ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    :: เรื่องดีๆ จากคุณนายแสนรู้ ::

    ลำดับตอนที่ #1 : ==>> หนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ถูกจองจำ

    • อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 51


     

      หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ


     

    เรื่อง : ธนาพล อิ๋วสกุล / ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี


     

     

    ถ้าที่ไหนเผาหนังสือกันได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต่อไปจะเผาคน
    “Where they have burned books, they will end in burning human beings.”
    ไฮน์ริช ไฮเนอ, จากบทละคร Almansor (1821)

     

     

     

     

     

     

     

     

     


    จากจิ๋นซีถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์

    ผู้ปกครองทุกยุคสมัยตระหนักดีว่ากำลังอำนาจนั้นผูกมัดไว้เพียงชั่วคราว แต่ความคิดนั้นดำรงอยู่ชั่วกาลดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองคนแล้วคนเล่าจะควบคุมความคิด/ความรู้ของผู้คนโดยการห้าม/ทำลายหนังสือ

     

     



     

     

     

    การเผาหนังสือโดยจักรพรรดิจิ๋นซี


    การห้ามหนังสือมีความเป็นมาพร้อม ๆ กับการกำเนิดขึ้นของหนังสือ ดังภาพบันทึกเหตุการณ์เมื่อ ๒,๒๐๐ ปีที่แล้ว ที่จักรพรรดิจิ๋นซีบัญชาให้เผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักรของพระองค์

     

     
                            


                             

    แฮร์รี่ พอตเตอร์

    จนถึงปัจจุบันการห้ามหนังสือยังมีอยู่ โดยข้ออ้างสำคัญคือเรื่องความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้กระทั่งหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ถูกห้ามจากโบสถ์คริสต์บางแห่ง เนื่องจากขัดกับหลักศาสนา


     

    Index Librorum Prohibitorum

    Index Librorum Prohibitorum (Index of Forbidden Books) หนังสือที่รวบรวมรายชื่อหนังสือต้องห้าม ซึ่งเริ่มจัดทำขึ้นเมื่อ ๔๔๗ ปีที่แล้ว โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา ในบรรดานักเขียนต้องห้ามนั้นประกอบด้วยนักคิดคนสำคัญ เช่น กาลิเลโอ, วอลแตร์, คาร์ล มาร์กซ์ เรื่อยมาจนถึง เจมส์ จอยซ์ ฯลฯ











     


    ข้าฯ จ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย

     

                    
     
    นายโหมด อมาตยกุล
    ผู้จัดพิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย ซึ่งก่อคุณูปการสำคัญในการศึกษากฎหมายในสังคมไทย

        
          
     

    ๑. หนังสือกฎหมายไทย
    การ (ลักลอบ) พิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย ออกมาเผยแพร่ของนายโหมด อมาตยกุล มีความสำคัญยิ่ง ถึงแม้แรกพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้จะถูก สั่งริบก็ตาม เพราะเป็นการทำลายทำนบการศึกษากฎหมายที่หวงห้ามไว้เฉพาะชนชั้นนำ

    หนังสือกฎหมายไทย ที่นายโหมดจ้างหมอบรัดเลย์พิมพ์ มีเฉพาะเล่ม ๑ เพียง ๒๐๐ เล่มเท่านั้น ปัจจุบันหาต้นฉบับไม่ได้แล้ว แต่ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้นำมาพิมพ์ซ้ำจนรู้จักกันในชื่อ กฎหมายฉบับหมอบรัดเลย์

     

     

    เอากฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์โฆษณาเช่นนั้นจะทำให้พวกมดต่อหมอความทำให้ยุ่งยากแก่บ้านเมือง. ดำรัสสั่งให้เก็บริบหนังสือกฎหมายที่นายโหมดให้ไปพิมพ์คราวนั้นทั้งต้นฉะบับเขียนและฉะบับที่หมอบรัดเลพิมพ์

     

               
     

    เหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งริบหนังสือกฎหมาย
    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน ให้พระยาอนุมานราชธน

    ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด
    ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
    ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ
    ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา
    ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ
    บางคนกลับผูกจิตริษยา
    แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา
    ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน

     
     
                 
                   
     

    นายทิม สุขยางค์
    ผู้เขียน นิราศหนองคาย

                        
     

    ๒. นิราศหนองคาย
    นิราศหนองคาย เป็นส่วนผสมของข่าวสารคดีและข่าวการเมือง นอกจากเนื้อหาทางการเมืองแล้ว คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ คือการบันทึกสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งมีคุณค่าพอที่จะได้รับแนะนำเป็น หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน"

    นิราศหนองคาย คงเหลือแต่ฉบับที่ถูกตัดทอนแก้ไขโดยกรมศิลปากรในปี ๒๔๙๘ แม้กระนั้นเมื่อมีการพิมพ์ นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา สิทธิ ศรีสยาม หนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามอีกครั้งหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

     
    ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้ 

                     

                   
     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓ วันอาทิตย์เดือน ๙

    หนังสือเล่มนี้ (เขียน) ขึ้นโดยความหวังว่าเศรษฐวิทยาของข้าพเจ้านี้จะตั้งต้นชักชวนให้ท่านผู้อื่นที่มีความรู้ดีกว่า ริอ่านแต่งหนังสือและหาเรื่องมาแนะนำสั่งสอนและเพิ่มเติมข้อความบางข้อที่ข้าพเจ้าละเลยเสียนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่สยามยิ่งขึ้นเสมอไป

                        
     

    พระยาสุริยานุวัตร
    อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ ผู้เขียน ทรัพย์ศาสตร์

            

                     
     

    ๓. ทรัพย์ศาสตร์
    นอกจากจะเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามแล้ว ทรัพย์ศาสตร์ ยังให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และเป็นการบันทึกอารมณ์ร่วมของปัญญาชนร่วมสมัยก่อนการปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วย ทรัพย์ศาสตร์ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ได้รับการแนะนำเป็น หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” 

    “(ผู้เขียน) ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กัน และแตกความสามัคคีกันเท่านั้น 

                        

    อัศวพาหุ
    นามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ราษฎรที่เกิดมาย่อมได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยในการดำรงชีวิต...การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้

     
     

    หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
    มันสมองของคณะราษฎรในการปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

                   
     

    ๔. สมุดปกเหลือง
    สมุดปกเหลือง หรือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ ที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการปฏิวัติสยามที่ว่าจะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ... จะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากแต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกแขวนป้ายว่าเป็นโครงการ คอมมิวนิสต์และไม่เคยมีรัฐบาลไหนนำมาใช้อีกเลย 

    โครงการเศรษฐกิจแบบหลวงประดิษฐ์ฯ นี้ ควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองดังกล่าวนั้น จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจนเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศ และชาติบ้านเมืองอันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ

                         
     

              พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

     

    เปนการจำเปนอยู่ที่บรรดาพวกเราเหล่า ไพร่ฟ้าจะต้องสึกสาหาหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามสมควร เพื่อว่าเมื่อพวก ชาวฟ้าท่านออกประกาศหรือบังคับหรือกดหมายใด พวกเราเหล่า ไพร่ฟ้าจะมิได้หลับตาพากันจุดธูปเทียนขึ้นบูชาด้วยความหลงงมงายไปว่า โองการหรือการกระทำของพวกนั้นเปนของดีงามทุกเรื่อง

                          
     

    กุหลาบ สายประดิษฐ์
    นักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก

    ๕. หนังสือพิมพ์ไทยอิสสระ
    เมื่ออยู่ในสภาวะสงคราม รัฐบาลได้ออกมาตรการในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น การออกกฎอัยการศึก ประกาศภาวะฉุกเฉิน ออก พ.ร.บ. การพิมพ์ฉบับใหม่ พร้อมกับการควบคุมอย่างเข้มงวด ในยุคนี้ หนังสือพิมพ์ใดที่ต้องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ก็ต้องทำเป็นฉบับใต้ดิน ดังเช่นหนังสือพิมพ์ ไทยอิสสระ

    ถ้าเสรีภาพในการเขียนหนังสือพิมพ์ที่ปล่อยนี้ภายหลังเกิดปรากฏว่าอาจเป็นภัยต่อชาติอย่างร้ายแรงขึ้นได้แล้ว ข้าพเจ้าจำต้องเสนอลดเสรีภาพลงให้เหมาะแก่กรณีที่จะนำความร่มเย็นมาสู่พี่น้องทั้งมวลอีก

                           
     

    จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
    ผู้เสนอให้ออก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔

    หนังสือเล่มนี้ทำกันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว ก็มีรูปซ้ำซากอยู่ตลอดมา... จึงได้เกิดความคิดใหม่โดยไปขอถ่ายลายพระหัตถ์สยามินทร์จากกรมศิลปากรมาไว้ที่หน้าปกประกอบกับภาพพระเกี้ยว ซึ่งคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ โดยสมบูรณ์แล้ว ...ส่วนที่ว่าเอียงซ้ายก็เห็นจะเอียงเพียง ๓๐ องศาเท่านั้น

                          
     

    จิตร ภูมิศักดิ์
    สาราณียกรหนังสือ มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ (ฉบับไม่เซ็นเซอร์)

     

                  
     

    ๖. มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖
    จิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรหนังสือมหาวิทยาลัยฯ ได้ปฏิวัติการทำหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่มนี้ โดยการใช้ลายพระหัตถ์ สยามินทร์มาแทนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามตั้งแต่อยู่ในโรงพิมพ์ จิตรถูกทำโทษด้วยการโยนบกและพักการเรียน เนื้อหาบางส่วนถูกถอดออก และหน้าปกได้มีการเจาะวงกลมแล้วสอดพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้ที่ใบรองปก เพื่อแก้ปัญหาเอียงซ้าย 

    มีอยู่ ๔-๕ เรื่องที่ไม่ควรนำมาลงในหนังสือที่มีเกียรติอย่างนั้น มีอย่างหรือคุณเอาเรื่องพุทธศาสนามาวิจารณ์ เอาเรื่องเศรษฐกิจของชาติมาพูด เศรษฐกิจของเราแบบประชาธิปไตยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ...ผมบอกได้เลาๆ ว่าไม่มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ อย่างเคย

                         
     

    ม.ร.ว. สลับ ลดาวัลย์
    เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     

    “’ปัจจุบันได้หยุดนิ่งเสียแล้วสำหรับผม เพราะเราไม่สามารถจะพูดหรือทำในสิ่งที่ปรารถนา คงเหลือแต่ อนาคตกับ อดีตเท่านั้น การคาดคะเนและใฝ่ฝันของผมอาจกลายเป็นภัยใหญ่หลวงแก่ตนเองได้เสมอ หากมันเกิดไปขัดแย้งเข้ากับการคาดคะเนและใฝ่ฝันของคนบางจำพวกซึ่งครอบครองเอาปัจจุบันของเราไปไว้เสียหมด

                        
     

    สุวัฒน์ วรดิลก
    หนึ่งในนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกจับกุมในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
    แม้ได้รับการปล่อยตัวภายหลัง แต่ก็ต้องเปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่องรักโรแมนติกในนามปากกา รพีพร

                 
     

    ๗. แลไปข้างหน้า
    ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งจับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า และลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองแทบทุกด้าน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ในยุคนี้มีเพียงนวนิยาย แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา เท่านั้นที่เป็นหนังสือต้องห้าม แต่ผลสำเร็จของการห้ามหนังสือคือการสะกดความใฝ่ฝันของคนในสังคมด้วยสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา

    รัฐบาลได้ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะต่อต้านการกระทำของคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง ด้วยกฎอัยการศึก ด้วยอำนาจปฏิวัติซึ่งยังคงมีอยู่ ด้วยกำลังทุกสถานที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคอมมิวนิสต์ ถ้าจับได้และมีหลักฐานมั่นคง ก็จะลงโทษสถานหนัก

                         
     

    จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
    นายกรัฐมนตรี/หัวหน้าคณะปฏิวัติ ผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ

    ในยุคนั้นเสรีภาพมันไม่มี หนังสือพิมพ์จึงต้องออกมาในรูปแบบของการเสียดสี เปรียบเปรย ขณะเดียวกันพวกเราก็อึดอัดกับสงครามเวียดนาม เพราะเห็นฐานทัพอเมริกาเต็มไปหมด ๗ สถาบัน เล่มที่ ๒ เราจึงได้ทำเรื่องนี้โดยใช้ชื่อว่า ภัยของสงคราม เราหลีกเลี่ยงไปใช้รูปสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใช้ภาษาที่โรแมนติก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้าม เพราะมันสอดคล้องกันหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องสงครามเวียดนาม

                      
     

    พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร
    ผู้ก่อตั้งหนังสือ ๗ สถาบัน 

                   
     

    ๘. ๗ สถาบัน
    ในบรรยากาศที่สังคมปกคลุมด้วยความหวาดกลัว มหาวิทยาลัยอยู่ในยุคสายลมแสงแดด นักศึกษากลุ่มอิสระจากหลายมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับค่านิยมของสังคมและภาระหน้าที่ของนักศึกษา พวกเขา/เธอ ได้ใช้หนังสือเป็นสื่อในการแสดงความคิดท้าทายอำนาจเผด็จการ ๗ สถาบัน คือหัวหอกในภารกิจดังกล่าว

    หนังสือพิมพ์ที่ทำตนเป็นปากเสียงของชนต่างชาติออกเสียงแทน หรือเชิดชูลัทธิที่เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือพยายามยุแยกให้แตกสามัคคีในชาติโดยทางตรง ทางอ้อม หรือด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องประสบการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

    จอมพล ถนอม กิตติขจร
    ผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยาวนานกว่า ๑๐ ปี

     

    กรณีสวรรคตเป็นเรื่องทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลาย อ. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธ์ ได้ชี้ว่าปืน หัวกระสุน ปลอกกระสุน รวมทั้งลูกปรายที่อยู่ในหมอน เป็นของชุดเดียวกัน และในวันนั้นก็ไม่มีผู้ร้ายเข้ามาในห้องบรรทม

    หนังสือของ เรย์น ครูเกอร์ เขียนออกมาในปี ๒๕๐๗ โดยไม่ได้พบ อ. ปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนนั้นท่านอยู่เมืองจีน อ. ปรีดีบอกผมเองว่าอย่าเพิ่งอ้าง เพราะผู้เขียนกำลังแก้ไขอยู่ แต่หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการที่ชี้ให้เห็นว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ถูกประหารชีวิต รวมทั้ง เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช อ. ปรีดี เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังชี้ว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ห้ามหนังสือเล่มนี้คือคนที่ต้องการให้ อ. ปรีดี เสียหาย

                   
     

    สุพจน์ ด่านตระกูล
    ผู้เขียนหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต

                          
     

    ๙. กงจักรปีศาจ
    กงจักรปีศาจ โดย เรย์น ครูเกอร์ หนังสือที่ว่าด้วย กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ซึ่งถูกห้ามตั้งแต่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี ๒๕๐๗ ในชื่อ The Devil’s Discus ต่อมามีการแปลและโรเนียวแจกในแวดวงผู้สนใจ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่เสรีภาพเบ่งบาน มีความคิดที่จะพิมพ์ขายอย่างเปิดเผย แต่ต่อมาความคิดนี้ก็ต้องล้มเลิกไป กงจักรปีศาจ จึงเป็นหนังสือใต้ดินที่ต้องลักลอบขาย หลัง ๖ ตุลา ๑๙ หนังสือเล่มนี้ก็ถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้าม

     

    ใครพูดว่านายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต ทำไมถึงร้อนตัวกันนัก ดิฉันและนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร เพียงแต่ตั้งคำถามว่า ในฐานะท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทำไมไม่รับผิดชอบด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ทั้ง ๆ ที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ชัดว่าไม่ได้เป็นการปลงพระชนม์เองตามแถลงการณ์ของรัฐบาล

    หนังสือ กงจักรปีศาจ นั้นต้องถามว่าผู้เขียนเป็นใคร มาจากไหน เขาเป็นผีใต้เตียงหรือถึงได้รู้ดีขนาดนั้น หรือว่าเป็น โกสต์ ไรเตอร์ เขียนอะไรตามที่คนอื่นต้องการให้เขียน แล้วคุณรับได้ไหมกับการเขียนโกหกโดยไม่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และคนอื่นเขามาโต้แย้งไม่ได้ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่รับไม่ได้

                      
     

    วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
    ผู้เขียนหนังสือ กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ร่วมกับนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร

    ทำไมถึงห้าม ? ผมคิดว่ามาจากชื่อหนังสือ เพราะเขามีสมมุติฐานว่าหนังสือที่มีชื่อ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ หรือว่ามวลชน เป็นหนังสือที่ถูกบงการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาเลยเข้าใจว่าผมถูกบงการด้วย

    มันก็เหมือนกับการได้รับรางวัลโนเบลทางการเมือง (หัวเราะ) เนื้อหาหนังสือมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าให้ไปปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ผมคิดว่าบรรดาข้อศึกษาเกี่ยวกับความยากจนในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษี ก็เป็นข้อเสนออย่างเดียวกับผม

                
      

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
    ผู้เขียน กลยุทธในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ๑ ใน ๒๑๙ หนังสือต้องห้ามหลัง ๖ ตุลา 


     

    ๑๐. ๖ ตุลา ๑๙
    ภาพกองหนังสือนับหมื่นเล่มที่รอการทำลาย หลังจากมีคำสั่งจากคณะรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ให้ริบและทำลายหนังสือซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าทำให้ผู้อ่านเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสม์ แต่นั่นก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหนังสืออีกหลายแสนเล่มที่ประชาชนต้องทำลายกันเอง อันเนื่องมาจากความหวาดกลัวอำนาจเผด็จการในยุคนั้น

    อนึ่ง รัฐบาลหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ออกประกาศ ๔ ฉบับ ห้ามหนังสือรวม ๒๑๙ เล่ม หลายเล่มในนั้นต่อมาได้รับการแนะนำให้เป็นหนังสือดีที่คนไทยควรจะได้อ่าน

    เป็นเอกสารและสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ

                   
     

    สมัคร สุนทรเวช
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙
    ผู้ลงนามในคำสั่งห้ามหนังสือ

    เป็นความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ สังคมไทยไม่ได้สู้กันเรื่องวิชาการ ไม่ได้เถียงกันเรื่องความรู้ แต่เราสู้กันด้วยความเชื่อ ด้วยการปลุกระดมคน คนที่ประท้วงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือ ข้อสรุปสำหรับดิฉันคือ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เรื่องของท้าวสุรนารียังคงถูกใช้ในทางการเมืองเสมอ

                      
     

    สายพิน แก้วงามประเสริฐ
    ผู้เขียนหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

                
     

    ๑๑. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
    เพียงคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ? ที่อยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้ก่อให้เกิดการปลุกกระแสให้เกลียดชังผู้เขียน ถึงขั้นข่มขู่เอาชีวิต ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดขนบบางอย่างในการทำงานวิชาการว่า เรื่องบางอย่าง ไม่เชื่อก็อย่าตั้งคำถาม

     
    เขียนได้อย่างไรว่าย่าโมไม่มีตัวตน อนุสาวรีย์สร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในยุคนั้น ใครมาโคราชก็ต้องกราบไหว้ ในหลวงมาปี ๒๕๒๔ ท่านก็ยังมาเคารพเลย ...ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะผม แต่ชาวโคราชทั้งหมดถ้าผิดไปจากที่เราเคารพเราถือว่าเป็นการดูหมิ่น การจะทำหนังสือหรือเขียนวิทยานิพนธ์ก็ต้องรู้ว่าจะไปดูหมิ่นคนอื่นไม่ได้

                        
     

    รักเกียรติ ศุภรัตน์พงศ์
    บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เทิดไท ผู้นำในการต่อต้านหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

     


    ต้องห้าม
    ว. สงวนไว้, ไม่ให้แตะต้อง
    หนังสือ น. อักขระที่กำหนดแทนเสียงในภาษามนุษย์, ตัวหนังสือ ก็เรียก, จดหมาย หรือ แผ่นกระดาษที่มีอักขระกำกับและระบุเนื้อความ เช่น ส่งหนังสือ, กระดาษที่มีอักขระและคุมเข้าเป็นเล่ม, โดยปริยายหมายถึง วิชาความรู้ เช่น ไม่รู้หนังสือ คือ อ่านหนังสือไม่ออกหรือไม่มีความรู้

    พจนานุกรมฉบับมติชน (๒๕๔๗)


    หนังสือต้องห้าม แผ่นกระดาษที่มีอักขระกำกับ หรือความรู้ ที่ถูกสงวนไว้, ไม่ให้แตะต้อง


    หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ

    ภายหลังจากตีพิมพ์หนังสือ บทสนทนาว่าด้วยระบบใหญ่สองระบบของโลก (Dialogue on the Two Great Systems of the World) ในปี พ.ศ. ๒๑๗๕ ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความเชื่อของคริสต์ศาสนา กาลิเลโอก็ถูกบังคับให้เพิกถอนทฤษฎีของเขาในปีรุ่งขึ้น ต่อหน้าคณะกรรมการสอบสวนในกรุงโรมซึ่งมีพระสังฆราชเป็นประธาน

    ผู้ปกครองทุกยุคสมัยตระหนักดีว่า “กำลังอำนาจนั้นผูกมัดไว้เพียงชั่วคราว แต่ความคิดนั้นดำรงอยู่ชั่วกาล” และไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะนำพาความคิดความอ่านให้แพร่ออกไปกว้างขวางได้เท่ากับหนังสือ ...ด้วยเหตุนี้จึงต้อง “ห้ามหนังสือ” และมี “หนังสือต้องห้าม”
    สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (๒๕๔๐)


    ปฐมบทแห่งการห้าม

    ๒๔๔๗ ปีที่แล้ว ผลงานของโปรตากอรัส นักปรัชญาชาวกรีก ถูกเผากลางกรุงเอเธนส์ ๑๙๘ ปีต่อมา จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกที่รวมแผ่นดินจีนไว้จนเป็นปึกแผ่นด้วยการสร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว” ทรงสั่งเผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักร รวมทั้งทรงบัญชาให้สังหารนักปราชญ์จำนวนมากที่ทรงเห็นว่าเป็นศัตรู

    แต่การทำลายหนังสือครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๔๙๕ เมื่อ จูเลียส ซีซาร์ ได้กรีธาทัพเข้าสู่เมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์) พร้อม ๆ กับการสั่งเผา “หอสมุดอเล็กซานเดรีย” หอสมุดที่ดีที่สุดของโลกยุคโบราณ ที่บรรจุม้วนปาปิรัสซึ่งมีสรรพวิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๔ แสนม้วน รวมทั้งมีการจัดทำหมวดหมู่ บทวิจารณ์ เรื่องย่อของหนังสือทุกเล่ม และนี่เองที่เป็นจุดสิ้นสุดของอารยธรรมกรีก-โรมันที่เริ่มต้นตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล

    ไม่เพียงแต่อำนาจรัฐเท่านั้นที่ “ห้ามหนังสือ” ในยุคกลางซึ่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลอย่างมาก บรรดาพระผู้ใหญ่ที่มาประชุมกันในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ มีความเห็นร่วมกันให้จัดทำ Index Librorum Prohibitorum (Index of Forbidden Books) ประกาศรายชื่อหนังสือที่เห็นว่าเป็นภัยต่อศรัทธาของชาวโรมันคาทอลิก โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการปรับปรุง ๓๒ ครั้ง มีรายชื่อหนังสือต้องห้ามบรรจุไว้กว่า ๔,๐๐๐ เล่ม ซึ่งในรายชื่อเหล่านั้นประกอบไปด้วยผลงานของนักคิดคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ วอลแตร์ เรื่อยมาจนถึง วิกเตอร์ ฮูโก ลีโอ ตอลสตอย เจมส์ จอยซ์ ฯลฯ

    ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่น่าสะพรึงกลัว คือการขึ้นมาของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีผู้ใฝ่ฝันที่จะสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ ๓ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฮิตเลอร์ได้บัญชาการให้นายพอล โจเซฟ กอบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ (Ministry of Propaganda) เป็นผู้นำในการเผาหนังสือจำนวนกว่า ๒ หมื่นเล่มต่อหน้าฝูงชนนับแสนกลางกรุงเบอร์ลิน ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๖ กอบเบลส์ได้กล่าวปราศรัยต่อหน้าฝูงชนว่า “คืนนี้ ท่านกำลังทำสิ่งถูกต้องแล้วที่โยนอดีตอันลามกอนาจารลงในเปลวเพลิง”

    หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ได้นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการสังหารชาวยิวไปกว่า ๖ ล้านคน และมีคนล้มตายทั่วโลกกว่า ๖๒ ล้านคน

    นานมาแล้ว ไฮน์ริช ไฮเนอ กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า
    “ถ้าที่ไหนเผาหนังสือกันได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต่อไปจะเผาคน”

    แรกห้ามในสยามประเทศ

    หมอบรัดเลย์เช่าบ้านและใช้เป็นโรงพิมพ์ หรือ Printing Office of the American Missionary Association ซึ่งเป็นสถานที่พิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย

    แม้การอ่าน-เขียนจะไม่เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายของสังคมสยามมาแต่ก่อน แต่หนังสือก็เป็นมากกว่าวัตถุที่บันทึกตัวอักษร ดังนั้นคนสมัยก่อนจึงมีความเคารพหนังสือ (แม้จะอ่านไม่ออกก็ตาม) เพราะเชื่อว่าหนังสือมีความศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากเรื่องเล่าถึงการค้นพบ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ ที่ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์เดินไปพบยายแก่คนหนึ่งกำลังเอาสมุดข่อยมาเผา จึงได้เข้าไปขอดูและได้ค้นพบเอกสารชิ้นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเผาหนังสือดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะทำลายหนังสือ หากแต่ยายแก่คนนั้นต้องการจะนำขี้เถ้าจากการเผาไปผสมทำยาเพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือต่างหาก แต่การทำลายหนังสือก็มิใช่ไม่เคยมีในสังคมสยาม ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ปรากฏเหตุการณ์ “คนตื่นเอาตำราคุณไสยทิ้งน้ำ” ในปี พ.ศ. ๒๑๗๘ เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน ณ วัดไชยวัฒนาราม พบเนื้อในท้องเผาไม่ไหม้ ทำให้สงสัยว่าโดนคุณไสย จึงเกิดข่าวลือว่าจะมีการค้นตำรับตำราตามบ้านเรือน ทำให้ผู้แก่ผู้เฒ่าที่มีตำราคุณไสยต่างเอาหนังสือไปทิ้งน้ำเสียเนื่องจากกลัวความผิด

    กว่าที่การห้ามหนังสือจะเกิดขึ้นในสยามก็ต้องรอจนถึงปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่หลายคนเมื่อได้รู้ว่าหนังสือเล่มแรกที่ถูกห้ามในสยามนั้นเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องอะไร ก็อาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องห้าม ? เพราะมันเป็นหนังสือกฎหมาย

    เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่เราใช้มโนทัศน์ในปัจจุบันที่ว่า ทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมาย “การไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้ออ้างให้พ้นผิด” ไม่ได้ เพราะในยุคนั้นความรู้เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของชนชั้นนำ รวมทั้งมันยังถูกเก็บไว้ในสถานที่ “ต้องห้าม” อีกด้วย

    เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อนายโหมด อมาตยกุล ต้องขึ้นศาลในคดีมรดก นายโหมดได้แอบจ้างคัดลอกกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท จนได้ต้นฉบับนำมาพิมพ์เผยแพร่โดยหวังว่าจะได้ช่วยคนที่ไม่รู้กฎหมายและนำเงินมาหักลบต้นทุนที่ลงไป นายโหมดได้นำต้นฉบับดังกล่าวไปว่าจ้างให้หมอบรัดเลย์พิมพ์เป็น หนังสือกฎหมายไทย จำนวน ๒๐๐ ชุด ชุดละ ๒ เล่ม เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๓๙๓

    ทันทีที่หนังสือเล่มแรกออกมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว มีรับสั่งให้นำตัวนายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลย์ไปสอบ รวมทั้งริบหนังสือกฎหมายนั้น แต่ก็มิได้มีรับสั่งให้นำไปเผาหรือทำลายเพราะความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือ เพียงรับสั่งว่าเมื่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศสร้างแล้วเสร็จให้นำหนังสือที่ริบมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้งหมด

    กำธร เลี้ยงสัจธรรม ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการ “ริบหนังสือ” ครั้งนั้นไว้ว่า เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าหากหนังสือกฎหมายตกอยู่ในมือของคนทั่วไปแล้ว “พวกเจ้าถ้อยหมอความ” จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคดโกง ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อบ้านเมือง นอกจากนี้การกระทำของนายโหมดยังถือเป็นการละเมิดต่อธรรมเนียมการศึกษากฎหมายที่สงวนไว้เฉพาะเจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยเท่านั้นด้วย

    แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่มากกว่า ก็มีรับสั่งว่า “จะต้องให้เอากฎหมายตีพิมพ์ขึ้นไว้อีกจะเป็นคุณกับบ้านเมือง” และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาหนังสือที่ริบไว้คืนแก่นายโหมด พร้อมทั้งทรงรับซื้อไว้จำนวนหนึ่งเพื่อแจกแก่โรงศาลทุกแห่ง ถือเป็นการเปิดยุคของการศึกษากฎหมายอย่างเสรีจากที่ก่อนหน้านั้นเป็นวิชาต้องห้าม


    เมื่อความคิด ความรู้ ถูกท้าทาย

    ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพียงต้นรัชกาล ก็ได้มีประกาศห้าม นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)

    มูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองสมัยนั้น ระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายตระกูลบุนนาคซึ่งกุมอำนาจไว้ทั้งหมด กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อ ทั้งสองได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการจัดทัพ ทำให้นายทิมซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ฯ ต้องออกมา “เถียงแทนนาย” ผ่าน นิราศหนองคาย โดยหาว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเดินทัพในฤดูฝนเป็นการไม่สมควร ทั้งยังเป็นการขาดเมตตาจิตต่อไพร่พล สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมาก จึงนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้มีการสั่งเผา นิราศหนองคาย และลงโทษนายทิมด้วยการโบย ๕๐ ทีและจำคุก ๘ เดือน

    ถึงแม้ว่าในยุคนี้สยามจะรับเทคโนโลยีจากตะวันตกจำนวนมาก แต่วิชาความรู้ก็ยังจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ หอสมุดของวังหลวงที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ก็เป็นเพียง “หอสมุดสำหรับราชตระกูล” ให้บริการเฉพาะเจ้านายและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น นี่ยังไม่ต้องเอ่ยถึงระบอบการปกครองที่ไกลกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่แม้ใครเพียงคิด ก็จะกลายเป็นพวก “ราดิกัล” (หัวรุนแรง) ไปเสียทุกคน

    แต่ในยุคนี้เองที่สามัญชน ๒ ท่าน คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ ได้รังสรรค์ความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งคู่มีความเหมือนกันหลายประการ เช่น การได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม การได้เดินทางไปต่างประเทศ การมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมทั้งการเขียน/การทำหนังสือ ท่านแรกมีความสำคัญในการ “เหลียวมองหลัง” สืบเสาะค้นหาและรวบรวมความรู้ที่ถูกหวงห้ามไว้เฉพาะชนชั้นสูง ขณะที่ท่านต่อมาเป็นผู้ที่ “แลไปข้างหน้า” มีจินตนาการเกินกว่าระบอบการปกครองในขณะนั้น นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมีชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน นั่นคือถูกพิพากษาจากอำนาจรัฐ คนแรกถูกทำให้กลายเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ ขณะที่อีกคนถูกขังลืมเกือบ ๑๗ ปี

    ...............................................

    ก.ศ.ร. กุหลาบ (๒๓๗๗-๒๔๕๖)
    ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำลายการผูกขาด “ความรู้” ของชนชั้นนำในยุคนั้น โดยเริ่มจากการออกอุบายขอยืมหนังสือจากหอหลวงมาอ่าน แล้วจ้างอาลักษณ์คัดลอก การทำเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมานานนับปีจึงทำให้ท่านมีต้นฉบับจากหอหลวงเป็นจำนวนมาก

    ต่อมาท่านจึงนำความรู้ที่ได้มาพิมพ์เผยแพร่ ทั้งที่เป็นหนังสือเล่ม เช่น คำให้การของขุนหลวงหาวัด และที่นำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามประเภท ที่จัดทำขึ้นเพื่อ “บำรุงปัญญาประชาชน” แต่ด้วยความที่ท่านทราบดีว่าการนำความรู้ที่หวงห้ามไว้มาเผยแพร่มีความผิด ท่านจึง “ดัดแปลง” บางข้อความเสีย ทว่าการกระทำดังกล่าวกลับนำโทษมาสู่ตัวเอง เมื่อท่านเขียนชีวประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคลาดเคลื่อน จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ “เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้คนเชื่อถือ เปนผู้ปั้นความที่ไม่จริงขึ้นลวงให้คนเชื่อผิด ๆ” หลังจากนั้น “กุ” จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงการสร้างเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูล ทั้ง ๆ ที่ความจริงมูลเหตุที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ต้อง “กุ” นั้นมาจากการหวงห้ามความรู้นั่นเอง

    ...............................................

    เทียนวรรณ (๒๓๘๕-๒๔๕๘)
    เทียนวรรณ เป็นตัวแทนความคิดสมัยใหม่ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสยามภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ที่ส่งผลให้การค้าถือเป็นมาตรวัดความเจริญของประเทศ ท่านพยายามเปลี่ยนทัศนคติให้ชาวสยามหันมาทำการค้ามากกว่าจะมุ่งแต่เป็นข้าราชการ ท่านได้เห็นทั้งการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและการคอร์รัปชันในระบบราชการ พอ ๆ กับการทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก จึงเป็นที่มาของความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงสยามสู่ความ “ศิวิไลซ์” ด้วยการเรียกร้อง “ปาลิเมนต์”, การเลิกทาส, ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ

    เทียนวรรณได้ก้าวสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์โดยการออกหนังสือ ตุลวิภาคพจนกิจ และเปิดสำนักงานทนายความ “ออฟฟิศอรรศนานุกูล” อันเป็นเหตุให้ท่านถูกกลั่นแกล้งจนตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นตราราชสีห์ จากการที่มีผู้มาหลอกลวงให้เขียนใบฎีกา ส่งผลให้ท่านถูกโบย ๕๐ ที และถูกขังลืมเกือบ ๑๗ ปี ในระหว่างนั้นท่านได้เขียนงานที่ทรงคุณค่าและมาก่อนกาลเป็นจำนวนมาก ก่อนจะสิ้นอายุขัยในวัย ๗๓ ปี ได้มีเด็กนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย เราไม่ทราบว่าทั้งสองคุยกันเรื่องอะไร แต่อีก ๑๖ ปีต่อมา นักเรียนหนุ่มผู้นั้นได้เป็นมันสมองของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน


    ทรัพย์ศาสตร์ : เศรษฐศาสตร์ต้องห้าม

    ความทุกข์ยากของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากพ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออก ส่งผลให้พระยาสุริยานุวัตรเขียน ทรัพย์ศาสตร์ ขึ้น ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์และชี้ทางออก แต่หนังสือเล่มนี้กลับถูกห้าม

    ถึงแม้เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิชาที่ศึกษาได้ทั่วไปในปัจจุบัน แต่ถ้าค้นลงไปในประวัติศาสตร์กลับพบว่า ก่อนปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาต้องห้าม เห็นได้จากที่มีการห้ามหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ ของพระยาสุริยานุวัตร การห้ามหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งถือกันว่าเป็น “ยุคทองของนักหนังสือพิมพ์”

    พระยาสุริยานุวัตร อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารนโยบายเศรษฐกิจแล้ว ท่านยังมีความเชื่อเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสนอให้โอนกิจการฝิ่นจากเจ้าภาษีนายอากรมาสู่รัฐบาลเพื่อขจัดการรั่วไหลของรายได้ และจะได้นำเงินมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อนโยบายถูกต่อต้านจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาแนะนำให้ท่านลาออก ชีวิตราชการของท่านจึงยุติด้วยวัยเพียง ๔๕ ปี

    หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านก็ได้อุทิศเวลาที่เหลือทุ่มเทให้แก่การเขียนตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามที่ชื่อว่า ทรัพย์ศาสตร์ เนื้อหาในเล่มนอกจากการวิจารณ์การดำเนินนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการสะสมทุน จนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศล้าหลังแล้ว ท่านยังชี้ให้เห็นการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของชาวนาไปให้แก่พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออกในรูปแบบของการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงและการกดราคาข้าวเปลือกอีกต่อหนึ่ง

    ทันทีที่ ทรัพย์ศาสตร์ ๒ เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (จากที่วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๓ เล่ม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติการเขียน หลังจากนั้นทรงเขียนบทวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์ (เล่ม ๑) ตามความเห็นของเอกชนผู้ได้อ่านหนังสือเท่านั้น” ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสาร สมุทรสาร ทรงเห็นว่า ทรัพย์ศาสตร์ จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในสยามประเทศนั้น เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว “ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด” ทรงเห็นว่าผู้เขียน “ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกัน” เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้

    ทรัพย์ศาสตร์ จึงต้องยุติลงเพียงเล่ม ๒ เท่านั้นท่ามกลางความทุกข์ใจอย่างยิ่งของผู้เขียน และเมื่อผลัดแผ่นดิน เหตุการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลง เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นถึงกับมีการแก้ไขกฎหมายอาญากำหนดความผิดของการสอนลัทธิเศรษฐกิจ โดยมีโทษสูงสุด ๑๐ ปี และให้ปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ทรัพย์ศาสตร์ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามสมบูรณ์แบบ

    กว่าที่วิชาเศรษฐศาสตร์จะกลับมาสู่สาธารณะอีกครั้งก็เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ “ลัทธิเศรษฐกิจ” ได้รับการบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต และพระยาสุริยานุวัตรก็ได้เขียนทรัพย์ศาสตร์ เล่ม ๓ ออกมาในชื่อ เศรษฐศาสตร์และการเมือง

    หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ถึงแก่กรรมในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๗๙ เหลือทิ้งไว้แต่มรดกล้ำค่าที่คนจะจดจำไปตลอดกาล นั่นคือหนังสือที่ชื่อ ทรัพย์ศาสตร์


    อรุณรุ่งแห่งเสรีภาพ

    การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนสำนึกของผู้คนและเป็นการทำลายทำนบของการห้ามหนังสือจำนวนมาก

    “ผมกับเพื่อนรุ่นหนุ่มอีกสองสามคนชักชวนกันแสวงหาคำตอบจากหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเดิมโรงเรียนห้ามไม่ให้อ่าน เพราะเป็นบาป เช่น หนังสือของรุสโซ วอลแตร์ โซลา และหนังสือประวัติการปฏิวัติของฝรั่งเศส”
    ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (๒๕๑๕)

    การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร ไม่เพียงแต่เปลี่ยนอำนาจการเมืองเท่านั้น แต่ความคิดความรู้ของผู้คนจำนวนมากก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้น ม. ๘ โรงเรียนอัสสัมชัญ หันมาสนใจการบ้านการเมืองมากขึ้น พร้อม ๆ กับการขวนขวายอ่านหนังสือที่ถูกประทับตราว่าเป็นหนังสือต้องห้ามของโรงเรียนโรมันคาทอลิกอย่างอัสสัมชัญ

    ทว่าช่วงเวลาของเสรีภาพต้องสะดุดเมื่อหนังสือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ออกมา เอกสารภายในที่จัดพิมพ์ไม่เกิน ๒๐๐ เล่ม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ปีปฏิทินเก่า) ได้ก่อให้เกิดความเห็นแตกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่านี่จะเป็นหนทางนำความผาสุกมาสู่สยาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่านี่เป็นโครงการของคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นจนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ต้องทำการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ โดยการ “ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖

    และในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการประกาศใช้ “กฎหมายคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีไว้เล่นงานนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ จนมีการประกาศห้ามหนังสือสมุดปกเหลืองด้วยเหตุว่า “แสลงไปในทางการเมือง...เหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์”

    นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ จากนั้นในวันต่อมาก็มีหนังสือ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ออกมาแจกจ่ายจำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม เนื้อหาในเล่มมุ่งโจมตีนายปรีดี เช่นข้อความที่ว่า “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลิน”

    ถึงแม้ต่อมาอำนาจการเมืองจะหมุนกลับมาที่คณะราษฎรจากการยึดอำนาจคืนในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลับแก้ปัญหาด้วยการขอร้องมิให้รื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาอีก โดยบอกว่า “ช่วยกันปล่อยให้ลืมเสียเถิด เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง”

    หลังจากนั้นสมุดปกเหลืองก็หายไปจากการเมืองไทยกว่า ๒๐ ปี ขณะที่ข้อหาคอมมิวนิสต์ได้ติดตัวนายปรีดีไปตลอดชีวิต

    แต่สมุดปกเหลืองก็เป็นจุดสะดุดเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้เป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้” ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ วิชา “ต้องห้าม” เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ฯลฯ ก็เปิดสอนอย่างเปิดเผย และการเป็นตลาดวิชาก็ทำให้มีผู้สมัครเรียนในปีแรกถึง ๗,๐๔๙ คน หนึ่งในนั้นคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเรียนอัสสัมชัญผู้ได้รับผลสะเทือนโดยตรงจากการปฏิวัติสยาม


    มรดกจอมพล ป. พิบูลสงคราม

    สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นข้ออ้างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้เพื่อออก พ.ร.บ.การพิมพ์ มาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน กฎหมายดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ในภาพคือกองทัพญี่ปุ่นที่เดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปยึดมลายูในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

    “เพราะเรามีนักการเมืองที่ใจแคบและมีความคิดบ้องตื้นเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ของเราจึงต้องเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา”
    กุหลาบ สายประดิษฐ์ (๒๕๐๐)

    การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วม ๑๖ ปี ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒๔๘๑-๒๔๘๗, ๒๔๙๑-๒๕๐๐) มีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย หลายอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันเป็นผลผลิตมาจากการเมืองยุคนั้น และหนึ่งในนั้นคือ “แอก” สำคัญของสิ่งพิมพ์ปัจจุบัน นั่นคือ พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔

    ยุคแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒๔๘๑-๒๔๘๗) เริ่มต้นด้วยการจับกุมฝ่ายตรงข้ามและตั้งศาลพิเศษพิพากษาประหารนักโทษการเมืองรวม ๑๘ คน พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางการทหารและต่อต้านคนจีน

    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้นในยุโรปเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๒ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่ก็ได้อาศัยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงออก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ เนื้อหาใจความของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา ๙ ที่ระบุว่า เมื่อเห็นว่าสิ่งพิมพ์ใด “อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็สามารถ “ห้ามการขายหรือจ่ายแจก และให้ยึดสิ่งพิมพ์นั้น” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการห้ามหนังสือภาษาจีน เช่น เลียกลือท้วน ตงกกชุดโล่ว ฯลฯ

    เพียง ๒ เดือนให้หลัง ญี่ปุ่นก็บุกไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่รัฐบาลกลับร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดขบวนการใต้ดินต่อต้านรัฐบาลและขับไล่กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลถือโอกาสนี้เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ทุกประเภทหนักมือยิ่งขึ้น ข่าวการเมืองทุกชิ้นต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อนตีพิมพ์ รวมทั้งมีการ “บังคับ” ให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความโฆษณารัฐบาลที่หน้าปกทุกฉบับ เช่น “เชื่อผู้นำทำให้ชาติพ้นภัย” “ความปลอดภัยของชาติอยู่ที่เชื่อผู้นำ” ฯลฯ

    ในช่วงนั้นถ้าจะเผยแพร่ความคิดโดยเสรีก็ต้องทำหนังสือ “ผิดกฎหมาย” เช่น มหาชน ฉบับใต้ดิน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีไว้เพื่อต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. และกองทัพญี่ปุ่นโดยตรง

    ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจอยู่ในมืออย่างล้นเหลือ แต่จอมพล ป. กลับแพ้ภัยตัวเองเมื่อแพ้การลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ จนต้องลาออกจากตำแหน่ง และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลเสรีไทยซึ่งได้นำประเทศไทยผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้

    รัฐบาลหลังสงครามได้เปิดเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น มีการยกเลิก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖ รวมทั้งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ทำคือยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ แม้รัฐบาลจะปล่อยให้มีการรวมกลุ่มทางการเมืองอย่างเปิดเผย แต่เสรีภาพทางการเมืองก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ หุ่นเชิดจนถึงปี ๒๔๙๑ ต่อมาจอมพล ป. ก็กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

    ยุคที่ ๒ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒๔๙๑-๒๕๐๐) เริ่มต้นด้วยการสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเช่นเดิม แต่ครั้งนี้การต่อต้านมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำการต่อต้านในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนแล้ว นักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีการจับกุมครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ หรือที่รู้จักกันในนาม “กบฏสันติภาพ” พร้อม ๆ กับการกลับมาของ พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ในอีก ๓ วันต่อมา

    สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ ยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นระหว่าง “โลกเสรี” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับ “โลกคอมมิวนิสต์” ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ โดยที่รัฐบาลไทยมีจุดยืนเคียงข้างสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่หนังสือต้องห้ามกว่า ๒๕๐ รายการส่วนใหญ่มาจากสหภาพโซเวียต เช่น รวมเรื่องสั้นของกอร์กี้ โดย แมกซิม กอร์กี้ ลัทธิมาร์คซ์และการปฏิวัติ โดย เลนิน ความหมายสากลแห่งการปฏิวัติเดือน ๑๐ โดย สตาลิน

    แต่อำนาจเผด็จการก็ไม่สัมบูรณ์ ขณะที่นโยบายรัฐบาลคล้อยตามสหรัฐอเมริกาอยู่นั้น แนวคิดสังคมนิยมก็ถูกจุดให้เป็นทางเลือกของสังคมผ่านนักคิดนักเขียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ พวกเขาไม่เพียงแต่มีฝีไม้ลายมือในการขีดเขียนเท่านั้น แต่ข้อเขียนที่สื่อออกสาธารณะยังกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความฉ้อฉลของรัฐบาลและปลุกให้คนไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ

    จนเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ทำการรัฐประหาร เป็นการปิดฉากทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีมรดกชิ้นสำคัญที่ทิ้งไว้คือ พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “ห้ามหนังสือ” มาจนถึงปัจจุบัน


    ยุคสมัยแห่งความเงียบ

    จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ จับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากไว้ในคุกลาดยาวโดยไม่มีการสอบสวน แต่ก็เป็นเพียงการจับกุมทางกายภาพเท่านั้น เพราะนักคิดนักเขียนเหล่านี้ยังเต็มเปี่ยมด้วยความคิดและอุดมการณ์

    ต่อมา การ “รัฐประหารตัวเอง” ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ก็ได้นำมาสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และพรรคการเมือง พร้อม ๆ ไปกับการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองแทบทุกด้าน สฤษดิ์สั่งจับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก คนที่เหลือถ้าไม่ลี้ภัยทางการเมืองก็ต้องยุติบทบาททางการเขียนลง หรือหากจะอยู่บนเส้นทางวรรณกรรมต่อไปก็ต้องเปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวโรแมนติก เช่นกรณีของ “รพีพร” หรือ สุวัฒน์ วรดิลก

    สิ่งที่ขาดไม่ได้ของรัฐเผด็จการทุกแห่ง คือการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ และประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม

    แต่ในยุคนี้ จากจำนวนหนังสือต้องห้ามทั้งหมดกว่า ๓๕๐ รายการ (ระหว่างปี ๒๕๐๑-๒๕๑๖) กลับมีหนังสือของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าถูกห้ามเพียง ๒ เรื่องเท่านั้น คือนวนิยาย แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา และงานแปล ประวัติจริงของอาQ แต่งโดย หลู่ซิ่น ที่เหลือ ถ้าไม่ใช่หนังสือโป๊ซึ่งมีทั้งไทยและเทศ ก็เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่เป็นภาษาจีนก็เป็นภาษาอังกฤษ

    การห้ามหนังสือในยุคนี้จึงมิได้เกิดจากผลทางกฎหมายเท่านั้น แต่มาจากความหวาดกลัวต่ออำนาจที่มีอย่างล้นเหลือของสฤษดิ์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่นักเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ร้านหนังสือด้วย

    จริงอยู่ที่อำนาจเผด็จการอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะห้ามหนังสือ เพราะถ้ามีคนต้องการอ่าน ก็ต้องมีคนผลิต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม แต่ที่สฤษดิ์ทำสำเร็จคือการสะกดความใฝ่ฝันของสังคมโดยทำให้หนทางอื่นที่ไม่ใช่หนทางเผด็จการเป็นไปไม่ได้ พร้อมกับเสนออุดมการณ์ “พัฒนา” มาเป็นหนทางไปสู่การสร้างความสำเร็จให้แก่สังคม ผ่านการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี ๒๕๐๔

    นี่คงเพียงพอที่จะอธิบายว่า ทำไมแผงหนังสือจึงไม่มีที่ว่างให้หนังสือที่ท้าทายอำนาจเผด็จการ

    ประวัติจริงของอาQาQ ซึ่งแปลมาจากงานเขียนของหลู่ซิ่น เป็น ๑ ใน ๒ เล่มงานเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกห้ามในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

    แต่ก็ใช่ว่างานเขียนของฝ่ายก้าวหน้าจะสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะนักคิดนักเขียนจำนวนมากยังคงผลิตงานของตนอยู่อย่างเงียบ ๆ ในคุกลาดยาว เหมือนรู้ว่าสักวันหนึ่งงานเขียนเหล่านั้นมันจะได้ใช้

    ประจักษ์ ก้องกีรติ เรียกสิ่งที่รัฐเผด็จการของสฤษดิ์กระทำต่อนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าว่าเป็นการ แยก “ปัญญาชน” ออกจาก “สาธารณะ” ซึ่งแม้ว่าจะมิได้ทำลายชีวิตทางกายภาพ แต่ก็เท่ากับทำลายชีวิตทางการเมืองวัฒนธรรมซึ่งสำคัญยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตในฐานะปัญญาชน ทำให้พวกเขาตายจากสาธารณะ หรือหมดบทบาทของการเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual)

    แต่อำนาจเผด็จการที่ไหนก็ไม่ยั่งยืน หลังอสัญกรรมของสฤษดิ์ พืชพันธุ์แห่งการต่อต้านเผด็จการก็ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่ก่อตัวจากกลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมตัวมาเป็นองค์การนักศึกษา และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จนเกิดเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่ล้มอำนาจเผด็จการที่สืบทอดมานานนับสิบปี


    หนึ่งเดียว หลัง ๑๔ ตุลา

    เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ได้ทำลายเผด็จการทหารที่ครอบงำการเมืองไทยมากว่า ๒ ทศวรรษ และเป็นการรื้อฟื้นหนังสือต้องห้ามจำนวนมากให้กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง

    ตลาดหนังสือหลัง ๑๔ ตุลา มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่อง “ปริมาณ” ที่มีการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์อิสระ ที่มุ่ง “ขาย” ความคิดมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ “คุณภาพ” ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ๑๔ ตุลานำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของสังคมไทย

    ๑๔ ตุลายังนำมาซึ่งการปลดปล่อยงานเขียนในทศวรรษ ๒๔๙๐ ที่ถือเป็นงาน “ต้องห้าม” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นับเฉพาะหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์นับหมื่นเล่มในเวลาไม่กี่เดือน จนต้องมีการจัดสัมมนาว่าด้วยหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ

    แต่ ๑๔ ตุลาก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อความดำมืดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ นั่นคือ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙

    กลางปี ๒๕๑๗ วิวาทะว่าด้วยกรณีสวรรคตก็เริ่มขึ้น เมื่อหนังสือ กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ โดย สรรใจ แสงวิเชียร วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้ตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคต หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของ สุพจน์ ด่านตระกูล ก็ออกมาโต้อย่างทันควัน สุพจน์นอกจากเสนอว่าปรีดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ยังขยับไปอีกขั้นว่าใครน่าจะมีส่วนบ้าง หนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็วและตามมาด้วยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตอีกจำนวนมาก

    และในบรรดาหนังสือว่าด้วยกรณีสวรรคต เล่มที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กงจักรปีศาจ ซึ่งแปลมาจาก The Devil’s Discus ของ เรย์น ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ความจริงแล้วฉบับภาษาอังกฤษนั้นถูกจัดเป็น “สิ่งพิมพ์ที่ห้ามเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร” ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ หรือแทบจะทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย เพียงแต่ครั้งนั้นหนังสือเล่มนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษและช่วงเวลานั้นยังอยู่ในยุคเผด็จการ

    กงจักรปีศาจ แปลโดย เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. จัดพิมพ์โดยชมรมนักศึกษากฎหมาย ด้านหลังบอกว่า “พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่งคดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ บริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย”

    ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้เริ่มจากนายปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้อง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก ในข้อหาหมิ่นประมาทว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต โดย กงจักรปีศาจ ฉบับแปลนี้เป็นเอกสารประกอบการฟ้อง และเมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว เอกสารสำคัญนี้ก็เหมือนได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมายระดับหนึ่ง หลังจากนั้น กงจักรปีศาจ (ฉบับโรเนียว) ก็เผยแพร่อยู่ในวงแคบ ๆ ในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ก่อน ๑๔ ตุลา

    แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อร่วมวิวาทะกับหนังสือกรณีสวรรคตเล่มอื่น ๆ ทางคณะผู้จัดพิมพ์กลับเปลี่ยนใจ “ถอด” เนื้อหาในส่วนแรก (๑๖ หน้า) ที่ประกอบด้วยชื่อผู้รับผิดชอบและคำชี้แจงในการจัดพิมพ์ออก พร้อม ๆ กับแปรสภาพให้ กงจักรปีศาจ เป็นหนังสือใต้ดิน ที่แม้ไม่วางขายทั่วไปแต่ก็เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

    ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อมีการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม จะมี กงจักรปีศาจ รวมอยู่ด้วย


    เผาคน (แล้ว) เผาหนังสือ

    นักศึกษาผู้เคราะห์ร้ายถูกฝูงชนทุบตีและนำมาเผาบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่แล้ว ยังนำมาสู่การห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยอีกด้วย ดังภาพล่างซึ่งเป็นหนังสือจำนวนมากที่รอการทำลาย

    ภายหลังจากอาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อนิสิตนักศึกษาด้วยการล้อมปราบและทารุณกรรมในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้ว ตกค่ำ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและนำประเทศเข้าสู่การปกครองระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง

    ในคืนนั้นเอง คณะปฏิรูปฯ ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ และตั้งคณะกรรมการซึ่งมีนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นประธาน เพื่อพิจารณาคำร้องว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ควรได้ดำเนินการต่อไป ผลปรากฏว่า ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ฯลฯ ถูกลบออกจากสารบบหนังสือพิมพ์ไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนฉบับที่เหลือก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทุกครั้งที่ตีพิมพ์

    ในคำสั่งเดียวกัน คณะปฏิรูปฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ริบหรือทำลายหนังสือที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความแตกสามัคคีในชาติและทำให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ เท่านั้นยังไม่พอ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๓ ได้มีการออกประกาศ ๔ ฉบับ ระบุรายชื่อสิ่งพิมพ์ต้องห้ามรวมแล้ว ๒๑๙ รายการ ซึ่งนับเป็นการห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย

    เมื่อผสานกับนโยบายการปราบปรามอันเข้มงวด ก็ทำให้ประชาชนต้องนำหนังสือมาทำลายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ย้อนนึกไปยังสมัยพระเจ้าปราสาททอง เพียงแต่เปลี่ยนจากหนังสือคุณไสยมาเป็นหนังสือการเมืองเท่านั้น

    เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้มีอำนาจสมัยนั้นมิได้มีความรู้ในการห้ามเสียด้วยซ้ำ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อผู้เขียน เช่น จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม โดย ปรีดี พนมยงค์ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อหนังสือ เช่น ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง ของ สุเทพ สุนทรเภสัช กระบวนการห้ามหนังสืออย่างบ้าคลั่งนี้ทำให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ถึงกับทิ้งงานวิชาการโดยสิ้นเชิง เมื่อ กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย ของเขาได้กลายเป็น ๑ ใน ๒๑๙ หนังสือต้องห้าม

    นอกจากการห้ามหนังสืออย่างเป็นทางการแล้ว เอกสารราชการจำนวนมากที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือหน่วยงานราชการอื่น ที่เคยเปิดให้ใช้ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็ถูก “ห้าม” เช่นเดียวกัน ทั้งที่เอกสารเหล่านั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่น การเจรจาเขตแดนกับอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัย ร. ๕ ซึ่งส่งผลสำคัญต่อวงวิชาการเป็นอย่างมาก

    แต่เมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงทั้งในระดับประเทศและสากลในต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ หนังสือต้องห้ามหลายเล่มก็ได้ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้งแต่กลับไม่คึกคักเหมือนเคย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีอารมณ์ร่วมในการอ่านหนังสือเหล่านี้อีกต่อไปจึงไม่คุ้มที่จะพิมพ์ออกมาในเชิงธุรกิจ มันจึงปรากฏอยู่เพียงตามร้านหนังสือเก่าทั้งที่รัฐเองก็อนุญาตอยู่กลาย ๆ เพราะใน พ.ศ. นี้ คอมมิวนิสต์มิใช่ภัยของรัฐอีกต่อไป การออก “พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๓ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙“ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็เป็นเพียงการอนุญาตอย่างเป็นทางการเท่านั้น


    ต้องห้าม เพราะถามไม่ตรงคำตอบ

    ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติยังมีเอกสารที่ “งดให้บริการ” จำนวนมาก ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวไม่อาจนำมาอ้างได้ เพราะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร จึงไม่มีคำชี้แจงใด ๆ สำหรับการ “งดให้บริการ” นี่เป็นอีกหนึ่งของความรู้ที่ยังคงถูกจองจำ

    “วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ?”
    ปกหลัง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (๒๕๓๘)

    เมื่อคอมมิวนิสต์ไม่เป็นภัยคุกคามแล้ว การห้ามหนังสือก็ดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่จู่ ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์การห้ามโดย “ภาคประชาชน” มูลเหตุเกิดจากข้อความสั้น ๆ ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ ว่า “วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ?”

    นี่มิใช่คำถามใหม่ แม้แต่ปราชญ์สยามอย่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เคยทูลถามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ...ไม่เห็นว่าแสดงแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ”

    แต่สายพินไปไกลกว่านั้นด้วยคำถามใหม่ ๆ เช่น ทำไมจึงต้องเร่งสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นในปี ๒๔๗๗, ทำไมต้องเร่งเปิดอนุสาวรีย์ทั้งที่เป็นเพียงรูปปูนปลาสเตอร์ปั้นแล้วทาสีทองทับเท่านั้น, เหตุใดต้องเปลี่ยนท่าทางของท้าวสุรนารี ฯลฯ

    จากคำถามเหล่านี้ สายพินได้เริ่มค้นหาคำตอบด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์จนพบว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในทศวรรษ ๒๔๗๐ และนั่นก็คือที่มาที่ทำให้ท้าวสุรนารีเป็นสามัญชนคนแรกที่ทางการสร้างอนุสาวรีย์ให้

    งานวิจัยชิ้นนี้ได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๓๖ และอีก ๒ ปีต่อมา สำนักพิมพ์มติชนก็ได้นำมาปรับปรุงเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ก็มีชาวโคราช ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ออกมาประท้วงผู้เขียนและสำนักพิมพ์ว่าลบหลู่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เคารพ ก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคม พร้อมทั้งข่มขู่ว่า หากย่างเท้าเข้ามาเมืองโคราชจะถูก “ต้อนรับ” อย่างสาสม มีการรวมพลังคนนับหมื่นที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทำให้สำนักพิมพ์มติชนต้องเก็บหนังสือออกจากท้องตลาด ขณะที่ผู้เขียนก็ถูกย้ายจากโรงเรียนสะแกราชธวัชศึกษา อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา

    สายพินสรุปว่าเรื่องของท้าวสุรนารียังคงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ช่วยให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยการค้นหา “ความจริง” มาโต้แย้ง “ความจริง” ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์

    นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่หนังสือเรื่องเดียวกัน เมื่ออยู่ใน “พื้นที่” มหาวิทยาลัย ใน “รูปแบบ” วิทยานิพนธ์ ไม่มีปัญหา แต่เมื่อกลายเป็นหนังสือเล่มวางขายทั่วไปในท้องตลาด กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ความผิดของหนังสือเล่มนี้คืออยู่ผิดที่ผิดทาง หรือว่าอยู่ในสังคมที่ไม่ยอมรับความเชื่อที่แตกต่าง และพร้อมที่จะจัดการความเชื่อที่แตกต่างด้วยกำลัง

    ผลจากกรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดขนบบางอย่างขึ้นในการทำงานวิชาการว่า บางเรื่อง “ไม่เชื่อก็อย่า (แม้แต่) ตั้งคำถาม”


    ไม่ห้ามหนังสือ ใช่ว่าไม่มีหนังสือต้องห้าม

    นอกจากหนังสือที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีหนังสือต้องห้ามเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ขณะที่ตลาดหนังสือก็ขยายตัวมากขึ้น รายงาน “ที่สุดในธุรกิจหนังสือ ปี ๒๕๔๘“ ของซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ พบว่า ในปีที่ผ่านมามีหนังสือไปขอเลขมาตรฐานประจำหนังสือ ๓๙,๘๕๐ ปก หรือเฉลี่ยมีหนังสือออกใหม่วันละ ๑๐๙ ปก (ตัวเลขนี้รวมทั้งวิทยานิพนธ์ หนังสือราชการ หนังสืองานศพ ที่ไม่เข้าสู่ระบบตลาดด้วย) และมีหนังสือเข้าร้านซีเอ็ด ๑๑,๖๕๑ ปก เฉลี่ยวันละ ๓๑.๙ ปก

    หนังสือขายดี ๕ อันดับแรก คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม ๖, เกิดแต่กรรม เล่ม ๑, เล่ม ๒, เข็มทิศชีวิต และ คู่มือ Windows XP ฉบับสมบูรณ์ ขณะที่ประเภทของหนังสือที่คนไทยซื้ออ่านมากที่สุด คือ หนังสือเด็ก, วรรณกรรม, คู่มือเตรียมสอบ และคอมพิวเตอร์ และถ้ารวมงาน “มหกรรมหนังสือ” ที่จัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี ที่มีคนเข้างานหลายแสนคนและมียอดขายหลายร้อยล้านบาทแล้ว ก็นับได้ว่าสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น

    แต่ถ้าพิจารณาเรื่องความหลากหลายแล้วกลับพบว่า มิได้ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหนังสือ

    ขณะที่นวนิยายแปลอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ มียอดขายเป็นอันดับ ๑ แต่ Don Qvixote de la Mancha นวนิยายที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก ต้องใช้เวลาถึง ๔๐๐ ปีกว่าจะมีต้นฉบับพากย์ไทยชื่อ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ถ้ามิใช่โอกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน กาลอส ที่ ๑ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ก็ไม่แน่ว่าคนไทยจะได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกชิ้นนี้หรือไม่

    ขณะที่ พระราชอำนาจ หนังสือการเมืองที่ตอกย้ำแนวคิดประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ที่เป็นเรื่องเล่าสมัยใหม่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ ขายดีเป็นอันดับที่ ๘ แต่หนังสือที่ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคยอย่าง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลับไม่มีให้เห็นตามแผง

    ขณะที่หนังสือวัยใส แนวรักกุ๊กกิ๊ก ครองอันดับ ๑ หนังสือขายดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ด้วยส่วนแบ่งสูงถึง ๓๐ % แต่หนังสือที่เป็นปากเสียงของเยาวชนไทยกลับไม่มีให้เห็น

    ขณะที่นิตยสารบันเทิง นิตยสารผู้หญิง-ความงาม เปิดตัวกันอย่างคึกคักทั้งหัวในและหัวนอก แต่นิตยสารที่ว่าด้วยการเมือง สารคดี สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ กลับหยุดนิ่ง และบางฉบับต้องปิดตัวลง

    ขณะที่หนังสือประเภท “รู้ทันทักษิณ” มีให้เห็นกันเกลื่อนแผง แต่กว่าที่จะมีปรากฏการณ์อย่างนี้ก็ต้องรอให้ขึ้นปีที่ ๔ ของการบริหารประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

    ปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ออกมาชื่นชมและให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่หนังสือที่ออกมาตั้งคำถามกับความถูกต้องชอบธรรมของการรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมายังไม่ปรากฏ

    สังคมใดที่ขาดความหลากหลาย สังคมนั้นก็จะขาดโอกาสและภูมิคุ้มกันเมื่อประสบกับภัยที่คาดไม่ถึง เช่นเดียวกับวงการหนังสือ ถึงแม้จะมีหลายเหตุผลมารองรับปรากฏการณ์ข้างต้น เช่นเหตุผลทางเศรษฐกิจ (ความคุ้นทุน) การเมือง (สถานการณ์บ้านเมือง) หรือวัฒนธรรม (การยอมรับของคนในสังคม) แต่ทั้งหมดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ “ห้ามหนังสือ” จำนวนมากมิให้ออกมาเป็นทางเลือกของสังคม และถ้าปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นไปในทิศทางนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่าหนังสือจะเป็นเพียงสถาบันที่ผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อเดิมของสังคม

    และเมื่อนั้น...

    ผู้ปกครองต่างยินดีที่มี “หนังสือต้องห้าม” โดยที่ไม่ต้อง “ห้ามหนังสือ”

    หนังสือประกอบการเขียน
    • กำธร เลี้ยงสัจธรรม. “กรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓“. ศิลปวัฒนธรรม ๒๖:๒ ธันวาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๐๐-๑๑๒.
    • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. “ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของพระยาสุริยานุวัตร”. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๙:๑๒ กันยายน ๒๕๑๗.
    • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. เทียนวรรณและ ก.ศ.ร. กุหลาบ. กรุงเทพฯ : ธีรนันท์, ๒๕๒๒.
    • ณัฐพล ใจจริง. “วิวาทะของหนังสือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และพระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ”. จุลสารหอจดหมาย เหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๔-พฤษภาคม ๒๕๔๕.
    • ธเนศ วงศ์ยานนาวา. “ภาพตัวแทนของตูด”. ใน เผยร่างพรางกาย. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : คบไฟ, ๒๕๔๑.
    • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ บุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์. “พิเคราะห์หนังสือต้องห้ามของไทย”. รัฐศาสตร์สาร ๑๙:๓ (๒๕๓๙).
    • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ประณามพจน์หนังสือ”. มติชนสุดสัปดาห์ ๒๕:๑๓๐๘ ๙ กันยายน ๒๕๔๘, หน้า ๓๓.
    • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “เรื่องโป๊ ๆ เปลือย ๆ”. ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘.
    • ประจักษ์ ก้องกีรติ. “๘๖ ปีหนังสือนักศึกษา: ชีวประวัติหนุ่มสาวสยามฉบับลาย ลักษณ์”. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๓– พฤษภาคม ๒๕๔๔.
    • ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘.
    • ป๋วย อึ๊งภากรณ์. “แตกเนื้อหนุ่มเมื่อ ๒๔๗๕“. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๖:๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๕.
    • มุกหอม วงษ์เทศ. “มนุษย์-ต้อง-(ถูก) ห้าม”. ศิลปวัฒนธรรม ๒๖:๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘.
    • วิทยากร เชียงกูล. สารานุกรมแนะนำหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๒.
    • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต”. ประวัติศาสตร์ ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ : ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๔๔.
    • สัญลักษณ์ พงษ์สุวรรณ. “ปกสียุคแรก”. Thaicoon (ปักษ์หลัง) มิถุนายน ๒๕๔๔.
    • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. “หนังสือ เจ้าของ และห้องสมุด”. สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๖๗ มกราคม ๒๕๔๒.
    • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. “หนังสือต้องห้าม ‘หนังสือที่เลวที่สุดเล่มหนึ่ง...มันดีเกินไป’”. สารคดี ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๔๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐.
    • “ ‘หนังสือโป๊’ ไม่มีวันตาย !?”. ผู้จัดการรายวัน ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๗.
    • อัลแบร์โต แมนเกล. โลกในมือนักอ่าน. แปลโดย กษมา สัตยาหุรักษ์. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.


    ขอขอบคุณ : บทความที่เขียนในเวลาที่ยุ่งเหยิงคงจะสำเร็จลงมิได้ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือในต่างกรรมต่างวาระจาก หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ คุณวิชัย นภารัศมี อ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ คุณณัฐพล ใจจริง คุณธิติ ภัทรยลรดี คุณชาตรี ลีศิริวิทย์ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช คุณกำธร เลี้ยงสัจธรรม คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ คุณประจักษ์ ก้องกีรติ คุณสุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คุณสรัญญา มูลมา และคุณชญานิษฐ์ ดุลยเกษม

    หนังสือนักศึกษา สมรภูมิแห่งการห้าม (และการต่อต้าน) 

    นิยามสั้น ๆ ของหนังสือนักศึกษา คือ สิ่งพิมพ์ทุกชนิดที่จัดทำโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัย กำเนิดของมันมาพร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งมีอายุมากกว่า ๙ ทศวรรษ หนังสือนักศึกษาจึงเป็นบันทึกแห่งยุคสมัยที่บอกเรื่องราว ความคิด ความฝัน ของพวกเขา/เธอ และแน่นอนระยะเวลาที่ยาวนานนั้นก็ได้บอกเล่าเรื่องราวของการ “ห้ามหนังสือ” ไว้ด้วย

    หากจะนับ หนังสือพิมพ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งจัดทำโดยนิสิตแผนกรัฏฐประศาสน์ศึกษาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ฉบับปฐมฤกษ์ ๑ มกราคม ๒๔๕๗ ว่าเป็นหนังสือนักศึกษาเล่มแรกแล้ว มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถูกบันทึกว่าเป็น “หนังสือ (นักศึกษา) ต้องห้าม” เล่มแรกด้วยเช่นกัน

    จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตอักษรศาสตร์ สาราณียกรหนังสือเล่มนี้ ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่หน้าปกซึ่งจะต้องเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเพียงลายพระหัตถ์ “สยามินทร์” โดยมีพื้นสีดำและวงกลมที่แทนการหมุนไปของโลกและจักรวาล ขณะที่เนื้อหาแต่เดิมคือการเน้นย้ำถึงระบบโซตัส ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

    แต่หนังสือเล่มนี้ถูกมหาวิทยาลัยระงับการพิมพ์ และเปลี่ยนตัวสาราณียกร จิตรถูกลงโทษด้วยการพักการเรียน และถูกเพื่อนนิสิตพิพากษาด้วยการ “โยนบก” ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ แม้หนังสือจะจัดพิมพ์ออกมา แต่ก็ได้มีการตัดบทความในเล่มออกถึง ๒๔ เรื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาหน้าปกด้วยการเจาะวงกลมแล้วสอดพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้ที่ใบรองปก เพื่อให้ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิม

    มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ฉบับที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกรจึงกลายเป็น “หนังสือ (นักศึกษา) ต้องห้าม” เล่มแรกที่โด่งดังที่สุด แต่ไม่เคยมีใครได้ครอบครอง

    หลังจากนั้นหนังสือนักศึกษาก็มีบทบาทนำในการเสนอประเด็นทางสังคมที่แหลมคม พร้อม ๆ ไปกับการเผชิญกับแรงเสียดทานจากวัฒนธรรมเดิม มหาวิทยาลัยศิลปากร รับน้องใหม่ ๒๕๐๐ ซึ่งตั้งคำถามกับคุณค่างานศิลปะ ก็ถูกเพื่อนนักศึกษารุมฉีกและนำไปเผา ด้วยเหตุว่าไม่ลงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กลับไปลงรูปคนต่ำ ๆ (หมายถึงรูปปั้นกลุ่มชาวนาของ ชลูด นิ่มเสมอ) หรือ ธรรมศาสตร์ ฉบับธรรมศาสตร์สามัคคี (๒๕๐๐) ที่หน้าปกเป็นรูปกรรมกรชายหญิง ชูโลกไว้โดยมีนกพิราบบินอยู่ข้างบน ก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกัน

    แต่นั่นก็ไม่เลวร้ายเท่ากับการที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ มีการจับกุมนักคิดนักเขียน ใช้มาตรา ๑๗ ประหารชีวิตผู้มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเอง ปิดหนังสือพิมพ์เป็นว่าเล่น ร่องรอยความเป็นเผด็จการของสฤษดิ์เห็นได้จาก ธรรมศาสตร์ ฉบับ ธรรมศาสตร์สามัคคี (๒๕๐๑) ที่เต็มไปด้วยรอยขีดฆ่า และถือว่านี่เป็นการปิดยุคทองของหนังสือนักศึกษาไปพร้อมกัน เพราะหลังจากนั้นบรรยากาศของสังคมไทยก็ได้เข้าสู่ยุค “ความเงียบ”

    หลังอสัญกรรมของสฤษดิ์ในเดือนธันวาคม ๒๕๐๖ ได้เกิดวัฒนธรรม “หนังสือเล่มละบาท” ที่จัดทำโดยนักศึกษากลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลักษณะเด่นของ “หนังสือเล่มละบาท” คือการทำเอง ขายเอง และภายในเล่มอัดแน่นไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการอย่างเผ็ดร้อน

    ๗ สถาบัน ที่นำโดย พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร นักศึกษาแผนกอิสระวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นแถวหน้าของแนวรบด้านนี้ ท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการ ๗ สถาบัน ได้นำเสนอทั้งเรื่องราวภายนอก เช่นเรื่องสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นความจริงที่รัฐบาลต้องการปิดบัง และเรื่องภายในมหาวิทยาลัย เช่นการวิจารณ์ปัญหาน้ำท่วมถนนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งก็น่าจะไม่มีอะไรถ้าอธิการบดีเวลานั้นไม่ชื่อ จอมพล ประภาส จารุเสถียร) หลังจากนั้น ๗ สถาบัน ก็ปิดฉากลง แต่มันก็ยิ่งทำให้หนังสือนักศึกษาวิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาส รุนแรงยิ่งขึ้น

    หนังสือนักศึกษาเล่มสำคัญก่อนจะถึง ๑๔ ตุลา คือ มหาวิทยาลัย : ที่ยังไม่มีคำตอบ ของชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ออกมาภายหลังการต่ออายุราชการของจอมพล ถนอม กิตติขจร และนำข่าวอื้อฉาวเรื่องการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ มาลงประกอบ โดยเล่าถึงเรื่องนี้ด้วยประโยคง่าย ๆ ว่า

    สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่
    มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี
    เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
    เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ

    จะว่าไปแล้วข้อความแฝงอารมณ์ขันนี้เป็น “อุบัติเหตุ” เพราะขณะปิดต้นฉบับเหลือหน้าว่าง ๑ หน้าจึงได้ใส่ข้อความนี้เข้ามา แต่เผด็จการที่ไหน ๆ ก็ไม่มีอารมณ์ขัน จึงเป็นเหตุให้มีการลบชื่อคณะผู้จัดทำ ๙ คนออกจากการเป็นนักศึกษา เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การประท้วงใหญ่ครั้งแรกในรอบ ๑๕ ปี ในวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๖ ซึ่งนำมาสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาในเวลาต่อมา

    หลัง ๑๔ ตุลา ความร้อนแรงของหนังสือนักศึกษาได้ส่งต่อไปยัง หนังสือนักเรียน และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึง ศึก หนังสือประจำปี ๒๕๑๗ ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประชา สุวีรานนท์ สาราณียกร ได้เปลี่ยนทั้งรูปแบบและเนื้อหาหนังสือรุ่นธรรมดาเล่มหนึ่งมาเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาโจมตีระบบการศึกษาอย่างรุนแรงและเรียกร้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมทางการเมือง

    แต่เมื่อ ศึก ออกมากลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๗ ก็ได้มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งนำมาเผากลางสนามฟุตบอล ติดโปสเตอร์ประณามผู้จัดทำหนังสือทั่วโรงเรียน และพยายามทำร้ายคณะผู้จัดทำ นับว่าเป็นโชคดีของคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ที่หนีออกมาได้ เพราะมิเช่นนั้นเหตุการณ์เช่นเดียวกับการ “โยนบก” จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๒๑ ปีก่อนหน้า อาจจะกลับมาอีกครั้ง

    แต่เสรีภาพหลัง ๑๔ ตุลากลายเป็น “ฤดูกาลอันแสนสั้น” เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็มีการฆาตกรรมกลางเมืองหลวงในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ซึ่งย้อนยุคกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ หนังสือนักศึกษาต้องกลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปโดยปริยาย นักศึกษาจำนวนมากต้องหนีเข้าป่าเขา หนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ที่จัดทำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หลัง ๑๔ ตุลาก็ต้องกลายเป็น อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ ขณะที่การเคลื่อนไหวในเมืองต้องทำอย่างหลบซ่อน หนังสือนักศึกษาจึงต้องอำพรางตัวอยู่ในรูปหนังสือเตรียมสอบวิชาต่าง ๆ

    น่าเสียดายว่าภายหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง บทบาทของหนังสือนักศึกษากลับมิได้เป็นธงนำวิพากษ์วิจารณ์สังคมอีกต่อไป แต่นั่นก็ใช่ว่าบทบาทของหนังสือนักศึกษาจะสูญหายไปจากสังคมการเมืองไทย ตราบใดที่พวกเขายังมีความหวังในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่า
    หนังสือและหนังที่ว่าด้วยการห้ามหนังสือ 

    เพราะหนังสืออยู่เคียงคู่มากับอารยธรรมมนุษยชาติ ดังนั้นความรู้สึกของคนเราที่มีต่อหนังสือจึงไม่ใช่แค่วัสดุที่แบกเอาข่าวสารข้อมูลมาส่งให้เราเท่านั้น มนุษย์เกือบทุกสังคมได้ฝากฝังสิ่งที่ตนคิดว่ามีคุณค่าอย่างสูงไว้ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาอันลึกซึ้ง งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ หรือความรู้วิทยาการที่ตนค้นพบหรือสืบทอดมาไว้ในหนังสือแทบทั้งนั้น

    ดังนั้น การห้าม/ทำลายหนังสือ จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจจะยอมรับได้ มีวรรณกรรมจำนวนมากที่นำฉากการห้าม/ทำลายหนังสือ มาเป็นแกนในการดำเนินเรื่อง และเมื่อพูดถึงวรรณกรรมประเภทนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึง Fahrenheit 451 (1953) ของ เรย์ แบรดบิวรีย์ นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้เขียนได้จินตนาการถึงโลกเผด็จการในอนาคตที่หนังสือเป็นสิ่งต้องห้ามที่ผู้ปกครองต้องสั่งเผา ขณะคนที่รักหนังสือก็พยายามต่อต้านโดยการสร้างชุมชนที่ให้สมาชิกช่วยกันจำหนังสือที่ตัวเองชอบ เพื่อสืบทอดมรดกทางความคิดและจินตนาการของตนไว้ โดยตัวเลข “451” ผู้เขียนจงใจใช้เพื่อสื่อไปถึงอุณหภูมิที่เผากระดาษจนมอดไหม้

    ขณะที่ The Name of the Rose (1980) ของ อุมแบร์โต เอโก ก็มีฉากที่ว่าด้วยการห้ามหนังสือที่น่าสนใจ เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคกลางที่คริสต์ศาสนามีอำนาจครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ได้เกิดการฆาตกรรมต่อเนื่องในอารามแห่งหนึ่งในอิตาลี สาเหตุเนื่องมาจากนักบวชอดีตบรรณารักษ์ที่ชื่อ จอร์เก พยายามรักษาหนังสือต้องห้ามที่ว่าด้วยเรื่อง Comedy ของ อริสโตเติล เดิมเคยเชื่อกันว่าหนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนานแล้วและไม่มีใครเคยอ่าน แต่กลับมาปรากฏอยู่เล่มหนึ่งในหอสมุดของอารามแห่งนี้ สาเหตุที่ “ต้องห้าม” หนังสือเล่มนี้ก็เพราะว่าจอร์เกไม่ต้องการให้บรรดานักบวชในอารามได้อ่านเรื่องที่ว่าด้วยการหัวเราะ เพราะการหัวเราะเป็นการจาบจ้วงความจริงของพระเจ้า เป็นอันตรายต่อคริสต์ศาสนา อดีตบรรณารักษ์ตาบอดผู้ไม่มีอารมณ์ขันรูปนี้เลยวางยาพิษไว้ที่หน้ากระดาษ คนที่มาแอบอ่านจึงถูกยาพิษตาย

    นวนิยายทั้งสองเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว Fahrenheit 451 ซึ่งคณะบรรณารักษ์แห่งห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กเลือกเป็น ๑ ใน ๑๗๒ หนังสือดีในรอบศตวรรษ ประเภทโลกจินตนาการและโลกอนาคต และ “สิงห์สนามหลวง” ยกย่องว่าเป็น ๑ ใน ๑๐ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด ชาญ คำไพรัช แปลไว้ในชื่อ ฟาเรนไฮต์ ๔๕๑ อุณหภูมิเผาหนังสือ (๒๕๒๙) ส่วน The Name of the Rose ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกร่วมสมัยนั้น ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลไว้ในชื่อ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (๒๕๔๑)

    นวนิยายทั้งสองเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว โดย Fahrenheit 451 กำกับโดย ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ขณะที่ The Name of the Rose กำกับโดย ชอง-ชากส์ อันโนลด์ นำแสดงโดย ฌอน คอนเนรี, คริสเตียน สเลเตอร์

    หนังสือและหนังทั้งสองเรื่องนี้นอกจากจะเป็นรายชื่อแนะนำสำหรับหนอนหนังสือและนักชมภาพยนตร์แล้ว ยังเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในการสั่งห้ามหนังสือทุกคนจะต้องอ่าน/ดู เพื่อจะได้รู้ว่าคำสั่งห้ามหนังสือนั้นส่งผลต่อผู้เขียน/ผู้อ่านมากเพียงใด
    หนังสือโป๊ หนังสือต้องห้ามที่ (ไม่) รอวันตาย 

    เริ่มแรกหนังสือโป๊ (pornography) นั้นหมายถึงหนังสืออะไรก็ตามที่สั่นสะเทือนความเป็นระเบียบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นนวนิยายอีโรติก (ที่ไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวทางเพศเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะเปิดโปงพฤติกรรมที่เหลวแหลกของชนชั้นสูงด้วย) หนังสือต่อต้านศาสนา (คริสต์) หรือหนังสือปรัชญาการเมือง (ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ก็จัดว่าเป็นหนังสือโป๊ทั้งนั้น เชื่อกันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ๒๓๓๒ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นได้จากคุณูปการของหนังสือโป๊เช่นกัน

    กว่าที่นิยามหนังสือโป๊จะกลายมาเป็นเหมือนที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ก็ปาเข้าไปศตวรรษที่ ๑๙ แล้ว

    สำหรับสังคมไทยนั้น แม้จะมีความสนใจทางเพศและกามารมณ์ไม่ต่างจากที่อื่น ๆ แต่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อที่เห็นว่า “โป๊” เช่น ฉากสังวาสในวรรณกรรม จิตรกรรมฝาผนัง หรือเพลงพื้นบ้านที่ปรากฏใน “พื้นที่สาธารณะ” เป็นเพียง “อารมณ์ขัน” มิใช่เรื่องลามกอนาจาร เพราะสังคมไทยเก็บเรื่องนี้ไว้ใน “พื้นที่ส่วนตัว”

    ดังนั้นหนังสือโป๊ที่มุ่งในทางกามารมณ์จึงเป็นสิ่งที่รับจากภายนอกอย่างแน่นอน ส่วนจะเข้ามาเมื่อไรนั้นจำเป็นจะต้องสืบค้นกันต่อไป

    “หนังสือโป๊” เล่มแรกนั้นน่าจะได้แก่ พระตำหรับโยนี ที่พิมพ์ขึ้นใน ร.ศ. ๑๒๖ หนังสือขนาดเล็กเล่มนี้ตีพิมพ์เพียง ๒๐๐ ฉบับ และมีไว้สำหรับชนชั้นสูงในเวลานั้น เนื้อหาอ้างว่านำมาจากตำราของผู้ที่ได้เคยไปอินเดียและได้ศึกษาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะของร่างกายกับโชคชะตา (Physiognomy) ส่วนสำคัญของเล่ม คือการกล่าวถึงอวัยวะเพศหญิงและชาย เพื่อจำแนกลักษณะที่จะนำไปสู่ชะตากรรมที่แตกต่างกัน โดยภาษาที่ใช้ในเล่มนี้ก็เป็นภาษาปากอย่างที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

    ส่วนหนังสือโป๊ที่ว่าด้วยกามารมณ์โดยตรงนั้นเฟื่องฟูเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รู้จักกันในชื่อ “หนังสือปกขาว” ด้วยเหตุที่หน้าปกเป็นสีขาวและมีภาพผู้หญิงฝรั่งขึ้นหน้าปกพิมพ์สีเดียว การเป็นหนังสือ “ใต้ดิน” ทำให้เนื้อหาและภาษาที่ใช้ในหนังสือปกขาวนั้นตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีความงดงามทางวรรณศิลป์หรือการเปรียบเทียบใด ๆ ทั้งสิ้น (เพราะเนื้อหาประเภทนี้หาได้จากวรรณกรรมทั่วไป) นักเขียนที่มีชื่อที่สุดคือ “ช้างงาดำ”

    หนังสือปกขาวในยุคนั้นหาซื้อได้บริเวณแผงหนังสือท้องสนามหลวง ในราคาประมาณ ๒๐ บาทซึ่งในสมัยนั้นถือว่าแพงเอาการ ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม “ลงขัน” ซื้อมาอ่านของผู้มีรายได้น้อยหรือนักเรียนนักศึกษาในยุคนั้น

    เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาขึ้น ก็มาสู่ยุค “หนังสือปกสี” นอกจากเนื้อหาที่ยัง “เข้มข้น” เหมือนเดิมแล้ว ยังมีการนำภาพสี่สีทั้งที่ขโมยมาจากหนังสือต่างประเทศ หรือไม่ก็เป็นภาพถ่ายของนางแบบไทย มาลงประกอบไว้ด้วย

    เมื่อเทคโนโลยีใหม่คือ วิดีโอเทป ที่มีทั้งภาพ (เคลื่อนไหว) และเสียงเข้ามา ทำให้หนังสือปกสีต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการแบ่งเป็น ๒ ตลาดอย่างชัดเจน โดยตลาดบนมีการการลงทุนจ้างนางแบบ ถ่ายภาพ จัดฉาก อย่างเป็นระบบ พิมพ์สี่สีกระดาษอาร์ตมันทั้งเล่ม ขายในราคาหลักหลายร้อยบาท ขณะที่ตลาดล่างที่มุ่งเน้นผู้มีรายได้น้อย มีการแทรกหน้าสี่สีหน้ากลาง ส่วนเนื้อหาก็มีความหลากหลายขึ้นและมีหลายหัวให้เลือก

    ยุคที่หนังสือปกสีรุ่งเรืองนั้น มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากสนามหลวงมาสู่สวนจตุจักร และขยายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ สำหรับผู้ชายที่เคยไปเดินแผงหนังสือตลาดนัดสวนจตุจักรคงคุ้นเคยกับคำชักชวนที่ว่า “โป๊มั้ยพี่” กันดี เมื่อเข้าสู่ยุคสารสนเทศ มีอินเทอร์เน็ตที่เปิดทางเข้าสู่ “เว็บโป๊” มากมายทั้งไทยและเทศ และรวมทั้งมีแผ่นวีซีดีราคาถูก (และการทำสำเนาที่ง่ายขึ้น) ทำให้การแพร่หลายของ “หนังโป๊” เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทำให้วงการหนังสือโป๊ต้องเสียลูกค้าจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไร หนังสือโป๊ก็ยังเป็นสื่อที่ยังไม่ตาย คนชั้นล่างจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่สำหรับตลาดหนังสือโป๊ ขณะที่ “เกจินู้ด” อย่าง นิวัติ กองเพียร ก็ยืนยันว่า “หนังสือพวกนี้จะไม่หายไปจากโลก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน เพียงแต่ว่าเราไม่ยอมรับ สังคมไทยไม่ยอมรับเท่านั้น...”

    แน่นอนว่าหนังสือโป๊ไม่มีวันตาย แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าเสียดายก็คือ ขณะที่เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาสื่อต้องห้ามประเภทนี้ให้เหมาะสมได้ เรากลับต้องสูญเสียนักอ่านรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นชีวิตนักอ่านของตนจากการอ่าน “หนังสือโป๊” ไปจำนวนหนึ่งทีเดียว 

    การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๓๓๒ ซึ่งส่งผลต่อสำนึกและรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ หนังสือโป๊ (pornography) ที่หมายถึงหนังสือที่ต่อต้าน ขนบธรรมเนียมเดิม มีส่วนสำคัญยิ่งต่อเบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น
    จากหนังสือต้องห้ามสู่หนังสือดี : ความรู้ที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ 

    ปีเดียวกับการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ Board of Good Reading ได้คัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ เล่มของโลกตะวันตกขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ๕ ยุค คือ ยุคโบราณ, ยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ, คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘, คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเมื่อ ๓๗๓ ปีก่อนหน้านั้น ในโลกตะวันตกเช่นเดียวกัน ที่ประชุมศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้จัดทำ Index Librorum Prohibitorum ประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้ามที่ถือเป็นภัยต่อศรัทธาของชาวโรมันคาทอลิก โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา

    ในการคัดเลือกครั้งนี้มีหนังสือดีถึง ๑๗ เล่มที่เคยเป็นหนังสือต้องห้าม เช่น ในยุคกลางมี ยูโทเปีย (Utopia) ของ โทมัส มอร์ หนังสือที่เกี่ยวกับสังคมพระศรีอาริย์ซึ่งมนุษย์จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขด้วยเหตุและผล, ยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ มี A Discourse on Method ของ เรอเน เดการ์ต นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ว่าด้วยความสงสัยทางด้านวิทยาศาสตร์และตรรกะทางคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับปรัชญาเหตุผลนิยมสมัยใหม่, สัญญาประชาคม (Social Contract) ของ รุสโซ และ ก็องดิดด์ (Candide) ของ วอลแตร์ สองนักคิดคนสำคัญในการปูพื้นฐานทฤษฎีการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

    ยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มี กำเนิดของเผ่าพันธุ์ต่างๆ (The Origin of Species) ความเรียงชิ้นสำคัญของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและกฎการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับคำสอนของศาสนจักรที่ว่าพระเจ้าสร้างโลก, ทุน (Capital) ของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมและการขูดรีดแรงงานส่วนเกินจากชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มี จิตวิเคราะห์เบื้องต้น (Introduction to Psychoanalysis) ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่เสนอว่า การตีความความฝัน คือถนนสายพระราชาไปสู่ความเข้าใจกิจกรรมใต้จิตสำนึกของจิตใจ

    ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน ในปี ๒๕๔๒ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำ สารานุกรมแนะนำหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ขึ้น โดยหลักเกณฑ์หนึ่งในการคัดเลือกคือ จะต้องเป็นหนังสือที่โดดเด่น มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ความรู้สึก ของผู้อ่านจำนวนมากในยุคหนึ่ง ๆ และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในจำนวน ๑๐๐ เล่มที่เลือกมานี้ มีถึง ๗ เล่มที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามในวาระต่าง ๆ กัน คือ

    นิราศหนองคาย โดยนายทิม สุขยางค์ ที่นอกจากถูกห้ามโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๔๑๒ แล้ว เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา สิทธิ ศรีสยาม นำมาเขียนเป็น นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ก็ถูกห้ามอีกครั้งในปี ๒๕๒๓

    ทรัพย์ศาสตร์ โดยพระยาสุริยานุวัตร ถูกห้ามโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๔๕๔

    แลไปข้างหน้า โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกห้ามในปี ๒๕๐๑ และ ในปี ๒๕๒๓

    กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดย เหรียญ ศรีจันทร์ และ เนตร พูนวิวัฒน์ ถูกห้ามในปี ๒๕๒๐

    โฉมหน้าศักดินาไทย และ กวีการเมือง ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกห้ามในปี ๒๕๒๐

    พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก ถูกห้ามในปี ๒๕๒๓

    ถึงแม้ว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือดีทั้งสองประเภทนั้นยังมีข้อโต้แย้งอีกมาก แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราไม่อาจปล่อยให้ผู้มีอำนาจคนใด “ห้ามหนังสือ” ได้อีกต่อไป เพราะบทเรียนที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า หนังสือที่ “เลว” ของผู้มีอำนาจในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะเป็นหนังสือ “ดี” ในอีกยุคหนึ่งก็ได้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×