ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #15 : หมวด ต

    • อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 52


    ตกกระไดพลอยโจน
    สำนวนนี้ทางหนึ่งหมายถึง ว่ากันว่าการทำอะไรที่บังเอิญเกิดผิดพลาดขึ้น โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง หรือทำไปได้ครึ่งแล้ว ก็จำต้องทำมันต่อไปให้เสร็จสิ้นเสียเลยเรียกว่า  “พลอยโจน” อีกทางหนึ่ง คงจะหมายถึงการพลอยผสมโรงหรือพลอยตามไปด้วยกับเขา ทำนองเดียวกับที่ว่า เห็นคนอื่นตกกระได ตนเองก็เลยพลอยโจนตามโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่อีกทางหนึ่ง อาจหมายความได้ว่าการกระทำอะไรบังเอิญผิดพลาด คือ “ตกกระได”ก็เลยใช้วิธีกระโจนลงไปเสีย เพื่อไปตั้งหลักเอาใหม่ดีกว่าปล่อยให้ตกกลิ้งลงไป

    ติเรือทั้งโกลน
    เป็นสำนวนหมายความว่า ชิงติงานที่เขาเริ่มทำใหม่ ๆ เสียก่อน ยังไม่ทันได้เห็นผลงานของเขาหรือเรียกว่า มีปากก็ติพล่อย ๆ โดยไม่รู้ว่า ฝีมือเขาจะเป็นยังไง “โกลน” ในสำนวนนี้หมายถึง ซุง ทั้งต้นที่เขาเอามาเกลาหรือถากตั้งเป็นรูปขึ้นก่อนเพื่อจะต่อเป็นเรือขุด โกลนในชั้นแรกจึงดูไม่ค่อยเป็นรูปร่างดี ต่อเมื่อโกลนดีแล้ว จึงตบแต่งค่อยเป็นค่อยไปจนเป็นรูปเรือ

    ตีงูให้กากิน
    หมายถึง การลงทุนลงแรงทำอะไรขึ้นอย่างโดยไม่ได้เกิดประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เปรียบเหมือนตีงูซึ่งต้องใช้ความกล้าหรือกำลังเล่นงานงู แต่ครั้นพองูตายแล้วก็เอามาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องทิ้งหรือปล่อยให้กามาจิกกินเอาตามสบาย กา หรือ อีกา ในสมัยก่อนได้เห็นกันมาก จึงมักจะเอามาผูกเป็นสำนวนพังเพยอยู่ด้วยเสมอ เช่น “กาหน้าดำ เขาจำหน้าได้”  “กาคาบพริก” หรือ “สาวไส้ให้กากิน” เป็นต้น

    ตีวัวกระทบคราด
    เป็นสำนวนหมายถึง การแสร้งทำหรือแสร้งพูด เพื่อให้กระทบกระเทือนไปถึงอีกฝ่ายหนึ่ง การเอาวัวกับคราดมาเปรียบ ก็เพราะคราดซึ่งใช้เป็นเครื่องมือกวาดลานฟางหรือหญ้าในนานั้นผูกเป็นคันยาวใช้วัวลากและคราดจะเป็นฝ่ายกระตุ้นให้วัวทำงานลากคราดไป ซึ่งผลงานคงจะอยู่ที่คราดเป็นตัวกวาด เมื่อคราดไม่ทำงานก็เลยใช้วิธีตีวัวให้ลากคราด เป็นทำนองว่า “ตีวัวกระทบคราด” วัวเลยกลายเป็นแพะรับบาปเพราะคราด ความหมายคล้ายกับว่า เราทำอะไรคนหนึ่งไม่ได้ เช่น โกรธเขาแต่กลับไปเล่นงานสัตว์เลี้ยงหรือคนใกล้ชิดของเขา เป็นการตอบแทน

    ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
    สำนวนนี้ โบราณมักใช้พูดกันมาก หมายถึงการกระทำอะไรสักอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือได้สมดุลกัน หรือใช้จ่ายทรัพย์ลงทุนไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เช่นลงทุนเล็กน้อยเพื่อทำงานใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินมาก ๆ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ง่าย ต้องสูญทุนไปเปล่า ๆ เปรียบเหมือนตำน้ำพริกเพียงครกเดียว เอาไปละลายในแม่น้ำกว้างใหญ่ เมื่อละลายไปก็จะสูญหายไปหมดสิ้นไปทำให้แม่น้ำเกิดอะไรผิดปกติขึ้น เสียน้ำพริกไปเปล่า ๆ

    ต้นไม้ตายเพราะลูก
    สำนวนนี้เอามาเปรียบได้กับ พ่อแม่ที่ต้องเสียเพราะลูก เช่นรักลูกมากจนยอมเสียสละชีวิต หรือทรัพย์สินเพื่อลูก ตามที่ว่า “ต้นไม้ตายเพราะลูก” ก็โดยที่ว่าต้นไม้บางชนิด เมื่อมีลูกหรือมีดอกผลมักจะตาย หรือโค่นเพราะคนมาเก็บ หรือเมื่อออกดอกผลแล้ว เหี่ยวเฉาตายไปเองก็มี

    s071


    ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา

    สำนวนนี้เป็นคำเปรียบเปรย หรือเป็นเชิงเตือนสติคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง หรือคนที่ทะเยอทะยานทำตนเสมอกับคนที่สูงกว่า ให้รู้จักยั้งคิดว่าฐานะของตนเองเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงค่อยคิดทำเทียมหน้าเขา ความหมายทำนองเดียวกับที่ว่า  “ส่องกระจกดูเงาของตัวเองเสียก่อน” สำนวนนี้ ผู้หญิงสูงศักดิ์มักจะใช้เป็นคำเปรียบเปรยเย้ยหยันผู้ชายที่มีฐานะต่ำต้อยกว่า

    เตี้ยอุ้มค่อม

    เป็นสำนวนที่หมายถึง คนที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์ไปช่วยคนที่ยากจนกว่าตนเข้าอีก เท่ากับ “เตี้ยอุ้มค่อม” คือ ยิ่งทำให้ตัวเองแย่ลงไปอีก หรือจะเปรียบได้อีกทางหนึ่งว่าคนที่ทำงานหรือทำอะไรเป็นภาระใหญ่มากมายเกินสติกำลังของตน ซึ่งไม่แน่ว่าจะทำไปได้ตลอดหรือไม่

    ตัวเป็นขี้ข้า อย่าให้ผ้าเหม็นสาบ
    สำนวนนี้เป็นสุภาษิตเก่าแก่ ที่สอนให้คนเราประพฤติชอบแต่ในทางที่ดีไม่ให้ประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสีย แม้จะมีฐานะยากจน เป็นคนใช้หรือลูกจ้างเขาก็ตามแต่ ก็ต้องรักษาความดีความซื่อสัตย์ รวมทั้งความสะอาดกายไปในตัวด้วย อย่าปล่อยตัวเองให้ตกเป็นทาสของความชั่ว

    ตัวตายดีกว่าชาติตาย
    สำนวนนี้เป็นสำนวนปลุกใจที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีความหมายไปในทางให้คนเรารักประเทศชาติหรือบ้านเมืองของตนเองให้มั่น เมื่อยามมีศัตรูมารุกรานบ้าเมืองก็พร้อมที่จะพลีชีวิตร่วมกันต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศ โดยยอมให้ตนเองตายดีกว่าชาติหรือประเทศต้องถูกทำลายลง

    ตักน้ำรดหัวตอ

    สำนวนนี้ โบราณใช้เป็นคำเปรียบเทียบถึงการที่เราจะตักเตือน หรือสั่งสอนใครสักคนหนึ่งแต่คนนั้นไม่ยอมรับ หรือไม่เชื่อฟังคำเรา เปรียบได้กับการที่เราเฝ้าหมั่นรดน้ำหัวตอของต้นไม้ เพื่อหวังจะให้งอกงามขึ้นมาได้ ความหมายอย่างเดียวกับสำนวนพังเพยที่ว่า “ตักน้ำรดหัวสากล” และ “สีซอให้ควายฟัง”

    ตาบอดได้แว่น
    สำนวนนี้ประโยคควบคู่อยู่ด้วยอีกสองประโยคคือ  “หัวล้านได้หวี นิ้วด้วนได้แหวน” มีความหมายอย่างเดียวกัน คือหมายถึง การได้ในสิ่งที่มีประโยชน์แก่ตนเองเลยแม้แต่น้อย เพราะคนศรีษะล้านย่อมไม่มีผมจะหวี และคนตาบอดถึงจะใส่แว่นก็มองไม่เห็นเพราะแว่นไม่ช่วยให้คนตาบอดกลับเห็นได้

    ตีตนไปก่อนไข้
    สำนวนคำพังเพยนี้หมายถึง การได้ข่าวหรือได้แต่เพียงรู้ว่า จะมีอะไรที่ไม่ดี หรือข่าวร้ายเกิดขึ้นกับตัว โดยที่ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็ชิงแสดงอาการทุกข์ร้อนหวาดกลัว หรือวิตกกังวลไปเสียก่อนแล้ว ทำให้หมดกำลังใจหรือกำลังความคิดที่จะคิดป้องกันไว้ก่อน เรียกว่าไข้ยังไม่ทันมาถึงเลย ตัวเองก็ชิงเป็นไข้เสียก่อน เพราะความกระวนกระวายหรือตกใจนั่นเอง

    ตีงูให้หลังหัก
    คำพังเพยสำนวนนี้ เป็นคำเตือนสติให้เราได้รับรู้ว่า เมื่อจะทำอะไรก็ต้องตัดสินใจทำโดยเด็ดขาดหรือจริงจังลงไป อย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ มิฉะนั้นผลร้ายจะเกิดขึ้นได้ภายหลัง เปรียบได้กับการที่จะตีหรือกำจัดงูพิษ เราก็ต้องตีให้ตาย หรือให้ถึงขนาดหลังหักไปเลย มันจะได้สิ้นฤทธิ์กลับมาทำร้ายเราไม่ได้

    เต่าใหญ่ไข่กลบ
    เป็นสำนวนที่หมายความว่า การทำอะไรที่เป็นพิรุธแล้วพยายามจะกลบเกลื่อนไม่ให้คนอื่นรู้ สำนวนนี้เอาเต่ามาเป็นคำเปรียบเทียบก็เพราะธรรมชาติของเต่าใหญ่ เช่น เต่าตนุเวลาจะวางไข่ ก็คลานขึ้นมาบนหาดทราย แล้วคุ้ยทรายให้เป็นหลุมเพื่อไข่ พอไข่เสร็จก็คุ้ยทรายกลบไข่เสีย เพื่อซ่อนไข่ของตนให้พ้นจากศัตรู หรือคนลักไปทำลาย

    ตกเป็นเบี้ยล่าง : ตกเป็นรอง
    ตบตา : ลวงให้เข้าใจผิด
    ตบหัวลูบหลัง : ทำหรือพูดให้กระทบกระเทือนใน ในตอนแรก แล้วปลอบใจตอนหลัง
    ต่อปาก ต่อคำ : เถียงกันไม่จบสิ้น
    ต้นร้าย ปลายดี : ตอนแรกไม่ดี ไปดีเอาตอนหลัง
    ตัวเป็นเกลียว : ขยันทำงาน
    ตาร้อน : อิจฉาริษยา
    ตกนรกทั้งเป็น : ลำบากแสนสาหัส

    ขอบคุณที่มารูปภาพ
    siamtower.com
    ขอบคุณที่มาข้อมูล
    salanluck.awardspace.com
    pasathai01.exteen.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×