คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ความหมายของนวนิยายจากhttp://ecurriculum.mv.ac.th/library2/literature/literature2/
นวนิยาย
ความหมายของนวนิยาย
สุพรรณี วราทร (2519 : 1) กล่าวว่า คำว่านวนิยายในภาษาไทย เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ใช้เรียกวรรณกรรมประเภทเรื่องสมมุติหรือบันเทิงคดี (Fiction) ที่เป็นร้อยแก้วแบบพรรณาโวหาร ซึ่งในภาษาไทยแต่เดิมเรียกว่า เรื่องอ่านเล่นหรือเรื่องประโลมโลก
นวนิยาย มาจากภาษาอังกฤษว่า Novel และ Novella ในภาษาอิตาเลียน คำนี้ใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเรียกนวนิยายอย่างใหม่ของบอกาจิโอ (Boccaio) ที่แต่งเรื่อง เดคาเมรอน (Decameroa) ซึ่งแต่งขึ้นราว ค.ศ. 1338-1340 การที่เรื่องเดคาเมรอน ได้รับการกล่าวขวัญจากคนสมัยนั้นว่าเป็นนิยายแบบใหม่หรือนวนิยายนั้น เป็นเพราะบอกาจิโอ เริ่มใช้กลวิธีการเขียนตามแบบ นวนิยายในสมัยปัจจุบันกล่าวคือ เขียนเล่าเป็นเรื่องสั้น ๆ เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสมจริง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวในวรรณกรรมนั้นเป็นเรื่องสมมุติไม่ใช่เรื่องจริง นอกจากนี้ก็มีวิธีการเสนอเรื่องให้ยอกย้อนชวนติดตาม และมีแนวคิดกว้างขวาง มีลักษณะต่างไปจากการเขียนนิทานนิยายแต่เดิมที่มักสร้างเรื่องจากจินตนาการ และอุดมคติของผู้เขียน แต่ผู้เขียนกลับทำให้เรื่องที่อ่านนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องจริง โดยอาศัยการเล่าเรื่องให้เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์แล้วสะท้อนแนวคิดสำคัญของเรื่องให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของศาสนาเป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องเดคาเมรอน ก็เป็นเรื่องต้นเค้าของการเขียนนวนิยายตะวันตกเท่านั้น ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นนวนิยายอย่างในปัจจุบันอย่างแท้จริงนัก แต่ก็มีอิทธิพลต่อนักเขียนในยุคนั้นและยุคต่อมาด้วย เพราะหลังจากนี้เป็นต้นมา ก็มีการเขียนนวนิยายหรือเรื่องเล่าแบบใหม่ก็กลายเป็นรูปแบบวรรณกรรมอย่างใหม่ที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป (สายทิพย์ นุกูลกิจ. 2537 : 171-172) นวนิยายตามแบบแผนเช่นปัจจุบันนี้เริ่มมีขึ้นเมื่อตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์นวนิยายที่แท้จริงคนแรกของอังกฤษ คือ แดเนียล เดอโฟ (Daniel Defoe) ซึ่งแต่งเรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe) เมื่อ ค.ศ. 1719
วิภา กงกะนันทน์ (2540 : 3-4) กล่าวว่า นักวิชาการของตะวันตกที่กล่าวถึง นวนิยายในฐานะที่เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งมีอยู่หลายคนทั้งชาวยุโรปและอเมริกัน เช่น Georg Lukacs ใน The Theory of the Novel (Berlin,1920) E.M. Forster ใน Aspects of the Novel (Great Britain,1927) Thomas Wolfe ใน The Story of a Novel (New York, 1936) และ Ian Watt ใน The Rise of the Novel (Great Britain, 1957) แต่ผู้ที่อธิบายศาสตร์แห่งนวนิยายให้เข้าใจได้ดีกว่าผู้อื่น คือ E.M. Forster ซึ่งกล่าว ว่า นวนิยายเป็นบันเทิงคดีร้อยแก้วรูปแบบหนึ่งที่ควรจะมีความยาวไม่น้อยกว่า 50,000 คำ ซึ่งผู้แต่งใช้สร้างเรื่องราวที่สมมุติขึ้นให้ดูเป็นเรื่องจริง หรือเหมือนเรื่องจริง บทประพันธ์ที่ E.M. Forster ถือว่าเป็นนวนิยายชั้นครู คือ War and Peace ของ Leo Tolstoy , The Brothers Karamazov ของ Dostoyevsky และ A Ia recherche du temps perdu ของ Marcel Proust
แอนโธนี ทรอลลอป (Anthony Trallope) อธิบายว่านวนิยายเป็นสิ่งที่แสดงภาพชีวิตคนสามัญซึ่งทำให้คล้ายชีวิตจริงด้วยการสอดแทรกอารมณ์ และทำให้น่าอ่านโดยแทรกเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ นวนิยายควรแสดงภาพชีวิตจริง ซึ่งมิใช่ภาพของบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักหรือเป็นบุคคลซึ่งผู้แต่งรู้จัก แต่เป็นตัวละครที่ผู้แต่งสร้างขึ้นโดยกำหนดให้มีลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์อันเป็นที่รู้จักกันดี (Shaw. 1972 : 257)
ส่วน กิลเบร์ต ไฮเอท (Highet 1953 : 203) ได้อธิบายสั้น ๆ ว่า นวนิยายหมายถึงเรื่องร้อยแก้วแบบพรรณาโวหารหรือเรื่องเล่าที่สมมุติขึ้นซึ่งมีความยาวเกินกว่า 30,000 ถึง 40,000 คำ
และใน Cassell's Encyclopedia of World Literature (อ้างถึงใน ธวัช บุณโณทก. 2526 : 87) ได้ให้ความหมายว่า นวนิยายเป็นโครงเรื่องจำลองจากชีวิตจริง สามารถแสดงให้เห็นเหตุผลที่ปรุงแต่งชีวิตนั้นขึ้นจากหลักความจริงทั้งปวงและมีการวิเคราะห์เห็นพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา
สรุปได้ว่า นวนิยาย คือ วรรณกรรมร้อยแก้วที่แต่งขึ้นโดยมีความยาวพอประมาณ โดยโครงเรื่องและตัวละครได้จำลองจากชีวิตจริง
ความคิดเห็น