๓ ตัน ปรากฏว่าคนรู้จักวัดนี้จากส้วมมากกว่าส่วนอื่น ส่วนมากโยมที่มาก็ถามหาก่อนว่าส้วมทองคำอยู่ตรงไหน
“ความจริงทางวัดสร้างส้วมทองคำมาประมาณ ๕ ปีแล้ว แต่ไม่เคยเป็นข่าวหรอก ปีก่อนตอนวัดเรามีงาน แล้วมีพระชั้นผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ มาร่วมงาน นักข่าวมาด้วย แล้วคงไปเห็นส้วมทองคำเข้า เขาก็เลยจับไปเล่น ตรงนี้มันคงเป็นข่าวได้
“เท่าที่อาตมาเคยเห็น ส้วมทองคำได้ออกโทรทัศน์รายการ ‘แปลกจริงหนอ’ แต่ช่องอะไรจำไม่ได้ ช่วงแรก ๆ มีพวกรายการทีวีติดต่อมาบ้าง แต่หลวงตาไม่ยอมไปไหน”
หลวงพ่อยังเสริมว่า “พระครูปลัดนุชท่านเป็นพระที่ทำอะไรทำจริง ญาติโยมเห็นว่าทำจริงจังเลยมีคนเข้ามาช่วยอยู่เรื่อย ๆ จนวัดมีความเจริญ จริง ๆ แล้ววัดบ้านนอกพัฒนามาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าดีแล้ว”
ผมตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะไปขอพบพระครูปลัดนุช แต่วันนี้ขอไปดูส้วมทองคำก่อน
หลวงพ่อบอกให้พระลูกวัดรูปหนึ่งเดินนำพวกเราไป ทางเดินตัดผ่านสวนไม้สักร่มรื่นไปยังกุฏิเสาใหญ่ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ปลูกสร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ ส้วมทองคำทั้ง ๖ ห้องอยู่ที่อาคารนี้ โดยชั้นล่างมี ๒ ห้อง ส่วนชั้นบน ๔ ห้อง
หลวงพี่นำผมและช่างภาพขึ้นบันไดไปชั้น ๒ ของกุฏิโอ่โถง ผ่านเข้าประตูห้องพักที่กั้นเป็นสัดส่วน ส้วมทองคำห้องหนึ่งอยู่ภายในนี้เอง
ห้องส้วมไม่กว้างเท่าไรนัก ขนาดประมาณ ๒ คูณ ๒ เมตร เมื่อหลวงพี่เปิดประตูเข้าไป สิ่งแรกที่สะดุดตาก็คือ ส้วมคอห่านแบบนั่งยอง ฐานสูงจากพื้นประมาณ ๒๐ เซนติเมตร โดดเด่นด้วยสีทองอร่าม สุกปลั่งวาววับเมื่อสะท้อนแสงไฟจากเพดาน พื้นห้องปูกระเบื้องสีเงินคล้ายเคลือบด้วยโลหะ ยิ่งทำให้ทั้งห้องเป็นประกายเรืองรองจับตา
ขณะช่างภาพกำลังขะมักเขม้นถ่ายภาพส้วมทองคำ ผมลงมาข้างล่างเพื่อพบกับตาบุญ เชดนอก ผู้เฒ่าวัย ๗๒ ปี แกเป็นคนดูแลประจำกุฏิเสาใหญ่ นอนเฝ้าที่นี่ทุกคืน และเป็นคนทำความสะอาดส้วมทองคำด้วย
ชายชรายินดีเล่าเรื่องราวหลายแง่มุมของส้วมทองคำให้ผมฟัง
“เวลาทำความสะอาดส้วมทองคำ ผมใช้ฟองน้ำชุบน้ำยาล้างห้องน้ำถูคอห่าน ใช้แปรงขัดส้วมไม่ได้ เดี๋ยวทองจะลอก” ตาบุญเผย
ผมเคยอ่านข่าวว่าโถส้วมนั้นเป็นเซรามิก เคลือบด้วยทองเค
“สมัยก่อน กุฏิเสาใหญ่หลังนี้เป็นที่พักรับรองของพระชั้นผู้ใหญ่และพวกข้าราชการคนใหญ่คนโต” ตาบุญเล่าต่อ “ตั้งแต่ผมมานอนเฝ้าที่นี่ได้ ๒ ปีมาแล้ว ยังไม่มีคนเข้าพักเลย”
ผมถามตาบุญว่ามีคนมาเที่ยวดูส้วมทองคำบ่อยไหม ?
ตาบุญบอก “ตอนต้นปีที่ส้วมทองคำดังใหม่ ๆ สัก ๔-๕ เดือนมานี่ คนมาหลาย บางวัน ๓๐-๔๐ คน พวกฝรั่งกับญี่ปุ่นก็มาเบิ่ง มีล่ามนำมา เดี๋ยวนี้คนมาดูน้อยลงแล้ว วันหยุดอาจสัก ๙-๑๐ คน วันธรรมดาก็มีมาเรื่อย ๆ เขาบอกเห็นจากโทรทัศน์ เลยพากันมา”
“แล้วคนที่มาดูเขาเข้าไปฉี่ไปอึบ้างไหมครับ ?” ผมสงสัยจริง ๆ ว่าจะมีคนกล้าถ่ายทุกข์ใส่ส้วมสีทองอร่ามแบบนี้หรือเปล่า
“บางทีมีคนมาดูเป็นกลุ่มใหญ่ เกือบ ๒๐ คน เขาเข้าไปดูทุกห้อง พอไปกันหมดแล้ว ผมเข้าไปในห้องส้วมก็ได้กลิ่นเหม็นจนทนไม่ไหว ต้องใช้น้ำยาดับกลิ่น คิดว่าเขาคงใช้กันบ้างเหมือนกัน”
“แล้วตาบุญอยู่ที่นี่มานาน เคยใช้ส้วมทองคำบ้างหรือเปล่าครับ ?”
“ผมไม่กล้าใช้ เพราะเห็นบางคนเขามาแล้วเคารพจริง ๆ” ตาบุญเล่าพร้อมขยายความ “เขาไหว้สิครับ พวกคนอีสานที่อายุมาก ๆ เขามาเห็นส้วมทองคำ เขากราบครับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังมี คนแก่อายุ ๖๐-๗๐ มาถึงก็มาไหว้ นั่งไหว้แบบศรัทธาเลยละ ผมเห็นแล้วอ่อนใจ บางคนรู้ว่าผมนอนที่นี่ก็ถามว่าเคยได้เลข (หวย) ได้อะไรไหม”
ตาบุญว่าต่อ “แต่คนกรุงเทพฯ ที่มาดู เขาไม่ค่อยยินดีดอก เขาว่าทำทำไม ทำเพื่อประโยชน์อะไร ผมไม่รู้จะตอบยังไง ยิ่งเจ๊กมาถึงก็ว่า เอาของอย่างนี้ (ทองคำ) มาทำส้วมไม่ถูก คนจีนเขาไม่ให้ทำกัน เพราะทองคำไม่ใช่ของธรรมดา จะอยู่ไม่สบาย อยู่ไม่มีความสุข เขาว่างั้น คนผัวมาพูดกับผม แต่เมียมาห้ามเอาไว้”
“แล้วนักข่าว (แบบพวกเรา) มาบ่อยไหมครับ ?” ผมถาม
“ตอนช่วงนั้น (ต้นปี) มาบ่อย แต่หลวงตานุชแกไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์ มีวันหนึ่งเหลือผมอยู่คนเดียว พวกนักข่าวทีวีมากัน ผมไม่ให้ถ่ายเนาะ มันบอก-ตา ผมขอถ่ายรูปโถส้วม คนหนึ่งกันผมเอาไว้ ไม่ให้ไปไหนเลย ที่เหลือขึ้นไปเปิดไฟ ถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อย พอลงมาก็แบกกล้องถ่ายรอบกุฏิไม่รู้กี่รอบ ตกค่ำมีข่าวออกทีวี พวกลูกหลานผมมันเห็น นี่มันตาฉันนี่นา ! ว่าอย่างงั้น”
ก่อนจากกันวันนั้น ตาบุญเล่าประวัติตัวแกและวัดหนองบัวทุ่งให้ผมฟังว่า
“ผมเกิดที่หมู่บ้านหนองบัวทุ่งนี่แหละ วัดนี้ตั้งมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดสองสามปี สมัยก่อนเป็นวัดเล็ก ๆ เพิ่งเจริญตอนปี ๓๖ ขึ้นทุกอย่าง ขึ้นโบสถ์ ศาลา กุฏิ ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ หลวงตานุชเป็นคนดูแลจัดการทุกอย่าง”
กระทั่งวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้เข้านมัสการพระครูปลัดนุช รัตนวิชไชโย ผู้อยู่เบื้องหลังความเจริญของวัดหนองบัวทุ่ง แต่พวกเราต้องเดินทางไปพบท่านที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี ตั้งอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว จ. นครราชสีมา เช่นเดียวกัน
มหาวิหารหลวงปู่โตสูงตระหง่านโดดเด่นมองเห็นแต่ไกล แม้ขณะนี้ยังตกแต่งไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เปิดให้คนเข้าไปกราบไหว้แล้ว ภายในประดิษฐานรูปหลวงปู่โตองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ขนาดมหึมาสีดำลักษณะคล้ายคนจริง ตัวมหาวิหารนั้นตั้งอยู่บนเกาะที่แวดล้อมด้วยบึงน้ำและลอนเนินปกคลุมด้วยดงดอกทานตะวันที่กำลังออกดอกสีเหลืองงามสะพรั่ง
ผมสืบเสาะไปจนถึงกุฏิหลังน้อยที่ตั้งอยู่ในมุมสงบ พระครูปลัดนุชหรือหลวงตานุชไม่ได้มีท่าทีน่าเกรงขามเช่นที่ผมคิด กลับเป็นพระภิกษุสูงวัยผู้ใจดีมีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นกันเองกับพวกเรา
ผมจึงเรียนถามท่านถึงที่มาของส้วมทองคำ
“ส้วมทองคำสร้างเมื่อประมาณปี ๔๕“ หลวงตานุชกล่าว “ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าอยากจะลองทำดู ลูกศิษย์เป็นธุระไปให้โรงงานเขาทำให้ ใช้ทองเคเคลือบโถเซรามิก จะสักกี่เคก็ไม่รู้เหมือนกัน พอทำแล้วเขาไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน เขาก็เลยมาตั้งไว้ที่นี่ (กุฏิเสาใหญ่)”
หลวงตานุชย้ำว่า “อาตมาอยากลองทำดูเฉย ๆ ไม่ใช่จะทำมาอวด มาโชว์ เพราะสิ่งที่ควรจะโชว์ควรเป็นอุโบสถ วิหาร เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือสิ่งที่สานประโยชน์ สิ่งที่ดี ๆ สวยงาม แต่ก่อนคนไม่ค่อยรู้หรอก ตอนหลังมีนักข่าวมาทำข่าว ก็เลยทำให้เป็นที่รู้จัก เราไม่ได้จะโชว์อยู่แล้ว”
“บางคนบอกว่า ในวัดไม่น่าจะมีส้วมทองคำ หลวงตามีความเห็นอย่างไรครับ ?”
“ไม่มีความเห็นอะไร ก็ปรกติธรรมดา ไม่ได้คิดอะไร ก็เราไม่ได้ตั้งใจจะอวดใคร ไม่ได้ตั้งใจจะไปโปรโมตให้มันดีมันเด่นอะไรขึ้นมา เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักข่าวเอาไปลง ก็ห้ามเขาไม่ได้”
“ทางวัดก็ไม่ได้ติดป้ายบอกให้คนไปดูส้วมด้วยซ้ำไป” ผมตั้งข้อสังเกต
“อาตมาไม่พูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เขามาถามเรื่องส้วม ใครจะถามยังไง เราก็จะหันไปคุยเรื่องอุโบสถอย่างเดียวแหละ เพราะส้วมไม่ใช่ของที่จะมาโชว์ได้ อันนี้ก็เลยคิดว่า จะยากอะไร ทุบทิ้งเสียเลย” ท่านหัวเราะ แล้วกล่าวต่อว่า
“เรื่องทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าเป็นข่าว จะมีทั้งดีและเสียตามมา อย่างสร้างมหาวิหารหลวงปู่โตนี้ก็เหมือนกัน ก็มีคนว่า ทำไมสร้างใหญ่แท้ ทำไมสร้างอะไรมากมาย ก็มีคนวิเคราะห์วิจารณ์ ตอนแรกเขาจะสร้างเล็ก อาตมาบอกให้สร้างใหญ่ ถ้าสร้างเล็ก ๆ คนมากราบไหว้ไม่มากมายดอก ถ้าสร้างใหญ่ คนมากราบไหว้มากมาย ต้องสร้างแบบมีแนวคิดถึงจะได้ดี
“คนเราถ้ามีแนวคิด จึงจะดีที่สุด อย่างครูบาศรีวิชัยท่านสร้างพระธาตุดอยสุเทพ ก็เป็นแนวคิดท่าน เดี๋ยวนี้เงินเข้าจังหวัดเชียงใหม่ทั้งทางตรงทางอ้อมปีละหลายพันหลายหมื่นล้าน หรือคนมีบุญเขาสร้างหลวงพ่อโสธรไว้ ก็เป็นแนวคิดของคนโบราณ อย่างต่างประเทศก็เหมือนกัน เช่นที่หอไอเฟลหรือกำแพงเมืองจีน มีคนไปท่องเที่ยวเต็มไปหมด ก็แนวคิดคนโบราณเขาสร้างไว้ เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นมรดกของชาตินั้น ๆ”
หลวงตานุชสรุปว่า “เพราะฉะนั้นแนวคิดนี่สำคัญที่สุด คนไหนเก่งเรื่องแนวคิด คนนั้นทันสมัยที่สุด คนไหนเก่งเรื่องวิชาการ ก็ตามหลังทั้งปีทั้งชาติ”
ตลอดเวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงที่ได้พบท่าน หลวงตานุชไม่ค่อยเอ่ยถึงเรื่องส้วมทองคำจริง ๆ เช่นที่ท่านเปรยแต่แรก แต่ท่านจะเทศนาสั่งสอนเรา เน้นหนักเรื่องแนวคิดและปรัชญาต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่
“เรื่องทุกอย่างจะทำอะไรให้ถูกใจคนทั้งหมดก็ไม่ได้ จะพูดทุกอย่างให้ถูกหมดทุกเรื่องก็ไม่ได้ จะพูดทุกอย่างให้มันดีหมดก็ไม่ได้ เหมือนกับช่างภาพจะถ่ายภาพทุกอย่างให้สวยหมดก็ไม่ได้ (ช่างภาพสารคดีกำลังถ่ายภาพท่านอยู่) หรือจะเขียนหนังสือให้มันดีทุกคำก็ไม่ได้เหมือนกัน แล้วการเขียนหนังสือนี่ ส่วนมากคนเขียนจะตบแต่งกันน่ะนะ ตบแต่งให้มันดี ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เป็นของธรรมดา”
ก่อนเรากราบลาท่าน พระครูปลัดนุชยังย้ำกับผมว่า ขอให้เขียนแต่เรื่องดี ๆ ท่านอยากชวนคนมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระบรมสารีริกธาตุของวัดหนองบัวทุ่ง และชมโบสถ์วิหารมากกว่าไปดูส้วม
------------- ๗. -------------
เมื่อกลับจากจังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมหลักของผมในกรุงเทพฯ ยังคงวนเวียนเกี่ยวกับส้วม เพราะดูเหมือนยังมีหัวข้อให้ค้นหาไม่จบสิ้น
ผมอยากรู้ว่าเครื่องสุขภัณฑ์ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงขั้นไหน ตลอดจนมีหลากหลายรูปแบบเพียงใด จึงติดต่อขอข้อมูลไปที่บริษัทบุญถาวรเซรามิค จำกัด เพราะรู้ว่าบริษัทแห่งนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อ ทั้งมีโชว์รูมหรือศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่หลายสาขา
ทางบุญถาวรนัดผมไปพบที่โชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์และครัว สาขารัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่แนะนำข้อมูลเบื้องต้น พร้อมทั้งชักชวนให้ดูสินค้าที่วางโชว์อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
“บริษัทของเราเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สินค้าที่นำเข้ามาจัดจำหน่ายทั้งหมดจะได้รับการคัดสรรทั้งในด้านคุณภาพและด้านบริการหลังการขายจากผู้ผลิต ให้อยู่ในมาตรฐานตามนโยบายที่บริษัทกำหนดไว้
“สำหรับการจัดวางสินค้า เราเน้นที่ความสวยงามและลูกค้าสามารถเลือกสรรได้ง่าย เราไม่ได้ตั้งชักโครกเรียงเป็นแนวทีละสิบยี่สิบรุ่น แต่เราจัดเป็นตัวอย่างห้องน้ำ ห้องครัว ให้เหมือนจริง เมื่อลูกค้ามาเห็นก็จะเกิดไอเดียในการตกแต่ง รวมทั้งเรายังมีดีไซเนอร์ที่สามารถให้คำปรึกษาในการออกแบบให้แก่ลูกค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Virtual Decor ซึ่งเป็นโปรแกรมออกแบบห้องน้ำ ๓ มิติ ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพตำแหน่งการจัดวางเครื่องสุขภัณฑ์ก่อนที่จะนำไปประยุกต์กับตำแหน่งจริงของห้องน้ำ และที่สำคัญเรามีการสำรองสินค้าไว้จำนวนมาก ลูกค้าจึงมั่นใจว่าเมื่อเดินเข้ามาที่บุญถาวร ตัดสินใจซื้อแล้วจะได้รับสินค้าที่มีในคลังสินค้าทันที เพราะเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ เราจึงเตรียมความพร้อมของสินค้าด้วยการมีสต็อกพร้อมขาย โดยมีบุญถาวร โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการสินค้าและกระจายสินค้าสู่โชว์รูมบุญถาวรสาขาต่าง ๆ และที่จริงแล้ว เมื่อมาถึงโชว์รูม ลูกค้าก็สามารถหาข้อมูลเบื้องต้นและเช็กจำนวนสินค้าในสต็อกได้เองด้วยโปรแกรม e-library ที่เราติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในโชว์รูมด้วย”
อาคารโชว์รูมเป็นตึก ๓ ชั้นขนาดใหญ่ ภายในกว้างขวางด้วยเนื้อที่กว่า ๓,๐๐๐ ตารางเมตร ติดแอร์เย็นฉ่ำและเปิดเพลงคลอเบา ๆ บรรยากาศจึงคล้ายศูนย์การค้าชั้นดี ผิดกันแต่ว่าสถานที่แห่งนี้วางขายเฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์และสินค้าห้องครัว จนเราอาจเรียกว่าเป็นศูนย์การค้าเฉพาะทาง
ผมใช้เวลาเดินชมภายในโชว์รูมด้วยความรู้สึกละลานตาไปหมด ทั่วทั้ง ๓ ชั้นจัดแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ที่อาจเรียกได้ว่าจำนวนมหาศาล ทั้งกระเบื้องปูพื้น-ผนัง โถส้วมชักโครก ฝารองนั่งชักโครก โถปัสสาวะชาย โถปัสสาวะหญิง (บิเด้) สายฉีดชำระ ที่ใส่กระดาษชำระ อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ กระจกส่องหน้า อ่างอาบน้ำ ตู้อาบน้ำ หัวฝักบัวพร้อมสาย ชั้นวางสบู่-แชมพู ที่วางแก้วน้ำ ราวแขวนผ้า ห่วงแขวนผ้าเช็ดมือ เครื่องทำน้ำอุ่น ฯลฯ
เครื่องสุขภัณฑ์แต่ละประเภทมาจากหลากยี่ห้อ จึงมีให้เลือกไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น แตกต่างกันทั้งด้านการออกแบบ รูปทรง สีสัน และการใช้งาน ส่วนราคามีตั้งแต่ระดับต่ำ กลาง จนถึงแพงสุดกู่ในสายตาคนเดินดินกินข้าวแกง
ผมหมดปัญญาจะจดจำรายละเอียดเครื่องสุขภัณฑ์แต่ละประเภทได้ครบถ้วน ชั่วขณะที่ต้องนั่งพักเพื่อพยายามลำดับความคิดว่าจะบรรยายสถานที่นี้อย่างไร กลับนึกถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นภาพชายในยุคโบราณผู้หนึ่งกำลังนั่งยอง ๆ ถ่ายทุกข์หนักกลางป่า แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
ผมลองจินตนาการว่าหากชายผู้นั้นเกิดหลุดออกมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง และสามารถเดินทางทะลุมิติเวลามายังที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาอาจจะต้องงงเป็นไก่ตาแตก สุดจะทำความเข้าใจได้ว่า เหตุใดการอาบน้ำ-เข้าส้วม-ถ่ายทุกข์หนักและเบาของคนสมัยใหม่ จึงเต็มไปด้วยขั้นตอนและอุปกรณ์ประกอบมากมายยิบย่อยขนาดนี้
กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง เพราะผมต้องไปพบกับพนักงานขายเครื่องสุขภัณฑ์คอตโต้ประจำโชว์รูมแห่งนี้ เธอชื่อคุณฤทัยรัตน์ ขวัญสุด หรือคุณติ๊ก
ผมถามคุณติ๊กว่า สุขภัณฑ์ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ทั้งด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการใช้งาน
คุณติ๊กกล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยีก่อน “อย่างโถชักโครกสมัยก่อนต้องใช้น้ำเยอะ ตั้งแต่ ๙-๑๒ ลิตร แต่รุ่นปัจจุบันประหยัดน้ำมากขึ้น เพราะใช้น้ำประมาณ ๖ ลิตรก็ชำระได้หมด มาตรฐานเดียวกันทุกยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อจะออกแบบว่าใช้น้ำในการกดเพื่อถ่ายเบากี่ลิตร ส่วนเรื่องฝารองนั่ง สมัยก่อนเราจะเห็นอยู่แบบเดียว แต่เดี๋ยวนี้เรา (คอตโต้) จะวิวัฒนาการเป็นฝาแบบซอฟต์โคลส (soft close) มีระบบกันกระแทกโดยใช้ข้อต่อชะลอ มันจะค่อย ๆ ปิด แล้วก็มีฝารองนั่งรุ่นดูอัล สมายล์ (Dual Smile) คือจะมีฝารองนั่งของผู้ใหญ่และเด็กอยู่ในฝาเดียวกัน
“แล้วเรายังมีฝารองนั่งรุ่นพิเศษที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมาเกาะ โดยใช้กรรมวิธีเคลือบประจุอิออนที่ผิว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดจากประเทศสวีเดน ราคาก็จะแพงกว่าฝารองนั่งทั่วไปประมาณ ๑ เท่าตัว อย่างฝารองนั่งทั่วไปราคา ๑,๐๐๐ กว่าบาท ตัวนี้ตกอยู่ที่ ๒,๐๐๐ กว่าบาท แต่ก็คุ้มนะ เพราะมีอายุการใช้งานนานกว่า สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ ป้องกันเชื้อโรคได้ และนั่งสบายด้วย” คุณติ๊กอธิบายคล่องแคล่วราวกำลังนำเสนอต่อลูกค้า
ส่วนเรื่องความหลากหลาย คุณติ๊กยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เฉพาะอ่างล้างหน้าอย่างเดียว ของคอตโต้มีประมาณ ๕๐ รุ่น ถ้ารวมอ่างล้างหน้ายี่ห้ออื่นที่วางขายที่นี่ด้วย คงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ รุ่น ส่วนโถชักโครกของคอตโต้มีอยู่ ๑๐๐ กว่ารุ่น ถ้ารวมของยี่ห้ออื่นด้วยก็ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ รุ่นเช่นกัน”
แล้วผมก็ถามคำถามสำคัญที่เตรียมมา “ความหลากหลายของเครื่องสุขภัณฑ์สะท้อนความต้องการของคนในยุคปัจจุบันอย่างไรครับ ?”
คุณติ๊กตอบว่า “เราจะเห็นเลยว่าความต้องการของคนปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก ในสมัยก่อน คนทั้งบ้านไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ก็จะใช้โถส้วมตัวเดียวกันหมด แต่เดี๋ยวนี้เด็กจะมีจินตนาการ อยากได้โถส้วมน่ารัก ๆ แบบที่เขาชอบ เมื่อเด็กต้องการเราก็สนองให้ เป็นโถชักโครกรุ่นกุ๊กไก่ (Googai Series) มีขนาดเล็กสำหรับเด็กใช้ ถังเก็บน้ำออกแบบคล้ายรูปเปลือกไข่ จะช่วยดึงดูดเด็ก ๆ ให้อยากใช้งาน เหมือนกับที่มียาสีฟันสำหรับเด็ก คือจะช่วยในเรื่องสุขภาพอนามัยได้เยอะ ใช้สำหรับเด็กอายุ ๓ ถึง ๑๒ ขวบ สำหรับรุ่นนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนอนุบาล ผู้ปกครองทั่วไปก็ซื้อไปเยอะ นอกจากนั้นเรายังมีสุขภัณฑ์สำหรับเด็กวัยรุ่น โถส้วมทั่วไปสูงแค่ ๓๘ เซนติเมตร แต่ของวัยรุ่นจะสูง ๔๒ เซนติเมตร เพราะวัยรุ่นสมัยนี้โตเร็ว ถ้านั่งแบบเก่านาน ๆ จะเมื่อย ดีไซน์จะเก๋ไก๋หน่อย ชื่อรุ่นเฮอร์คิวลิส ต้องตั้งชื่อให้ปรู๊ดปร๊าดหน่อย การชำระล้างก็สุดยอด ครั้งเดียวเกลี้ยง”
ความสงสัยของผมคงคล้ายคนส่วนใหญ่ คืออยากรู้ว่าโถส้วมระดับสุดยอดจะมีราคาสูงเพียงใด แล้วมันจะมีความสามารถหรือการใช้งานที่เลอเลิศขนาดไหน ?
เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งให้คำตอบว่า “ตอนนี้โถสุขภัณฑ์ที่แพงที่สุดเป็นของยี่ห้อโคห์เลอร์ (Kohler) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคา ๑๙๐,๐๐๐ บาท ไม่มีระบบอัตโนมัติมากมาย แต่เน้นการออกแบบที่เรียบหรู คือจะไม่มีปุ่มกดเลย แต่เป็นระบบเซ็นเซอร์ คือมันดูเหมือนไม่ใช่ชักโครก แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างดีชิ้นหนึ่ง
“ส่วนสุขภัณฑ์ที่ราคาแพงรองลงมาจากโคห์เลอร์ คือโถชักโครกรุ่นนีโอเรสต์ (Neorest) ของยี่ห้อโตโต้ (Toto) จากประเทศญี่ปุ่น ราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสามารถทำงานด้วยระบบอัตโนมัติแทบทุกอย่าง ตั้งแต่พอมีคนเดินผ่าน ฝาครอบจะเปิดเอง มีระบบชำระอัตโนมัติให้ มีลมร้อนเป่า และอีกหลายฟังก์ชัน”
ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี กระทั่งโถส้วมจากประเทศนี้ยังมีระบบอัตโนมัติอันน่าทึ่ง ผมตัดสินใจไปที่โชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โตโต้ ย่านถนนสุขุมวิท เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภัณฑ์ล้ำยุค นีโอเรสต์
------------- ๘. -------------
ป้ายหน้าอาคารทันสมัยริมถนนสุขุมวิทเขียนว่า TOTO TECH & DESIGN CENTER BANGKOK ที่นี่คือโชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของโตโต้นั่นเอง
คุณจิตติพร ภัทรศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์โตโต้ ฝ่ายการตลาด บริษัทสยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้แทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์โตโต้ในประเทศไทย เป็นผู้นำผมไปชมสุขภัณฑ์นีโอเรสต์ด้วยตนเอง
มันตั้งอยู่ในห้องจัดแสดงส่วนหน้าที่กั้นเป็นสัดส่วน ผนังด้านหน้าเป็นกระจกใสที่คนภายนอกสามารถมองเข้ามาเห็น นีโอเรสต์ไม่ได้มีลักษณะหวือหวาแปลกประหลาดเหมือนเป็นอุปกรณ์ประจำยานอวกาศ ทว่ารูปทรงเรียบหรูดบึกบึนแข็งแรง ประกอบด้วยเส้นสายโค้งกระชับที่ให้ความรู้สึกทันสมัย จุดเด่นของนีโอเรสต์คือเทคโนโลยีที่บรรจุอยู่ภายใน
นีโอเรสต์ตัวนี้เสียบปลั๊กไฟฟ้าและต่อท่อน้ำเรียบร้อย พร้อมสำหรับแสดงการทำงานทุกระบบ เมื่อพวกเราเดินเข้าไปใกล้ ฝาครอบบนสุดก็เปิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เผยให้เห็นฝารองนั่ง และยังมีฝาพลาสติกใสโป่งนูนตรงกลางปิดครอบช่องสำหรับการขับถ่ายเอาไว้ด้วย ฝาพลาสติกนี้ครอบไว้ชั่วคราวระหว่างการสาธิตแสดงการทำงานของเครื่องสุขภัณฑ์
“ฝาแรกจะเปิดอัตโนมัติ เมื่อมีคนไปยืนใกล้ ๆ โถสุขภัณฑ์” คุณจิตติพรอธิบาย “ส่วนฝารองนั่งสามารถตั้งอุณหภูมิ หรือปรับความอุ่นได้ สำหรับใช้ในที่อากาศหนาว ฝารองนั่งจะเปิดโดยการสั่งงานจากรีโมตคอนโทรล”
คุณจิตติพรหยิบรีโมตคอนโทรลจากขาตั้งที่วางอยู่ใกล้ ๆ ตัวรีโมตทรงสี่เหลี่ยมแคบและยาว มีขนาดเหมาะมือ ประกอบด้วยช่องแสดงตัวเลขและปุ่มปรับค่าต่าง ๆ เรียงราย
“เมื่อฝาที่สอง (ฝารองนั่ง) เปิดขึ้น ย่อมหมายถึงคุณผู้ชายจะยืนทำธุระ เครื่องจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเป็นการถ่ายเบา จึงตั้งปริมาณน้ำชำระที่ ๔.๕ ลิตร ขณะที่การถ่ายหนักจะใช้น้ำ ๖ ลิตร”
คุณจิตติพรอธิบายต่อ “นี่คือการทำงานง่าย ๆ เบื้องต้น สมมุติเรานั่งทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรากดรีโมตคอนโทรลเพื่อการชำระล้างอัตโนมัติ ก้านฉีดชำระก็จะยื่นออกมา”
(ถึงตอนนี้ก้านทรงกลมขนาดประมาณนิ้วก้อยโผล่ยื่นออกมาจากบริเวณใต้ฝารองนั่งด้านท้าย)
“ก่อนและหลังการทำงาน ก้านชำระจะฉีดน้ำล้างตัวมันเองก่อนเพื่อความสะอาด นอกจากนั้น เราสามารถปรับตั้งความแรงของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับ และสามารถปรับตั้งอุณหภูมิของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับเช่นกัน”
(ตอนนี้มีน้ำฉีดพุ่งออกมาเป็นสายจากปลายก้านชำระ ปะทะกับส่วนที่โป่งขึ้นของฝาครอบพลาสติกใส จึงไม่กระเซ็นออกมาจากโถชักโครก)
“แล้วถ้าเราไม่ต้องการจะล้างแค่จุดใดจุดหนึ่ง เราต้องการล้างให้ทั่วถึง ก็สามารถกดรีโมตสั่งการชำระแบบส่าย คือมันจะส่ายทุกพื้นผิวของเราเลย”
(ท่อกลมของก้านชำระเริ่มชักเข้าชักออกเป็นจังหวะ น้ำยังฉีดเป็นสาย)
“แล้วยังมีการฉีดน้ำสลับทั้งหนักและเบา เพราะถ้าฉีดหนักอย่างเดียว จะทำให้ก้นเราหรือผิวหนังเป็นผื่น หรือเจ็บได้”
(ถึงตอนนี้ผมแทบไม่ได้มองหน้าคนพูดแล้ว สายตาจดจ่ออยู่ที่ความเคลื่อนไหวของก้านชำระอย่างเดียว ท่อกลมนั้นคงเลื่อนเข้าออก น้ำที่ฉีดออกมาพุ่งแรงสลับอ่อนเบา)
“พอหลังจากทำความสะอาดแล้วนะคะ สุขภัณฑ์ยังมีระบบการเป่าแห้ง เราเลือกไปที่ปุ่มดรายเออร์ (dryer) จะมีลมพ่นออกมา เรายังสามารถปรับอุณหภูมิของลม ให้ร้อนหรืออุ่นได้ทุกระดับ”
(ก้านชำระหดกลับเข้าไปแล้ว)
“นอกเหนือจากนั้น ตลอดการใช้งาน สุขภัณฑ์มีระบบฟอกอากาศ จะมีฟิลเตอร์อยู่ตรงนี้”
(คุณจิตติพรชี้ให้ดูแผ่นตะแกรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก ซ่อนอยู่ที่มุมหนึ่งด้านใต้ฝารองนั่ง)
“ระบบฟอกอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติตั้งแต่เรานั่งลงไป โดยดูดอากาศใต้โถ ผ่านฟิลเตอร์ แล้วถ่ายเทออกมาด้านข้าง กลายเป็นอากาศดีที่ไม่มีกลิ่น เพราะฉะนั้นสุขภัณฑ์ตัวนี้ เวลาเราทำธุระไป กลิ่นมันจะไม่ขึ้นมาแรง แล้วเวลาเราออกจากห้องน้ำไป คนที่เข้ามาใช้ต่อก็จะไม่ได้กลิ่นเหม็น
“เมื่อเราทำธุระเสร็จ ลุกออกไป น้ำจะฟลัชชำระอัตโนมัติภายใน ๒-๓ วินาที เราไม่ต้องกดอะไรเลย”
หลังสาธิตการใช้งานสุขภัณฑ์ล้ำยุค คุณจิตติพรเปิดเผยว่าค่าตัวของนีโอเรสต์อยู่ที่ ๑๖๐,๐๐๐ บาท เริ่มวางจำหน่ายเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว “ยอดขายของสุขภัณฑ์นีโอเรสต์เมื่อปีที่แล้ว เฉพาะแค่ครึ่งปีหลังขายได้ประมาณ ๓๐ กว่าตัวค่ะ ส่วนปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่เดือนละ ๑๐ ตัว”
“ลูกค้าที่ซื้อสุขภัณฑ์ราคาแพงขนาดนี้เป็นคนกลุ่มไหนครับ ?”
“ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร นักธุรกิจ หรือกลุ่มไฮโซไซตี้ซึ่งมีฐานะดีพอสมควร มีท่านหนึ่งซื้อไปคนเดียวถึง ๕ ตัว เพื่อใช้ในบ้านนี่แหละ”
คุณจิตติพรยังมีมุมมองเกี่ยวกับห้องน้ำที่น่าสนใจ เธอแสดงความเห็นว่า
“สมัยก่อนในเมืองไทยอาจไม่มีใครคิดว่าห้องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ บางคนซื้อสุขภัณฑ์อะไรก็ได้ใส่เข้าไปเถอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ห้องน้ำควรเป็นห้องที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่เป็นห้องที่เข้าไปแล้วอยากจะรีบออก
“พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อก่อนเวลาใครพาแขกมาที่บ้าน เขาก็จะโชว์แต่ห้องรับแขก ห้องนอน หรือโชว์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นชุดโฮมเธียเตอร์ แต่ปัจจุบันห้องที่โชว์ได้มากที่สุดคือห้องน้ำ คือเหมือนกับพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป
“จริง ๆ แล้วพอแขกมาบ้าน ถึงคุณไม่คิดจะโชว์ห้องน้ำ แต่เขาก็ต้องใช้ เขาก็ต้องเห็น แล้วนีโอเรสต์นี่เคยออกทั้งรายการโทรทัศน์ สื่อโฆษณา สื่ออะไรต่ออะไรมากมาย ลูกค้าบางคนมาเล่าให้เราฟังว่า เวลาแขกมาที่บ้าน เข้าห้องน้ำแล้วออกมาถาม โอ้โห บ้านนี้ใช้นีโอเรสต์เลยเหรอ เราจะเจอเสียงสะท้อนจากลูกค้าเช่นนี้เยอะมาก”
ท้ายที่สุด คุณจิตติพรพูดถึงแนวโน้มเครื่องสุขภัณฑ์ไฮเทคของโตโต้รุ่นต่อไป
“สุขภัณฑ์นีโอเรสต์รุ่นต่อไปจะมีระบบสร้างกลิ่นหอม ทำได้ทุกกลิ่น เช่น กลิ่นมะลิ แล้วก็จะมีเครื่อง MP3 สำหรับฟังเพลง เวลาคุณเข้าห้องน้ำทำธุระ คุณก็สามารถนั่งฟังเพลงไปด้วย ทั้งจากลำโพงหรือหูฟังก็ได้ ความจริงสุขภัณฑ์แบบนี้เริ่มวางขายที่ญี่ปุ่นแล้ว เรายังไม่ได้นำเข้ามาในเมืองไทยเท่านั้นเอง”
ฟังแล้วชวนให้ตื่นเต้น คิดไม่ออกเลยว่าสุขภัณฑ์และส้วมของมนุษย์ในอนาคตจะวิวัฒนาการไปไกลสุดกู่ขนาดไหน
ไม่แน่ว่าในการประชุมส้วมโลกในเมืองไทยที่กำลังจะจัดขึ้น อาจมีสุขภัณฑ์ล้ำยุคเช่นที่ว่ามาแสดงให้ชมก็เป็นได้
------------- ๙. -------------
เมื่อมาถึงตอนสุดท้ายของสารคดีเรื่อง “ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ” คำถามที่ว่าส้วมมีความสำคัญอย่างไร คงพอได้คำตอบอยู่แล้วในหลายแง่มุม
อย่างน้อยการประชุมส้วมโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ก็น่าจะช่วยรับประกันได้อีกทางหนึ่ง เพราะแค่ชื่องานก็บอกอยู่แล้วว่าส้วมนั้นเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก
ขอขอบคุณ :
คุณภาณุ มณีวัฒนกุล
อาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
บริษัทอาทิตย์ ไฮเวย์ จำกัด
วัดหนองบัวทุ่ง จ. นครราชสีมา
บริษัทบุญถาวรเซรามิค จำกัด
บริษัทสยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด
โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ
วัดท่าการ้อง จ. อยุธยา
โรงแรมดุสิตธานี
โรงแรมเจดับบลิวแมริออท กรุงเทพฯ
สวนสัตว์และร้านอาหารเพื่อนเดรัจฉาน
โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุช กองจัดการขยะ ของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
กลุ่มงานขนถ่ายสิ่งปฏิกูล ๒ กองจัดการขยะ ของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ส้วม ๑ น. สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง. (จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒) |
เปิดประตูส้วม...
“สารคดี ไม่มีเรื่องอะไรจะทำแล้วหรือไง...ถึงได้คิดจะทำเรื่องส้วม ?”
“ส้วมมีอะไรน่าสนใจ ถึงขนาดเขียนเป็นเรื่องได้เชียวหรือ ?”
คนรู้จักบางคนถามไถ่เช่นนี้ เมื่อรับรู้ว่าสารคดีคิดจะทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับเรื่องส้วม และเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็อาจมีข้อสงสัย (แกมขบขัน) ทำนองเดียวกันว่า ส้วม--ในฐานะห้องสี่เหลี่ยมแคบเล็กสำหรับการขับถ่าย จะมีอะไรน่าสนใจนักหนา (แค่เริ่มจินตนาการถึงส้วม ก็ได้กลิ่นโชยมาแล้ว...)
ในฐานะผู้รับผิดชอบเขียนสกู๊ปเรื่องนี้ ผมจึงมีหน้าที่ต้องค้นหาความสำคัญของส้วมออกมาตีแผ่ให้จงได้ ผมพยายามครุ่นคิด ว่าส้วมมีคุณค่าความหมายในแง่มุมใดบ้าง และคนเราจะเห็นความสำคัญของส้วมมากที่สุดในช่วงเวลาใด...
แล้วเหตุการณ์ตอนหัวค่ำวันหนึ่งราว ๒-๓ ปีมาแล้ว ก็หวนกลับคืนสู่ความทรงจำ ผมขับรถอยู่บนถนนที่การจราจรติดขัด ขบวนรถแออัดยาวเหยียดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ช้า ๆ สลับหยุดนิ่ง อาหารมื้อเย็นชักจะไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว ก็เพราะ “ข้าศึกจากภายใน” มันทำท่าจะบุกทะลวงออกมาข้างนอก !
ท้องไส้ผมเริ่มปั่นป่วน ปวดมวนและลั่นโครกครากบางขณะ ลำไส้บีบตัวเป็นระยะ รู้สึกได้ว่ามือเท้าเย็นวาบและมีเหงื่อผุดซึมตามรูขุมขน สะบัดร้อนสะบัดหนาวในห้วงเดียวกัน ช่างเป็นช่วงเวลาแสนร้ายกาจ ชั่วขณะนี้ผมไม่นึกถึงอะไรอีกแล้ว ส้วมมีความสำคัญสูงสุดต่อชีวิต ! เพราะข้าศึกโจมตีหนักหน่วงขึ้นทุกที จนขนเริ่มลุกเกรียว กลัวจะต้านไม่อยู่ จำได้ว่าข้างหน้ามีปั๊มน้ำมัน แต่รถช่างแล่นช้าไม่ทันใจเอาเสียเลย ก็ข้าศึกมันบุกมาอีกระลอกแล้ว !
มองเห็นปั๊มน้ำมันอยู่ข้างหน้า เลี้ยวรถเข้าที่จอดแทบไม่ทัน ผมถลาเข้าห้องน้ำแล้วปิดประตูมิดชิด มือไม้สั่นขณะปลดกระดุมกางเกง เหตุการณ์ถัดจากนั้นไม่สามารถบรรยายได้ ผมออกมาจากห้องน้ำอีกครั้งด้วยความปลอดโปร่งเบาสบาย จิตใจอิ่มเอิบผ่องใสเหมือนมีชีวิตใหม่ ขอบคุณที่โลกนี้มีส้วม
ผมยกเหตุการณ์ข้างต้นมาเล่า ก็เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของส้วม แต่แล้วผมฉุกคิดถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา
หลายปีก่อนที่อินเดีย ผมนั่งรถโดยสารเที่ยวกลางคืนลงมาจากทางตอนเหนือของประเทศ มาถึงทุ่งข้าวย่านชานเมืองก่อนถึงกรุงนิวเดลีในตอนเช้าตรู่ (คล้ายนั่งรถผ่านนาข้าวจังหวัดอยุธยาก่อนถึงกรุงเทพฯ) รถแล่นช้าเอื่อย และเมื่อมองผ่านหน้าต่างรถออกไป ผมได้พบภาพที่ยังตรึงใจมาจนทุกวันนี้
ท่ามกลางนาข้าวสีเขียวโล่งกว้าง หมอกบางลอยเรี่ย บรรยากาศยามเช้าชวนรื่นรมย์ มีผู้ชายราว ๕-๖ คนนั่งกระจายอยู่ห่างกันบนแนวคันนา แต่ละคนนั่งยอง หันหลังให้ถนน ชายเสื้อรวบเหนือสะโพก ขอบกางเกงผ้าเนื้อบางรูดพ้นก้น ถูกแล้ว พวกเขากำลังนั่งถ่ายทุกข์กันอยู่นั่นเอง
ผู้ชายอีกคนเดินตัดคันนาตรงมาสู่ถนน เขาแวะทักชายผู้ซึ่งนั่งยองถ่ายทุกข์อยู่บนแนวคันนาตัดขวางระหว่างทางเดินผ่าน ทั้งสองพูดคุยกันด้วยท่าทางปรกติธรรมดา
ในวันนี้ผมนึกถึงภาพเหตุการณ์นั้นด้วยความคิดว่า การขับถ่ายของชาวอินเดียกลุ่มนั้นช่างเป็นเรื่องแสนธรรมดา เมื่อพวกเขาปวดท้อง ก็เพียงเดินออกมาถ่ายทุกข์กันท่ามกลางธรรมชาติโล่งกว้าง ไม่มีเรื่องอะไรต้องซ่อนเร้นปิดบัง เพื่อนเดินผ่านมายังคุยกันได้เป็นปรกติ
ผิดกับผมที่ต้องนั่งกระวนกระวายบนถนนที่รถติดในเมืองใหญ่ แล้วก็ต้องไปถ่ายทุกข์ในห้องสี่เหลี่ยมแคบเล็ก
ว่ากันว่าคนไทยสมัยก่อนก็ขับถ่ายกลางแจ้งเช่นกัน (เพียงแต่อาจไม่เปิดเผยเท่านี้) จากรูปแบบการขับถ่ายในที่โล่งโดยเปิดเผย มาสู่การขับถ่ายในห้องส้วมที่ปิดล้อมรอบด้าน ในระยะห่างระหว่างการขับถ่ายสองรูปแบบดังกล่าว ดูเหมือนจะมีรายละเอียดหรือกระบวนการบางอย่างที่ชวนคิดซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่ผมยังนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร
ระหว่างนี้ผมจึงมักนั่งคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เคยผ่านพบเกี่ยวกับเรื่องส้วมหรือพฤติกรรมการขับถ่ายอยู่บ่อย ๆ
------------- ๑. -------------
เมื่อลองนึกย้อนกลับไป ผมพบว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับส้วม การเข้าส้วม หรือพฤติกรรมการขับถ่ายที่อาจนับเป็นเหตุการณ์พิเศษ ติดค้างอยู่ในความทรงจำหลายเรื่องราว เป็นเพราะผมต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลงานสารคดีนอกสถานที่อยู่บ่อย ๆ ทั้งพอจะมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ้าง จึงได้พบว่าส้วมแต่ละแห่งที่ โดยเฉพาะส้วมแต่ละประเทศ ล้วนมีรูปแบบและการใช้งานที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทว่าประสบการณ์การเดินทางและพบเห็นโลกของผมอาจนับได้ว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับบุคคลอีกผู้หนึ่ง ชื่อของ ภาณุ มณีวัฒนกุล คงเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักอ่านที่ชื่นชอบงานสารคดีแนวการเดินทาง นักเขียนสารคดีรุ่นใหญ่ของเมืองไทยผู้นี้ผ่านการเดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก ผลงานที่ปรากฏมากมาย ทั้งในรูปบทความในนิตยสาร และหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับการเดินทางและเรื่องอื่น ๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ชีวิตเข้มข้น ความรอบรู้รอบด้าน และสายตาแหลมคมเต็มไปด้วยความช่างสังเกต
อาจฟังดูตลก เมื่อผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงบ้านพี่ภาณุที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกันในหัวข้อหลักเกี่ยวกับเรื่องส้วมล้วน ๆ โดยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นเรื่องรอง
เท่าที่ผ่านมา งานเขียนของพี่ภาณุครอบคลุมทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน วัฒนธรรม ภูมิประเทศและบ้านเมือง รวมทั้งอาหารการกินในท้องถิ่นต่าง ๆ ครั้งนี้เมื่อขอให้เขาพูดเรื่องส้วมและการเข้าส้วมของผู้คนนานาประเทศ มุมมองของเขาในเรื่องนี้ยังน่าสนใจและสนุกสนานเช่นเดิม
เดิมทีผมคาดว่าจะได้ฟังเรื่องราวประเภทโหด มัน ฮา หรือสีสันของชีวิตในการเข้าส้วมประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะส้วมของประเทศอินเดียและจีนที่นักเดินทางหลายรุ่นร่ำลือกันหนักหนา
ทว่าพี่ภาณุดูเหมือนไม่สนใจเรื่องทำนองนั้นสักเท่าไร...
“หลายคนที่ไปอินเดียกับจีนมักกลับมาบอกว่าห้องส้วมสกปรกมาก เราก็ เอ๊ะ ! ห้องส้วมมันเป็นที่ที่ต้องสกปรกอยู่แล้วหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่เห็นน่าจะประหลาดอะไรถ้าห้องส้วมสกปรก แต่ขณะที่ถ้าคุณไปประเทศอย่างเยอรมนีหรือสิงคโปร์ จะพบว่าหาส้วมสาธารณะโคตรยากเลย กลับไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องนี้ เรามัวไปคำนึงถึงเรื่องไฮจีน (hygiene-อนามัย) เรื่องความสะอาด
“อย่างประเทศอินเดีย เรื่องถ่ายเรื่องขี้อะไรนี่ เขามองเป็นเรื่องปรกติ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไร อยากถ่ายคุณก็ถ่ายไปสิ เก็บไว้ทำไมล่ะ หรือส้วมประเทศจีนเป็นห้องเปิดโล่ง แค่มีแผงกั้นเป็นช่อง คนนั่งขี้อยู่ เราเดินเข้าไปก็มองเห็นหมด ผมว่าเป็นปรัชญาที่ติดดินมากเลย มันสะท้อนถึงความเรียบง่ายในชีวิตน่ะ ผู้หญิงอินเดียนุ่งส่าหรี เวลาฉี่เขาแค่นั่งลง พอฉี่ลงไปแล้วก็เป็นธรรมชาติ ปัญหาคือเราชอบไปกำหนดว่า ไฮจีนต้องเป็นอย่างนี้ ๆ ๆ เข้าส้วมต้องมีน้ำราด ต้องมีอะไรมากมาย”
จากประเทศอินเดียไปสู่ประเทศปากีสถานบ้าง
“เมื่อตอนผมไปปากีสถาน พบว่าผู้ชายที่นั่นนั่งฉี่นะ แล้วเรื่องนี้มันมีเหตุผลไง เพราะประเทศนี้ลมแรง ภูมิประเทศก็เปิดโล่ง ถ้าคุณยืนฉี่ คุณเคยไหม ฉี่โดนลมตีกลับมาโดนเราน่ะ มันคุมไม่อยู่ แต่นั่งฉี่ไม่มีปัญหาเลย แล้วที่สำคัญ ชุดที่คนปากีฯ ใส่ (กางเกงขาพองผ้าเนื้อบาง) กระตุกเชือกทีเดียวหลุดเลย ง่ายนิดเดียว
“อย่างส้วมในปากีสถาน เขาจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นที่อาบน้ำละหมาด มีก๊อกน้ำไว้ให้ เพราะคนมุสลิมต้องละหมาดวันละ ๕ เวลา ในห้องน้ำจึงมีที่สำหรับล้างมือล้างเท้าให้สะอาด ตอนหลังถ้าผมไปสนามบินดอนเมือง ผมก็จะไปคุยกับพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำ ว่าอย่าไปว่าคนแขก (มุสลิม) เลย พวกนี้ชอบว่าคนแขกสกปรก เพราะมาล้างมือแล้วก็ชอบยกเท้าขึ้นมาล้างที่อ่างล้างหน้า จริง ๆ เป็นเพราะเขาจะต้องอาบน้ำละหมาด ห้องน้ำประเทศเขามันมีที่ล้างตัวด้วยไง แต่ทีนี้บ้านเราเป็นเมืองพุทธ เขาเลยไม่รู้จะทำยังไง ยกเท้าขึ้นไปล้างตรงอ่างล้างหน้าก็แล้วกัน ตรงนี้เราต้องเข้าใจ จะไปว่าเขาก็ไม่ได้
“ส้วมที่ตุรกีก็น่าสนใจ เพราะประเทศนี้เป็นรอยต่อของทวีปยุโรปและเอเชีย ส้วมจึงมีทั้งโถนั่งยองกับโถนั่งราบที่เป็นชักโครก พื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวมากหน่อยจะมีส้วมชักโครกเยอะ แต่ถ้าคุณไปพักในเกสต์เฮาส์ระดับชาวบ้าน หรือขึ้นไปทางเหนือแถบทะเลดำ ซึ่งไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ จะเป็นส้วมนั่งยอง ๆ และค่อนข้างมีกลิ่น
“ส่วนที่อเมริกา ส้วมเป็นแหล่งเพาะความเลวร้ายหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างผมไปปาร์ตี้ที่ซีแอตเทิล ผู้ชายผู้หญิงเข้าไป (เซ็นเซอร์) กันในห้องส้วม เป็นพฤติกรรมที่ตลกมากเลย ผมกำลังฉี่อยู่ ผู้หญิงหากินเดินออกมาทัก ฮัลโล่ ก๋าย เห็นมาหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง มันเป็นเรื่องปรกติของที่นั่น”
“ฝรั่งมีเขียนด่ากันในห้องน้ำบ้างไหมครับ” เพื่อนชาวสารคดีที่ไปกับผม เอ่ยถามพี่ภาณุ
“มีเยอะมาก ไม่ใช่ด่า แต่สอนกัน อย่างคนกรีก หรือตุรกี ซึ่งไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เวลาเข้าส้วมก็จะไปเขียนข้อความที่ฝาผนังด้วยภาษาอังกฤษ แล้วสะกดผิด เช่น police เขียนเป็น polise หรือ taxi ไปเขียนเป็น taci ทีนี้ไอ้พวกประเทศที่พูดอังกฤษเป็นภาษาแม่ มันจะชอบเข้าไปแก้คำผิด นึกออกไหม ฝรั่งเจอคำสะกดผิดมันจะไปแก้ว่า มันผิดตรงนั้นตรงนี้นะ เฮ้ย เขียนตกตรงนี้นะ ตรงนี้ต้องเติม s ต้องตัดตัวนี้ออก คือมันเห็นเป็นเรื่องสนุกไปด้วยไง แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า กูนี่แหละเจ้าของภาษา แล้วจะมีบางคนเขียนบอกว่า มึงจะไปสนใจทำไมเล่า จะเขียนผิดเขียนถูกก็ช่างมัน”
เท่าที่ฟังพี่ภาณุเล่ามาทั้งหมด ผมพอจับเค้าได้ว่า รูปแบบของส้วมและการใช้ส้วมในแต่ละประเทศมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น
“ใช่ ตรงนี้ผมว่ามันสำคัญมากเลย เพียงแต่ว่าเราเอามาตรฐานอะไรไปวัดว่าส้วมแบบไหนดีหรือไม่ดี ผมไปอินเดียครั้งหนึ่ง เจอคู่สามีภรรยาฝรั่งซึ่งมาเที่ยวได้ ๓ อาทิตย์แล้ว เขาบอกว่าคิดถึงอะไรมากที่สุดรู้ไหม ? อาหารของเขากับห้องส้วมมาตรฐานของเขา ที่มีโถส้วมแบบชักโครกน่ะ นั่นคือความหรูหรา ความสะดวกสบายไง แต่ทีนี้ถ้าเอามาเทียบกัน ผมว่าส้วมนั่งยอง ๆ มีประโยชน์มากกว่านะ มันเป็นการถ่ายที่ถูกสุขลักษณะที่สุดเลย เป็นท่านั่งที่อึเรา ‘พรวดลงไปเลย’ มันออกมาหมดเลยไง”
ตรงกับข้อสงสัยในใจผมก็คือ แท้จริงแล้วนักเดินทางควรปรับตัวให้เข้ากับส้วม (ท้องถิ่น) หรือส้วมต้องปรับปรุงตัวให้เข้ากับนักเดินทาง ? ทว่าโลกยุคปัจจุบันดูจะโน้มเอียงไปทางแบบหลังเสียมากกว่า ดังเช่นประสบการณ์ในประเทศลาวที่พี่ภาณุเล่าให้ฟัง
“ตอนที่ผมไปลาวเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว โรงแรมแห่งหนึ่งอยากรับฝรั่งนักท่องเที่ยว เลยทำห้องส้วมแบบใช้ชักโครก (โถส้วมนั่งราบแบบนั่งเก้าอี้) ทีนี้คนท้องถิ่นเข้าไปใช้ก็ขึ้นไปนั่งยองบนชักโครก ฝารองนั่งเลยแตก หรือที่ใช้ได้ คุณก็นั่งไม่ได้ เพราะขี้มันไปตกตรงที่เราต้องนั่งไง
“ลองคิดดูว่าส้วมแบบคอห่าน ตักน้ำราด ๒ ขันก็ลงหมดแล้ว แต่ส้วมชักโครกต้องใช้น้ำครั้งละเป็น ๑๐ ลิตร พื้นที่บางแห่งที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เช่นที่ลาดักในประเทศอินเดีย หรือเมืองฮุนซ่าที่ปากีสถาน หรือเมืองต้าลี่ในจีนก็ตาม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปจำนวนมาก ก็พากันสร้างส้วมชักโครกเพื่อรองรับ ทำให้ยิ่งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ระบบนิเวศแทบจะพังพินาศ”
แคว้นลาดักตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย ภูมิประเทศในที่สูงกว่า ๓,๕๐๐ เมตรทำให้ต้องพบกับสภาพอากาศอันรุนแรง ทั้งร้อนจัดและหนาวจัด ชาวลาดักส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าวบาร์เลย์เป็นหลัก
ส้วมหลุมของชาวลาดักสร้างเป็นห้องเล็กขนาดสองชั้นแยกจากตัวบ้าน ห้องส้วมอยู่ชั้นบน เจาะรูที่พื้นห้องสำหรับนั่งขับถ่าย จึงไม่ต้องใช้น้ำราด ของเสียที่ตกลงสู่ห้องชั้นล่างจะถูกคลุกเคล้าด้วยดินและเถ้าจากในครัว ทั้งช่วยดับกลิ่นและเร่งกระบวนการย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีเพื่อนำไปใช้ในแปลงเกษตร
ส้วมของชาวลาดักนับเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแสดงให้เห็นรูปแบบของส้วมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของผู้คนในดินแดนกันดาร ที่รู้จักนำทุกสิ่งทุกอย่างหมุนเวียนกลับมาใช้อย่างรู้คุณค่า ไม่ปล่อยให้สิ่งใดเสียเปล่าอย่างไร้ประโยชน์
ทว่าส้วมชักโครกที่รุกเข้าสู่ลาดักตามหลังนักท่องเที่ยว นอกจากทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ในฤดูหนาวอันยาวนานที่อุณหภูมิอาจลดต่ำถึงติดลบ ๔๐ องศาเซลเซียส ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน้ำในถังชักโครกจะกลายเป็นน้ำแข็งจนใช้ไม่ได้ นอกเสียจากติดเครื่องทำความร้อนให้มันเท่านั้น
เรื่องราวของส้วมนานาชาติจากความทรงจำพี่ภาณุช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมให้กว้างไกลขึ้น เพราะทำให้รู้ว่าโลกนี้มีหลากหลายวัฒนธรรม จึงทำให้ส้วมมีหลากหลายรูปแบบ
แล้วส้วมของไทยเราเองล่ะ มีความเป็นมาและพัฒนาการอย่างไร สอดคล้องกับสภาพชีวิตของคนไทยแต่ละช่วงเวลามากน้อยแค่ไหน ?
ผมยังมีนัดไปขอความรู้จากนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องส้วมไทยอย่างถ่องแท้
------------- ๒. -------------
“คุณไม่มีเรื่องอะไรจะทำแล้วเหรอ ?”
“ประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องอะไรให้ศึกษาแล้วหรือ ?”
หลายปีก่อน เมื่ออาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ ยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบางคนที่แสดงความสงสัยปนหงุดหงิดผ่านคำถามข้างต้น เมื่อรู้ว่าเธอกำลังทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย”
คงไม่แปลกหากจะมีคนสงสัยว่าเรื่องส้วมจะเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างไร หรือยิ่งกว่านั้น งานทางวิชาการควรมีความสง่างามเกินจะมาเกลือกกลั้วกับเรื่องส้วมและการขับถ่าย ทว่าในภายหลัง งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊กหนา ๓๙๒ หน้า
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างใคร่รู้ อาจารย์มนฤทัยชี้แจงไว้อย่างน่าสนใจว่า...
“การที่ผู้เขียนเลือกเรื่องส้วมและสุขภัณฑ์มาศึกษาวิจัย เนื่องจากการขับถ่ายและการชำระร่างกายของมนุษย์นั้นสามารถสะท้อนให้เห็นความสำคัญ ๓ ประการคือ
“ประการแรก เรื่องของการขับถ่ายและการชำระร่างกายเป็นกิจกรรมด้านชีววิทยาของมนุษย์ เช่นเดียวกับการกิน อยู่ หลับนอน และสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกชาติและทุกเผ่าพันธุ์ต้องมีอยู่ ไม่ว่าจะในยุคสมัยใดก็ตาม
“ประการที่สอง การขับถ่ายและการชำระร่างกายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของแบบแผนและพิธีกรรม เป็นการแสดงถึงความประณีตในวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนระดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ เป็นการควบคุมทั้งในแง่ของการสร้างกฎเกณฑ์และจัดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมกำจัดของเสียและการทำความสะอาดร่างกายของเรา
“ประการสุดท้าย วัฒนธรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายเป็นเรื่องของสังคม และสามารถสะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อชีวิตและต่อสังคม ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ใช้แสดงสถานภาพและสามารถโอ้อวดได้ทางสังคม การสร้างความสุขในทางโลกียวัตถุ และสะท้อนการบริโภคเชิงสัญญะในสังคมปัจจุบัน”
ผมได้ไปพบอาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
“การขับถ่ายของมนุษย์เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างไรครับ อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง ?” ผมเปิดประเด็นด้วยคำถามนี้ในช่วงแรก
“แน่นอน เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มของคนชั้นสูง เช่นกษัตริย์และเจ้านาย เพราะว่าการกิน อยู่ หลับนอน รวมถึงการขับถ่าย จะต้องมีรูปแบบที่เป็นพิธีรีตอง”
อาจารย์มนฤทัยอธิบายว่า ในสังคมเดิมของไทย ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย้อนขึ้นไปถึงสมัยอยุธยาและสุโขทัย พอจะจำแนกรูปแบบของชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งพฤติกรรมการขับถ่ายของผู้คนออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีฐานะดี, กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย, กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม
ในสังคมเดิม เฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์สร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ที่ลงบังคน หรือ ห้องบังคน เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า บังคน เช่นกัน เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ แล้วมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ว่า
“ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น”
(จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, ๒๕๑๐)
ขณะที่พระธรรมวินัยก็กำหนดไว้ให้พระสงฆ์ต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ หรือ เวจกุฎี ลักษณะเป็นหลุมถ่ายซึ่งอาจก่ออิฐ หิน หรือไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง แล้วมี เขียงรอง ทำจากแผ่นหินหรือแผ่นไม้ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ อาจมีฝาทำจากไม้ อิฐ หรือหิน ล้อมไว้เพื่อให้เป็นสถานที่มิดชิด
ทว่าสำหรับชาวบ้านทั่วไป พวกเขามีถ้อยคำใช้แสดงความหมายของการไปขับถ่ายว่า “ไปทุ่ง” “ไปท่า” และ “ไปป่า” เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านี้ โดยเฉพาะคำว่า “ไป” แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน
เมื่อใดที่ชาวชุมชนบ้านป่าปวดท้องถ่าย พวกเขาก็เดินไปหาที่เหมาะ ๆ ในป่าเพื่อปลดทุกข์ (ต้องระวังสัตว์ป่าทำร้าย) ขณะชาวบ้านทุ่งก็ต้องเลือกป่าละเมาะหรือพุ่มไม้ในบริเวณเรือกสวนไร่นาของหมู่บ้าน (ถือไม้ไปคอยไล่หมูไม่ให้เข้ามากวน) ส่วนชาวชุมชนที่อยู่ใกล้น้ำก็อาศัยขับถ่ายบริเวณท่าน้ำหรือริมน้ำโดยสะดวก เพราะสามารถใช้น้ำชำระได้เลย
“เรามองว่าพฤติกรรมการขับถ่ายจะสัมพันธ์กับสภาพสังคม แล้วเราก็ศึกษาตั้งแต่การใช้ถ้อยคำเลยว่า คนสมัยก่อนซึ่งอยู่ในสังคมเกษตรกรรม เวลาจะไปขับถ่าย เขาบอกว่า ไปทุ่ง ไปท่า คนที่ไปทุ่ง ขับถ่ายของเสียแล้วจะมีหมูหมามาจัดการให้ หรือปล่อยให้ย่อยสลายไปเอง ส่วนคนที่ไปท่า ของเสียก็จะมีปลามาตอดกิน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในสังคมเดิมที่เรียบง่ายและกลมกลืนไปกับวงจรธรรมชาติ แล้วขณะเขาไปทุ่ง ไปท่า ก็อาจมองหาผัก ผลไม้ หรือของกินอื่นกลับมาทำเป็นอาหารได้อีกด้วย แต่ว่าพอสภาพสังคมเปลี่ยน เริ่มกลายเป็นสังคมเมือง พฤติกรรมแบบ ไปทุ่ง ไปท่า มันใช้ไม่ได้อีก”
จากสังคมแบบบ้านทุ่งบ้านป่า ซึ่งแวดล้อมด้วยที่รกร้างว่างเปล่ามากพอที่ธรรมชาติสามารถจัดการอุจจาระ ของเสียจากร่างกายมนุษย์ ได้อย่างสมดุล เข้าสู่ยุคสังคมเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องเริ่มแออัด จึงเหลือพื้นที่ว่างไม่พอรองรับของเสียจากการขับถ่ายแบบ ไปทุ่ง ไปท่าได้
กรุงเทพมหานครคือเมืองหน้าด่านที่พบความเจริญรวดเร็วกว่าท้องถิ่นอื่นในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่เศรษฐกิจการค้าขยายตัว บ้านเรือนและพลเมืองก็หนาแน่นขึ้น รวมทั้งเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อาศัยของตนเอง การขับถ่ายนอกสถานที่ส่งผลให้ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลอง กลาดเกลื่อนด้วยกองอุจจาระ ดูไม่เจริญตา ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และที่สำคัญคือเป็นสาเหตุของโรคระบาด อีกทั้งเวจหรือถานพระที่มีอยู่ตามวัด ก็ปลูกสร้างแบบปล่อยอุจจาระทิ้งลงน้ำบ้าง หรือปล่อยทิ้งลงพื้นเรี่ยราด มีทั้งสัตว์มาคุ้ยเขี่ยและแมลงวันไต่ตอม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามา “จัดระเบียบ” การขับถ่ายของราษฎร เพื่อความเรียบร้อยสวยงามของบ้านเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หรือปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ รัฐโดยกรมสุขาภิบาลซึ่งก่อตั้งในปีเดียวกันนั้น ได้ดำเนินการจัดสร้างส้วมสาธารณะ หรือสมัยนั้นเรียกว่า “เวจสาธารณะ” ขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นรัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๔๐ มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม
ส้วมสาธารณะที่กรมสุขาภิบาลจัดสร้างในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ยาว กั้นแบ่งเป็นห้อง ประมาณ ๕-๖ ห้อง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนอยู่คับคั่ง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร หรือกระจุกตัวตามชุมชนวัด ทั้งบริเวณรอบวัด เช่น บริเวณหน้าวัดบรมธาตุ ข้างวัดกำโลยี่ ตรอกข้างวัดมหรรณ์ หรืออยู่ในวัด เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชบุรณะ นอกจากนี้ยังมีส้วมสาธารณะจำนวนมากตั้งอยู่ในบริเวณใกล้วังของเจ้านาย และตามสถานที่ราชการ เช่น โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น
ส้วมสาธารณะยุคเริ่มแรกเป็นส้วมถังเท รูปแบบคล้ายส้วมหลุม นั่นคือปลูกสร้างตัวเรือนคร่อมหลุมเอาไว้ มีฐานไม้ปิดหลุมเจาะรูเอาไว้สำหรับนั่งขับถ่าย แล้วมีถังสำหรับรองรับอุจจาระอยู่ใต้หลุมนั้น โดยมีบริษัทรับขนเทอุจจาระซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ เช่น “บริษัทสอาด” หรือ “บริษัทออนเหวง” เป็นผู้ดำเนินการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระไปเททิ้ง และเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ให้วันละครั้ง
นั่นหมายความว่า จากคนที่เคยขับถ่ายในที่โล่งกลางแจ้ง ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาสู่การขับถ่ายในห้องที่ปิดทึบ
“มันเป็นปัญหาใหญ่นะสำหรับคนที่เคยขับถ่ายในที่โล่ง แล้วคุณไปจับเขามาขับถ่ายในห้อง เพราะว่าส้วมหลุมหรือส้วมถังเทมันเหม็นมาก” อาจารย์มนฤทัยกล่าว
------------- ๓. -------------
คำกล่าวของอาจารย์มนฤทัยทำให้ผมนึกถึงเมื่อครั้งตนเองไปเก็บข้อมูลทำสารคดีเรื่องชีวิตชาวเลเผ่ามอแกน ที่หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อ ๔ ปีก่อน
เช้าตรู่ในหมู่บ้านของพวกเขาที่อ่าวบอน ผมเห็นชาวมอแกนชายหญิงทยอยเดินไปทางหัวหาด บริเวณที่ตั้งกลุ่มโขดหินน้อยใหญ่ระเกะระกะ เต็มไปด้วยช่องโพรง รับรู้ภายหลังว่าพวกเขาเดินไปถ่ายทุกข์ อันเป็นกิจวัตรก่อนเริ่มการงานในวันใหม่
ภายหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย ชาวมอแกนถูกทางการอพยพขึ้นฝั่งไปอยู่อาศัยชั่วคราวภายในวัดแห่งหนึ่ง ผมติดตามข่าวพวกเขาทางหนังสือพิมพ์ เฒ่าทะเลที่คุ้นเคยกันคนหนึ่งให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า เรื่องที่พวกเขารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจก็คือการเข้าส้วม ผู้ใหญ่และเด็กไม่คุ้นชินกับการขับถ่ายในห้องปิดทึบ จึงรู้สึกอึดอัด ทั้งหลายคนไม่รู้จักใช้น้ำราด อุจจาระจึงทับถมพอกพูนคาคอห่าน โชยกลิ่นเหม็นคลุ้งอบอวล
ความอึดอัดของคนมอแกนคงคล้ายสภาพจิตใจคนกรุงเทพฯ สมัยปี ๒๔๔๐ ที่ต้องหัดเข้าห้องส้วมถังเทเป็นครั้งแรก
“เมื่อประชาชนไม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติต่อส้วม จึงมีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง คือ อย่างแรก ราษฎรหลีกเลี่ยงการใช้ส้วม ทำให้ตามถนนหนทางและที่สาธารณะมีผู้แอบไปถ่ายไว้ อย่างหลังเมื่อราษฎรไปใช้ส้วมแล้วก็มีปัญหาตามมาอีก ดังสะท้อนได้จากข้อความข้างต้น คือเมื่อถ่ายแล้วก็ไม่รู้จักระมัดระวัง ทำให้เปื้อนเปรอะ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย นับเป็นปัญหาของการปรับตัวเพื่อใช้ส้วมจากถ่ายไม่เป็นที่ เป็นถ่ายถูกที่แต่ไม่ถูกต้อง”
(จากหนังสือ ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย, ๒๕๔๕)
อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับถ่ายของราษฎร โดยการสร้างเวจหรือส้วมสาธารณะ เป็นส้วมแบบถังเทในเขตเมือง และส้วมหลุมในเขตท้องถิ่น ควบคู่กับการออกกฎหมายบังคับ และมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืน ค่อย ๆ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ เห็นความสำคัญและเรียนรู้การใช้ส้วม กระทั่งเริ่มมีผู้สร้างส้วมไว้ในบ้านตนเองภายในช่วงระยะประมาณ ๑๐ ปี
กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่สำคัญ หรือหมุดหมายของการพัฒนาส้วมของไทย เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นต้นมา กระทั่งช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๑ ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่จัดตั้งโดยเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคพยาธิปากขอ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น “ส้วมหลุมบุญสะอาด” ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม สามารถแก้ปัญหาเรื่องแมลงวันและกลิ่นเหม็นของส้วมหลุมแบบเก่า ทั้งยังประหยัดน้ำและราคาถูก สามารถสร้างใช้ในท้องถิ่นได้สะดวก ดังนั้นส้วมคอห่านจึงเข้ามาแทนที่ส้วมหลุมในที่สุด และยังคงใช้แพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายขยายการดูแลพฤติกรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายของประชาชนในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการปลูกฝังถ่ายทอดเรื่องนี้ในการศึกษาผ่านหนังสือแบบเรียนของเด็ก นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนค่อย ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อส้วม
ประวัติศาสตร์ส้วมของไทยคงไม่สมบูรณ์ หากไม่กล่าวถึงการเข้ามาของส้วมชักโครกแบบตะวันตก เนื่องจากส้วมชนิดนี้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งมีราคาแพง และใช้ท่านั่งราบ (แบบนั่งเก้าอี้) ขณะที่ชาวบ้านเคยชินกับการขับถ่ายแบบนั่งยองมากกว่า ในระยะแรกคือช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๙๐ ส้วมชักโครกจึงยังไม่ค่อยแพร่หลายสู่คนทั่วไป คงมีเฉพาะตามวังและบ้านเรือนของผู้มีฐานะดีที่จบการศึกษาหรือเคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทั่งต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งถึงปัจจุบัน ดูเหมือนคนไทยทั่วไปโดยเฉพาะคนเมือง จะคุ้นเคยกับส้วมชักโครกจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ส้วมชักโครกได้รับการพัฒนาไปไกล ทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม และเทคโนโลยีการใช้งานล้ำยุคอย่างที่หลายคนอาจไม่คาดคิด ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงว่ายุคนี้ห้องน้ำกลายเป็นส่วนสำคัญภายในบ้านที่ขาดไม่ได้
“จะเห็นว่าพื้นที่สำหรับการขับถ่ายมันเดินทางเข้ามาหาเรา” อาจารย์มนฤทัยตั้งข้อสังเกต พร้อมขยายความว่า “เพราะบ้านไทยสมัยก่อนไม่มีส้วม คนไม่เห็นความจำเป็น พอปวดท้องเขาก็ออกไปทุ่ง ไปท่า แต่เดี๋ยวนี้ส้วมมันเข้ามาอยู่ในบ้าน กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว”
จากการไปทุ่ง ไปท่า มาสู่การเข้าส้วม จากการขับถ่ายท่านั่งยอง มาสู่การใช้ชักโครกนั่งราบแบบตะวันตก...
“จริง ๆ แล้วรูปแบบการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป มีส่วนสัมพันธ์กับหลายสิ่ง เช่น เครื่องแต่งกายเราก็เปลี่ยน วัฒนธรรมการกินเราก็เปลี่ยน สมัยก่อนผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น ถ่ายปัสสาวะแค่นั่งยอง ๆ คนไม่รู้หรอก แต่ผู้หญิงสมัยนี้นุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้น คงทำอย่างเดิมไม่ได้ หรือคนไทยสมัยก่อนกินน้ำพริก กินผักเป็นส่วนใหญ่ กินเนื้อสัตว์ไม่มาก การขับถ่ายจึงทำได้สะดวกรวดเร็ว เหมาะกับการนั่งยอง ๆ ไม่ทันเป็นตะคริวก็เสร็จเรียบร้อย แต่คุณลองนึกดูสิ ถ้าวันไหนคุณกินสเต๊ก หรือกินอาหารแบบฝรั่ง หรือกินเนื้อสัตว์มาก ๆ อย่างคนไทยสมัยนี้ การขับถ่ายย่อมใช้เวลานาน ซึ่งส้วมชักโครกแบบนั่งราบมันรองรับการนั่งนาน ๆ ได้ดีกว่า แล้วคนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้มักมีปัญหาเรื่องท้องผูกด้วย”
อาจารย์มนฤทัยยังชี้ชวนให้เราคิดต่อไปอีกว่า “แล้วบางทีมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเหมือนกันนะ อย่างในอดีตเวลาจะอาบน้ำ คนในหมู่บ้านหรือสาว ๆ จะชวนกันไปท่าน้ำหรือริมน้ำเป็นหมู่ หรือหลายคนไปขับถ่ายในป่า อาจนั่งรอบกอไผ่หรือในซุ้มไม้ใกล้ ๆ กัน ถ่ายไปส่งเสียงคุยกันไป เพื่อระวังภัยให้กันไปด้วย หรือสมัยก่อนตอนที่เริ่มมีห้องน้ำในบ้าน พี่กับน้องอาจเข้าอาบน้ำพร้อม ๆ กัน หรือมีสบู่ก้อนหนึ่งใช้ด้วยกันทั้งบ้าน แต่โลกของห้องน้ำในปัจจุบันเป็นโลกที่ปัจเจกมาก ๆ เราไปอยู่ในห้องน้ำเหมือนไปอยู่ในโลกส่วนตัว ขนาดของใช้ในห้องน้ำยังต้องแบ่งชนิดอย่างยิบย่อย ของใครของมัน เช่น ต้องมีสบู่ผู้ชาย สบู่ผู้หญิง สบู่เด็ก แชมพูผู้ชาย แชมพูผู้หญิง แชมพูเด็ก สารพัดชนิด”
ทว่ายิ่งห้องน้ำห้องส้วมปิดมิดชิด สร้างความรู้สึกถึงความเป็นโลกส่วนตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ทำให้ความรู้สึกอยาก “ล่วงล้ำ” ของคนภายนอกยิ่งรุนแรงมากขึ้น
“เราว่าพฤติกรรมการแอบดูคงติดตัวมนุษย์มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยนี้ แต่ในสมัยก่อน ผู้หญิงไปอาบน้ำกลางแจ้ง ที่ท่าน้ำ การแอบดูคงไม่ชัดเจน ผู้ชายอาจอ้างว่าเขาจะพายเรือผ่านมาที่ท่าน้ำเหมือนกัน แต่ในสมัยนี้ห้องน้ำมิดชิด กรณีการแอบดูจึงชัดเจนขึ้น หรือที่เรียกว่าถ้ำมอง เหมือนของที่เขาหวง เขาไม่อยากให้ดู พวกถ้ำมองยิ่งอยากล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น แล้วยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไป ระดับการแอบดูยิ่งรุนแรง อย่างเช่นปัจจุบันมีการตั้งกล้องแอบถ่ายภายในห้องน้ำ และในยุคที่สื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นเช่นนี้ เรื่องพวกนี้ก็ยิ่งกลายเป็นข่าวดัง”
แล้วอาจารย์มนฤทัยก็วกเข้าสู่หัวข้อเดิม “จากสมัยก่อนที่บ้านไทยไม่เคยมีส้วม มาถึงยุคที่คนสร้างส้วมภายในบ้านเพราะเห็นเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่องสุขภาพอนามัย ความสะอาด แต่เดี๋ยวนี้สำหรับคนบางกลุ่มแล้ว ส้วมเดินทางมาไกลเกินกว่าความหมายแค่เป็นที่ขับถ่ายธรรมดา คือได้ไปสู่ระดับของสิ่งที่สามารถแสดงถึงรสนิยมหรือสร้างภาพลักษณ์บางอย่างของเจ้าของ”
อาจารย์มนฤทัยยกตัวอย่างประกอบ “ส้วมชักโครกสมัยก่อนเวลากดน้ำจะมีเสียงดังใช่ไหม แต่สุขภัณฑ์ยี่ห้อดัง ๆ เวลาใช้งานต้องเงียบ ถึงจะดูมีรสนิยม อีกหน่อยมันอาจจะใช้แล้วไม่มีกลิ่นเหม็นด้วย ไม่รู้จะไปไกลถึงขนาดนั้นหรือเปล่า หรือบางครั้งเราค่อนข้างงงมาก เคยไปเดินดูอ่างอาบน้ำที่ราคาอาจแพงกว่าบ้านทั้งหลัง เช่น อ่างจาคุชชี่หรืออ่างน้ำวนบางอัน ราคา ๔ แสนหรือ ๕ แสนบาท”
ผมนึกถึงข้อเสนอของอาจารย์มนฤทัยที่ว่า ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์สามารถใช้เป็นสิ่งโอ้อวดได้ในทางสังคม และสร้างความสุขในทางโลกียวัตถุ คิดง่าย ๆ ว่า ห้องน้ำในบ้านสมัยก่อนอาจมีแค่ตุ่มน้ำตักอาบหรือฝักบัวธรรมดา คงยังไม่มีใครนอนแช่อ่างอาบน้ำจาคุชชี่ราคาหลักแสน พร้อมจิบไวน์อย่างสบายอารมณ์เช่นบางคนในยุคนี้
แต่ก่อนที่จะไปถึงหัวข้อดังกล่าว เราคงไม่อาจละเลยรายละเอียดเรื่องของสุขภาพอนามัย ซึ่งนับเป็นชุดความรู้สำคัญอีกแง่มุมหนึ่งของส้วมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
หลังได้รับความรู้จากการพูดคุยกับอาจารย์มนฤทัยเรียบร้อยดีแล้ว ผมเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่กลับเข้ากรุงเทพฯ เวลาต่อมาจึงมีนัดพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานการประชุมส้วมโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้
------------- ๔. -------------
ในวันที่ ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพงาน “การประชุมส้วมโลก” ครั้งที่ ๒ ณ ศูนย์การจัดประชุมและแสดงนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี
การประชุมครั้งนี้มีเจ้าภาพหลักคือกระทรวงสาธารณสุข และมีเจ้าภาพร่วม ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีหน่วยงานสนับสนุนการประชุมคือ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสมาคมที่เป็นสมาชิกของ World Toilet Organization จำนวน ๔๙ สมาคมจาก ๓๘ ประเทศ
ก่อนการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องส้วมจะจัดขึ้น ทีมเจ้าหน้าที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกตระเวนสำรวจส้วมสาธารณะในจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย เช่น จังหวัดนนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อำนาจเจริญ กำแพงเพชร พิษณุโลก เชียงราย กระบี่ และปัตตานี ในแต่ละกลุ่มสถานที่ ทั้งวัด ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ ตลาดสด โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ
ผมมีโอกาสได้เข้าพบ นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย เพื่อสอบถามท่านเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยในส้วม และสถานการณ์ส้วมสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน
“ส้วมมีความสำคัญอย่างไรครับ ถึงขนาดสามารถเป็นหัวข้อการประชุมระดับโลก ?” ผมถามข้อสงสัย
นพ. โสภณอธิบายว่า “ตราบใดที่คนเราต้องกินอาหาร ก็ต้องมีการขับถ่าย หลายคนพูดว่าการเข้าส้วมก็คือการปลดทุกข์ คนที่เคยปวดท้อง ทั้งถ่ายหนักถ่ายเบา ลองคิดถึงสภาพตอนนั้นของเราเองว่าทุกข์ไหม แล้วหลังจากเราไปถ่ายออก เกิดความสุขขึ้นมาใช่ไหม ดังนั้นถ้าเกิดไม่มีสถานที่สำหรับปลดทุกข์เลย ปวดอุจจาระปัสสาวะแล้วไม่สามารถหาที่ถ่ายได้เลยจะทนได้ไหม ทนไม่ได้แน่นอน
“และส้วมก็คือที่รองรับสิ่งที่คนเราขับถ่ายออกมา ก็คือกากอาหารที่เหลือใช้แล้ว ซึ่งบางครั้งมีแบคทีเรีย มีเชื้อโรค ยิ่งถ้าเราเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ หรือท้องเสีย ของเสียจากการขับถ่ายก็จะมีเชื้อโรคด้วย ถ้าเราจัดการกับเชื้อโรคเหล่านั้นไม่ดี มันอาจแพร่สู่สภาพแวดล้อม ติดต่อถึงผู้อื่นได้ ดังนั้นต้องมีการจัดการกับของเสียให้ถูกสุขลักษณะที่สุด นั่นคือต้องมีห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน
“ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าส้วมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน”
ถ้าอย่างนั้นส้วมที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานเป็นอย่างไร ?
นพ. โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศสำหรับส้วมสาธารณะของไทย โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ความสะอาด (Healthy) ความพอเพียงหรือการเข้าถึงบริการ (Accessibility) ความปลอดภัย (Safety) หรือใช้คำย่อว่า HAS
“เกณฑ์มาตรฐานของส้วมทั้งหมดมี ๑๖ ข้อ สำคัญจริง ๆ คือกลุ่มเรื่องความสะอาด เช่น พื้นส้วม หรือผนัง เพดาน โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ต้องสะอาด ไม่มีคราบสกปรก มีน้ำให้ชำระล้างเพียงพอ มีกระดาษชำระ มีสบู่ล้างมือ ถ้าเราถ่ายหนักแล้วไม่มีสบู่ เชื้อโรคอาจปนเปื้อนติดมือได้ หรือต้องมีถังขยะที่มีฝาปิดอยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม รวมทั้งต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น
“เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มที่ ๒ เรื่องการเข้าถึงบริการ หมายถึงต้องมีส้วมเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องมีส้วมนั่งราบที่เพียงพอ เพราะถ้ามีแต่ส้วมนั่งยอง กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่ข้อเข่าไม่ดี จะมีปัญหา
“กลุ่มสุดท้ายเรื่องความปลอดภัย เช่น สถานที่ตั้งของส้วมไม่ควรอยู่ในที่ลับตาคน ควรแยกห้องส้วมชายหญิง มีแสงสว่างเพียงพอ กลอนล็อกประตูแน่นหนา รวมทั้งพื้นห้องต้องแห้ง ผู้ใช้จะได้ไม่ลื่นล้ม”
“ความแห้งสะอาดก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปลอดเชื้อโรคในห้องน้ำด้วยใช่ไหมครับ ?” ผมถามตามที่เคยได้ยินมา
“ถูกแล้ว เพราะเชื้อโรคจะเจริญเติบโตในสภาพชื้นแฉะได้ดี แต่ถ้าส้วมแห้งสะอาด เชื้อโรคจะอยู่ได้ยาก หรือตายไปในเวลาไม่นาน”
นพ. โสภณยังขยายความเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัยในส้วมอีกว่า
“ผู้ที่ถ่ายเสร็จแล้วใช้กระดาษชำระเช็ด เราแนะนำว่าให้ทิ้งกระดาษนั้นลงไปในโถเลย แล้วกดชักโครกเพื่อให้กระดาษลงไปอยู่ในบ่อเกรอะบ่อซึม เป็นการกำจัด เราไม่อยากให้ทิ้งกระดาษชำระใช้แล้วใส่ถังขยะ ยิ่งถังขยะที่ไม่มีฝาปิด เชื้อโรคฟุ้งกระจายได้ หรือแมลงวันมาตอม แม้ถังขยะมีฝาปิด ในขั้นตอนการเก็บขยะ กระดาษทิชชูซึ่งปนเปื้อนอุจจาระก็อาจปะปนกับขยะทั่วไป เชื้อโรคก็กระจายไปได้ เราพยายามป้องกันสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรค”
ผลการสำรวจส้วมสาธารณะทั่วประเทศโดยเจ้าหน้าที่กรมอนามัย พบว่ามีจำนวนน้อยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศ (HAS) ๑๖ ข้อ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด
ข้อมูลระบุว่า จากการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๔๙ พบว่ามีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์เพียง ร้อยละ ๒.๕ เท่านั้น ปัญหาหลักที่พบคือเรื่องความสะอาด ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมนั่งราบสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ หรือใช้ถังขยะไม่ถูกสุขลักษณะ (ไม่มีฝาปิด) และไม่มีสบู่ไว้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในรอบหลังพบว่า มีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศจำนวนมากขึ้น การสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีส้วมผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ ๑๐.๖๑ และเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๑.๔๓ ในเดือนกันยายน
“จริง ๆ แล้วเราแบ่งการสำรวจเป็น ๒ ส่วน” นพ. โสภณกล่าวต่อ “ส่วนแรกไปสำรวจเชิงสุ่มตรวจส้วมสาธารณะ ตามเกณฑ์ HAS ๑๖ ข้อดังที่กล่าวแล้ว แต่ในส่วนที่ ๒ เราไปตรวจดูส้วมที่มีผู้ส่งเข้าประกวด เนื่องจากขณะนี้เรามีโครงการประกวดสุดยอดส้วมแห่งปี รับสมัครผู้เข้าแข่งขันโดยแบ่งสายเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มโรงเรียน วัด ตลาดสด ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยแต่ละกลุ่มแข่งกันเองในระดับจังหวัดก่อน เมื่อได้ตัวแทนก็แข่งในระดับเขตต่อไป แล้วดูว่าใครจะได้ที่ ๑ ของแต่ละกลุ่ม เพื่อมารับรางวัลในการประชุมส้วมโลก วันที่ ๑๖ พฤศจิกายนนี้
“ส้วมที่ส่งเข้าประกวดหลายแห่งมีคุณภาพดีมาก อยากพูดว่าเหมือนเป็น อันซีน ทอยเล็ต (unseen toilet) ก็ได้ สาเหตุสำคัญคือเจ้าของสถานประกอบการ อาจเป็นร้านอาหารหรือปั๊มน้ำมัน มักมีแรงจูงใจที่จะทำห้องน้ำให้ดี เช่นรายหนึ่งบอกว่า เขาเห็นความสำคัญของห้องน้ำ เพราะบางครั้งออกไปข้างนอก เข้าห้องน้ำที่อื่นไม่ได้เพราะสกปรก ก็เลยต้องทำห้องน้ำในสถานประกอบการของตนเองให้สะอาด หรือเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดยโสธร บอกว่าเขาอยากทำให้เป็นห้องน้ำชั้นหนึ่งของจังหวัด
“เจ้าของปั๊มน้ำมันหลายแห่งบอกว่า ห้องน้ำเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันด้วยซ้ำ เพราะถ้าห้องน้ำสะอาด คนจะขับรถมาแวะ แล้วเติมน้ำมันเขาด้วย บางแห่งลงทุนสร้างและตกแต่งห้องน้ำสี่ห้าล้านบาทก็มี” นพ. โสภณกล่าวพร้อมยกตัวอย่างรายชื่อปั๊มน้ำมันเหล่านั้นให้ฟัง
ผมถึงกับหูผึ่งเมื่อได้ยินว่าส้วมมีความสำคัญถึงขนาดเป็นจุดขายของบางสถานที่ จึงตั้งใจจะตามรอยไปพิสูจน์ด้วยตาตนเอง
------------- ๕. -------------
“ลูกค้าบางคนบอกกับเราว่า เวลาเขาขับรถมาจากภาคอีสานตอนบน จะต้องมาแวะที่ปั๊มน้ำมันของเราทุกครั้ง เพราะเป็นปั๊มใหญ่และมีห้องน้ำสะอาด”
อาทิตย์ จิระสุข ชายหนุ่มเจ้าของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์บอกกับผม
ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ให้บริการน้ำมันของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ตั้งอยู่ริมถนนสายเลี่ยงเมือง (บายพาส) สายนครราชสีมา-ขอนแก่น โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร
ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์จะมีอายุครบ ๒ ปี
ปั๊มน้ำมันมีพื้นที่กว้างขวางถึง ๑๐ ไร่โดยยังไม่นับรวมลานจอดรถขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ด้านหลัง จุดเติมน้ำมันตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่ มีตู้และหัวเติมน้ำมันมากเพียงพอ แต่นับเป็นพื้นที่ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับลานโล่งรอบด้านซึ่งเรียงรายด้วยร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของที่ระลึกประเภทของกิน-ของฝาก ศาลาขายอาหาร ร้านกาแฟสด ห้องน้ำ ทั้งยังปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มแทรกแซมระหว่างอาคารต่าง ๆ บรรยากาศที่นี่จึงสวยงามและปลอดโปร่งเหมือนยกเอาสวนสาธารณะและศูนย์การค้าขนาดย่อมมาตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน
สิบโมงเช้าของวันนั้น ผมนั่งคุยกับคุณอาทิตย์และพี่สาวของเขา-คุณมณีพร ทราสุนทร อยู่ที่โต๊ะบนระเบียงร้านกาแฟ คุณมณีพรหรือคุณเก๋อธิบายว่า ปั๊มน้ำมันลักษณะนี้สร้างจากแนวความคิดใหม่ที่ ปตท. สนับสนุน นั่นคือเป็นปั๊มน้ำมันที่มีพื้นที่กว้างขวาง ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านค้า ร้านกาแฟ และห้องน้ำสะอาด เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หัวข้อหลักที่ผมสนใจในช่วงนี้ยังคงเป็นเรื่องส้วมเหมือนเคย (แต่ขณะที่คุยกัน เราใช้คำเรียกโดยรวมว่าห้องน้ำ)
“ห้องน้ำของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์เข้าประกวดสุดยอดส้วมของไทยด้วยใช่ไหมครับ” ผมถาม
“ใช่ค่ะ ขณะนี้ (กลางเดือนตุลาคม ๒๕๔๙) ติดอันดับ ๑ ใน ๙ จากห้องน้ำของปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ กำลังจะคัดเลือกว่าใครจะได้เป็นที่หนึ่ง” คุณเก๋ตอบ
หลายคนอาจสงสัยว่า ห้องน้ำปั๊มน้ำมันที่กำลังลุ้นว่าจะเป็นที่หนึ่งของประเทศมีสภาพเช่นไร ? จากที่ผมได้เข้าไปสำรวจดูแล้วในห้องน้ำชาย ภายในนั้นยังมีสภาพใหม่ ปราศจากกลิ่นเหม็น พื้นและผนังแห้งสะอาด ด้านหนึ่งเป็นห้องส้วมซึ่งมีอยู่หลายห้อง ลองชะโงกหน้าเข้าไปดูก็เห็นโถชักโครกแบบนั่งยองสะอาดเอี่ยม มีสายน้ำฉีดชำระ ขณะที่เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้านอกห้องส้วม ก็มีการจัดเตรียมสบู่เหลวให้อย่างเรียบร้อย
โถปัสสาวะติดตั้งเรียงรายเป็นแถวอยู่ที่ผนังหลังห้องน้ำในมุมค่อนข้างมิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ แต่ละโถเป็นสีขาวแวววาว ดูสะอาดปราศจากคราบใด ๆ เกาะแม้แต่น้อยนิด ทั้งไม่อุดตันจนมีน้ำสกปรกขังอยู่เช่นห้องน้ำของปั๊มน้ำมันอื่นที่เคยเจอ
“ห้องน้ำชายของเราจะมีห้องส้วมแบบนั่งยอง ๑๐ ห้อง และมีโถปัสสาวะ ๑๖ โถ” คุณเก๋ให้รายละเอียด “ส่วนห้องน้ำหญิงแบ่งเป็นส้วมแบบนั่งยอง ๑๔ ห้อง และส้วมแบบนั่งราบอีก ๑๐ ห้อง นอกจากนั้นเรายังมีห้องน้ำคนพิการ และห้องน้ำสำหรับพระภิกษุอีก ๒ ห้อง เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องปะปนกับคนอื่น”
พร้อมเปิดเผยว่า งบประมาณค่าก่อสร้างและตกแต่งห้องน้ำแห่งนี้รวมเป็นเงินประมาณ ๔ ล้านบาท
ผมถามทั้งสองคนว่าทำไมถึงให้ความสำคัญกับห้องน้ำขนาดนี้ ?
คุณอาทิตย์เป็นผู้ตอบ “เพราะห้องน้ำถือว่าเป็นจุดสำคัญของปั๊มน้ำมัน ในมุมมองของผม คนเดินทางเขาต้องเลือกห้องน้ำสะอาด เวลาลูกค้ามาที่นี่ ส่วนมากเข้าห้องน้ำเป็นอันดับแรก เขาขับรถมาเหนื่อย ๆ ได้เข้าห้องน้ำสะอาด สภาพแวดล้อมของปั๊มก็ดี ได้เดินดูโน่นดูนี่ เขาก็สบายใจ ประทับใจ”
เรื่องความสะอาดนับเป็นหัวใจสำคัญของห้องน้ำ ทางปั๊มน้ำมันจึงจ้างพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำตลอด ๒๔ ชั่วโมง เท่าช่วงเวลาที่ปั๊มน้ำมันเปิดบริการ
“เราแบ่งพนักงานทำความสะอาดเป็น ๒ กะ ทำงานกะละ ๑๒ ชั่วโมง โดยกะหนึ่งมีพนักงาน ๔ คน ทำความสะอาดห้องน้ำชาย ๒ คน และห้องน้ำหญิงอีก ๒ คน แม้ต้องใช้พนักงานมากหน่อย แต่เราต้องรักษามาตรฐานความสะอาด”
คุณเก๋เสริมว่า “ที่พนักงานต้องทำความสะอาดตลอดเวลา เพราะห้องน้ำของเราเป็นแบบเปียก การดูแลทำความสะอาดต้องถี่มาก พอลูกค้าออกมาจากห้องน้ำ ก็แทบจะต้องเข้าไปเช็ดทันที”
ห้องน้ำแบบเปียก ก็คือส้วมที่มีสายฉีดชำระหรืออ่างน้ำตักราดและชำระ ส่วนห้องน้ำแบบแห้งนั้นมีแต่โถชักโครกและกระดาษชำระ ไม่มีสายฉีดหรืออ่างน้ำแต่อย่างใด พื้นห้องจึงแห้งตลอดเวลา ห้องน้ำแบบแห้งส่วนมากอยู่ในเขตตัวเมืองใหญ่หรือสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ
ทั้งสองคนบอกผมว่า ที่เลือกทำห้องน้ำแบบเปียก เพราะต้องการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเคยชินในการเข้าส้วมของคนท้องถิ่น
“ตอนแรกพวกเราก็คุยกันว่า จะเอาห้องน้ำแบบเปียกหรือแบบแห้ง ห้องน้ำแบบแห้งทำความสะอาดง่ายกว่า เพราะมันไม่เลอะ แต่ทีนี้เราอยู่ทางอีสานใช่ไหมครับ คนอีสานจะไม่ชินกับห้องน้ำแบบแห้ง เวลาเขาเข้าห้องน้ำจะต้องใช้น้ำชำระ เราเลยตกลงทำห้องน้ำแบบเปียก เพราะฉะนั้นห้องน้ำจึงดูแลยากขึ้นอีกหน่อย เช่นบางครั้งลูกค้าใส่รองเท้าเลอะขี้ดิน เดินเข้ามาพื้นห้องน้ำก็สกปรก พนักงานของเราก็ไปทำความสะอาด แต่ไม่มีบ่น ไม่เป็นไร”
ผมถามว่าพฤติกรรมลูกค้าเข้ามาใช้ห้องน้ำสร้างปัญหาอย่างอื่นหรือไม่ ? ทั้งสองคนช่วยกันตอบ
คุณอาทิตย์ “มีเรื่องของในห้องน้ำหาย เช่น ขันตักน้ำ หรือต้นไม้ดอกไม้ที่เราใส่กระถางประดับเพื่อความสวยงาม เช่น ซื้อกล้วยไม้ ตะบองเพชร มาวางแค่ ๒ ชั่วโมง พอมาดู หายไปแล้ว บางครั้งเราติดกาวที่กระถางต้นไม้แปะกับพื้น คนยังแซะเอาไปได้ ที่เขี่ยบุหรี่และถังขยะสแตนเลสยังหายเลย อันใหญ่ ๆ เขายังยกไปทั้งอันเลย เราก็พยายามบอกพนักงานให้ดูแลหน่อย”
คุณเก๋ “บางทีตอนกลางคืนพนักงานเขาไปกินข้าว หรือเผลอทำอย่างอื่นบ้าง ของเลยหาย อย่างพวกหัวสายฉีดชำระ หรือสายฉีดชำระทั้งเส้น ก็มีคนเอาไป บางครั้งตะขอแขวนเสื้อผ้าในห้องส้วมก็หาย”
คุณอาทิตย์ “บางคนเข้าไปใช้ห้องส้วมคนพิการซึ่งเป็นโถชักโครกแบบนั่งราบ เขาไม่เคยใช้ เลยขึ้นไปนั่งยองเอาเท้าเหยียบบนฝารองนั่ง จนฝารองนั่งแตก ต้องคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ”
คุณเก๋ “หรือลูกค้าบางคนกดชักโครกแรงจนที่กดหลุด น้ำพุ่งก็มี แต่ทางเราก็ต้องทำใจ ถึงอย่างไรก็ต้องให้บริการลูกค้า”
ผมสงสัยว่าแต่ละวันมีผู้เข้าใช้ห้องน้ำกี่คน ?
“ปรกติแล้วประมาณหมื่นคนต่อวัน” คุณอาทิตย์บอก “เพราะผมเคยให้คนมายืนนับตลอด ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลา ๓ วัน เขาบอกว่าเฉลี่ยแล้วตกประมาณวันละหมื่นคน ตอนสาย ๆ อย่างนี้รถเข้ามายังไม่มากเท่าไร วันเสาร์อาทิตย์จะมากกว่านี้ ช่วงเย็นบางวัน รถบัสของบริษัทนำเที่ยวเข้ามาที ๑๐ คัน ๒๐ คัน เข้ามาจอดจนเต็มลานจอดรถด้านหลัง เขามาเติมน้ำมัน ปล่อยคนกินข้าว เข้าห้องน้ำ
“แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่หรือสงกรานต์ คนมากกว่านี้ประมาณ ๓-๔ เท่าได้ เข้ามาตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลย คนต้องยืนต่อแถวเข้าห้องน้ำ บางครั้งเป็นอย่างนี้ ๓-๔ วันติดกัน พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำต้องทำงานหนัก และเหนื่อยมาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลเราจึงต้องจ้างพนักงานทำความสะอาดมาเสริม และเพิ่มค่าแรงให้เป็นพิเศษ”
คุณอาทิตย์ยังกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์เป็นที่รู้จักดีในหมู่รถบัสรถทัวร์ส่วนใหญ่ ว่าจะต้องมาแวะจอดพักรถที่นี่ เพราะตรงนี้เป็นเส้นทางผ่านของรถจากอีสานตอนบนทั้งหมด เราเคยคุยกับคนขับรถบัสที่มาจากขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือจังหวัดอื่น ๆ เขาบอกว่าจะขับรถรวดเดียวมาจอดพักที่นี่ แล้วเขาจะตียาวเข้าไปส่งผู้โดยสารเข้ากรุงเทพฯ เลยทีเดียว”
แม้ปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีก็จริง ทว่าบนถนนเส้นเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงยังมีปั๊มน้ำมันแห่งอื่นตั้งเรียงรายเป็นระยะ เหตุที่ปั๊มน้ำมันแห่งนี้กลายเป็นจุดแวะพัก-จุดนัดพบของรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นเพราะบรรยากาศและความสะดวกสบายจากบริการนานาประเภทพร้อมสรรพ
ซึ่งย่อมนับรวมถึงห้องน้ำหรือส้วมที่สะอาดได้มาตรฐาน อันถือเป็นจุดขายสำคัญของปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์อย่างไม่ต้องสงสัย
------------- ๖. -------------
นอกจากปั๊มน้ำมันอาทิตย์ไฮเวย์แล้ว ในจังหวัดนครราชสีมายังมีส้วมของสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอาจนับเป็น “จุดขาย” ได้เช่นเดียวกัน
“ตะลึง ! ส้วมทองคำ วัดเมืองโคราช เจ้าของไอเดียเป็นเจ้าอาวาส อดีตพระเลขาฯ ‘หลวงพ่อคูณ’ สร้างมาตั้งแต่ปี ๔๕ ไว้สำหรับต้อนรับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนแขกบุคคลสำคัญ เป็นส้วมแบบคอห่านนั่งยอง ๆ มีด้วยกัน ๖ ห้อง อยู่ในกุฏิวีไอพี เวลาเปิดไฟจะเหลืองอร่ามไปทั้งห้อง แต่ชาวบ้านเห็นแล้วไม่กล้าใช้เพราะดูอลังการเกินไป เจ้าอาวาสระบุไม่ได้สร้างไว้โชว์ใคร คิดว่าน่าจะสวยดีเลยลองสร้างดู ตอนนี้เริ่มมีคนมาเที่ยวชมแล้ว”
(ที่มา : หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ๑๙ ม.ค. ๔๙)
เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ เรื่องราวของ “ส้วมทองคำ” กลายเป็นข่าวดังเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งออกอากาศทางรายการโทรทัศน์หลายช่อง ผู้ติดตามข่าวสารหลายคนสนใจถึงขนาดเดินทางไปดูให้เห็นกับตาถึงสถานที่จริง นั่นคือ วัดหนองบัวทุ่ง อ. คง จ. นครราชสีมา
กลางเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ผมและทีมงาน สารคดี ก็เดินทางมุ่งหน้าสู่วัดหนองบัวทุ่ง ซ้ำรอยคนหลายกลุ่มหลายคณะผู้มาก่อนด้วยแรงดึงดูดจากส้วมทองคำ
ใครจะคาดคิดว่ามีคนสร้างส้วมเป็นทองคำ เมื่อโลหะสูงค่าอย่างทองคำต้องมารองรับอุจจาระซึ่งเป็นของเสียและของเหม็นจากร่างกาย อาจเพราะความขัดแย้งขั้นรุนแรงเช่นนี้เองที่กระตุ้นความสนใจของใครต่อใคร และนักข่าวคงเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่มีความรู้สึกไวต่อเรื่องราวทำนองนี้
วัดหนองบัวทุ่งที่พวกเราไปถึงมีพื้นที่กว้างขวาง อาคารขนาดใหญ่หลายหลังปลูกกระจัดกระจาย ทว่าบรรยากาศค่อนข้างเงียบ ผมนึกแปลกใจตรงที่ไม่มีป้ายใด ๆ บอกทางไปส้วมทองคำเลย มีเพียงป้ายที่เขียนว่า ทางไปชมโบสถ์เบญจรงค์ เชิญนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ทางไปชมกุฏิเสาใหญ่ ฯลฯ
ผมได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านบอกว่าวัดแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ ๘๐ ไร่ แต่มีพระภิกษุเพียง ๗ รูปเท่านั้น
ผมสอบถามท่านเรื่องส้วมทองคำ ท่านตอบว่า
“ต้องไปคุยกับพระครูปลัดนุช (หลวงตานุช) เพราะท่านเป็นผู้คิดสร้างส้วมทองคำ คือหลวงตาท่านก็ไม่ได้ห้ามคนอื่นพูดเรื่องส้วมทองคำหรอก แต่ถ้าท่านพูดรูปเดียว การให้ข้อมูลก็น่าจะไปแนวทางเดียวกัน”
พระครูปลัดนุชเคยเป็นเลขานุการของหลวงพ่อคูณ ทว่าไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวทุ่ง ท่านเป็นพระอาวุโสของวัดที่ทุกคนให้ความเกรงใจ ปัจจุบันไปช่วยให้คำปรึกษาอยู่ที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี กำลังสร้างมหาวิหารซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพระเอกภาพยนตร์ไทย สรพงษ์ ชาตรี เป็นประธานมูลนิธิ
ในที่สุดพระรูปที่ผมคุยด้วยก็ยอมพูดเรื่องส้วมทองคำ แต่ท่านขอไม่เปิดเผยตัว
“คือบางทีข่าวเรื่องนี้ออกไป แล้วก็มีคนวิจารณ์กัน บางคนเป็นนักวิชาการ อาตมาเคยอ่านเจอ เขาว่าไม่น่าเอาทองมาทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสม บางทีกลายเป็นภาพลบของทางวัด ก็เลยไม่อยากจะให้ข่าวอะไร
“อาตมาไม่อยากจะพูดอะไร แล้วแต่คนเขาจะพูดกันไป พูดไปทางที่ดีมันก็ดี พูดไปทางไม่ดีมันก็ดีอย่างหนึ่ง คือคนก็อยากมาดูนั่นแหละ
“มีคนมาเที่ยวชมส้วมทองคำอยู่เรื่อย ๆ หรือครับ ?” ผมถาม
“จ้ะ เขามาทุกวัน แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ก็คนแถว ๆ นี้บ้าง หรือคนทางไกล บางทีเขามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ อาจจะไปดูปราสาทหินพิมายมาก่อน เผอิญตรงนี้เป็นทางผ่าน เขาก็แวะเข้ามาบ้าง”
หลวงพ่อเน้นว่า “จริง ๆ แล้วส้วมทองคำไม่ใช่จุดขายของวัด หลวงตาท่านไม่ได้เน้นตรงนี้ แต่คนกลับฮือฮาเรื่องนี้ มันอาจดูแปลกก็ได้ ทั้งที่วัดเรามีพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วเรากำลังสร้างโบสถ์เบญจรงค์ทั้งหลัง มีพระหยกที่นำมาจากพม่า เป็นหยกขาว หนักประมาณ ๕ ตัน และหยกเขียว หนักประมาณ ๓ ตัน ปรากฏว่าคนรู้จักวัดนี้จากส้วมมากกว่าส่วนอื่น ส่วนมากโยมที่มาก็ถามหาก่อนว่าส้วมทองคำอยู่ตรงไหน
“ความจริงทางวัดสร้างส้วมทองคำมาประมาณ ๕ ปีแล้ว แต่ไม่เคยเป็นข่าวหรอก ปีก่อนตอนวัดเรามีงาน แล้วมีพระชั้นผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ มาร่วมงาน นักข่าวมาด้วย แล้วคงไปเห็นส้วมทองคำเข้า เขาก็เลยจับไปเล่น ตรงนี้มันคงเป็นข่าวได้
“เท่าที่อาตมาเคยเห็น ส้วมทองคำได้ออกโทรทัศน์รายการ ‘แปลกจริงหนอ’ แต่ช่องอะไรจำไม่ได้ ช่วงแรก ๆ มีพวกรายการทีวีติดต่อมาบ้าง แต่หลวงตาไม่ยอมไปไหน”
หลวงพ่อยังเสริมว่า “พระครูปลัดนุชท่านเป็นพระที่ทำอะไรทำจริง ญาติโยมเห็นว่าทำจริงจังเลยมีคนเข้ามาช่วยอยู่เรื่อย ๆ จนวัดมีความเจริญ จริง ๆ แล้ววัดบ้านนอกพัฒนามาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าดีแล้ว”
ผมตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะไปขอพบพระครูปลัดนุช แต่วันนี้ขอไปดูส้วมทองคำก่อน
หลวงพ่อบอกให้พระลูกวัดรูปหนึ่งเดินนำพวกเราไป ทางเดินตัดผ่านสวนไม้สักร่มรื่นไปยังกุฏิเสาใหญ่ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ปลูกสร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ ส้วมทองคำทั้ง ๖ ห้องอยู่ที่อาคารนี้ โดยชั้นล่างมี ๒ ห้อง ส่วนชั้นบน ๔ ห้อง
หลวงพี่นำผมและช่างภาพขึ้นบันไดไปชั้น ๒ ของกุฏิโอ่โถง ผ่านเข้าประตูห้องพักที่กั้นเป็นสัดส่วน ส้วมทองคำห้องหนึ่งอยู่ภายในนี้เอง
ห้องส้วมไม่กว้างเท่าไรนัก ขนาดประมาณ ๒ คูณ ๒ เมตร เมื่อหลวงพี่เปิดประตูเข้าไป สิ่งแรกที่สะดุดตาก็คือ ส้วมคอห่านแบบนั่งยอง ฐานสูงจากพื้นประมาณ ๒๐ เซนติเมตร โดดเด่นด้วยสีทองอร่าม สุกปลั่งวาววับเมื่อสะท้อนแสงไฟจากเพดาน พื้นห้องปูกระเบื้องสีเงินคล้ายเคลือบด้วยโลหะ ยิ่งทำให้ทั้งห้องเป็นประกายเรืองรองจับตา
ขณะช่างภาพกำลังขะมักเขม้นถ่ายภาพส้วมทองคำ ผมลงมาข้างล่างเพื่อพบกับตาบุญ เชดนอก ผู้เฒ่าวัย ๗๒ ปี แกเป็นคนดูแลประจำกุฏิเสาใหญ่ นอนเฝ้าที่นี่ทุกคืน และเป็นคนทำความสะอาดส้วมทองคำด้วย
ชายชรายินดีเล่าเรื่องราวหลายแง่มุมของส้วมทองคำให้ผมฟัง
“เวลาทำความสะอาดส้วมทองคำ ผมใช้ฟองน้ำชุบน้ำยาล้างห้องน้ำถูคอห่าน ใช้แปรงขัดส้วมไม่ได้ เดี๋ยวทองจะลอก” ตาบุญเผย
ผมเคยอ่านข่าวว่าโถส้วมนั้นเป็นเซรามิก เคลือบด้วยทองเค
“สมัยก่อน กุฏิเสาใหญ่หลังนี้เป็นที่พักรับรองของพระชั้นผู้ใหญ่และพวกข้าราชการคนใหญ่คนโต” ตาบุญเล่าต่อ “ตั้งแต่ผมมานอนเฝ้าที่นี่ได้ ๒ ปีมาแล้ว ยังไม่มีคนเข้าพักเลย”
ผมถามตาบุญว่ามีคนมาเที่ยวดูส้วมทองคำบ่อยไหม ?
ตาบุญบอก “ตอนต้นปีที่ส้วมทองคำดังใหม่ ๆ สัก ๔-๕ เดือนมานี่ คนมาหลาย บางวัน ๓๐-๔๐ คน พวกฝรั่งกับญี่ปุ่นก็มาเบิ่ง มีล่ามนำมา เดี๋ยวนี้คนมาดูน้อยลงแล้ว วันหยุดอาจสัก ๙-๑๐ คน วันธรรมดาก็มีมาเรื่อย ๆ เขาบอกเห็นจากโทรทัศน์ เลยพากันมา”
“แล้วคนที่มาดูเขาเข้าไปฉี่ไปอึบ้างไหมครับ ?” ผมสงสัยจริง ๆ ว่าจะมีคนกล้าถ่ายทุกข์ใส่ส้วมสีทองอร่ามแบบนี้หรือเปล่า
“บางทีมีคนมาดูเป็นกลุ่มใหญ่ เกือบ ๒๐ คน เขาเข้าไปดูทุกห้อง พอไปกันหมดแล้ว ผมเข้าไปในห้องส้วมก็ได้กลิ่นเหม็นจนทนไม่ไหว ต้องใช้น้ำยาดับกลิ่น คิดว่าเขาคงใช้กันบ้างเหมือนกัน”
“แล้วตาบุญอยู่ที่นี่มานาน เคยใช้ส้วมทองคำบ้างหรือเปล่าครับ ?”
“ผมไม่กล้าใช้ เพราะเห็นบางคนเขามาแล้วเคารพจริง ๆ” ตาบุญเล่าพร้อมขยายความ “เขาไหว้สิครับ พวกคนอีสานที่อายุมาก ๆ เขามาเห็นส้วมทองคำ เขากราบครับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังมี คนแก่อายุ ๖๐-๗๐ มาถึงก็มาไหว้ นั่งไหว้แบบศรัทธาเลยละ ผมเห็นแล้วอ่อนใจ บางคนรู้ว่าผมนอนที่นี่ก็ถามว่าเคยได้เลข (หวย) ได้อะไรไหม”
ตาบุญว่าต่อ “แต่คนกรุงเทพฯ ที่มาดู เขาไม่ค่อยยินดีดอก เขาว่าทำทำไม ทำเพื่อประโยชน์อะไร ผมไม่รู้จะตอบยังไง ยิ่งเจ๊กมาถึงก็ว่า เอาของอย่างนี้ (ทองคำ) มาทำส้วมไม่ถูก คนจีนเขาไม่ให้ทำกัน เพราะทองคำไม่ใช่ของธรรมดา จะอยู่ไม่สบาย อยู่ไม่มีความสุข เขาว่างั้น คนผัวมาพูดกับผม แต่เมียมาห้ามเอาไว้”
“แล้วนักข่าว (แบบพวกเรา) มาบ่อยไหมครับ ?” ผมถาม
“ตอนช่วงนั้น (ต้นปี) มาบ่อย แต่หลวงตานุชแกไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์ มีวันหนึ่งเหลือผมอยู่คนเดียว พวกนักข่าวทีวีมากัน ผมไม่ให้ถ่ายเนาะ มันบอก-ตา ผมขอถ่ายรูปโถส้วม คนหนึ่งกันผมเอาไว้ ไม่ให้ไปไหนเลย ที่เหลือขึ้นไปเปิดไฟ ถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อย พอลงมาก็แบกกล้องถ่ายรอบกุฏิไม่รู้กี่รอบ ตกค่ำมีข่าวออกทีวี พวกลูกหลานผมมันเห็น นี่มันตาฉันนี่นา ! ว่าอย่างงั้น”
ก่อนจากกันวันนั้น ตาบุญเล่าประวัติตัวแกและวัดหนองบัวทุ่งให้ผมฟังว่า
“ผมเกิดที่หมู่บ้านหนองบัวทุ่งนี่แหละ วัดนี้ตั้งมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดสองสามปี สมัยก่อนเป็นวัดเล็ก ๆ เพิ่งเจริญตอนปี ๓๖ ขึ้นทุกอย่าง ขึ้นโบสถ์ ศาลา กุฏิ ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ หลวงตานุชเป็นคนดูแลจัดการทุกอย่าง”
กระทั่งวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้เข้านมัสการพระครูปลัดนุช รัตนวิชไชโย ผู้อยู่เบื้องหลังความเจริญของวัดหนองบัวทุ่ง แต่พวกเราต้องเดินทางไปพบท่านที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี ตั้งอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว จ. นครราชสีมา เช่นเดียวกัน
มหาวิหารหลวงปู่โตสูงตระหง่านโดดเด่นมองเห็นแต่ไกล แม้ขณะนี้ยังตกแต่งไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เปิดให้คนเข้าไปกราบไหว้แล้ว ภายในประดิษฐานรูปหลวงปู่โตองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ขนาดมหึมาสีดำลักษณะคล้ายคนจริง ตัวมหาวิหารนั้นตั้งอยู่บนเกาะที่แวดล้อมด้วยบึงน้ำและลอนเนินปกคลุมด้วยดงดอกทานตะวันที่กำลังออกดอกสีเหลืองงามสะพรั่ง
ผมสืบเสาะไปจนถึงกุฏิหลังน้อยที่ตั้งอยู่ในมุมสงบ พระครูปลัดนุชหรือหลวงตานุชไม่ได้มีท่าทีน่าเกรงขามเช่นที่ผมคิด กลับเป็นพระภิกษุสูงวัยผู้ใจดีมีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นกันเองกับพวกเรา
ผมจึงเรียนถามท่านถึงที่มาของส้วมทองคำ
“ส้วมทองคำสร้างเมื่อประมาณปี ๔๕“ หลวงตานุชกล่าว “ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าอยากจะลองทำดู ลูกศิษย์เป็นธุระไปให้โรงงานเขาทำให้ ใช้ทองเคเคลือบโถเซรามิก จะสักกี่เคก็ไม่รู้เหมือนกัน พอทำแล้วเขาไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน เขาก็เลยมาตั้งไว้ที่นี่ (กุฏิเสาใหญ่)”
หลวงตานุชย้ำว่า “อาตมาอยากลองทำดูเฉย ๆ ไม่ใช่จะทำมาอวด มาโชว์ เพราะสิ่งที่ควรจะโชว์ควรเป็นอุโบสถ วิหาร เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือสิ่งที่สานประโยชน์ สิ่งที่ดี ๆ สวยงาม แต่ก่อนคนไม่ค่อยรู้หรอก ตอนหลังมีนักข่าวมาทำข่าว ก็เลยทำให้เป็นที่รู้จัก เราไม่ได้จะโชว์อยู่แล้ว”
“บางคนบอกว่า ในวัดไม่น่าจะมีส้วมทองคำ หลวงตามีความเห็นอย่างไรครับ ?”
“ไม่มีความเห็นอะไร ก็ปรกติธรรมดา ไม่ได้คิดอะไร ก็เราไม่ได้ตั้งใจจะอวดใคร ไม่ได้ตั้งใจจะไปโปรโมตให้มันดีมันเด่นอะไรขึ้นมา เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักข่าวเอาไปลง ก็ห้ามเขาไม่ได้”
“ทางวัดก็ไม่ได้ติดป้ายบอกให้คนไปดูส้วมด้วยซ้ำไป” ผมตั้งข้อสังเกต
“อาตมาไม่พูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เขามาถามเรื่องส้วม ใครจะถามยังไง เราก็จะหันไปคุยเรื่องอุโบสถอย่างเดียวแหละ เพราะส้วมไม่ใช่ของที่จะมาโชว์ได้ อันนี้ก็เลยคิดว่า จะยากอะไร ทุบทิ้งเสียเลย” ท่านหัวเราะ แล้วกล่าวต่อว่า
“เรื่องทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าเป็นข่าว จะมีทั้งดีและเสียตามมา อย่างสร้างมหาวิหารหลวงปู่โตนี้ก็เหมือนกัน ก็มีคนว่า ทำไมสร้างใหญ่แท้ ทำไมสร้างอะไรมากมาย ก็มีคนวิเคราะห์วิจารณ์ ตอนแรกเขาจะสร้างเล็ก อาตมาบอกให้สร้างใหญ่ ถ้าสร้างเล็ก ๆ คนมากราบไหว้ไม่มากมายดอก ถ้าสร้างใหญ่ คนมากราบไหว้มากมาย ต้องสร้างแบบมีแนวคิดถึงจะได้ดี
“คนเราถ้ามีแนวคิด จึงจะดีที่สุด อย่างครูบาศรีวิชัยท่านสร้างพระธาตุดอยสุเทพ ก็เป็นแนวคิดท่าน เดี๋ยวนี้เงินเข้าจังหวัดเชียงใหม่ทั้งทางตรงทางอ้อมปีละหลายพันหลายหมื่นล้าน หรือคนมีบุญเขาสร้างหลวงพ่อโสธรไว้ ก็เป็นแนวคิดของคนโบราณ อย่างต่างประเทศก็เหมือนกัน เช่นที่หอไอเฟลหรือกำแพงเมืองจีน มีคนไปท่องเที่ยวเต็มไปหมด ก็แนวคิดคนโบราณเขาสร้างไว้ เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นมรดกของชาตินั้น ๆ”
หลวงตานุชสรุปว่า “เพราะฉะนั้นแนวคิดนี่สำคัญที่สุด คนไหนเก่งเรื่องแนวคิด คนนั้นทันสมัยที่สุด คนไหนเก่งเรื่องวิชาการ ก็ตามหลังทั้งปีทั้งชาติ”
ตลอดเวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงที่ได้พบท่าน หลวงตานุชไม่ค่อยเอ่ยถึงเรื่องส้วมทองคำจริง ๆ เช่นที่ท่านเปรยแต่แรก แต่ท่านจะเทศนาสั่งสอนเรา เน้นหนักเรื่องแนวคิดและปรัชญาต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่
“เรื่องทุกอย่างจะทำอะไรให้ถูกใจคนทั้งหมดก็ไม่ได้ จะพูดทุกอย่างให้ถูกหมดทุกเรื่องก็ไม่ได้ จะพูดทุกอย่างให้มันดีหมดก็ไม่ได้ เหมือนกับช่างภาพจะถ่ายภาพทุกอย่างให้สวยหมดก็ไม่ได้ (ช่างภาพสารคดีกำลังถ่ายภาพท่านอยู่) หรือจะเขียนหนังสือให้มันดีทุกคำก็ไม่ได้เหมือนกัน แล้วการเขียนหนังสือนี่ ส่วนมากคนเขียนจะตบแต่งกันน่ะนะ ตบแต่งให้มันดี ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เป็นของธรรมดา”
ก่อนเรากราบลาท่าน พระครูปลัดนุชยังย้ำกับผมว่า ขอให้เขียนแต่เรื่องดี ๆ ท่านอยากชวนคนมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระบรมสารีริกธาตุของวัดหนองบัวทุ่ง และชมโบสถ์วิหารมากกว่าไปดูส้วม
------------- ๗. -------------
เมื่อกลับจากจังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมหลักของผมในกรุงเทพฯ ยังคงวนเวียนเกี่ยวกับส้วม เพราะดูเหมือนยังมีหัวข้อให้ค้นหาไม่จบสิ้น
ผมอยากรู้ว่าเครื่องสุขภัณฑ์ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงขั้นไหน ตลอดจนมีหลากหลายรูปแบบเพียงใด จึงติดต่อขอข้อมูลไปที่บริษัทบุญถาวรเซรามิค จำกัด เพราะรู้ว่าบริษัทแห่งนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อ ทั้งมีโชว์รูมหรือศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่หลายสาขา
ทางบุญถาวรนัดผมไปพบที่โชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์และครัว สาขารัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่แนะนำข้อมูลเบื้องต้น พร้อมทั้งชักชวนให้ดูสินค้าที่วางโชว์อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
“บริษัทของเราเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สินค้าที่นำเข้ามาจัดจำหน่ายทั้งหมดจะได้รับการคัดสรรทั้งในด้านคุณภาพและด้านบริการหลังการขายจากผู้ผลิต ให้อยู่ในมาตรฐานตามนโยบายที่บริษัทกำหนดไว้
“สำหรับการจัดวางสินค้า เราเน้นที่ความสวยงามและลูกค้าสามารถเลือกสรรได้ง่าย เราไม่ได้ตั้งชักโครกเรียงเป็นแนวทีละสิบยี่สิบรุ่น แต่เราจัดเป็นตัวอย่างห้องน้ำ ห้องครัว ให้เหมือนจริง เมื่อลูกค้ามาเห็นก็จะเกิดไอเดียในการตกแต่ง รวมทั้งเรายังมีดีไซเนอร์ที่สามารถให้คำปรึกษาในการออกแบบให้แก่ลูกค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Virtual Decor ซึ่งเป็นโปรแกรมออกแบบห้องน้ำ ๓ มิติ ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพตำแหน่งการจัดวางเครื่องสุขภัณฑ์ก่อนที่จะนำไปประยุกต์กับตำแหน่งจริงของห้องน้ำ และที่สำคัญเรามีการสำรองสินค้าไว้จำนวนมาก ลูกค้าจึงมั่นใจว่าเมื่อเดินเข้ามาที่บุญถาวร ตัดสินใจซื้อแล้วจะได้รับสินค้าที่มีในคลังสินค้าทันที เพราะเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ เราจึงเตรียมความพร้อมของสินค้าด้วยการมีสต็อกพร้อมขาย โดยมีบุญถาวร โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการสินค้าและกระจายสินค้าสู่โชว์รูมบุญถาวรสาขาต่าง ๆ และที่จริงแล้ว เมื่อมาถึงโชว์รูม ลูกค้าก็สามารถหาข้อมูลเบื้องต้นและเช็กจำนวนสินค้าในสต็อกได้เองด้วยโปรแกรม e-library ที่เราติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในโชว์รูมด้วย”
อาคารโชว์รูมเป็นตึก ๓ ชั้นขนาดใหญ่ ภายในกว้างขวางด้วยเนื้อที่กว่า ๓,๐๐๐ ตารางเมตร ติดแอร์เย็นฉ่ำและเปิดเพลงคลอเบา ๆ บรรยากาศจึงคล้ายศูนย์การค้าชั้นดี ผิดกันแต่ว่าสถานที่แห่งนี้วางขายเฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์และสินค้าห้องครัว จนเราอาจเรียกว่าเป็นศูนย์การค้าเฉพาะทาง
ผมใช้เวลาเดินชมภายในโชว์รูมด้วยความรู้สึกละลานตาไปหมด ทั่วทั้ง ๓ ชั้นจัดแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ที่อาจเรียกได้ว่าจำนวนมหาศาล ทั้งกระเบื้องปูพื้น-ผนัง โถส้วมชักโครก ฝารองนั่งชักโครก โถปัสสาวะชาย โถปัสสาวะหญิง (บิเด้) สายฉีดชำระ ที่ใส่กระดาษชำระ อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ กระจกส่องหน้า อ่างอาบน้ำ ตู้อาบน้ำ หัวฝักบัวพร้อมสาย ชั้นวางสบู่-แชมพู ที่วางแก้วน้ำ ราวแขวนผ้า ห่วงแขวนผ้าเช็ดมือ เครื่องทำน้ำอุ่น ฯลฯ
เครื่องสุขภัณฑ์แต่ละประเภทมาจากหลากยี่ห้อ จึงมีให้เลือกไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น แตกต่างกันทั้งด้านการออกแบบ รูปทรง สีสัน และการใช้งาน ส่วนราคามีตั้งแต่ระดับต่ำ กลาง จนถึงแพงสุดกู่ในสายตาคนเดินดินกินข้าวแกง
ผมหมดปัญญาจะจดจำรายละเอียดเครื่องสุขภัณฑ์แต่ละประเภทได้ครบถ้วน ชั่วขณะที่ต้องนั่งพักเพื่อพยายามลำดับความคิดว่าจะบรรยายสถานที่นี้อย่างไร กลับนึกถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นภาพชายในยุคโบราณผู้หนึ่งกำลังนั่งยอง ๆ ถ่ายทุกข์หนักกลางป่า แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
ผมลองจินตนาการว่าหากชายผู้นั้นเกิดหลุดออกมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง และสามารถเดินทางทะลุมิติเวลามายังที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาอาจจะต้องงงเป็นไก่ตาแตก สุดจะทำความเข้าใจได้ว่า เหตุใดการอาบน้ำ-เข้าส้วม-ถ่ายทุกข์หนักและเบาของคนสมัยใหม่ จึงเต็มไปด้วยขั้นตอนและอุปกรณ์ประกอบมากมายยิบย่อยขนาดนี้
กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง เพราะผมต้องไปพบกับพนักงานขายเครื่องสุขภัณฑ์คอตโต้ประจำโชว์รูมแห่งนี้ เธอชื่อคุณฤทัยรัตน์ ขวัญสุด หรือคุณติ๊ก
ผมถามคุณติ๊กว่า สุขภัณฑ์ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ทั้งด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการใช้งาน
คุณติ๊กกล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยีก่อน “อย่างโถชักโครกสมัยก่อนต้องใช้น้ำเยอะ ตั้งแต่ ๙-๑๒ ลิตร แต่รุ่นปัจจุบันประหยัดน้ำมากขึ้น เพราะใช้น้ำประมาณ ๖ ลิตรก็ชำระได้หมด มาตรฐานเดียวกันทุกยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อจะออกแบบว่าใช้น้ำในการกดเพื่อถ่ายเบากี่ลิตร ส่วนเรื่องฝารองนั่ง สมัยก่อนเราจะเห็นอยู่แบบเดียว แต่เดี๋ยวนี้เรา (คอตโต้) จะวิวัฒนาการเป็นฝาแบบซอฟต์โคลส (soft close) มีระบบกันกระแทกโดยใช้ข้อต่อชะลอ มันจะค่อย ๆ ปิด แล้วก็มีฝารองนั่งรุ่นดูอัล สมายล์ (Dual Smile) คือจะมีฝารองนั่งของผู้ใหญ่และเด็กอยู่ในฝาเดียวกัน
“แล้วเรายังมีฝารองนั่งรุ่นพิเศษที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมาเกาะ โดยใช้กรรมวิธีเคลือบประจุอิออนที่ผิว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดจากประเทศสวีเดน ราคาก็จะแพงกว่าฝารองนั่งทั่วไปประมาณ ๑ เท่าตัว อย่างฝารองนั่งทั่วไปราคา ๑,๐๐๐ กว่าบาท ตัวนี้ตกอยู่ที่ ๒,๐๐๐ กว่าบาท แต่ก็คุ้มนะ เพราะมีอายุการใช้งานนานกว่า สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ ป้องกันเชื้อโรคได้ และนั่งสบายด้วย” คุณติ๊กอธิบายคล่องแคล่วราวกำลังนำเสนอต่อลูกค้า
ส่วนเรื่องความหลากหลาย คุณติ๊กยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เฉพาะอ่างล้างหน้าอย่างเดียว ของคอตโต้มีประมาณ ๕๐ รุ่น ถ้ารวมอ่างล้างหน้ายี่ห้ออื่นที่วางขายที่นี่ด้วย คงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ รุ่น ส่วนโถชักโครกของคอตโต้มีอยู่ ๑๐๐ กว่ารุ่น ถ้ารวมของยี่ห้ออื่นด้วยก็ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ รุ่นเช่นกัน”
แล้วผมก็ถามคำถามสำคัญที่เตรียมมา “ความหลากหลายของเครื่องสุขภัณฑ์สะท้อนความต้องการของคนในยุคปัจจุบันอย่างไรครับ ?”
คุณติ๊กตอบว่า “เราจะเห็นเลยว่าความต้องการของคนปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก ในสมัยก่อน คนทั้งบ้านไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ก็จะใช้โถส้วมตัวเดียวกันหมด แต่เดี๋ยวนี้เด็กจะมีจินตนาการ อยากได้โถส้วมน่ารัก ๆ แบบที่เขาชอบ เมื่อเด็กต้องการเราก็สนองให้ เป็นโถชักโครกรุ่นกุ๊กไก่ (Googai Series) มีขนาดเล็กสำหรับเด็กใช้ ถังเก็บน้ำออกแบบคล้ายรูปเปลือกไข่ จะช่วยดึงดูดเด็ก ๆ ให้อยากใช้งาน เหมือนกับที่มียาสีฟันสำหรับเด็ก คือจะช่วยในเรื่องสุขภาพอนามัยได้เยอะ ใช้สำหรับเด็กอายุ ๓ ถึง ๑๒ ขวบ สำหรับรุ่นนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนอนุบาล ผู้ปกครองทั่วไปก็ซื้อไปเยอะ นอกจากนั้นเรายังมีสุขภัณฑ์สำหรับเด็กวัยรุ่น โถส้วมทั่วไปสูงแค่ ๓๘ เซนติเมตร แต่ของวัยรุ่นจะสูง ๔๒ เซนติเมตร เพราะวัยรุ่นสมัยนี้โตเร็ว ถ้านั่งแบบเก่านาน ๆ จะเมื่อย ดีไซน์จะเก๋ไก๋หน่อย ชื่อรุ่นเฮอร์คิวลิส ต้องตั้งชื่อให้ปรู๊ดปร๊าดหน่อย การชำระล้างก็สุดยอด ครั้งเดียวเกลี้ยง”
ความสงสัยของผมคงคล้ายคนส่วนใหญ่ คืออยากรู้ว่าโถส้วมระดับสุดยอดจะมีราคาสูงเพียงใด แล้วมันจะมีความสามารถหรือการใช้งานที่เลอเลิศขนาดไหน ?
เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งให้คำตอบว่า “ตอนนี้โถสุขภัณฑ์ที่แพงที่สุดเป็นของยี่ห้อโคห์เลอร์ (Kohler) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคา ๑๙๐,๐๐๐ บาท ไม่มีระบบอัตโนมัติมากมาย แต่เน้นการออกแบบที่เรียบหรู คือจะไม่มีปุ่มกดเลย แต่เป็นระบบเซ็นเซอร์ คือมันดูเหมือนไม่ใช่ชักโครก แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างดีชิ้นหนึ่ง
“ส่วนสุขภัณฑ์ที่ราคาแพงรองลงมาจากโคห์เลอร์ คือโถชักโครกรุ่นนีโอเรสต์ (Neorest) ของยี่ห้อโตโต้ (Toto) จากประเทศญี่ปุ่น ราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสามารถทำงานด้วยระบบอัตโนมัติแทบทุกอย่าง ตั้งแต่พอมีคนเดินผ่าน ฝาครอบจะเปิดเอง มีระบบชำระอัตโนมัติให้ มีลมร้อนเป่า และอีกหลายฟังก์ชัน”
ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี กระทั่งโถส้วมจากประเทศนี้ยังมีระบบอัตโนมัติอันน่าทึ่ง ผมตัดสินใจไปที่โชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โตโต้ ย่านถนนสุขุมวิท เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภัณฑ์ล้ำยุค นีโอเรสต์
ส้วม ๑ น. สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง. (จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒) |
------------- ๘. -------------
ป้ายหน้าอาคารทันสมัยริมถนนสุขุมวิทเขียนว่า TOTO TECH & DESIGN CENTER BANGKOK ที่นี่คือโชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของโตโต้นั่นเอง
คุณจิตติพร ภัทรศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์โตโต้ ฝ่ายการตลาด บริษัทสยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้แทนจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์โตโต้ในประเทศไทย เป็นผู้นำผมไปชมสุขภัณฑ์นีโอเรสต์ด้วยตนเอง
มันตั้งอยู่ในห้องจัดแสดงส่วนหน้าที่กั้นเป็นสัดส่วน ผนังด้านหน้าเป็นกระจกใสที่คนภายนอกสามารถมองเข้ามาเห็น นีโอเรสต์ไม่ได้มีลักษณะหวือหวาแปลกประหลาดเหมือนเป็นอุปกรณ์ประจำยานอวกาศ ทว่ารูปทรงเรียบหรูดบึกบึนแข็งแรง ประกอบด้วยเส้นสายโค้งกระชับที่ให้ความรู้สึกทันสมัย จุดเด่นของนีโอเรสต์คือเทคโนโลยีที่บรรจุอยู่ภายใน
นีโอเรสต์ตัวนี้เสียบปลั๊กไฟฟ้าและต่อท่อน้ำเรียบร้อย พร้อมสำหรับแสดงการทำงานทุกระบบ เมื่อพวกเราเดินเข้าไปใกล้ ฝาครอบบนสุดก็เปิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เผยให้เห็นฝารองนั่ง และยังมีฝาพลาสติกใสโป่งนูนตรงกลางปิดครอบช่องสำหรับการขับถ่ายเอาไว้ด้วย ฝาพลาสติกนี้ครอบไว้ชั่วคราวระหว่างการสาธิตแสดงการทำงานของเครื่องสุขภัณฑ์
“ฝาแรกจะเปิดอัตโนมัติ เมื่อมีคนไปยืนใกล้ ๆ โถสุขภัณฑ์” คุณจิตติพรอธิบาย “ส่วนฝารองนั่งสามารถตั้งอุณหภูมิ หรือปรับความอุ่นได้ สำหรับใช้ในที่อากาศหนาว ฝารองนั่งจะเปิดโดยการสั่งงานจากรีโมตคอนโทรล”
คุณจิตติพรหยิบรีโมตคอนโทรลจากขาตั้งที่วางอยู่ใกล้ ๆ ตัวรีโมตทรงสี่เหลี่ยมแคบและยาว มีขนาดเหมาะมือ ประกอบด้วยช่องแสดงตัวเลขและปุ่มปรับค่าต่าง ๆ เรียงราย
“เมื่อฝาที่สอง (ฝารองนั่ง) เปิดขึ้น ย่อมหมายถึงคุณผู้ชายจะยืนทำธุระ เครื่องจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเป็นการถ่ายเบา จึงตั้งปริมาณน้ำชำระที่ ๔.๕ ลิตร ขณะที่การถ่ายหนักจะใช้น้ำ ๖ ลิตร”
คุณจิตติพรอธิบายต่อ “นี่คือการทำงานง่าย ๆ เบื้องต้น สมมุติเรานั่งทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรากดรีโมตคอนโทรลเพื่อการชำระล้างอัตโนมัติ ก้านฉีดชำระก็จะยื่นออกมา”
(ถึงตอนนี้ก้านทรงกลมขนาดประมาณนิ้วก้อยโผล่ยื่นออกมาจากบริเวณใต้ฝารองนั่งด้านท้าย)
“ก่อนและหลังการทำงาน ก้านชำระจะฉีดน้ำล้างตัวมันเองก่อนเพื่อความสะอาด นอกจากนั้น เราสามารถปรับตั้งความแรงของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับ และสามารถปรับตั้งอุณหภูมิของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับเช่นกัน”
(ตอนนี้มีน้ำฉีดพุ่งออกมาเป็นสายจากปลายก้านชำระ ปะทะกับส่วนที่โป่งขึ้นของฝาครอบพลาสติกใส จึงไม่กระเซ็นออกมาจากโถชักโครก)
“แล้วถ้าเราไม่ต้องการจะล้างแค่จุดใดจุดหนึ่ง เราต้องการล้างให้ทั่วถึง ก็สามารถกดรีโมตสั่งการชำระแบบส่าย คือมันจะส่ายทุกพื้นผิวของเราเลย”
(ท่อกลมของก้านชำระเริ่มชักเข้าชักออกเป็นจังหวะ น้ำยังฉีดเป็นสาย)
“แล้วยังมีการฉีดน้ำสลับทั้งหนักและเบา เพราะถ้าฉีดหนักอย่างเดียว จะทำให้ก้นเราหรือผิวหนังเป็นผื่น หรือเจ็บได้”
(ถึงตอนนี้ผมแทบไม่ได้มองหน้าคนพูดแล้ว สายตาจดจ่ออยู่ที่ความเคลื่อนไหวของก้านชำระอย่างเดียว ท่อกลมนั้นคงเลื่อนเข้าออก น้ำที่ฉีดออกมาพุ่งแรงสลับอ่อนเบา)
“พอหลังจากทำความสะอาดแล้วนะคะ สุขภัณฑ์ยังมีระบบการเป่าแห้ง เราเลือกไปที่ปุ่มดรายเออร์ (dryer) จะมีลมพ่นออกมา เรายังสามารถปรับอุณหภูมิของลม ให้ร้อนหรืออุ่นได้ทุกระดับ”
(ก้านชำระหดกลับเข้าไปแล้ว)
“นอกเหนือจากนั้น ตลอดการใช้งาน สุขภัณฑ์มีระบบฟอกอากาศ จะมีฟิลเตอร์อยู่ตรงนี้”
(คุณจิตติพรชี้ให้ดูแผ่นตะแกรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก ซ่อนอยู่ที่มุมหนึ่งด้านใต้ฝารองนั่ง)
“ระบบฟอกอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติตั้งแต่เรานั่งลงไป โดยดูดอากาศใต้โถ ผ่านฟิลเตอร์ แล้วถ่ายเทออกมาด้านข้าง กลายเป็นอากาศดีที่ไม่มีกลิ่น เพราะฉะนั้นสุขภัณฑ์ตัวนี้ เวลาเราทำธุระไป กลิ่นมันจะไม่ขึ้นมาแรง แล้วเวลาเราออกจากห้องน้ำไป คนที่เข้ามาใช้ต่อก็จะไม่ได้กลิ่นเหม็น
“เมื่อเราทำธุระเสร็จ ลุกออกไป น้ำจะฟลัชชำระอัตโนมัติภายใน ๒-๓ วินาที เราไม่ต้องกดอะไรเลย”
หลังสาธิตการใช้งานสุขภัณฑ์ล้ำยุค คุณจิตติพรเปิดเผยว่าค่าตัวของนีโอเรสต์อยู่ที่ ๑๖๐,๐๐๐ บาท เริ่มวางจำหน่ายเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว “ยอดขายของสุขภัณฑ์นีโอเรสต์เมื่อปีที่แล้ว เฉพาะแค่ครึ่งปีหลังขายได้ประมาณ ๓๐ กว่าตัวค่ะ ส่วนปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่เดือนละ ๑๐ ตัว”
“ลูกค้าที่ซื้อสุขภัณฑ์ราคาแพงขนาดนี้เป็นคนกลุ่มไหนครับ ?”
“ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร นักธุรกิจ หรือกลุ่มไฮโซไซตี้ซึ่งมีฐานะดีพอสมควร มีท่านหนึ่งซื้อไปคนเดียวถึง ๕ ตัว เพื่อใช้ในบ้านนี่แหละ”
คุณจิตติพรยังมีมุมมองเกี่ยวกับห้องน้ำที่น่าสนใจ เธอแสดงความเห็นว่า
“สมัยก่อนในเมืองไทยอาจไม่มีใครคิดว่าห้องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ บางคนซื้อสุขภัณฑ์อะไรก็ได้ใส่เข้าไปเถอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ห้องน้ำควรเป็นห้องที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่เป็นห้องที่เข้าไปแล้วอยากจะรีบออก
“พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อก่อนเวลาใครพาแขกมาที่บ้าน เขาก็จะโชว์แต่ห้องรับแขก ห้องนอน หรือโชว์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นชุดโฮมเธียเตอร์ แต่ปัจจุบันห้องที่โชว์ได้มากที่สุดคือห้องน้ำ คือเหมือนกับพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป
“จริง ๆ แล้วพอแขกมาบ้าน ถึงคุณไม่คิดจะโชว์ห้องน้ำ แต่เขาก็ต้องใช้ เขาก็ต้องเห็น แล้วนีโอเรสต์นี่เคยออกทั้งรายการโทรทัศน์ สื่อโฆษณา สื่ออะไรต่ออะไรมากมาย ลูกค้าบางคนมาเล่าให้เราฟังว่า เวลาแขกมาที่บ้าน เข้าห้องน้ำแล้วออกมาถาม โอ้โห บ้านนี้ใช้นีโอเรสต์เลยเหรอ เราจะเจอเสียงสะท้อนจากลูกค้าเช่นนี้เยอะมาก”
ท้ายที่สุด คุณจิตติพรพูดถึงแนวโน้มเครื่องสุขภัณฑ์ไฮเทคของโตโต้รุ่นต่อไป
“สุขภัณฑ์นีโอเรสต์รุ่นต่อไปจะมีระบบสร้างกลิ่นหอม ทำได้ทุกกลิ่น เช่น กลิ่นมะลิ แล้วก็จะมีเครื่อง MP3 สำหรับฟังเพลง เวลาคุณเข้าห้องน้ำทำธุระ คุณก็สามารถนั่งฟังเพลงไปด้วย ทั้งจากลำโพงหรือหูฟังก็ได้ ความจริงสุขภัณฑ์แบบนี้เริ่มวางขายที่ญี่ปุ่นแล้ว เรายังไม่ได้นำเข้ามาในเมืองไทยเท่านั้นเอง”
ฟังแล้วชวนให้ตื่นเต้น คิดไม่ออกเลยว่าสุขภัณฑ์และส้วมของมนุษย์ในอนาคตจะวิวัฒนาการไปไกลสุดกู่ขนาดไหน
ไม่แน่ว่าในการประชุมส้วมโลกในเมืองไทยที่กำลังจะจัดขึ้น อาจมีสุขภัณฑ์ล้ำยุคเช่นที่ว่ามาแสดงให้ชมก็เป็นได้
------------- ๙. -------------
เมื่อมาถึงตอนสุดท้ายของสารคดีเรื่อง “ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ” คำถามที่ว่าส้วมมีความสำคัญอย่างไร คงพอได้คำตอบอยู่แล้วในหลายแง่มุม
อย่างน้อยการประชุมส้วมโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ก็น่าจะช่วยรับประกันได้อีกทางหนึ่ง เพราะแค่ชื่องานก็บอกอยู่แล้วว่าส้วมนั้นเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก
ขอขอบคุณ :
คุณภาณุ มณีวัฒนกุล
อาจารย์มนฤทัย ไชยวิเศษ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
บริษัทอาทิตย์ ไฮเวย์ จำกัด
วัดหนองบัวทุ่ง จ. นครราชสีมา
บริษัทบุญถาวรเซรามิค จำกัด
บริษัทสยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด
โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ
วัดท่าการ้อง จ. อยุธยา
โรงแรมดุสิตธานี
โรงแรมเจดับบลิวแมริออท กรุงเทพฯ
สวนสัตว์และร้านอาหารเพื่อนเดรัจฉาน
โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุช กองจัดการขยะ ของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
กลุ่มงานขนถ่ายสิ่งปฏิกูล ๒ กองจัดการขยะ ของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
(ล้อมกรอบ) ส้วมหลุม เป็นส้วมรูปแบบแรกที่คนไทยใช้ ประกอบด้วยหลุมดิน โดยขุดเป็นหลุมกลมหรือหลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจใช้ไม้กระดาน ๒ แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบ และเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์ หรือทำฐานโดยใช้แผ่นไม้กระดานมาปิดปากหลุมแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย ส้วมหลุมแบบนี้ต้องสร้างไว้ไกลจากบ้านพอสมควร เพราะมีกลิ่นเหม็น เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่ คนไทยสร้างส้วมหลุมลักษณะดังกล่าวใช้กันมาแต่โบราณ กระทั่งในยุคที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องส้วมของประชาชนนับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๔๐ ส้วมที่กรมสุขาภิบาลแนะนำคือส้วมหลุมและส้วมถังเท ส้วมหลุมที่มีลักษณะถูกต้องตามแบบของกรมสุขาภิบาลต้องมีฝาปิดและมีท่อระบายอากาศ อาจทำจากไม้ไผ่ทะลุปล้องให้เป็นท่อกลวง เจาะทะลุพื้นส้วมเป็นการลดกลิ่นเหม็นจากภายในหลุมส้วม ส้วมถังเท ลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระของผู้ขับถ่าย ปรกติการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งจะทำวันละครั้ง บริษัทแห่งแรกในพระนครที่ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระคือ “บริษัทสอาด” ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมัยเริ่มดำเนินการในช่วงแรกตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม กิจการของบริษัทสอาดดำเนินการมาประมาณ ๒๐ ปี ก็ได้ขายกิจการให้บริษัทออนเหวงทำต่อ บริษัทออนเหวงมีที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์ นับเป็นบริษัทรับขนเทอุจจาระรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะรับเหมาสัมปทานเวจสาธารณะของกรมสุขาภิบาลและของประชาชนทั่วไป ส้วมบุญสะอาด ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นส้วมหลุมที่มีลักษณะพิเศษ คือฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้น และลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบ ให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตู และจะมีส่วนยื่นออกมานอกประตู คนข้างนอกเห็นก็จะรู้ว่ามีคนใช้ส้วมอยู่ เมื่อเสร็จกิจแล้วผู้ใช้ต้องปิดฝาหลุมไว้ดังเดิม ไม่เช่นนั้นประตูจะเปิดไม่ออก เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุมนั่นเอง พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เป็นผู้ประดิษฐ์ “ส้วมคอหงษ์ หรือ คอห่าน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วม ส้วมที่ใช้กันในช่วงเวลานั้นเป็นส้วมหลุมและส้วมถังเท ซึ่งมีกลิ่นเหม็นและป้องกันแมลงวันได้ไม่ดี พระยานครพระรามได้คิดค้นลองทำส้วมหลายแบบ ในที่สุดได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อกลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบน จึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันตามลงไปไม่ได้เพราะติดน้ำกั้นอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดิน จึงเรียกวิธีการนี้ว่า “ส้วมซึม” ระบบส้วมซึมในระยะแรกมีข้อเสียตรงน้ำอุจจาระที่ซึมสู่พื้นดินเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคได้ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระบบบ่อเกรอะบ่อซึม โดยบ่อที่ฝังใต้ดินมักทำจากคอนกรีต แบ่งออกเป็น ๒ ห้องหรือมากกว่า ใช้สำหรับรับอุจจาระจากโถส้วม มีน้ำและแบคทีเรียเป็นตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองที่เรียกว่าบ่อเกรอะ แล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ระบบนี้ดีกว่าบ่อซึมแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเต็มที่ หัวส้วมแบบคอห่านและระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “ส้วมซึม” ได้เข้ามาแทนที่การใช้ส้วมหลุม ส้วมถังเท ช่วยให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยราคาค่าก่อสร้างที่ไม่แพงนัก และยังมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส้วมชักโครก ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๙๖ (พ.ศ. ๒๑๓๙) โดยมีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว ของเสียจะถูกส่งผ่านท่อไปยังถังเก็บ กระทั่งปี ค.ศ. ๑๗๗๕ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครกให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยการดัดท่อระบายของเสียลงบ่อเกรอะเป็นรูปตัวยู จึงสามารถกักน้ำไว้ในท่อ เป็นตัวกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ส้วมชักโครกแบบนั่งราบเริ่มแพร่หลายในเมืองไทยมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เรียกว่าชักโครกเพราะสมัยก่อนถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถ เวลาชักคันโยกปล่อยน้ำลงมาจะมีเสียงดังมาก น้ำจะไหลลงมาชำระให้อุจจาระลงไปสู่ถังเก็บกักอุจจาระที่เรียกว่าเซ็ปติกแทงก์ (Septic Tank) ส้วมชักโครกยุคปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม ทันสมัย และเทคโนโลยีการใช้งาน เช่นเรื่องการประหยัดน้ำ ระบบชำระล้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงเบาลง หรือมีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มากมาย |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น