ลำดับตอนที่ #1
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : บุกช่วยหญิงจากประเทศลาวจากโรงงานถุงมือนรก
บุกช่วยเด็กและหญิงจากประเทศลาวจากโรงงานถุงมือนรก มูลนิธิผู้หญิงได้ประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสัมภาษณ์เด็กลาวที่หลบหนีออกมาจากโรงงานผลิตถุงมือย่านบางมด ซึ่งได้แจ้งว่าที่โรงงานดังกล่าวยังมีเพื่อนถูกขังและใช้แรงงานอยู่อีกกว่าสิบคน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ทางมูลนิธิผู้หญิงจึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากบ้านเกร็ดตระการ และขอกำลังจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปดส) นำหมายศาลบุกค้นโรงงานที่ซอยพุทธบูชา แขวงบางมด และสามารถช่วยเหลือหญิงและเด็กจากประเทศลาวอีก 17 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 12 21 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิง อายุ 14-15 ปี ที่อายุน้อยสุด 12 ปี มีหนึ่งคน และมีผู้ชายหนึ่งคน อายุ 23 ปี "หนูอยากกลับบ้าน" ...... คือคำพูดอันแผ่วเบาของส้ม (นามสมมุติ) เด็กหญิงชาวลาว อายุ 15 ปี ที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยจากสภาพถูกใช้งานเยี่ยงทาสในโรงงานแห่งนั้น ก่อนหน้านี้เพื่อนของส้มได้หลบหนีออกมาจากโรงงานแห่งนี้หลายคนแล้ว ล่าสุดหนึ่งในสามคนที่หลบหนีออกมาในขณะที่นายจ้างเปิดประตูทิ้งไว้ เป็นผู้ให้ข้อมูลกับทางมูลนิธิผู้หญิง สภาพโรงงานแออัดไปด้วยเครื่องจักรและถุงมือกองสูงท่วมหัว อยู่เต็มห้องจนแทบจะไม่มีที่เดิน แต่นั้นยังไม่อนาถใจเท่ากับสภาพของเด็ก ๆ ที่มีใบหน้าอิดโรยบ่งบอกถึงความอ่อนล้า เนื้อตัวมอมแมม เพราะต้องลุกขึ้นมาทำงานตั้งแต่ตีห้าจนถึงสี่ทุ่ม นายจ้างกำหนดในแต่ละวันคนหนึ่งจะต้องทำถุงมือให้ได้ 200 โหล ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกหักเงินรายสัปดาห์ "มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงกะ 8 โมงถึงเที่ยง ซึ่งนายจ้างให้ทำถุงมือให้ได้ 55 โหล แต่ทำได้เพียง 40 โหล ขาดไป 15 โหล เลยถูกนายจ้างเอาไม้ไผ่ตีที่หลังและขา 15 ที บางทีนั่งหลับในก็ถูกด้ามไขควงเคาะหัว" ส้มและเพื่อนๆ ทำงานแต่ละวันมากกว่า 8 ชั่วโมงเป็นเวลานานกว่า 3 ปี ทำงานสองอาทิตย์จึงจะได้พักผ่อนหนึ่งวัน นายจ้างให้ค่าตอบแทนเพียงอาทิตย์ละ 300 บาท ไม่มีโอกาสออกไปข้างนอก อยากกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ผ่านไปปีแล้วปีเล่าพ่อแม่รอการกลับมาของลูก นายจ้างบอกเพียงว่า เอเยนต์ยังไม่มารับจึงกลับไม่ได้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานายจ้างทั้งหมด ร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวซึ่งรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังซึ่งเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ร่วมกันเป็นนายจ้างใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง และทำร้ายร่างกาย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก่อนจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป เจ้าหน้าที่มูลนิธิผู้หญิงได้ชี้แจงให้ส้มและเพื่อนๆได้เข้าใจถึงสถานภาพของตนว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ในฐานะของผู้เสียหายที่ถูกละเมิดจากการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส หลังจากนั้นส้มและเพื่อน ๆ ได้รับการคุ้มครองพักพิงที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ โดยทางมูลนิธิผู้หญิงและบ้านเกร็ดตระการจะช่วยประสานเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิ ให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกบังคับใช้แรงงานก่อนส่งกลับประเทศต่อไป (ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมจาก จิราพร เอื้อเฟื้อ ผู้ประสานงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์) |
|
|
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น