ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเรื่องมหัศจรรย์ ความ(ไม่)ลับ ของศัพท์สังคม

    ลำดับตอนที่ #2 : ประวัติศาสตร์ไทย : อาณาจักรอยุธยา 1

    • อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 56


    อาณาจักรอยุธยา

                    การก่อตั้งอาณาจักร

    ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร

    ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) [1] เป็นผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ตัดสินพระทัยสร้างราชธานีแห่งใหม่บริเวณตำบลหนองโสน (บึงพระราม) และสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 (พ.ศ.นี้เทียบจาก จ.ศ. แต่จะตรงกับ ค.ศ.1351) ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์อุดมมหาสถาน
                    มีข้อสันนิษฐานในเรื่องการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 3 ประการ ดังนี้
               1. มีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากเมืองอู่ทอง  แคว้นสุพรรณภูมิ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1890 เมืองอู่ทองซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำจระเข้สามพัน ประสบภัยธรรมชาติ ลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขิน ขาดแคลนน้ำ จึงเกิดโรคระบาด (โรคห่าหรืออหิวาตกโรค) มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงทรงทิ้งเมือง อพยพผู้คนข้ามฟากแม่น้ำมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณตำบลหนองโสน (บึงพระราม) ใช้เวลาสร้างเมืองใหม่ 3 ปี และสถาปนาขึ้นเป็นกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งใหม่ ใน พ.ศ.1893
               2. มีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากเมืองอโยธยา บริเวณปากแม่น้ำลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นละโว้ โดยพระเจ้าอู่ทองทรงอพยพไพร่พลทิ้งเมืองอโยธยา หนีภัยอหิวาตกโรคระบาด มาสร้างเมืองใหม่เช่นกัน
               3. มีฐานะเป็นพระราชโอรสของแคว้นละโว้ พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นละโว้ และมอบหมายให้พระเจ้าอู่ทองไปครองเมืองเพชรบุรี ในฐานะเมืองลูกหลวง ครั้งเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระเจ้าอู่ทองจึงเสด็จกลับมาครองราชสมบัติในแคว้นละโว้ และต่อมาได้ย้ายมาตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา
                    การถือกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 เป็นช่วงที่อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเสื่อมอำนาจลง ตรงกับรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ในขณะที่ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก็ยังคงมีแคว้นของคนไทยตั้งบ้านเมืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ลพบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งต่อมาถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในที่สุด

    การขยายดินแดน

    กรุงศรีอยุธยาดำเนินนโยบายขยายอาณาจักรด้วย 2 วิธีคือ ใช้กำลังปราบปราม ซึ่งเห็นได้จากชัยชนะในการยึดครองเมืองนครธม (พระนคร) ได้อย่างเด็ดขาดในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และอีกวิธีหนึ่งคือ การสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติ อันเห็นได้จากการผนวกกรุงสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร

     

    ลักษณะภูมิประเทศและที่ตั้ง

    กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนบริเวณซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบถึง 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่พระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้ง 3 สาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศด้วย ทั้งยังเคยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีประเทศราชแผ่ขยายไปจนถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนานและมณฑลชานสี อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรจำปา และคาบสมุทรมมลายูในปัจจุบัน

    การปกครองและสังคมความเป็นอยู่

                กรุงศรีอยุธยาปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดใน การปกครอง แผ่นดิน ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรง มอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครอง ดูแลเมือง ลูกหลวง หลานหลวง ต่างพระ เนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชอมีเจ้านายใน ราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองราชธานี ศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ(พ.ศ.1991 - 2031) ทรงปฎิรูปการปกครอง ลดทอน อำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหาร ราชการแผ่นดิน ออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ในฝ่ายพลเรือน นั้นยัง แบ่งออกเป็น 4 กรมหรือ จตุสดมภ์ คือ สี่เสาหลัก ได้แก่ กรมเวียงหรือนครบาลทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง กรมวังหรือธรรมมาธิกรณ์ ทำหน้าที่ดูแล กิจการพระราชวัง กรมคลังหรือโกษาธิบดีทำหน้าที่ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ กรมนา หรือเกษตราธิการทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ ใช้สืบต่อมา ตลอด สมัยอยุธยา

    ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยา

    การจัดระเบียบการปกครองแบ่งออกเป็น 3 สมัย

    1. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893 - 1991)

    2. สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.1991 - 2231)

    3. สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2231- 2310)

    สมัยอยุธยาตอนต้นหรือสมัยการวางรากฐานการปกครอง แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน

    1.           การปกครองแบบจตุสดมภ์

    ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ปรับปรุงระบอบการปกครองในส่วนกลางเสียใหม่เป็นแบบจตุสดมภ์ตามแบบอย่างของขอม โดยมีกษัตริย์เป็นผู้อำนวยการปกครอง การปกครองประกอบด้วยเสนาบดี 4 คนคือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนา พร้อมทั้งได้ตรากฎหมายลักษณะอาญาหลวงและ กฏหมายลักษณะอาญาราษฎร เพื่อเป็นบรรทัดฐานในด้านยุติธรรม การบังคับบัญชา ในส่วนกลางแบ่งออกเป็น

    - ขุนเวียง ทำหน้าที่บังคับกองตระเวนซ้าย ขวา และขุนแขวง อำเภอ กำนัน ในกรุงบังคับศาลพิจารณาความฉกรรจ์มหันตโทษ ซึ่งแบ่งเป็นแผนกว่าความนครบาล และคุมไพร่หลวงมหันตโทษ ทำหน้าที่ตะพุ่นหญ้าช้าง

    - ขุนวัง ทำหน้าที่รักษาพระราชมนเฑียร และพระราชวังชั้นนอกชั้นในเป็น พนักงานจัดการพระราชพิธีทั้งปวงทั่วไป และบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายหน้า บรรดาข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในและข้าราชการฝ่ายในทั่วไป มีอำนาจที่จะตั้งศาลชำระความซึ่งเกี่ยวข้องได้ ราชการในกรมวังนี้มีความละเอียดกว่า ราชการในกรมเมืองต้องรู้วิธีปฏิบัติราชการ มีความจดจำดีมีความขยันหมั่นเพียรและ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ

    - ขุนคลัง ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชาในเรื่องเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งจะเข้าใน พระคลังและที่จะจ่ายราชการบังคับจัดการภาษีอากรขนอนตลาดทั้งปวงและบังคับศาล ซึ่งชำระความเกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์ของหลวงทั้งปวง

    - ขุนนาง มีหน้าที่ดูแลรักษานาหลวงเก็บค่าเช่าจากราษฎร เป็นพนักงานจัดซื้อข้าว ขึ้นฉางหลวง เป็นพนักงานทำนาตัวอย่าง ชักจูงราษฎรให้ลงมือทำนาด้วยตนเองเป็น ผู้ทำนุบำรุงชาวนาทั้งปวงไม่ให้เสียเวลาทำนา นอกจากนั้นยังมีอำนาจที่จะตั้งศาลพิพากษา ความที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องนาและโคกระบือ

     2 .  การปกครองส่วนภูมิภาคหรือส่วนหัวเมือง

    - เมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านอยู่รอบราชธานี 4 ทิศ ห่างจากราชธานีใช้เวลาเดินทาง 2 วัน พระมหากษัตริย์แต่งตั้งพระราชโอรสหรือเจ้านายชั้นสูงไปปกครอง

    - หัวเมืองชั้นใน คือเมืองที่อยู่รายรอบพระนคร ได้แก่ ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ มีขุนนางจากเมืองหลวงไปปกครอง

    - หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร เมืองขนาดใหญ่อยู่ห่างไกลจากราชธานี

    เมืองประเทศราช ให้เจ้าต่างชาติต่างภาษาปกครองกันเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด ๓ ปีต่อครั้ง

    สมัยอยุธยาตอนกลาง หรือสมัยการปรับปรุงการปกครอง เริ่มในสมัยพระบรมโตรโลกนาถ การปรับปรุงการปกครอง ยึดหลักการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แบ่งส่วนราชการออกเป็น

    1. การปกครองในส่วนกลางหรือส่วนราชธานี แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ฝ่าย

    1.1 ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้า ดูแลทหารทั่วราชอาณาจักร

    1.2 ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และรับผิดชอบจตุสดมภ์ 4 และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ คือ เวียง เป็น นครบาล วัง เป็น ธรรมาธิกรณ์ นา เป็น เกษตราธิราช คลัง เป็น โกษาธิบดี

    2. การปกครองส่วนภูมิภาค โปรดให้ยกเลิกเมืองลูกหลวง จัดการปกครองออกเป็น

    2.1 หัวเมืองชั้นใน เปลี่ยนเป็นหัวเมืองจัตวา มีผู้ปกครองคือผู้รั้ง

    2.2 หัวเมืองชั้นนอก เปลี่ยนหัวเมืองชั้น เอก โท ตรี ตามลำดับความสำคัญ และขนาดของ เมือง

    2.3 เมืองประเทศราช ให้เจ้าต่างชาติต่างภาษาปกครองกันเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาตามกำหนด

    สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยถ่วงดุลอำนาจ เริ่มในสมัยพระเพทราชา สมัยนี้ยึดแบบอย่างการปกครองแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรับปรุง แต่ได้แบ่งแยกอำนาจสมุหกลาโหมและสมุหนายกเสียใหม่ คือ

    สมุหกลาโหม - ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน

    สมุหนายก - ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน

    รูปแบบการปกครองของอยุธยา ใช้เรื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองเสียใหม่

    1.          สาเหตุของการปกครองในลักษณะเทวสิทธิ์

    http://files.myopera.com/bkk123/albums/669651/8Image00010.jpgกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัยมาก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง ปรากฏว่าหัวเมืองมอญซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นได้ก่อการกบฏ กรุงสุโขทัยนั้นไม่สามารถปราบปรามได้ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นว่ากรุงสุโขทัยอ่อนอำนาจลง จึงประกาศอิสรภาพและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามแบบขอม คือ แบบเทวสมมติ (Divine rights)
              ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมติหรือเทวสิทธิ์นี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่ 3 ประการ คือ
              1. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ
              2. พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองรัฐ
              3. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว
                    ระบบเทวสิทธิ์นี้ ถือคติการปกครองมาจากขอมและฮินดูโดยแบ่งแยกผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองออกจากกัน พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นสมมุติเทพเช่นพระอิศวรหรือพระนารายณ์ การปกครองแบบเทวสิทธิ์ กระทำให้ชนชั้นปกครองกลายเป็นชนชั้นหนึ่งต่างหาก มีอภิสิทธิ์เสมือนเทพเจ้าตามคติของฮินดู ราษฎรกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้ถูกปกครองอย่างแท้จริง สมบูรณาญาสิทธิราชถือกำเนิดมาจากระบบนี้และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าวหรือทาส และระบบศักดินา" 
                     ลักษณะการปกครองสมัยโบราณนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏเป็นลักษณะการปกครอง 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นแบบขอมเข้ามาครอบครองถิ่นฐานประเทศอยู่เดิม ขอมมีการปกครองตามคติที่ได้มาจากอินเดีย ส่วนไทยปกครองอย่างแบบไทยเดิม ส่วนทางใต้ปกครองตามแบบขอมเพราะขอมยังมีอำนาจอยู่ในเมืองต่าง  เช่น ละโว้และเมืองอื่น ทางใต้การปกครองของขอมและของไทยมีที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ต่างก็มีพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสองแบบแต่ของขอมนั้นถือลัทธิตามชาวอินเดีย คือสมมุติพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคมาเลี้ยงโลกและอาศัยความเป็นเจ้าตำราการปกครองลักษณะการที่ขอมเข้าปกครองราษฎร จึงคล้ายกับนายปกครองบ่าว (Autocratic government) ส่วนการปกครองของไทยนั้น นับถือพระจ้าแผ่นดินเป็นบิดาของประชาชน วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองของสกุลมาเป็นคติ และถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน
                    ต่อมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงได้ปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้อำนวยการปกครองเรียกการปกครองแบบนี้ว่า การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นราชธานีและเมืองพระยามหานครตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าราชธานีมีวงเขตแคบลงทั้งนี้ก็ด้วยมีความประสงค์ให้หัวเมืองชั้นในติดต่อกับราชธานีได้โดยสะดวก ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นเมืองพระยามหานครนั้นอยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี เมื่อการคมนาคมยังไม่เจริญ ก็ย่อมติดต่อกับราชธานีได้โดยมากราชการบริหารส่วนกลางไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิด เมืองพระยามหานคร จึงเกือบไม่ขึ้นต่อราชการบริหารส่วนกลางเลย เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และได้รับการมอบหมายให้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการปกครอง และในทางตุลาการ
                    เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็มีอำนาจที่จะปกครองเมืองได้อย่างเต็มที่ เกือบไม่ต้องขึ้นหรือคอยรับคำสั่งจากราชธานีด้วยเหตุนี้เมื่อพระมหากษัตริย์ใดทรงมีอานุภาพก็รักษาเอกภาพแห่งพระราชอาณาจักรไว้ได้อย่างเรียบร้อย แต่ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดหย่อนอานุภาพลง เจ้าเมืองมักจะคิดตั้งตนเป็นอิสระทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรไม่มั่นคง เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากราชการส่วนกลาง และราชการปกครองส่วนภูมิภาคไม่มีความสัมพันธ์กันเพียงพอ
                    รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร สำหรับฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทางด้านเวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกิจการเกี่ยวกับทหารและการป้องกันประเทศ เช่น กรมช้าง กรมม้าและกรมทหารราบ มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของการจัดการปกครองประเทศการปกครองได้เป็นไปในทางเสริมสร้างสมบูรณาญาสิทธิราชเต็มที่ เพราะได้พวกพราหมณ์และพวกเจ้านาย ท้าวพระยามาจากกรุงกัมพูชา ซึ่งมีความชำนาญทางการปกครองอย่างถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อนไว้ 
                     ดังนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันแห่งพระองค์ ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าแต่กาลก่อน คือถือว่าเป็นสมมติเทวราชเต็มรูปแบบสำหรับการปรับปรุงแก้ไขการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค อันเป็นผลของการปฏิรูปดังกล่าวนั้นก็คือได้มีการขยายเขตราชธานี และหัวเมืองชั้นในออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รวมอำนาจการปกครองเข้าไว้ในส่วนกลางให้ราชการบริหารส่วนกลาง สามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้นและจัดหัวเมืองชั้นในอยู่ในวงของราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ส่วนหัวเมืองชั้นในพระมหากษัตริย์ทรงอำนวยการปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย ฉะนั้นผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในหรือเมืองชั้นจัตวาจึงเรียกว่า "ผู้รั้ง"ไม่ใช่เจ้าเมืองและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชั่วเวลา 3 ปี ส่วนกรมการอันเป็นพนักงานปกครองก็ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในราชธานี 
                    ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคปลีกย่อยออกไปอีก ซึ่งได้แก่การจัดระเบียบการปกครองภายในเมืองหนึ่งๆทั้งหัวเมืองชั้นนอกและชั้นใน หรือเรียกว่า ระเบียบการปกครองท้องที่ โดยแบ่งเมืองออกเป็นแขวงแขวงแบ่งออกเป็นตำบล ตำบล  แบ่งออกเป็นบ้าน ซึ่งเป็นที่รวมของหลาย  ครัวเรือนแต่มิได้กำหนดจำนวนคน หรือจำนวนบ้านไว้การแบ่งเขตการปกครองตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีรูปร่างผิดแปลกไปกับการปกครองสมัยปัจจุบันมาก นักกฎหมายปกครองท้องที่ตราขึ้น ในสมัยหลังได้ร่างขึ้นโดยอาศัยรูปการปกครอง ซึ่งมีอยู่แต่เดิมเป็นหลักใหญ่และได้แก้ไขดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

    การปกครองระบบเทวสิทธิ์นี้ ถ้าจะพิจารณาถึงผลสะท้อนที่เกิดกับการบริหารแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่อมีการสถาปนาประเทศเข้าสู่เสถียรภาพ ข้อเสียของระบบเทวสิทธิ์ก็ปรากฏขึ้นเช่นชนฝ่ายปกครองหรือกษัตริย์ถูกแยกห่างออกจากฝ่ายถูกปกครองคือประชาชนมากเกินไปจนกลายเป็นชนชั้นหนึ่งอีกต่างหาก ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบบบิดาและบุตรมาก ประกอบกับชนชั้นปกครองระดับรองลงมา อันได้แก่ มูลนายต่าง  ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เกิดการกดขี่ทารุณและคดโกงขึ้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งพึงปรารถนาในทางโลก ผู้ใดยึดครองตำแหน่งย่อมได้มาทั้งอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ดุจเทพเจ้า

     ฉะนั้นตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการปกครองใต้ระบบเทวสิทธิ์ ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้เป็นมูลเหตุไปสู่ความอ่อนแอ และต้องสูญเสียเอกราชให้แก่ข้าศึกไปถึงสองครั้งสองครา ซึ่งประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาจะยืนยันข้อความจริงดังกล่าวได้ดี เหตุการณ์เช่นนี้มิได้มีปรากฏในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือการปกครองระบบบิดากับบุตร เพราะตำแหน่งกษัตริย์เป็นเพียงเสมือนตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น  เมื่อคนที่ได้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสิ้นไป คนใหม่ที่มีอาวุโสรองลงไปจะเข้ารับหน้าที่แทน มิได้ถือว่าเป็นตำแหน่งพิเศษเปี่ยมด้วยอภิสิทธิ์ดังระบบเทวสิทธิ์

     

    2.          สภาพการเมืองการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา

                     การเมืองสมัยอยุธยา การเมืองในสมัยอยุธยามักเป็นเรื่องราวของ การแย่งชิงราชบัลลังก์ในกลุ่มบุคคลชั้นสูง คือเจ้านายหรือขุนนาง เป็นเหตุให้มีการกบฎเกิดขึ้นหลายครั้ง มีการเปลี่ยนราชวงศ์ถึง 5 ราชวงศ์ด้วยกัน

    สมัยอยุธยาตอนต้น เป็นการช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่างราชวงศ์อู่ทองและราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นเครือญาติกันเอง ยังผลให้มีการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรกคือ พระเจ้าทองลัน และต่อมาสมเด็จพระรามราชาก็ถูกถอดจากราชสมบัติ ราชวงศ์อู่ทองจึงสิ้นสุดอำนาจลงใน พ.ศ.1952 ในระยะหลังของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้มีการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย ์เมื่อยังทรงพระเยาว์คือพระรัษฎาธิราช พระยอดฟ้าหรือพระแก้วฟ้า ส่วน ขุนวรวงศาธิราชซึ่งสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ถูกขุนนางร่วมกันกำจัดหลังจากครองราชย์ได้เพียง 42 วัน ราชวงศ์สุพรรณภูมิสิ้นสุดลงพร้อมกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก

    สมัยอยุธยาตอนกลาง สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสถาปนาราชวงศ์สุโขทัยขึ้นใน พ.ศ.2112 ปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับการแย่งชิงราชสมบัติในหมู่เจ้านายชั้นสูงยังคงเกิดขึ้นอีก เมื่อพระศรีเสาวภาคย์ถูกปลงพระชนม์โดย พระเจ้าทรงธรรมราชวงศ์สุโขทัยมาสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ขุนนางผู้ใหญ่เข้ายึดอำนาจและตั้งตัวเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ปราสาททองขึ้นเมื่อ พ.ศ.2172 การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง ซึ่งมีกษัตริย์เพียง 4 พระองค์ ก็มีปัญหายุ่งยากอีกเช่นกัน ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะขึ้นครองราชย์ได้มีการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์

    สมัยอยุธยาตอนปลาย ราชวงศ์ปราสาททองสิ้นสุดลงเมื่อพระเพทราชา ขุนนางผู้ใหญ่คุมกำลังเข้ายึดอำนาจสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง เมื่อ พ.ศ.2231 ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอยุธยา ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาจะทรงมีพระราชอำนาจสูงส่ง แต่มีข้อจำกัดอยู่หลายประการที่ทำให้การสืบราชสมบัติมิได้เป็นไปอย่างปกติ กล่าวคือ ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดยังทรงพระเยาว์ไม่ทรงพระปรีชาสามารถหรือขาดกำลัง ผู้คนสนับสนุน ก็มักถูกเจ้านายหรือขุนนางเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์ได้โดยง่าย จึงเกิดกบฎแย่งชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์บ่อยครั้ง และเป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งแห่งความเสื่อมอำนาจของอาณาจักรอยุธยา

                     การปกครองในสมัยอยุธยาเปลี่ยนรูปจากการปกครอง แบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย มาเป็นแบบ เจ้ากับข้า หรือ นายกับบ่าว ทั้งนี้เพราะอยุธยารับประเพณีการปกครองแบบขอม ซึ่งขอมได้รับคติการปกครองมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นแบบ สมมติเทพ หรือ เทวราชา ตามคติของศาสนาพราหมณ์

                    นอกจากนี้ไทยยังรับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญ ซึ่งมอญดัดแปลงมาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดียอีกทอดหนึ่ง ในคัมภีร์นี้ยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชาเช่นเดียวกัน ประชาชนจึงต้องถวายความเคารพต่อพระองค์ในฐานะนายกับบ่าว

    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาจะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ทรงเป็น เจ้าชีวิต และ เจ้าแผ่นดิน แต่พระองค์ก็ทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ เช่นเดียวกับสมัยสุโขทัยทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงปกครองบ้านเมืองแบบธรรมราชา

         หลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงยึดปฏิบัติ คือทศพิธราชธรรม มี 10 ประการ ได้แก่

    1. ทานํ - ให้ทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรได้รับ

    2. สีลํ - รักษากาย วาจา ใจ ให้ปราศจากโทษ

    3. ปริจฺจาคํ - การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

    4. อาชฺชวํ - ความเป็นผู้อัธยาศัย ประกอบด้วยความซื่อตรงตั้งมั่นอยู่ใน ความสุจริต

    5. มทฺทวํ - มีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่ดื้อดึง ดูถูกผู้อื่น

    6. ตปํ - พยายามกำจัดความเกียจคร้าน มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ให้ ครบครัน

    7. อกฺโกธํ - ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ไม่พยาบาทมุ่งร้ายผู้อื่น

    8. อวิหิสญฺจํ - ไม่เบียดเบียนประชาชนให้ได้รับความทุกข์ยาก

    9. ขนฺติญฺจ - อดทนต่อความโลภ โกรธ หลง และความยากลำบาก

    10. วิโรธนํ – ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม

    กฎหมาย กฎหมายที่ประกาศใช้ในสมัยอยุธยามี 2 ลักษณะ คือ

         1) พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายแม่บท มีรากฐานมาจากคัมภีร์ธรรมสัตถัมของมอญ ซึ่งมอญได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์มนูญศาสตร์ของอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยเลือกเอาเฉพาะหลักสำคัญอันเป็นตัวบทกฎหมายแท้ๆ ที่นำมาปรับเกี่ยวกับพุทธศาสนาได้

         2) พระราชศาสตร์ เป็นกฎหมายย่อย ตราขึ้นโดยใช้พระธรรมศาสตร์เป็นหลัก พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการตราพระราชศาสตร์เพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีปฏิบัติ และสถานการณ์ที่แตกต่างไปในแต่ละสมัย ด้วยเหตุนี้กฎหมายไทยจึงมีทั้งสองลักษณะ คือพระธรรมศาสตร์และพระราชศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย

         การศาล วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีในสมัยอยุธยา คงถือประเพณีโบราณว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุด แต่ใช้วิธีที่เอาแบบของอินเดียมาผสมกับแบบไทย เป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น โดยแยกหน้าที่ออกเป็น 2 ฝ่าย และใช้บุคคล 2 จำพวกเป็นพนักงาน คือ

         1) ข้าราชการไทยมีหน้าที่รับฟ้อง พิจารณาคดีตลอดจนปรับสินไหมลงโทษผู้กระทำความผิด

         2) ลูกขุน ศาลหลวง คือ พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพระธรรมศาสตร์หน้าที่ตรวจสำนวนชี้ตัวบทกฎหมาย แล้วตัดสินว่าฝ่ายใดผิดหรือชอบ แต่มิได้มีอำนาจในการบังคับบัญชาคดีในโรงศาล ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการไทย

        ในกรณีที่คู่ความคนใดไม่พอใจในคำพิพากษา อาจถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ แต่การถวายฎีกาก็ทำไม่ได้ง่ายนัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพรื่อจนเกินไปนัก ระเบียบการศาลดังกล่าวนี้ได้ใช้ปฏิบัติกันเรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยตามแบบประเทศตะวันตก

    โทษประหาร

                     ในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดอีกยุคสมัยหนึ่งของไทยเรา พบว่า มีการตราบทลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดคือ โทษประหารชีวิตเอาไว้ในพระไอยการกระบถศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่กฎหมายฉบับนี้มิได้มีการแก้ไขในบทลงโทษความผิดขั้นประหารชีวิตและวิธีการประหารชีวิตเลยแม้แต่น้อย คือยังคงลักษณะเดิมไว้แต่ครั้งการตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทุกประการ

         วิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก บันทึกและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดถึงวิธีการลงโทษประหาร 21 วิธีหรือ 21 สถาน ดังนี้

    - สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม

    - สถาน2 คือ ให้ตัดแต่หนังจำระ (จาก) เบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด ( หนังบริเวณคอถึงท้ายทอย) แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น (ม้วนเข้าหากัน) เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคน โยกคลอนสั่นเพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์

    - สถาน 3 คือ ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้ให้ตามประทีบ (ดวงไฟ) ไว้ในปาก ไนยหนึ่ง (นัยหนึ่ง) เอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก

    - สถาน 4 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด

    - สถาน 5 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด

    - สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย

    - สถาน 7 คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้ว ตั้งแต่ใต้คอลงมาถึงเอวและให้เชือดตั้งแต่เอวให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร้งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้ากระทำหนังเบื้องบนให้คลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้า

    - สถาน 8 คือ ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเข่าทั้งสองข้างให้มั่นแล้วเอาหลักสอดในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงรน (ลน) ให้รอบตัวจนกว่าจะตาย

    - สถาน 9 คือ ให้เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างเพิก (เปิด) หนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย

    - สถาน 10 คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกายแต่ทีละตำลึง(นำเนื้อมาชั่งให้ได้น้ำหนักหนึ่งตำลึง:มาตราวัดสมัยโบราณ) จนกว่าจะสิ้นมังสา (เนื้อ)

    - สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก

    - สถาน 12 คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปดังบุคคลทำบังเวียน ( เวียนเทียน)

    - สถาน 13 คือ ทำมิให้หนังพังหนังขาด แล้วเอาลูกสีลา (ลูกหิน) บดทุกกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกองเป็นลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า

    - สถาน 14 คือ ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วลาดสาดลงมาแต่ศีศะ ( ศีรษะ) จนกว่าจะตาย

    - สถาน 15 คือ ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ อดอาหารหลายวันให้เต็มอยากแล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า

    - สถาน 16 คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ

    - สถาน 17 คือ ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย

    - สถาน 18 คือ ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลุมร่างก่อนคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้แล้วไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่

    - สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย

    - สถาน 20 คือ ให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวจนกว่าจะตาย

    - สถาน 21 คือ ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย

    3.  การกระจายการปกครอง

    การปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น

       1. การปกครองส่วนกลาง

               พระมหากษัตริย์ ปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  คือจตุสดมภ์

    จตุสดมภ์   แบ่งเป็น

      กรมเวียง    -   มี   ขุนเวียง เป็นผู้ดูแล  มีหน้าที่  รักษาความสงบสุขของราษฏร

      กรมวัง       -   มี   ขุนวัง  เป็นผู้ดูแล    เป็นหัวหน้าฝ่าย ราชสำนักการพิจารณาพิพากษาคดี

     กรมคลัง      -   มี   ขุนคลัง เป็นผู้ดูแล  มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้จากการเก็บส่วยอากร

      กรมนา       -   มี   ขุนนา  เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการทำไร่ นา และสะสมเสบียงอาหารของ พระนคร

      2. การปกครองหัวเมือง

               อยุธยาเป็นเมืองหลวง   เป็นจุดของศูนย์รวมอำนาจการปกครอง    ล้อมรอบด้วยเมืองลูกหลวง ประกอบด้วย ทิศเหนือ  เมืองลพบุรี    ทิศตะวันออก  เมือง นครนายก   ทิศใต้ เมือง นครเขื่อนขันธ์   และทิศตะวันตก เมือง สุพรรณบุรี

               ถัดออกมาคือ หัวเมืองชั้นใน  ได้แก่   สิงห์บุรี ปราจีนบุรี  ชลบุรี และเพชรบุรี   และเมืองประเทศราช เช่น เมือง นครศรีธรรมราชและเมืองพิษณุโลก

     

     



    [1]สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่า พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ใด และมีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากที่ใด

    สัญนิษฐานว่าเป็นพระราชโอรสเจ้าแคว้นละโว้


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×