ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องราว บทความ ข่าวทั่วไปที่ฉันอยากเก็บ....

    ลำดับตอนที่ #6 : สอนคิดวิพากษ์… จำเป็นสำหรับเด็กไทย >>> อยากให้อ่านอันนี้กันเยอะๆ -0- มันจำเป็น

    • อัปเดตล่าสุด 23 ก.ค. 51


    respond23 กรกฎาคม 2551

    สอนคิดวิพากษ์… จำเป็นสำหรับเด็กไทย

    .ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์

    นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

    kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

     

     

    ในยุคที่ข้อมูลข่าวสาร สามารถผ่านเข้ามาให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว ผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กและเยาวชนจะรู้วิธีจัดการกับข้อมูลความรู้ ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเด็กและเยาวชนไทยยังขาด ทักษะการคิดอยู่มาก ทำให้ความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลมีน้อย จึงเกิดความสับสนได้ง่าย ไม่รู้ว่าสิ่งใดควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ สิ่งใดควรรับ ไม่ควรรับ

    ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องปลูกฝังทักษะการคิดให้เด็กและเยาชนไทย โดยทักษะการคิดสำคัญที่ควรปลูกฝัง ในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ คือ การคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งหมายถึง ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนอ แต่ตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลัง และพยายามเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางต่าง ๆ ที่แตกต่าง เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผลการคิดเชิงวิพากษ์จะป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ถูกหลอกด้วยข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากทักษะการคิดดังกล่าว จะช่วยในการสืบค้นความจริง ไม่เชื่อคล้อยตามข้อมูลที่ได้รับมา อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอด และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

    ในบทความนี้ จึงเป็นการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนการคิดเชิงวิพากษ์ระดับสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงวางรากฐานการพัฒนาทักษะการคิด กล้าคิด กล้าพูด สามารถหาข้อสรุป และทางออกของปัญหาได้อย่างชัดเจน โดยเชื่อมโยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้ มีจุดยืนชัดเจน แต่มีความยืดหยุ่น ไม่ด่วนสรุป รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ดังนี้

    จัดเป็นวิชาพัฒนา ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ

    การจัดการสอนควรมีการพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์อย่างเป็นระบบ  โดยกำหนดเป็นวิชาบังคับที่ผู้เรียนต้องผ่านการเรียนวิชานี้ โดยในการเรียนการสอนวิชานี้ ขั้นเริ่มแรก ฝึกการตั้งคำถามเบื้องต้น (Use effective questioning strategies) การตั้งคำถามเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อหาเหตุผลหลักฐานที่ชัดเจน หาเหตุผลมาสนับสนุน โดยที่คำตอบอาจจะไม่มีเพียงคำตอบเดียว ขั้นต่อมา ฝึกการพูด และฝึกเขียนอย่างไม่เป็นทางการ ในห้องเรียนผู้สอนอาจใช้วิธีการตั้งคำถาม จุดประกายประเด็นปัญหาขึ้นมา แล้วให้ผู้เรียนตอบ หรือให้ผู้เรียนอ่านเอกสารวิชาการ แล้วจดประเด็น และตั้งคำถามจากสิ่งที่อ่าน และให้จับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขั้นสุดท้าย ฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ผ่านการฝึกคิดเพื่อแก้ปัญหา (Problem solving) เป็นการฝึกประสบการณ์ทางความคิดของผู้เรียน เป็นการฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อแก้ปัญหาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัยที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา เป็นการไม่ด่วนสรุปว่าปัญหามาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง การฝึกคิดเชิงวิพากษ์ผ่านการแก้ปัญหานั้น เป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นพื้นฐานไปสู่ การวิจัย เพื่อค้นหาคำตอบ

    ฝึกทักษะการคิดวิพากษ์ในการทำโครงงานศึกษา

    การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นระดับการศึกษาที่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านการทำโครงงานต่าง ๆ แบบง่าย ซึ่งการทำโครงงานจะช่วยฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ จนนำไปสู่คำตอบที่ต้องการ โดยอาจเป็นคำตอบใหม่ มีความหลากหลาย โดยไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยครูผู้สอน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการนำทิศทางและให้คำปรึกษาการจัดทำโครงงาน ควรมีส่วนในการ กระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้เรียนตั้งคำถามและหาคำตอบ แนะนำการพิสูจน์ข้อสมมุติฐาน หรือคำถามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การไม่ปิดกั้นความคิดและคำถามต่าง ๆ ของผู้เรียน และไม่โน้มนำให้ผู้เรียนทำตามวิธีการของครูผู้สอน หากมีโอกาส ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ทำโครงงาน ผ่านการวิพากษ์จากมุมมองของกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่หลากหลาย ซึ่งอาจจะเป็นองค์กร สถาบัน ชุมชน ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิด อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการคิดวิพากษ์ได้มากขึ้น

    จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคิดวิพากษ์

    การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ นอกจากจะมีเรื่องการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว บรรยากาศในสถาบันการศึกษา มีส่วนสำคัญไม่น้อย ดังนั้น สถาบันการศึกษาควรสนับสนุนให้ผู้เรียน มีโอกาสพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น การจัดตั้งชมรมตามความถนัดความสนใจ การจัดให้มีเวทีการสัมมนา การโต้วาที ในประเด็นที่เป็นกระแส หรือประเด็นที่เป็นความสนใจของผู้เรียน  การจัดห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อเป็นฐานในการคิดเชิงวิพากษ์

    ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ช่วยให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่ปรารถนาสืบค้นความจริง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องมากที่สุด การคิดเชิงวิพากษ์จะนำผู้เรียนไปสู่ความเข้าใจ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า หากผู้เรียนถูกฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จนชำนาญ จะค้นพบความจริงว่า ตนเองไม่สามารถตัดสินสิ่งใดได้  โดยปราศจากการคิดเชิงวิพากษ์

    นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญยิ่งในการเรียนการสอนการคิดเชิงวิพากษ์ในสถาบันการศึกษา คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ซึ่งควรเป็นผู้มีความสามารถทางการคิดเชิงการวิพากษ์ และสนับสนุนให้เกิดการคิดวิพากษ์ในสถาบันการศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษาควรเปิดกว้างทางความคิด ให้ครูผู้สอนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ มีการพูดคุยกันได้แม้คิดเห็นแตกต่าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาความกล้า และความสามารถในการคิดวิพากษ์ได้ โดยบรรยากาศของกลุ่มคณาจารย์ ควรล้มล้างระบบการวิพากษ์เพื่อทำลายกัน ไม่วิพากษ์เสร็จแล้วกลายเป็นศัตรู หรือเกิดความหมองใจกัน และไม่ควรวิพากษ์เพื่อหวังผลประโยชน์สำหรับกลุ่มพวกตน แต่ควรวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์ ที่ก่อเกิดประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมต่อสังคมไทย

     

    การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะการคิดที่ควรปลูกฝังในเด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ ได้พัดเอาข้อมูลข่าวสารเข้ามาอย่างมากมาย ทั้งที่เป็นประโยชน์ และเป็นโทษ ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทย ยังขาดวุฒิภาวะในการพิจารณาข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกระดับ ควรเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ของเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่เพียงแต่ผลักดันในระดับสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ควรผลักดันทั้งในชุมชน ครอบครัว สื่อมวลชน ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมด้วย 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×