ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    :: เรื่องดีๆ จากคุณนายแสนรู้ ::

    ลำดับตอนที่ #5 : ==>> จากพิษณุโลกสู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช

    • อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 51


    เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์ / ภาพ: สกล เกษมพันธุ์, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์

    ทั่วประเทศไทยมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๕๐ แห่ง ในภาพ คือที่บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่เพียงพระบรมราชานุสาวรีย์ หากเรื่องราวของมหาราชพระองค์นี้ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อกันมาทั้งในรูปของพงศาวดาร เกร็ดประวัติศาสตร์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ยังทรง “มีชีวิต” อยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา และหนึ่งในเกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรที่ทุกคนดูจะจำได้ดีไม่ว่ามันจะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็คือ การชนไก่ระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ซึ่งเป็นเหตุให้มีรูปปั้นไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวปรากฏอยู่คู่พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ทุกหนทุกแห่งในฐานะของแก้บนและเครื่องบูชา (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

    “บริเวณที่เป็นพระราชวังจันทน์ หรือ ‘วังพระนเรศวร’ ที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประสูติ และที่ประทับ ของสมเด็จพระนเรศวรนั้น เป็นที่รับรู้สืบเนื่องมาช้านานแล้ว ดังมีอยู่ใน พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ กับ จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย

    ๒๐๙๘ ประสูติ ถึงแม้จะไม่มีพงศาวดารฉบับใดกล่าวถึงสถานที่ประสูติของพระนเรศวร แต่ในหมู่นักประวัติศาสตร์มีข้อยุติว่าพระองค์ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ ระหว่างที่พระมหาธรรมราชาทรงครองเมืองพิษณุโลกและสถานการณ์บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ร้อนระอุจากการขยายอำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง พระนเรศวรเสด็จกลับมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้อีกครั้งในคราวที่ทรงครองพิษณุโลกในฐานะมหาอุปราชเมื่อปี ๒๑๑๔ ปัจจุบัน พื้นที่อดีตพระราชวังจันทน์อยู่ในระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งคืบหน้าและขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอนของชุมชนและสถานศึกษาที่อยู่รายรอบซึ่งอาจถูกไล่รื้อเพื่ออนุรักษ์ร่องรอยพระราชวังนี้ไว้ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

    "พระโอรสกษัตริย์ไทยหรือเจ้าชายรัชทายาทนั้น เป็นเจ้าชายหนุ่ม เติบโตขึ้นมาในราชสำนักบุเรงนองและเสมือนเป็นพระอนุชากับพระโอรสของบุเรงนองเอง...เสด็จอยู่ในราชสำนักพม่ามาเก้าปี ได้เรียนยุทธวิธีการทหารและการปกครองจากพม่า แต่ตลอดเวลาก็ทรงฝันถึงอิสรภาพ" หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์พม่า กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศ ใน A History of Burma

    ๒๑๐๖ ตัวจำนำ พระราชวังกัมโพชธานี (Kamboza Thadi Palace) หรือ “พระราชวังหงสาวดี” ที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมไปเที่ยวชมกันนั้น รัฐบาลทหารพม่าเพิ่งเร่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่วนตัวพระราชวังจริง ๆ ที่เหลือมาถึงปัจจุบันมีเพียงฐานเสาไม้สักที่ซ่อนอยู่ในพงหญ้ารก แม้เรายังไม่อาจหาข้อสรุปจากพงศาวดารได้ว่าพระนเรศวรเสด็จมาหงสาวดีเมื่อใด แต่ก็มีข้อยุติเบื้องต้นว่าทรงเคยประทับในพระราชวังแห่งนี้เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในฐานะตัวจำนำ


    ปัจจุบัน ในพม่ายังคงปรากฏชุมชน “โยเดีย” หรือ “หมู่บ้านอยุธยา” ตามหัวเมืองสำคัญ ๆ หลายแห่ง เชื่อกันว่าชุมชนเหล่านี้น่าจะเป็นสถานที่ที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าพระราชทานให้แก่ชาวโยเดียที่ถูกกวาดต้อนมาได้อยู่อาศัย ในภาพเป็นชุมชนโยเดียในเมืองตองอูซึ่งทุกวันนี้เหลือแต่ชื่อ เพราะไม่มีคนเชื้อสายโยเดียอาศัยอยู่อีกแล้ว ผู้คนที่เห็นล้วนแต่เป็นชาวพม่า

    “(สมเด็จพระนเรศวร) จึงออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิและทิพจักขุ ทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศจงเป็นทิพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดีมิได้เป็นสุวรรณปฐพีเดียวดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน” พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

    ๒๑๒๗ อิสรภาพ พระเจดีย์แฝดโจงตูตั้งตระหง่านกลางทุ่งนาเมืองวอ หรือเมือง “โครง” ในภาษามอญ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า สันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นเมือง “แครง” ที่ในพงศาวดารไทยระบุว่า เป็นจุดที่สมเด็จพระนเรศวรทรงแวะพักระหว่างที่ทรงยกทัพขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงปราบเมืองอังวะในปี ๒๑๒๗ ก่อนจะทรง “ประกาศอิสรภาพ” อย่างไรก็ตาม การ “ประกาศอิสรภาพ” ดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะหลักฐานของไทยกับพม่าบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ต่างกัน พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเขียนขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่สุดและได้รับการยอมรับว่าแม่นยำที่สุด ก็กล่าวเพียงว่าพระนเรศวรทรงยกทัพกลับจากเมืองนี้โดยมิได้กล่าวถึงการประกาศอิสรภาพแต่อย่างใด

    “ทอดพระเนตรไปเห็นสุรกำมากองหน้าใส่เสื้อแดงยืนช้างอยู่ริมฝั่ง ตรัสให้ทหารเอาปืนหามแล่นและนกสับคาบชุดยิงระดมไป ทหารก็ยิงระดมไปเป็นอันมากก็มิได้ถึง จึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็ทรงพระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงไปต้องสุรกำมาตายตกจากคอช้าง รี้พลมอญทั้งนั้นเห็นอัศจรรย์ ด้วยแม่น้ำนั้นกว้างเหลือกำลังปืน” พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

    ๒๑๒๗ วีรกรรม ที่แม่น้ำสะโตง แม่น้ำสะโตงช่วงที่แคบที่สุดก่อนไหลลงอ่าวเมาะตะมะ พงศาวดารพม่าสมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์คองบองระบุว่า พื้นที่นี้อยู่ในเส้นทางเดินทัพโบราณระหว่างหงสาวดี-อยุธยา เป็นที่ตั้งของเมือง “สะโตง” และหากยึดตาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นี่คือสถานที่เกิดเหตุการณ์อันเป็นที่มาของ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ยังไม่มีข้อยุติในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทว่าสิ่งที่เรารู้แน่ก็คือ พระนเรศวรทรงต้องยกทัพข้ามน้ำสะโตงในปี ๒๑๒๗ เพื่อกลับไปเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่ที่อยุธยา ขณะนี้ (ปี ๒๕๔๙) รัฐบาลทหารพม่ามีโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงแห่งที่ ๒ ในบริเวณนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวนในเขตรัฐมอญ


    พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระนเรศวรยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พระราชวังแห่งนี้พระนเรศวรทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี ๒๑๒๙ หลังจากนั้นได้ใช้เป็นที่ประทับของ “วังหน้า” ต่อมาอีกหลายรัชกาล พระราชวังแห่งนี้ถูกทำลายไปในคราวเสียกรุงปี ๒๓๑๐ ก่อนจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระราชวังจันทรเกษม (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

    “พระนเรศร์กับอุปราชาก็เข้าชนช้างชิงชัย แล้วสู้รบฟันแทงกันด้วยพระแสงของ้าวตามกระบวนเพลงขอ ก็รำรอรับกันประจัญสู้กันไปตามเพลง ส่วนช้างพระนเรศร์นั้นเล็ก ก็ถอยทางพลางสู้ชน ครั้นถอยไปอุปราชาจึงฟันพระนเรศร์ด้วยพระแสงของ้าว พระนเรศร์จึงหลบก็ถูกพระมาลาบี้ไปประมาณได้สี่นิ้ว ครั้นช้างพระนเรศร์ถอยไปจึงได้ทีประจัญหนึ่งเรียกว่าหนองขายันและพุทรากระแทก ก็ยังมีที่ ๆ อันนั้นจนทุกวันนี้ ช้างพระนเรศร์นั้นยันต้นพุทราอันนั้นเข้าได้แล้วจึงชนกระแทกขึ้นไป ก็ค้ำคางช้างอุปราชาเข้า ฝ่ายข้างช้างอุปราชาก็เบือนหน้าไป พระนเรศร์ได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ก็ถูกอุปราชาพระเศียรก็ขาดออกไปกับที่บนคอช้าง” คำให้การขุนหลวงหาวัด

    ๒๑๓๕ ศึกยุทธหัตถีปี ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีพระประสงค์จะปราบอยุธยาให้ได้ โปรดให้พระมหาอุปราชายกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงนำทัพออกรับศึกจนเกิดยุทธหัตถีขึ้นระหว่างจอมทัพทั้งสอง สำหรับฝ่ายอยุธยาเหตุการณ์นี้ไม่มีข้อกังขาว่าเกิดขึ้นหรือไม่ เพียงแต่ไม่มีบันทึกอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งใดแน่ในพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ อยุธยา สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่วนฝ่ายหงสาวดีรับรู้เหตุการณ์นี้แตกต่างออกไป คือ พระมหาอุปราชาทรง “ต้องปืน” สิ้นพระชนม์ มิได้ต้องพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรแต่อย่างใด ภาพที่เห็นนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งเขียนเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ (ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ)

    “ศักราช ๙๕๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๓๘) ...เสด็จพยุหบาตราไปเมืองหงษา ครั้งก่อนฟันไม้ข่มนามตำบลลมพลี ตั้งทัพชัยตำบลหมวงหวาน ถึงวัน ๒ ฯ ๔ ค่ำ เวลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นเมืองหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา” พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ

    ๒๑๓๘ บุกหงสาวดี หลังศึกยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรกรีธาทัพบุกตีกรุงหงสาวดีถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ในปี ๒๑๓๘ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๑๔๒ เป็นการบุกตีหลังตั้งรับมาเกือบ ๒ ทศวรรษ สมเด็จพระนเรศวรถือเป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ยกทัพเข้าโจมตีเมืองในแถบลุ่มน้ำอิรวดีและลุ่มน้ำสะโตง—เมืองหงสาวดีในปัจจุบันมีขนาดพอ ๆ กันกับจังหวัดขนาดกลางของไทย และยังคงมีพระมหาธาตุมุเตาเป็นศูนย์รวมใจชาวเมืองเฉกเช่นสมัยพระเจ้าบุเรงนอง

    “ฝ่ายพระนเรศพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทราบว่าพระเจ้าหงษาวดีเสด็จไปตั้งอยู่ที่เมืองเกตุมดี พระนเรศก็ยกพลตามไป ครั้นถึงตำบลจะวะมะกูจรุณชอง (แปลว่าเกาะจะวะมะกู ชองนั้นคือแปลว่าคลอง) พระนเรศก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่ตำบลนั้นโดยแน่นหนามั่นคง...ก็รับสั่งให้พลทหารเข้าตีเมืองเกตุมดี บ้างขุดกำแพงบ้างปีนกำแพงเปนสามารถ” มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า

    ๒๑๔๒ ตีตองอู ในปี ๒๑๔๒ หลังสมเด็จพระนเรศวรกรีธาทัพบุกหงสาวดีแล้วพบแต่ซากเมืองซึ่งถูกกองทัพยะไข่เผา ทั้งยังพบว่าพระเจ้าตองอูนำตัวพระเจ้านันทบุเรงไปยังตองอู ก็ทรงแค้นพระทัย ยกทัพตามไปถึงเมืองตองอูและพยายามเข้าตีอยู่ ๒ เดือนก่อนจะทรงถอยทัพกลับด้วยเกิดปัญหาขาดแคลนเสบียงและการส่งกำลังบำรุง การยกทัพครั้งนี้ถือเป็นการยกกองทัพอยุธยาออกไปตีเมืองอื่นเป็นระยะทางไกลที่สุดในประวัติศาสตร์...ในภาพคือกำแพงเมืองตองอูที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน


    คูเมืองตองอูซึ่งทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกในอดีต ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นร่องรอยอย่างชัดเจนทั้ง ๔ ทิศ พงศาวดารไทยระบุว่าคูเมืองนี้เป็นอุปสรรคในการเข้าตีจนสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ขุดคลองขึ้นสายหนึ่งเพื่อระบายน้ำจากคูเมืองไปลงแม่น้ำสะโตง เรียกกันต่อมาว่า “คลองโยเดีย” หรือ “เหมืองสยาม” ปัจจุบันคลองดังกล่าวไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว

    “ครั้นจุลศักราช ๙๗๔ พระเจ้าอยุทธยาพระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ ๒๐ ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึงเมืองแหนแขวงเมืองเชียงใหม่ก็ทรงประชวนโดยเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น” มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า

    อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หรืออดีต “เมืองแหง” น่าจะเป็นพื้นที่สวรรคตที่แท้จริง ไม่ใช่ “เมืองหาง” อย่างที่เคยเข้าใจกัน โดยมีหลักฐานสนับสนุนคือจดหมายเหตุและภาพถ่ายดาวเทียมจำนวนหนึ่งซึ่งแทบจะหักล้างหลักฐานที่เมืองหางได้อย่างสิ้นเชิงในขณะนี้ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

    ๒๑๔๘ สวรรคต คนไทยรับรู้จากแบบเรียนกันมานานว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตที่เมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐฉาน สหภาพพม่า) ระหว่างทรงยกทัพไปตีกรุงอังวะในปี ๒๑๔๘ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการท้องถิ่นเสนอว่า “ทุ่งดอนแก้ว”

    หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ พระราชทานนามว่า วัดวรเชษฐาราม แต่เนื่องจากในอยุธยามีวัดชื่อดังกล่าวอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน คือ “วัดวรเชษฐาราม” ในเกาะเมืองอยุธยา กับ “วัดประเชด” หรือ “วัดวรเชษฐาราม (เทพบำรุง)” นอกเกาะเมือง จึงไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า วัดใดแน่ที่เป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิ เพราะแม้พงศาวดารจะระบุว่าวัดที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นเป็นวัดฝ่าย “อรัญวาสี” ซึ่งนิยมสร้างไว้นอกเมือง แต่ในความเป็นจริงก็มีการสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีไว้ในเขตเมืองเช่นกัน (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)
    หลวงพ่อพา จิ่งตามน กับหมวกนักรบโบราณซึ่งพบในพื้นที่อำเภอเวียงแหงและถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุเวียงแหงเป็นอย่างดี ในเบื้องต้น สิ่งนี้ได้นี้สนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่าเวียงแหงอยู่บนเส้นทางเดินทัพสำคัญในสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์

    ๒๕๔๙ ยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่ใด? กาลเวลาที่ผ่านไปกว่า ๔ ศตวรรษ ได้ลบเลือนร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นอันมาก รวมถึงหลักฐานว่าด้วย “ศึกยุทธหัตถี” ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ถึงวันนี้ ปัญหาหนึ่งซึ่งยังไม่อาจหาคำตอบที่เป็นข้อยุติได้ก็คือ การกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาเมื่อปี ๒๑๓๕ นั้น เกิดขึ้นที่ใดกันแน่?

    พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    ดอนเจดีย์ กาญจนบุรี
    พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ ๓ วัย ๘๑ ปี กับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรบริเวณ ต. ดอนเจดีย์ อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี ที่นี่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ถูกนำเสนอเป็น “สถานที่กระทำยุทธหัตถี” พลโทรวมศักดิ์เป็นผู้หนึ่งซึ่งเชื่อว่าศึกยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่นี่เพราะบริเวณนี้มีการค้นพบวัตถุโบราณเกี่ยวกับการรบ เช่น กระดึงช้างและอาวุธเป็นจำนวนมาก อีกทั้งที่นี่ยังมีต้นข่อยขึ้นอยู่มาก สอดคล้องกับที่หลักฐานบางชิ้นระบุว่า ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรยกขายันต้นข่อยก่อนพุ่งเข้าเสยช้างพระมหาอุปราชา

    อนุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
    หลังจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า ซากเจดีย์แห่งหนึ่ง ณ ตำบลหนองสาหร่าย จ. สุพรรณบุรี คือสถานที่กระทำยุทธหัตถี และได้มีการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบซากเจดีย์เดิม รวมทั้งสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรขณะทรงพระคชาธารออกศึก อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ก็ได้ชื่อว่าเป็น “สถานที่กระทำยุทธหัตถี” ตามประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” มานานหลายทศวรรษ ก่อนจะมีผู้เสนอความเห็นแย้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา
    เป็น ๑ ใน ๓ แห่งที่มีผู้เสนอว่าน่าจะเป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถี เทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์อิสระ ผู้เสนอความเห็นดังกล่าวเชื่อว่า เจดีย์ยุทธหัตถี “องค์จริง” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการยุทธ์ครั้งนั้น คือ เจดีย์ภูเขาทอง ที่วัดภูเขาทอง ต. ลุมพลี โดยอ้างหลักฐานจากบันทึกของหมอแกมป์เฟอร์ที่เข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

    “การจัดการข้อเท็จจริงทำได้ยากมาก เรามีบันทึกมากมายเกี่ยวกับพระนเรศวรก็จริง แต่ต้องตีความเอาเองทั้งสิ้น ผมจึงเลือกที่จะทำเรื่องนี้ในฐานะที่เป็น ‘ตำนาน’ ตำนานคือเรื่องที่บอกเล่าถ่ายทอดสืบต่อกันมา ในรูปแบบดนตรี บทกวี บอกต่อกันปากต่อปาก ผมนำทั้งหลายทั้งปวงนี้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว คุณต้องเข้าใจนะว่า ‘ตำนาน’ คือการยอพระเกียรติ มีการพูดถึงการเสียเมือง การกู้อิสรภาพ ต่อสู้กับพม่าจนยืนหยัดได้ อีกอย่าง การสร้างในลักษณะที่เป็นตำนานมีข้อดีคือผมทำอะไรกับภาพยนตร์ได้มากขึ้น” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    ๒๕๔๙ พระนเรศวรในโลกมายา หลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากแบบเรียนที่ทำหน้าที่สร้างความรับรู้ (ความคิด) เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้คนไทยแล้ว สื่อบันเทิงไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ เพลงเพื่อชีวิต ฯลฯ ก็ทำหน้าที่นี้อย่างมีชีวิตชีวาเช่นเดียวกัน และล่าสุดก็คือ ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

    กลุ่มคนที่ยึดถือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่พึ่งทางใจมากที่สุด ก็คือทหารที่เทิดทูนพระองค์ในฐานะวีรกษัตริย์และต้นแบบของนักรบผู้รักชาติ ในภาพ กำลังพลของกองอำนวยการ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ. พิษณุโลก กำลังกล่าวคำปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ประดิษฐานอยู่ในค่าย ถือเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติทุกเช้า 



    “...พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว”
    พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
    อนุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี, พุทธศักราช ๒๕๔๙

    บ่ายจัดมากแล้วตอนที่ผมไปถึง ถนนที่ตัดเข้าสู่ตัวอนุสาวรีย์ค่อนข้างเงียบสงบ

    เบื้องหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรขณะประทับบนพระคชาธารที่ตระหง่านเงื้อมเป็นเงาดำทาบกับท้องฟ้า ถ้อยความบางประโยคซึ่งเคยได้อ่านในชั้นเรียนเมื่อหลายปีก่อนผุดขึ้นในความทรงจำ--ประโยคที่จำได้ว่าอ่านทีไรหัวใจพองโต โลหิตสูบฉีดด้วยความฮึกเหิม

    หากวิชาประวัติศาสตร์เป็น “ยาขมหม้อใหญ่” สำหรับใครหลายคน เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร โดยเฉพาะคราว “ศึกยุทธหัตถี” อาจต้องนับเป็นข้อยกเว้น ด้วยนี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ไทยฉบับ “ชาตินิยม” ที่สนุกที่สุดและทำให้เลือด “รักชาติ” สูบฉีดแรงที่สุด เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ช่วงตอนอื่น ๆ ที่เราต้องร่ำเรียนและท่องจำเพียงเพื่อให้สอบผ่าน

    สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๑๔๘ นับถึงวันนี้ เวลาล่วงผ่านมากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระองค์ยังคง “มีชีวิต” อยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา

    พระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เรื่องเล่า ตำนาน พงศาวดาร ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน (ก้านกล้วย) และล่าสุดภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กำลังจะลงโรงเร็ว ๆ นี้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

    อี.เอช. คาร์ (E.H. Carr) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ คือบทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันและอดีต”

    ห้าเดือนที่ผ่านมา ผมลองค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์เพื่อตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    ผมได้พบว่า “อดีต” ของวีรกษัตริย์พระองค์หนึ่งยังคงสนทนาอยู่กับ “ปัจจุบัน” อย่างมีชีวิตชีวา

    แง่มุมใหม่ ๆ ของพระองค์ยังมีให้ค้นหา

    แม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้วกว่า ๔ ศตวรรษ


    วัยเด็กที่วังจันทน์

    วังจันทน์ พิษณุโลก, พ.ศ. ๒๕๔๙

    “คุณต้องเริ่มต้นที่วังจันทน์ พระนเรศวรท่านประสูติและใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่นี่”

    เช้าวันนั้น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี เริ่มบทสนทนากับผมขณะเดินไปยังสนามหญ้าเก่าของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งมีกองอิฐโผล่ให้เห็นเป็นหย่อม ๆ

    จากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร พบฐานอาคารพระราชวังหลายยุคซ้อนทับกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งนักโบราณคดีคาดว่ามีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายลงมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยส่วนที่สันนิษฐานว่าอยู่ในยุคสมเด็จพระนเรศวร คือฐานอาคารที่คาดว่าจะเป็นพระราชฐานชั้นในกับพระราชฐานชั้นนอก รวมถึงส่วนที่น่าจะเป็นทิม (ที่อยู่ของทหารยาม) นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะจากหลายยุคกระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นที่

    สี่ร้อยปีก่อน บริเวณนี้คือที่ตั้งของพระราชวังจันทน์ ที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครพิษณุโลก

    สมัยอยุธยาตอนต้น วังจันทน์คือราชสำนักแห่งที่ ๒ ของอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาประทับเพื่อทำศึกกับอาณาจักรล้านนานานหลายปี ถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพเป็น “พระมหาธรรมราชา” (ซึ่งเป็นนามเจ้าผู้ครองแคว้นสุโขทัยดั้งเดิม) พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดา ให้เป็นมเหสี พร้อมทั้งสถาปนาให้ครองเมืองพิษณุโลก เพื่อตอบแทนความชอบที่ขุนพิเรนทรเทพโค่นล้มแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช กษัตริย์รัชกาลก่อนลงได้ และนำราชสมบัติมาถวายแด่พระองค์ พระราชวังแห่งนี้ก็เป็นที่ประทับของพระมหาธรรมราชา รวมถึงเจ้าผู้ครองนครพิษณุโลกพระองค์ต่อมา

    ระหว่างที่พระมหาธรรมราชาครองพิษณุโลกนี้เอง พระวิสุทธิกษัตรีก็ประสูติพระนเรศวรเมื่อปี ๒๐๙๘

    ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพระชนม์ชีพวัยเยาว์ของพระนเรศวรในพงศาวดารหรือเอกสารประวัติศาสตร์มากนัก ทราบกันเพียงว่าพระนเรศวรทรงมีพระเชษฐภคินี คือ พระสุพรรณกัลยา และพระอนุชา คือ พระเอกาทศรถ

    อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าพระนเรศวรทรงเติบโตมาท่ามกลางวิกฤต ด้วยขณะนั้นพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดีกำลังแผ่อำนาจออกไปทั่วภูมิภาคด้วยการทำสงคราม ซึ่งนั่นก็ทำให้เจ้าชายซึ่งมีพระฉวีคล้ำจนชาวเมืองขานพระนามว่า “องค์ดำ” ทรงได้รู้จักกับสงครามเป็นครั้งแรกในปี ๒๑๐๖ ขณะที่มีพระชันษาเพียง ๙ ปี เพราะปีนั้นพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก

    คนไทยยุคปัจจุบันรู้จักสงครามครั้งนั้นในนาม “สงครามช้างเผือก” อันเนื่องมาจากชนวนสงครามเกิดจากการที่พระเจ้าบุเรงนองทรงขอช้างเผือกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้วถูกปฏิเสธ

    พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงสงครามครั้งนั้นว่า พระมหาธรรมราชาทรงป้องกันเมืองเต็มที่ แต่เมื่อไข้ทรพิษระบาดในเมืองและเสบียงอาหารร่อยหรอ พระองค์ก็ทรงยอมแพ้และเข้าร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในที่สุด

    ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า การที่พระมหาธรรมราชาทรงเข้าร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองในการศึกครั้งนั้น ถือเป็นการ “ทรยศ” ต่อแผ่นดินเกิดหรือไม่ ?

    เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปเอ่ยถามกับ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ อาจารย์ตอบข้อสงสัยของผมว่า คำถามข้างต้นเกิดจากการมองเรื่องนี้แบบ “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราจะเข้าใจมันได้กระจ่างขึ้น

    “สงครามสมัยพระนเรศวรเป็นสงครามระหว่าง ‘กษัตริย์กับกษัตริย์’ หรือ ‘อาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรหงสาวดี’ ไม่ใช่สงครามระหว่าง ‘ชาติไทย’ กับ ‘ชาติพม่า’ “

    อาจารย์ชาญวิทย์อธิบายว่า อยุธยาสมัยนั้นมีขอบเขตไม่แน่นอน ประชากรในเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจอยุธยาต่างก็มิได้มีความคิดว่าตนเป็น “คนไทย” หรือ “พลเมืองของชาติที่เรียกว่าอยุธยา” แต่อย่างใด เพราะความคิดเรื่อง “ชาติ” สมัยใหม่นั้นเพิ่งถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หรือเมื่อราวร้อยปีมานี้เอง

    ดังนั้น การที่พระมหาธรรมราชาทรงยอมแพ้และเข้าร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองจึงมีเหตุมาจากการที่อยุธยาหมดความสามารถที่จะป้องกันพิษณุโลก ยิ่งถ้าพิจารณาด้วยแนวคิด “พระจักรพรรดิราช” อันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีบุญญาบารมีตามคติพุทธศาสนาของอุษาคเนย์โบราณ ก็สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ว่า พระมหาธรรมราชาทรงยอมรับพระเจ้าบุเรงนองว่าทรงเป็นพระจักรพรรดิราชผู้มีบุญบารมีนั่นเอง

    คติเรื่องพระจักรพรรดิราชนี้ กษัตริย์ในสุวรรณภูมิโดยเฉพาะกลุ่มอาณาจักรพม่า มอญ สยาม รับมาใช้โดยมีต้นแบบมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งชมพูทวีป (อินเดีย) โดยพระจักรพรรดิราชจะทรงแสดงบารมีและอำนาจด้วยการแผ่แสนยานุภาพไปครอบครองเมืองน้อยใหญ่ และจักต้องมีสมบัติ ๗ ประการที่เกิดจากบุญญาบารมี ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามที่เกิดขึ้นในยุคนี้นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้า

    วังจันทน์หลังยุคสมเด็จพระมหาธรรมราชาปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งในคราวที่พระนเรศวรเสด็จกลับมาเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก หลังจากนั้นก็ไม่ถูกกล่าวถึงอีก ลุถึงสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชวังแห่งนี้ได้ถูกทำลายไปในคราวศึกอะแซหวุ่นกี้ (ปี ๒๓๑๘) ร่องรอยที่เหลือถูกกลบหายไปนานนับศตวรรษ ก่อนจะปรากฏขึ้นอีกครั้งในปี ๒๔๔๔ เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จมาสำรวจแล้วทรงบันทึกรายละเอียดเอาไว้ใน จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก หลังจากนั้นก็มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้อยู่เป็นระยะ โดยล่าสุดเป็นที่ตั้งโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ถึงปี ๒๕๓๕ ขณะที่ผู้รับเหมากำลังเตรียมการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้นบริเวณสนามบาสเกตบอล ก็ได้พบร่องรอยวังจันทน์เข้าโดยบังเอิญ หลังจากตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งทำการย้ายโรงเรียนออกจากพื้นที่ (ปัจจุบันอาคารเรียนเก่าทั้งหมดอยู่ในระหว่างรื้อถอน เหลือไว้แต่เพียงศาลสมเด็จพระนเรศวรที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเท่านั้น) การขุดค้นทางโบราณคดีจึงเริ่มขึ้นในปี ๒๕๔๕ โดยกรมศิลปากรกับกรมสามัญศึกษา (ยุคนั้น) มีโครงการจะทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

    สมศักดิ์ แตงเกิด อาจารย์โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมที่แวะมาเยี่ยมพื้นที่โรงเรียนเก่าเล่าให้ผมฟังว่า “คนเก่าแก่รู้มานานแล้วว่าบริเวณนี้เกี่ยวพันกับสมเด็จพระนเรศวร จนเจอพระราชวังจันทน์ เพียงแต่ผมรู้สึกเสียดาย ถ้าโรงเรียนอยู่กับโบราณสถานได้โดยที่ไม่ต้องย้ายออกไปก็จะดีกว่านี้”


    ตัวจำนำที่หงสา

    แม้พงศาวดารหลายฉบับจะกล่าวไม่ตรงกันในเรื่องของ “เวลา” และ “วาระ” ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเป็นตัวจำนำ (ตัวประกัน) ที่หงสาวดี โดยบางฉบับบอกว่าเสด็จไปขณะพระชันษาได้ ๙ ปี บางฉบับก็ว่าเสด็จไปเมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี

    แต่ก็มีข้อยุติเบื้องต้นว่า พระนเรศวรทรงเคยประทับที่พระราชวังหงสาวดีอย่างแน่นอน

    การไปเยือนหงสาวดีทำให้ผมพบความจริงว่า กาลเวลาและสงครามได้กลืนกินร่องรอยของ “พระราชวังกัมโพชธานี” (Kamboza Thadi Palace) หรือ “พระราชวังหงสาวดี” ในยุคพระเจ้าบุเรงนองไปเกือบหมด ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีเพียงเสาไม้สักเก่าแก่นับร้อยท่อนที่นอนนิ่งอยู่ในศาลาเล็ก ๆ กับฐานเสาพระราชวังเดิมซึ่งซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้ารกเท่านั้น

    ส่วนพระราชวังที่ผมได้เห็นนั้น รัฐบาลทหารพม่าเร่งสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยอ้างว่าทำตามบันทึกของเสนาบดีผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์คองบอง (ปี ๒๒๙๕-๒๓๐๓) เล่ากันว่าการก่อสร้างดำเนินไปท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักประวัติศาสตร์พม่า เนื่องจากเสนาบดีผู้นั้นมีชีวิตอยู่ห่างยุคบุเรงนองเกือบ ๑๕๐ ปี อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเคยเดินทางมาก่อนหน้าผม สรุปให้ฟังว่า “พม่าจะหลอกเงินนักท่องเที่ยวไทย... จริง ๆ พระราชวังหงสาวดีอาจไม่ใหญ่โตแบบที่สร้างขึ้นใหม่ก็เป็นได้”

    ภายในพระราชวังมีแผนที่เมืองหงสาวดีโบราณขนาดใหญ่ตั้งแสดงอยู่ ในแผนที่นั้นระบุชื่อประตูเมืองด้านทิศเหนือประตูหนึ่งเป็นภาษาพม่าว่า “ประตูโยเดีย” หรือ Yodia Gate อันหมายถึง “ประตูอยุธยา” นอกจากนี้ยังมีประตูเชียงใหม่ (Sinmai Gate) ประตูอังวะ (Inwa Gate) ซึ่งล้วนเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีในสมัยพระเจ้าบุเรงนองทั้งสิ้น

    พงศาวดารพม่าระบุว่าพระเจ้าบุเรงนองสร้างวังและเมืองหงสาวดีเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๑๐๙ นั่นหมายความว่าหงสาวดีถือว่าอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่เสร็จสิ้นสงครามช้างเผือกในปี ๒๑๐๖ ซึ่งบทสรุปของสงครามครั้งนั้นคือ อยุธยาขอเจรจาหย่าศึก ยอมเสียช้างเผือก ๔ เชือก และส่งพระราเมศวร พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์อยุธยา มาเป็นตัวจำนำอยู่ที่กรุงหงสาวดี

    นักประวัติศาสตร์คาดว่าพระนเรศวรน่าจะถูกส่งมาเป็นตัวจำนำอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้ในฐานะโอรสเจ้าเมืองพิษณุโลกในคราวเดียวกันกับพระราเมศวรนั่นเอง

    เช่นเดียวกับช่วงที่พระองค์ประทับในพิษณุโลก ผมพบว่าไม่มีหลักฐานกล่าวถึงพระองค์ขณะประทับที่หงสาวดีมากนัก พงศาวดารไทยและพม่าช่วงนี้ส่วนมากกล่าวถึงบุเรงนองที่ขยายอำนาจด้วยการยกทัพไปโจมตีอาณาจักรต่างๆ มากกว่า

    อย่างไรก็ดี ในหลักฐานชั้นรองอย่าง คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งมีลักษณะเป็น “ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า” (Oral History) คือจดขึ้นจากคำให้การเชลยศึกอยุธยาที่ถูกนำตัวไปพม่าคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ (ปี ๒๓๑๐) กลับมีรายละเอียดว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของพระนเรศวรขณะประทับอยู่ในหงสาวดีว่ามิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นนัก โดยมีการยกเหตุการณ์การชนไก่ระหว่างพระนเรศวรกับมังสามเกียด (ซึ่งต่อมาคือ “พระมหาอุปราชา”) ว่า

    “ข้างกรุงหงสาวดี วันหนึ่งพระมหาอุปราชากับพระนเรศวรเล่นชนไก่ ไก่ของพระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชาก็ขัดใจ จึงแกล้งพูดเป็นทีเยาะเย้ยว่า ไก่เชลยเก่ง ชนชนะไก่เราได้ พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นก็น้อยพระทัย ผูกอาฆาตพระมหาอุปราชา แกล้งตรัสตอบไปเป็นนัยว่า ไก่ของหม่อมฉันนี้ พระองค์อย่าเข้าพระทัยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์ จะชนเอาบ้านเมืองก็จะได้ดังนี้”

    แม้เหตุการณ์นี้จะยังคลุมเครือว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะนอกจากเอกสารชั้นรองประเภท คำให้การชาวกรุงเก่า แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกถึงเรื่องนี้ในหลักฐานร่วมสมัยอื่นใด แต่เราคงต้องยอมรับกันแล้วว่า เกร็ดประวัติศาสตร์นี้ได้ถูกเล่าขานกันในวงกว้าง ถึงขั้นที่บรรดาเซียนไก่ชนที่ผมมีโอกาสคุยด้วยสามารถยืนยันได้ว่าไก่ชนของพระนเรศวรเป็นพันธุ์เหลืองหางขาว ทั้งยังเป็นเหตุให้ทุกวันนี้ ศาลสมเด็จพระนเรศวรทุกแห่งในเมืองไทยมีรูปปั้นไก่ตั้งบูชาแก้บนอยู่อย่างแน่นขนัด

    นอกจากเรื่องชนไก่ นักประวัติศาสตร์คงทำได้แค่สันนิษฐานว่า ช่วงที่พระนเรศวรทรงเจริญชันษาในราชสำนักบุเรงนองนั้น พระองค์คงได้รับการศึกษาแบบพม่าด้วย ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกครองกรุงศรีอยุธยาของพระองค์ในเวลาต่อมา


    อยุธยายามศึก

    ฤดูแล้งปี ๒๑๑๑ บุเรงนองกรีธาทัพมายังอยุธยาอีกครั้ง เมื่อทราบว่าอยุธยากำลัง “แข็งเมือง” เพราะสมเด็จพระมหินทราธิราชทรงยกทัพไปพิษณุโลกแล้วนำตัวพระวิสุทธิกษัตรี พระสุพรรณกัลยา และพระเอกาทศรถ มาเป็นตัวจำนำที่กรุงศรีอยุธยา ระหว่างที่พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลก เสด็จขึ้นมาเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่หงสาวดี

    สถานการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากพระเจ้าบุเรงนองส่งทหารไปชิงตัวพระเทพกษัตรี (ตามคำแนะนำของพระมหาธรรมราชา) ระหว่างที่เสด็จไปกรุงเวียงจันทน์เพื่ออภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง โดยมีนัยว่าจะเชื่อมสัมพันธไมตรีร่วมกันต่อต้านหงสาวดีในอนาคต

    นักประวัติศาสตร์คาดว่า พระนเรศวรซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา ๑๕ ปี เสด็จมาในกองทัพพระเจ้าบุเรงนองคราวนี้ด้วย ขณะที่พระบิดาของพระองค์ก็ทรงนำทัพจากหัวเมืองเหนือมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับทัพหงสาวดีเช่นกัน

    ดร. ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์สงครามในช่วงนี้ว่า หากอธิบายตามโครงเรื่องของคติพระจักรพรรดิราช พระมหาธรรมราชาก็คือ “ขุนพลแก้ว” ซึ่งมาช่วยพระจักรพรรดิราชผู้มีบุญญาบารมี (พระเจ้าบุเรงนอง) ในการทำศึกกับอยุธยานั่นเอง

    ผมพบว่าข้อเสนอของอาจารย์ธงชัยน่าสนใจมาก เพราะเมื่อสำรวจพงศาวดารไทยก็พบว่าค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดนี้ เห็นได้จากมิได้มีน้ำเสียงประณามพระเจ้าบุเรงนองแต่อย่างใด ตรงข้าม กลับให้บทบาทที่เต็มไปด้วยความเมตตาและความเด็ดขาด ทั้งยังให้บทบาทแก่พระมหาธรรมราชาในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญ เอ่ยขอสิ่งใดพระเจ้าบุเรงนองมักพระราชทานตามนั้น จนได้เป็นที่พึ่งของแม่ทัพพม่าที่เกรงอาญาเจ้าเหนือหัวอยู่หลายครั้ง

    ในที่สุด อยุธยาก็เสียเมืองในปี ๒๑๑๒ หลังพระเจ้าบุเรงนองใช้พระยาจักรีไปเป็นไส้ศึกในอยุธยาจนการป้องกันอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้กองทัพหงสาวดีบุกเข้าเมืองได้สำเร็จ ตำราประวัติศาสตร์ไทยถือว่านี่เป็นการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ขณะที่พงศาวดารพม่าถือว่าเป็นเพียงการปราบกบฏเท่านั้น

    ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า อธิบายว่าการเสียกรุงครั้งนี้ได้ตอกย้ำว่า “เอกราช” ของอยุธยาเสียไปโดยสมบูรณ์แบบ หลังจากปี ๒๑๐๖ ที่หงสาวดีได้ทำลายสถานะนี้ไปแล้วส่วนหนึ่ง หากแต่ “เอกราช” ที่เสียไปนั้นมิใช่ “เอกราช” ที่มีความหมายอย่างที่เราเข้าใจกันในทุกวันนี้

    “สมัยโบราณมีเมือง ‘เอกราช’ กับ ‘ประเทศราช’ เมืองเอกราชไม่ต้องส่งเครื่องบรรณาการ ไม่ต้องถูกกวาดต้อนแรงงานจากเมืองอื่น สมัยนั้นอยุธยาเป็นเมืองเอกราชที่มีประเทศราชภายใต้อำนาจมากมาย สถานะเช่นนี้มิใช่ทุกเมืองจะพึงมี และสถานะนี้เองที่ทำให้อยุธยาเป็นมหาอาณาจักร แต่ผลจากสงครามปี ๒๑๑๒ อยุธยาเสียสถานภาพนี้ไปโดยสิ้นเชิง”

    เมื่อเสร็จศึก พระเจ้าบุเรงนองทรงให้นำตัวสมเด็จพระมหินทราธิราชไปหงสาวดี แล้วทรงแต่งตั้งพระมหาธรรมราชาให้ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราช พระมหาธรรมราชาทรงถวายพระสุพรรณกัลยาแก่พระเจ้าบุเรงนองเพื่อแลกพระนเรศวรกลับมาช่วยราชการบ้านเมือง

    เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ก็มีบันทึกว่า “ศักราช ๙๓๓ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) น้ำน้อย อนึ่งสมเด็จพระณะรายบพิตรเป็นเจ้า เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิศณูโลก”

    นั่นหมายถึงทรงสถาปนาให้พระนเรศวรครองพิษณุโลกในฐานะพระมหาอุปราช หลังจากนั้นพระนเรศวรก็เสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่อยุธยาอยู่เนือง ๆ โดยประทับอยู่ที่ “พระราชวังใหม่” อันจะได้ชื่อต่อมาว่า “วังจันทร์” ที่สมัยปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อว่า “พระราชวังจันทรเกษม”

    ปัจจุบัน พระราชวังจันทรเกษมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภายใต้ความดูแลของกรมศิลปากร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ ตำนานวังหน้า เล่าความเป็นมาของวังนี้ว่า น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองราชย์ ด้วยก่อนยุคดังกล่าวไม่ปรากฏวังนี้เลย ทั้งเวลานั้นอยุธยาก็เป็นประเทศราชหงสาวดี น่าจะรับแบบแผนการปกครองเรื่อง “วังหน้า” ที่พระนเรศวรทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระองค์แรกมาใช้ด้วย

    “ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าน่าจะถ่ายคำ ‘อินแซะมิน’ ของพม่ามาแปลเป็นภาษาไทย เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า ‘พระเจ้าฝ่ายหน้า’ เป็นเดิมมา เพราะจะเรียกว่า ‘พระเจ้าวังหน้า’ ให้ตรงศัพท์อินแซะมินของพม่า ก็ไม่ได้เสด็จอยู่ที่วังในกรุงศรีอยุธยา (ช่วงที่พระนเรศวรครองพิษณุโลก-ผู้เขียน) ขัดอยู่ในทางภาษา จึงใช้คำว่า ‘ฝ่าย’ แทน...สันนิษฐานว่าเห็นจะเกิดเรียกวังจันทรเกษมว่า ‘วังฝ่ายหน้า’ หรือ ‘วังหน้า’ มาแต่สมัยนี้ เพราะพระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นประการ ๑ เพราะวังจันทรเกษมเผอิญอยู่ตรงด้านหน้าของพระราชวังหลวงด้วยอีกประการ ๑... เหตุที่เรียกวังหน้าในกรุงเก่าว่า ‘วังจันทรเกษม’ จะเกิดขึ้นเมื่อใดข้าพเจ้ายังไม่ทราบ แต่เห็นมีเค้าเงื่อนอยู่ที่พระราชวังที่เมืองพิษณุโลกนั้นเรียกว่าวังจันทน์”

    ลุถึงปี ๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงหรือที่คนพม่าเรียกและออกเสียงว่า “นันทบายิน” ก็เสด็จขึ้นครองราชย์

    ในกรอบความคิดแบบโบราณของอุษาคเนย์ นี่คือการสิ้นสุดรัชสมัยของจักรพรรดิราชพระองค์หนึ่ง ขณะที่จักรพรรดิราชอีกพระองค์คือ พระนเรศวร ทรงเริ่มสั่งสมบุญญาบารมีขึ้นอย่างโดดเด่นผ่านสงครามย่อย ๆ หลายครั้ง เช่น คราวที่พระองค์โจมตีทัพละแวกที่ยกมากวาดต้อนผู้คนในโคราชเมื่อปี ๒๑๒๒


    อิสรภาพที่ลุ่มน้ำสะโตง

    “สมเด็จพระนรายเป็นเจ้าเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงษากับพระเจ้าอางวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการศึกพระเจ้าหงษา...แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนคร”--พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ

    ปี ๒๑๒๗ หลังหงสาวดีผลัดแผ่นดินไม่นาน อังวะซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศราชของหงสาวดีเช่นเดียวกับอยุธยาก็แข็งเมือง กษัตริย์พระองค์ใหม่คือพระเจ้านันทบุเรงต้องทรงยกทัพไปปราบ พร้อมกันนั้นก็มีพระบัญชาให้ประเทศราชต่าง ๆ รวมถึงอยุธยายกทัพไปช่วยราชการศึก ครั้งนั้น พระนเรศวรทรงยกทัพไปแทนสมเด็จพระมหาธรรมราชา และทรงยั้งทัพไว้ที่เมืองแครง

    ถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือการ “ประกาศอิสรภาพ” ตัดความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหงสาวดี ของพระนเรศวร

    แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พงศาวดารไทยที่บันทึกขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้กับเหตุการณ์ที่สุด คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ ๑ ศตวรรษหลังจากเหตุการณ์ มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่หลักฐานชั้นรองคือ คำให้การขุนหลวงหาวัด และ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลับกล่าวถึงการประกาศอิสรภาพครั้งนี้ หันไปดูหลักฐานฝั่งพม่าบ้าง มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (Hmannan Mahayazawindawgyi) ก็มิได้ระบุถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน เพียงแต่ให้ข้อมูลว่าทัพอยุธยาซึ่งไปช่วยราชการศึกนั้น “หาตามเสด็จไปช่วยทางกรุงอังวะไม่...ตรงมาทางกรุงหงษาวดี” หลังจากนั้นก็ “ตีกรุงหงษาวดี” ด้วยซ้ำ

    นี่คือ “ช่องว่าง” ของประวัติศาสตร์ เพราะหลักฐานของไทยกับพม่าบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ต่างกัน ไทยว่าพระนเรศวรทรงล่วงรู้ถึงอุบายของพระเจ้านันทบุเรงจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ขณะที่ฝ่ายพม่าบันทึกว่าพระนเรศวรทรงตั้งใจยกไปตีหงสาวดีอยู่แล้ว

    ทว่าสิ่งที่หลักฐานทุกชิ้นระบุตรงกันก็คือ หลังจากพระองค์เสด็จกลับจากยกทัพคราวนี้ อยุธยาก็ต้องรับศึกหงสาวดีติดต่อกันนานนับสิบปี

    อย่างไรก็ตาม หากเราลองมาพิจารณาความหมายของคำว่า “อิสรภาพ” ยุคนั้นกันอีกที เราอาจจะมองประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้ชัดเจนขึ้น

    จาก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพงศาวดารที่มีลักษณะเน้นกฤษฎาภินิหารสูง ผมพบความหมายของ “อิสรภาพ” ซึ่งต่างจาก “อิสรภาพ” ในความหมายที่เราเข้าใจกัน นั่นคือ “การเป็นราชาธิราชเหนือราชาอื่น” ปรากฏอยู่ในตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งพระเจ้านันทบุเรงทรงวางแผนจัดการพระนเรศวร ความว่า

    “(ให้) จับเอาตัวพระนเรศวรประหารชีวิตเสียให้จงได้ เมืองหงสาวดีจึงจะเป็นอิสรภาพไพศาลกว่าพระนครทั้งปวง”

    สำหรับผม ประโยคข้างต้นสะท้อนถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับอิสรภาพของคนยุคนั้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าหงสาวดีต่างหากที่กำลังพยายามรักษา “อิสรภาพ” นั้นไว้

    บ่ายวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ๒๕๔๙, เมืองวอ สหภาพพม่า

    ผมยืนอยู่ที่ลานเจดีย์โจงตู (Jondthu Zedi) เจดีย์แฝดกลางทุ่งนาซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองวอออกมาทางตะวันออกราว ๔ กิโลเมตร ยืนพิจารณาพื้นที่ราบซึ่งเต็มไปด้วยนาข้าวที่กำลังออกรวงเหลืองอร่ามสุดลูกหูลูกตารอบ ๆ เจดีย์

    หลายปีก่อน ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ และ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล มาพบที่นี่ขณะสำรวจพื้นที่ปากน้ำสะโตงซึ่งพงศาวดารพม่ายุคพระเจ้าอลองพญาระบุว่าเป็นเส้นทางเดินทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา โดยระบุระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางระหว่างเมืองอย่างชัดเจนว่า ๑ วันจากหงสาวดีจะถึงเมืองโครง (Krun) ๒ วันจะถึงแม่น้ำสะโตง ทั้งยังพบว่าที่นี่เคยเป็นเขตอิทธิพลของมอญมาก่อนที่พม่าจะเข้ามาครอบครองกรุงหงสาวดี

    อาจารย์สุเนตรอธิบายว่า เมือง “วอ” ในภาษาพม่า เดิมชื่อเมือง “โจงตู” ซึ่งก็คือเมือง “โครง” ในภาษามอญนั่นเอง ซึ่งฟังดูใกล้เคียงกับเมือง “แครง” หรือ “แกรง” ที่พงศาวดารไทยระบุว่าเป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรง “ประกาศอิสรภาพ” ระหว่างยกทัพมาช่วยราชการศึกพระเจ้านันทบุเรง

    นอกจากชื่อเมืองแล้ว เมื่อคำนวณจากระยะทาง ดร. สุเนตรก็พบว่าที่นี่อยู่ห่างจากหงสาวดีด้วยการเดินเท้า ๑ วันตามที่ระบุในพงศาวดาร อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังปรากฏร่องรอยเมืองโบราณ ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำเก่า ซากประติมากรรมโบราณ ฯลฯ ซึ่งแสดงว่าที่นี่น่าจะเคยเป็นหัวเมืองสำคัญมาก่อน

    จากภาพถ่ายดาวเทียม จะแลเห็นว่าเจดีย์แฝดโจงตูอยู่ตรง “กึ่งกลาง” เส้นทางระหว่างหงสาวดีกับสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงพอดี ปัจจุบันถือเป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน หรือพระเจดีย์ไจ้โถ่ (Kyaikhto Zedi) ในเขตรัฐมอญ ซึ่งถ้าพิจารณาจากหลักภูมิศาสตร์ นี่ก็คือเส้นทางเดินทัพโบราณนั่นเอง เพราะเมืองโครงหรือเมืองวออยู่บนเส้นทางบังคับที่หงสาวดีต้องใช้ในการเดินทัพไปตีอยุธยา ด้วยถ้าใช้เส้นทางอื่น เช่น ออกจากหงสาวดีค่อนไปทางเหนือ ก็จะเจอหุบเขาพะโคโยมากั้น หรือถ้าออกจากหงสาวดีค่อนไปทางใต้ ก็จะเจอที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสะโตงซึ่งมีสภาพเป็นโคลนกั้น

    “ลองต่อภาพประวัติศาสตร์ สมมุติเราเชื่อพงศาวดารไทยที่ว่าพระนเรศวรยั้งทัพอยู่เมืองแครง แล้วพระเจ้านันทบุเรงส่งพระยาเกียรติ พระยาราม ซึ่งวางแผนมาลวงให้พระองค์ยกทัพเข้าสู่กับดัก สองคนนี้ออกจากหงสาวดี ๑ วันก็ถึงเมืองแครง ทูลเปิดเผยเรื่องราวแล้ว พระนเรศวรก็ทรงประกาศอิสรภาพ จากนั้นถอยทัพอีก ๑ วันก็ถึงแม่น้ำสะโตง” อาจารย์สุเนตรอธิบาย

    ดังนั้นที่ใดที่หนึ่งรอบ ๆ ตัวผมขณะนี้ นอกจากจะเป็นที่พักทัพแล้ว ยังอาจเป็นพื้นที่ประกาศอิสรภาพด้วยก็เป็นได้--ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง

    พระสงฆ์ซึ่งดูแลเจดีย์โจงตูเล่าให้ผมฟังว่า เจดีย์แฝดแห่งนี้มีอายุอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว (แน่นอนว่าช่วงหนึ่งร่วมสมัยกับยุคที่สมเด็จพระนเรศวรทำศึกกับหงสาวดี) ชาวบ้านเชื่อว่าในเจดีย์บรรจุพระพุทธรูปโบราณและอัญมณีมีค่าเอาไว้

    จากเจดีย์โจงตู ผมนั่งรถไปตามถนนหมายเลข ๓ (เส้นทางสู่ภาคตะวันออกและภาคใต้ของพม่า) อีกราว ๒ ชั่วโมงก็ถึงสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง (Sittong Thata) ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าวางกำลังดูแลอย่างเข้มงวด เนื่องด้วยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเป็นพื้นที่รัฐมอญซึ่งบางแห่งมีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย

    ข้ามแม่น้ำแล้วไปตามถนนสายเดิมอีกราว ๒๐ นาที ผมก็พบหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมน้ำและเจดีย์องค์หนึ่งซ่อนตัวอยู่ในดงไม้ร่มครึ้ม ไกด์ท้องถิ่นบอกผมว่าที่นี่คือ หมู่บ้านสะโตง (Sittong Yaw) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์สะโตง (Sittong Pya) ที่ริมน้ำ สะพานทางรถไฟเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเหลือแต่ตอม่อตั้งตระหง่านอยู่คู่กับสะพานคอนกรีตที่ก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างเร่งรีบเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสู่พระธาตุอินทร์แขวน

    ที่นี่เองที่ท่านมุ้ยและ ดร. สุเนตร สันนิษฐานว่าพระนเรศวรทรงถอยทัพมาจากเมืองแครงแล้วข้ามแม่น้ำสะโตงส่วนที่แคบที่สุดซึ่งกว้างราว ๖๒๐ เมตร เพื่อกลับสู่อยุธยา ด้วยเป็นเส้นทางเดินทัพเก่า รอบ ๆ มีร่องรอยเมืองโบราณที่บ่งบอกว่าเคยเป็นหัวเมืองสำคัญ และที่สำคัญคือ เป็นจุดที่แคบที่สุดของลำน้ำสะโตงก่อนไหลออกสู่อ่าวเมาะตะมะ

    พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่าว่า พระนเรศวรทรงให้บรรดาผู้คนที่กวาดต้อนมาข้ามน้ำไปก่อน “แต่พระองค์กับทหารลำลองหมื่นห้าพันนั้นยังรออยู่ริมฝั่ง ตรัสให้ทหารเอาปืนหามแล่นและนกสับคาบชุดระดมยิงไป ทหารก็ยิงระดมไปเป็นอันมากมิได้ถึง จึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็ทรงพระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงไปต้องสุรกำมาตายตกจากคอช้าง รี้พลมอญทั้งนั้นเห็นอัศจรรย์ ด้วยแม่น้ำนั้นกว้างเหลือกำลังปืน”

    เหตุการณ์อันเป็นที่มาของ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นี้ มีคำถามอยู่มากในหมู่ผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยข้อความดังกล่าวปรากฏในพงศาวดารฉบับนี้ฉบับเดียว หลักฐานชั้นรองอื่น ๆ มิได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

    จึงมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อยและน่าสงสัยว่าเป็นการต่อเติมขึ้นในสมัยหลังหรือไม่

    อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาพระนเรศวรก็ทรงเดินทัพกลับสู่พิษณุโลกได้สำเร็จ


    รับศึกหงสาปี ๒๑๒๙

    “เมื่อเสียกรุงครั้งแรก สิ่งที่ตามมาคือสิ้นราชวงศ์สุพรรณภูมิและอยุธยากลายเป็นเมืองร้าง ดังนั้นต้องสั่งสมกำลังขึ้นจากความไม่มี”

    ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอภาพกรุงศรีอยุธยาหลังปี ๒๑๑๒ เขาอธิบายต่อว่าในสมัยนั้นอุษาคเนย์ยังอยู่ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” คือถือว่า “คน” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งและการทำสงคราม เพราะจำนวนประชากรในอาณาจักรต่าง ๆ สมัยนั้นมีไม่มาก ที่มีชีวิตอยู่ก็มีอายุขัยไม่ยืนยาวนัก เพราะถูกคุกคามด้วยโรคร้าย สงคราม ฯลฯ

    ดังนั้น เมื่อกษัตริย์เมืองหนึ่งยกทัพไปตีอีกเมืองหนึ่ง หลังจากได้รับชัยชนะ นอกจากเก็บทรัพย์สินแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือกวาดต้อนผู้คนกลับไปยังเมืองของตนด้วย

    นี่ก็คือเหตุผลที่ในฤดูแล้งปี ๒๑๒๗ เมื่อพระนเรศวรเสด็จกลับจากเมืองแครง พระองค์ก็ทรงเพิ่มกำลังให้อยุธยาอีกด้วยการ “เทครัว” จากหัวเมืองเหนือมาไว้ในกรุง และเพื่อลดความเสียเปรียบ ทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้หัวเมืองรับศึกหงสา แต่เตรียมพร้อมในกรุงศรีอยุธยาแทน ด้วยถึงแม้จะเสียเปรียบด้านกำลังคน แต่ชัยภูมิอยุธยาที่มีแม่น้ำล้อมรอบและมีกำแพงเมืองแข็งแกร่ง จะชดเชยข้อด้อยนั้นได้เป็นอย่างดี จากนั้นพระองค์ก็เสด็จจากพิษณุโลกมาประทับที่วังจันทรเกษมในเกาะเมืองอยุธยา เพื่อช่วยสมเด็จพระมหาธรรมราชากำกับราชการแผ่นดิน

    เมื่ออยุธยาในยุคพระนเรศวรสะสมกำลังขึ้นจากความไม่มี การรบกับหงสาวดีจึงมิใช่การรบระหว่างไทยกับพม่าดังที่หลายคนเข้าใจ อาจารย์สุเนตรได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

    “เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ประชาคมที่ประกอบขึ้นเป็นกำลังหงสาวดีและอยุธยามีหลากหลายมาก ทั้งมอญ ไทใหญ่ ฯลฯ เพราะพื้นที่สงครามครอบคลุมตั้งแต่ลุ่มน้ำอิรวดี เทือกเขาตะนาวศรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง ถ้าคิดในเชิงชาติพันธุ์ สงครามที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่ไทยรบพม่า”

    ในที่สุด กองทัพหงสาวดีซึ่งมีกำลังพลถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน ก็มาถึงอยุธยาเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๑๒๙ แล้วเข้ายึดพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกของอยุธยา จากนั้นเกิดศึกยืดเยื้อเป็นเวลาถึง ๕ เดือน

    ดร. สุเนตรระบุว่า หากพิจารณาจากสงครามทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร สงครามครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาเสี่ยงจะเสียเมืองที่สุด เพราะกองทัพหงสาวดีที่ยกมามีกำลังมากกว่าหลายเท่า ทั้งยังเป็นกองทัพที่พระเจ้านันทบุเรงทรงคุมกำลังมาด้วยพระองค์เอง

    สงครามครั้งนั้นทิ้งร่องรอยไว้ให้คนรุ่นหลังทราบว่า พระนเรศวรทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ชั้นยอด ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้อยุธยามีทหารน้อยกว่า แต่ก็สร้างความระส่ำระสายให้แก่ทัพหงสาวดีและทัพของหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ ซึ่งมีกำลังมากกว่าหลายเท่าได้อย่างชะงัด พระนเรศวรทรงนำทหารกองเล็ก ๆ ออกโจมตีค่ายข้าศึกด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทำสงครามกองโจรอยู่เป็นระยะ ๆ โดยอาศัยข้อได้เปรียบของสมรภูมิและความคุ้นชินพื้นที่

    ทั้งนี้มีบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ว่า ครั้งหนึ่งทรงออกตีค่ายพระมหาอุปราชาที่บางกะดานจนแตกพ่าย หลังจากนั้นยังเสด็จไปตีค่ายพระเจ้านันทบุเรง--วีรกรรมที่พระราชพงศาวดารซึ่งชำระในยุคต้นรัตนโกสินทร์อธิบายว่าเป็นที่มาของ “พระแสงดาบคาบค่าย” หนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำคัญของกษัตริย์ไทยมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าทรงนำทหารไปซุ่มที่ทุ่งลุมพลีจนได้รบข้าศึกถึงขั้นตะลุมบอน—“แลทรงพระแสงทวนแทงลาว ทหารตาย” (ซึ่งในชั้นหลังมีการชำระออกมาว่าเป็นการต่อสู้กับลักไวทำมูที่ตั้งใจมาล้อมจับพระองค์ไปเป็นเชลย)

    ทุกวันนี้ พื้นที่รอบเกาะเมืองซึ่งเคยเป็นสมรภูมิในปี ๒๑๒๙ ที่ปรากฏต่อสายตาผม บางส่วนกลายเป็นบ้านเรือน บางส่วนเป็นท้องนา ทุ่งภูเขาทองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าพระนเรศวรทรงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมู มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขณะพระองค์ทรงม้า พระหัตถ์ถือพระแสงทวน มีเครื่องราชูปโภคซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้และสงครามครั้งอื่น ๆ คือ พระแสงดาบคาบค่าย พระมาลาเบี่ยง พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง และพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ตั้งอยู่รายรอบ

    พุทธศักราช ๒๑๓๓ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๙ ของกรุงศรีอยุธยา ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) พ่อค้าชาวฮอลันดาซึ่งเป็นผู้อำนวยการประจำสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก (Dutch East India Company) ในกรุงศรีอยุธยาระหว่างปี ๒๑๗๖-๒๑๘๕ (หลังรัชกาลพระนเรศวร ๔๘ ปี) กล่าวถึงการปกครองของพระองค์ (อ้างจากปากคำชาวกรุงศรีอยุธยา) ว่า

    “ปกครองแบบทหารและเข้มงวดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสยาม”

    เขาเล่าว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงประหารชีวิตคน “ตามกฎหมาย” มากกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ทั้งยังบรรยายด้วยว่า “ขณะที่ออกขุนนาง ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะปราศจากอาวุธ ทรงมีกระบอกลูกธนูบนพระเพลา และมีคันธนูอยู่ในพระหัตถ์ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นผู้ใดทำผิด แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่เป็นที่สบพระทัย พระองค์จะทรงยิงธนูไปที่ผู้นั้น และรับสั่งให้ผู้นั้นนำลูกธนูมาถวาย”

    สิ่งที่วันวลิตกล่าวไว้นี้จริงหรือไม่ไม่มีใครทราบ แต่บันทึกหรือพงศาวดารที่เขาเขียนขึ้นได้สะท้อนความเด็ดขาดทางการปกครองของสมเด็จพระนเรศวรไว้อย่างชัดเจนกว่าที่หลักฐานฝ่ายไทยทุกชิ้นเคยบันทึกไว้


    ศึกยุทธหัตถี

    ปี ๒๑๓๓ พระเจ้านันทบุเรงยังทรงต้องการท้าทายผู้ตั้งตนเป็นพระจักรพรรดิราชองค์ใหม่ (สมเด็จพระนเรศวร) จึงทรงให้พระมหาอุปราชายกทัพเข้ามาตีอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์อีก แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป

    ลุถึงเดือนมกราคม ๒๑๓๕ ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมทัพไปตีกรุงละแวก ราชธานีของกัมพูชา (ซึ่งมักส่งกองทัพมาซ้ำเติมอยุธยายามเกิดศึกกับหงสาวดีอยู่เสมอ) ข่าวทัพหงสาวดีก็มาถึง

    คราวนี้ทัพหงสาวดียกมา ๒ ทาง พระมหาอุปราชาทรงยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ขณะที่ทัพพระเจ้าแปรและนัดจินหน่องโอรสเจ้าเมืองตองอูยกมาทางด่านแม่ละเมา โดยเข้าสมทบกับทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งลงมาจากภาคเหนือทางแม่น้ำ

    สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่าจะต้องตัดศึกด้านหนึ่งก่อนเพื่อไม่ให้ข้าศึกรวมกำลังกันได้ จึงทรงรวมพลที่ทุ่งป่าโมกแขวงเมืองวิเศษชัยชาญอันเป็นชุมทางสู่สุพรรณบุรีและหัวเมืองเหนือ ให้เจ้าเมืองราชบุรีแต่งกองโจรรบกวนข้าศึก และวางกำลังส่วนหนึ่งไว้ที่ลำน้ำท่าคอย สุพรรณบุรี เพื่อเฝ้าระวังทัพทางเหนือ ส่วนพระองค์เสด็จออกไปรับทัพพระมหาอุปราชา

    ศึกครั้งนี้ไพร่พลทั้งสองฝ่ายมีกำลังรวมกันถึง ๓๔๐,๐๐๐ คน โดยฝ่ายหงสาวดีมีกำลังพล ๒๔๐,๐๐๐ คน ส่วนอยุธยามีกำลังพล ๑๐๐,๐๐๐ คน

    เช้าตรู่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๑๓๕ ก็เกิด “ศึกยุทธหัตถี” ซึ่งถูกเล่าขานสืบเนื่องกันต่อมานานนับศตวรรษ

    ศึกยุทธหัตถีเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่เพียงเพราะเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยจำนวนมาก แต่หากยังเป็นเหตุการณ์ที่มีประเด็นให้ถกเถียงมากที่สุดในบรรดาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวร

    ประเด็นหลัก ๆ คือกรณีการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา ซึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกเรื่องนี้ว่า “เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระณรายบพิตรเป็นเจ้า (สมเด็จพระนเรศวร-ผู้เขียน) ต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงถึงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้าง ตายในที่นั้น แลช้างต้นพญาใชยานุพาบซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาแลมีชัยชนะนั้น พระราชทานให้ชื่อ เจ้าพญาปราบหงษา” อันหมายถึงสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแล้วได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ

    แต่ถ้าใครลองเปิด มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ดูก็คงผงะ ด้วยเหตุการณ์เดียวกันนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับของไทย พม่าบันทึกว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงไสช้างไปหาพระมหาอุปราชา มีเจ้าเมืองคนหนึ่งชื่อชามะโยไสช้างมารับแทน แต่ช้างของชามะโยวิ่งไปชนช้างพระมหาอุปราชาเข้าจน “ไม่เปนอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันนั้นเปนช้านาน เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนก็ไปต้องมหาอุปราช ๆ ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้าง...”

    นั่นก็คือ พงศาวดารพม่าระบุว่าพระมหาอุปราชามิได้พ่ายศึกยุทธหัตถีเพราะถูกพระแสงของ้าวสมเด็จพระนเรศวร แต่ถูกกระสุนปืนจนสิ้นพระชนม์

    นอกจากกรณีข้างต้น ประเด็นเกี่ยวกับศึกยุทธหัตถีอีกเรื่องที่ดูจะเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปก็คือคำถามที่ว่า สถานที่เกิดศึกครั้งนี้อยู่ที่ไหนกันแน่ ?

    “ชาวบ้านอย่างผมเชื่อว่าดอนเจดีย์คือที่ที่เกิดศึกยุทธหัตถี ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ มาที่นี่ ถ้าไม่จริงพระมหากษัตริย์ท่านไม่มา” พ่อค้าน้ำอัดลมที่ค้าขายอยู่หน้าทางเข้าอนุสรณ์ดอนเจดีย์รายหนึ่งเอ่ยเมื่อผมถามถึงความเห็นกรณีนักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันเรื่องสถานที่เกิดศึกยุทธหัตถีซึ่งมีอยู่ ๓ แห่ง คือ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี, เจดีย์เก่าที่หมู่ ๒ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    สิ่งที่พ่อค้าน้ำอัดลมบอก ก็คือเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ทางราชการไทยพยายามสืบหา “เจดีย์ยุทธหัตถี” ซึ่งยังตกค้างอยู่ในความทรงจำคนเก่าคนแก่ของสุพรรณบุรีมาจนถึงทุกวันนี้

    ยุคนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า ซากเจดีย์แห่งหนึ่ง ณ ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถีแน่นอน ภายหลังจึงมีการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบซากเจดีย์เดิม และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างศึก ส่งผลให้ “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” ที่สุพรรณบุรี กลายเป็นข้อยุติทางประวัติศาสตร์เรื่องสถานที่กระทำยุทธหัตถีมายาวนานหลายทศวรรษ

    จนปี ๒๕๑๕ จึงได้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า สถานที่กระทำยุทธหัตถีน่าจะเป็นเจดีย์โบราณที่ตั้งอยู่บริเวณหมู่ ๒ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มากกว่า ส่วนเจดีย์ที่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรีนั้น เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี มิใช่เจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาแน่นอน

    กรมศิลปากรได้จัดการความขัดแย้งครั้งนั้นด้วยการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบ ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าเจดีย์เก่าที่หมู่ ๒ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็น “บริโภคเจดีย์” หรือเจดีย์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำให้เจดีย์ที่สุพรรณบุรียังคงสถานะเดิมต่อไปได้

    แต่เรื่องก็ยังไม่จบง่าย ๆ ปี ๒๕๓๗ ก็มีผู้แย้งพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีก คือ เทพมนตรี ลิมปพยอม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต (ขณะนั้น) เขาเสนอว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้หลักฐานน้อยเกินไป ทั้งพงศาวดารไทยที่ใช้สนับสนุนเจดีย์ที่สุพรรณบุรีก็ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งมีความคลาดเคลื่อนทางข้อมูลสูง ก่อนเสนอว่าเจดีย์ยุทธหัตถี “องค์จริง” คือเจดีย์ภูเขาทองที่อยู่ในวัดภูเขาทอง ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้อ้างอิงพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระนครรับศึก ดังนั้นศึกยุทธหัตถีน่าจะเกิดขึ้นไม่ไกลจากเมืองหลวงนัก และเจดีย์ที่โปรดให้สร้างขึ้นก็ควรจะอยู่ใกล้ ๆ อยุธยา

    หลักฐานสำคัญที่อาจารย์เทพมนตรียึด คือบันทึกของแกมป์เฟอร์ (Dr. Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ประจำคณะทูตฮอลันดาที่มาถึงอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (หลังเหตุการณ์ ๘๘ ปี) ซึ่งระบุว่าขุนนางสยามคนหนึ่งบอกว่าเจดีย์ภูเขาทองสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในศึกยุทธหัตถี ทั้งนี้ในบันทึกเล่มเดียวกันแกมป์เฟอร์ยังให้รายละเอียดเส้นทางสู่เจดีย์ภูเขาทองและโครงสร้างของเจดีย์ไว้อย่างละเอียดด้วย

    นอกจากพื้นที่ทั้ง ๓ แห่งข้างต้น ข้อเสนอที่ชวนตื่นตะลึงกว่าคือข้อเสนอของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากร ที่เสนอตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ว่าไม่น่าจะมีการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นเลยในสมัยสมเด็จพระนเรศวร อาจารย์พิเศษอธิบายว่า การสร้างเจดีย์ที่ระลึกนั้นขัดกับแนวคิดคนไทยโบราณซึ่งมักสร้างวัดทั้งวัด อีกทั้งพงศาวดารฉบับเก่า ๆ ก็ไม่กล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถี มีแต่พงศาวดารยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่กล่าวถึง ซึ่งท่านสันนิษฐานว่าอาจเพราะคนเขียนพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลจาก มหาวงษ์ พงศาวดารลังกาเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย วีรกษัตริย์ชาวสิงหล ที่ไปชนช้างชนะพระเจ้าเอเฬละของชาวทมิฬแล้วสร้างเจดีย์ครอบพระศพให้นั่นเอง

    ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปเรื่องสถานที่กระทำศึกยุทธหัตถี และเท่าที่ผมทราบ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรีก็ยังคงเป็น “กรณียุทธหัตถีกระแสหลัก” ที่บรรจุอยู่ในแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เพียงแต่ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ในพื้นที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ให้ “สมานฉันท์” กันกับอนุสรณ์ดอนเจดีย์ในสุพรรณบุรีเรียบร้อยแล้ว คือสร้างเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรขณะประทับบนพระคชาธารเข้าสู่เมืองหงสาวดีคราวยกทัพเมื่อปี ๒๑๔๒ เพื่อให้ต่างกับที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปั้นเป็นรูปคราวพระนเรศวรทรงกระทำศึกยุทธหัตถี


    บุกหงสาวดี

    ปี ๒๑๓๘ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่าอยุธยาพร้อมรุกแล้ว ก็ทรงเปิดสมรภูมิรบใหม่ในแดนหงสาวดีทันที ปีนั้นพระองค์ทรงกรีธาทัพอยุธยาและทัพหัวเมืองประเทศราช รวมไพร่พลได้ถึง ๒๔๐,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปล้อมศูนย์กลางอาณาจักรพะโค (หงสาวดี) เป็นเวลา ๓ เดือน ก่อนจะถอยทัพลงมาเมื่อทรงทราบว่าทัพจากเมืองแปร ตองอู และอังวะ ซึ่งมีกำลังคนเหนือกว่ากองทัพอยุธยาหลายเท่า กำลังยกมาช่วยหงสาวดี

    ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ วิเคราะห์สงครามเชิงรุกที่อยุธยาเริ่มทำในรัชสมัยนี้ว่า “เพราะสมเด็จพระนเรศวรไม่ได้ทรงดำริแค่ Defensive Warfare (สงครามตั้งรับจำกัดขอบเขต) แต่พระองค์ทรงมองเรื่องความมั่นคงของอยุธยาแบบกษัตริย์พม่า คือทรงพระดำริว่าหากจะสร้างเสถียรภาพให้อยุธยา ต้องแสดงความเหนือกว่าในลุ่มน้ำอิรวดี ไม่เปิดโอกาสให้กษัตริย์ที่นั่นตั้งหลัก พระองค์จึงทรงตัดสินใจบุกหงสาวดี สงครามแบบนี้กษัตริย์อยุธยาพระองค์อื่นไม่ทรงทำเพราะไม่เห็นความจำเป็น ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยพระนเรศวรเคยเจริญพระชันษาในหงสาวดี จึงทรงรับแนวคิดนี้มา”

    สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปหงสาวดีอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๑๔๒ แต่คราวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน เพราะอาณาจักรพะโคเกิดความวุ่นวายภายในจากการที่แปร ตองอู และเชียงใหม่ แข็งเมือง พระเจ้าตองอูซึ่งวางแผนจะเป็นใหญ่ในพุกามประเทศได้วางกลศึกโดยยุให้มอญตามหัวเมืองที่ทัพอยุธยาต้องผ่านก่อนเข้าตีหงสาวดีก่อจลาจลจนทัพอยุธยาต้องเสียเวลาปราบปรามไปตลอดทาง ขณะที่พระองค์นั้นร่วมมือกับพระเจ้ายะไข่ยกทัพไปล้อมหงสาวดี

    ดังนั้นเมื่อทัพอยุธยาไปถึงหงสาวดีจึงพบแต่ซากเมือง เพราะพระเจ้าตองอูทรงนำตัวพระเจ้านันทบุเรงไปยังตองอู แล้วปล่อยให้ทัพยะไข่เผาหงสาวดีจนราบ สมเด็จพระนเรศวรทรงแค้นพระทัยเมื่อพบสภาพเช่นนั้นจึงทรงยกทัพตามไปตองอูเพื่อบังคับให้พระเจ้าตองอูส่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมาให้พระองค์

    เมืองหงสาวดีที่ผมไปเยือนเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ นั้น มีขนาดพอ ๆ กับจังหวัดขนาดกลางของเมืองไทย ถนนหนทางดูทรุดโทรมเพราะมิได้รับการบูรณะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในรัฐเผด็จการทหาร แต่สิ่งสำคัญที่ยังคงได้รับการดูแลจากผู้คนที่นั่นเป็นอย่างดีก็คือ “พระมหาธาตุมุเตา” หรือที่คนพม่าเรียกว่า “ชเวมอดอว์” (Shewmoethaw Pya) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุ (เส้นผม) ของพระพุทธเจ้า

    เย็นวันที่ผมไปสักการะพระมหาธาตุ เป็นวันแรกในเทศกาลออกพรรษาของพม่าซึ่งมีการเฉลิมฉลองยาวนาน ๕ วัน ๕ คืน ถึงช่วงหัวค่ำ พระมหาธาตุมุเตาก็สว่างไสวไปด้วยแสงเทียนซึ่งประชาชนทั้งเมืองร่วมกันจุดขึ้นเต็มลานพระเจดีย์ นัยว่าเป็นการรับเสด็จพระพุทธเจ้ากลับสู่โลกมนุษย์หลังเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์

    คืนวันนั้น ชาวพม่านับแสนต่างพร้อมใจกันออกจากบ้าน มุ่งหน้ามายังพระมหาธาตุเพื่อสักการะพระเกศธาตุ ไกด์ท้องถิ่นกระซิบบอกผมว่า “นี่คือการแสดงออกของคนพม่า เราไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีห้างสรรพสินค้าให้ไป แต่เรามีศรัทธาอันมั่นคงในพระศาสนา ภาพที่คุณเห็นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธที่นี่เลย”

    ความศรัทธานี้อาจสืบเนื่องแต่ครั้งอดีต เล่ากันว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพมาถึงเมืองหงสาวดีเมื่อปี ๒๑๔๒ ท่ามกลางซากปรักหักพังนั้น สิ่งเดียวที่ยะไข่มิได้ทำลายคือพระมหาธาตุองค์นี้ (เพราะยะไข่ก็เป็นพุทธศาสนิกชนเช่นกัน) สมเด็จพระนเรศวรมีพระราชศรัทธาในพระมหาธาตุมุเตาอย่างยิ่ง มีรับสั่งให้ตั้งค่ายบริเวณสวนหลวงในเขตพระราชวังเก่าเพื่อที่จะเสด็จไปนมัสการพระมหาธาตุได้อย่างสะดวกยามที่ประทับอยู่หงสาวดี


    ตีตองอู

    ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๑๔๒ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพจากหงสาวดีมาถึงเมืองตองอู ก็มีรับสั่งให้ทัพอยุธยาและทัพเจ้าเมืองประเทศราชที่ยกมาช่วยราชการศึกเข้าล้อมตองอูไว้ทั้ง ๔ ทิศ แต่เนื่องจากตองอูเป็นเมืองใหญ่ มีกำแพงแข็งแรงทั้ง ๔ ด้าน ซ้ำยังมีคูน้ำล้อมรอบคล้ายอยุธยา การเข้าตีจึงทำได้ยากลำบาก เพื่อแก้ปัญหา สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ขุดคลองขึ้นสายหนึ่งเพื่อระบายน้ำจากคูเมืองไปลงแม่น้ำสะโตงด้านทิศตะวันออก (เรียกกันต่อมาว่า “คลองโยเดีย” หรือ “เหมืองสยาม”) ก่อนจะยกทหารเข้าตี แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากชาวเมืองสู้รบเข้มแข็ง ทั้งทัพอยุธยายังขาดเสบียงเพราะถูกกองโจรยะไข่ดักปล้นแนวหลังตลอดเวลา ในที่สุดสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงตัดสินพระทัยถอยทัพหลังจากล้อมตองอูอยู่ ๒ เดือน

    ปัจจุบัน การเดินทางจากหงสาวดีไปตองอูมีระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลานั่งรถราว ๗ ชั่วโมงเศษบน “ถนนหมายเลข ๒“ ที่มีพื้นผิวไม่ต่างกับโลกพระจันทร์ แต่สิ่งที่ต่างไปจากเมืองไทยคือ ทุ่งนาริมทางกว้างใหญ่ไพศาลกว่าหลายเท่า ต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มมีให้เห็นตลอดสองข้างทาง ทั้งยังปรากฏเจดีย์กลางทุ่งนาเป็นระยะ

    ถนนที่ผมใช้คือเส้นทางเดินทัพโบราณในอดีตระหว่างหงสาวดี-ตองอู ลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาซึ่งทอดตัวยาวจากเหนือสู่ใต้โดยมีเทือกเขาพะโคโยมาขนาบข้างทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก เรียกกันว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำสะโตง

    เมื่อไปถึงเมืองตองอู ผมพบว่าคูเมืองโบราณยังปรากฏชัดเจนทั้ง ๔ ทิศ แต่กำแพงเมืองเก่าถูกทำลายเกือบหมดจากการสร้างถนนและตั้งถิ่นฐาน เหลือเพียงทิศตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่กำแพงโบราณยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ส่วนหนึ่งก็อยู่ในเขตสถานีตำรวจ บ้านพักคนชราและโรงเรียนนานาชาติที่มาตั้งในภายหลัง ส่วนคลองโยเดียซึ่งสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ขุดขึ้นปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว

    ที่ตองอู ผมได้พบคุณยายดอว์ขิ่นจี วัย ๘๐ ปี ปราชญ์ท้องถิ่นซึ่งสนใจศึกษาประวัติศาสตร์และมีผลงานเขียนด้านนี้ตีพิมพ์วางขายในประเทศพม่า คุณยายได้กรุณาเล่าผ่านล่ามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างหงสาวดีกับอยุธยาตามมุมมองของท่านให้ฟังว่า “เกิดจากปัญหาภาษีเมืองท่า ที่โยเดีย (อยุธยา) ไม่ส่งให้หงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองจึงไปตีโยเดีย แต่พอถึงสมัยพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ทรงอ่อนแอและเกิดปัญหาภายใน จนครั้งหนึ่งกษัตริย์โยเดียยกทัพมาตีตองอู แต่ยายไม่เคยทราบพระนามของกษัตริย์องค์นั้นจนได้ยินจากพวกหลานนี่แหละ”

    เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากตองอู พงศาวดารเกือบทุกฉบับให้ข้อมูลตรงกันว่าไม่ได้ทรงประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่กลับเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่าง ๆ แทน ทั้งนี้ไม่มีพงศาวดารฉบับใดระบุถึงสาเหตุที่ทรงทำเช่นนั้น มีเพียงข้อสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์รุ่นปัจจุบันว่า พระองค์ทรงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะตีเมืองตองอูให้ได้ก่อน จึงจะเสด็จกลับพระนคร โดย พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกว่าพระนเรศวรเสด็จประพาสลพบุรีครั้งหนึ่งในปี ๒๑๔๕ ส่วนฉบับอื่นเช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ถึงกับระบุว่าเสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้คือ ราชบุรี เพชรบุรี และทรงตกปลาฉลามด้วย

    ปัจจุบัน ข้อความใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ระบุว่าทรงตกปลาฉลามนั้นเป็นที่เชื่อถืออย่างยิ่งของทางการไทย ถึงกับประกาศให้ชายทะเลตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เรื่อยไปถึงชายหาดในอำเภอหัวหิน อำเภอกุยบุรี กิ่งอำเภอเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น “ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดยที่หาดชะอำนั้นมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรถือพระแสงดาบและหันพระพักตร์ออกสู่อ่าวไทย

    แต่คนในพื้นที่หลายคนก็ไม่ได้รู้เรื่องการประกาศของทางการมากนัก โดยเฉพาะที่หาดชะอำ ชาวบ้านหลายคนยอมรับว่าไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่นี่ ยกเว้นผู้ที่อ่านพระราชประวัติซึ่งจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์เท่านั้น

    “คนส่วนใหญ่มาที่นี่เพราะอยากเที่ยวทะเล คงคิดไม่ถึงหรอกว่าจะมีประวัติศาสตร์อะไร” เจ้าของร้านอุปกรณ์ว่ายน้ำริมหาดรายหนึ่งเอ่ย


    วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพที่ “เวียงแหง”

    ปี ๒๑๔๘ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงพบว่าพระเจ้าอังวะเริ่มสั่งสมกำลังที่ภาคเหนือของพม่า และเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากการได้หัวเมืองไทใหญ่แถบลุ่มน้ำสาละวินไปสวามิภักดิ์ เป้าหมายของพระองค์ก็เปลี่ยนจากตองอูมาเป็นอังวะทันที ด้วยทรงดำริว่าในระยะยาวหากปล่อยให้อังวะเป็นปึกแผ่นมากไปกว่านี้ อังวะจะเป็นอันตรายแก่อยุธยายิ่งไปกว่าตองอู

    สมเด็จพระนเรศวรตัดสินพระทัยกรีธาทัพใหญ่ ๑ แสนไปโจมตีอังวะ หากคราวนี้ไม่ทรงเสี่ยงกับเส้นทางเดินทัพเดิมที่ต้องผ่านหัวเมืองมอญ แต่ทรงเปลี่ยนไปเดินทัพในพระราชอาณาเขตแทน โดยเคลื่อนทัพขึ้นไปทางภาคเหนือซึ่งปลอดภัยจากการถูกโจมตีแนวหลัง แล้วไปหยุดบำรุงรี้พลที่เชียงใหม่ ๑ เดือน ก่อนจะโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพหน้าไปเมืองฝางแล้วเกณฑ์กำลังเพิ่มจากหัวเมืองไทใหญ่เพื่อให้ทัพหน้ามีกำลังพลถึงแสนคน

    ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ ผมออกเดินทางจากอำเภอแม่ริมพร้อมกับอาจารย์ชัยยง ไชยศรี ใช้ถนนหลวงสาย ๑๐๗ มุ่งหน้าไปทางอำเภอเชียงดาว พอออกจากตัวอำเภอก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเก่าที่วิ่งลงไปเลียบลำห้วยแม่ขะจานและลัดเลาะไปตามหุบเขาลึก

    ห้าปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ท่านนี้ได้เสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์ “พื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ที่เมืองแหง” หรืออำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แทนที่จะเป็น “เมืองหาง” ในพม่า ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สั่นสะเทือนวงวิชาการไทยอยู่ไม่น้อย ด้วยข้อมูลชุดที่คนไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าร่ำเรียนกันมา ก็คือข้อมูลที่บอกว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพออกจากเชียงใหม่แล้ว ได้เสด็จต่อไปยังเมืองหาง และสวรรคตที่นั่นในปี ๒๑๔๘

    การที่ผมติดตามอาจารย์ชัยยงลัดเลาะลำห้วยแม่ขะจานขึ้นไปตามสายน้ำแม่แตง นัยหนึ่งคือการย้อนรอยเส้นทางที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพครั้งสุดท้ายตามข้อสันนิษฐานใหม่

    ปัจจุบัน เส้นทางสายที่ว่านี้ตัดผ่านป่ารกชัฏกับตำบลเล็ก ๆ ในหุบเขา ๒ แห่ง แล้วตรงเข้าสู่อำเภอเวียงแหง คิดเป็นระยะทางจากเชียงใหม่ ๙๒.๕ กิโลเมตร

    อาจารย์ชัยยงเล่าว่าได้พบเส้นทางนี้จากการค้นคว้าข้อมูลมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๔๔ และค่อนข้างชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเปิดกว้างข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth ซึ่งสามารถนำมาประกอบกับแผนที่ทหารมาตราส่วน ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ และเมื่อนำข้อมูลการเดินทางค้าขายและเส้นทางเดินทัพในสมัยโบราณมาพิจารณาร่วม ข้อสันนิษฐานที่ตั้งไว้เกี่ยวกับพื้นที่สวรรคตที่เมืองแหงก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะข้อมูลและภาพถ่ายดาวเทียมนั้นสอดคล้องกันอย่างอัศจรรย์จนสามารถหักล้างข้อมูลที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหางได้เกือบสมบูรณ์

    “จากเชียงใหม่ไปอังวะมีเส้นทางซึ่งเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ๒ เส้นทางที่ใช้เดินทัพได้ เส้นทางที่ ๑ เป็นเส้นทางตามสายน้ำแม่ปิงผ่านอำเภอเชียงดาวไปสู่ช่องกิ่วผาวอก เข้าสู่แดนไทใหญ่ เส้นทางที่ ๒ คือถนนสายเก่าที่เรากำลังใช้อยู่นี้ ซึ่งอาศัยที่ราบริมสายน้ำแม่แตงเดินทางไปท่ามกลางภูเขาสูง สู่เมืองกื๊ด เมืองคอง และเมืองแหง เป้าหมายของสมเด็จพระนเรศวรต่อจากเมืองแหงคือผ่านช่องหลักแต่ง ทะลุไปเมืองเต๊าะ ไปเมืองทาซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองร้าง แล้วก็จะถึงบริเวณสบจ๊อด (บริเวณที่แม่น้ำจ๊อดไหลลงแม่น้ำสาละวิน) แล้วไปข้ามฝั่งที่ท่าผาแดง ที่นั่นแม่น้ำจะกว้างราว ๗๐ เมตร เป็นจุดที่แม่น้ำแคบที่สุดของแถบนั้น ข้ามน้ำที่นั่นแล้วจึงไปเมืองปั่น เมืองนาย แล้วก็ไปเมืองลางเคอ จากเมืองลางเคอก็ทะลุสู่เมืองอังวะ ซึ่งผมเชื่อว่าทรงใช้เส้นทางนี้มากกว่าเส้นทางแรก”

    ส่วนกรณีสวรรคตที่เมืองหางนั้น ถ้าพิจารณาตามพงศาวดารส่วนใหญ่ที่บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพหน้าไปก่อนพระองค์ถึง ๗ วัน โดยไปรวมพลที่เมืองฝาง ถ้าดูตามแผนที่ หากทัพหลวงอยู่ที่เมืองหางขณะพระองค์สวรรคตจริงก็เท่ากับทัพหลวงอยู่เหนือขึ้นไปจากเมืองฝางอันเป็นที่ตั้งทัพหน้า ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เพราะผิดหลักการทำสงคราม

    การยกทัพครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรปรากฏอยู่ใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ เพียง “ครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว” ด้วยหมดเล่มเสียก่อน (คาดว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ มีอีกเล่มหนึ่งแต่ยังค้นหาไม่พบจนถึงทุกวันนี้) เราจึงไม่รู้ว่าพระนเรศวรสวรรคตที่นั่นหรือไม่ ขณะที่ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ครั้นจุลศักราช ๙๗๔ พระเจ้าอยุทธยาพระนเรศทรงเสด็จยกกองทัพ ๒๐ ทัพ ยกมาทางเมืองเชียงใหม่จะไปตีอังวะ ครั้นเสด็จมาถึงเมืองแหนแขวงเมืองเชียงใหม่ก็ทรงประชวนโดยเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น”

    ทั้งนี้อาจารย์ชัยยงได้ตั้งข้อสังเกตว่าพระราชพงศาวดารไทยฉบับที่ชำระขึ้นหลังฉบับหลวงประเสริฐฯ อาจเกิดความผิดพลาดในการออกเสียงเมืองแหง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะระยะเวลาได้ผ่านมานานนับศตวรรษ แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงนี้ก็ยังรอการพิสูจน์ต่อไป

    ทุกวันนี้เวียงแหงเป็นอำเภอเล็ก ๆ อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนหนึ่งติดชายแดนไทย-พม่า ลักษณะภูมิศาสตร์ของตัวอำเภอเป็นที่ราบโอบล้อมด้วยหุบเขาทั้ง ๔ ด้าน ถ้านั่งรถจากตัวอำเภอเลยขึ้นไปทางเหนือราว ๑๐ นาทีก็จะพบทุ่งนาแห่งหนึ่งซึ่งทางด้านตะวันออกนั้นมีเนินสูง และที่ยอดเนินนั้นเอง เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุแสนไห สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเวียงแหง

    อาจารย์ชัยยงระบุว่าจุดนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ก่อนสวรรคต

    “เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมาถึงเมืองแหง ผมคิดว่าพระองค์ไม่ได้ประทับที่คุ้มเจ้าเมือง แต่น่าจะทรงเดินทัพไปที่ ‘ทุ่งดอนแก้ว’ จากการคำนวณ หลังออกจากเชียงใหม่พระองค์หยุดที่นั่นพอดีในคืนที่ ๖ ผมจึงตีความอย่างนี้ครับ ‘ทุ่ง’ คือ นาที่เราเห็น ‘ดอน’ คือ เนิน ‘แก้ว’ หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุแสนไห นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันยังมีการค้นพบบ่อน้ำช้างศึกด้วย ซึ่งแสดงว่าเคยมีกองทัพมาหยุดพักอยู่ที่นี่”

    หากเรื่องนี้เป็นความจริง เมื่อ ๔๐๑ ปีก่อน วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๑๔๘ ทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรก็น่าจะหยุดอยู่ที่ “เมืองแหง ตำบลทุ่งดอนแก้ว” และเพลานั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงประชวรเป็นฝีระลอกขึ้นที่พระพักตร์ ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว

    สองวันต่อมา ม้าเร็วถูกส่งไปเมืองฝางแจ้งข่าวพระอาการประชวรให้สมเด็จพระอนุชาทรงทราบ

    ๒๐ เมษายน ๒๑๔๘ ม้าเร็วจากเมืองฝางกลับมาถึงทัพหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นเฝ้าพระอาการพระเชษฐา ทัพหน้าที่เมืองฝางหยุดเคลื่อนทัพ

    ๒๕ เมษายน ๒๑๔๘ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถทรงอัญเชิญพระบรมศพกลับสู่กรุงศรีอยุธยา ก่อนจะถวายพระเพลิงอย่างยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา

    ถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปีแล้วที่เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังคงได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดช่วง เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ถูกพลิกฟื้น รอการชำระเพื่อค้นหาแง่มุมความรู้ใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกัน อีกหลายเหตุการณ์กลับถูกนำไปผสมผสานกับเรื่องเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนกระทั่งวีรภาพด้านอื่น ๆ ของพระองค์ โดยเฉพาะมุมมองความคิดในฐานะ “มนุษย์” ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

    ห้าเดือนที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับมหาบุรุษคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการทำสงคราม พลิกฟื้นบ้านเมืองซึ่งแตกสลายให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เรียนรู้ถึงสิ่งที่ทรงกระทำในยุคสมัยของพระองค์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนั้นผมพบว่าเราสามารถนำมาเป็นบทเรียนปรับใช้ในโลกยุคปัจจุบันได้โดยผ่านการแยกแยะอย่างถูกต้อง

    น่าเสียดายที่การศึกษาเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรเท่าที่มีให้เห็น มักเป็นไปในเชิงประวัติศาสตร์ชาตินิยมผสมอิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะให้ผู้ศึกษาตีความสิ่งที่มหาราชองค์หนึ่งทรงกระทำไปในแนวทางเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลที่ว่า “สูเจ้าอย่าทำลายวีรบุรุษ”

    แม้จะเป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงวิชาการอุษาคเนย์ว่า การ “ศึกษา” ประวัติศาสตร์ในลักษณะเช่นนั้น ได้ปลูกฝังให้คนไทยและประเทศต่าง ๆ ในอุษาคเนย์เกลียดชังเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบได้อย่างไม่รู้จบ

    สำหรับผม เมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ เป็นบรรพชนที่เราสามารถกราบไหว้ได้อย่างศรัทธา หากแต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างในการนำเรื่องราวและวีรกรรมของพระองค์ไปเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังหรือเคืองแค้นระหว่างประเทศ

    ดังที่ทำกันอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้

    เอกสารอ้างอิง :
    • กรมศิลปากร. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดาร กรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๕.
    • คณะทำงานฝ่ายจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวร มหาราช. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : การสงคราม. กรุงเทพฯ : กองบัญชา การทหารสูงสุด, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
    • คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเค ชั่นส์, ๒๕๔๘.
    • ชัยยง ไชยศรี. “ข้อมูลใหม่พื้นที่สวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”. เอกสารเผยแพร่ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ สนามหญ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙.
    • เทพมนตรี ลิมปพยอม. “พระสุวรรณกัลยา (สุพรรณกัลยา) พัฒนาการของไสยศาสตร์ มาสู่นิมิตและความฝัน กับการศึกษาประวัติศาสตร์”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๒.
    • เทพมนตรี ลิมปพยอม. พลิกตำนานเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยาไม่ใช่สุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ :แว่นแก้ว, ๒๕๔๙.
    • ธีรภาพ โลหิตกุล. ท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : แพรว สำนักพิมพ์, ๒๕๔๘.
    • นายต่อ, แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕. นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๓.
    • นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และ นวลแก้ว บูรพวัฒน์. ไท รบ พม่า. กรุงเทพฯ : Openbooks, ๒๕๔๙.
    • พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ. นนทบุรี : มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๗.
    • พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๔. พิมาน แจ่มจรัส. นเรศวรเป็นเจ้า. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๙.
    • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล. การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย- อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
    • มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลอรืช. มธุรส ศุภผล, แปล. ชาวโปรตุเกสและสยามสมัย คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ออร์คิด, ๒๕๔๗.
    • วันวลิต. วนาศรี สามนเสน, แปล. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๘.
    • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
    • สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. พระราชวังจันทน์ “วังพระนเรศวร” เมืองพิษณุโลก ที่ประสูติ ที่ประทับ ของสมเด็จพระนเรศวรฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
    • สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. “สมเด็จพระนเรศวร สวรรคตที่ไหน? เมืองไทย-เมืองพม่า-เมืองมอญ?”. เอกสารเผยแพร่เนื่องในโอกาสวันคล้าย วันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ สนามหญ้า พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙.
    • สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “ ‘สมเด็จพระนเรศวร’ พระนามแปลกปลอมของ ‘สมเด็จพระนเรศ’ “. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๙.
    • สุเนตร ชุตินธรานนท์. บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓.กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๘.
    • หม่อง ทิน อ่อง. เพ็ชรี สุมิตร, แปล. ประวัติศาสตร์พม่า. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการ ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๘.
    • Engelbert Kaempfer. A Description of the KINGDOM OF SIAM 1690. Bangkok: White Orchid, 1987.

    เว็บไซต์ :
    www.naresuanthai.com
    www.naresuanmovie.com

    ขอขอบคุณ : คุณธีรภาพ โลหิตกุล, คุณศรัณย์ ทองปาน, คุณวันดี สันติวุฒิเมธี, ม.ล.กมลา ยุคล , คุณกฤช ชลธรานนท์, พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์, พ.ต. นิการณ์ ธรรมใจอุต, จ.ส.อ. เกษม จักรบุญมา, คุณชัยยง ไชยศรี, คุณยืนยง โอภากุล, คุณอุดมชัย อุดมสะอาด, คุณอู จอ จอลวิน (U Kyaw Kyawlwin), คุณอู ซันนิ (U Sonne), คุณสายลม ชาวไทใหญ่, คุณอนงค์ คล้ายสอน, คุณอังสนา เขมะประภา, คุณตาคุณยายแห่งบ้านพักคนชราเมืองตองอู, กองทัพภาคที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, บริษัทแจ็ค แทรเวล จำกัด, บริษัทพร้อมมิตรโปรดักชั่น จำกัด, บริษัทโฮซานา ทัวร์ จำกัด, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, อุทยานไก่ชน “โชคบัญชาฟาร์ม”, บริษัทโปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด, โรงเรียนนานาชาติ ILC เมืองตองอู, บริษัทกันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด, โรงเรียนอนุบาลวังจันทน์, จ.ต. สุรพัศ หมื่นคุณ 


    ล้อมกรอบ
    ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์ม

    โรเบิร์ต เกสส์เนอร์ กล่าวใน International Encyclopedia of the Social Sciences ว่า ภาพยนตร์เป็น “ภาษาโลก” ที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งคนที่ไม่รู้หนังสือและคนที่มีการศึกษา...ภาพยนตร์จึงเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก...”

    ยิ่งเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าความเป็นมาของประเทศ เกี่ยวพันกับความเป็นมาของชาติ สิ่งที่ถูกนำเสนอย่อมส่งผลต่อทัศนคติและโลกทัศน์ของผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่มากก็น้อย

    สุริโยไท ผลงานการกำกับของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงถึง ๔๐๐ ล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ไทย ใช้เวลาการถ่ายทำ ๒ ปี รวบรวมนักแสดงชั้นนำในเมืองไทยไว้จำนวนมาก เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ที่ส่งผลสะเทือนต่อการรับรู้ “ประวัติศาสตร์” ของผู้ชมจำนวนไม่น้อย โดยหลังจากเรื่องนี้ออกฉายในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๔๔ ก็ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาอย่างกว้างขวาง ทั้งยังส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

    มาในปี ๒๕๔๕ เมื่อมีข่าวว่า “ท่านมุ้ย” กำลังสร้างภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์เรื่องที่ ๒ ในชีวิต คือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยทุนสร้างที่สูงกว่าและเวลาการถ่ายทำที่ยาวนานกว่า สุริโยไท สังคมไทยจึงจับตามองการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้นอย่างสนใจใคร่รู้ ด้วยนี่คือเรื่องราวของมหาราชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศที่คนไทยทุกคนเคยรับรู้กันมาเป็นอย่างดี

    สารคดี มีโอกาสสนทนากับท่านมุ้ย ณ กองถ่ายทำนอกสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี โดยท่านได้กรุณาสละเวลาจากงานถ่ายทำภาพยนตร์มานั่งสนทนากับเราเป็นเวลาประมาณ ๔๐ นาที รวมไปถึงได้มีโอกาสสนทนากับนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าคนสำคัญ อย่าง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ช่วงเวลาสั้น ๆ ในการสนทนากับบุคคลทั้ง ๒ ท่านนี้อาจไม่พอสำหรับการอธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังของภาพยนตร์ได้ทั้งหมด แต่เราก็เชื่อว่าคำบอกเล่าของท่านมุ้ยน่าจะช่วยให้ผู้ชม ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สามารถชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจและเข้าถึงขึ้น ไม่มากก็น้อย

    หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
    ผู้กำกับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    ได้ยินมาว่าท่านตั้งใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นภาคต่อของ สุริโยไท
    ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ใช่ภาคต่อของ สุริโยไท โดยเนื้อเรื่องและเวลาก็ต่างกัน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ เหตุการณ์อยู่ในช่วงพุทธศักราช ๒๐๙๘-๒๑๔๘ เนื้อเรื่องจะไล่มาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรทรงพระเยาว์ เรื่องนี้มีทั้งหมด ๓ ภาค โดยภาคแรกพูดถึงการสูญเสียอิสรภาพ ภาคที่ ๒ พูดถึงความยากกว่าจะได้อิสรภาพกลับคืนมา ส่วนภาคที่๓ จะสื่อว่ายากยิ่งกว่าที่จะรักษาอิสรภาพที่มีเอาไว้ ผมตั้งใจฉาย ๒ ภาคแรกพร้อมกันก่อน ส่วนภาคที่ ๓ ฉายหลังจาก ๒ ภาคแรกจบไปแล้ว ๙ เดือน

    จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมีหลายอย่างที่ยังไม่ชัดเจน ท่านจัดการกับข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างไร
    ผมทราบดีว่าการจัดการข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เรามีบันทึกมากมายเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรก็จริง แต่ต้องตีความเอาเองทั้งนั้น ผมจึงเลือกที่จะทำเรื่องนี้ในฐานะที่เป็น “ตำนาน” ตำนานคือเรื่องที่บอกเล่าถ่ายทอดสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะในรูปแบบดนตรี บทกวี บอกต่อกันปากต่อปาก ผมก็นำทั้งหลายทั้งปวงนี้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว คุณต้องเข้าใจนะว่า “ตำนาน” คือการยอพระเกียรติ มีการพูดถึงการเสียเมือง การกู้อิสรภาพ ต่อสู้กับพม่าจนยืนหยัดได้ อีกอย่างการสร้างในลักษณะที่เป็นตำนานมีข้อดีคือ ผมทำอะไรกับภาพยนตร์ได้มากขึ้น

    หันไปมอง สุริโยไท ครั้งนั้นเราตั้งใจให้ภาพยนตร์มันออกมาใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผมจะให้พระสุริโยไทท่านไปทำบางสิ่งบางอย่างเหมือนตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องอื่นไม่ได้ แต่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผมทำอะไรได้มากขึ้น ดัดแปลงหลายอย่างให้มีสีสันมากขึ้น บางอย่างก็จินตนาการขึ้น เช่น กรณีพระเทพกษัตรี ผมไม่ทราบว่าพอหงสาวดีมาชิงตัวไปขณะเดินทางไปเวียงจันทน์ (เพื่ออภิเษกเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง) แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีเอกสารกล่าวถึงพระองค์อีกเลย ผมจึงวางบทให้พระเทพกษัตรีปลงพระชนม์ตัวเองเมื่อถึงหงสาวดี

    ทีนี้เรื่องข้อมูล หลังจากอ่านหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระนเรศวร เราก็เลือกที่จะยึด พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ เป็นแกนเดินเรื่อง เพราะเป็นปูมโหรที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์ ปูมโหรจะบันทึกเหตุการณ์ ณ เวลาที่เกิดขึ้น ข้อดีคือยังมีบันทึกการโคจรของดวงดาว ทำให้คนรุ่นหลังสามารถคำนวณได้ว่าเป็นวันที่เท่าไร มีความแม่นยำสูง นอกนั้นจะใช้ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มาช่วย ส่วนหลักฐานต่างประเทศที่ใช้ก็เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด พงศาวดารฉบับอูกาลา ของพม่า บันทึกของ ซีซาร์ เฟรเดอริก ชาวเวนิซที่เข้ามาหงสาวดีในปี ๒๑๑๒ ทั้งหมดนี้เอามาประกอบกันจนได้ภาพสมเด็จพระนเรศวร แต่อย่างว่าครับ “ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่ “สารคดีประวัติศาสตร์” ถูกต้องตามเอกสารหลักฐานทั้งหมดไหม คงต้องตอบว่าไม่ทราบ อาจห้าสิบห้าสิบ เพราะแม้แต่พงศาวดารเองก็ไม่มีความแน่นอน นอกจากนี้ผมยังไปสถานที่ทุกแห่งที่เกี่ยวข้องกับพระนเรศวร ไม่ว่าจะในไทย พม่า และกัมพูชา ไอ้ที่ว่าผมโดนแบล็กลิสต์ห้ามเข้าพม่าไม่จริง พม่าชอบให้ผมไปจะตาย เขายังส่งคนมา “ดูแล” ด้วย ผมก็ให้เขาช่วยแบกของ ถือกระติกน้ำชากาแฟเดินตามหลัง (หัวเราะ)

    อะไรคืออุปสรรคสำคัญของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
    คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของการค้นข้อมูล แต่ไม่ครับ ข้อนี้ไม่เป็นอุปสรรค เพราะผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำเรื่องนี้มานานจนเป็นนิสัย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ มันยากตรงที่คนแสดงเยอะ และเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ องค์ประกอบมาก ทั้งยังมีการพูดถึงเมืองหลายแห่ง ไม่ว่าหงสาวดี อยุธยา เมืองคัง ทำให้โจทย์เพิ่มมากขึ้น ขั้นตอนการถ่ายทำและผลิตยากกว่า สุริโยไท มาก

    ในทัศนะของท่าน สงครามยุคสมเด็จพระนเรศวรมีสาเหตุมาจากอะไร
    ผมมองว่ามาจากการค้าที่เติบโตขึ้น ก่อนหน้านี้อาณาจักรแถบนี้อยู่ด้วยกันโดยไม่กระทบกระทั่งกันมากนักเพราะการค้ากับต่างประเทศมีน้อย จนโปรตุเกสเดินเรือมาแล้วขอเมืองมะละกาจากพระไชยราชาธิราชไปตั้งเป็นสถานีการค้า จากนั้นเขาก็คุมเรือทุกลำที่ค้าขายแถบนี้ได้ เพราะคุมช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์อยู่ ทีนี้พ่อค้าอื่น ๆ ก็ต้องหาเส้นทางใหม่ เช่น พ่อค้าที่มาจากมัทราสในอินเดียจะเดินเรือข้ามทะเลอันดามันมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด (ปัจจุบันอยู่ทางภาคใต้ของพม่าตรงข้ามกับจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรีของไทย) เดินทางย้อนขึ้นไปทางต้นน้ำแม่น้ำตะนาวศรี แล้วล่องลงมาทางแม่น้ำเพชรบุรี จากนั้นเข้าอยุธยาซึ่งจะกระจายสินค้าไปเมืองจีนได้ เส้นทางบกนี้ประหยัดเวลาไป ๖ เดือนเมื่อเทียบกับเส้นทางเรือ ความสำคัญของชายฝั่งทะเลอันดามันจึงเกิดขึ้น

    มองไปที่พม่า เมืองเดิมของเขาคือตองอูไม่ติดทะเล กษัตริย์ราชวงศ์ตองอูจึงพยายามยึดเมืองท่าริมทะเลและปากน้ำให้ได้ ซึ่งหมายถึงต้องตีเมืองมอญ พอตีได้ก็ย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาหงสาวดี จากนั้นก็ยกทัพไปยึดเมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามันอีกคือแถบเมืองมะริด ทีนี้ก็เหยียบเท้าอยุธยาเข้าในกรณีเมืองเชียงไกร เชียงกราน (ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา) ผมพบข้อมูลที่ปินโต (เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยุธยาในสมัยพระไชยราชาธิราชและเขียนบันทึกการเดินทางไว้) เล่าว่าในการประชุมสภาหลุดดอ (สภาขุนนางของพม่า) มีมติชัดเจนว่ายกทัพมาตีอยุธยาต้องใช้เงินมาก แต่ถ้ายึดได้ก็คุ้ม พระเจ้าบุเรงนองต้องมาตี ๒ ครั้งถึงชนะ ครั้งแรก (ปี ๒๑๐๖) อ้างเรื่องช้างเผือก ครั้งที่ ๒ นี่หัวเมืองเหนือแตกกันกับอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองบอกยึดได้แน่ก็ยกทัพมา จนในที่สุดอยุธยาก็เสียเมือง (ปี ๒๑๑๒) ซึ่งครั้งนั้นมีทัพเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชามาช่วยพระเจ้าบุเรงนองด้วย

    สิ่งที่พระมหาธรรมราชาทรงปฏิบัติ ท่านมองอย่างไร
    ที่พระมหาธรรมราชาทรงยกทัพลงมาตีอยุธยาผมไม่แปลกใจครับ สมัยนั้นมันไม่มีประเทศไทย เราไม่ได้รวมกันเป็นสยามประเทศเหมือนทุกวันนี้ ตอนนั้น หงสาวดี พิษณุโลก ล้านช้าง เชียงใหม่ เป็นคนละอาณาจักร พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก จะเข้ากับพระเจ้าบุเรงนองก็ไม่แปลก

    หมายความว่า “อิสรภาพ” ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศในปี ๒๑๒๗ ก็ไม่ได้หมายถึงอิสรภาพของชาติไทยอย่างที่บางคนเข้าใจ
    “อิสรภาพ” ยุคนั้นคืออิสรภาพของอยุธยา หลังจากต้องยอมให้พม่าบังคับหลาย ๆ อย่างมานาน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้อยุธยาใช้จุลศักราช จากเดิมใช้มหาศักราช ซึ่งเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ทำให้ระบบโหรเราคลาดเคลื่อนหมดเลย นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเก็บภาษีที่มะริด อยุธยาต้องส่งช้างดีปีละ ๓๐ เชือกไปให้หงสาวดี ซึ่งหมายถึงเหลือจากนั้นค่อยให้อยุธยา เรื่องพวกนี้อาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ผมว่าสำคัญมาก

    กรณีที่มีการพูดถึงความสมจริงในกระบวนการถ่ายทำ เช่น เรื่องการเคี้ยวหมากที่ตัวละครของฟันไม่ดำ และข้อสงสัยเรื่องอานุภาพของปืนใหญ่สมัยนั้นที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
    ผมทำตามกฎครับ เมื่อเป็นภาพยนตร์เราต้องทำในแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย ในเว็บพันทิป (www.pantip.com) ก็มีคนถามว่าทำไมไม่มีตัวละครตัวไหนเคี้ยวหมากเลย ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นเคี้ยวกัน คือถ้าจะดูกันถึงขั้นนั้นมันก็มีปัญหาว่าจะให้ใครฟันดำ ใครฟันไม่ดำ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตัวละครตัวนั้น ๆ เคี้ยวหมากไทยหรือหมากพม่า เพราะหมากพม่าเคี้ยวแล้วฟันขาวนะครับ

    ตอนผมถ่ายฉากแรก พระมหาเถรคันฉ่องกินหมากฟันดำ แต่พอดูแล้วผมบอกเอาออกเลย เพราะถ้าเอาตามนั้นหมายความว่าทุกคนที่เหลือต้องฟันดำ ลองคิดดูว่าผมมีทหาร ๔,๐๐๐ คนที่ต้องเข้าฉาก ถ้าทำฟันดำต้องใช้เวลาคนละ ๒ ชั่วโมง หมายถึงต้องเสียเวลานั่งทำฟันดำให้ตัวละครทั้งหมดร่วม ๘,๐๐๐ ชั่วโมง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ตัดเรื่องนี้ทิ้ง สังเกตดูจะเห็นว่ามีพานหมากอยู่ในฉากต่าง ๆ ตลอด พระมหาเถรคันฉ่องก็ยังกินหมากทั้งเรื่อง เพียงแต่เป็นหมากพม่าที่กินแล้วฟันไม่ดำ ผมแปลกใจว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ อย่าง บางระจัน ขุนแผน ไม่ถูกตั้งคำถามแบบนี้ ทั้งที่บางฉากมีตัวละคร ๒ ตัวกินหมาก แต่อีก ๓ ไม่กิน

    ส่วนกรณีปืนใหญ่ ปืนใหญ่มีมาก่อนหน้าสมัยพระนเรศวร ๒๐๐ กว่าปีแล้วครับ สมัยพระราเมศวรมีบันทึกว่ารับสั่งให้ใช้ปืนใหญ่ยิงกำแพงเชียงใหม่ทะลุไป ๑๒ วา สมัยพระมหาจักรพรรดินี่มีการวางปืนใหญ่บนกำแพงทุก ๑๐วา มีการตั้งชื่อด้วยซ้ำ ปืนใหญ่สมัยนั้นมีระยะยิงไม่ถึง ๑๐๐ เมตร มันระเบิดแน่นอนครับ เพราะมันประจุดินปืนแล้วเอาสายชนวนพันรอบ ปืนใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เราขุดพบก็พบดินปืนด้วย กระสุนปืนใหญ่ลูกกลม ๆ ยิงตาย ๑ คนไม่คุ้มหรอกครับ ยกเว้นเอาอย่างอื่นใส่กระบอกแล้วยิง

    ความหวังของท่านในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
    ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้ทุ่มไปกับการสร้างสรรค์หมด ผมนอนตีสองตื่นหกโมงเช้ามาห้าปี เข้าโรงพยาบาลบ่อย แต่ต้องสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เสร็จไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องฝ่ากระแสหลายอย่าง เช่น มีคำถามว่าทำไมยาวถึง ๓ ภาค เขาพยายามให้ผมตัดบางฉากออก แต่ก็ปรากฏว่าดูไม่รู้เรื่องต้องใส่กลับเข้าไป ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพยายามสร้างให้บันเทิงที่สุด สนุกสนานที่สุด ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ดีที่สุดในโลก หรือดีที่สุดในประเทศไทย แต่ดีที่สุดเท่าที่ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จะทำได้ แค่นั้นก็พอแล้วไม่ใช่หรือ

    ในทัศนะของท่าน ทุกวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนวีรบุรุษอย่างพระนเรศวรหรือไม่
    เรามีวีรบุรุษคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับผม พระองค์ทรงมีความสำคัญไม่ต่างจากสมเด็จพระนเรศวร คิดดู มีวิกฤตการณ์หลายครั้งพระองค์ทรงพาเรารอดมาได้ทุกครั้ง เพียงแต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงยกทัพไปรบกับศัตรูต่างชาติเหมือนกษัตริย์ในอดีต พระองค์เคยรับสั่งว่าไม่ได้รบกับคอมมิวนิสต์ แต่รบกับความอดอยากของชาวบ้าน โดยรวมเราขาดแคลนวีรบุรุษไหม ไม่ครับ เรามีในหลวงอยู่ทั้งพระองค์ ประเทศไทยไม่ไร้คนดีหรอกครับ เราจะมีวีรบุรุษมาอีกเรื่อย ๆ
    (ล้อมกรอบ 2-สุเนตร)

    ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์
    อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งเขียนบทภาพยนตร์ร่วมกับ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

    “การเตรียมสร้างภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เราทำงานกันสามลักษณะ หนึ่ง ศึกษาหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่หาได้ให้มากที่สุด สอง ตามรอยพระนเรศวรตามหลักฐานเหล่านั้น ชิ้นไหนเขียนว่าพระองค์ทรงไปรบที่นั่นที่นี่ ประกาศเอกราชที่นั่นที่นี่ เราก็ไปดูให้เห็นว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจมิติต่าง ๆ ที่เอกสารไม่สามารถบอกได้หมด เรื่องพวกนี้สำคัญกับคนทำภาพยนตร์เพราะเราต้องสร้างรูปธรรมขึ้นมาให้คนดูเห็น เช่น เมืองแครงมีหน้าตาอย่างไร อยู่ไหน ค่ายคู ประตู หอรบ ที่ที่พระนเรศวรประทับ เป็นอย่างไร กระทั่งเมืองหงสาวดี ชุมชนโยเดีย เป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ต้องนำมาใช้ในการสร้างฉากทั้งนั้น สาม ศึกษาแผนที่ แผนภูมิ ภาพถ่ายทางอากาศ หลายยุคสมัย

    “ในฐานะนักประวัติศาสตร์ หนึ่ง ผมไปช่วยท่านมุ้ยค้นคว้าและตรวจสอบตีความหลักฐานลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม อย่างหลักฐานของทางพม่าที่มีคนแปลไว้ บางทีก็แปลไม่หมด หรือแปลผิด นอกจากนี้ก็แลกเปลี่ยนทัศนะบางเรื่องกับท่าน สอง เนื่องจากผมศึกษาเรื่องพม่า ก็ไปพม่ากับท่าน ไปคอยเสริมท่าน ท่านมุ้ยชำนาญเรื่องแผนที่มาก ท่านดูเอกสารละเอียดแล้วถกกับผมว่าตรงไหนเป็นอย่างไร หรืออย่างบางเรื่องหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุไว้ ผมก็ต้องพยายามทำให้จินตนาการออกมาเป็นรูปธรรม เช่น พระนเรศวรเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง ท้องพระโรงน่าจะมีลักษณะอย่างไร ที่นั่งอยู่ตรงไหน ต้องเตรียมเรื่องพวกนี้ค่อนข้างมาก

    “ถ้าถามว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงแค่ไหน คงต้องถามก่อนว่าใกล้เคียงกับ ‘ข้อเท็จจริง’ ชุดไหน หรือของใคร เพราะหลักฐานเกี่ยวกับพระนเรศวรมีมากและมีหลายยุค ทั้งหมดไม่ใช่นิยายก็จริง แต่ก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เขียนขึ้นจากความทรงจำ คือคนเขียนจะเขียนเฉพาะเรื่องที่อยากเขียน ฉะนั้นความรู้เรื่องนี้ถูกปรุงแต่งจากความเข้าใจของคนแต่ละรุ่น ที่ปรากฏในภาพยนตร์คงต้องบอกว่าใกล้ความจริงที่เราเชื่อ ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ผมบอกไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ เช่น สถานที่กระทำยุทธหัตถีในภาพยนตร์ตรงความจริงไหม เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์เองยังเถียงกัน บ้างว่าที่หนองสาหร่าย ที่ชานพระนคร บ้างก็ว่าที่กาญจนบุรี ต้องบอกว่าท่านมุ้ยเลือกอะไรมากกว่าจะบอกว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรและเราทำในสิ่งที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ จุดนี้สำคัญมาก

    “เรื่องสมเด็จพระนเรศวรเป็นจินตนาการเสียมากตั้งแต่ก่อนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว ไม่ว่าจะเอามาจากตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ มันจะมีชุดข้อมูลที่เป็นข้อยุติจำนวนหนึ่งซึ่งจริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้าพิสูจน์อาจสิ้นสติได้ คนไทยเรามีความรับรู้ร่วมชุดหนึ่งซึ่งเกิดจาก ‘ข้อมูลความรู้’ ที่ถูกขัดเกลามา เช่น พระนเรศวรถูกนำไปหงสาวดี ทรงประกาศอิสรภาพ ทรงกระทำยุทธหัตถี ซึ่งถ้าดูจากหลักฐานพม่ามันจะต่างกันเลย เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง หรือศึกยุทธหัตถี เขาก็บอกว่าพระมหาอุปราชาถูกยิง แต่ความเข้าใจที่แปลกแยกนี้ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ร่วมของคนไทย

    “คนสร้างภาพยนตร์ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เราทำให้คนไทยดู คนไทยย่อมอยากรู้ว่าพระแสงดาบคาบค่ายเป็นยังไง ถามนักวิชาการคงต้องเถียงกันอีก ทรงคาบดาบไหม หรือจริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่เรื่องเหล่านี้มันถูกจินตนาการไปเรียบร้อยแล้วตามความรับรู้ของคนไทย อีกอย่างพระนเรศวรไม่ใช่กษัตริย์ธรรมดา เมื่อคิดถึงกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ มีบุญคุณต่อบ้านเมือง คนไทยนึกถึงพระองค์ พระนเรศวรจึงทรงเป็นวีรบุรุษกึ่งเทพ คนไทยไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านแค่ระดับมนุษย์ปุถุชนเท่านั้น มันมีนัยอื่นมากมาย ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยต่อพระนเรศวรจึงมีความศรัทธาซ้อนทับด้วย ดังนั้นคนทำภาพยนตร์จึงต้องระวังเพราะมีกรอบหลายกรอบซ้อนทับกันอยู่”
    ( ล้อมกรอบ 3-สุพรรณกัลยา)
    ตามหา “พระสุพรรณกัลยา” ในหน้าประวัติศาสตร์

    หนึ่งในเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรที่คนไทยจำได้มากที่สุด นอกจากเรื่องที่พระองค์ทรงชนไก่กับพระมหาอุปราชาแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของ “พระสุพรรณกัลยา”

    พระสุพรรณกัลยา (หรือ “พระสุวรรณกัลยา” ตามหลักฐานพม่า) เป็นพระธิดาในพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัย และเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ

    พิจารณาตามท้องเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม พระสุพรรณกัลยาทรงมีฐานะเป็น “วีรสตรี” เช่นเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย เนื่องจากทรงยอมเสียสละพระองค์เองไปเป็นพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อให้พระนเรศวรได้กลับสู่กรุงศรีอยุธยาในปี ๒๑๑๒

    พงศาวดารพม่าระบุชัดเจนว่า ปีนั้น “เจ้าฟ้าสองแคว” (พระอิสริยยศของพระมหาธรรมราชาเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองให้ขึ้นครองพิษณุโลก-ผู้เขียน) ได้ถวายพระธิดาชื่อ พระสุวรรณกัลยา พระชันษา ๑๗ ปี กับบริวารและนางสนมรวม ๑๕ คน แก่พระเจ้าบุเรงนอง

    หลังจากนั้นพงศาวดารทั้งไทยและพม่าก็ไม่กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาอีก

    ถึงปี ๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ประเทศราชต่าง ๆ ของหงสาวดีก็พากันแข็งเมือง ลุถึงปี ๒๑๒๗ พระนเรศวรก็ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และต่อมาทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาในปี ๒๑๓๕

    ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ถึงแม้พงศาวดารทั้งไทยและพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาเลย แต่ คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเขียนขึ้นจากปากคำของเชลยศึกอยุธยาที่พม่ากวาดต้อนไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ระบุเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาว่า หลังศึกยุทธหัตถีปี ๒๑๓๕ พระนางถูกพระเจ้านันทบุเรงปลงพระชนม์ เนื่องจากพิโรธที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชาในศึกยุทธหัตถี

    คำให้การขุนหลวงหาวัด ให้ภาพว่า พระเจ้านันทบุเรงเสด็จไปที่พระตำหนักของพระนาง ทอดพระเนตรเห็น “องค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระราชโอรสทั้งสององค์ถึงแก่ความพิราลัย...”

    หากยังจำกันได้ ปี ๒๕๔๒ สังคมไทย “ตื่น” เรื่องพระสุพรรณกัลยากันทั่วประเทศ สถานะวีรสตรีที่ถูกลืมของพระองค์ได้รับการหนุนส่งอย่างโดดเด่นจากเดิมที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของพงศาวดาร เมื่อแพทย์หญิงนลินี ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด (กิฟฟารีน) นำภาพพระสุพรรณกัลยาที่อ้างว่าวาดขึ้นจากความฝัน ออกมาเผยแพร่จนได้รับความนิยม ต่อมาสานุศิษย์ของหลวงปู่โง่น โสรโย แห่งจังหวัดพิจิตร ก็ออกมาให้ข่าวว่าพระสุพรรณกัลยามาเข้าฝันหลวงปู่ ขอให้นำดวงพระวิญญาณกลับมายังแผ่นดินไทย ด้วยปัจจุบันดวงพระวิญญาณถูกหมอผีพม่ามัดตรึงและโบยตี ทั้งตัวหลวงปู่เองก็อ้างว่าสามารถถ่ายภาพพระสุพรรณกัลยาไว้ได้ แถมยังเขียนหนังสือ ย้อนรอยกรรม ตำนานพระสุพรรณกัลยา ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

    เหตุการณ์ข้างต้นทำให้ความศรัทธาต่อพระสุพรรณกัลยาขยายไปทั่ว ปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็นรูปพระสุพรรณกัลยาที่เกิดจาก “นิมิต” ติดอยู่ตามบ้านเรือน ร้านค้า รวมถึงศาลสมเด็จพระนเรศวร ไม่ว่าศาลนั้นจะอยู่ไกลสักเพียงใด

    แต่ในทางวิชาการ เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาที่ปรากฏในหลักฐานบางชิ้นและมีผู้นำมากล่าวอ้างถึงต่าง ๆ นานานั้น ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่ามีความจริงอยู่เพียงใด ในวงสัมมนา “การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมไทย-พม่า” เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๔๒ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ มิคกี้ ฮาร์ท นักวิชาการพม่า ได้เสนอข้อมูลพร้อมให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หลักฐานทั้งไทยและพม่าระบุตรงกันว่าพระสุพรรณกัลยาทรงมีตัวตนจริง และประทับอยู่ที่พระราชวังหงสาวดีตั้งแต่ปี ๒๑๑๒ ขณะพระชันษาได้ ๑๗ ปี ดังนั้นในปี ๒๑๓๕ ที่เกิดยุทธหัตถี พระองค์จึงน่าจะมีพระชันษา ๔๐ ปี และหากทรงมีพระโอรสหรือพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองจริง พระโอรสหรือพระธิดานั้นก็ควรเจริญพระชันษาราว ๘ ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งดูจะขัดกันกับที่อ้างถึงใน คำให้การขุนหลวงหาวัด (องค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่...) หรือในกรณีที่ว่าทรงถูกพระแสงดาบพระเจ้านันทบุเรงก็เช่นกัน โดยทั่วไปเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพม่าทรงประหารชีวิตใคร พงศาวดารจะบันทึกเรื่องราวไว้อย่างละเอียด จึงน่าสงสัยว่าเหตุใดพงศาวดารพม่ามิได้บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้เลย

    ถ้าเช่นนั้นแล้วพระสุพรรณกัลยาทรงหายไปไหน ทรงมีชะตากรรมเช่นไรหลังจากหงสาวดีถูกเผา ?

    ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า เล่าถึงหลักฐานล่าสุดที่ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    “เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง มีการทำบัญชีรายชื่อพระมเหสีเอก พระสนม ซึ่งจะบันทึกเฉพาะองค์ที่มีพระโอรสหรือธิดา ปรากฏว่ามีพระนามของพระสนม (มี้พระยาเอ) องค์หนึ่ง ถอดเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘มะเมี้ยวโหย่ พระพี่นางพระนเรศ มีพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนององค์หนึ่ง’ ข้อมูลนี้มาจาก พงศาวดารพม่าฉบับอูกาลา ซึ่งผมคิดว่ารับฟังได้ เพราะตัวหลักฐานไม่ได้จงใจกล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาด้วยซ้ำ หากแต่ตั้งใจกล่าวถึงบรรดามเหสีของบุเรงนองทั้งหมด ข้อมูลจึงน่าจะบันทึกตามจริง ทั้งยังมีหลักฐานการอพยพมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้านันทบุเรงไปไว้ที่เมืองตองอูและยะไข่หลังหงสาวดีถูกเผา ดังนั้นพระสุพรรณกัลยาจึงน่าจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคชราที่ตองอูหรือยะไข่มากกว่า”

    อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : “กรณี ‘พระสุพรรณกัลยา’ “ (จากสารคดีเรื่อง “หงสาวดี : แดนศัตรูผู้น่ารัก ?”) ใน ธีรภาพ โลหิตกุล. ท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๔๘.
    (ล้อมกรอบ 4- สงครามอนุสาวรีย์)
    นเรศวรมหาราช VS บุเรงนองมหาราช
    การเมืองเรื่องอนุสาวรีย์ที่ชายแดนไทย-พม่า

    ปัจจุบัน ตลอดแนวชายแดนไทย-พม่าซึ่งมีความยาวกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ทั้งไทยและพม่าต่างสร้างอนุสาวรีย์ “มหาราช” ของตนเอง หันเข้าหามหาราช (หรือแผ่นดิน) ของอีกฝ่ายอยู่หลายจุด ถึงแม้ว่าโดยที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพของตัวอนุสาวรีย์จะไม่ได้หัน “ชน” กันตรง ๆ ก็ตาม

    โดยฝ่ายพม่าสร้างอนุสาวรีย์ “พระเจ้าบุเรงนองมหาราช” ขณะที่ฝ่ายไทยสร้าง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

    ถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสำรวจอย่างจริงจังว่าอนุสาวรีย์ลักษณะนี้มีอยู่กี่แห่ง ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง และแต่ละแห่งมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร รู้เพียงว่าปรากฏการณ์เช่นว่านี้เห็นได้ชัดเจนตามจุดผ่านแดนใหญ่ ๆ บริเวณชายแดนไทย-พม่า เช่น ชายแดนจังหวัดระนองด้านที่ติดต่อกับจังหวัดเกาะสอง ชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก

    แม้ทั้งสองฝ่ายจะยกเหตุผลในการสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวว่าเพื่อให้ผู้ที่เคารพศรัทธาได้มาสักการบูชา รวมทั้งเป็นการเพิ่มจุดท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริง การสร้างอนุสาวรีย์ในลักษณะที่ว่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในสองประเทศที่ถือเป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” กัน

    ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ กล่าวว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งทำให้เกิดความรักชาติ อีกด้านทำให้เกิดความกังขาต่อประเทศข้างเคียง ความรักชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีขอบเขต ประเทศในอาเซียนควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน สร้างประวัติศาสตร์ในแง่สันติร่วมกันมากกว่าในแง่สงคราม สหภาพยุโรปขณะนี้เขาหาทางอยู่ร่วมกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มากกว่าจะแยกชาติใครชาติมัน ซึ่งในอดีต ผลร้ายจากการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรามันเห็นชัด ไม่ว่าจะคราวสงครามโลกครั้งที่ ๑ หรือครั้งที่ ๒ ที่นำมาสู่การเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณ”

    ขณะที่ในสายตาของนักวิชาการท้องถิ่นเอง พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยนักกับการสร้างอนุสาวรีย์ลักษณะนี้ ชัยยง ไชยศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ทำวิจัยเรื่องพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวว่า “ถ้าเทียบตามยุคสมัยแล้ว มหาราชทั้งสองพระองค์ทรงอยู่กันคนละยุค คนละรุ่นกัน ไม่มีทางแย้งหรือขัดกัน พระเจ้าบุเรงนองทรงอยู่ในรุ่นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร และจริง ๆ แล้วสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงได้หลายสิ่งหลายอย่างจากพระเจ้าบุเรงนอง เช่น ยุทธวิธีรุกโจมตีดินแดนข้าศึกก่อนตั้งตัวได้ ซึ่งไม่มีกษัตริย์ไทยพระองค์ไหนทำ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศพยายามโยงอดีต โยงประวัติศาสตร์ มาใช้ในเชิงการเมืองมากกว่า”
    (ล้อมกรอบ 5-กรณีวันกองทัพไทย)
    กรณี “วันกองทัพไทย”

    “วันกองทัพไทย” คือวันที่ทางราชการประกาศเป็นวันที่ระลึกเนื่องในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาเมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ หรือพุทธศักราช ๒๑๓๕ การประกาศดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๕๒๒ หลังจากที่นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้คำนวณว่า ศึกยุทธหัตถีเมื่อ ๔๑๔ ปีก่อน เกิดขึ้นตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๑๓๕

    นับจากนั้น กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้กำหนดให้มีพิธีการสวนสนาม กล่าวคำปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลในวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี ทั้งยังถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

    เวลาผ่านไปจนถึงปี ๒๕๓๙ นักประวัติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ ม.ล. ปิ่น มาลากุล และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ก็ได้ทักท้วงว่า การคำนวณดังกล่าวผิดพลาด โดยเสนอผลคำนวณใหม่ รวมถึง ม.ล. ปิ่น มาลากุล ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำการจำลองภาพดวงดาวในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๑๓๕ กับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๑๓๕ ซึ่งคาดว่าเป็นวันที่เกิดยุทธหัตถีมาเทียบกัน ผลคือดวงจันทร์ที่ปรากฏในวันที่ ๑๘ มกราคมนั้น เป็นดวงจันทร์ของวันแรม ๒ ค่ำ ในขณะที่ดวงจันทร์ที่ปรากฏในวันที่ ๒๕ นั้น แหว่งไปมากกว่า ๒ ค่ำแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าวันที่เกิดศึกยุทธหัตถีน่าจะเป็นวันที่ ๑๘ มกราคมมากกว่า

    ผลการคำนวณดังกล่าวได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชน ก่อนจะมีผู้เสนอเรื่องนี้ไปที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยสำนักเลขาธิการฯ ได้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยซึ่งในขณะนั้นมี ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นประธาน ข้อพิจารณาของคณะกรรมการขณะนั้นคือ เดิมทีที่มีการคำนวณวันดังกล่าวผิดนั้น เกิดจากการที่ผู้คำนวณรุ่นก่อนเข้าใจว่าวันเถลิงศก (วันเปลี่ยนจุลศักราชซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละปี) ตรงกับวันที่ ๑๕-๑๖ เมษายนมาตลอด ทั้งที่จริง ๆ แล้ววันเถลิงศกเพิ่งจะเลื่อนมาตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เมื่อปี ๒๔๔๓ และเปลี่ยนมาตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายนบ้าง วันที่ ๑๖ เมษายนบ้าง ตั้งแต่ปี ๒๔๗๔ เป็นต้นมา โดยในปีที่เกิดศึกยุทธหัตถี วันเถลิงศกปีนั้นจะตรงกับวันศุกร์ที่ ๙ เมษายน ดังนั้นการคำนวณเทียบกับปฏิทินสากลแบบปัจจุบันจึงพลาดไปถึง ๗ วัน ที่สุด คณะกรรมการจึงสรุปว่าวันที่ถูกต้องคือ ๑๘ มกราคม เพียงแต่การจะเปลี่ยน “วันกองทัพไทย” ให้ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคมหรือไม่ อย่างไรนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณากันเอง

    หลังจากนั้นกระทรวงกลาโหมได้รอการประกาศจากรัฐบาลโดยยังใช้วันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อมา จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ กำหนดเปลี่ยน “วันกองทัพไทย” จากเดิมวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี เพื่อให้ตรงกับ “วันยุทธหัตถี” ที่มีการคำนวณใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชนรุ่นหลังศึกษาประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องและยังให้ถือเป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม

    ปัจจุบัน “วันกองทัพไทย” และ “วันยุทธหัตถี” จึงถูกกำหนดใหม่ให้ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี โดยเดือนมกราคม ๒๕๕๐ ที่จะถึงนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ “วันกองทัพไทย” จะเปลี่ยนมาใช้วันดังกล่าว


    ที่มา : นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๖๒ :: ธันวาคม ๔๙ ปีที่ ๒๒
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×