ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Nb1 :)

    ลำดับตอนที่ #45 : นิทานเวตาล, ทุกข์ของชาวนาในบทกวี, มหาเวสสันดร

    • อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 58


    นิทานเวตาล

                ผู้แต่ง

    พระราชวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  (น.ม.ส.)

    ลักษณะคำประพันธ์

    นิทานร้อยแก้ว  มีบทร้อยกรองแทรกบางตอน

    จุดมุ่งหมายในการแต่ง

    ให้ความบันเทิง  และแทรกคติธรรม

    เรื่องย่อก่อนถึงนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐

    ณ เมืองอุชเชนี (อุชชยินี)  มีพระราชาทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่เลื่องลือ  ทรงพระนามว่า  พระวิกรมาทิตย์  ครั้งนั้นมีโยคีตนหนึ่งชื่อศานติศีลผูกอาฆาตพระราชบิดาของพระวิกรมาทิตย์และประสงค์ที่จะเอาชีวิตพระองค์แทน โดยทำอุบายปลอมตนเป็นพ่อค้านำทับทิมล้ำค่าซ่อนไว้ในผลไม้มาถวายพระวิกรมาทิตย์ทุกวัน  พระวิกรมาทิตย์จึงพระราชทานพระอนุญาตให้พ่อค้าทูลขอสิ่งที่ปรารถนาเพื่อเป็นการตอบแทน  ศานติศีลจึงเผยตัวว่าตนเองเป็นโยคีและทูลขอให้พระวิกรมาทิตย์ไปจับเวตาลในป่าช้า  เพื่อนำมาประกอบพิธีอย่างหนึ่ง  และตามสัญญาพระวิกรมาทิตย์จะต้องเสด็จไปกับพระราชโอรสเท่านั้น

           เวตาลนั้นสิงอยู่ในซากศพซึ่งแขวนอยู่ที่ต้นอโศก  พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงปีนขึ้นไปจับตัวเวตาลให้ได้  แต่เวตาลขอสัญญากัพระวิกรมาทิตย์ว่าจะเล่านิทานเป็นปริศนา  หากพระองค์ตรัสตอบเมื่อใด  เวตาลจะกลับไปยังต้นอโศกทันที  เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงสัญญา  เวตาลก็เริ่มเล่านิทานโดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  เมื่อเล่าจบเรื่องก็ถามปัญหา  พระวิกรมาทิตย์เพลิดเพลินกับนิทานจนเผลอตอบปัญหา  เวตาลจึงลอยกลับไปยังต้นอโศก  พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงกลับไปจับตัวเวตาลมาอีก  เป็นอย่างนี้จนกระทั่งถึงนิทานเรื่องสุดท้ายจึงทรงจับเวตาลและประหารชีวิตโยคี

               เรื่องย่อนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐

                เมืองหนึ่งชื่อกรุงธรรมปุระ  พระราชาทรงนามท้าวมหาพล มีมเหสีซึ่งยังเป็นสาวงดงามและมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง  ต่อมาพระราชาทรงทราบว่าทหารไพร่พลของตนเอาใจออกห่างไปเข้ากับข้าศึก  รี้พลของตนย่อยยับไป  จึงพาพระมเหสีและพระราชธิดาเสด็จหนีออกจากเมืองมุ่งไปเมืองเดิมของพระมเหสี  ระหว่างทางท้าวมหาพลถูกโจรฆ่าตาย พระมเหสีและพระราชธิดาพากันหนีไป จนกระทั่งท้าวจันทรเสนและพระราชบุตรที่เสด็จออกมาล่าสัตว์ในป่า  ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าของนางทั้งสองก็เสด็จตามไป  และทรงตกลงกันว่าพระราชบุตรจะรับนางที่รอยเท้าเล็กเป็นมเหสีส่วนนางที่เท้าใหญ่ให้เป็นชายาของท้าวจันทรเสน  เมื่อติดตามไปพบท้าวจันทรเสนทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าใหญ่ ซึ่งก็คือพระราชธิดา  พระราชบุตรทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าเล็ก  ซึ่งก็คือพระมเหสีของท้าวมหาพล

            เวตาลทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ลูกของท้าวจันทรเสนกับลูกของพระราชาบุตรที่เกิดมาจะเป็นญาติกันอย่างไร  แต่ครั้งนี้พระวิกรมาทิตย์ไม่ยอมตรัสตอบพระธรรมธวัชราชบุตรก็ทรงนิ่งเฉย  จึงเป็นอันว่าพระวิกรมาทิตย์สามารถนำตัวเวตาลไปได้

     

     

    ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

    ผู้แต่ง

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

    จุดมุ่งหมายในการแต่ง

                เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา

    ลักษณะคำประพันธ์                                                                      
                ร้อยแก้ว  ประเภทบทความ

    ความเป็นมา
                ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนาซึ่งมีสภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันนัก

    เรื่องย่อ

                เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ- สยามบรมราชกุมารีได้ทรงยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
                ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาเท่าที่ควร  ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ  ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร  ภูมิศักดิ์ และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอบทกวีที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองท่าน มีแนวความคิดที่คล้ายกัน คือมุ่งที่จะกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนาและทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย                                    
    ข้อคิดที่ได้รับ    

    1. ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวนาที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ
                2. ทำให้ได้รู้ถึงความทุกข์ยากความลำบากของชาวนาในการปลูกข้าว
                3. ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าของข้าวที่ได้รับประทานเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์

    สรุป

                พระราชนิพนธ์เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย  ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก  เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ  ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ตลอดทั้งปี  ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค  จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย

    มหาชาติหรือมหาเวสสันดร

              มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การฟังเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นของไทย

              ผู้แต่ง
                สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                กวีสำนักวัดถนน
                กวีวัดสังขจาย
                พระเทพโมลี (กลิ่น)
                เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
              ลักษณะคำประพันธ์
                ความเรียงร้อยแก้ว  ร่ายยาว  กลบท  กลอนพื้นบ้าน
                จุดมุ่งหมายในการแต่ง
                เพื่อใช้ในการสวด  เทศนาสั่งสอน
              เนื้อเรื่อง
             สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์  เพื่อให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม และจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก   หรือเรื่องมหาชาติ  ทั้ง 13 กัณฑ์  ตามลำดับ  ดังนี้
              กัณฑ์ที่ 1 ทศพร  พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี  ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร  พระนางจึงขอประทานพร 10 ประการ ดังนี้
                1.  ขอให้เกิดในกรุงมัททราช  แคว้นสีพี
                2.  ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
                3.  ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
                4.  ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
                5.  ขอให้พระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
                6.  ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
                7.  ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
                8.  ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
                9.  ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
                10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
              ต่อมา เมื่อพระนางได้ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ทรงอภิเษกกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร และได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" 

              กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์  พระจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงคราษฎร์  ได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพื่อให้ฝนตกในบ้านเมืองที่แห้งแล้งกันดาร พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัยไม่พอใจที่พระราชทานช้างคู่บ้านคู่เมืองไป  จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
            กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์  พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน  คือ  การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร 
            กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์  เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต  เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร  กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง  แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ  กษัตริย์เจตราชจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญป่าเป็นผู้รักษาประตูป่าไม้  กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ปลอดภัย  และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบอาศรม  ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของพระอินทร์  กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา
              กัณฑ์ที่ 5 ชูชก  พราหมณ์แก่ชูชกเที่ยวขอทานตามเมืองต่าง ๆ เมื่อได้เงินจึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมียแล้วออกเดินทางขอทานต่อไป  เมื่อเห็นว่าชูชกหายไปนานจึงได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว  เมื่อชูชกเดินทางมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูกชก  นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี  ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน  หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา  ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อมาเป็นทาสรับใช้  เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
              กัณฑ์ที่ 6 จุลพน  พรานเจตบุตรหลงกลชูชกที่ได้อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร  พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี
              กัณฑ์ที่ 7 มหาพน  เมื่อถึงอาศรมได้พบกับอจุตฤๅษี  ชูชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤาษีให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร  พร้อมพรรณนาหมู่สัตว์และพรรณไม้ตามเส้นทางให้ชูชกฟัง
             กัณฑ์ที่ 8 กัณฑ์กุมาร  เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก  พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก  รุ่งเช้าเมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว  ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร  สองกุมารลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ  พระเวสสันดรจึงเสด็จติดตามหาสองกุมารแล้วมอบให้แก่ชูชก
             กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี  พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดินกลับอาศรม  แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ  เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดา พระนางมัทรีจึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์  เมื่อพระนางมัทรีฟื้น พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว  หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน  พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น
              กัณฑ์ที่ 10 สักรบรรพ  พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ  จึงแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรีแล้วฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป 

             กัณฑ์ที่ 11 มหาราช  เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้  ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้  เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี  พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์  เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า  ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์  ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน  ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย  พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร  ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
             กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์  เมื่อหกกษัตริย์ได้ทรงพบกัน ก็เกิดความเศร้าโศกจนหมดสติ
             กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์  พระเวสสันดรทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี  และเสด็จกลับสู่สีพีนคร  ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม  บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ

             

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×