ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

    ลำดับตอนที่ #1 : ตำนานแม่โจ้...การศึกษาเกษตรก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    • อัปเดตล่าสุด 14 ส.ค. 51


    ในปี พ.ศ. 2459 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เข้ารับหน้าที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เริ่ม โครงการศึกษากสิกรรม ผู้ที่ได้รับบัญชาให้ร่างโครงการเสนอก็คือ พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของกระทรวงธรรมการที่ไปศึกษาต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2438 พร้อมกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

    พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ สำเร็จวิชากสิกรรมจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2439 (1896) และได้ผ่านการฝึกงานไร่กับครอบครัวกสิกรคหบดีในอังกฤษเป็นเวลานานก่อนกลับประเทศไทย เคยได้ไปช่วยราชการกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการในปี พ.ศ. 2452 ครั้งหนึ่ง ต่อมาได้กลับไปเป็นอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสังกัดกระทรวงธรรมการ ได้เป็นข้าหลวงเกษตรมณฑลภูเก็ต และเลขานุการกรมทดน้ำ นับว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรทั้งนอกและในประเทศเป็นอย่างดี

    โครงการศึกษากสิกรรมที่พระยาเทพศาสตร์สถิตร่างขึ้นนี้ เสนอให้จัดการศึกษาเกษตรตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาที่จัดทำอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ คือ สอนให้ทำ “ สวนโรงเรียน” เป็นการสาธิตวิชาการเกษตรแผนใหม่ก่อน แล้วจึงขยายให้นักเรียนทำ “ สวนบ้าน” ในภายหลัง เป็นการให้นักเรียนได้ลงมือ ลงทุนทำหารเกษตรตั้งแต่ก่อนการสำเร็จการศึกษา

    ในปี พ.ศ. 2460 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ แบ่งเงินจากการศึกษาสามัญส่วนหนึ่งมาให้พระยาเทพศาสตร์ฯตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวังขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านสวนหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณหอวัง (บริเวณสนามกิฬาแห่งชาติ ด้านสี่แยกเจริญผลในปัจจุบัน) พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ เป็นอาจารย์ ใหญ่ มีครูน้อย 2 คน คือ ครูทองดี เรศานนท์ (หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ) และ ครูผล สินธุระเวชญ์ (หลวงผลสัมฤทธิ์กสิกรรม) ทั้งสองคนสำเร็จ ป.ม. จากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ

    ในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัด นครปฐม ที่ตั้งโรงเรียนเป็นป่าไผ่และดงสะแกอยู่ข้างๆวัดพระประโทน

    ในปี พ.ศ. 2467 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปตั้งที่ตำบลบางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ในปี พ.ศ. 2468 ได้ขยายกิจการตั้งแผนกฝึกหัดครูมูลกสิกรรม และแผนกมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม

    โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมยางสะพานใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาก มีอาจารย์สำเร็จวิชาการเกษตรระดับปริญญาตรี และโท จากอเมริกา อังกฤษ และฟิลิปปินส์ ถึง 6 คน

    พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์)

    หลวงชุณหกสิการ (ชุ้น อ่องระเบียบ)

    หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรีย์ จันทรสถิตย์)

    พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)

    หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์)

    หลวงผลสัมฤทธิ์กสิกรรม (ผล สินธุระเวชญ์)

    นอกจากนี้ยังมีแหล่งวิชาการเกษตรใหญ่ คือ ฟาร์มบางเบิด ของ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร พระบิดาของการเกษตรแผนใหม่อยู่ไม่ไกลนัก

    ในปี พ.ศ. 2469 ต้องย้ายโรงเรียนเป็นครั้งที่ 3 ไปตั้งที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ส่วนที่บางสะพานใหญ่ต้องปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2471

    ต่อมานโยบายการศึกษาเกษตรเปลี่ยนแปลงอีก ขาดผู้สนับสนุนระดับเสนาบดี มีการย้ายอาจารย์เข้ากรุงเทพฯ 4 คน พระยาเทพศาสตร์ฯ อาจารย์ใหญ่ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2472 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของโครงการศึกษากสิกรรม หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอาจารย์ใหญ่สืบแทนจนถึงปี พ.ศ. 2474

    ในปลายปี พ.ศ. 2474 ม.จ.สิทธิพร กฤดากรได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้กลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับมอบหมายให้ไปเริ่มงานที่สถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ และโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรมที่ตำบลควนเนียง จังหวัดสงขลา ส่วนหลวงอิงคศรีกสิการ ทางกระทรวงธรรมการได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่ย้ายจากทับกวางไปอยู่ที่สถานีทดลองกสิกรรมภาคอิสาน ที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนวัด จังหวัดนคราชสีมา ในต้นปี 2475

     

    การศึกษาเกษตรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    ในปี พ.ศ. 2476 การศึกษาเกษตรและการวิจัยยังมีการร่วมมือกันอย่างดีระหว่างกระทรวงธรรมการและกระทรวงเกษตราธิการ มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ย้ายสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ไปรวมอยู่ที่คอหงส์

    กรมตรวจกสิกรรม ได้ขอตัวพระช่วงเกษตรศิลปการ จากกระทรวงกลาโหม ให้ไปบุกเบิกงานสถานีกสิกรรมภาคพายัพที่ตำบลแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

    ในปี พ.ศ. 2477 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งที่สามขึ้นที่แม่โจ้ คู่กับสถานีทดลองกสิกรรม

    การบริหารงานของสถานีทดลองกสิกรรมทั้ง 3 ภาค และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ในระยะนี้ เป็นตัวอย่างอันดีของการร่วมมือระหว่างกระทรวง เพราะหัวหน้าสถานีทดลองและอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแต่ละแห่งคือคนคนเดียวกัน แต่สามารถบริหารงานข้ามสังกัดได้ และมีการใช้บุคลากรร่วมกัน ผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน นี้ ซึ่งต่อมาก็ได้เป็น บุคคลที่มีความสำคัญต่อการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมากคือ

    หลวงอิงคศรีกสิการ สังกัดกระทรวงธรรมการ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด และ หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคอิสาน

    หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สังกัดกระทรวงธรรมการ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมคอหงส์ และ หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้

    พระช่วงเกษตรศิลปการ (Phra Chuang KASHETRA) สังกัดทบวงเกษตราธิการ กระทรวงเศรษฐการ หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ และ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้

    นอกจากนี้ กรมตรวจกสิกรรมยังมอบหมายให้โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม รวม 12 แห่ง เป็น กิ่งสถานีทดลองกสิกรรมของกระทรวงเกษตราธิการด้วย

    เป็นที่น่าเสียดายว่า ความร่วมมืออันดีระหว่างกระทรวงธรรมการและกระทรวงเกษตราธิการนี้อยู่คงได้เพียง 3 ปี เท่านั้น เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เพราะมรสุมทางการเมืองแล้ว นโยบายการศึกษาเกษตรก็ได้เปลี่ยนแปลงไป.....

    *****************

    (เรียบเรียงจาก วิวัฒนาการของการศึกษาเกษตรในประเทศไทย กวี จุติกุล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน้า 43-46 หนังสือ อนุสรณ์แม่โจ้ 50 ปี 2477-2527 ธนิต มะลิสุวรรณ บรรณาธิการ).

    เรียบเรียงออกอากาศ รายการแม่โจ้เมื่อวันวาน

    สงวน จันทร์ทะเล

    ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการศิษย์เก่าสัมพันธ์

    24 กรกฎาคม 2549

    ปรับปรุงล่าสุด 10 มกราคม 2550
    ปรับปรุงครั้งสุดท้าย 26 พฤษภาคม 2551

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×