napicha
ดู Blog ทั้งหมด

รีวิว ข้ามฝั่งฝัน โดย ปางบุญ

เขียนโดย napicha



 

        แรงปรารถนา อวิชชา ราคะ ดึงจิตผูกพันข้ามภพชาติไม่จบสิ้น

 
 ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงสนใจอยากอ่านเล่มนี้ทั้งที่มันก็พิมพ์มาหลายปีแล้วและดูเหมือนจะหมดสต้อคกับ สนพ ไปแล้ว อาจด้วยเพราะเป็นนิยายเกี่ยวกับธรรมะ ป่าเขาลำเนาไพร ภพชาติ เราจึงสนใจจะหาอ่าน อีกทั้งหน้าปกนั้นดูสวยแบบลึกลับดี (ซึ่งก็เป็นผลงานของ วิธีทำ ทีมออกแบบปกที่ขึ้นชื่อ) ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญที่การเข้าไปเดินเล่นที่จตุจักรครั้งล่าสุดทำให้เราไปสะดุดตากับเล่มนี้ที่ร้านหนังสือมือสอง จึงไม่ลังเลจะหยิบติดมือกลับมา

            และด้านล่างนี้เป็นเรื่องย่อที่เราสรุปเอง (spoil ครั้งใหญ่ กรุณาข้ามไปหากไม่ต้องการเสียอรรถรส)
 

            เรื่องเปิดด้วยความฝันเกี่ยวกับดอกรังของ “ปราณ” หนุ่มวัยยี่สิบสี่ปี บุตรชายแพทย์หญิงผู้มีฐานะในกรุงเทพ เขาฝันเห็นป่าแห่งหนึ่งและสุดท้ายมีงูตัวหนึ่งมุ่งทำร้ายเขา ฉับพลันเมื่อตื่นขึ้นปรากฏว่าในมือเขามีดอกไม้ชนิดหนึ่งติดมาจากความฝันด้วย เขาวิ่งไปพบนักวิชาการด้านป่าไม้ “สิระสา” ซึ่งอธิบายเขาได้ว่าเป็นดอกรัง พบได้ทั่วไปตามป่านี่เอง เมื่อเล่าให้แพทย์หญิง วสุลี มารดาของเขา เธอก็หวนนึกถึงสมัยอดีตที่เป็นนักศึกษาหลบหนีเข้าป่า (ช่วงคอมมิวนิสต์) และที่นั่นเองที่เธอกับ ปริตร เคยอยู่ในป่าด้วยกันจนเธอตั้งท้องปราณ ซึ่งเธอไม่เคยเล่าให้ลูกฟังว่าพ่อของเขาคือใครเพราะปริตรเสียชีวิตในป่าไปแล้ว

          ปรานตามสิระสาไปที่ป่าแห่งหนึ่งในภาคอิสาน ได้พบกับ “ปันนา” ลูกสาวแม่เลี้ยง “อันยา” ซึ่งมีบ้านในป่าแถบนั้น ตอนที่ปันนาพาเขาไปพบมารดาตนเองนั้น “อันยา” รู้สึกผูกพันแปลกๆ กับชายหนุ่มคนนี้ เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นเธอเป็นคนท้องถิ่นนี้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวในป่า เธอได้พบกับปริตรซึ่งตกจากเครื่องบินเล็ก เมื่อชายหนุ่มกับหญิงสาวพบกันกลางป่า (แถมท่าทางจะเคยผูกพันทางกายกันมาเมื่อชาติก่อน) จึงเกิดสปาร์คกันอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้บาดตา “ฝ่าสาง” พ่อม่ายลูกติดชาวป่าที่หลงรักอันยามาตลอด

แต่สุดท้ายในครั้งนั้น ปริตร ก็เสียชีวิตเนื่องจากถูกงูจงอางสีขาวกัด อันยาพยายามช่วยเหลือในขณะที่ ฝ่าสาง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้งูกัดก็ไม่ยื่นมือมาช่วย ปริตรจึงเสียชีวิตในอ้อมอกอันยา และทันทีที่จิตดับ เขาก็ไปสนธิในครรภ์ของวสุลี (นั่นคือ พ่อมาเกิดเป็นลูกของตัวเอง) และในขณะเดียวกันอันยาก็ตั้งท้องลูกกับเขาเช่นกัน เธอให้กำเนิดลูกสาวคือปันนา

          ในระหว่างที่ปราณพยายามสืบหาอดีต เขาก็สร้างความหวั่นไหวให้สิระสาบ้าง ปันนาบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ คนที่เขารู้สึกผูกพันที่สุดกลับเป็น “อันยา” หญิงวัยแม่ที่เคยผูกพันกันในชาติก่อน อันยาเองแม้เป็นหญิงวัยกลางคนที่หันหน้าเข้าหาธรรมะมานานแล้ว แต่เมื่อได้พบปราณอีกครั้งแรงราคะที่เคยมีต่อกันก็กลับคืนมา แม้ทั้งคู่จะไปที่ถ้ำเพื่อค้นหาอดีต พบครูบาผู้หยั่งรู้เพื่อฝึกจิต แต่...เมื่อได้พบกันในสถานที่ซึ่งเคยร่วมเสพสมกันมาก็กลายเป็นความพลั้งเผลอจนได้

          ทั้งนี้ ช่วงกลางเรื่องมีตัวละครสำคัญคือ ครูบาซึ่งเป็นภิกษุประจำในป่าแถบนั้น ท่านระลึกชาติได้ว่าตัวท่านเองก็เคยเป็นคู่ร่วมสังวาสกับอันยาเมื่อหลายภพหลายชาติก่อน และทราบว่าที่อันยาเจอแต่เรื่องทุกข์ในความรักชาตินี้เพราะกรรมได้ผูกนางไว้กับหลายดวงจิต ครั้งนี้การจองเวรอยู่ในรูปแบบของงู งูจึงได้ฆ่าปริตรเมื่อครั้งก่อน เพราะมันจ้องรอเวลานี้อยู่แล้ว และงูตนนั้นที่อันยาได้ฆ่ามันกับมือก็ได้มาเกิดเป็นลูกสาวของนางคือปันนา ซึ่งกรรมก็ดันมาลิขิตให้ลูกกับแม่ต้องหลงรักผู้ชายคนเดียวกัน

          ที่พระสงฆ์รูปนี้มาจำพรรษาแถบนี้ก็เพราะกรรมผูกพัน การได้พบอันยาซึ่งเคยเป็นคู่สังวาสกันมาหลายชาติทำให้ท่านเคยหวั่นไหวบ้าง แต่ก็ใช้ความเด็ดขาดต่อสู้จนหลุดพ้นจากห้วงราคะนี้ได้ในที่สุด เมื่อหลุดพ้นแล้วท่านก็ปักหลักอยู่ที่วัดและก็ได้คอยช่วยเหลือตัวละครอื่นซึ่งยังไม่พ้นห้วงแห่งนี้เท่าที่จะช่วยได้เท่านั้น เพราะท่านพิจารณาแล้วกรรมของอันยามากเกินจะช่วยได้ทั้งหมด (อันนี้สะท้อนแนวหินยานที่การหลุดพ้นเป็นเรื่องของคนๆ เดียว ต่างจากมหายานที่จะต้องพากันไปเยอะๆ จึงว่ากันว่ามหายานนั้นใจกว้างและเข้าใจง่ายกว่าหินยาน แต่ในทางปฏิบัติแล้วหินยานจะมุ่งตรงกว่าและเป็นการไปเดี่ยวๆ มากกว่าจะไปรวมหมู่)

          เรื่องจะขมวดปมอย่างไรขี้เกียจใส่รายละเอียด แต่เอาเป็นว่าช่วงท้ายปราณเริ่มเข้าฌานและเริ่มเห็นหรือได้ยินอดีตบ้าง (แต่พักหลังเขาดูเพ้อมากกว่าอะไร) แต่ถึงอย่างนั้นปราณและอันยาก็ยังตัดสายสวาทกันไม่ขาด (ยังคงเสพสังวาสกันที่ถ้ำซึ่งเป็นที่ฝังศพปริตร) เมื่อปราณได้พบกับร่างของตนเองในชาติก่อนที่ถูกฝังกลางป่าเขาก็เข้าใจแล้วว่าทำไมเขาฝันเห็นภาพป่าดอกรัง เพราะมันเป็นที่สุดท้ายที่เขาเคยทอดกายลงนอน

          แต่สุดท้ายปราณก็ถูกยิงตายจากน้ำมือของลูกชายฝ่าสาง เขาตายในอ้อมอกของอันยาอีกครั้ง และวาระจิตสุดท้ายที่เขาเฝ้าอยู่แต่กับอันยา...ได้สร้างภพชาติใหม่ให้เขาเรียบร้อย นั่นคือบุตรชายที่ปราณกับอันยามีด้วยกันชื่อ ปุญญา พวกเขาวนเวียน...พบเจอ...จองเวร...พันผูก...ในวัฏจักรแห่งนี้ไม่จบสิ้น
 

            ความจริงเรื่องราวมีรายละเอียดเยอะกว่านี้มาก (ยังงงว่าคนเขียนบีบอัดเรื่องให้ความยาวเท่านี้ได้อย่างไร เก่งจัง) และเนื่องจากเป็นนิยายธรรมะ จึงไม่ใช่นิยายที่ว่าด้วยความรักหนุ่มสาวที่มีพระเอกนางเอกเป็นสรณะ (และเท่าที่อ่านก็จะไม่มีใครที่เรียกได้ว่าพระเอกนางเอกเลย ยกเว้น “พระสงฆ์” รูปนึงที่น่าจะเป็นตัวเอกของเรื่อง) ดังนั้นเรื่องที่เปิดด้วยการพบกันของ “สิระสา” กับ “ปราณ” ก็กลายเป็นว่าเมื่อเรื่องเดินไป สิระสาก็ถูกปล่อยให้เป็นเพียงตัวประกอบ ซึ่งแม้แต่ปราณเองก็เป็นตัวประกอบในความคิดเราเพราะเขาเป็นตัวละครที่ล่องลอยตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แม้เขาจะเข้าฌานและเริ่มรับรู้อะไรแปลกๆ ได้ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากราคะและวนเวียนต่อไป

            ไม่มีข้อติเรื่องภาษาและการเล่าเพราะดูเหมือนคนเขียนจะมืออาชีพเอาการอยู่แล้ว การเล่าตัดบทไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน การตัดฉากอาจเป็นการเล่าย้อนอดีตในช่วงเวลาไหนก็ได้ (ต้องตั้งสมาธิดีๆ) ตัวละครหลากหลายมีส่วนในการเล่าเรื่องเกือบจะเท่าๆ กัน setting ของเรื่องเป็นป่าแทบจะทั้งเรื่อง ทำให้คุมโทนเรื่องที่ออกแนวลึกลับได้ดี แม้จะว่าด้วยยุคนักศึกษาหนีเข้าป่าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์แต่ก็ไม่เน้นการเมืองเพราะเรื่องนี้เน้นธรรมะมากกว่า ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้สับสนอลหม่านก็คือ ราคะ ที่ผูกจิตแต่ละดวงให้ร้อยเรียงเกี่ยวกันเป็นภพชาติ ซึ่งตลอดเวลาที่อ่านจะรู้สึกได้เลยว่าคนเขียนมุ่งตรงเรื่องนี้อย่างตั้งใจ

ส่วนตัวคิดว่าเล่มนี้ต่างไปจากนิยายแนวย้อนภพชาติทั่วไปที่แค่ย้อนไปชาติสองชาติแล้วก็ตัวละครเดิมๆ มาเจอกัน อโหสิต่อกัน แต่เล่มนี้ลงลึกไปถึง “เหตุ” ที่ทำให้ตัวละครเฝ้าวนก่อกรรมต่อกันเรื่อย มีคำอธิบายด้านจิตวิญญาณอย่างละเอียด (แม้จะมีบางรายละเอียดที่เรายังสงสัยว่าปริตรหรือปราณนั้นเกี่ยวข้องกับอันยาในชาติก่อนๆ อย่างไร แต่ก็คิดว่าคงเคยเป็นคู่เสพสมกันมา ทั้งเขาและอันยาจึงมีจิตปฏิพัทธ์กันรุนแรง) โดยเฉพาะบทบาทของครูบาที่เพิ่งมาปรากฏช่วงกลางเล่ม แต่พอท่านออกฉากแล้วดูเหมือนคนเขียนจะอุทิศเนื้อที่ให้ท่านได้อธิบายเรื่องราวให้กระจ่าง (เพราะมีญาณหยั่งรู้อดีต จึงรู้ได้ว่าใครเคยเกี่ยวข้องกันอย่างไรมาบ้าง)

            อันยาน่าจะเคยเป็นผู้หญิง (หรือสัตว์ใดๆ ก็ตามที่เป็นเพศเมีย) มาหลายชาติและได้ผูกกรรมร่วมสังวาสมากับหลายฝ่าย ตัวละครบางตัวจึงผูกกรรมกับเธอมาในลักษณะต่างๆ กัน ส่วนตัวละครอื่นก็มีบางตัวค่อยๆ เข้าใจในธรรมะ (อย่างวสุลี แม่ของปราณซึ่งหันมาปฏิบัติในช่วงท้ายและทำใจได้กับการตายของปราณ) หรือไม่ก็เป็นไปในแบบของตนเช่นสิระสาที่ถอดใจเกี่ยวกับปราณ ปันนาที่ฟูมฟายตอนเริ่มจับได้ว่าปราณรักแม่ตนเอง

ฝ่ายอันยาเองหลังผ่านพบความรักความใคร่และเจ็บปวดมาหลายครั้ง ทำให้สุดท้ายเธอยังเริ่มรู้สึกว่า... เมื่อไหร่หนอ...นางจะพ้นจากบ่วงของกามและกรรม (นั่นสิ ปริตรคนรักแรกมาเจอกันอีกทีด้วยวัยคราวลูก และสุดท้ายเธอยังมีลูกชายกับเขาซึ่งก็น่าจะเป็นเขากลับชาติมาเกิดอีก โห...ไม่จบสิ้น)
 

            เรียกได้ว่านิยายเรื่องนี้กะเทาะเปลือกของ “กามราคะ” ไว้ชัดเจนที่สุดว่ามันทำให้ทุกสิ่งในวัฏฏะนี้ต้องวนเวียนว่าย แม้อันยาจะหันหน้าปฏิบัติธรรมและปราณเองก็เข้าฌานเป็น แต่เมื่อความต้องการบังตาทั้งสองก็ร่วมเสพสมและผูกพันกันจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกรอบ ตัวละครเดียวที่หลุดพ้นห้วงดังกล่าวคือครูบาที่คอยดูเรื่องราวต่างๆ อยู่เงียบๆ แม้ท่านจะยื่นมือช่วยอย่างที่สุด แต่ก็ทำไม่ได้เหนือกรรมแต่ละคน
 

            กามราคะ ทำให้จิตหมุนวนเวียนว่ายไม่จบสิ้น แต่หากตรองดูดีๆ แล้วไม่ว่าจะมหาบุรุษหรือทุรชนในโลกนี้นั้นต่างก็เกิดมาจากการปฏิสนธิทั้งสิ้น (ไม่นับโอปปาติกะ นั่นผุดมาเกิด) ดังนั้นราคะนั้นเป็นได้ทั้งอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่สุดในการยุติภพชาติ แต่ในขณะเดียวกันหากปราศจากมัน วัฏฏะนี้ก็จะไม่หมุนวนให้เราเห็นความไม่จีรัง กามราคะมีหน้าที่ “ดึง” ให้ทุกดวงจิตต้องวนเวียนกลับมา และแน่นอนว่ามันต้องมี “หน้าที่” สร้างความเย้ายวนอย่างที่สุดอย่างที่จะไม่มีสัตว์โลกชนิดใดต้านทานได้เลย นรชนทั่วไปที่ยังไม่อาจต้านทานมันได้ การเกิดดับและผูกกรรมจะยังคงหมุนวนต่อไปตราบนั้น

            ยกเว้นผู้คิดจะ “ข้ามฝั่ง” ให้พ้นจากวัฏฏะนี้เท่านั้นที่จะต้องต่อสู้กับมันอย่างกล้าหาญและยุติทุกอย่างลงเพียงเท่านั้น 

 

ความคิดเห็น

Smiley
Smiley 30 พ.ค. 59 / 17:41
I’ve tried to get through Brazil 7 times now, and I’ve never made it more than an hour in. I do#n7821&;t know why, I like what I’m watching and I love Terry Gilliam, but something about it just puts me to sleep every time.