ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Nb1 :)

    ลำดับตอนที่ #36 : การอ่านหนังสือประเภทต่างๆ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 368
      0
      31 ส.ค. 56

    การอ่านหนังสือประเภทต่างๆ

     

              การเลือกหนังสืออ่าน

                การเลือกหนังสืออ่านมีความจำเป็นมาก นักอ่านที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักวิธีเลือกหนังสืออ่าน ให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่การอ่าน โดยพิจารณาวิธีเลือกต่อไปนี้  
                1.  เลือกหนังสือที่มีสาระเรื่องราวตรงกับความต้องการหรือความจำเป็นที่ต้องอ่าน 
                2.  เลือกหนังสือที่ดีมีคุณลักษณะ  ดังนี้
                            2.1 หนังสือที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าดี 
                            2.2 หนังสือที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าดี 
                            2.3 หนังสือที่ได้รับรางวัลสำคัญ ๆ ในการประกวดขององค์กรที่มีคุณภาพ 
                            2.4 หนังสือซึ่งเขียนโดยนักเขียนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของแวดวงนักอ่าน 
                            2.5 หนังสือที่มีคุณค่าดีพร้อมทุกด้าน  ได้แก่  ด้านเนื้อหา  ด้านความคิด  ด้านกลวิธี  ด้านทางภาษา  ด้านรูปแบบและการนำเสนอ
                            2.6 หนังสือที่ได้รับการยอมรับศึกษาสืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย 
                           2.7 เลือกหนังสือที่จะไม่โน้มนำไปในทางเสื่อมทั้งปวง

    การอ่านและจับใจความ
                การอ่านและจับใจความ  มีหลักเกณฑ์การอ่าน  ดังนี้
                1.  ตั้งใจอ่าน มีสมาธิแน่วแน่ พยายามอ่านอย่างรวดเร็วจะช่วยให้เก็บใจความสำคัญได้ดีกว่าอ่านช้า ๆ เพราะการอ่านอย่างเร็วนั้นจะทำให้ความหมายของข้อความแต่ละช่วงสายตาที่ผู้อ่านเข้าใจ จะยังคงอยู่ และนำมาสัมพันธ์กัน ทำให้เข้าใจข้อความที่อ่านทั้งหมดได้ แต่ถ้าอ่านได้ช้าความหมายของข้อความย่อย ๆ ทั้งหลายอาจเลือนไป ไม่สามารถจะนำมาเชื่อมโยงกันได้ และทำให้เสียสมาธิได้ง่ายด้วย

                2.  เมื่ออ่านจบหน้าหนึ่ง ๆ หยุดคิดเล็กน้อยว่าย่อหน้านั้นมีใจความสำคัญอย่างไร ตามปกติ ใจความสำคัญจะอยู่ตอนต้นหรือตอนท้ายของย่อหน้า มีเพียง 1-3 ประโยคเท่านั้น

     3.  เมื่ออ่านจบทุกย่อหน้า ก็นำเอาใจความสำคัญของทุกย่อหน้ามารวมกัน ให้เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน โดยนึกคิดในใจ หรือเขียนขึ้นใหม่โดยใช้ถ้อยคำภาษาของตนเอง

              เทคนิคการอ่านหนังสือเร็วและให้ได้ใจความ 
                เทคนิคการอ่านหนังสือเร็วและให้ได้ใจความ  ต้องมีการฝึกฝน  ดังนี้
                1.  จำคำและวลีบางกลุ่มเพื่อช่วยให้อ่านเร็วขึ้น เช่น ด้วยเหมือนกัน และมากกว่าอีก ยิ่งกว่ามาก คำที่ช่วยสรุป เช่น นั่นเอง ดังนั้น ตามที่ ผลก็คือ เป็นต้น
                2.  อ่านเป็นวลีหรือประโยคไม่ควรอ่านเป็นคำ   เพราะเนื้อหาที่ต้องการมักอธิบายด้วยวลี หรือประโยค 
                3.   การเคลื่อนไหวตา โดยปกตินักอ่านที่ดีจะเคลื่อนไหวตา  3  ครั้ง  ต่อบรรทัด  และเคลื่อนไหวสายตาย้อนกลับไม่เกิน  8  ครั้งต่อหน้า 
                4.  ปรับปรุงการอ่านให้เร็วขึ้นโดยการจับเวลา
                5.  พยายามอ่านให้มาก  อ่านให้เป็นกิจวัตร  ควรฝึกอ่านวันละ  1  ชั่วโมง  หรืออ่านหนังสือสัปดาห์ละ เล่ม เป็นอย่างน้อย  และพยายามฝึกอ่านให้เร็วจนกระทั่งได้อัตราเร็วในการอ่าน 400 คำต่อนาที  เป็นอย่างน้อย
                6.  อ่านเอาเรื่อง  อ่านแล้วรู้เรื่องว่าอ่านเรื่องอะไร  เป็นอย่างไร  เกี่ยวข้องกับใคร  จำเรื่องที่อ่านได้และสามารถเข้าใจเรื่องได้ทันที
                7.  อ่านเป็น อ่านแล้วแปลความ ตีความ ขยายความได้
                8.  อ่านเก่งต้องมีอาศัย  “การอ่านเอาเรื่อง”  และ  “การอ่านเป็น”  เป็นพื้นฐานจึงจะอ่านเก่งได้  ผู้อ่านต้องอาศัยประสบการณ์ และความสามารถของตนในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และการประเมินค่า มาช่วยในการตัดสินใจและวินิจฉัยเรื่องที่อ่าน  เป็นการอ่านที่ต้องใช้ความเข้าใจสูงสุด 

              หนังสือประเภทต่าง ๆ
                1. หนังสือพิมพ์  
                2. นิตยสาร  และ วารสาร 
                3. หนังสือสารคดี
                4. หนังสือนวนิยาย  หรือบันเทิงคดี
                5. หนังสือเกี่ยวกับสถิติ

              วิธีการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ
               1.  หนังสือพิมพ์  เป็นเครื่องมือสื่อสารประเภทข่าว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละวัน   ควรอ่าน  ดังนี้ 
                1.1  การอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน  ควรอ่านเร็ว ๆ ถ้าติดใจบทความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 
                            1.2  ควรตัดเก็บไว้  (หากเป็นหนังสือพิมพ์ส่วนตัว)  หรือจดไว้แล้วเก็บเป็นระบบเพื่อค้นง่าย ควรอ่านทุกหน้า  เพราะแต่ละหน้ามีความรู้และข่าวที่ไม่ซ้ำกัน ถ้าอ่านไม่ทั่ว จะพลาดข่าวสำคัญ 
                1.3  ควรใช้วิจารณญาณในการอ่านหนังสือพิมพ์  เพราะผู้ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันต้องทำงานแข่งกับเวลาอาจจะมีความบกพร่องคลาดเคลื่อนได้ การเสนอข่าวจะโน้มเอียงไปตาม ที่คนส่วนมากสนใจ  และบางครั้งใช้ภาษาไม่ถูกต้อง

                2.  นิตยสาร และวารสาร  เป็นเครื่องมือสื่อสารประเภทหนึ่งที่มีกำหนดออกแน่นอน มีลักษณะเป็นรายงานข่าวที่ค่อนข้างจะแน่นอน  เพราะมีเวลาในการรวบรวม  แต่จะไม่ทันเหตุการณ์ เท่าหนังสือพิมพ์  ควรอ่าน  ดังนี้
                2.1  ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งฉบับ
                2.2  อ่านเฉพาะเรื่องที่สนใจ  โดยดูจากสารบัญทำให้ค้นหาเรื่องที่ต้องการได้เร็วขึ้น

               3. หนังสือสารคดี  การอ่านหนังสือประเภทนี้ เป็นการอ่านเพื่อความรู้ เพื่อการค้นคว้า เพื่อประกอบการเรียนหนังสือสารคดีมีมากมายหลายประเภท  แต่ละประเภทควรอ่าน  ดังนี้
                3.1  การอ่านหนังสือประเภทปรัชญาจิตวิทยาและศาสนา ทั้งสองประเภทนี้มีความสัมพันธ์กัน  มีทั้งระดับง่ายและระดับยาก  การอ่านจึงขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของผู้อ่าน   ดังนี้
                            3.1.1 การอ่านอย่างง่าย  เป็นการอ่านเพื่อพัฒนาจิตใจ  หรือนำมาเป็นหลักในชีวิตประจำวันได้  การอ่านหนังสือประเภทนี้   เลือกอ่านในระดับที่สามารถเข้าใจได้     อ่านด้วยความสนใจ   จะเป็นพื้นฐาน ในการอ่านหนังสือประเภทนี้ต่อไปในระดับสูงขึ้นได้ง่าย  เช่น  หนังสือส่งเสริมสุขภาพจิต   นิทานชาดก  พุทธภาษิต  พุทธประวัติ  เป็นต้น
                            3.1.2 การอ่านอย่างยาก เป็นการอ่านเพื่อหาความรู้ประกอบ   เพื่อการเรียนรู้บางอย่าง อย่างลึกซึ้ง  ต้องมีพื้นความรู้ด้านนี้มาเพียงพอ   มีประสบการณ์ในการฝึกฝนอบรม  หรือได้รับคำแนะนำจากผู้รู้                                                
              3.2  การอ่านหนังสือประเภทสังคมศาสตร์  เป็นการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์  เช่นรัฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  กฎหมาย  การศึกษา  ขนบธรรมเนียมประเพณี  เป็นต้น  ขอบเขตเนื้อหากว้างขวาง ผู้อ่านต้องมีความรู้และประสบการณ์  ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับความรู้มากยิ่งขึ้น
              3.3  การอ่านหนังสือประเภทประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ การอ่านหนังสือประเภทนี้ ควรอ่านดังนี้
                            3.3.1 ต้องอ่านอย่างพินิจพิจารณาอ่านให้เรื่องต่อเนื่องกัน  และเปรียบเทียบเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน กับที่เกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัยกัน  และพยายามหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   กลั่นกรอง หาเหตุผลของเหตุการณ์นั้น ๆ 
                            3.3.2  ควรเปรียบเทียบหลาย ๆ เล่ม  เลือกอ่านหนังสือเล่มที่ผู้เขียนทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์
                            3.3.3  การอ่านข้อมูลเชิงสถิติ  แผนที่  แผนภูมิ  ตาราง  กราฟ  ภาพประกอบ  ต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้อง  
              3.4  การอ่านหนังสือประเภทชีวประวัติ  ควรอ่าน  ดังนี้
                            3.4.1  ต้องดูวิธีการเขียน  ดูขอบเขตของผู้เขียนต้องการเน้นชีวิตช่วงไหนมากที่สุด    
                            3.4.2  ถ้ามีหนังสือชีวประวัติเกี่ยวกับบุคคลนั้น  หลายเล่มนำมาอ่านเปรียบเทียบดู เพื่อหาข้อเท็จจริง  และทัศนคติที่ผู้เขียนมีต่อเจ้าของชีวประวัติว่ามีใจเป็นธรรมหรือลำเอียง 
                3.5  การอ่านหนังสือประเภทวรรณคดี  การอ่านหนังสือประเภทนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ของผู้อ่าน  โดยทั่วไป ดังนี้
                            3.5.1  เพื่อศึกษาศิลปะของการใช้ภาษา  ความไพเราะของภาษา   การอุปมาอุปไมย อารมณ์ขัน  ผู้อ่านต้องอ่านให้ได้อรรถรส  จะได้รับความพอใจ  ในสำนวนโวหารที่ไพเราะลึกซึ้ง คมคาย  มีอุปมาอุปไมย  รวมทั้งได้คติธรรม  และความสุขทางอารมณ์และจิตใจ
                            3.5.2  เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละบุคคลแต่ละสมัย  
              3.6  การอ่านหนังสือประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ   ควรอ่าน  ดังนี้  
                            3.6.1  การอ่านเน้นเนื้อหาสำคัญต้องทำความเข้าใจ  และจำสูตรต่าง ๆ บางครั้งต้องอาศัยคู่มือทดลองปฏิบัติการ ในห้องทดลอง  ต้องอาศัยรูปภาพแสดงเค้าโครง แผนผัง  และตารางต่าง ๆ ด้วย  
                            3.6.2  การอ่านต้องหยุดพักเป็นตอน ๆ

               4.  หนังสือนวนิยายหรือบันเทิงคดี  ควรอ่าน ดังนี้  
                4.1  ควรอ่านในเวลาว่าง  และอ่านติดต่อกันไปเพื่อให้ได้อรรถรส  
                4.2  เมื่ออ่านจบแล้วลองสรุปดูว่าได้อะไรจากการอ่านบ้าง  เช่น  คติสอนใจ  คำพูดสอนใจ  วัฒนธรรม  ปรัชญา 

               5.  หนังสือเกี่ยวกับสถิติ  มีวิธีการอ่านตามข้อมูลที่นำเสนอด้วยการดูภาพ  ตาราง  สัญลักษณ์  ดังนี้
                5.1  เป็นบทความ  จะมีเรื่องราวไม่ยาวมาก  ใช้เวลาในการอ่านเล็กน้อย
                5.2  การอ่านตาราง  สำรวจตารางอย่างรวดเร็ว  โดยดูให้ทั่วตาราง  อ่านชื่อตารางว่าเสนอ ข้อมูลเรื่องอะไร  มีคอลัมน์อะไรบ้าง  มีชื่อหัวคอลัมน์อะไรบ้าง  แล้วค่อย ๆ อ่านรายละเอียดข้อมูล ในแต่ละคอลัมน์ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
                5.3  การอ่านกราฟ
                            5.3.1  กราฟแท่ง (Bar Graphs) อ่านชื่อกราฟ  และคำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับชื่อเรื่องนั้น  ซึ่งบอกให้ผู้เรียนทราบว่ากราฟนั้นแสดงเกี่ยวกับเรื่องอะไร มีจุดประสงค์อะไรในการแสดงเรื่องนั้น  อ่านที่แกนของกราฟทั้งแนวตั้ง  และแนวนอน ซึ่งจะบอกข้อมูลประจำแกนทั้งสอง โดยแสดงผ่านแท่งกราฟให้เห็นปริมาณสูงกว่า สั้นกว่า หรือระดับเดียวกันเกี่ยวกับเรื่อง  นั้น ๆ จะเห็นข้อเปรียบเทียบจากแท่งกราฟ

                5.4  การอ่านแผนผัง  ให้อ่านชื่อของแผนผังเพื่อทราบว่า  แผนผังนั้นแสดงเกี่ยวกับเรื่องอะไร อ่านตามลูกศรว่าจะเริ่มอ่านจากจุดใดก่อนและไปจบที่จุดสุดท้าย  แต่ละจุดมีข้อความสั้น ๆ ในแผนผัง
                5.5  ภาพสื่อความหมาย วิธีการอ่านจากรูปภาพ เป็นการอ่านที่เห็นรายละเอียดจากภาพนั้น ๆ ได้ชัดเจนและรวดเร็ว โดยไม่ต้องจินตนาการตามคำบรรยายมาก  และยังจดจำเรื่องได้ดีขึ้นด้วย
                5.6  การอ่านแผนภาพวงกลม  วิธีการอ่านรูปแผนภาพวงกลม เป็นการอ่านเปรียบเทียบให้ เห็นสัดส่วนของข้อมูลได้รวดเร็วกว่าอ่านจากคำอธิบายอย่างเดียว
                5.7  การอ่านแผนที่  ต้องอ่านชื่อแผนที่ว่าแสดงเกี่ยวกับเรื่องอะไร อ่านสัญลักษณ์ที่ใช้แทนข้อมูล และสิ่งต่าง ๆ อ่านตามมาตราส่วนเพื่อคิดเปรียบเทียบขนาด  อ่านทิศที่ปรากฏในแผนที่ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่มักระบุไว้ในแผนที่ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจก่อนเป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะอ่านรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ในแผนที่ให้เข้าใจได้  แผนที่ต่าง ๆ อาจมีสัญลักษณ์ และรายละเอียดของข้อมูล ที่ต้องอ่านทำความเข้าใจแตกต่างกันไป ข้อมูลที่เราอ่านทำความเข้าใจ จากแผนที่ทำให้เรา เข้าใจเนื้อหาความรู้ในเรื่องนั้นตอนนั้นในหนังสือชัดเจนขึ้น หรืออาจจะมากกว่า ที่ผู้เขียนเสนอไว้ ในหนังสือก็ได้ 

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×