ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #42 : สำนวนไทยที่เกิดจากการกระทำ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 45.65K
      82
      10 เม.ย. 53

    สำนวนไทยที่เกิดจากการกระทำ

    สำนวนไทยที่เกิดจากการกระทำ


    1. ไกลปืนเที่ยง

    ความหมาย ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
    ความเป็นมา “สมัยโบราณเราใช้กลองและฆ้องตีบอกเวลาทุ่มโมง กลางวันใช้ฆ้อง จึงเรียกว่า”โมง” ตามเสียงฆ้อง กลางคืนใช้กลองจึงเรียก “ทุ่ม” ตามเสียงกลอง ตามพระนครมีหอกลองตั้งกลางเมือง สำหรับตีบอกเวลา มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงรัชกาลที่5 ปี พ.ศ. 2430 มีการยิงปืนใหญ่ตอนกลางวันบอกเวลาเที่ยง ปืนเที่ยงนี้ยิงในพระนคร จึงได้ยิงกันแต่ประชาชนที่อยู่ในพระนครในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งปืน ถ้าห่างออกไปมากก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นเกิดคำว่า ไกลปืนเที่ยง ซึ่งหมายความว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง เป็นสำนวนใช้หมายความว่าไม่รู้ไม่ทราบเรื่องอะไรที่คนอื่นในพระนครเขารู้กัน เลยใช้ตลอดไปถึงว่าเป็นคนบ้านนอกคอกนา งุ่มง่าม ไม่ทันสมัยเหมือนชาวพระนคร”

    2. ข่มเขาโคให้กินหญ้า
    ความหมาย ใช้กับโค หมายถึงจับเขาโคกดลงให้กินหญ้าหรือบังคับให้กิน เอาใช้กับคนหมายความว่าบังคับขืนใจให้ทำ สำนวนนี้พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า งัวไม่กินหญ้า อย่าข่มเขา

    ตัวอย่าง
    “จะจัดแจงแต่งตามอารมณ์ เหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
    กลัวเกลือกทั้งเจ็ดธิดา มันจะไม่เสน่ห์ก็ไม่รู้”
    สังข์ทอง พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 2

    3. คนล้มอย่าข้าม
    ความหมาย อย่าดูถูกคนที่ล้มเหลวในชีวิต
    ความเป็นมา สำนวนนี้มักมีคำต่ออีกว่า ไม้ล้มจึงข้าม แปลว่าคนดีที่ต้องตกต่ำยากจนหรือหมดอำนาจ เนื่องจากชีวิตผันแปรเปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรจะลบหลู่ดูถูกเพราะคนดีอาจเฟื่องฟูอีกได้ ผิดกับที่ล้มแล้วข้ามได้

    4. คลื่นกระทบฝั่ง
    ความหมาย เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้น ดูท่าทางจะเป็นเรื่องไปใหญ่โต แต่แล้วก็เงียบหายไปเฉยๆ เราพูดกันเป็นสำนวนว่า คลื่นกระทบฝั่ง หรือว่า คลื่นหายไปกับฝั่ง ก็ได้
    ตัวอย่าง
    “อันคลื่นใหญ่ในมหาชลาสินธุ์ เข้าฝั่งสิ้นสาดเข้าไปที่ในฝั่ง”
    เพลงยาวเจ้าอิศรญาณ

    5. คลุกคลีตีโมง
    ความหมาย อยู่ร่วมกันคลุกคลีพัวพันไปด้วยกัน
    ความเป็นมา คำว่า “ ตีโมง” หมายถึง ตีฆ้อง การเล่นของไทยในสมัยโบราณมักจะตีฆ้องกับกลองเป็นสิ่งสำคัญ เช่น โมงครุม ระเบ็ง ฯลฯ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในบุณโณวาทคำฉันท์ว่า “ โมงครุ่มคณาชายกลเพศพึงแสยง ทับทรวงสริ้นแผง ก็ตะกูลตะโกดำ เทริดใส่บ่ ใคร่ยล ก็ละลนละลานทำ กุมสีทวารำศรับ บทร้องดำเนินวง ”
    ตัวอย่าง “สรวมเทริดโมงครุ่มแพร้ว ทองพราย พร่างนอ
    ทายเทอดสรประลอง หน่วงน้าว
    คนฆ้องเฆาะฆ้องราย โหมงโหม่ง โม่งแฮ
    กาลเทรดขรรค์ข้องท้าว นกยูง”
    โคลงแห่โสกัญต์

    6. ควักกระเป๋า
    ความหมาย ต้องเสียเงิน ต้องจ่ายเงินจะเป็นเงินจากกระเป๋าเราเอง หรือจากกระเป๋าคนอื่นก็ได้ ไว้ได้ทั้งสองทาง
    ความเป็นมา การหยิบเงินออกจากประเป๋า
    ตัวอย่าง
    “การใช้ฝรั่งจึงเป็นการสะดวก เพราะใช่แต่ว่าเขาได้ช่วยให้เราไม่ต้องทำงานด้วยกำลัง ทั้งเขายังได้ปลดเปลื้องความลำบากของเราในการที่ต้องคิดอีกด้วย เราเป็นแต่ควักกระเป๋าฝรั่งเขาจัดการเสร็จ”
    โคลงติดล้อของอัศวพาหุ
    “ วิธีที่จะเรี่ยไรให้ได้เงินมากต้องให้ออกกันตามมีตามจน ซึ่งแปลว่าจะควักกระเป๋าคนมั่งมีได้ และยกเว้นไม่ต้องควักกระเป๋าคนจน”
    เรื่องที่เสียของครูเทพ

    7. ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก
    ความหมาย เกิดเรื่องขึ้นยังไม่ทันเสร็จเรื่อง มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นซ้อนขึ้นมาอีก
    ตัวอย่าง นิทานเรื่องหนึ่งมีใจความว่า เกิดคดีลักวัวพิพาทกันในระหว่างชายสองคนพระเจ้าแผ่นดินทรงชำระยังไม่ทันเสร็จ เกิดเรื่องควายในระหว่างชายทั้งคู่นั้นอีก จึงว่า “ ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแรก”
    “ พบปะหน้าไหนใส่เอาหมด ไม่ลดละทะเลาะคนเสียจนทั่ว
    ตะกิ้งตะเกียงเงี่ยงงารอบตัว ความวัวไม่หายความควายมา”
    ไกรทอง พระราชนิพนธ์รัชการที่2

    8. คอทั่งสันหลังเหล็ก
    ความเป็นมา สมัยโบราณลงโทษประหารชีวิตใช้วิธีตัดหัวหรือตัดคอ โทษเบาหน่อยก็เฆี่ยนหลัง เฆี่ยนมากก็เป็นอย่างที่เราเรียกว่า “ หลังลายตลอดต้นคอ” คอกับหลังจึงมักจะอยู่ติดกันไป เมื่อจะพูดอะไรที่แสดงถึงความกล้าจนไม่คิดถึงว่าร่างกายจะเป็นอันตรายยับเยินจะเอาทั่ง คือที่ตีเหล็กกับเหล็กมาเปรียบเทียบกับคอและสันหลังพูดเป็นสำนวนว่า “ คอทั่งสันหลังเหล็ก”
    ตัวอย่าง
    “ ใช่คอเขาเป็นทั่งสันหลังเหล็ก ไม่ใช่เด็กเขาจะทำเอาแต่ด้าย
    จะกะไรบ้างกระมังข้างเรานาย บุราณว่าหญิงร้ายชายทรชน”
    บทละครขุนช้างขุนแผน กรมพระราชวังบวรฯ

    9.โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ
    ความหมาย สำนวนนี้มีต่อไปอีกว่า “ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” หมายความว่า ถ้าเอาหน่อไว้หน่อก็เจริญเติบโตขึ้นอีก ใช้ตลอดถึงการทำลายล้างคนพาลสันดานโกงต่าง ๆ
    “วัน ๒ฯ๓๑๐ ค่ำ เจ้าพระยาอภัยภูธรจับเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราที่วารสองสองชั้น ณ ๔ฯ๕๑๐ สำเร็จการโทษตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณ วัดประทุมคงคา”
    จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทราเทวี
    “การโค่นกล้วยอย่าไว้ หน่อแนม
    มักจะเลือกแทรกแซม สืบเหง้า
    โค้นพาลพวกโกงแกม กุดโคตร มันแฮ
    จึ่งจักศูนย์เสื่อมเค้า เงื่อนเสี้ยนศัตรู”
    โครงสุภาษิต

    10. ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน
    ความหมาย ทำอะไรก็ตามที่เป็นเหตุให้อันตรายมาถึงตัวเอง
    ความเป็นมา ชักน้ำเข้าลึก ลางทีก็พูดกันว่า “ชักเรือเข้าลึก”หมายถึง พาเรือที่ออกทะเลไปตกลึก ตกลึกเป็นภาษาเก่า แปลว่า ออกไปอยู่กลางทะเลใหญ่ลึกล้ำคล้ายกันที่เรียกว่าสะดือทะเล เมื่อเรือไปตกลึกก็มักเป็นอันตราย “ชักศึกเข้าบ้าน” หมายถึง ทำอะไรที่เป็นสาเหตุให้ข้าศึกมาติดบ้านเมือง

    11.ซื้อผ้าดูเนื้อ
    ความหมาย ทำอะไรให้พินิจพิเคราะห์ดูให้ถี่ถ้วนก่อน
    ความเป็นมา มาจากการซื้อผ้าก็ต้องดูเนื้อผ้าให้ดี สำนวนนี้เป็นคู่กับ ”คบคนดูหน้า”
    ตัวอย่าง
    “ซื้อสรรพสิ่งต้อง เพียรพิศ
    ผ้าอย่างใดเนื้อชนิด แน่นน้อย
    ดุ ไม่ขาดควรคิด การต่อ ตามเฮย
    เนื้อ เช่นเลอียดเรียบร้อย นุ่งได้เป็นดี”
    โครงกระทู้สุภาษิต

    12. ดาบสองคม
    ความหมาย สิ่งที่ทำลงอาจให้ผลทั้งผลดี และผลร้ายได้เท่ากัน
    ความเป็นมา เปรียบเหมือนดาบ ซึ่งถ้ามีคมทั้งสองข้างก็ย่อมเป็นประโยชน์ใช้ฟันได้คล่องแคล่วดี แต่ในขณะที่ใช้คมข้างหนึ่งฟันลง คมอีกข้างหนึ่งอาจโดนตัวเองเข้าได้ การทำอะไรที่อาจเกิดผลดีและร้ายได้เท่ากัน จึงเรียกว่าเป็นดาบสองคม

    13. ดินพอกหางหมู
    ความหมาย การงาน หรือธุระหรือเรื่องอะไร ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องลำบากหรือยุ่งยากเดือดร้อน
    ความเป็นมา หมูแต่ก่อนมักอยู่ในที่ที่เป็นโคลนตม โคลนมักติดปลายหางแห้งแล้วก็ติดใหม่ พอกพูนโตขึ้นโตขึ้นทุกทีจนเป็นก้อนใหญ่อยู่ที่ปลายทาง
    ตัวอย่าง
    “นอกจากนี้มีข้อทำให้เดือดร้อนรำคาญใจซึ่งกันและกันเป็นนานับประการ สิ่งละอันพรรณละน้อย แต่สะสมเข้าไม่ช้าก็เป็นก้อนใหม่เหมือนดินพอกหางหมู”
    พระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 6

    14. ดูดายเป็นอายตกน้ำ
    ความหมาย ทำเฉย ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่จับไม่ต้องจะเป็นอย่างไรก็ช่าง
    ความเป็นมา สำนวนนี้จะมีมูลมาอย่างไรไม่ทราบ พูดกันลอย ๆ อย่างเดียวกับสำนวนว่า แม่สายบัวแต่งตัวค้าง

    15.โดดร่ม
    ความเป็นมา สำนวนนี้เพิ่งเกิดใหม่มี8”กำเนิดจากการโดดร่มชูชีพจากเครื่องบินลงมาปฏิบัติการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่พื้นดิน” เช่น ข้าศึกโดดร่มลงมาทำงานไม่ให้ฝ่ายปรปักษ์มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน เรียกว่า “โดดร่ม” เราเอามาใช้เป็นสำนวนหมายความว่า จู่มาไม่ทันรู้ตัว เช่น มีตำแหน่งว่างแล้วมีคนแปลกหน้าจากอื่นมารับตำแหน่งก็เรียกว่า “โดดร่ม” มาเป็นอย่างที่พูดกันว่า ”มาเหนือเมฆ” สำนวน ”โดดร่ม” ยังใช้เลยไปถึงว่าเลี่ยงหรือหลบ หรือละงานอาชีพที่อยู่เป็นประจำมาทำงานส่วนตัวเล็กน้อยชั่วครั้งชั่วคราวหรือชั่วครู่ยาม ไม่ให้เสียงานประจำก็ได้ด้วย เท่ากับว่าจู่มาชั่วครู่ชั่วยามนั้นเอง

    16.ตายดาบหน้า
    ความหมาย คิดมานะไปสู่กับเคราะห์กรรมเอาข้างหน้า
    ความเป็นมา สำนวนนี้เข้าใจว่าจะมาจากการต่อสู้ในสนามรบ ซึ่งนักรบจะต้องก้าวหน้าเสมอ คือ เมื่อจะตายก็ไปตามเอาข้างหน้า ไม่มีย่อท้อถอยหลัง
    ตัวอย่าง
    “ถ้าแม้นเพื่อนอยากตายวายชีวี จงไปตายในยุทธนา
    จงเชื่อฟังคำเตือนเพื่อนพูดดี ควรที่ไปตายดาบหน้า”
    พระร่วงพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6

    17. ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
    ความหมาย ทำอะไรต้องเสียทรัพย์แล้ว ไม่ได้ทรัพย์คุ้มกับที่ต้องเสียไป เช่น ทำงานมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง จัดเป็นงานหลายวันต้องหมดเปลืองมาก สำนวนที่ใช้หมายความอีกทางว่า ใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ก็ได้
    ความเป็นมา ตำน้ำพริกเป็นเรื่องสำหรับสำหรับที่จะปรุงแกงทำเป็นอาหาร น้ำที่จะใช้ละลายก็ต้องเป็นไปตามส่วนของน้ำพริก จึงจะได้รสชาติดี แต่ถ้าตำน้ำพริกไปละลายในแม่น้ำก็เสียพริกเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์ แล้วน้ำพริกจำนวนเพียงเล็กน้อย ส่วนแม่น้ำกว้างใหญ่ เอาลงไปละลายก็กระจายสูญหายไปสิ้น ไม่ทำให้น้ำในแม่น้ำเกิดอะไรผิดแปลกมาเลย
    ตัวอย่าง
    “ตำพริกขยิกขยี้ ฝีมือ
    พริกป่นคนคิดถือ ครกได้
    ละลายลงทะเลฤา รสจัก เผ็ดนา
    ดั่งคนใจกว้างให้ ทรัพย์น้อยละลายสูญ”
    โครงสุภาษิต

    18. ตีตนก่อนไข้
    ความหมาย ได้ข่าวหรือได้รู่อะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น อันนั้นจะเกิดจริงหรือไม่ก็ได้ แต่กระวนกระวายทุกข์ร้อนหวาดกลัวไปเสียก่อน
    ตัวอย่าง
    “วันนี้ไม่ควรจะร้อนตัวถึงความทุกข์ที่จะมีใน พรุ่งนี้”
    เปอร์เชียร์
    “รวบกวดอรทัยเข้าไปทัน สาวสวรรค์เข้ากลุ่มกุมกรไว้
    พระองค์อย่าเพ่อวุ่นวาย จะด่วนตีตนตายเสียก่อนไข้”
    บทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่า

    19.ตีวัวกระทบคราด
    ความหมาย แสร้งพูดหรือทำกับสิ่งหนึ่งให้กระทบกระเทือนไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง
    ความเป็นมา สำนวนนี้เอาคราดกับวัวมาเปรียบกับคราดคือ เครื่องสำหรับกวาดลากมูลหญ้ามูลฝอย ฯลฯ ตามพื้นดินในนา ทำด้วยไม้เป็นซี่ ๆ มีคันยาวใช้วัวลาก เวลาคราดตีวัว วัวก็ลากคราดไป ที่มาพูด “ตีวัวกระทบคราด” ก็คงเนื่องจากความสำคัญอยู่ที่คราด ประสงค์จะให้คราดทำงานแต่ทำอะไร คราดไม่ได้ก็หันมาทำกับวัว วัวต้องรับบาป ถูกตีจึงพูดว่า “ตีวัวกระทบคราด” เลยเอามาเป็นสำนวนหมายถึง ต้องการจะทำอะไรกับสิ่งหนึ่ง แต่ทำสิ่งนั้นไม่ได้ ก็หาทางไปทำกับสิ่งอื่น ให้มีผลกระเทือนถึงสิ่งที่ต้องการจะทำนั้น
    ตัวอย่าง
    “น้อยเอยน้อยหรือ สนุกมือทำไมกับข้าวของ
    ถ้อยโถทุบประแทรกแตกเป็นกอง หยาบคายร้ายแรงเต็มประภา
    ราคาค่างวดสักกี่เบี้ย ต่อยเสียอีกเถิดพี่ไม่ว่า
    หน่อยหนึ่งก็ตะเภจะเข้ามา คอยซื้อหาเอาใหม่อย่าทุกข์ร้อน
    ไม่พอที่ตีวัวกระทบคราด สัญชาติกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน”
    คาวี พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2

    20.ทำนาบนหลังคน
    ความหมาย หาประโยชน์ใส่ตนด้วยอาศัยเบียดเบียนเอาจากผลน้ำพักน้ำแรงคนอื่น
    ความเป็นมา สมัยโบราณเราทำนาเป็นอาชีพสำคัญ การทำนานั้นตามธรรมดานั้น ต้องทำบนพื้นดินนั้น ใครมีอาชีพหาประโยชน์ โดยอาศัยเบียดเบียนเอาผลจากน้ำพักน้ำแรงจึงเอาการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญมาเปรียบเท่ากับว่าไม่ได้หากินบนพื้นที่นาเหมือนที่คนทั้งหลายทำกัน แต่ว่าเป็นการหากินบนหลังคนพูดเป็นสำนวนว่า “ทำนาบนหลังคน” เช่นซื้อข้าวจากชาวนาด้วยราคาถูกแล้วมาขายเอากำไรแพง หรือให้กู้เงินเอาดอกเบี้ยแพง

    21.บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
    ความหมาย ทำอะไรให้ค่อย ๆ ทำอย่าให้เป็นการรุ่นแรงกระเทือนใจถึงขุ่นหมองกัน
    ตัวอย่าง
    “จับปลาให้กุมหัว เปลื้องใบบัวอย่าให้หนอง บัวมิให้ช้ำ น้ำบ่เป็นตม”
    สุภาษิตพระร่วง
    “บุราณท่านว่าเขาขุดบ่อ ล่อให้ปลาหลงไม่สงไสย
    ยังไม่ค่อยประคิ่นประคองไว้ บัวในสระศรีมิให้ช้ำ
    สายชลมิให้ข้นขุ่นมัว ตัวปลาปล่อยกินอยู่คลาคล่ำ
    เมื่อเขาปล่อยเราไว้ยังไม่ทำ เมื่อเขากลับจับจำก็จวนเจียน”
    เสภาขุนช้างขุนแผน

    22. ปลาหมอตายเพราะปาก
    ความหมาย พูดพล่อยไปจนตัวต้องเป็นอันตราย
    ความเป็นมา มูลของสำนวนนี้มาจากปลาหมอ คือปลาหมอเวลาอยู่ใต้น้ำจะพ่นน้ำขึ้นมาเห็นปุด ๆ ที่ผิวน้ำ คนตกเบ็ดเห็นผิวน้ำเป็นฟองปุด ๆ ก็รู้ว่าที่ตรงนั้นมีปลาหมอ เอาเหยื่อล่อตกเบ็ดขึ้นมาได้ จึงพูดว่า ปลาหมอตามเพราะปาก
    ตัวอย่าง
    “อนึ่ง เราเป็นคนที่ไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง อย่าปล่อยให้ใคร ๆ เอาของเหลวไหลมากรอก”หูแล้วก็เก็บมาขยายโวขึ้นเลย จึงจำไว้ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก”
    ความเห็นรามจิตติ

    23.ปากว่าตาขยิบ
    ความหมาย ปากว่าใจตรงกัน คือทำเป็นทีพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กระพริบตาให้รู้ว่าแสร้งพูดแสร้งว่า ใจจริงแท้ไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นอย่างที่พูด
    ตัวอย่าง
    “ปากอย่าตาพริบเพื่อน กลิ้งกลอกเกลื่อนเลียนใบบัว
    คิดมาน่าใคร้หัว มีผัวไพร่ใฝ่กลางสนาม”
    กาพย์ห่อโครงพระศรีมโหสภครั้งกรุงเก่า

    24. พุ่งหอกเข้ารก
    ความหมาย ทำอะไรชุ่ย ทำพอให้พ้นตัวไป ไม่คิดผลว่าจะเป็นอย่างไร สำนวนนี้ใช้กับคำพูดก็ได้ คือพูดชุ่ยส่งไปกระนั้นเอง
    ความเป็นมา มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า มีพรานคนหนึ่งถือหอกเดินไปตามทางในป่า พระสงฆ์รูปหนึ่งเดินส่วนทางมาเห็นพราานถือหอกเดินมาก็กลัวจึงหลบเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วซุ่มเดินเล็ดลอดต่อมา เพื่อจะพรางพราน ฝ่ายนายพรานเห็นพระหลบก็เข้าใจว่าพระกลัวที่ตนถือหอก ก็พุ่งหอกเข้าไปเสียในรก บังเอิญหอกไปถูกพระตาย นิทานนี้ว่าเป็นมูลที่มาของสำนวน “พุ่งหอกเข้ารก”
    ตัวอย่าง
    “พุ่งหอกเข้ารกแล้ว หลีกหนี้
    ใจด่วนควรการดี บ่ได้
    ผิดถูกไม่ทราบมี จิตต์มัก ง่ายนา
    เอาแต่เสร็จการไซ้ ชุ่ยพ้นมือตน”
    โครงสุภาษิตเก่า

    25. มือขวา
    ความหมาย ถนัด สันทัด ทำได้ดี ในการกระทำ หรือพูดสิ่งต่าง ๆ ได้ดี
    ความเป็นมา ตามธรรมดาคนเราถนัดข้างขวามากกว่ามือข้างซ้าย “มือขวา”
    ตัวอย่าง
    “การเล่นเกมต่าง ๆ อย่างฝรั่ง ฟุตบอล ลอนเตนนิส คริกเก็ตกอลฟ เหล่านี้ ขอรับเป็นมือขวาของเธอทั้งสิ้น”
    รัตนทวารา


    อ้างอิง : http://www.spiceday.com/picpost/viewthread.php?tid=50462&extra=&page=2
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×