คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : ระบบย่อยอาหารของสัตว์ [ 1 ]
การย่อยอาหาร (Digestion) คือ กระบวนการที่อาหารถูกเปลี่ยนแปลงในทางเดินอาหารจากสารโมเลกุลใหญ่ให้มีโมเลกุลขนาดเล็กลง เพื่อจะได้ดูดซึมผ่านผนังลำไส้เข้าไปในน้ำเลือดและน้ำเหลืองได้ การเคลื่อนย้ายโภชนะที่มีโมเลกุลขนาดเล็กที่ผ่านการย่อยแล้วเข้าสู่น้ำเลือดและน้ำเหลืองเรียกว่า การดูดซึม (Absorption)
การย่อยอาหารจะมีขบวนการต่าง ๆ 3 วิธี คือ
1. การย่อยทางวิธีกล (mechanical method) ได้แก่การเคี้ยว การบีบรัดกล้ามเนื้อ
2. การย่อยทางเคมี (chemical method) ได้แก่การย่อยของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กโดยน้ำย่อย
3. การย่อยทางจุลินทรีย์ (microbial action) ได้แก่การย่อยที่เกิดที่กระเพาะรวม ลำไส้ใหญ่หรือไส้ติ่งของสัตว์ โดยการกระทำของจุลินทรีย์และโปรโตซัว
ระบบการย่อยอาหารของแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. ระบบท่อทางเดินอาหาร (Alimentary tract)
2. อวัยวะประกอบของระบบย่อยอาหาร (Accessory organs)
ท่อทางเดินอาหาร ประกอบด้วย
ปาก (Mouth)
เริ่มจากส่วนที่ถัดเข้าไปจากริมฝีปากและฟันจนถึงบริเวณที่ติดต่อกับคอหอย
ฟันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี 2 ชุด คือ ฟันแท้และฟันน้ำนม ส่วนบนตอนหน้าของช่องปากเป็นเพดานแข็ง และส่วนท้ายเป็นเพดานอ่อน ด้านข้างของช่องปากเป็นส่วนของแก้ม ด้านล่างเป็นที่อยู่ของลิ้น (Tongue) ลิ้นของสัตว์ทั่วไปจะมีปุ่มรับรส มีหน้าที่ตวัดอาหารและคลุกเคล้าอาหาร
ภายในปากมีต่อมสำหรับผลิตน้ำย่อย Ptyalin หรือ Amylase ออกมาช่วยย่อยอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต และมีต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ซึ่งมีอยู่ 3 คู่ ทำหน้าที่ผลิตน้ำลาย (Saliva) ออกมาช่วยคลุกเคล้าอาหารให้สะดวกต่อการกลืนลงหลอดอาหาร
ไก่ไม่มีริมฝีปาก ไม่มีแก้ม ไม่มีฟัน ไก่จะใช้จงอยปากในการจิกและฉีกอาหารเข้าปาก แล้วใช้ลิ้นช่วยตวัดอาหารลงสู่หลอดอาหาร ภายในปากมีต่อมสำหรับผลิตน้ำย่อย Amylase ออกมาช่วยย่อยอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต แค่มีบทบาทน้อยมาก และมีต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ทำหน้าที่ผลิตน้ำลาย (Saliva) ออกมาช่วยคลุกเคล้าอาหารให้สะดวกต่อการกลืน
สัตว์เคี้ยวเอื้องไม่มีขากรรไกรบนเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ จึงไม่มีฟันบน การกินอาหารจึงอาศัยขากรรไกรและฟันล่างทำงานร่วมกับริมฝีปากและลิ้นเพื่อตวัดอาหารเข้าปาก การเคลื่อนไหวของปากและการเคี้ยวของสัตว์เคี้ยวเอื้องแต่ละชนิดแตกต่างกันขึ้นกับลักษณะอาหารที่กิน ในปากมีต่อมน้ำลายซึ่งจะผลิตน้ำลายออกมาได้เป็นจำนวนมาก ในน้ำลายจะเป็นแหล่งไนโตรเจนด้วยคือยูเรียและมิวโคโปรตีน นอกจากนี้มี P และ Na ซึ่งจุลินทรีย์จะนำไปใช้ได้ นอกจากนี้น้ำลายจะทำหน้าที่เป็น Buffer รักษาระดับ pH ในรูเมนและกระเพาะอื่น ๆ ต่อไป
หลอดคอ (Pharynx) ปลายบนกว้าง ข้างล่างแคบ ผนังของคอหอยเป็นกล้ามเนื้อลาย มีเยื่อเมือกหุ้มไว้ ที่คอหอยมีต่อมน้ำเหลือง เรียกว่าต่อมทอนซิล (Tonsil) มีกลไกจัดระเบียบอาหารให้ผ่านหลอดอาหารและอากาศผ่านสู่กล่องเสียง
หลอดอาหาร (Esophagus) เป็นกล้ามเนื้อลายลักษณะเป็นท่อเริ่มต้นจากคอหอย (Pharynx) ด้านบนเป็นกล้ามเนื้อหูรูด หลอดอาหารนี้จะยืดขยายตัวได้มาก ผ่านทะลุกระบังลม (Diaphrage) จนถึงกระเพาะจริง (Stomach , Proventriculus) สำหรับไก่จะขยายออกกลายเป็น กระเพาะพัก (Crop) ทำหน้าที่เป็นที่พักอาหารชั่วคราวเพื่อให้อาหารอ่อนตัวลงด้วยน้ำลายที่คลุกเคล้ามาจากปาก
กระเพาะอาหาร (Stomach)
กระเพาะอาหารสุกรแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ได้ 4 ส่วน (ศึกษาเพิ่มเติม) นอกจากย่อยอาหารแล้วยังต้องเก็บอาหารด้วย ผนังด้านในของกระเพาะจะเป็นรอยพับเพื่อเพิ่มพื้นที่และเต็มไปด้วยเซลล์ที่ขับน้ำย่อย น้ำย่อยประกอบด้วยเกลืออนินทรีย์ เมือก และกรดเกลือ (HCL) น้ำย่อยที่สำคัญในกระเพาะคือ pepsinogen ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น pepsin ในภายหลัง ทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในอาหารและโปรตีนในนมเช่นเดียวกับ rennin
ในสัตว์ปีกเริ่มจาก กระเพาะพัก (Crop) เป็นส่วนปลายของหลอดอาหารใกล้กับกระเพาะจริงซึ่งขยายตัวออกเป็นรูปกระเปาะ ทำหน้าที่เป็นที่พักอาหารชั่วคราวเพื่อให้อาหารอ่อนตัวลงด้วยน้ำลายที่คลุกเคล้ามาจากปาก
กระเพาะจริง (Proventriculus) มีตำแหน่งอยู่ระหว่างปลายสุดของหลอดอาหารกับกระเพาะบด (Gizzard) ผนังหนามาก ภายในมีต่อมสำหรับผลิตน้ำย่อย Pepsin ซึ่งจะย่อยอาหารพวกโปรตีน นอกจากนี้ยังมีการผลิตกรดไฮโดรคลอริค (Hydrochloric acid) ซึ่งช่วยให้การย่อยอาหารพวกโปรตีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กระเพาะบด (Gizzard) อยู่ถัดจากกระเพาะจริง ปลายข้างหนึ่งเปิดติดต่อกับลำไส้เล็ก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยให้มีกำลังบดย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลงทำให้สะดวกต่อการย่อยของน้ำย่อยในอวัยวะส่วนต่อไป
กระเพาะ (Compound stomach) สัตว์เคี้ยวเอื้องมี 4 กระเพาะ ได้แก่ กระเพาะผ้าขี้ริ้ว (Rumen) รังผึ้ง (Reticulum) สามสิบกลีบ (Omasum) และกระเพาะแท้ (Abomasum) 3 กระเพาะแรกไม่มีน้ำย่อย ยกเว้นกระเพาะที่ 4 ที่ทำหน้าที่เหมือนกระเพาะแท้
กระเพาะรูเมนและเรติคิวลัมไม่ได้แยกจากกันอย่างสมบูรณ์เพียงแต่ทำงานต่างกันเท่านั้น โดยที่เรติคิวลัมจะมีหน้าที่เคลื่อนอาหารที่มีขนาดใหญ่ให้กลับไปยังรูเมน และส่งอาหารขนาดเล็กไปยังโอมาซัม และไม่ให้สิ่งแปลกปลอมผ่านต่อไป ส่วนรูเมนจะทำหน้าที่หมักอาหารโดยจุลินทรีย์และส่งอาหารบางส่วนกลับออกไปเคี้ยวเอื้อง กระเพาะสามสิบกลีบทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและโภชนะบางตัวออกจากอาหารทำให้อาหารเล็กและข้นพอที่จะส่งไปยังกระเพาะที่สี่หรือกระเพาะแท้ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกระเพาะแท้ของสัตว์อื่น ๆ เอนไซม์ของร่างกายสัตว์ที่ขับเข้าสู่ยริเวณนี้นอกจากย่อยอาหารแล้วยังทำหน้าที่ย่อยจุลินทรีย์ที่ตายด้วย ทำให้สัตว์ได้รับกรดอะมิโนตลอดจนไวตามินต่างๆ จากซากเซลล์จุลินทรีย์
ในลูกวัวที่ยังกินนมเป็นอาหารหลัก สามกระเพาะแรกจะยังไม่ทำงาน อาหารจะไหลตรงไปยังกระเพาะที่สี่เพื่อย่อยและดูดซึม และส่งต่อไปยังลำไส้เล็กต่อไป น้ำย่อยในกระเพาะในช่วงนี้เป็นน้ำย่อยจากตัวสัตว์เอง เมื่อลูกโคเริ่มกินอาหารแข็ง กระเพาะทั้งสามจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นและเริ่มทำงาน ยิ่งทำให้ลูกวัวกินอาหารแข็งเร็วเท่าใดลูกวัวจะได้ลดการกินนมเร็วเท่านั้น จุลินทรีย์สำหรับตัวลูกวัวมีอยู่ในธรรมชาติจากอาหารที่กินและจากการเลียตัวแม่
ความคิดเห็น