คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : ประวัติศาสตร์ไทย : อาณาจักรอยุธยา 4
เหตุการณ์สำคัญและการล่มสลาย
1. การเสียกรุงครั้งที่ 1
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรพม่าและอาณาจักรอยุธยา อันเป็นผลมาจากความต้องการของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งต้องการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช และอาจถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2106 ที่ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ
ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยาระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับเจ้าเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชา ซึ่งมีพระทัยฝักใฝ่พม่า ได้นำไปสู่ความพินาศของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด จนกระทั่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพให้กับอาณาจักรอยุธยาในอีก 15 ปีต่อมา
สงครามช้างเผือก
ในปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา โดยสามารถยึดหัวเมืองเหนือได้โดยสะดวก พระองค์รบชนะทัพอยุธยาที่ชัยนาท และลงมาตั้งค่ายล้อมพระนครทั้ง 4 ทิศ แต่ถึงแม้ว่าพม่าจะยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครเป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าสู่ตัวเมืองได้ พระเจ้าบุเรงนองจึงมีพระราชสาส์นให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกจะรบให้รู้แพ้รู้ชนะหรือเลือกยอมสงบศึก โดยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกสงบศึก อยุธยาจึงต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพม่า โดยมอบช้างเผือก 4 ช้างให้แก่พม่า มอบตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ส่งช้างเผือกแก่พม่าเมื่อครั้งก่อนสงครามช้างเผือก ได้แก่ พระราเมศวร พระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีมหาเสนา และพระสมุทรสงคราม ส่งช้างให้แก่พม่าปีละ 30 ช้าง ส่งเงินให้แก่พม่าปีละ 300 ชั่ง และให้พม่ามีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองมะริด โดยมีการเจรจาขึ้นบริ้วณสถานที่ประทับชั่วคราวระหว่างวัดพระเมรุสาธิการรามกับวัดหัศดาวาส
ถึงแม้ว่าพม่าจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังนี้ แต่พระเจ้าบุเรงนองยังไม่ทรงประสบความสำเร็จในการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราช ดังนั้น พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงพยายามดำริหาวิธีในการเอาชนะกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมารบอีกครั้งหนึ่ง
พระมหาธรรมราชาเอาพระทัยออกห่าง
พระมหาธรรมราชาทรงแสดงท่าทีฝักใฝ่พม่าตั้งแต่ระยะหลังสงครามช้างเผือกแล้ว โดยทรงยินยอมส่งกำลังทหารไปช่วยพระเจ้าบุเรงนองล้อมเมืองเชียงใหม่ตามที่ติดต่อมา การเอาพระทัยออกห่างเช่นนี้เป็นการบั่นทอนความมั่นคงของประเทศราวปี พ.ศ. 2108 พระมหาธรรมราชาทรงส่งข่าวเรื่องการทรงพระราชทานพระเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรล้านช้าง แต่ถูกกองทัพพม่าดักชิงตัวไปกลางทาง ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้างล้มเหลวลง
ต่อมา พระมหาธรรมราชาเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ. 2108 โดยทรงกล่าวโทษว่าอยุธยาวางแผนกำจัดพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าเมืองประเทศราช ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ เจ้าฟ้าพิษณุโลก หรือ เจ้าฟ้าสองแคว อันอยู่ในฐานะกบฎต่ออาณาจักรอยุธยาถึงแม้ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงนำพระชายาและพระธิดาของพระมหาธรรมราชาลงมายังอยุธยา โดยหวังว่าพระมหาธรรมราชาจะไม่ทรงกล้าดำเนินการใด ๆ ต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น
ก่อนการเสียกรุง พ.ศ. 2112 พระมหาธรรมราชาได้ทรงส่งกองทัพมาร่วมล้อมกรุงศรีอยุธยาร่วมกับทัพใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย และได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในกองทัพพม่าด้วย และในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งล้านช้างทรงส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาก็ทรงปลอมเอกสารลวงให้กองทัพล้านช้างนำทัพผ่านบริเวณที่ทหารพม่าคอยดักอยู่ กองทัพล้านช้างจึงแตกพ่ายกลับไป
การเตรียมการของฝ่ายอยุธยา
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เตรียมการป้องกันบ้านเมืองเพิ่มเติม ดังนี้
สร้างป้อมและหอรบเพิ่มเติม โดยหอรบอยู่ห่างกันหอละ 40 เมตร รวมทั้งเสริมกำแพงให้แข็งแกร่งขึ้น จัดปืนใหญ่ไว้ตามกำแพงเมืองเป็นจำนวนมาก โดยห่างกันเพียงกระบอกละ 10 เมตรโปรดให้สร้างแนวกำแพงขึ้นใหม่โดยให้ชิดกับคูเมืองทุกด้าน ให้สร้างหอรบไว้กลางลำน้ำที่เป็นคูเมืองแล้วเอาปืนใหญ่ติดตั้งไว้บนนั้น
สาเหตุ
1. เกิดความแตกสามัคคีกันระหว่างสมเด็จพระมหินทราธิราชกับพระมหาธรรมราชาเนื่องมาจากการยุยงของข้าศึก
2. ไทยขาดกำลังใจต่อสู้เนื่องจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตในขณะบัญชาการศึก
3. พระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพไทยเป็นไส้ศึกให้แก่พม่า
4. ไทยว่างเว้นการสงครามมานาน พอมีศัตรูมารุกรานก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
ลำดับเหตุการณ์
พระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2111 ประกอบด้วยหลายทัพ ทั้งจากพระมหาอุปราชา เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองอังวะ และเจ้าเมืองเชียงใหม่ เชียงตุงและพิษณุโลก รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก ลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แล้วทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก
พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายยามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมากพระองค์ทรงพยายามเปลี่ยนที่ตั้งค่ายอยู่หลายระยะ โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก แต่ก็ทำให้สามารถบุกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด ประกอบกับการที่พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู้พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน
หลังสงคราม
สมเด็จพระมหินทราธิราช ถูกพาตัวไปที่กรุงหงสาวดีแต่ประชวรสวรรคตระหว่างทางไปกรุงหงสาวดี โดยพระเจ้าบุเรงนองตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของอยุธยา ซึ่งมาจากราชวงศ์สุโขทัย แล้วนำพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไปเลี้ยงดู ซึ่งพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาคนนั้นคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งต่อมาในภายหลังเป็นผู้นำที่ทำสงครามกับพม่านำอิสรภาพมาสู่สยาม
อาณาจักรอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลานาน 15 ปี โดยพม่าแต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะประเทศราช ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนไปยังเมืองพม่า โดยเหลือให้รักษาเมืองเพียง 1,000 คน คนที่เหลือก็หนีไปหลบอาศัยอยู่ที่อื่น ทรัพย์สินจำนวนมากถูกลำเลียงไปยังเมืองพม่า พร้อมด้วยพระบรมวงษศานุวงศ์หลายพระองค์ บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายได้รับความเสียหายเป็นอันมาก
การประกาศอิสรภาพ
ในปี พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง พ้นจากการเป็นประเทศราชของพม่าตั้งแต่บัดนั้น (รวมเวลาที่เป็นเมืองขึ้นของพม่า 15 ปี) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น3ปีหลังจากพระเจ้าบุเรงนองประชวรและสวรรคตลงในปีพ.ศ. 2124 และมังไชยสิงห์ ราชบุตรองค์โตของพระเจ้าบุเรงนองที่รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้านันทบุเรง แต่พระเจ้าอังวะพระญาติประกาศแข็งเมืองพระเจ้านันทบุเรง จึงบัญชาให้ พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู (พระสังกทัต) พระเจ้าเชียงใหม่ (อโนรธามังสอพระราชอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง) พระเจ้า[[กรุงศรีสัตนา คนหุต]] (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชยกกองทัพไปตีกรุงอังวะ พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชา ที่ทรงโปรดให้รักษากรุงฯว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพมาถึงหงสาวดีให้ฆ่าเสีย (สาเหตุที่ทรงยกทัพมาแทนเนื่องจากพระมหาธรรมราชาทรงพระชราและพระนเรศวรทรงทูลขอ ออกรบเอง) ทุกเมืองยกกองทัพไปหมดแล้ว แต่พระนเรศวรทรงเห็นว่าอยุธยาถึงเวลาที่จะเป็นเอกราชเสียทีจึงทรงยาตราทัพออกจากเมืองพิษณุโลกไปอย่างช้า ๆ ถึงเมืองแครง โดยพระองค์ทรงหวังว่า ถ้าพระเจ้าหงสาวดีแพ้ก็จะโจมตีกรุงหงสาวดีซ้ำเติมหากทัพหงสาฯชนะ ก็จะกวาดต้อนครัวไทยที่อยู่ที่ชายแดนพม่ามาไว้เป็นกำลังของพระองค์สืบไป ส่วนพระมหาอุปราชา ทรงทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพมาจึงโปรดให้ ขุนนางมอญ 2 คน คือ พระยาเกียรติ์ และพระยารามศิษย์พระอาจารย์เดียวกันกับพระนเรศวรคือพระมหาเถรคันฉ่องออกมา ต้อนรับโดยทรงสั่งว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมาถึงหงสาวดีพระองค์ (พระมหาอุปราชา) จะเข้าโจมตีจากข้างหน้าและจึงเรียกประชุม แม่ทัพนายกองทั้งหมดและนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง และพระสงฆ์ในวัดนั้นมาเป็นประธานและทรงเล่าเรื่องที่พระเจ้านันทบุเรงคิดปองร้ายพระองค์แล้วพระองค์จึงหลั่งนำจากสุวรรณ ภิงคาร (นำเต้าทอง) ลงสู่พื้นพสุธาและประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินและผู้คนในที่นั้นว่า " ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรดังแต่ก่อนสืบไป " เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม พ.ศ.2127 หลังประกาศเสร็จแล้วทรงตรัสถามชาวเมืองมอญว่าจะมาเข้ากับฝ่ายไทยไหมชาวมอญทั้งหลายก็พร้อมใจกันเข้ากับฝ่ายไทย และทรงจัดทัพบุกตรงไปกรุงหงสาวดีแต่พอข้ามแม่นำสะโตงไปม้าเร็วก็มารายงานพระองค์ว่า พระเจ้าหงสาวดีได้ชัยชนะเหนือพระเจ้าอังวะ และยกทัพกลับจวนถึงหงสาวดีอยู่แล้วเห็นไม่ สมควร จึงทรงกวาดต้อนครัวไทยครัวมอญกลับอยุธยาพร้อมพระองค์ พระมหาอุปราชาเมื่อทรงทราบว่าพระยามอญทั้ง 2ไปสวามิภักดิ์กับสมเด็จพระนเรศวร ก็ทรงพิโรธและทราบว่าพระนเรศวรทรง ถอยทัพกลับ จึงทรงบัญชาให้สุรกรรมาคุมทัพมาสกัดแต่พระนเรศวรทรงข้ามแม่นำสะโตงไป แล้วทั้ง 2 ทัพเผชิญหน้ากันแต่แม่นำสะโตงกว้างทั้งสองจึงยิงไม่ถึงกันพระนเรศวร ทรงมีพระแสงปืนอยู่กระบอกหนึ่งมีความยาว 9 คืบยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพพม่าตายคาคอช้างทหารเห็นแม่ทัพตายก็เสียขวัญถอยทัพกลับไปรายงานพระมหาอุปราชาให้ทรงทราบ ส่วนพระนเรศวรทรงเดินทัพกลับกรุงศรีอยุธยาโดยสวัสดิภาพพระแสงปืนกระบอกนั้นมีชื่อว่า " พระแสงปืนข้ามแม่นำสะโตง " เมื่อทรงถึงอยุธยาก็ทรงเข้าเฝ้าพระราชบิดารายงานเรื่อง ทั้งหมดให้ทรงทราบสมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงปูนบำเหน็จมอญที่สวามิภักดิ์และทรงแต่งตั้งพระมหาเถรคันฉ่องเป็นที่สังฆราช ส่วนพระยาเกียรติและพระยารามให้มีตำแหน่งได้ พระราชทานพานทองคุมกองทัพมอญที่สวามิภักดิ์พระราชทานบ้านทีอยู่อาศัยในพระนคร พร้อมกันนั้นได้ทรงมอบพระราชอาญาสิทธิ์แก่สมเด็จพระนเรศวรในการบัญชาการรบเพื่อที่ จะตระเตรียมกำลังคนและอาวุธไว้รับมือพม่า
2. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สองระหว่างราชวงศ์คองบองของพม่ากับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในการทัพคราวนี้ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระของอาณาจักรพม่า อันเป็นจุดสิ้นสุดของราชอาณาจักรอยุธยาที่เป็นราชธานีของคนไทยมานานสี่ศตวรรษ
สงครามดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากผลของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อปี พ.ศ. 2303 สงครามคราวนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2308 โดยพม่าส่งกองทัพรุกรานอยุธยามาเป็นสองทางโจมตีแบบคีม ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 ทหารพม่าสามารถเอาชนะการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่มีจำนวนเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกัน และเริ่มการล้อมนาน 14 เดือนเมื่อถึงเดือนมีนาคมปีนั้น พระเจ้าเอกทัศทรงยอมขอเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่พม่าต้องการให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในที่สุด กองทัพพม่าก็สามารถบุกตีเข้าพระนครได้ และก่อกรรมอำมหิต ที่ได้สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ไทย-พม่ามาจนถึงปัจจุบัน
จากการเสียกรุงในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่าง ๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทย แต่การรุกรานพม่าของจีนทำให้พม่าต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิมกลับประเทศไป และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงผงาดขึ้นมาสร้างความเป็นปึกแผ่นและฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชาติขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ผลของสงครามทำให้พม่าสามารถผนวกเขตตะนาวศรีตอนใต้เป็นการถาวร แต่พม่าก็ถูกขับออกจากแคว้นล้านนานับตั้งแต่นั้นเช่นเดียวกัน
เหตุวุ่นวายในราชสำนักปลายกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามเดิมว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดยที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระราชดำริว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเป็นผู้ไม่เหมาะสมจะขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อบุตรองค์แรก สมเด็จพระมหาอุปราช ต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ จึงทรงข้ามไปโปรดฯ ให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงเป็นพระมหาอุปราชแทน
พอสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หลังเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ไม่ถึง 3 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทำให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์ไม่พอพระทัย คิดจะก่อกบฏ แต่ถูกจับได้และประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงตัดสินพระทัยด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ไปผนวชเสีย
สภาพบ้านเมืองรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2301 อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ได้มีหลักฐานบรรยายสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นอยู่หลายมุมมอง ซึ่งที่ปรากฏในพงศาวดารและหลักฐานไทยในสมัยหลังส่วนใหญ่อธิบายไว้ว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ข้าราชการเกิดความระส่ำระสาย บางคนลาออกจากราชการ โดยบาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุไว้ในตอนนั้นว่า "...บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน (พระราชชายา) ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบถ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..." เป็นต้น ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ถูกมองข้าม และมิได้มองว่าพระองค์มีความประพฤติเช่นนั้นเลย โดยมีบันทึกว่าพระองค์ "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก" เป็นต้น
ในแง่เศรษฐกิจ เศรษฐกิจของอาณาจักรอยุธยามีความตกต่ำลง เนื่องจากของป่า ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมานานนับศตวรรษ กลับส่งออกขายต่างประเทศได้น้อยลง อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านนโยบายทางการเมืองในประเทศ ซึ่งไม่เป็นมิตรกับชาวต่างชาตินับตั้งแต่เหตุประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอนสมัยต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง และความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลง โดยทั้งพ่อค้าจากมหาสมุทรอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และชาติตะวันตกต่างก็ลดปริมาณซื้อขายลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบป้องกันอาณาจักรอ่อนแอก็เป็นได้
สงครามพระเจ้าอลองพญา
ในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เพื่อแผ่อิทธิพลเข้าไปในมะริดและตะนาวศรี และกำจัดภัยคุกคามจากอยุธยาที่มักจะยุให้หัวเมืองพม่าที่อยู่ไกลกระด้างกระเดื่องอยู่เสมอ หรือไม่พระองค์ก็ทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอนั้นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ อาณาจักรอยุธยาว่างศึกจากอาณาจักรพม่ามาเป็นเวลานานกว่า 150 ปีแล้ว ทว่ากองทัพพม่าไม่อาจพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนั้น เนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้าอลองพญา อันทำให้กองทัพพม่ายกกลับไปเสียก่อน ซึ่งในหลักฐานของฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าได้บันทึกไว้แตกต่างกันถึงสาเหตุการสวรรคต หลักฐานไทยบันทึกว่าเป็นเพราะต้องสะเก็ดปืนที่แตกต้องพระองค์ส่วนหลักฐานพม่ากล่าวว่า พระองค์ประชวรด้วยโรคบิด
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเคยทรงตัดสินพระทัยปลีกพระองค์ไปผนวช ด้วยไม่มีพระราชประสงค์ในราชบัลลังก์ ก็ได้ทรงกลับมาราชาภิเษกอีกหนหนึ่งเพื่อบัญชาการรบตามคำทูลเชิญของพระเชษฐาด้วย แต่ในยามสงบ หลังจากกรุงศรีอยุธยาว่างศึกหลังจากสิ้นรัชสมัยพระเจ้าอลองพญาแล้ว พระเจ้าเอกทัศกลับทรงแสดงพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อีก พระองค์จึงตัดสินพระทัยลาผนวชและไม่ยอมสึกหลังจากนั้นอีกเลย แม้ว่าในระหว่างการทัพคราวต่อมา จะมีราษฎรและข้าราชการทั้งหลายต้องการให้พระองค์ลาผนวชกลับมาป้องกันบ้านเมืองก็ตาม พระองค์จึงทรงได้รับสมัญญานามว่า "ขุนหลวงหาวัด"
สาเหตุของสงคราม
ความคิดที่จะตีอาณาจักรอยุธยาของพระเจ้ามังระอาจมีนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาในปี พ.ศ. 2306โดยก่อนหน้านั้นพระองค์เคยเสด็จมาในกองทัพของพระเจ้าอลองพญาในการรุกรานครั้งก่อนด้วย หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ด้วยความที่ทรงเคยมีประสบการณ์ในการรบครั้งก่อน จึงทำให้ทรงรู้จุดอ่อนของอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และพระองค์ก็ได้ตระเตรียมงานเพื่อการสงครามได้อย่างเหมาะสม
ในรัชกาลของพระเจ้ามังระนั้น มีการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่าง ๆ และพระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยาลงจนแตกสลายหรืออ่อนแอจนไม่อาจเป็นที่พึ่งให้กับหัวเมืองที่คิดตีออกห่างได้อีก โดยมิใช่การขยายอาณาเขตอย่างเคย โดยในเวลาไล่เลี่ยกัน หัวเมืองล้านนาและหัวเมืองทวายที่ก่อกบฎและคิดตีออกห่าง[ทำให้พระองค์ต้องส่งกองทัพไปปราบกบฎ ซึ่งสำหรับกบฎในล้านนานั้น ทางอยุธยาได้ส่งกำลังมาร่วมรบด้วย แต่พงศาวดารไทยระบุว่า ทหารอยุธยาไม่ได้รบเพราะพม่าปราบปรามกบฎเสร็จก่อนที่กองทัพจะไปถึง
สำหรับสาเหตุด้านอื่น ๆ ที่พอจะประมวลได้ เช่น การไม่ส่งตัวหุยตองจาคืนแก่พม่าเมื่อพม่าร้องขอมา (ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า), ความต้องการเป็นใหญ่เทียบเท่าพระเจ้าบุเรงนองของพระเจ้ามังระ, การไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการของอยุธยา ซึ่งเป็นไปตามการตกลงหลังเสร็จสิ้นการรุกรานของพระเจ้าอลองพญา (ปรากฏใน The Description of the Burmese Empire) หรือไม่ก็พระเจ้ามังระทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอ และสบโอกาสจะยกทัพเข้ามาปล้นเอาทรัพย์สมบัติเท่านั้น และยังเป็นการเตรียมตัวรับศึกกับจีนเพียงด้านเดียวด้วย
การจัดเตรียม
ฝ่ายพม่า
ด้านแม่ทัพของพระเจ้ามังระกราบทูลให้ใช้การตีกระหนาบแบบคีมจากทั้งทางเหนือและทางใต้ ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองได้ระบุว่า พระเจ้ามังระทรงดำริว่า หากจะส่งเนเมียวสีหบดีนำกองทัพไปทำสงครามกับอยุธยาเพียงด้านเดียวเห็นจะไม่พอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพรุกรานมาอีกด้านหนึ่งด้วยโดยก่อนหน้านั้น กองทัพทั้งสองได้รับมอบหมายให้บรรลุภารกิจอื่นเสียก่อน คือ การปราบกบฎต่อรัฐบาลพม่า ทั้งทางเหนือและทางใต้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมความสำเร็จให้แก่เป้าหมายหลักในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายเนเมียวสีหบดีมีหน้าที่ปราบกบฎในแคว้นล้านนา กองทัพเนเมียวสีหบดีเคลื่อนไปกะเกณฑ์ผู้คนทางหัวเมืองฉาน โดยทหารฉานนั้นอยู่ภายใต้การนำของเจ้าฟ้าทั้งหลายอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับการเกณฑ์ทหาร เจ้าฟ้าบางคนในรัฐฉานทางเหนือหลบหนีไปเมืองจีน แล้วฟ้องแก่จักรพรรดิจีน เสร็จแล้วจึงยกทัพจากเมืองเชียงตุงเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ และสามารถปราบปรามกบฎลงได้อย่างราบคาบ และภายในฤดูฝนของ พ.ศ. 2307 ได้ยกขึ้นไปปราบเมืองล้านช้างได้ทั้งหมด และล้านช้างถูกบีบบังคับให้ส่งทหารเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพฝ่ายเหนือด้วยก่อนจะมีจัดเตรียมการยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่เมืองลำปาง และเริ่มเคลื่อนทัพเมื่อฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2308
ขณะที่ทางเมืองพม่าได้เกิดกบฎขึ้นที่เมืองมณีปุระ พระเจ้ามังระตัดสินพระทัยไม่เรียกกองทัพกลับและทรงนำกองทัพไปปราบปรามกบฎด้วยพระองค์เองเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2307 เสร็จแล้วจึงทรงส่งกองทัพหนุนมาให้ฝ่ายใต้ ทำให้มีทหารเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 นายทำให้พม่ามีทหารทั้งสิ้น 50,000 นายในสองกองทัพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการระดมทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งนอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังมีกำลังปืนใหญ่ 200 นายที่เป็นทหารบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยเมื่อคราวพม่าเกิดศึกภายในด้วย
ฝ่ายทัพมังมหานรธา ราว พ.ศ. 2307 มีภารกิจที่ต้องปราบกบฏที่ทวาย ต่อมาสามารถโจมตีลึกเข้าไปถึงเพชรบุรีได้โดยสะดวก แต่ถูกขัดขวางต้องยกทัพกลับ แต่อยุธยาได้เสียทวายกับตะนาวศรีเป็นการถาวรหลังจากที่ได้พักค้างฝนที่ทวายใน พ.ศ. 2308 พร้อมกะเกณฑ์ไพร่พลจากหงสาวดี เมาะตะมะ มะริด ทวายและตะนาวศรีเข้าสมทบในกองทัพ จนย่างเข้าหน้าแล้งของ พ.ศ. 2308 จึงได้เคลื่อนทัพเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามนัดหมายในเวลาใกล้เคียงกับทัพของเนเมียวสีหบดี
แผนการรบ
แผนการรบฝ่ายพม่าส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ในสงครามพระเจ้าอลองพญา โดยประการแรก พม่าจะหลีกเลี่ยงเส้นทางโจมตีเพียงด้านเดียวตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยแคบ ๆ ซึ่งหากถูกฝ่ายอยุธยาพบแล้วจะถูกอุดอย่างง่ายดายโดยกำลังฝ่ายอยุธยาที่เหนือกว่า ในสงครามคราวนั้น ฝ่ายพม่าถูกชะลอให้ต้องใช้เวลาเกือบสามเดือนเพื่อสู้รบออกจากแนวชายฝั่งในคราวนี้ จึงมีการวางแผนจะโจมตีหลายทางเพื่อกระจายการป้องกันที่เหนือกว่าของอยุธยา
ประการที่สอง พม่าจะต้องเริ่มการรุกรานให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีเวลาทำสงครามในฤดูแล้งให้ได้นานที่สุด ในสงครามคราวที่แล้ว พระเจ้าอลองพญาเริ่มต้นรุกรานช้าเกินไปทำให้เมื่อกองทัพพม่ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน ก็เหลือเวลาเพียงเดือนเดียวก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลาก คราวนี้ฝ่ายพม่าจึงเริ่มต้นรุกรานตั้งแต่กลางฤดูฝน โดยหวังว่าจะไปถึงกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นฤดูแล้งพอดี
ฝ่ายอยุธยา
ทางด้านการปฏิบัติของอาณาจักรอยุธยาระหว่างการทัพทั้งสองนั้น กษัตริย์อยุธยาได้ทรงส่งกองทัพมาช่วยเหลือเชียงใหม่ให้เป็นกบฎต่อพม่า และช่วยหัวเมืองมอญที่เมืองทวายให้ประกาศอิสรภาพ ทำให้กองทัพพม่าต้องส่งกองทัพไปตีดินแดนทั้งสองคืน เลยไปจนถึงอาณาจักรล้านช้าง เพื่อตัดชัยชนะของกรุงศรีอยุธยาและในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้ามังระ กองทัพอยุธยาก็ยังคงเตรียมตัวรับกองทัพพม่าในพระนครอีกเช่นเดิม
พระเจ้าเอกทัศทรงระดมทหารครั้งใหญ่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มังมหานรธายกกองทัพลงใต้มายึดทวายเป็นการถาวรเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2307 การป้องกันด้านทิศใต้ประกอบด้วยทหารมากกว่า 60,000 นาย ซึ่งพระเจ้าเอกทัศทรงวาง "กำลังที่ดีที่สุด" ไว้ตลอดทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์มาจนถึงกาญจนบุรี ผ่านทวาย ไปจนถึงอ่าวไทยที่อยู่ทางใต้สุดเพื่อรับมือกับมังมหานรธาส่วนทางด้านทิศเหนือ แนวป้องกันหลักของอยุธยาเริ่มตั้งแต่สุโขทัยและพิษณุโลก ส่วนการป้องกันที่อยู่เหนือไปกว่านี้มีการจัดตั้งเป็นค่ายทหารขนาดเล็กโดยผู้นำท้องถิ่น
ฝ่ายอยุธยายังคงเน้นการตั้งรับในพระนคร โดยใช้แผนตั้งรับจนถึงฤดูน้ำหลากแล้วรอจนกองทัพข้าศึกถอยทัพกลับไปเอง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เอาชนะข้าศึกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ฝ่ายอยุธยายังมีเงินพอจะซื้อปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ด้วย ปืนใหญ่บางกระบอกยาวถึง 9 เมตร และยิงลูกปืนใหญ่น้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัมและครั้งเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก ทหารพม่าได้ไปพบปืนคาบศิลาใหม่กว่า 10,000 กระบอก และเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการล้อมนาน 14 เดือนก็ตามนอกจากนี้ ฝ่ายอยุธยายังได้มีการจ้างทหารรับจ้างต่างด้าวเพื่อเสริมทัพด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและชาวจีน โดยมีเรือรบอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งลำถูกจัดให้ป้องกันด้านปีกด้วย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลอยุธยาเองก็เห็นว่ายุทธศาสตร์การตั้งรับในพระนครเห็นจะไม่ไหว จำต้องไม่ให้ข้าศึกประชิดพระนครอย่างยุทธศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวร เพียงแต่ว่าระบบป้องกันตนเองของอยุธยามีจุดอ่อนมาก่อนแล้ว จึงทำให้รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันพระนครควบคู่ไปด้วย ดังที่เห็นได้จากการเตรียมเสบียงอาหารและเกณฑ์กองทัพหัวเมือง เพียงแต่ว่าการเกณฑ์กองทัพหัวเมืองได้ทหารจำนวนไม่มากนัก ซึ่งคงเป็นผลมาจากระบบป้องกันตนเองที่มีปัญหานั่นเอง ตรงกันข้ามกับ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่เห็นว่าทางการอยุธยายังคงใช้พระนครเป็นปราการรับข้าศึกตามยุทธศาสตร์เดิมแต่โบราณ
การทัพ
การรุกรานช่วงฤดูฝน
กองทัพฝ่ายเหนือของอาณาจักรพม่า ภายใต้การบัญชาการของเนเมียวสีหบดี ได้จัดแบ่งกำลังพลออกเป็นทัพบกและทัพเรือ ทั้งหมดยกออกจากลำปางในเดือนกันยายน พ.ศ. 2308 ลงมาตามแม่น้ำวัง ซึ่งการรุกรานของกองทัพฝ่ายเหนือนั้นถูกชะลอลงอย่างมากเนื่องจากฤดูฝนและผู้นำท้องถิ่น ทำให้เนเมียวสีหบดีต้องโจมตีเมืองแล้วเมืองเล่าไปตลอดทางท้ายที่สุดแล้วก็ยึดได้เมืองตากและกำแพงเพชรเมื่อสิ้นฤดูฝน
ในเวลาเดียวกัน มังมหานรธาได้เปิดฉากการโจมตีจากทางใต้ในช่วงกลางเดือนตุลาคมโดยแบ่งการโจมตีออกเป็นสามทาง กองทัพฝ่ายใต้ของพม่ามีทหาร 20,000 ถึง 30,000 นาย กองทัพขนาดเล็กถูกส่งผ่านด่านเจดีย์สามองค์มุ่งไปยังสุพรรณบุรี ส่วนกองทัพขนาดเล็กอีกกองหนึ่งรุกลงใต้ไปตามชายฝั่งตะนาวศรีมุ่งหน้าไปยังมะริดและตะนาวศรี และกองทัพหลักฝ่ายใต้รุกรานผ่านด่านเมียตตา และกาญจนบุรีเสียแก่ข้าศึกโดยมีการต้านทานเพียงเล็กน้อย
เหตุหลักที่กาญจนบุรีเสียแก่พม่าโดยง่ายนั้นอาจเป็นเพราะทหารพม่ากรำศึกกว่าทหารอยุธยา แต่ก็อาจอธิบายได้ว่าแม่ทัพอยุธยาคำนวณผิดพลาดถึงเส้นทางเดินทัพหลักของพม่า และไม่มีการเสริมกำลังอย่างเพียงพอเพื่อให้เมืองสามารถต้านทานการโจมตีขนาดใหญ่ได้ หากตัดสินจากการรายงานเส้นทางโจมตีของฝ่ายพม่าจากพงศาวดารไทยแล้ว พบว่าแม่ทัพอยุธยาดูเหมือนจะเชื่อว่าเส้นทางโจมตีหลักของพม่าจพมาจากชายฝั่งอ่าวไทย แทนที่จะเป็นเส้นทางที่สั้นและชัดเจนที่สุดผ่านทางกาญจนบุรี หลักฐานไทยระบุว่าเส้นทางโจมตีหลักของมังมหานรธามาจากตะนาวศรีตอนใต้ โดยข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่ชุมพรและเพชรบุรีอันเป็นเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเส้นทางกาญจนบุรีที่บันทึกไว้ในพงศาวดารพม่า นักประวัติศาสต์เกียว เติด ระบุเพิ่มเติมโดยเฉพาะว่าเส้นทางโจมตีหลักคือทางด่านเมียตตา
การรุกรานช่วงฤดูแล้ง
หลังจากยึดกาญจนบุรีแล้ว กองทัพฝ่ายใต้ของมังมหานรธาเดินทัพต่อมายังอยุธยา และเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งมาถึงนนทบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามาทางทิศใต้ 60 กิโลเมตร ซึ่งอยุธยาตั้งแนวป้องกันสำคัญขึ้นขัดเส้นทางมุ่งสู่พระนคร ฝ่ายอยุธยาใช้กองทัพบกและกองทัพเรือโจมตีค่ายพม่าร่วมกัน กองทัพเรือประกอบด้วยเรือรบหลายลำและเรืออังกฤษลำหนึ่งที่ใช้ยิงปืนใหญ่ถล่มที่ตั้งของพม่า แต่ทหารพม่าสามารถป้องกันค่ายไว้ได้ และทหารอยุธยาถอยทัพกลับไป ส่วนเรืออังกฤษลำนั้นหนีออกทะเลไป
หลังจากนั้นกองทัพมังมหานรธาก็ไปเผชิญกับกองทัพอยุธยาที่มีกำลังพล 60,000 นายใกล้กับทางตะวันตกของกรุง แต่ถึงแม้ว่าจะมีกำลังต่างกันหลายเท่าก็ตาม ทหารพม่าที่กรำศึกกว่าก็สามารถเอาชนะได้ จนทหารอยุธยาต้องหนีกลับไปตั้งมั่นอยู่ในพระนคร มังมหานรธาใช้เวลาเพียงสองเดือนก็มาถึงพระนคร แต่ต้องเคลื่อนทัพไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพราะกองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดียังมาไม่ถึง เขาตั้งค่ายใหญ่ไว้ที่เจดีย์ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองทรงสร้างไว้เมื่อสองศตวรรษก่อน
ขณะเดียวกัน กองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดียังคงติดอยู่ทางตอนเหนือของอยุธยา ถึงแม้ว่าอัตราการเคลื่อนทัพจะเร็วขึ้นมากแล้วหลังสิ้นฤดูฝน หลังจากยึดกำแพงเพชรได้แล้ว เนเมียวสีหบดีเปลี่ยนเส้นทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถยึดหัวเมืองหลักทั้งเหนือคือ สุโขทัยและพิษณุโลกได้เป็นผลสำเร็จ (ส่วนในหลักฐานไทยไม่มีระบุว่า กองทัพพม่ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลก) ที่พิษณุโลก เนเมียวสีหบดีพักทัพไว้ระยะหนึ่งเพื่อฟื้นฟูกำลังทหารที่สูญเสียไปในการทัพอันทรหดและโรคระบาด ผู้นำท้องถิ่นถูกบังคับให้ดื่มน้ำสาบานความภักดีและจัดหาทหารเกณฑ์ให้แก่พม่า เช่นเดียวกับมังมหานรธาที่หาทหารเกณฑ์เพิ่มเติมจากในท้องที่นอกพระนครนั้นเอง
ขณะที่พม่ากำลังฟื้นฟูกำลังทหารของตน ทางการไทยได้ส่งทหารอีกกองหนึ่งเพื่อมายึดพิษณุโลกคืน แต่ถูกตีแตกพ่ายกลับไปโดยประสบความสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นความพยายามป้องกันครั้งสุดท้ายในทางเหนือ การป้องกันของอยุธยาพังทลายลงหลังจากนั้น กองทัพพม่าเคลื่อนลงมาทางเรือตามแม่น้ำน่าน ยึดได้เมืองพิชัย พิจิตร นครสวรรค์ ลงมาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงอ่างทองเนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2309 และสามารถติดต่อกับกองทัพมังมหานรธาได้
ทางด้านในกรุงได้ส่งกองทัพออกไปรับกองทัพเนเมียวสีหบดีที่ปากน้ำประสบ ริมแม่น้ำลพบุรีเก่าหรือโพธิ์สามต้น มีพระยากูระติเป็นแม่ทัพบก พระยาคะรานหรือพระยากลาโหมเป็นแม่ทัพเรือ กองทัพอยุธยาถูกตีแตก พม่าสามารถริบไพร่พลและยุทธปัจจัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพระยากลาโหมก็ตกเป็นเชลย แล้วจึงยกกองทัพมาตั้งยังปากน้ำประสบ ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ในกรุงก็ได้ส่งพระยาพลเทพออกรับกองทัพมังมหานรธาที่เมืองสีกุก กองทัพพม่ารบชนะได้เคลื่อนไปตั้งยังหมู่บ้านกานนีจนเมื่อทราบว่าทัพเนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครแล้วจึงย้ายมาตั้งประชิดที่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ภูเขาทองในระยะไม่เกิน 1.25 ไมล์จากกำแพงพระนคร(ในพงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า ตั้งค่ายที่ตอกระออมและดงรักหนองขาว) การเคลื่อนทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาได้แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการที่ประสานและเกื้อหนุนแก่กัน เพราะต่างก็ร่วมดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อปิดกั้นให้อยุธยาตกอยู่ในสภาพที่จนตรอกคือ ช่วยกันทำลายหรือมิฉะนั้นก็ยึดครองหัวเมืองรอบนอก ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาช่วยกู้กรุงศรีอยุธยา
หลักที่กองทัพทั้งสองของพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายนั้นตรงกันคือ "หากเมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลย เป็นการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ เมืองใดยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารใช้ในกองทัพ โดยไม่ลงโทษ" นอกจากนี้พม่ายังใช้การกระจายกำลังออกเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองทั่วไปในท้องถิ่นภาคกลางฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงทำให้คนไทยที่เดือดร้อนไปเข้ากับพม่าเป็นอันมาก
ความคิดเห็น