ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Nb1 :)

    ลำดับตอนที่ #25 : ถอดคำประพันธ์/แปลความ นิราศนรินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 118.91K
      31
      21 มิ.ย. 56

    ถอดคำประพันธ์

    นิราศนรินทร์

     

    ๑. ศรีสิทธิ์พิศาลภพ.........เลอหล้าลบล่มสวรรค์
    จรรโลงโลกกว่ากว้าง........แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ
    ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า.......แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ 
    เพียงรพิพรรณผ่องด้าว......ขุนหาญห้าวแหนบาท
    สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน..ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า
    ราญราบหน้าเภริน............เข็ญข่าวยินยอบตัว 
    ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว......ทุกไทน้าวมาลย์น้อม
    ขอออกอ้อมมาอ่อน..........ผ่อนแผ่นดินให้ผาย
    ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว.........เลี้ยงทแกล้วให้กล้า 
    พระยศไท้เทิดฟ้า.............เฟื่องฟุ้งทศธรรม.....ท่านแฮ

    ศัพท์....
    - ศรี.............. ศิริ มิ่งขวัญ ความสง่า ความสุกใส ความดีงาม
    ความเป็นใหญ่ อำนาจ
    - สิทธิ์............ความสุข ความเจริญ ความบรรลุผล ความสำเร็จ
    - พิศาล......... วิศาล ไพศาล กว้างขวาง ใหญ่โต สำคัญ
    - ภพ............. แผ่นดิน ที่อยู่ ความเกิด
    - เลอ............เหนือ บน สูง เลิศ
    - จรรโลง....... พะยุง ค้ำจุน
    - ผ้าง............ พ่าง เพี้ยง เช่น เหมือน (ตรงนี้ต้องใช้ ผ้าง เพราะ
    คำส่งสัมผัสวรรคหน้าว่า กว้าง เป็นวรรณยุกต์โท 
    ฉะนั้นคำที่มารับสัมผัสต้องเป็นโทด้วย)
    - เมรุ.............คือเขาพระสุเมรุ เมืองเมรุหมายถึงเมืองสวรรค์
    - อยุธเยนทร์...อยุธยา+อินทร์ ศรีอยุธยาคือ นครหลวงของไทย 
    ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนคำว่า ศรีอยุธยา
    หมายถึง ประเทศไทย
    - รพิ..............รวิ รพี รำไพ พระอาทิตย์
    - สระ............ ชำระ
    - เหลี้ยน........เลี่ยน เขียนในรูปโท (โทโทษ)
    - ล่ง...............โล่ง ตลอด
    - เภริน...........เภรี กลอง
    - ควบ........... รวมกัน
    - มาลย์..........ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึง เครื่องราชบรรณาการ
    - ละล้าว....... สล้าง
    - ทศธรรม......ทศพิศราชธรรม ธรรม ๑๐ ประการของราชะ 
    คือ...ทำทาน รักษาศีล ใช้ทรัพย์ทำบุญ ซื่อตรง อ่อนโยน บำเพ็ญตบะ ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน อดทน ไม่ประพฤติผิด

    อธิบาย...
    การเขียนนิราศเป็นโคลงสี่สุภาพนั้น ขึ้นต้นต้องเขียนร่ายสุภาพก่อน เนื้อความในร่ายจะต้องเป็นคำสดุดีสรรเสริญบ้านเมือง ยอเกียรติกษัตริย์ ดังนี้เป็นธรรมเนียม
    อนึ่งควรจำไว้ด้วยว่า กวีย่อมจะประพันธ์กาพย์กลอนด้วยความรู้สึกซาบซึ้งใจ และด้วยจินตนาการ ความนึกคิดเห็นไป ฉะนั้นในบางวรรคบางตอน เราผู้อ่านอาจจะตีความให้ชัดเจนลงไปได้ โดยยาก 
    อีกประการหนึ่ง สำนวนภาษนั้น ย่อมประณีตบรรเจิดบรรจง จะพูดถึงสิ่งอันใด ก็มองไปในแง่ความวิจิตรตระการ เช่น พูดถึงกรุงศรีอยุธยาว่า รุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ เป็นต้น ดังนั้นการที่จะถอดข้อความออกเป็นความเรียงร้อยแก้ว ให้ได้เนื้อความบริบูรณ์ถึงของเดิม ย่อมยากเต็มที การอ่านกาพย์กลอนจึงต้องอ่านอย่างความรู้สึกของกวี ที่ในการศึกษามีให้ถอดคำประพันธ์ ก็เพียงจะสอบดูว่า ผู้ศึกษาเข้าใจคำประพันธ์นั้นเพียงใด อันความรู้สึกซาบซึ้งในรสของกาพย์กลอนนั้น ย่อมแล้วแต่ละคนผู้ที่มีนิสัยเป็นกวี คือ ผู้ที่ชอบการแต่งโคลงกลอน มีอารมณ์ซึ้ง มีจินตนาการกว้างขวาง จึงจะรู้สึกในรสชาติของบทกวีได้อย่างถึงใจ


    ถอดความ....
    ขอความดีงามจงบังเกิดแก่แผ่นดินอันกว้างใหญ่ และประเสริฐยิ่งกว่าดินแดนในโลก จนอาจข่มสวรรค์ แผ่นดินนั้นเปรียบดังเมืองสวรรค์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ และ เป็นที่ค้ำจุนโลกอัน กว้างใหญ่ แผ่นดินที่กล่าวถึงนี้ คือ กรุงศรีอยุธยาอันเรืองรุ่งโรจน์ จับฟ้า และความสว่างรุ่งเรืองนั้นแจ่มแจ้งยิ่งกว่าแสงเดือน จะเปรียบได้ก็กับแสงตะวัน พระนครศรีอยุธยามีเสนาอำมาตย์คอยพิทักษ์รักษาพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงขจัดความทุกข์ของประชาราษฎร และทำลายข้าศึกให้สิ้นไป จนตลอดโลกก็ราบคาบเรียบดังหน้ากลอง บรรดาศัตรูเสี้ยนหนาม เพียงได้ยินชื่อกรุงศรีอยุธยาก็ต้องพากันน้อมตัวกราบไหว้กันอยู่ไสว เพราะความยำเกรง บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ก็ส่งดอกไม้ เครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอันพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป ทรงจัดให้บ้านเมืองมีความสุขสงบราบคาบ พระองค์ก็ทรงทำนุบำรุงบรรดาทวยหาญให้มีน้ำใจแกล้วกล้า พระยศของพระองค์นั้นสูงเสมอท้องฟ้า และทศพิศราชธรรมที่ทรงบำเพ็ญนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ตลอดพระราชอาณาเขตของพระองค์


    ๒. อยุธยายศล่มแล้ว........ลอยสวรรค์ ลงฤา 
    สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร.....เจิดหล้า 
    บุญเพรงพระหากสรรค์......ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ 
    บังอบายเบิกฟ้า...............ฝึกฟื้นใจเมือง 

    ศัพท์...
    - สิงหาสน์......สิงห + อาสน์ = (ที่นั่งแห่งสิงห์) บัลลังก์
    - เพรง...........ก่อน
    - สรรค.......... สร้าง แต่ง
    - อบาย......... ที่ปราศจากความเจริญ ความล่มจม

    ถอดความ...
    ที่เรียกว่ากาพย์ กลอน หรือ โคลง มีความไพเราะนั้นหมายถึง ไพเราะทางเสียง กับ ไพเราะทางความ ถ้าจะให้เกิดความไพเราะทางเสียง ต้องอ่านดังๆ และยิ่งอ่านตามทำนองเสนาะได้เป็นดี เสียงกาพย์กลอนนั้น เหมือนเสียงดนตรี มี สั้น ยาว เบา หนัก สูง ต่ำ นอกจากนั้นยังมีเสียงสัมผัสกระทบกัน เช่น ล่ม แล้ว ลอย, เพรง พระ, สรรค ศาสน์, บัง อบาย เบิก เป็นต้น ไพเราะทางความ นั้น คือ ความคิดที่กวีแสดงออกมานั้นคมคาย ชวนให้คิด ชวนให้ตรอง ทำให้เห็นความงาม เร้าความรู้สึก

    บาท๑...ยศของกรุงศรีอยุธยาล่มแล้ว (หมายถึง เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า) แต่ที่แลเห็นรุ่งเรืองอยู่ดังนี้ ได้ลอยลงมาจาก
    สวรรค์หรือ
    บาท๒...หมายความว่าปราสาทราชวังงดงามวิเศษ (รัตน) แลตระการอยู่บนแผ่นดิน
    บาท๓...บุญที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้แต่ปางก่อนช่วยให้พระองค์ได้บำรุงศาสนาให้รุ่งเรือง
    บาท๔...ได้ปิดบังทางแห่งความล่มจม ทรงจัดการให้ใจเมือง (ประชาราษฎร) ตื่นขึ้นจากความหลงในการบาปต่างๆ

    โคลงบทนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกและอารมณ์ของกวี โดยแท้ ฉะนั้นจะตีความให้ชัดเจนลงไปได้โดยยาก เราอาจจะเข้าใจได้ว่า นายนรินทร์ได้แลเห็นความรุ่งเรืองของปราสาทราชวัง (คือพระนคร) ก็นึกสงสัยว่า กรุงศรีอยุธยาได้ยับเยินล่มจมลงไปในครั้ง พศ.๒๓๑๐ แล้ว แต่บัดนี้ความรุ่งเรืองนั้นกลับปรากฏอยู่แก่สายตา ก็ให้สงสัยว่า นี่กรุงศรีอยุธยาจะลอยลงมาจากสวรรค์กระมัง แต่แล้วก็ระลึกขึ้นได้ว่ามิใช่เป็นดังนั้น หากเป็นด้วยบุญบารมีของกษัตริย์ที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อน พระองค์จึงได้ทรงก่อสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ ทั้งได้ทำนุบำรุงพระศาสนา สั่งสอนคนให้เข้าใจในธรรม ให้ตื่นขึ้นมองเห็นบาปบุญคุณโทษ



    ๓. เรื่องเรืองไตรรัตน์พ้น....พันแสง 
    รินรสพระธรรมแสดง.........ค่ำเช้า 
    เจดีย์ระดะแซง................เสียดยอด 
    ยลยิ่งแสงแก้วเก้า............แก่นหล้าหลากสวรรค์

    ศัพท์.... 
    - ไตรรัตน์.......พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    - พันแสง....... สหัสรังสี พระอาทิตย์
    - แก้วเก้า.......นพรัตน์ คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัมโกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์
    - แก่นหล้า....หลักของโลก

    ให้สังเกตว่า โคลงบทนี้กวีใช้คำสามัญ คือ พันแสง กับแก้วเก้า แทนคำศัพท์ สหัสรังสี และ นพรัตน์ ทั้งนี้พื่อ
    ประโยชน์ในทางสัมผัสอักษร พ้น..พัน และ แก้ว..แก่น

    ถอดความ....
    โคลงบทนี้สรรเสริญไตรลักษณ์ว่าเป็นหลักของโลก และว่าพระรัตนไตรนั้นให้ความสว่างแก่โลกยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ คำว่า เสียดยอด นั้นถ้าดูตามคำก็ว่า ยอดเจดีย์อยู่ชิดชิดกัน แต่เป็นเพียงจินตนาการของกวี ที่แลเห็นบ้านเมืองเต็มไปด้วยเจดีย์ เพื่อจะพูดให้เห็นว่ามากจริงๆ ตามความนึกคิดจึงว่า เสียดยอด


    ๔. โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น...ไพหาร 
    ธรรมาสน์ศาลาลาน...........พระแผ้ว 
    หอไตรระฆังขาน..............ภายค่ำ 
    ไขประทีปโคมแก้ว...........ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์

    บทนี้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (ในปาฐกถาเรื่องนิราศนรินทร์) ทรงวิจารณ์ว่า พื้น ในบาทแรกนั้นหมายความว่ากระไร ไม่เข้าใจส่วน ลานพระแผ้ว ก็เข้าใจยาก บาท ๓ ดี...บาท ๔ ดีมาก...แต่ไขประทีปโคมแก้ว นั้นไขที่ไหน ไขที่หอไตร ศาลา หรือ ธรรมาสน์ ผู้ที่อ่านกาพย์กลอน จะต้องอ่านด้วยความพินิจพิจารณายิ่งกว่าอ่านร้อยแก้ว แต่กาพย์กลอนนั้นมีลักษณะอันผิดไปจาก ร้อยแก้วอย่างหนึ่งนั้น คือ กวีมักจะเขียนด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ ฉะนั้นจึงมักละคำต่างๆ ไว้ให้เข้าใจเอาเอง อย่างเช่นโคลงบทนี้ จะเห็นว่ามีความคลุมเครืออยู่ถึง ๓ ตอน ผู้ที่จะบอกความจริงได้ก็มีแต่ผู้แต่งเท่านั้น ว่าเมื่อเขาเขียนดังนี้เขานึกถึงอะไร เช่นว่า...
    ธรรมมาสน์ศาลาลาน.....พระแผ้ว
    นั้น..พระกวาด(แผ้ว) ศาลาและลาน หรือจะหมายความว่า ทั้ง ธรรมมาสน์ ศาลา ลาน พระพุทธรูปล้วนแต่สะอาดผ่องแผ้วทั้งสิ้น ฉะนั้นโคลงบางบทจะถอดความเป็นร้อยแก้วให้ชัดเจนไม่ได้ ด้วยกวีเขียนขึ้นตามอารมณ์และความสะเทือนใจ บทกวีไม่ใช่คณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงเหตุผลและความแน่นอนชัดเจน

    บทนี้พูดถึง...
    บาทที่๑....ระเบียงโบสถ์พื้นมณฑปและวิหารของศาสนสถานหรือวัดนั่นเอง เป็นการพรรณนาโวหารถึงวัตถุธรรมที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจคนในสังคม....
    บาทที่๒....บรรยายต่อถึงธรรมมาสน์ที่พระนั่งเทศนาสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน...รวมทั้งองค์พระพุทธรูปที่เหลืองอร่ามผ่องแผ้วตั้งเป็นประธานอยู่ในโบสถ์หรือศาลาการเปรียญนั้น
    บาทที่๓....บรรยายต่อถึงหอไตรที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก...รวมถึงหอระฆังสำหรับตีบอกเวลาทำวัตรแก่พระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดทั้งเช้า..สาย..บ่าย..เย็น..ย่ำค่ำ
    บาทที่๔....พูดถึงยามค่ำคืนในสมัยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้...ก็ใช้โคมไฟตะเกียงที่มีไส้และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ตามระยะแนวระเบียงทางเดิน โดยอุปมาอุปไมยถึงขนาดว่าแสงจากโคมนี้สว่างรุ่งเรืองจนถึงท้องฟ้าแทบกลบแสงจันทร์เสียสิ้น ซึ่งตรงนี้ออกจะเป็นอติพจน์คือคำพูดเกินจริงอยู่มาก...แต่ในอีกความหมายหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือแสงแห่งพุทธธรรมนั้นส่องโลกนี้(สอนสัตว์โลก)ให้สว่างไสวไปทั้งโลกถึงขนาดข่มแสงจันทร์เสียสิ้น(ด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ - ปัญญาวิมุติ) 

    ศัพท์....
    - โบสถ์..........โรงที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม
    - มรฑป.........เดิมแปลว่าห้องโถง เราใช้หมายถึงสิ่งที่สร้างเป็นสี่เหลี่ยมยอดแหลม
    - ไพหาร........ พิหาร วิหาร วัด ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่กับโบสถ์
    - ธรรมมาสน์..ธรรม + อาสน์ = ที่นั่งแสดงธรรม
    - หอไตร.........หอไตรปิฎก กุฏิสำหรับเก็บพระธรรม


    ๕. เสร็จสารพระยศซ้อง....สรรเสริญ 
    ไป่แจ่มใจจำเริญ..............ร่ำอ้าง 
    ตราตรอมตระโมจเหิน......หวนสวาท 
    อกวะหวิวหวั่นร้าง.............รีบร้อนการณรงค์

    ศัพท์....
    - ตรา....ติดอยู่ ประทับอยู่
    - ตระโมจ....ว้าเหว่ เปลี่ยวใจ (ภาษาเขมร)

    ถอดความ....
    เมื่อได้กล่าวคำสรรเสริญพระบรมราชานุภาพแล้ว จะขอรำพันความหม่นหมอง อันตรึงตราอยู่ในดวงใจด้วยว่าจะต้องร้างรักไปไกลเสียแล้ว ในทรวงอกให้รู้สึกวาบหวิว ที่จะต้องจากนางไปในงานพระราชสงคราม โดยด่วน


    ๖. แถลงปางบำราศห้อง....โหยครวญ 
    เสนาะเสน่ห์กำสรวล.........สั่งแก้ว 
    โอบองค์ผอูนอวล............ออกโอษฐ์ อรเอย 
    ยามหนึ่งฤาแคล้วแคล้ว......คลาดคล้ายขวบปี 

    คำว่าเสนาะแปลว่าน่าฟัง ไพเราะ คำว่า "เสนาะเสน่ห์" จะหมายความถึงอะไร หรือจะหมายความว่า "สั่งแก้ว-เสนาะ"
    บาท ๒....ควรจะแปลว่า ด้วยความโศกเศร้า (ที่จะจากไป) ได้รำพัน สั่งลานางที่รัก ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
    บาท ๔....นั้นเปรียบดี ว่า แม้แต่ยามหนึ่งก็ไม่คลาดไปจากนาง เดี๋ยวจะจากไปแล้ว ยามหนึ่งๆที่ต้องจากไปนั้น จะรู้สึกว่านานเป็นปีๆทีเดียว

    ศัพท์....
    - บำราศ........จากไป แผลงจาก ปราศ
    - กำสรวล......เศร้า คร่ำครวญ ร้องไห้
    - ผอูน........... น้อง
    - อวล........... หอม (เขมรว่า เต็ม แน่น)
    - อร..............นาง


    ๗. รอยบุญเราร่วมพ้อง......พบกัน 
    บาปแบ่งสองทำทัน...........เท่าสร้าง 
    เพรงพรากสัตว์จำผัน.........พลัดคู่ เขาฤา 
    บุญร่วมบาปจำร้าง............นุชร้างเรียมไกล 

    ถอดความ....
    ชะรอยว่าในชาติเก่าเราได้ทำบุญและบาปมาด้วยกัน บุญจึงชักนำให้เราได้มาเป็นคู่กัน แล้วบาปที่เราทำได้ตามมาทัน จึงทำให้เราต้องพลัดพรากกัน แต่ก่อนเราคงจะได้ทำสัตว์ให้พลัดคู่กัน ชาตินี้จึงได้เป็นดังนี้ บุญนำให้เรามาร่วมกันฉันใด บาปที่เราร่วมทำกันมาก็ทำให้น้องและพี่จำต้องร้างกันไปไกล ฉันนั้น

    ศัพท์....
    - รอย............ ชะรอย กวีมักตัดพยางค์หน้าออก เช่น 
    .....................อภิรมย์ ภิรมย์
    .....................อดิเรก ดิเรก
    .....................อนุช นุช
    - เพรง.......... ก่อน แต่ก่อน
    - อนุช........... อนุ-ช ผู้เกิดทีหลัง น้อง แล้วความหมายเปลี่ยนเป็นผู้หญิง


    ๘. จำใจจากแม่เปลื้อง......ปลิดอก อรเอย 
    เยียวว่าแดเดียวยก...........แยกได้ 
    สองซีกแล่งทรวงตก.........แตกภาค ออกแม่ 
    ภาคพี่ไปหนึ่งไว้...............แนบเนื้อนวลถนอม

    ศัพท์...
    - เยียว่า.........แม้ว่า
    - แด............. ใจ
    - แล่ง............ ผ่า, ทำให้แตก 

    โคลงบทนี้ เขียนตามความรู้สึกสะเทือนใจของกวีโดยแท้ ตามความหมายก็ว่า ถ้าดวงใจดวงเดียวของกวี (นายนรินทร์) ผ่าแยกออกเป็นสองส่วนได้ ก็จะขอแยกออกเป็นสองส่วน จะฝากไว้แนบนางส่วนหนึ่ง นายนรินทร์เอาไปส่วนหนึ่ง
    คำว่า....ใจ....ในที่นี้หมายถึง ตัวนายนรินทร์ นั่นเอง
    คำว่า....ปลิดอก....คือ ปลิดนางไปจากอก


    ๙. โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ.....แลโลม โลกเอย 
    แม้ว่ามีกิ่งโพยม...............ยื่นหล้า 
    แขวนขวัญนุชชูโฉม..........แมกเมฆ ไว้แม่ 
    กีดบ่มีกิ่งฟ้า....................ฝากน้องนางเดียว 

    บทนี้ก็เขียนโดยความสะเทือนใจกวี ซึ่งหมายถึงความรู้สึกอันเต็มตื้น จะนึกจะคิดอย่างไร ก็มีลักษณะเลิศลอยพิสดาร ไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผล คือคิดไปโดยทางจินตนาการอันฟุ้งซ่าน ในที่นี้ต้องเข้าใจว่า นายนรินทร์ ไม่อยากให้เมียอยู่บนพื้นดินเลย (ในขณะที่ตัวจากไป) เพราะนางนั้นงามเป็นขวัญตาของโลก จึงคิดจะเอานางไปแขวนไว้เสียในท้องฟ้า แต่ฟ้าก็ไม่มีกิ่ง (เหมือนกิ่งไม้) จึงคิดไปไม่สำเร็จ คำว่ากิ่งโพยม (กิ่งฟ้า) นั้นเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง

    ศัพท์....
    - สาวลักษณ์..เสาว (สุ) + ลักษณ์ รูปดี สวย งาม
    - แมก........... แฝง บัง
    - กีด.............กัน ขัดข้อง
    - นางเดียว.....นางคนเดียวของพี่


    ๑๐. โฉมควรจักฝากฟ้า......ฤาดิน ดีฤา 
    เกรงเทพไท้ธรณินทร์........ลอบกล้ำ 
    ฝากลมเลื่อนโฉมบิน.........บนเล่า นะแม่ 
    ลมจะชายชักช้ำ...............ชอกเนื้อเรียมสงวน

    โคลงบาท ๒ นั้น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงวิจารณ์ว่า ธรณินทร์ นั้นแปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน นายนรินทร์เห็นจะไม่กล้า กล่าวว่าเกรงพระพุทธเลิศหล้าฯ (รัชกาลที่ ๒) จะทรงลอบกล้ำเมียของแก เห็นจะหมายเอาเพียงเทวดาดิน คือ ภูมิเทวดาและพฤกษเทวดาเป็นต้น เท่านั้นเอง (ตรงนี้ก็เป็นเพียงเดาใจนายนรินทร์) แต่กรมหมื่นพิทยาฯ ยังทรงวิจารณ์ต่อไปอีกว่า ถ้านายนรินทร์มิได้มุ่งจะให้หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน เหตุใดจึงเขียน ธรณินทร (ธรณี+อินทร) ซึ่งอาจแปลได้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน คือ พระพุทธเลิศหล้า หรือบางทีนายนรินทร์จะเขียน ธรณิน (คือ ธรณี) แต่หากคนคัดลอกตกเติมเสียใหม่เป็น ธรณินทร
    บาท ๓ - ๔ ดีทั้งความ ทั้งเสียงของโคลงและคำที่เลือกสรรมาใช้

    บทนี้เป็นพรรณนาโวหารพูดถึงความงามของหญิงคนรักของนายนรินทร์...ต้องเข้าใจว่าเป้นการพูดเกินจริงในเชิงกวี เท่านั้น
    บาทที่๑....โฉม-ที่พูดหมายถึงสาวคนรักว่าควรฝากไว้บนฟ้าหรือซ่อนไว้ในดินดีเมื่อนายนรินทร์ต้องไปรบทัพจับศึกไม่อาจอยู่ดูแลได้
    บาทที่๒....เกรงว่าเทวดาหรือพระยากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่จะมาเอาตัวไปกระทำสังวาสด้วยผู้หญิงของตน
    บาทที่๓....จะฝากลม(วายุเทพ - พ่อของภีมะแห่งสกุลปาณฑปในมหาภารตะยุทธ)ก็เกรงลมจะพาพัดหายไปบนท้องฟ้า
    บาทที่๔....อีกทั้งกลัวว่าลมจะโลมไล้เนื้อตัวหญิงคนรักให้ชอกช้ำ...ทั้งๆที่นายนรินทร์นั้นแสนจะทะนุถนอม


    ๑๑. ฝากอุมาสมรแม่แล้.....ลักษมี เล่านา 
    ทราบสวยมภูวจักรี............เกลือกใกล้ 
    เรียมคิดจบจนตรี..............โลกล่วง แล้วแม่ 
    โฉมฝากใจแม่ได้..............ยิ่งด้วยใครครอง 

    ศัพท์....
    - อุมา............ชายาพระอิศวร ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น มหาเทวี บารพตี (บรรพตี) ทุรคา กาลี เหมวดี พระอุมา นี้มีสองภาค คือ ภาคดีงาม และภาคร้าย ในภาคร้าย เขาทำเป็นรูปหญิงรูปร่างน่ากลัว ลิ้นห้อยออกมาจากปาก มีงูเป็นสังวาล ถือหัวกะโหลกคน ในอินเดียมีเทวสถานพระอุมาดุร้ายมีคนไปบูชากันมาก ว่าศักดิ์สิทธิ์ แต่วิธีบูชานั้นทำกันอย่างน่าอุจาด เช่นเอาเลือดสัตว์หรือคนไปสาดหรือทาที่รูป ในสมัยที่อินเดียเสื่อมโทรมถึงขีดสุดนั้น ถึงกับมีหญิงชายไปร่วมประเวณีกันต่อหน้าเทวรูปพระอุมา ว่าเป็นเหตุให้พระอุมาโปรด
    - ลักษมี........ ชายาแห่งพระนารายณ์ มีชื่อว่า ศรี อินทิรา โลกมาตา ปัทมา กมลา เป็นเจ้าแม่แห่งความงาม เป็นเทวีแห่งโชคลาภ เทวรูปทำเป็นหญิงมือถือดอกบัว
    - สวยมภู.......ผู้เกิดเองคือ พระอิศวร เป็นเทพเจ้าสูงสุด มีทั้งดี และ ร้าย เป็นผู้ทำลายและดัดแปลงให้ดีขึ้นรูปพระอิศวรมีจันทร์ครึ่งซีกที่นลาต มีตาวิเศษอยู่บนหน้าผาก หว่างกลางตาทั้งสอง มีกร ๔ กรถืออาวุธ
    ต่างๆ เช่น ตรีศูล บ่วงบาศ บัณเฑาะว์ ขันทอง สังข์ มีงูเป็นสังวาลย์ มีลูกประคำเป็นกะโหลกผี มีชื่อต่างๆ กันเช่น รุทร มหากาล มหาเทพ มเหศวร มหาโยคี เป็นต้น พาหนะของพระอิศวรคือ โคอุสุภรา
    - จักรี............ พระนารายณ์ (วิษณุ - พิษณุ) เป็นเทพผู้ดับยุคเข็ญของโลก มีสี่กร ประทับที่ไวกูณฐ์ คือ
    แผ่นดินทอง วัดโดยรอบได้ สองหมื่นโยชน์ มีวิมานแก้ว บ้างว่าประทับ บรรทมสินธุ์ เหนือ หลัง
    พญาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) พาหนะ คือ ครุฑ

    โคลงบทที่ ๑๐ - ๑๑ นี้นับได้ว่าเป็นเอกในเชิงคารมโวหาร เราจะเห็นได้ว่า นายนรินทรคิดจะฝากเมียกับฟ้าดิน พระอุมา พระลักษมี แต่ก็มีความวิตก ไม่เชื่อใจทั้งนั้น จึงนึกไปทั่วทั้ง ๓ ภพ ก็ไม่เห็นที่ที่จะไว้ใจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เห็นจะหมดหนทาง แต่แล้วนายนรินทร ก็หวนกลับมาอย่างที่เราคิดไม่ถึงว่าฝากใครก็ไม่ดีเท่ากับฝากไว้กับนางเอง คือถ้านางรักษาตัวนางได้แล้วก็ดีกว่าที่จะฝากใครทั้งหมด ความคิดดังนี้พบในโคลงกำสรวลสมุทร เป็นครั้งแรกว่า

    ๐ โฉมแม่จักฝากฟ้า........เกรงอินทร หยอกนา
    อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา...สู่ฟ้า
    โฉมแม่จักฝากดิน...........ดินท่าน แล้วแฮ
    ดินฤๅขัดเจ้าหล้า.............สู่สมสองสม


    ๐ โฉมแม่ฝากน่านน้ำ.......อรรณพ แลฤๅ
    เยียวนาคเชยชมอก.........พี่ไหม้
    โฉมแม่รำพึงจบ.............จอมสวาท กูเอย
    โฉมแม่ใครสงวนได้.........เท่าเจ้าสงวนเอง

    ดังนี้ทำให้เข้าใจว่า นายนรินทรจะเลียนบทกำสรวลสมุทร (แต่เป็นเพียงสันนิษฐานเท่านั้น)
    ขอให้ลองอ่าน โคลงของนายนรินทร กับ ของกำสรวลสมุทร ดังๆแล้วเทียบกันดู จะเห็นว่า ทำนองของนายนรินทร นิ่มนวลไพเราะหูกว่า


    ๑๒. บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง..เตียงสมร 
    เตียงช่วยเตือนนุชนอน.......แท่นน้อง 
    ฉุกโฉมแม่จักจร...............จากม่าน มาแฮ 
    ม่านอย่าเบิกบังห้อง...........หับให้คอยหน 

    ศัพท์....
    - บรรจถรณ์...ที่นอน เครื่องปูลาด
    - ฉุก............. ทันที ทันใด อาจจะ คำอื่นๆเช่น ฉุกใจ(สะดุดใจ)
    - เบิก............ เปิด
    - หับ............. ปิด
    - หน............. ทาง เรามักพูดว่า หนทาง

    บทนี้ก็เขียนจากอารมณ์กวี ด้วยนายนรินทรพูดกับที่นอน เตียง ม่าน คล้ายกับสิ่งเหล่านี้จะมีวิญญาณเข้าใจได้ นึกดูก็ไม่หน้าเป็นไปได้ที่คนจะพูดกับสิ่งไม่มีชีวิตเช่นนั้น แต่อย่าลืมว่า คนเราเมื่อเกิดความรู้สึกแรงกล้านั้นอาจจะพูดกับอะไรได้ทั้งนั้น
    บาท ๓ - ๔ นางอาจออกมาเสียจากม่านก็ได้ ถ้า
    เป็นดังนั้นแล้ว ม่านอย่าเปิดให้นางออกมาได้ จงปิดกั้นไว้ และคอยระวังหนทาง (อย่าให้นางออกมาได้)


    ๑๓. สงสารเป็นห่วงให้.......แหนขวัญ แม่ฮา 
    ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์.......แจ่มหน้า 
    เกศีนี่นิลพรร...................โณภาส 
    งามเงื่อนหางยูงฟ้า............ฝากเจ้าจงดี 

    บทนี้ยังสงสัยบาท ๓ เพราะ เกศีนี่ คำว่า นี่ ไปเข้ากับคำ เกศี นั้น ไม่ใช่ลักษณะคำของกวี เพราะคำ นี่ เป็นคำสามัญเกินไป กรมหมื่นพิทย ฯ เข้าพระทัยว่าโคลงบาท ๓ น่าจะเป็น 
    "เกศีนินิลพรร-....โณภาส" 
    เกศินิ - เกศินี = นางมีผมงาม
    บทนี้แสดงความเป็นห่วงเมีย แล้วก็ชมความงามของเมีย
    บาท ๒....เปรียบเมียกับพระจันทร์
    บาท ๓....เปรียบผมเมียว่าดำเหมือนนิล และหางนกยูง
    บาท ๔....ที่ว่า ฝากเจ้าจงดี ฝากอะไรกับใคร เรารู้ว่านายนรินทร์เป็นคนฝาก ในที่นี้น่าจะหมายความว่า ขอฝากความงามสมบูรณ์อย่างพระจันทร์ กับ ผมดำเหมือนนิลไว้กับนางหรือ จะฝากนางไว้กับความงาม และผม
    ก็เป็นเรื่องที่จะตีความให้ชัดจริงๆ ได้ยาก เพราะเป็นเรื่องในใจของนายนรินทร์ และนายนรินทร์ก็เขียนอย่างภาษากวี คือ ละไว้ให้เราคิดเอาเอง

    ศัพท์....
    - พรรโณภาส..พรรณ + โอภาส = สีงาม
    - โอภาส........สุกใส สว่าง
    - เงื่อน...........อย่าง เช่น ยูงฟ้า....นกยูงสวรรค์ คือ หมายความว่าไม่ใช่นกยูงธรรมดา


    ๑๔. เรียมจากจักเนิ่นน้อง...จงเนา นะแม่ 
    ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์...........อย่าอ้อน 
    อำนาจสัตย์สองเรา............คืนร่วม กันแม่ 
    การณรงค์ราชการร้อน........เร่งแล้วเรียมลา

    ถอดความ....
    พี่จะต้องจากน้องไปเดี๋ยวนี้แล้ว ขอให้น้องจงอยู่ดีเถิด อย่าเศร้าโศกไปเลย (จงทำใจให้เข้มแข็งไว้) ด้วยอำนาจความสัตย์ของเราทั้งสอง พี่คงจะได้กลับมาพบน้องอีก การไปงานพระราชสงคราม ครั้งนี้เป็นการด่วน ทัพจะเร่งออกเดินทางแล้ว พี่จะขอลาน้องไปบัดนี้ ในที่นี้ต้องเข้าใจว่าไปทัพนั้นอาจไปตายก็ได้ การร่ำลาสั่งเสียจึงต้องเต็มไปด้วยความเป็นห่วง จะได้กลับมาเห็นกันหรือไม่ ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน และตอนนั้นการจัดทัพออกไปต่อสู้พม่าคงจะได้ทำกันเป็นการด่วน

    ศัพท์....
    - เนิ่น............บางแห่งแปลว่า ช้า แต่บางแห่งแปลว่า เร็ว เช่น ไปแต่เนิ่นๆ 
    - อ้อน...........คืออย่าใจอ่อน ให้ทำใจแข็งไว้


    ๑๕. ลงเรือเรือเคลื่อนคว้าง..ขวัญลิ่ว แลแม่ 
    ทรุดนั่งถอนใจปลิว..............อกว้า 
    เหลียวหลังพี่หวาดหวิว........ใจวาก 
    แลสั่งสบหน้าหน้า..............แม่หน้าเอ็นดู 

    ตอนนี้ผู้อ่านควรจะนึกเห็นภาพว่านายนรินทร์ลงเรือ เป็นลำทรงของกรมพระราชวังบวร ฯ ก็ได้ ด้วยนายนรินทร์เป็นมหาดเล็ก และเมียนายนรินทร์คงจะมาส่งที่ท่าด้วย จึงหันมาสั่งด้วยสายตาอีก ทีหนึ่ง และนายนรินทร์คงนึกสงสารเมียที่มีหน้าตาเศร้าสร้อย พรรณนาความรู้สึกตอนเรือออก บาท ๒ - ๓ ว่า
    "ขวัญลิ่ว ใจปลิว อกว้า" นั้นดีมาก
    หน้า....ในบาท ๔ ควรเป็น น่า แต่จำต้องเขียน หน้า เพราะต้องการโท


    ๑๖. ออกจากคลองขุดข้าม...ครรไล 
    เรือวิ่งอกว้าใจ..................หวาดขว้ำ 
    เด็ดแดดั่งเด็ดใย...............บัวแบ่ง มาแม่ 
    จากแต่อกใจปล้ำ..............เปลี่ยนไว้ในนาง

    บทนี้ยังพรรณนาความอาลัย เปรียบเทียบการเด็ดใจ คือ ตัดใจจากมานั้น เหมือนกับเด็ดบัว ไม่ขาดง่ายๆมีใยติดอยู่ อก คือ ตัว ใจ คือ ความคิด หมายความว่าจากมาแต่ตัวเท่านั้น ใจ (ความคิด) ยังคงอยู่ที่นาง 
    คลองขุดในที่นี้ ไม่ชัดและไม่มีที่ค้นคว้า เข้าใจว่าจะเป็นปากคลองหลอดที่อยู่ใกล้ๆวังหน้า


    ๑๗. บรรลุอาวาสแจ้ง........เจ็บกาม 
    แจ้งจากจงอาราม.............พระรู้ 
    เวรานุเวรตาม..................ตัดสวาท แลฤา 
    วานวัดแจ้งใจชู้................จากช้าสงวนโฉม

    บทนี้เล่นคำ 
    แจ้ง วัดแจ้ง (บาท๑), รุ่งแจ้ง (บาท๒), แจ้งให้รู้ (บาท๔)
    เจ็บกาม ฟังเผินๆ ไม่สู้น่าฟังนัก ความหมายก็ว่า เจ็บในความรัก
    บาท ๑...ที่ว่า แจ้งจาก นั้นน่าจะหมายความว่า ตอนผ่านวัดแจ้งนั้น จะเป็นเวลารุ่งสว่างพอดี คือ ออกเรือตอนใกล้รุ่ง
    บาท ๒..๓..๔....ความว่า ได้จากมา พอถึงวัดแจ้งก็รุ่งสว่าง ก็ที่จากมานี้ พระอาราม (หรือ พระพุทธในอาราม) คงจะรู้ว่าเวรมาตามทัน และตัดความรักหรือประการใด จึงทำให้ต้องจากนางมาดังนี้ อย่างไร
    ก็ดี ขอวัดแจ้งได้ช่วยบอกนางด้วยว่า ข้าพเจ้าจากไปครั้งนี้เป็นเวลานาน ขอให้นางรักษาตัวไว้ให้ดี

    ศัพท์...
    - เวรานุเวร.....เวร + อนุ + เวร (อนุ = เล็ก น้อย) เวรทั้งหลาย


    ๑๘. มาคลองบางกอกกลุ้ม...กลางใจ 
    ฤาบ่กอกหนองใน.............อกช้ำ 
    แสนโรคเท่าไรไร.............กอกรั่ว ราแม่ 
    เจ็บรักแรมรสกล้ำ.............กอกร้อยฤาคลาย

    บทนี้เล่นคำ กอก
    บาท๑....คือ มะกอก
    บาท๒....คือ ดูดออก
    คลองบางกอก คือ คลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) 
    บาง หมายถึง ตำบลตามลำคลอง ลำคลอง
    คำว่า หนองในอก คือ ความรัก


    ๑๙. ชาวแพแผ่แง่ค้า........ขายของ 
    แพรพัสตราตาดทอง.........เทศย้อม 
    ระลึกสีสไบกรอง..............เครือมาศ แม่เฮย 
    ซัดสอดสองสีห้อม............ห่อหุ้มบัวบัง 

    บาท๑....บาทนี้เป็นที่สงสัยกันมาก แม้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ก็ไม่กล้าทรงตัดสินเด็ดขาด คำที่ก่อให้สงสัยคือ แง่ ที่แปลว่า ชั้นเชิง แง่งอน หรือ แผงที่ยื่นออกมานอกแพ เพื่อตั้งของขาย กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าพวกชาวแพคงไม่ทำชั้นเชิงแง่งอนกับพวกที่มาในกระบวนทัพ ในต้นสมุดไทยบางฉบับเขียนว่า "ชาวแพแพแม่ค้า ขายของ"

    ศัพท์....
    - พัสตรา.......ผ้า
    - ตาด........... ผ้าไหมบางควบกับด้ายเงินหรือทอง
    - เครือมาศ....ลายเถาเป็นทอง สไบกรองเครือมาศ ผ้าสไบที่ทอด้วยไหมทองทำเป็นลวดลายต่างๆ
    - ซัดสอด...... ห่มทับกัน
    - บัว..............คำเทียบในเชิงความหมาย คือ หน้าอกหญิง


    ๒๐. วัดหงส์เหมราชร้าง......รังถวาย นามแฮ 
    เรียมนิราเรือนสาย............สวาทสร้อย 
    หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย..........พรหมโลก แลฤา 
    จะสั่งสารนุชคล้อย............คลาดท้าวไป่ทัน 

    บาท๑....วัดหงส์นี้ พญาหงส์ทองทิ้งรังไว้ ถวายเป็นนามอาราม
    บาท๒....ฉันจากเรือนจากเมียที่รักมา
    บาท๓....(แต่) หงส์ซึ่งเป็นพาหนะของพระสี่พักตร์ไปพรหมโลกเสียแล้ว
    บาท๔....จะขอให้ช่วยนำข่าวไปบอกเมียก็ไม่ทัน

    ศัพท์....
    - เหมราช.......หงส์เหมราช (พญาหงส์ทอง) พาหนะของพระพรหม
    - สี่พักตร์....... พระพรหมผู้สร้างโลก มีสี่หัว สี่กร ถือคัมภีร์พระเวท ลูกประคำ คณโฑ บรรจุน้ำในแม่น้ำคงคา ช้อนสำหรับหยอดเนยใส่ในไฟ เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งองค์หนึ่ง


    ๒๑. สังข์กระจายพี่จากเจ้า..จอมอนงค์ 
    สังข์พระสี่กรทรง..............จักรแก้ว 
    สรวมทิพย์สุธาสรง............สายสวาท พี่เอย 
    สังข์สระสมรจงแผ้ว...........ผ่อนถ้าเรียมถึง 

    ถอดความ...
    ได้จากนางมาถึงวัดสังข์กระจายแล้ว พอถึงวัดนี้ ก็นึกถึงสังข์ ของพระผู้ทรงจักรแก้ว (พระนารายณ์) ขอให้น้ำทิพย์ในสังข์นั้น จงอาบนางของข้า ให้นางมีจิตอันผ่องแผ้วสบาย ผ่อน (ความทุกข์) ไว้คอยท่าเวลาที่พี่จะกลับคืนมา
    ทำนองของการแต่งนิราศ เมื่อผ่านตำบลอะไร หรือพบเห็นอะไร ก็จะต้องนึกพาดพิงไปถึงเมีย หรือคนรักที่อยู่ข้างหลัง การที่จะกล่าวพาดพิงไปถึงคนรัก (หรืออาจแสดงความนึกคิดอย่างอื่น) ได้ดี คือ ไพเราะจับใจ ชวนคิดได้เพียงใด ย่อมแล้วแต่ความสามารถ ของกวี

    ศัพท์...
    - สุธา............ของทิพย์ น้ำ
    - อนงค์......... นาง (อน + องค์) เดิมเป็นชื่อของพระกามเทพ 
    อน=ไม่ อนงค์ คือ ไม่มีตัวตน ตามนิทานว่าพระกามเทพ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความรักไปยั่วพระอิศวร ซึ่งกำลังเข้าฌาน จะให้เกิดรักพระอุมา เพราะพระอิศวรเข้าฌานเพลินจนลืม พระอิศวรเลยลืมตาที่สามอันเป็นตาไฟ เผากามเทพจนไหม้เป็นขี้เถ้าไป โดยที่กามเทพเป็นเจ้าแห่งความรัก คำ อนงค์ เลยเปลี่ยนความหมายเป็น หญิง


    ๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ..........ลำบาง 
    บางยี่เรือราพลาง..............พี่พร้อง 
    เรือแผงช่วยพานาง............เมียงม่าน มานา 
    บางบ่รับคำคล้อง..............คล่าวน้ำตาคลอ 

    ถอดความ...
    ความหมายของโคลงบทนี้ ว่า ล่องเรือมาตามลำคลองไกลออกไปทุกที จนผ่านตำบลบางยี่เรือ เมื่อจะจากบางยี่เรือ ได้ยินคำ เรือๆ ก็เลยนึกว่าที่นี่คงมีเรือ จึงบอกกับบางยี่เรือ ช่วยให้เอาเรือแผงไปรับนางมาทีเถิด แต่บางยี่เรือก็ไม่รับคำ จึงต้องนั่งน้ำตาคลอ

    ศัพท์...
    - เรือแผง....... เรือที่มีม่านบัง สำหรับพวกฝ่ายใน
    - คล่าว..........ไหล
    - พร้อง..........พูด
    - เมียง...........แอบ


    ๒๓. มาด่านด่านบ่ร้อง........เรียกพัก พลเลย 
    ตาหลิ่งตาเหลวปัก.............ปิดไว้ 
    ตาเรียมหลั่งชลตัก.............ตวงย่าน 
    ไฟด่านดับแดไหม้.............มอดม้วยฤามี 

    โคลงบาท ๓ - ๔ เป็นคำกล่าวตามทำนองกวี เป็นภาพพจน์ บาท ๓ ว่า ที่ตาของพี่หลั่งน้ำตาออกมาแล้วนั้น ถ้าจะตวงดูก็คงท่วมถิ่นฐานแถวนี้ คำว่า ตวงย่าน ในบางเล่มเขียนว่า เต็มย่าน
    บาท ๔ ว่า ไฟที่ด่านก็ดับสิ้นแล้ว แต่ไฟซึ่งไหม้ดวงใจของพี่อยู่นั้น ไม่รู้จักดับเลย
    ไฟ คำแรก คือ ไฟที่จุดเพื่อความสว่าง 
    ไฟ คำหลัง คือ ไฟแห่งความรัก ราคะ กำหนัด

    ศัพท์...
    - ด่าน........... ที่ตรวจสินค้าเพื่อเก็บภาษี ที่ตรวจคนไปมา
    - ตาหลิ่ง....... ตลิ่ง (แผลง ตะ เป็น ตา)
    - ตาเหลว......เฉลว เส้นศอกที่ขัดกันไปเป็น ๓ แฉก หรือ ๔ แฉก ใช้ปักปากหม้อยา ตามตำราไทยว่าเป็นเครื่องป้องกันภัย แต่ตาเหลวในที่นี้ใช้ปักไว้เพื่อเป็นเครื่องให้รู้ว่าเป็นด่าน


    ๒๔. นางนองชลน่านไล้.....ลบบาง 
    ไหลเล่ห์ชลลบปราง..........แม่คล้ำ 
    แสนโศกสั่งสารปาง..........จากพี่ ปลอบแม่ 
    นาสิกเรียมซับน้ำ..............เนตรหน้านางนอง 

    ตอนนี้เดินทางมาถึงตำบลนางนอง และเห็นน้ำขึ้นท่วมฝั่ง น้ำที่ไหลบ่าไปนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งน้ำตาของนางไหลอาบแก้มทั้งสองของนางให้คล้ำไป แล้วก็เลยคิดไปถึงเมื่อนายนิรนทรจะจากนางมานั้น ได้มีความโศกเศร้าเป็นนักหนา ได้พูดจากปลอบโยนมากมาย และนายนรินทรได้จูบหน้าของนางซึ่งกำลังนองไปด้วยน้ำตา
    คำว่า “นาสิกเรียบซับน้ำ เนตรนั้นคือ จูบ นั่นเอง แต่พูดเป็นโวหารว่า ใช้จมูกซับน้ำตาให้นาง


    ๒๕. บางขุนเทียนถิ่นบ้าน...นามมี 
    เทียนว่าเทียนแสงสี..........สว่างเหย้า 
    เย็นยามพระสุริยลี............ลาโลก ลงแม่ 
    เทียนแม่จุดจักเข้า............สู่ห้องหาใคร 

    โคลงบทนี้กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าไพเราะมาก คือ งามทั้งความ ทำนอง และ เสียงของโคลง
    นายนรินทรมาถึงตำบลบางขุนเทียน ได้ยินคำว่า เทียน ก็นึกไปถึงเทียน เทียนที่เคยใช้จุดตามที่บ้าน และตอนที่นายนรินทรมาถึงบางขุนเทียนนี้เวลาคงบ่ายแล้ว จึงเลยนึกไปถึงเวลาค่ำว่า พอถึงเวลาค่ำ นางที่อยู่บ้าน จะจุดเทียนเข้าไปในห้องตามเคย แต่นางคงไม่พบใคร (คือนายนรินทร) แล้ว

    คำว่า “พระสุริยลี ลาโลกนั้นก็เป็นโวหารที่ดี คำว่า ลา นั้นใช้กับคน ที่ให้เป็นกริยาของ พระสุริย นั้น ก็โดยจินตนาการว่า เมื่อตะวัจะจากโลกก็คงได้ลาโลกไปเช่นเดียวกับคน ตามความหมายว่า พระอาทิตย์ตกนั่นเอง


    ๒๖. ปานนี้มาโนชญ์น้อย....นงพาล พี่เอย 
    เก็บเกศฤากรองมาลย์........มาศห้อย 
    ปรุงจันทน์จอกทองธาร......ประทิน ทาฤา 
    นอนนั่งถามแถลงถ้อย.......ทุกข์พร้องความใคร 

    โคลงบทนี้คาบเกี่ยวกับบทที่ ๒๕ คือ นายนรินทรหวนคิดไปถึงที่บ้านว่ากำลังทำอะไรอยู่
    บาท ๔ ว่า เวลานอนนั่งคงจะคอยแต่นึกถึงนายนรินทรอยู่ และเมื่อยามเป็นทุกข์จะได้ปรับทุกกับผู้ใดเล่า (เพราะนายนรินทรจากมาเสียแล้ว)

    ศัพท์...
    - มาโนชย์......เป็นที่พอใจ งาม หมายถึง นาง มาจาก มาโนช (เกิดแต่ใจ) คือ ความรัก
    - นางพาล..... นาง (ผู้รุ่นสาว)
    - เก็บเกศ...... แต่งผม
    - มาลย์มาศ.. ดอกไม้ทอง คือ ดอกไม้ที่สวยงาม
    - ปรุงจันทร์....จันทร์เป็นชื่อไม้หอม ป่นเป็นผงปรุงเป็นกระแจะทาตัว
    - ประทิ่น.......เครื่องหอม


    ๒๗. คิดไปใจป่วนปิ้ม........จักคืน 
    ใจหนึ่งเกรงราชขืน............ข่มคร้าม 
    ใจหนึ่งป่วนปานปืน............ปัดปวด ทรวงนา 
    ใจเจ็บฝืนใจห้าม...............ห่อนเจ้าเห็นใจ 

    บทนี้เล่นคำ ใจ การเล่นคำนี้เป็นวิธีการแต่งอย่างหนึ่งของกวี ที่จะให้เกิดความไพเราะ คมคาย หรือสะดุดใจ
    ความว่า เมื่อคิดๆ ไป (โคลงที่ ๒๕ – ๒๖) แล้ว ใจก็ปั่นป่วน แทบว่าจะกลับคืนหลังเสียให้ได้ แต่ใจหนึ่งขืนเอาไว้ ด้วยกลัวพระราชอาญา ส่วนอีกใจนั้นให้รู้สึกปั่นป่วน (บางฉบับว่า ป่วยปานปืน) และเจ็บปวดราวกับถูกยิง การที่ (นายนรินทร) เจ็บปวดในใจ สู้ฝืนใจ ห้ามใจ กระอักกระอ่วนอยู่ดังนี้ นางคงจะแลไม่เห็น (เพราะมาอยู่เสียห่างไกล)


    ๒๘. มิตรใจเรียมจอดเจ้า...จักคิด ถึงฤา 
    จากแม่เจ็บเสมอจิต...........พี่บ้าง 
    ฤาลืมมลายปลิด...............แปลนสวาท 
    จำพี่โหยไห้ช้าง................ค่ำเช้าชำงาย 

    ถอดความ...
    น้องที่รักผู้เป็นมิตรแห่งดวงใจของพี่ การที่พี่มีใจอดคิดถึงน้องอยู่ดังนี้ น้องจะคิดถึงพี่บ้างหรือไม่ การที่มีความทุกโทมนัสในดวงใจดังนี้ น้องจะเป็นทุกข์เช่นเดียวกับพี่บ้างหรือไม่ หรือว่าบัดนี้น้องได้ลืมพี่ ได้สลัดความรักพี่เสียแล้ว ถ้าเป็นดังนี้พี่จะต้องร้องไห้คร่ำครวญทุกเวลาทั้ง เช้า สาย และ ค่ำ

    ศัพท์...
    - มิตรใจ........นาง (ผู้เป็นเพื่อนของใจ)
    - มลาย......... หาย ศูนย์ หมด สิ้น
    - แปลน........ เปล่า เปลี่ยน
    - ชำงาย........ เวลาสาย
    - ไห้ช้าง........ บางท่านอธิบายว่า ร้องไห้อย่างช้าง คือ นิ่งน้ำตาไหล พูดไม่ออก แต่บางท่านว่า ช้าง เป็นภาษาโบราณ แปลว่า ร้องไห้นั่นเอง


    ๒๙. ไปศึกสุดมุ่งม้วย........หมายเป็น ตายเลย 
    ศูนย์ชีพไหนนุชเห็น..........หากลี้ 
    อรเอยลับหลังเอ็น.............ดูนัก นะแม่ 
    โอ้โอะไกลกันกี้...............เมื่อไซ้จักสม 

    บาทที่ ๑.....ไปรบศึกนั้นจะอยู่หรือจะตาย สุดจะเอาเป็นที่แน่นอนได้
    บาทที่ ๒.....หากเดินทางต่อไปแล้วไปตาย ที่ไหนนางจะได้เห็นใจ
    บาทที่ ๓.....สงสารน้องที่อยู่ข้างหลังเหลือเกิน
    บาทที่ ๔.....เมื่ออยู่ไกลกันอยู่ดังนี้ เมื่อใดเล่าจะได้คืนไปสู่น้อง

    ศัพท์...
    - ลี้................หนี ซ่อน ไป
    - อร.............. นาง มาจาก อรทัย อุทัย (แรกขึ้น) แล้วมาหมายความถึงหญิงรุ่นสาว
    - กี้...............ก่อน ครั้งก่อน (ในที่นี้ควรจะหมายว่า ครั้งนี้)


    ๓๐. เรือมามาแกล่ใกล้......บางบอน 
    ถนัดหนึ่งบอนเสียดซอน.....ซ่านไส้ 
    จากมาพี่คายสมร..............เสมอชีพ เรียมเอย 
    แรมรสกามาไหม้..............ตากต้องทรวงคาย

    นายนรินทรมาถึงตำบลบางบอน พอนึกถึงคำว่า บอน ก็นึกถึง คัน (ซ่านไส้)
    ศัพท์...
    - ถนัด...........ชัดแจ้ง เหมือนจริงๆ
    - คาย............จาก ร้าง ทิ้ง

    บาท ๓ นั้น บางท่านแปลว่า พี่จากมาดังนี้เท่ากับทิ้งนางอันเป็นรักเสมอชีพไว้ แต่คำว่า คาย นั้นอาจเป็น ระคายก็ได้ เพราะถ้า คาย แปลว่า ทิ้ง จาก นายนรินทรจะต้องใช้ จาก ถึง ๒ คำ ซึ่งเป็นความอย่างเดียวกันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น จึงอาจแปลได้อีกนัยหนึ่งว่า การที่พี่ต้องจากนางอันเป็นที่รักเสมอชีวิตครั้งนี้ ให้รู้สึก ระคาย เคือง ในใจด้วยเรื่องนางนั้น
    บาทที่ ๔ คำว่า ตาก แปลว่า ห่าง แยก ผึ่ง แผ่ อย่างเช่น ตากแดด ผึ่งแดด ในที่นี้คือตากอยู่ในความทุกข์ที่ร้างรสมา


    ๓๑. บางกกกลกล่อมแก้ว..กับแด 
    กรตระกองนุชแปร............ปรับเนื้อ 
    ลานโลมวิไลแถง..............ชระมุ่น อกเอย 
    จำนิรารสเกื้อ...................กกแก้วกับทรวง 

    ตอนนี้เดินทางถึงบางกก ให้สังเกตว่านายนรินทร์มีวิธีแต่งโดยเอาชื่อตำบลมาคาบเกี่ยวกับเรื่องของตนบ่อยๆ อย่างนี้เป็นวิธีนิราศซึ่งนักนิราศนิยมเขียนกันมาก
    บาท ๑....ถึงบางกกนึกเหมือนว่าได้กอดน้องไว้กับอก
    บาท ๒....มือโอบกอดเนื้อนิ่มเนียน ของนาง
    บาท ๓....ใจก็สะทกสะท้านอยากจะกกกอดน้อง อยู่
    บาท ๔....เนื่องเพราะต้องมาราชการสงคราม จึงต้องพรากร้างมา

    ศัพท์....
    - กก............. กกกอด กอดกก
    - กล............. เช่น เหมือน
    - แด............. ใจ
    - แปรปรับ..... เข้ามาชิดกัน
    - แถง............(ถะ แหง) ดวงเดือน
    - ชรมุ่น..........กระวนกระวาย เป็นทุกข์
    - ลาน...........ลนลาน ใจลนลาน คือ ใจตื่นสะทกสะท้าน


    ๓๒. หัวกระบือกบินทรราชร้า...รณรงค์ แลฤา 
    ตักกบาลกระบือดง...........เด็ดหวิ้น 
    สืบเศียรทรพีคง...............คำเล่า แลแม่ 
    เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น...........ขาดด้วยคมเวร 

    บทนี้ กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าเป็นโคลงที่ดีเยี่ยมบทหนึ่งของ นายนรินทร แต่พระองค์ท่านสงสัยคำว่า กบินทร ซึ่งแปลว่า พญา-ลิง (หมายถึงพญาพาลี) ถ้าเป็นดังนี้ คำว่า กบินทรราชก็กลายเป็น พญา ซ้อนกันสองคำ ท่านว่า ตามฉบับสมุดไทยเขียน กบิล แปลว่า ลิง กบิลราช แปลว่า พญาลิง

    ศัพท์...
    - ณรงค์......... รบ
    - กระบือดง...หมายถึงทรพีในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพญาควาย
    ฆ่าพ่อที่ชื่อทรพา แล้วมาท้าพญาพาลีรบ พาลีฆ่าทรพีตายในถ้ำ มีคำเล่าในตำบลตัวกระบือ ว่พญพาลีตัดหัวทรพีขว้างมาตกที่ตำบลนี้


    ๓๓. โคกขามดอนโคกคล้าย...สัณฐาน 
    ขามรุ่นริมธารสนาน...........สนุกนี้ 
    พูนเพียงโคกฟ้าลาน..........แลโลก ลิ่วแม่ 
    ถนัดหนึ่งโคกขามชี้...........เล่ห์ให้เรียมเห็น 

    โคลงบทนี้ยากที่จะแปลให้ชัดเจนลงไป และสงสัยว่าคล้ายสัณฐาน นั้น สัณฐานอะไร ? ในบทกวีที่คาบเกี่ยวไปในเชิงพิศวาส หรือที่กวีแต่ก่อนเรียกว่า บทสังวาส นั้น ถ้าจะแปลเป็นคำร้อยแก้ว ก็เสีย และอาจกลายเป็นคำหยาบก็ได้ ในโคลงบทนี้ นายนรินทรก็ตั้งใจเขียนเรื่องที่คิดในใจ มิได้กล่าวชัดแจ้งออกมา แล้วแต่ผู้อ่านจะนึกตีความ ถ้าเราจะเอาโคลงมาแยกแยะแจกแจงออกไปก็หมดรส เปรียบเหมือนเขาร้อยพวงมาลัยสวยๆ ถ้าเราไปรื้อเอาดอกไม้มาพิจารณาเป็นดอกๆ พวงมาลัยนั้นก็หมดสภาพเป็นพวงมาลัยอันสวยงาม กลายเป็นดอกไม้ที่กระจัดกระจาย

    ตามความในโคลงนี้ควรจะเป็นว่า
    บาท ๑...ตำบาลโคกขามเป็นที่ดอน มีสัณฐานเป็นโคก (หรือจะว่าเป็นโคกเหมือนสัณฐานของ ---?)
    บาท ๒...ลำธารที่ผ่านตำบลนี้ มีต้นมะขายรุ่นๆ ขึ้นทั้งสองฟาก (นายนรินทร) ลงไปอาบน้ำ (กับเพื่อนๆ กันอย่างสนุก)
    บาท ๓...พื้นดินที่โคกขามนี้นูนขึ้นมาดัง โคกฟ้า (คืออะไรคิดเอาเอง) มองเห็นพื้นดินนูนนั้นก็ให้ลานใจเห็นโคกนั้นลิ่วๆ สุดสายตา
    บาท ๔...โคกขามนี้มีลักษณะเป็นนัยให้ (นายนรินทร) นึกไปถึงสิ่งหนึ่ง

    ศัพท์...
    - สัณฐาน...... รูปร่าง เค้า โครง ทรวดทรง
    - ลานแล....... แลดูลานตา คำว่า ลาน แปลว่า ที่ว่าง ก็ได้ แต่ในที่นี้คงจะหมายในความว่า ตื่นใจ ลาน (ตามากกว่า)


    ๓๔. มาคลองโคกเต่าตั้ง....ใจฉงาย 
    ตัวเต่าฤามีหมาย...............โคกอ้าง 
    เจ็บอกพี่อวนอาย.............ออกปาก ได้ฤา 
    คืนคิดโคกขวัญร้าง...........อยู่เร้นแรมเกษม 

    ตอนนี้มาถึงคลองโคกเต่า แต่นายนรินทรว่า ไม่เห็นมีเต่าอย่างชื่อโคกนั้นเลย ความแบบนี้กวีชอบเขียน เช่น สุนทรภูว่า “วัดนางชีมีแต่พระสงค์ ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน

    ศัพท์...
    - ใจฉงาย...... สงสัยในใจ
    - อวลอาย......นึกอายมาก (บางฉบับเขียนว่า อวน แต่ควรเป็น อวล ซึ่งแปลว่า ฟุ้งตระหลบ กลบ เต็ม แน่น)
    - โคกขวัญ.....หมายถึง โคกขาม แต่ที่เรียกสมญาว่า โคกขวัญ ด้วยโคกนั้นเป็นที่ยินดี แต่ยังหมายต่อไปถึง โคกขวัญอีกอย่างหนึ่งที่ อยู่เร้นแรมเกษมนั้นด้วย


    ๓๕. มหาชัยชัยฤกษ์น้อง...นาฎลง โรงฤา 
    รับร่วมพุทธมนต์สงฆ์.........เสกซ้อม 
    เสียดเศียรแม่ทัดมง..........คลคู่ เรียมเอย 
    ชเยศชุมญาติห้อม............มอบให้สองสม 

    โคลงบทนี้ความคิดที่แสดงออกมานั้นดีมาก และทำนองของโคลงก็ไพเราะ
    บาท ๑...มาถึงตำบลมหาชัย ก็นึกถึงชัยฤกษ์ (ฤกษ์อันเป็นมงคล) เมื่อคราวน้องเข้าพิธีสมรสกับพี่
    บาท ๒...เราทั้งสองรับน้ำพระพุทธมนต์ และฟังพระสวดอวยชัยให้พรแก่เรา
    บาท ๓...เราทั้งสองนั่งศีรษะชิดกัน และน้องสวมมงคลคู่กับพี่
    บาท ๔...ญาติมาห้อมล้อม (ทั้งฝ่ายญาติของพี่และของน้อง) มอบให้เราทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และอวยชัยให้พรแก่เรา

    คำว่า ชเยศ ในบาท ๔ นั้นเกี่ยวกับคำอะไร พิจารณาเห็นว่าเกี่ยวกับคำ ชุม หรือ ชเยศชุม (มาประชุมกันเป็นมงคล) ถ้าจะเอาความหมายก็ว่า ประชุมกันอวยชัยให้พร

    ศัพท์...
    - ชเยศ..........ชย + อีศ คำ อีศ เรียกว่า คำสกรรถ หรือ ศ เข้า ลิลิต เป็นคำที่ไม่มีความหมายอย่างใด แต่ใช้รวมกับคำอื่นๆ เพื่อความไพเราะ หรือสัมผัส เช่น นาเรศ (นารี + อีศ) มายุเรศ (มยุรี + อีศ) นาเวศ (นาวี + อีศ) นคเรศ (นคร + อีศ)


    ๓๖. ท่าจีนจีนจอดถ้า.........คอยถาม ใดฤา 
    จีนช่วยจำใจความ.............ข่าวร้อน 
    เยียวมิ่งแม่มาตาม............เตือนเร่ง ราแม่ 
    จงนุชรีบเรียมข้อน............เคร่าถ้าจีนคอย 

    ความหมายในบาท ๑ อาจคิดได้ ๒ แง่ คือ มาถึง ตำบลท่าจีน

    แง่ที่ ๑...เห็นเรือพวกจีนจอดอยู่ (นายนรินทร) ก็สงสัยว่า จีนพวกนี้จอดเรือคอยถามเรื่องอะไรหรือ
    แง่ที่ ๒...คำว่า ท่าจีน นั้น ตามความหมายก็ว่าเป็นที่พวกจีนมาจอดเรือ เมื่อ (นายนรินทร) นึกได้เช่นนี้ ก็สงสัยว่าตรงนี้พวกจีนมาจอดเรือคอยถามเรื่องอะไรหรือ ตรงนี้จึงได้ชื่อว่า ท่าจีน

    พิจารณาในโคลงบาท ๑ – ๔ ก็ควรจะหลับตาเห็นว่า นายนรินทรพบเรือพวกจีนจอดอยู่ เมื่อนายนรินทรไปถึง ครั้นแล้วเรือพวกจีนนั้นออกเดินทางสวนทางที่นายนรินทรมา นายนรินทรจึงเขียนในโคลว่า ขอให้จีนจงนำความไปบอกนางว่า เขากำลังรออยู่ที่ท่าจีน

    ศัพท์...
    - เยียว.......... แม้ว่า ถ้า
    - นุช.............อนุช (อนุ + ช) น้อง นาง
    - ข้อน...........ทุบ ตี (ตีอก หมายว่า เป็นทุกข์ถึง)
    - เคร่า........... คอย
    - ถ้า............. ท่า คอยท่า
    - ท่าจีน.........บัดนี้ คือ จังหวัดสมุทรสาคร


    ๓๗. บ้านบ่อน้ำบกแห้ง......ไป่เห็น 
    บ่อเนตรคงขังเป็น.............เลือดไล้ 
    อ้าโฉมแม่แบบเบญ...........จลักษณ์ เรียมเอย 
    มาซับอัสสุชลให้...............พี่แล้วจักลา

    บทนี้เชิงเปรียบเทียบ (บาท๑ - ๒) ดีมาก
    บาท ๑....ถึงตำบลบ้านบ่อ แต่บนบกนั้นน้ำแห้ง
    บาท ๒....(แต่) บ่อในตานั้นมีน้ำ (ตา) ขังเป็นสายเลือด

    ศัพท์.... 
    - เบญจลักษณ์...ความงาม ๕ อย่าง ตามนิยมในวรรณคดี คือ ฟันงาม ผมงาม ผิวงาม วัยงาม เหงือกงาม แต่จะงามอย่างไรแล้วแต่ความนิยม และ ความที่กวีจะคิด เช่น ฟันงามก็ต้องดำ (เจ้างามทนต์กลนิลเจียรไน) 
    ผมงามก็ดำอย่างปีกแมลงทับ ผิวงามก็ดังทาทอง วัยงามนั้นว่า แลดูเป็นสาวสวยอยู่เสมอ เหงือกงาม
    นั้นว่า ต้องสีแดง
    - อัสสุชล....... น้ำตา อัสสุ คำเดียวก็แปลว่า น้ำตาอยู่แล้ว แต่มาเพิ่มชล (น้ำ) เข้าไปอีก การใช้คำซ้ำดังนี้ ทางกาพย์กลอนไม่ถือว่าบกพร่องในการแต่ง


    ๓๘. นาขวางใครแขวะรุ้ง....เป็นทาง 
    ปองบ่อไป่ปองนาง............ป่วยไซร้ 
    นามขวางไขว่หนามขวาง....ในอก อีกแม่ 
    ใครบ่งฤาเบาได้................เท่าน้องนางถอน 

    บาท ๑...ที่ตำบลนาขวางนี้ ใครมาขุดร่องเป็นทางน้ำไว้
    บาท ๒...มาขุดบ่อ (ร่อง) หาน้ำ ไม่ใช่หานางอย่างนี้เห็นไม่ได้ประโยชน์ (ข้อความกล่าวเทียบเคียงตรงนี้ ไม่สู้ดีนัก ฟังดูดาษๆ)
    บาท ๓...ยิ่งได้ชื่อว่าขวางๆ ทำให้เกิดนึกถึงหนาม (ความรัก) ที่ขวางอยู่ในอก
    บาท ๔...อันหนาม (คือความรัก) นั้น ใครจะบ่งก็คงไม่หลุดออกได้ นอกจากน้องจะมาบ่งให้เทานั้น

    ศัพท์…
    - รุ้ง..............กว้าง ความกว้าง คู่กับแวง ความยาว
    - ไขว่............ก่ายกัน ปะปน สับสน
    - บ่ง.............แคะออก


    ๓๙. สามสิบสองคดคุ้ง......เวียนวง 
    คิดว่าคืนหลังหลง.............ทุกเลี้ยว 
    บังเฉนียนไฉนบง..............พักตร์แม่ เห็นฤา 
    แลตะลึงลืมเคี้ยว..............ขบค้างคำสลา 

    โคลงบทนี้มีข้อความน่าฟัง และแสดงความรู้สึกในใจได้ดี

    ถอดความ.....
    คลองสามสิบสองคดนั้นเป็นคลองที่คดเคี้ยว ถึงตอนเลี้ยวคลองครั้งใด พี่คิดว่าได้เดินทางย้อนกลับหลังร่ำไป พี่จึงตั้งตามองหาน้อง แต่มองไม่เห็น ด้วยตลิ่งบัง พี่ก็ได้แต่นั่งเฝ้าจ้องทางตลิ่งตะลึงอยู่ จนลืมเคี้ยวหมาก

    ศัพท์.....
    - เฉนียน........ฝั่ง ตลิ่ง
    - บง............. ดู มอง
    - สลา........... หมาก


    ๔๐. มาคลองย่านซื่อซ้ำ....พิศวง 
    ซื่อตลอดย่านเดียวตรง......รวดริ้ว 
    ใจคิดคู่ครองคง................รักแม่ นะแม่ 
    ไป่ตลอดเลยพลิ้ว.............พลัดน้องมาไกล 

    บาท ๑...มาถึงคลองย่านซื่อ ก็เลยเกิดความพิศวงขึ้นมาอีก (เพราะครั้งก่อนถึงสามสิบสองคด-ตรงข้ามกับย่านซื่อ)
    บาท ๒...คลองนี้ตรงแน่วไปตลอด
    บาท ๓...(เมื่อเห็นคลองนี้) ใจก็คิดไปถึงนาง (คู่ครอง) ว่าเราคงจะรักษาความรักไว้อย่างนี้เที่ยงตรง (เหมือนคลอง)
    บาท ๔...แต่ความรักของเรา หาได้เป็นดังนี้ตลอดไปอย่างที่เราคิดกันไม่ จึงต้องพลัดพรากจากนางมาไกลดังนี้

    ศัพท์.....
    - รอด............คราวเดียว ครั้ง
    - ริ้ว...............ลาย รอย แนว แถว

     

    ๔๐. มาคลองย่านซื่อซ้ำ....พิศวง 
    ซื่อตลอดย่านเดียวตรง......รวดริ้ว 
    ใจคิดคู่ครองคง................รักแม่ นะแม่ 
    ไป่ตลอดเลยพลิ้ว.............พลัดน้องมาไกล 

    บาท ๑...มาถึงคลองย่านซื่อ ก็เลยเกิดความพิศวงขึ้นมาอีก 
    (เพราะครั้งก่อนถึงสามสิบสองคด-ตรงข้ามกับย่านซื่อ)
    บาท ๒...คลองนี้ตรงแน่วไปตลอด
    บาท ๓...(เมื่อเห็นคลองนี้) ใจก็คิดไปถึงนาง (คู่ครอง) ว่าเราคงจะ
    รักษาความรักไว้อย่างนี้เที่ยงตรง (เหมือนคลอง)
    บาท ๔...แต่ความรักของเรา หาได้เป็นดังนี้ตลอดไปอย่างที่เราคิด
    กันไม่ จึงต้องพลัดพรากจากนางมาไกลดังนี้

    ศัพท์.....
    - รอด............คราวเดียว ครั้ง
    - ริ้ว...............ลาย รอย แนว แถว

    ๔๑. เห็นจากจากแจกก้าน...แกมระกำ 
    ถนัดระกำกรรมจำ.............จากช้า 
    บาปใดที่โททำ.................แทนเท่า ราแม่ 
    จากแต่คาบนี้หน้า.............พี่น้องคงถนอม

    โคลงบาทนี้เล่นคำ..กรรม - (ระ) กำ
    นายนรินทร์ เห็นต้นจาก กับต้นระกำ ขึ้นปนกันอยู่เห็น ต้นจาก ก็นึกถึงการที่จากมา เห็นต้นระกำก็นึกถึง กรรม 
    อนึ่ง คำว่า ระกำ ยังแปลว่า ช้ำใจ ตรอมใจ ได้อีกด้วย
    บาท๔...เราจากกันแต่เพียงครั้งนี้ดอก ต่อไปภายหน้าเรา (พี่และ
    น้อง) คงได้กลับมาร่วมกัน

    ศัพท์.....
    - จากช้า........จากไปนาน
    - โท.............. สอง


    ๔๒. เรียมจากฤาจับข้าว.....เต็มคำ หนึ่งเลย 
    รินซึ่งชลจานจำ................เนื่องแค้น 
    หยิบกับกระยากำ..............คิดแม่ คอยแม่ 
    เหียนฤหายหอบแหน้น.......อกค้างคายคืน 
    โคลงบทนี้แสดงความรู้สึกในความทุกข์ความอาลัยได้อย่างดีอีกบทหนึ่ง ทั้งความอ่านแล้วทำให้นึกเห็นภาพกิริยาท่าทางได้ดี ความก็ว่า ตั้งแต่จากมาก็กินข้าวไม่ลงเลย กินเข้าไปแต่ในอกนั้นแน่น 
    (อยู่ด้วยความรัก) จึงกลืนไม่ลง
    กระบวนโคลง และทำนองเขียนนั้นน่าฟัง พี่จากน้องมายัง ไม่ทันได้หยิบข้าวเต็มคำเลย (แต่ก่อนเรากินกับมือ ที่หยิบไม่เต็มคำเพราะกลืนไม่ลง ต้องแบ่ง) แต่ถึงกระนั้นยังต้องเอาน้ำเติม แม้ข้าวจะไม่เต็มคำก็กลืนแค้นคอ ครั้นพี่หยิบกับข้าว พี่ก็มาถือนิ่งไว้ ด้วยใจมัว
    คิดถึงนางและคอยนาง (แต่เมื่อไม่เห็นนาง) ก็รู้สึกเบื่อหน่ายในอาหารไม่รู้จักสิ้นสุด ความรู้สึกที่แน่นอยู่ในอก ทำให้ต้องคายอาหารที่รับประทานนั้น

    ศัพท์...
    - กระยา........ อาหาร เครื่องกิน
    - กับ............. กับข้าว
    - เหียน.......... คลื่นไส้ เบื่อ ไม่ชอบ

    ๔๓. ปรานีนุชอยู่เหย้า.......เยียบเย็น 
    เย็นแม่เยี่ยมจักเห็น...........แต่ห้อง 
    ครวญหาพี่ใครเป็น............สองปลอบ แม่เลย 
    สไบพี่เปลี่ยนจักป้อง.........ปิดหน้านางโหย 
    ตรงนี้ควรจะสังเกตว่า การที่นายนรินทร์คิดเขียนโคลงบทนี้เป็นเวลาเย็น และให้สังเกตว่า สัมผัสก็ดีด้วย

    พอเวลาเย็นก็นึกสงสารนางว่าคงจะอยู่บ้านอย่างเหงา เปล่าเปลี่ยว (เย็นเยียบ) เวลาเย็นเช่นนี้น้องเข้าไปในห้องก็จะเห็นแต่ห้อง เวลาน้องร้องไห้หาพี่ ใครเล่าจะเป็นคนปลอบน้อง น้องก็คงจะได้แต่ผ้าห่มของพี่ปิดหน้าร้องไห้อยู่เท่านั้นเอง

    บาท๔...”สะไบพี่เปลี่ยนถ้าจะพิจารณาตามตัวอักษรก็ว่าสไบที่พี่
    เปลี่ยนไว้ให้ แต่คำสะไบ มักใช้สำหรับผ้าห่มของหญิงเท่านั้น 
    ปทานุกรม ให้คำแปลแต่เพียงว่า ผ้าแถบ ผ้าห่มเฉียงบ่า


    ๔๔. แลไถงถงาดเลี้ยว......ลับแสง 
    สอดซึ่งตาเรียมแสวง.........ทั่วพื้น 
    จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง....มาเปลี่ยน 
    หวนว่ามุขแม่ฟื้น...............เยี่ยมฟ้าหาเรียม 




    บาท ๑...มองดูตะวันก็ตกลับไปแล้ว คำว่าเลี้ยว หมายถึง เลี้ยวลับ
    เหลี่ยมเขาพระสุเมรุตามความคิดของพราหมณ์ที่ว่า 
    เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก พระจันทร์ พระอาทิตย์ 
    เดินรอบเขาพระสุเมรุ
    บาท ๒...พี่มองสอดสายตาไปทั่วพื้น (พิภพ) คำว่า พื้น นั้น พื้น
    อะไร ต้องเข้าใจว่า พื้นฟ้า พื้นดิน
    บาท ๓...พี่นึกว่าน้องเยี่ยมหน้ามาในฟ้า เพื่อมองหาพี่

    ศัพท์...
    - หวน........... กลับ ย้อน
    - มุข............. หน้า
    - โถง............ ดวงตะวัน (คำเขมร)


    ๔๕. ชมแขคิดใช่หน้า.......นวลนาง 
    เดือนดำหนิวงกลาง...........ต่ายแต้ม 
    พิมพ์พักตร์แม่เพ็ญปราง....จักเปรียบ ใดเลย 
    ขำกว่าแขไขแย้ม.............ยิ่งยิ้มอัปสร



    ศัพท์...
    - อัปสร.........(อัจฉรา..บาลี) นางฟ้าซึ่งมีรูปงามน่าพึงใจ และช่าง
    ยั่วยวน ในรามายณะ (รามเกียรติ์) ว่าเมื่อทวยเทพกวนเกษียรสมุทร เพื่อทำน้ำอมฤตนั้น ได้เกิดนางอัปสรผุดขึ้นมานับด้วยหมื่นแสน แต่เทวดาและอสูรไม่รับไปเป็นคู่ครอง นางจึงตกเป็นของกลางจึงเรียกว่าสุรางคณา หมายความว่าหญิงของเทวดาทั่วไป

    ถอดความ...
    บทนี้ติดต่อกับบท ๔๔

    บาท ๑...พิศดูพระจันทร์ก็รู้ว่าไม่ใช่หน้าของน้องเสียแล้ว
    บาท ๒...เพราะที่กลางดวงจันทร์นั้น มีรอยตำหนิเป็นรูปกระต่าย
    บาท๓...ส่วนหน้าของน้องนั้นอิ่ม สะอาด จะเอาสิ่งใดมาเทียบ
    มิได้เลย
    บาท๔...งามยิ่งกว่าดวงจันทร์ที่กระจ่างฟ้า และงามยิ่งกว่าหน้าอันยิ้ม
    เยื้อนของนางอัปสร


    ๔๖. วิเวกดุเหว่าก้อง..........ดงดึก แล้วแฮ 
    กระส่าวเสียงนกนึก...........นุชพร้อง 
    พลิกปลอบเปล่าใจทึก.......ถามแม่ ไหนแม่ 
    ปลุกพี่ฤาเรียมร้อง............เรียกเจ้าไป่ขาน 

    ตอนนี้ ควรจะเข้าใจว่าเป็นเวลาดึก นายนรินทรตื่นขึ้นมา เพราะเสียงนกดุเหว่า และเสียงนกดุเหว่า นั้น ทำให้นึกว่าเป็นเสียงของนาง ก็พลิกตัวแล้วปลอบตัว แล้วถาว่านางอยู่ไหน นางมาปลุกเขาหรือ แต่เมื่อเขาร้องถามไปแล้ว ก็ไม่ได้ยินคำตอบจากนาง

    ศัพท์...
    - กระส่าว.......เสียงสั่นๆ เครือๆ
    - ทึก............. แสดงอาการของใจที่เต้นตึกๆ หรือ ทึกทัก นึกเอา 
    คิดเอาเอง


    ๔๗. โอ้ดวงดาเรศด้อย......เดือนดับ 
    ดับดั่งดวงอัจกลับ.............พู่พร้อย 
    ชวาลาจะลาลับ................นุชพี่ แพงเอย 
    หลับฤตื่นตรอมละห้อย.......อยู่ห้องหนหลัง 

    โคลงบทนี่ต่อเนื่องกับบท ๔๖
    บาท ๑...แสดงว่าดวงดาว ดวงเดือน กำลังจะดับ คือ ใกล้รุ่ง นาย
    นรินทรใช้คำว่า “โอ้ซึ่งแสดงว่ามีความเสียดาย อาลัย
    บาท ๒...นายนรินทรหวนนึกไปถึงบ้าน นึกถึง อัจกลับ (โคมไฟ) ซึ่งมี
    ระย้ายแก้วห้อย นึกไปว่า การที่เดือนดับไปนั้น เหมือนกับกับโคมไฟที่บ้านดับไป (เพราะเขาจากบ้านมา)
    บาท ๓-๔...ให้สังเกตในแง่ไวยากรณ์ว่า อะไรเป็นประธาน กริยา 
    หรือ กรรม และมีปัญหาว่า ชวาลา นั้น ชวาลาที่ไหน ในเรือที่นายนรินทรไป หรือ ชวาลาที่บ้าน หรือ นายนรินทรจะใช้คำว่า ชวาลา แทน ดวงเดือน เป็นเรื่องตีความให้แจ่มชัดได้ยาก ในที่นี่จะขอตีความดังนี้

    น้องที่รัก (แพง) ของพี่เอ๋ย เวลานี้ชวาลา (ตะเกียง) ชนิดหนึ่ง มีพวยสำหรับใส่ใส้) ในเรือนของพี่ก็กำลังจะหรี่ดับไปแล้ว (เพราะจวนใกล้รุ่ง) บัดนี้น้องซึ่งอยู่ห้องที่บ้านจะกำลังหลับ ตื่น ตรอม ละห้อย หรือประการใด

    ๔๘. เรือมารุ่งบ่รู้..............คืนวัน 
    ตื่นแต่ตาใจฝัน.................คลับคล้าย 
    แปดยามย่ำแดยัน............แทนทุ่ม โมงแม่ 
    นอนนั่งลุกยืนย้าย............ยิ่งร้อนเรียมวี 
    โคลงบทนี้แสดงว่า เป็นเวลารุ่งเช้าแล้ว

    บาท ๑...เดินทางมารุ่งแล้ว แต่จะเป็นกลางวันหรือ กลางคืน (นาย
    นรินทร) ก็ไม่อาจรู้ได้
    บาท ๒...เพราะตาเท่านั้นที่ตื่นอยู่ ส่วนใจนั้นเหมือนกำลังฝัน
    บาท ๓...ทั้งแปดยาม เอามือตีอก แทนตีฆ้องกลอง
    บาท ๔... จะนั่ง นอน ลุก ยืน เดิน ก็ร้อนยิ่งไปทั้งนั้น ต้องใช้พัด

    ศัพท์...
    - ยาม........... ระยะเวลา ๓ ชั่วโมง
    - ทุ่ม............. บอกระยะเวลา ๓ ชั่วโมง กลางคืน เดิมกลางคืนใช้
    กลองบอกเวลา คำว่า ทุ่ม คือ เสียงกลองนั่นเอง
    - โมง............ บอกระยะเวลา ๓ ชั่วโง กลางวัน เดิมใช้ฆ้อง โมง 
    คือ เสียงฆ้อง


    ๔๙. แม่กลองกลองบ่ได้....ยินดัง 
    รัวแต่กรประนัง.................หนึ่งค้อน 
    ทรวงพี่แผ่เพียงหนัง..........ขึงขอบ กลองเอย 
    กลองบ่ข้อนเรียมข้อน.......อกแค้นคะนึงโฉม 

    ตอนนี้มาถึง แม่กลอง (เมืองสมุทรสงคราม)
    บาท ๑...มาถึงตำบลแม่กลอง แต่ไม่ได้ยินเสียงกลอง
    บาท ๒-๓...(กลองไม่มีใครตี แต่นายนรินทร) ใช้มืออันเปรียบดัง
    ค้อน ระดมตีอกตนเอง ซึ่งเปรียบเหมือนหนัง ที่แผ่ขึงหน้า
    กลอง
    บาท ๔...กลองไม่ได้ถูกใครตี แต่ (นายนรินทร) ตีอกตนเองด้วย
    ความคิดถึงเมีย


    ๕๐. ออกจากปากน้ำน่าน...นองพราย 
    อรรณพพิศาลสาย............ควั่งคว้าง 
    จากนางยิ่งตนตาย............ทีหนึ่ง นะแม่ 
    เทียรจักทอดตัวขว้าง........ชีพไว้กลางวน 

    ตอนนี้เดินทางออกปากแม่น้ำแม่กลอง
    ศัพท์...
    - น้ำน่าน....... น่านน้ำ น่าน -- ย่าน
    - พราย......... ฟองน้ำ
    - อรรณพ.......ห้วงน้ำ
    - เทียร..........ย่อม เช่น ดังหนึ่ง
    - วน..............ห้วงน้ำ

     

    ไม่ได้ถอดเองจ้า ไปเอามาจากที่นี่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sdayoo&month=07-2007&date=11&group=25&gblog=1

     

              แต่ถ้าใครจะให้แปลให้ก็บอกได้นะ ขอเป็นโคลงเพียวๆ อย่าบอกแค่ว่าบทที่เท่าไร แล้วเดี๋ยวจะมาลงให้ :p

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×