ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #49 : ข้าวในสำนวนไทย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 6.06K
      6
      17 ก.พ. 54

    ข้าวในสำนวนไทย

    คนไทยอยู่ในวัฒนธรรมข้าว จึงใช้คำว่า " ข้าว" เป็นความเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง ส่วนมากแล้วเราถือว่าข้าวเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ คนที่มี "เงินทองข้าวของ" ได้แก่ คนมั่งมี เพราะมีสิ่งของที่จัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกความร่ำรวย คือ เงิน ทอง ข้าว และ ของ สำนวน "ข้าวเหลือเกลืออิ่ม" หมายถึงบ้านเมืองบริบูรณ์ ด้วยข้าวปลาอาหาร สำนวนนี้มีปรากฏในพิธีอาษวยุช คือ การแข่งเรือเสี่ยงทาย กฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "....สมรรพไชย ไกรสรมุขนั้น เป็นเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซร้เข้าเหลือเกลืออิ่ม ศุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุค...." ที่ใช้ข้าวเเละเกลือเพราะข้าวเป็นอาหารสำคัญที่สุดของคนไทย เกลือก็เป็นของคู่กับข้าว ดังสำนวน " ข้าวปลานาเกลือ " สำนวนข้าวเหลือเกลืออิ่มนี้เป็นสำนวนเก่า สำนวนใหม่ที่คิดขึ้นมาพูดเทียบเคียงกับสำนวนเดิมได้แก่ " ข้าวเหลือเกลือแพง " เป็นความเปรียบเมื่อข้าวมีราคาถูก แต่เกลือมีราคาแพง อย่งไรก็ตามถ้าบ้านเมืองขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ประชาชนทุกข์ยากลำบากก็เรียกว่าเป็นยุค " ข้าวยากหมากแพง "

    โดยทั่วไปแล้วประเทศไทยเป็นเขตลมมรสุม ฝนตกสม่ำเสมอมีอากาศอยู่ในเขตร้อนจึงทำการเพาะปลูกได้ผลดีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดังคำกล่าวที่เรามักพูดกันติดปากว่า " ในน้ำมีปลาในนามีข้าว " คนไทยจึงมีนิสัยชอบ "กินข้าวร้อนนอนสาย " เนื่องจากไม่มีความยากลำบากในการครองชีพ ไม่มีอะไรกังวล ไม่ต้องเป็นห่วงการทำมาหากิน นึกจะกินก็กินได้ทันที จะตื่นเมื่อใดก็ได้ เรียกว่ามีความเป็นอยู่อย่างสบาย

    ตามปกติข้าวที่เรารับประทานกันนั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ พวก คือ ข้าวเก่าและข้าวใหม่ ข้าวค้างปีเป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวในปีที่แล้ว เรียกว่า ข้าวเก่า ส่วนข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ตั้งแต่ประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่เป็นต้นไปนั้น เรียกว่าข้าวใหม่ ตามปกติในครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือน ๕ เรื่อยมาเรากินข้าวเก่าคือข้าวที่ค้างปี ถึงครึ่งหลังเรากินข้าวใหม่ ถือกันว่าข้าวเก่าอร่อยกว่า นอกจากนี้เราถือว่าปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว ฤดูกาลดีอยู่ในระยะน้ำลด คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ ไปจนถึง เดือน ๔ เดือน ๕ เพราะระยะนี้ปลามีมันมาก กินอร่อย พ้นระยะนี้ไป เป็นฤดูปลาตั้งไข่ไม่มีมัน กินไม่อร่อย ระยะปลามีมันมาตรงกับฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ เราจึงเอาทั้งข้าวและปลามันที่เป็นอาหารสำคัญมาพูดรวมกันว่า " ข้าวใหม่ปลามัน " ใช้เป็นสำนวน หมายถึงอะไร ๆ ที่เป็นของใหม่กำลังดี เช่น สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานใหม่ ๆ เรียกว่าอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามันแต่ถ้าแต่งงานมานานจนคู่สมรสเบื่อหน่ายซึ่งกันและกันแล้วเราเรียกว่าเป็นช่วง " ข้าวบูดปลาร้า "

    เนื่องจากเราถือว่าข้าวเป็นความเจริญงอกงาม เราจึงมักเปรียบเทียบชายเป็นข้าวเปลือก หญิงเป็นข้าวสาร ดังสำนวนว่า " ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร " เพราะผู้ชายไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดย่อมสามารถแพร่พันธุ์สร้างเชื้อสายสืบต่อไปได้ในขณะที่ผู้หญิงเป็นข้าวสาร นอกจากนี้เรายังเปรียบเทียบข้าวในความหมายของคำอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ดังสำนวนที่ว่า " หนูตกถังข้าวสาร " หมายถึงชายยากจนที่ได้แต่งงานกับหญิงสาวที่ร่ำรวย ทำให้ตนเองมีเงินทองใช้สอยฟุ่มเฟือยไปด้วยเรียกได้ว่าอยู่อย่างสบาย มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อเหมือนเมื่อตนเองยังขาดแคลน เหมือนหนูที่อยู่ในถังข้าวสาร มีข้าวสารกินอย่างสบาย แต่ถ้าผู้ใดต้องทำมาหากินแบบ " ตำข้าวสารกรอกหม้อ " แปลว่าบุคคลนั้นทำอะไรอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการเตรียมตัวมาก่อนเหมือนกับตำข้าวพอหุงกินมื้อหนึ่ง ๆ แต่ถ้า " ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ " เลยแสดงว่ายากจนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออาหาร

    ดังนั้นถ้าเกิดกรณี " ทุบหม้อข้าว" ขึ้น ย่อมหมายถึงว่าผู้ถูกทุบหม้อข้าวย่อมเดือดร้อนและจะโกรธแค้นผู้มาทุบหม้อข้าวของตน เนื่องจากบุคคลนั้นมาตัดหรือทำลายอาชีพ หรือผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำการแก้แค้นทดแทนให้ผู้ที่มาทุบหม้อข้าวของตนนั้นต้อง " กินน้ำตาต่างข้าว " คือให้มีความทุกข์โศก

    นอกจากจะใช้คำข้าวในสำนวนที่เปรียบเทียบเหมือนความเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์แล้ว เรายังใช้ข้าวในความหมายเชิงตักเตือน สั่งสอน หรือเตือนใจในทำนองสุภาษิตอีกด้วยสำนวนเหล่านี้ได้แก่

    " หมาเห็นข้าวเปลือก " หมายความว่า ทำอะไรกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าไม่ได้ เพราะไม่ต้องการ หรือต้องการแต่ไร้สมรรถภาพ เปรียบเหมือนหมาเห็นข้าวเปลือกแต่กินไม่ได้
    " ไก่กินข้าวเปลือก ” สำนวนนี้เมื่อกล่าวให้เต็มที่แล้วจะต้องพูดว่า “ไก่ยังกินข้าวเปลือกอยู่ตราบใด คนก็ยังกินสินบนอยู่ตราบนั้น ” เป็นสำนวนจีนที่เราชอบเอามาใช้

    " ได้เบี้ยเอาข้าว ” หมายความว่ามีส่วนได้ด้วย “เบี้ย” หมายถึงเงิน " ข้าว ” คือ ข้าว ซึ่งมักจะพูดรวม ๆ ไปกับสิ่งของต่าง ๆ เช่น เงินทองข้าวของ “ ได้เบี้ยเอาข้าว ” จึงแปลว่า นอกจากจะเอาเงินแล้วยังจะเอาข้าวอีกด้วย ตามปกติเรามักพูดว่า “ไม่ได้เบี้ยเอาข้าวอะไรด้วย ” แปลว่าไม่ได้มีส่วนได้อะไรด้วยเลย
    บนข้าวผี ตีข้าวพระ หมายความว่าขอร้องให้เทวดาหรือผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ช่วยโดยสัญญาจะให้หรือทำอะไรตอบแทนเมื่อกิจกรรมหรือสิ่งที่ตนต้องการสำเร็จผล “ บนข้าวผี ” หมายถึงบนผีว่าจะให้ข้าวกิน ส่วนตีข้าวพระ หมายถึง เอาข้าวถวายพระแบบเดียวกับที่เอาข้าวใส่กรวยถวายพระพุทธรูปที่เรียกว่า " ตีข้าวบิณฑ์ ” เราเอาประเพณีบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาพูดรวมกันจึงเป็น บนข้าวผี ตีข้าวพระ
    " กินข้าวต้มกระโจมกลาง หมายถึง การทำโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ ตามปกติข้าวต้มตักใส่ชามไว้ย่อมเย็นตามริมก่อน ส่วนตรงกลางกว่าจะเย็นก็กินเวลานาน ใครไม่พิจารณาก็ตักตรงกลางกิน ตรงกลางเป็นส่วนที่ร้อนทำให้ข้าวต้มลวกปากได้รับความลำบากการทำสิ่งใดโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบจึงเปรียบเสมือนการ “ กินข้าวต้มกระโจมกลาง”
    หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว สำนวนนี้หนังสือสุภาษิตไทยว่าหมายถึง ล่อด้วยอามิสสินจ้าง เข้าใจว่า สำนวนนี้เปรียบเทียบการให้อามิสสินจ้างว่าให้เท่าใดย่อมไม่พอเปรียบเหมือนการหุงข้าวให้หมาปิ้งปลาให้แมวกินมีมากเท่าใดก็หมดเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่สมควร
    จวักตักข้าว ” หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ยกคาถาภาษาบาลีที่เป็นข้อเตือนใจบทหนึ่งว่า

    “ ........ยาวชีวมปิ เจ พาโล ปณฑิต ปยิรูปาสติ
    น โส ธมม วิชานาติ ทพพี สูปรส ยถา..... ”

    คาถานี้แปลเป็นโคลงที่มีข้อความเกี่ยวกับข้าวอยู่ ๒ บท คือ

    “.......คนพาลยังไป่รู้ ชาญชิด
    ไปสู่หาบัณฑิต ค่ำเช้า
    แสดงธรรมว่าเนืองนิตย์ ฤาซาบ ใจนา
    คือจวักตักเข้า ห่อนรู้รสแกง

    (สำนวนเก่า)

    คนพาลผู้บาปแท้ ทุรจิต
    ไปสู่หาบัณฑิตค่ำเช้า
    ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์ บ่ทราบ ใจนา
    คือจวักตักเข้า ห่อนรู้รสแกง

    (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร )

    หมายถึง คนพาล ต่อให้อยู่ใกล้ชิดกับบัณฑิตก็ย่อมไม่รู้รสแห่งธรรมเหมือนจวักหรือทัพพีใช้ตักข้าวไม่เคยได้รู้รสแกง


    ขอบคุณข้อมูลดีๆจากๆ http://www.culture.go.th/knowledge/story/rice/ ค่ะ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×