ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 1531 ชาวอินเอียนแดงผู้หนึ่งชื่อ ยวง ดิเอโก (Juan Diego) ขึ้นไปที่ตำบลเตเปย้าก ที่ประเทศเม็กซิโก เพื่อจะไปวัดที่วานเตียโก ตลาดเตโลโก เป็นวัดของฤษีคณะฟรันซิสกัน เพื่อไปร่วมถวายบูชามิสซาเป็นเกียรติแด่พระมารดา คริสตังใหม่ผู้นี้มีความเชื่อมั่นคง ดำเนินชีวิตอย่างไม่มีที่ติ เขาเป็นพ่อม่าย ตั้งแต่ลูเซียภรรยาของเขาถึงแก่กรรม เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดภาวนา เช้าวันนั้นเขาเดินทางไปถึงภูเขาเตเปย้าก ได้ยินเสียงเพลงไพเราะอ่อนหวาน เขาหยุดมองดูยอดเขาเพื่อจะฟังว่าเสียงนั้นมาจากไหน เขาประหลาดใจที่เห็นก้อนเมฆขาวสว่างทอแสงเป็นสีรุ้งงามตา เขารู้สึกสบายใจเหมือนอยู่ในสวรรค์ เขาพิศวงงงงวยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อรวบรวมสติได้ ก็ได้ยินเสียงอ่อนหวานของสตรีซึ่งมาจากเมฆนั้น เรียกชื่อเขา แล้วเชิญให้เข้าไปใกล้ ยวงไม่เสียเวลาคิดรีบปีนขึ้นบนเขานั้น
พอถึงยอดเขา ก็เห็นสตรีงามมากในแสงสว่างอันรุ่งโรจน์จนแสบตา พระพักตร์ค่อนข้างคล้ำเหมือนชาวพื้นเมือง อาภรณ์ส่องแสงดังจะเปลี่ยนศิลาที่กระทบให้กลายเป็นเพชร สตรีงามพูดภาษาอาสเตกด้วยสำเนียงอ่อนหวานว่า "ลูกรัก จะไปไหน?" ยวงตอบด้วยความเคารพว่า "ผมจะไปเม็กซิโกเพื่อร่วมถวายมิสซา ซึ่งพระสงฆ์ของพระเป็นเจ้าถวายเพื่อเรา" สตรีงามกล่าวว่า "ลูกรัก เราคือ มารีอา พรหมจารี และมารดาพระเจ้า เราปรารถนาให้เขาสร้างวัดในที่นี้ ณ วัดนี้ เรา มารดา ผู้รักชาวอินเดียน จะแสดงความเมตตาอย่างลึกซึ้งสำหรับผู้ที่มาหาเราในวัดนี้ เราจะฟังคำภาวนาและบรรเทาความทุกข์ เพื่อให้สำเร็จตามความปรารถนานี้ เจ้าจงไปเม็กซิโก ไปหาท่านสังฆราชบอกท่านว่า เราเองส่งเจ้าให้ไปหา เพื่อให้ท่านสร้างวัด ณ ที่นี้ จงบอกท่านให้ทราบถึงสิ่งที่เจ้าได้เห็น และได้ยิน อย่าเป็นห่วง เราจะตอบแทนภาระซึ่งเราจะมอบนี้ และเจ้าจะได้มีเกียรติด้วย" ยวงกราบลงกล่าวว่า "ผมจะไปทันที ผมจะกระทำตามที่ท่านบอก ผมจะรับใช้ท่าน" แล้วยวงก็ตรงไปยังสำนักพระสังฆราช
พระสังฆราชผู้นี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเม็กซิโก แต่ยังมิได้รับการอภิเษก ชื่อคุณพ่อยวงแห่งซูมาร์รากา ยวงดิเอโกไปถึงสำนักพระสังฆราช เต็มตื้นไปด้วยความยินดี แต่แล้วเขาก็เริ่มพบอุปสรรค คนรับใช้ของพระสังฆราช เห็นอาหารซอมซ่อของผู้ขอเข้าพบพระสังฆราชแต่เช้าเช่นนี้ ก็พยายามหาเรื่องหน่วงเหนี่ยวไว้มิให้พบ แต่ยวงไม่หมดหวัง เขานั่งรออยู่ที่นั้นจนกว่าเหตุขัดข้องต่างๆ จะหมดไป คนใช้เมื่อเห็นเขานั่งรออยู่เป็นชั่วโมงๆ ทั้งโกรธทั้งแปลกใจ ในที่สุดก็ยอมให้เข้าพบท่านสังฆราช
ยวงดิเอโกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านสังฆราชฟัง ท่านฟังทุกอย่างด้วยความแปลกใจ แต่ด้วยความรอบคอบ ท่านไม่แสดงความรู้สึก ท่านคิดแต่ในใจว่ายวงดิเอโกเป็นผู้ได้รับศีลล้างบาปใหม่ๆ อาจฝันไป หรืออาจเป็นการล่อลวงของปีศาจก็ได้ ท่านบอกกับยวงว่าจะพิจารณาดูก่อน ยวงดิเอโกออกจากสำนักท่านสังฆราชด้วยความน้อยใจคิดว่า "แน่ละ คิดดูซิ ใครจะมาเชื่อชาวอินเดียนจนๆ ไม่มีความรู้อย่างฉัน" สิ่งที่เขาเสียใจก็คือ พระประสงค์ของพระมารดาไม่ได้รับการตอบสนองอย่างสมควร เขากลับมาจากเมือง เศร้าโศกและหมดหวัง
เมื่อถึงภูเขาเตเปย้าก เขาพบพระมารดาประทับอยู่ ณ ที่ซึ่งประจักษ์มาเมื่อเช้านี้ ดูเหมือนว่ากำลังคอยเขา เขากราบลงถึงพื้นด้วยความจงรักภักดี เล่าเรื่องการส่งข่าวที่ไร้ผลของเขาด้วยความเสียใจ พลางพูดว่า "แม่หนูพระราชินีที่รัก สุภาพสตรีผู้สูงศักดิ์ ผมขอให้ท่านส่งผู้มีตระกูลน่านับถือ เพื่อจะได้รับความเชื่อถือ เพราะว่าผมเป็นแต่ชาวนาผู้ยากจน ต่ำต้อย" และด้วยความกลัว เขาเสริมว่า "ยกโทษให้ผมด้วย ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้บางทีจะขาดความเคารพต่อท่าน ผมไม่ประสงค์จะทำให้ท่านเสียพระทัยเลย"
พระนางทรงมองยวงด้วยสายพระเนตรอันเมตตา ตรัสว่า "ไม่มีใครจะรับใช้เราดีกว่าเจ้า จงกลับไปบอกกับพระสังฆราชอีกว่า เป็นมารดาพระเจ้าที่มีพระประสงค์จะให้สร้างพระวิหารของพระ"
รุ่งขึ้นเป็นวันที่ 10 ธันวาคม ยวงดิเอโกไปปรากฏตัวที่สำนักพระสังฆราชอีก เขาไปพบกับคนใช้ที่คอยขัดขวางเช่นเดิม แต่ที่สุดก็ได้พบกับพระสังฆราช การสนทนาครั้งนี้ได้ผลดีขึ้น พระสังฆราชเชื่อในความซื่อสัตย์ของชาวอินเดียนคนนี้ เพราะเหตุว่า เมื่อท่านบอกว่าให้ขอเครื่องหมายจากแม่พระเพื่อแสดงพระประสงค์ของพระนาง เขาดีใจมาก พระสังฆราชไม่ได้กำหนดว่าเป็นเครื่องหมายอะไร เมื่อเขากลับไป ท่านสังฆราชสั่งให้คนใช้ 2 คน สะกดรอยตามเขาไป คนใช้ทั้งสองก็ตามไป แต่เมื่อไปถึงภูเขาเตเปย้าก ชายอินเดียนนั้นก็หายไปจากสายตา เขาไม่ทราบว่าจะไปตามหาได้อย่างไร จึงกลับมาเรียนพระสังฆราชว่า ยวงเป็นคนหลอกลวงพระสังฆราชและศาสนา ที่จริงยวงไม่ทราบว่ามีคนสะกดรอยตามมา เขาเดินอย่างสบาย ขึ้นไปถึงยอดเขาเตเปย้าก ไปหาพระมารดา เล่าถึงการพบปะกับพระสังฆราชเป็นครั้งที่ 2 และพระสังฆราชต้องการเครื่องหมาย
พระนางพรหมจารีแสดงความพอพระทัย ตรัสว่า "รุ่งขึ้นเจ้าจงมาที่นี่ เพื่อจะได้นำเครื่องหมายไปให้พระสังฆราช" ครั้งนี้ยวงดีใจมาก เขากลับไปบ้าน พบยวง แบร์ดีโน ลุงของเขากำลังป่วยเป็นไข้ ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงของตำบลนี้ การรักษาไม่ทำให้อาการดีขึ้น มีแต่ทรุดลง วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่ 11 ธันวาคม ยวงรีบเข้าไปในเมืองเพื่อตามหมอ ความเป็นห่วงลุงทำให้เขาลืมคำสัญญาที่ให้ไว้แก่พระนาง รุ่งขึ้นวันที่ 12 ลุงมีอาการหนัก เขาวิ่งไปที่วัดเพื่อจะไปตามพระสงฆ์ฟรังซิสกันให้มาโปรดศีลเจิมคนไข้ เมื่อเขาขึ้นมาถึงภูเขาที่แม่พระประจักษ์ เขาใจเต้นนึกขึ้นได้ว่า เมื่อวานนี้เขาผิดนัด เขารู้สึกเสียใจและเกรงว่าแม่พระจะตำหนิเขา แต่เวลาเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเชิญพระสงฆ์มาส่งศีลให้แก่ผู้ป่วย เขาตั้งใจจะเดินหลีกไปทางอื่นเพื่อจะได้ไม่พบ
แต่ในถนนที่ยวงตั้งใจจะไปนั้น เขาเห็นแสงสว่างและพบพระนางมารีอา พระนางถามเขาอย่างอ่อนหวานว่า "ลูกรักจะไปไหน" ยวงรู้สึกกลัวเพราะถูกจับได้ว่าหลีกเลี่ยง เขารีบกราบลงบนพื้นด้วยความอาย ทูลว่า "เมื่อคืนนี้สบายดีหรือ? ผมไม่ได้มาที่นี่เพราะลุงผมป่วยหนัก เวลานี้ผมจะรีบไปตามพระสงฆ์ เสร็จธุระนี้แล้วผมจะมาที่นี่ จะมารับเครื่องหมาย เพื่อนำไปให้พระสังฆราช ที่ผมมิได้มาตามที่สัญญาก็เพราะเหตุนี้ พรุ่งนี้ผมจะมาแน่นอน"
พระพักตร์ พระมารดา แสดงว่าทรงสงสารในเหตุขัดข้องของยวง พระนางตรัสว่า "ฟัง ลูกรัก ลูกไม่ต้องเป็นห่วงกังวลด้วยสิ่งใด ไม่ต้องกลัวการป่วยหรือความทุกข์ เรามิได้เป็นแม่ของเจ้าดอกหรือ? เจ้าไม่ได้อยู่ภายใต้ความอารักขาของเราหรือ? เรามิได้เป็นผู้รับผิดชอบเจ้าหรือ? ต้องการอะไรอีกไหม? ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการป่วยของลุง เขาจะไม่ตาย รู้ไว้เถิดว่า เวลานี้เขาสบายดีแล้ว" ยวงฟังคำบอกเล่านี้ด้วยความยินดีและสบายใจ เขาไม่คิดจะไปตามพระสงฆ์ เพราะเขาเชื่อวาจาของพระมารดา เขาตั้งใจจะไปหาพระสังฆราช ดังนั้นพระมารดาสั่งว่า "จงขึ้นไปยังยอดเขา แล้วเก็บดอกกุหลาบทั้งหมด ใส่ในเสื้อคลุมแล้วกลับมาที่นี่ เราจะบอกว่าต้องทำอย่างไร"
ยวงดิเอโกเคารพเชื่อฟังทันทีโดยไม่คัดค้าน แม้ว่าคำสั่งนั้นจะแปลกสำหรับเขา เขาไม่รู้จักดอกไม้และเขารู้ดีกว่ายอดเขามีแต่หิน และเวลานี้เป็นฤดูหนาวด้วย เขาขึ้นไปที่ยอดเขาเตเปย้าก เห็นพุ่มดอกไม้งามมาก เป็นกุหลาบหอม เขาเก็บมามากที่สุดที่จะเก็บได้ แล้วกลับมาหาพระนาง พระนางประทับคอยเขาอยู่ที่ใต้ต้นไม้ พระมารดาหยิบช่อกุหลาบจัดลงในเสื้อคลุมของยวง แล้วบอกว่า "นี่คือเครื่องหมายที่ต้องนำไปให้ท่านสังฆราช เรียนท่านว่า เมื่อได้เห็นดอกกุหลาบนี้แล้วให้ทำตามคำสั่ง และเจ้า ลูกรัก เราไว้ใจเจ้า อย่าให้ใครดูดอกกุหลาบนี้ตามทางที่พบ อย่าเปิดเสื้อคลุมให้ใครดูนอกจากเวลาอยู่ต่อหน้าท่านสังฆราช เล่าให้ท่านทราบถึงสำคัญที่เราส่งมา เพื่อสร้างวัดให้เรา" เมื่อได้ฟังคำสั่ง ยวงดีใจ เขาถือช่อกุหลาบ ซึ่งห่อในเสื้อคลุม รีบไปหาพระสังฆราช
การประจักษ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อไปถึงสำนัก ยวงขอเข้าไปพบ เขาได้รับการปฏิเสธเช่นเดิม แต่ครั้งนี้เขารบเร้าจนพวกคนใช้สงสัย อยากทราบว่าเขาซ่อนอะไรมาในเสื้อคลุม จึงบอกให้เขาเปิดให้ดู แต่ยวงปฏิเสธ พวกนั้นจึงเข้ายื้อแย่ง ยวงเกรงว่า ดอกกุลาบจะช้ำจึงเปิดให้ดู เมื่อคนใช้เห็นกุหลาบงามเช่นนั้น จึงเอื้อมมือมาจับ แต่จับไม่ได้เพราะกลายเป็นภาพวาดติดกับผ้า เขาตกใจรีบวิ่งไปเล่าเรื่องให้ท่านสังฆราชฟัง ท่านสังฆราชสั่งให้เรียกยวงเข้าไปหา ยวงเรียนว่ามีเครื่องหมายที่ขอจากสตรีนั้น แล้วเขาเปิดเสื้อคลุม ดอกกุหลาบบางดอกก็หล่นลงบนพื้น
เรื่องดอกไม้ที่เกิดนอกฤดูกาลและเกิดผิดสถานที่ ก็เป็นสิ่งที่แปลกอยู่แล้ว แต่ที่อัศจรรย์ที่สุดก็คือ ภาพวาดรูปแม่พระที่อยู่บนเสื้อคลุม ทุกคนที่อยู่ที่นั่นต่างรู้สึกยำเกรง คุกเข่าลงต่อหน้าภาพอันงามนั้น ขณะนั้นยวงไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้น เขาคิดถึงแต่ดอกกุหลาบ เมื่อเขาเห็นภาพที่เสื้อคลุม ยวงรู้สึกสะเทือนใจด้วยความยินดีอย่างใหญ่หลวง "นี่คือรูปของสตรีที่ได้ประจักษ์มา" เขารีบถอดเสื้อคลุม ท่านสังฆราชจึงได้นำไปไว้ในวัดของท่านด้วยความศรัทธา เพื่อให้ทุกคนเห็นและสรรเสริญพระมารดา ท่านสังฆราชหลังจากที่ได้ภาวนาพักหนึ่ง แล้วได้เชิญยวงดิเอโกพักอยู่กับท่านในคืนนั้น เพื่อจะได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังอย่างละเอียด
วันรุ่งขึ้นท่านขอร้องให้ยวงพาท่านไปดูสถานที่ที่สตรีนั้นได้ประจักษ์มา ยวงดิเอโกยินดีปฏิบัติตาม เขาพาท่านไปดูสถานที่ที่สตรีประจักษ์ และที่ที่เขาไปเก็บดอกกุหลาบ แล้วเขากล่าวลาอย่างสุภาพเพราะยังเป็นห่วงเรื่องไปเยี่ยมลุง ท่านสังฆราชมีความยินดี และสั่งว่า ถ้าลุงหายจริงๆ ให้ไปหาท่าน เรื่องของลุงก็เป็นพยานถึงการประจักษ์นี้ด้วย ขากลับ ยวงพบลุงชื่อ ยวง แบร์นาดีโน หายเป็นปรกติ ตรงกับเวลาที่แม่พระตรัสกับเขา ในไม่ช้าท่านสังฆราชได้สร้างวัด และมอบให้ยวงเป็นผู้ดูแลวัดนั้น ยวงได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความศรัทธา และละเอียดถี่ถ้วน เขาสิ้นชีวิตเมื่อปี 1584
จากภาพ ยังจะมีภาพใดในโลกที่น่าทึ่งมากกว่าภาพแม่พระกวาดาลูปอีกไหม? อะไรเป็นประจักษ์พยานถึงความน่าทึ่งนี้?
ประจักษ์พยานคือ วิทยาศาสตร์ไงเล่า ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกเพราะวิทยาศาสตร์มักจะไม่ยอมรับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำให้ภาพแม่พระกวาดาลูปพิเศษเหนือภาพอื่น คือ
ประการแรก เส้นใยผ้าที่ใช้ทอเสื้อคลุมนั้น ทำจากเส้นใยของต้นตะบองเพชร ซึ่งปรกติจะผุเปื่อยภายในเวลาไม่เกิน 25 ปี แต่ปรากฏว่าเสื้อคลุมตัวนั้นทอขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1531 คือ เป็นเวลากว่า 4 ศตวรรษมาแล้ว โดยที่ยังไม่ผุพังใดๆ ทั้งๆ ที่ 116 ปีแรก มิได้เก็บรักษาไว้ในตู้แก้ว โดยเหตุที่ภาพแม่พระ ซึ่งปรากฏอยู่บนเสื้อคลุมของยวง ดิเอโกเมื่อ 454 ปี มาแล้ว ยังแลเห็นได้ในปัจจุบัน สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 จึงทรงมีพระดำรัสทางวิทยุวาติกัน สำหรับทวีปอเมริกาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1945 ว่า "พู่กันที่ใช้วาดรูปนี้ มิใช่พู่กันของโลกนี้"
ประการที่ 2 ภาพที่ปรากฏบนเสื้อนั้นเดิมคิดกันเสมอมาว่าเป็นภาพวาดธรรมดา แต่ตั้งแต่มีการค้นพบวิธีถ่ายภาพ ก็พบว่าไม่สามารถถ่ายภาพติด
ประการที่ 3 เป็นการค้นพบเมื่อไม่นานนี้เอง คือพระเนตรของพระแม่นั้น เป็นพระเนตรที่บรรจุภาพที่เล็กมากของห้องที่มีคนอยู่ทั้งสิ้น 3 คน และเมื่อวิเคราะห์ด้วยกล่องจุลทรรศน์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1531 ก็พบว่ามีภาพของคน 2 คน อยู่ในห้องนั้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะไม่มีปรากฏการณ์รับรองอย่างเด่นชัด ด้วยวิทยาการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ดังกล่าวก็ดี ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่ภาพนี้สามารถทำให้ประชาชนชาวเม็กซิกันกลับใจได้ทั้งประเทศ คือ ทั้ง 8 ล้านคน ภายใน 7 ปี
การตรวจพิสูจน์ผ้า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายหลายภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ทีมนักวิจัยสหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพแม่พระที่เสื้อคลุมไว้ พบว่าเป็นภาพที่ไม่มีร่องรอยการวาดรูประบายสี ให้ปรากฏเลย ไม่มีแม้แต่การลงสีซ้ำบนภาพดั้งเดิมเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มิได้มีการกระทำใดๆ ที่จำเป็นเพื่อการรักษาเสื้อคลุมตัวนี้ได้เลย ซึ่งปรกติในกรณีเช่นนี้จะอยู่ในสภาพเดิมได้เพียง 20 ปีเท่านั้น เสื้อคลุมอินเดียนแดงนี้ ทอด้วยเส้นใยหยาบๆ จากต้นตะบองเพชร โดยทอเป็น 2 ชิ้น แล้วนำมาปะกบกัน และเย็บติดกันด้วยด้ายธรรมดา เป็นเสื้อคลุมที่คนจนในสมัยนั้นใช้กันอยู่ทั่วไป การที่เสื้อตัวนี้ยังไม่ขาดหรือผุเปื่อย นับเป็นมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของชาวเม็กซิกัน โดยเฉพาะเรื่องสีที่ยังคงอยู่ ซึ่งปราชญ์หลายท่านยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้
สีที่คงที่โดยไม่อาจหาคำบรรยายได้ ในปี 1789 ดร. บาร์โตลาเช่ จัดให้มีการวาดภาพลงบนเสื้อคลุมอินเดียนแดงในลักษณะเดียวกัน โดยใช้สีที่ทำจากสารที่สกัดจากพืชและสัตว์ในศตวรรษที่ 16 การวาดครั้งนี้ใช้เทคนิคตามตำราโบราณของการใช้สี ผลปรากฏว่าสีต่างๆ ที่ใช้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น สีขาวกลายเป็นสีหม่น, สีแดงกลายเป็นสีกาแฟเข้ม และสีกุหลาบกลายเป็นสีขาวที่สกปรก เป็นต้น การที่ภาพบนเสื้อคลุมมีสีคงที่ทั้งๆ ที่สภาพอากาศไม่เหมาะที่จะช่วยให้สีอยู่คงทนเลย หลังจากที่เวลาผ่านไปหลายร้อยปีนั้น ขณะนี้ยังไม่อาจหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่น่าพอใจได้
ภาพที่ปรากฏเป็นภาพที่อยู่ในเนื้อผ้า ในปี 1975 ดร.เอ็ดวาร์โด สังเกตตามรอยผ้าที่ขาดเพราะความเก่า และพบว่าสีที่ปรากฏนั้น อยู่ในใยเส้นผ้าตั้งแต่แรก มิใช่เป็นการวาดภาพลงบนผืนผ้า แต่เป็นภาพที่ปรากฏอยู่ตลอดความหนาของผืนผ้านั้น
ภาพที่รับการพิทักษ์อย่างน่าอัศจรรย์ เช้าวันที่ 14 พฤศจิกายน 1921 กรรมกรคนหนึ่งชื่อ ลูซีอาโน เปเรส วางดอกไม้ บนพระแท่นประธานของพระวิหารแห่งกวาดาลูป เบื้องหน้าภาพศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่ลูซีอาโนเดินออกไปได้ไม่กี่นาที ก็เกิดระเบิดที่ซุกซ่อนอยู่ในช่อดอกไม้นั้นอย่างรุนแรง จนบันไดที่ทำด้วยหินอ่อนหน้าพระแท่นนั้นพังไปหลายขั้น นอกจากนั้นเชิงเทียน, แจกันต่างๆ และกระจกหน้าต่างตามบ้านเรือน ที่อยู่ใกล้พระวิหารแตกหักหมด แม้แต่พระรูปพระเยซูคริสตเจ้าที่ทำด้วยทองเหลืองก็หัก 2 ท่อน และปัจจุบันก็ยังคงเก็บไว้อยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่ที่น่าแปลกคือ ตู้กระจกทรงกลมที่เก็บภาพแม่พระกลับไม่เสียหายเลย
การศึกษาตรวจสอบด้วยรังสีอินฟราเรดแสดงให้เห็นภาพดั้งเดิมที่แท้จริง เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ กัลลาฮันและศาสตราจารย์สมิธ ได้พิมพ์ผลการตรวจสอบด้วยรังสีอินฟราเรด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1979 ภาพแม่พิมพ์ต่างๆ ที่ถ่ายด้วยรังสีอินฟราเรด แสดงให้เห็นว่ามีการใช้สีต่างๆ ที่รู้จักกัน รวมทั้งมีการใช้ทองคำแท้ด้วย เช่นส่วนที่เป็นรังสีดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ เป็นต้น ส่วนที่เป็นริบบิ้นคาดเข็มขัดที่มีปลายห้อย 2 แฉกก็เช่นกัน เป็นสีที่หมดสภาพแล้ว ภาพพื้นประกอบของภาพ ก็เป็นสิ่งที่วาดต่อเติมขึ้นในระยะหลัง ซึ่งจะเห็นว่าหาความสวยงามเทียบกับความงามบนใบหน้าของพระรูปไม่ได้เลย
จากการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า ภาพส่วนที่เป็นของดั้งเดิมนั้น ทำด้วยสีที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะมิใช่สีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นสีอื่นๆ เป็นสีที่ยังสดใสราวกับว่าเพิ่งจะวาดเสร็จเมื่อไม่กี่วันมานี้ ซึ่งหากทำด้วยสีตามธรรมชาติแล้ว สีดังกล่าวจะเสื่อมคุณภาพตามกาลเวลา โดยเฉพาะในอากาศร้อน สีกุหลาบที่ชุดกระโปรงของพระรูปก็เช่นกัน เป็นสีที่รังสีอินฟราเรดจับไม่ได้ ทั้งๆ ที่มองเห็นได้ในแสงสว่าง การที่สีดังกล่าวจะอยู่คงที่ได้ ปรกติต้องเคลือบด้วยสารเคมีป้องกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการใช้สารเคลือบใดๆ เลย โดยเฉพาะภาพพระพักตร์ของพระนางมารีอา ซึ่งมีสีเทาตั้งแต่อ่อนสุดจนแก่สุด และเป็นสีที่ยังสดใสมาก ราวกับว่าเพิ่งวาดเสร็จเมื่อวานนี้เอง สีดำที่เป็นส่วนของพระเนตรและพระเกศาก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่เช่นกัน พระพักตร์ที่ปรากฏนั้นแสดงอารมณ์ที่เคร่งขรึม ระคนกับความร่าเริง มีลักษณะเป็นชาวอินเดียนแดง และชาวยุโรปพร้อมๆ กัน คือ มีทั้งสีมะกอกและสีขาวในขณะเดียวกัน จึงเป็นภาพที่ผสมกลมกลืนกันอย่างดีของสองเชื้อชาติ โดยมีลักษณะของชาวอินเดียนแดงเป็นลักษณะเด่น
การวิเคราะห์ในครั้งนี้สรุปได้ว่า ภาพที่เป็นของดั้งเดิม คือส่วนที่เป็นชุดกระโปรงสีกุหลาบ, ผ้าคลุมพระพักตร์สีขาว, พระพักตร์และมือทั้งสองข้าง ส่วนอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีการวาดเพิ่มเติมโดยจิตรกรหลายท่าน สำหรับส่วนที่ "ดั้งเดิม" นี้ ดร. กัลลาฮันอธิบายไว้แต่เพียงว่า "ยังไม่มีวิธีใดที่จะอธิบายองค์ประกอบของสีที่ใช้ได้ หรือความคงทนของสี และความสดใสของสี หลังจากที่กาลเวลาได้ล่วงเลยไปหลายศตวรรษแล้ว ซึ่งปรกติสีดังกล่าวจะไม่สามารถคงทนอยู่ได้หากลงสีซ้ำ"
จะเห็นว่าการพยายามอธิบายด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทุกครั้ง ย้ำความเชื่อมั่นของทุกคนให้เห็นชัดว่า อะไรคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และอะไรคือสิ่งที่มนุษย์มิได้เป็นผู้สร้าง ซึ่งยังไม่มีผู้ใดสามารถหาเหตุผลอธิบายได้ ปัจจุบันภาพพระแม่นี้ยังคงดึงดูดนักจาริกแสวงบุญจากทั่วโลก ให้มายังพระวิหารแม่พระกวาดาลูป
การกลับใจอย่างรวดเร็วในเม็กซิโก พระรูปแม่พระแห่งกวาดาลูป ที่น่าอัศจรรย์นี้แสดงถึงการปฏิสนธินิรมลของพระนาง "กวาดาลูป" หมายถึง "ลำธารแห่งแสงสว่าง" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะที่จริงการประจักษ์ของพระแม่ในครั้งนี้ เป็นการนำแสงสว่างของพระแม่มาสู่ประชาชาติเม็กซิโก ความเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ ที่นี้ ขจัดความมืดมัวในการนับถือพระปฏิมา ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมา ชาติเม็กซิกันก็กลายเป็นชาติคริสตัง ก่อนหน้านี้ชาวอินเดียนแดงไม่ยอมรับศีลล้างบาปคราวละนับพันคน ดังนั้น แม่พระจึงเป็นมิสชันนารีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก และพวกเขาก็มีความศรัทธากันอย่างดีเยี่ยม
ในปี 1753 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ทรงประกาศรับรองการประจักษ์ ของแม่พระแห่งกวาดาลูป และทรงแต่งตั้งให้พระนางเป็นองค์อุปถัมภ์ของชาติเม็กซิโก
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงประกาศ ให้พระนางเป็นองค์อุปถัมภ์ของทั้งทวีปลาตินอเมริกา
OUR LADY OF GUADALUPE
ข้อมูลจากเวปไซด์สังฆมณฑลนครราชสีมา
ความคิดเห็น