นานาสัตว์ในสำนวนไทย ๔
ฉบับนี้เป็นตอนที่ ๔ เป็นเรื่องราวของแมว สัตว์เลี้ยงน่ารักอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี บางบ้านเลี้ยงทั้งแมวเลี้ยงทั้งหมา จนสัตว์ทั้งสองเป็นเพื่อนกันไปเลยก็มี
แมวปรากฏตัวอยู่ในสำนวนไทยหลายสำนวน เช่น ย้อมแมวขาย ที่เท่าแมวดิ้นตาย ปิดประตูตีแมว ชื่อเป็น (เหมือน) แมวนอนหวด ฝากเนื้อไว้กับเสือ ฝากปลา (ย่าง) ไว้กับแมว หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ฯลฯ
>>> เริ่มกันที่สำนวนแรก “ย้อมแมวขาย”
ที่มา : สำนวนนี้น่าจะมาจากการเลี้ยงแมวของคนไทย เจ้าของแมวอาจจะเห็นว่าแมวของตนมีสีขนไม่สวย แมวมีลักษณะไม่ดี เจ้าของก็เลยนำแมวมาตกแต่งย้อมสี ให้เห็นว่า แมววของตนมีสีสันสวยงาม สำนวนย้อมแมวขาย
ความหมาย : ตกแต่งสิ่งที่ไม่ดี ไม่สวยงาม โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นของดี ส่วนใหญ่มักใช้พูดประชดประชันเสียดสีสาวงามที่ขึ้นประกวดเวทีต่างๆ ที่มักถูกปรับปรุงรูปโฉมให้สวยงามหลอกสายตาขณะกรรมการตัดสินการประกวด ยิ่งไปกว่านั้นสาวงามบางคนอาจจะไม่ใช่สาวบริสุทธิ์
*****************************************************************************************
>>> ถัดมาคือสำนวน “ที่เท่าแมวดิ้นตาย”
ที่มา : สำนวนนี้มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องศรีธนญชัย เรื่องก็คือว่า ศรีธนญชัยทูลขอที่ดินจากพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าเป็นที่ดินไม่มากมีขนาดเล็กเท่าแมวดิ้นตายคงมีขนาดเล็กแค่ตารางวาเดียว ก็ตกลงตกปากรับคำว่าจะยกที่ดินให้ แต่ศรีธนญชัยเจ้าปัญญา (ผสมกับเจ้าเล่ห์) เอาแมวตัวหนึ่งมาผูกเชือกไว้ แล้วใช้ไม่เฆี่ยนตีแมวให้ดิ้นไปเรื่อยๆ จนแมวตาย แมวดิ้นไปกว่าจะตายก็บริเวณกว้างมาก ศรีธนญชัยก็เลยได้ที่ดินมากมาย
ความหมาย : ที่ดินเพียงเล็กน้อยจริงๆ แต่ที่ดินเท่าแมวดิ้นตายตามอุบายของศรีธนญชัยกลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม สำนวนที่เท่าแมวดิ้นตายใช้เปรียบเทียบว่าเป็นเจ้าของที่ดินเพียงผืนเล็กๆ เท่านั้น
*****************************************************************************************
>>> สำนวนต่อมาคือสำนวน “ปิดประตูตีแมว”
ที่มา : อย่างที่บอกไว้แล้วว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงของคนไทยที่นิยมเลี้ยงไว้ตามบ้านเหมือนสุนัข บ้านของอักษราเองที่ต่างจังหวัดก็เคยเลี้ยงแมวบางวันก็เห็นมันหายไปไม่มาเดินให้เห็น แม่ของอักษราเคยบ่นว่า มันชอบหนีเที่ยว คงจะเข้าไปในบ้านคนอื่นในละเวกนั้น แมวที่เข้าไปเร่ร่อนในบ้านคนอื่นนั้นคงทำความรำคาญให้เจ้าของบ้านอยู่ไม่น้อย ไล่มันแล้วเจ้าเหมียวก็ไม่ค่อยยอมจะไป อาจจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาด คือปิดประตูไล่ตีให้มันเข็ดหลาบ จะได้ไม่กล้าเข้ามาในบ้านอีก
ความหมาย : รังแกหรือทำร้ายคนที่ไม่มีทางสู้และไม่มีทางหนีรอดไปได้
*****************************************************************************************
>>> ส่วนสำนวนนี้ “ซื่อเหมือนแมวนอนหวด”
ที่มา : คงรู้จักภาชนะที่เรียกว่า “หวด” ที่ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียวของชาวอีสาน สำนวนนี้เกิดจากอาการของแมวที่ลงไปนอนในหวดนึ่งข้าวเหนียวซึ่งมีลักษณะโค้งงอ เวลาแมวลงไปนอนในหวดแล้วแมวต้องนอนงอตัวให้โค้งไปตามรูปร่างของหวด มองดูเผินๆ เหมือนว่าแมวนอนสบาย แต่จริงๆ แล้วแมวนอนในหวดอย่างลำบาก แต่แกล้งทำให้ดูเหมือนว่านอนสบาย
ความหมาย : แกล้งทำเป็นซื่อ จริงใจ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ซื่อใช้เปรียบเปรยประชดประชันคนที่แกล้งทำเป็นคนซื่อตรง แต่ความจริงแล้วไม่ได้ซื่อเหมือนอย่างที่มองเห็นเลย ใครมีลักษณะแบบนี้คงคบหาสมาคมด้วยไม่ได้ เพราะขาดความจริงใจ
*****************************************************************************************
>>> อีกสำนวนหนึ่งคือ สำนวน “ฝากเนื้อไว้กับเสือ ฝากปลา (ย่าง) ไว้กับแมว”
ที่มา : ก็แหม
ไปฝากของชอบไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้นแล้วจะไปเหลืออะไร เนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นของชอบของเสืออยู่แล้ว ส่วนปลา (ย่าง) ก็ของชอบของเจ้าแมวเหมียว ฝากแล้วจะไปเอาคืนน่ะเหรอ เสือก็กินเนื้อหมดแล้ว แมวก็กินปลา (ย่าง) หมดแล้วเหมือนกัน
ความหมาย : สำนวนนี้ใช้ในโอกาสที่ฝากสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น แน่นอนว่าย่อมสูญหายไม่ได้คืน จึงเตือนใจไว้ว่า ไม่ควรฝากไว้เป็นอันขาด
*****************************************************************************************
>>> ปิดท้ายสำนวนไทยที่เกี่ยวกับแมวกับสำนวน “หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว”
ที่มา : แมวนั้นชอบกินปลาอยู่แล้ว แม้เจ้าของจะให้กินปลาจนอิ่มแล้วก็ตาม แต่ถ้าเผลอมันก็แอบขโมยปลากินอีก และถ้าเจ้าของแกล้งเอาปลาย่างหรือปิ้งประชดให้มันกินอีก เพราะคิดว่ามันจะอายหรือกระดากใจไม่กล้ากินแต่มันก็กินจนหมดอีกนั่นล่ะ
ความหมาย : ทำอะไรหรือทำสิ่งใดเป็นการประชดประชัน ทำกระทบกระแทกแดกดัน มีแต่จะเสียประโยชน์เปล่าๆ เพราะคนที่เราแกล้งประชดประชัน เขาไม่สนใจไม่รู้เรื่องที่เราทำประชดเขาหรอก
*****************************************************************************************
ขอขอบคุณข้อมูลจาก thainews.prd.go.th
ความคิดเห็น