napicha
ดู Blog ทั้งหมด

ว่าด้วย โลกที่ปราศจากศูนย์ โดย วนวัสส

เขียนโดย napicha


หนังสือแห่ง 'ทฤษฎีสรรพสิ่ง'


 

เมื่อเราเสิร์ชเจอนิยายรูปแบบอีบุ้คที่ดาวน์โหลดได้ฟรี นับเป็นครั้งแรกที่ลองอ่านในรูปแบบอีบุ้คจริงจัง ตอนแรกที่ได้ยินว่าเป็นนิยายแนววิทยาศาสตร์กึ่งธรรมะ ก็นึกอยากอ่านดูสักตั้ง เพราะแม้เราจะเป็นคนหัวมาทางสายศิลป์ รอยหยักในสมองไม่เป็นมิตรกับคณิตศาสตร์ (อะไรที่เป็นตัวเลขนี่อย่ามายุ่งกะชั้น) แต่วิชาจำพวกวิทยาศาสตร์เราก็ยังชอบอยู่นะเพราะมันว่าด้วยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ก็เลยตัดสินใจลองอ่าน เพราะหลายปากว่ากันว่า / มันแปลกมาก!/ มันยอดมาก! /คิดได้ยังไงเนี่ย!/ (แต่ก็มีบางกระแสว่า) ไม่เห็นจะรู้เรื่อง / คุณค่าวรรณศิลป์อ่อนด้อย / bla bla bla

 บ๊ะ! สิบปากว่า ไม่เท่าเบิกตาอ่านเอง อย่างนี้ต้องลอง!

เปิดเรื่องได้เก๋ บทสนทนาระหว่างแฟนสาวกับแฟนหนุ่มน่ารักน่าหยิก ช่วงแรกเดินเรื่องได้น่าติดตามเพราะยังไม่มีการใส่ทฤษฎีอะไรจัดจ้านนัก เป็นความเข้าใจโลกในระดับที่คนทั่วไปเข้าใจได้ แต่พอแฟนสาวค่อยๆ เล่าเรื่องมิติคู่ขนานให้กับแฟนหนุ่ม ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคอยตั้งคำถามกับเธอเกี่ยวกับทฤษฎีสรรพสิ่งต่างๆ

จิตนลิน แฟนสาวของพัสส คบกันหนุงหนิงมาสี่ปี  จู่ๆ ก็เดินเข้ามาบอกเขาว่าเธอไม่ได้เป็นคนบนโลกใบนี้ แต่เธอมาจากโลกคู่ขนานที่มีมิติทุกอย่างเหมือนโลกใบนี้ แต่สิ่งที่ต่างคือเป็นโลกที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟู คำพูดคำจาที่ผ่านมาของจิตนลินก็ทำให้พัสสเริ่มเชื่อเหมือนกันว่าเธอต้องมีภูมิความรู้บางอย่างที่เหนือไปกว่าคนในโลกนี้ บัดดลเรื่องก็เริ่มเข้าสู่โหมดวิทยาศาสตร์กึ่งศาสนามากขึ้น และเมื่อมีการเอ่ยถึงพี่ชายจิตนลิน คือ ปรนิมม์ ผู้เป็นต้นคิดแนวทางแหวกแนวให้จิตนลินมาเล่าให้เขาฟัง ทุกอย่างก็เข้าสู่บทสนทนาที่ว่าด้วยการอธิบาย "ความจริง” ที่ว่าด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งในแบบทฤษฎีและสาธกโวหารแบบง่ายๆ (แต่ก็ใส่มาแบบไม่ยั้ง) ดีที่ยังใช้ภาษาเรียบง่ายและเข้าใจเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิด (ไม่งั้นมันคงเป็นหนังสือวิชาการเนอะ)

แต่..ขอบอกว่ามันก็ไม่ง่ายอยู่ดี โดยเฉพาะคนไม่เคยเรียนฟิสิกส์-เคมี-ชีวะ-เช่นเรา ถึงในการอ่านช่วงแรกจะพบว่าเป็นนิยายแปลกแหวกแนวได้ใจ ซึ่งคนเขียนแจงเอาไว้ว่าได้นำเอาทฤษฎีสรรพสิ่งมาแปรรูปเป็นบทสนทนาตัวละคร เพื่อคลี่คลายประเด็นยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้อ่าน ช่วงต้นของเรื่องที่จิตนลินพยายามจะบอกว่า ศูนย์ไม่มีจริง แต่เป็นสิ่งที่เชื่อกันมานานว่ามีจริง ตอนนั้นเรื่องยังนับว่าน่าสนใจเพราะคำอธิบายมันพอเข้าใจได้

 

แต่ๆๆ.. อ่านเรื่องนี้ไปได้สักร้อยหน้ากว่าๆ ก็ต้องยอมรับว่า “ไม่เก็ทง่ายๆอ่ะ!” แต่มันก็ยังน่าสนใจอยู่ดีว่าเขาจะนำเสนออะไร เราก็เลยยังคงอ่านต่อด้วยความรู้สึกปล่อยวางมากขึ้น อ่านโดยบอกตัวเองว่าในเมื่อไม่เข้าใจก็ไม่ต้องพยายาม แค่เปิดใจให้กว้างและอ่านแบบคร่าวๆ และ "รับรู้" สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอก็พอ (ไม่งั้นหน้าผากอาจย่นขณะอ่าน)

ทั้งนี้ เพราะรู้สึกว่าคนเขียนพยายามอธิบายอะไรต่างๆ ให้เป็นแนวทางทฤษฎีวิทย์ เช่นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ตัวตน กาลเวลา สภาวะก้ำกึ่ง คือก็พอเข้าใจนะว่าเรื่องพวกนี้มันมีความละเอียดอ่อนของมัน แต่ถ้าจะมองแบบให้ง่ายน่ะมันก็ทำได้ ซึ่งบางจุดก็อ่านแล้ว อืม..น่านสิ แต่บางจุดก็..แหะๆ ไม่สามารถเข้าถึงค่ะเพราะไม่ได้เฉียดใกล้สิ่งเหล่านี้มา (ก็หนูไม่สามารถเข้าใจจริงๆ หนูเด็กศิลป์..)

สิ่งที่ทำให้อ่านเรื่องนี้ได้เรื่อยๆ คือการเล่าด้วยภาษาบรรยายเวลาหนุ่มสาวคุยกันแนวหยิกแกมหยอก (น่ารักอ่ะ) ไม่ได้เป็นวรรณกรรมที่บีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกคนอ่าน ไม่ได้เป็นแนวรักจุ๋งจิ๋ง (แน่นอน เค้าเป็นนิยายแนวธรรมะอิงวิทยาศาสตร์นะยะ) แต่เป็นความพยายามจะอธิบายสรรพสิ่งต่างๆ ที่เป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่คนเขียนได้ค้นพบ เพื่อให้คนอ่านได้รับทราบไปกับเค้าด้วยว่า.. วิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดบางอย่างที่นำสู่การเข้าใจผิดๆ ส่วนหลักธรรมทางพุทธก้าวพ้นข้อจำกัดนั้นไปแล้ว (เจตนาดีค่ะ นับถือๆ)

ดังนั้นแนวทางการอ่านเรื่องนี้ เราอ่านแบบเอาความรู้สึกมากกว่าจะพยายามเข้าใจจริงจัง  สิ่งแรกที่ยอมรับคือ "ความตั้งใจ" คนเขียนที่อยากถ่ายทอดออกมา คาดว่าคนเขียนน่าจะสนใจศึกษาสิ่งเหล่านี้มากๆๆๆๆ จนตอนเขียนนั้นคนเขียนน่าจะเป็นเหมือนหม้อตุ๋นสุกี้สักใบที่ควันพุ่งพร้อมเสิร์ฟ ก็เลยระบายออกมาทางงานเขียนให้คนทั่วไปได้อ่าน แต่จะทำให้คนกินอึดอัดสักนิดก็ตรงที่สุกี้หม้อนี้ "จัดหนัก" ไปหน่อย เกินความสามารถของบางคนจะรับได้ตรงๆ มิฉะนั้นอาจสำลักสำหรับคนไม่เก่งวิทย์ แต่ถ้าคิดเสียว่าอ่านแบบไม่ต้องเครียดมาก ก็อ่านได้เพลินเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ดี โลกที่ปราศจากศูนย์ เป็นความพยายามอันน่าชื่นชมของคนเขียนที่น่าจะทรงภูมิความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ให้ออกมาในรูปอธิบายระหว่างแฟนหนุ่ม-สาวที่ใช้ภาษาง่ายๆ ประเภทเค้ากะตัวเอง ทำให้คนอ่านถึงจะอ่านไม่เข้าใจแต่ก็ยังอ่านต่อไปได้เพราะมันก็มีความน่าสนใจในตัว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะมากไปในความคิดเราคือว่าสิ่งที่คนเขียนนำเสนอนั้น.. ค่อนข้างสุดโต่งในทางเนื้อหาทฤษฎี  ซึ่งเข้าใจว่าเกิดจากความพยายามจะครอบคลุมสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้และค้นพบจากสรรพสิ่ง จึงใส่มาแบบเหมารวมจนอาจเกินกำลังที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคนเก่งวิทย์กว่านี้น่าจะ enjoy reading เอาการ (ถึงเราอ่านไม่เข้าใจเกิน 50% ที่คนเขียนพยายามอธิบาย แต่ก็อ่านจบนะเอ้า!)

ไม่แน่ใจว่างานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนคิดเองทั้งหมดหรือเป็นทีมงานช่วยกัน แต่การนำเสนออะไรที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาอย่างนี้จะต้องใช้ความกล้าและความตั้งใจไม่น้อย (นึกถึงภาพไดอะแกรมต่างๆ ที่เค้าพยายามให้คนอ่านเข้าใจ แลดูพยายามมาก) ที่สำคัญต้องขอบคุณที่ทำนิยายเรื่องนี้ออกมาเป็น E-Book แบบแจกฟรี ถึงจะทำให้เราต้องเพ่งจอคอมฯ ไปบ้าง แต่ก็ได้อ่านอะไรดีๆ ประดับสมอง (อันรอยหยักน้อย) ทำให้เราได้ใช้เวลาว่างที่พอมีมาอ่านหนังสือแนวแปลกที่ทำให้รู้ว่ายังมีคนที่สามารถตีความปรัชญาแนวพุทธได้ขนาดนี้ และเชื่อว่าความตั้งใจดีของผู้เขียนครั้งนี้ จะทำให้สิ่งที่คนเขียนปรารถนาไว้เป็นดังที่ต้องการ

เมื่ออ่านไปสองเล่ม เราพบว่าคำว่า สภาวะก้ำกึ่งเป็นสิ่งที่คนเขียนย้ำบ่อยๆ ซึ่งก็ทำให้เราพลอยทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินวงการพระเค้าถกกันมานาน เรื่องอัตตา-อนัตตา บางคนบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา บางคนแย้งว่าถ้าไม่มีอัตตาแล้วจะนิพพานได้ยังไง แต่..ก็จะมีบางคนบอกว่า.. นิพพานไม่ใช่ทั้งอัตตาและอนัตตา (แต่จะเป็นภาวะยังไงก็สุดจะรู้) แล้วก็นึกถึงพระอานนท์ที่พยายามจะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุอรหันต์เท่าไหร่ก็ยังไม่ลุล่วง จนจังหวะจะเอนลงนอนนั่นล่ะถึงบรรลุ ซึ่งเป็นอากัปกิริยาที่ไม่อาจจัดเข้าพวกไหน ไม่ยืนไม่นั่ง-แต่ก็ไม่นอน ไม่ตื่น-แต่ก็ไม่หลับ ไม่ได้ขยับ-แต่ก็ไม่นิ่ง เหมือนกับว่ามันมีภาวะบางอย่างก้ำกึ่งที่คนเราลืมไปว่ามันมีรูปแบบนึงที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ แต่มันอยู่ตรงนั้น (หรือไม่ได้อยู่ตรงนั้น เอ้ย! พูดแล้วงงเอง)

ถ้าใครอยากอ่านวรรณกรรมร่วมสมัยที่ลุกขึ้นมาโต้แย้งทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ที่ว่าด้วยปรัชญาพุทธในขั้นลึกซึ้ง แต่ก็สามารถอธิบายได้อย่างเรียบง่าย ลองอ่านดู แล้วจะรู้สึกถึงความตั้งใจของคนเขียน

ปล. ขอออกตัวว่าอ่านไปเพียงสองเล่ม แต่ก็แอบไปอ่านตอนท้ายของเล่มสาม (เราเป็นพวกชอบแฮ็คอ่านตอนจบ) รู้สึกคนเขียนหักมุมว่าตกลงแล้วใครเป็นใครกันแน่ จะอย่างไรนั้นให้คนอยากอ่านไปหาอ่านเองเพราะมันก็ตีความได้หลายแบบ เหมือนความจริงไม่ได้มีสิ่งเดียว..แต่มันอาจมีหลายความจริงในหลากมิติ แต่พอได้อ่านประโยคจบเล่มสาม ซึ่งมันเชื่อมไปถึงจุดเริ่มต้นเล่มหนึ่ง รู้สึกได้อย่างหนึ่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างในงานเขียนเขานั้นมันวนเป็น loop คงจะเหมือนวัฏฏสงสารที่วนเวียนว่ายไม่จบสิ้นละมั้ง

 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
แนวทางในการนำเสนอไอเดีย น่ะอยู่ในเกณฑ์ดีที่เดียวแหละ แต่สาระเชิงวิชาการน่ะ ทฤษฎีต่าง ๆ เนี่ยบอกตรง ๆ ว่ามั่ว เป็น theory of everything ที่ประหลาดมาก เวลาเปรียบเทียบดันเอา relative value ไปเทียบกับ absolute value เนี่ยมันก็ไม่ถูกแล้ว คุณฝนอ่านไม่เข้่าใจก็ดีแล้วครับ อ่านเข้าใจแล้วต่อไปจะลำบาก
napicha
napicha 26 ก.พ. 56 / 17:55
สวัสดีค่ะคุณ Indigo Eye
อืม เคยได้ยินหลายคนบอกเหมือนกันว่าเอาจริงๆ แล้วแนวคิดที่เอามาเขียนนั้นไม่เวิร์คเท่าไหร่ (ซึ่งระดับความรู้ของเราเองก็ตอบตรงนั้นไม่ได้เพราะไม่มีพื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จริงๆ)
แต่ว่าที่คุณพูดถึง relative value / absolute vlue ก็ทำให้เราไปค้นสองคำนี้เหมือนกัน เพราะพื้นฐานด้านนี้อ่อนมั่กๆ ค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3
ลองดูคลิปนี้นะครับ เรื่อง higher dimension
http://www.youtube.com/watch?v=zqeqW3g8N2Q
chen
chen 22 พ.ค. 56 / 15:08
หาโหลดมาลองอ่านได้ที่ไหนครับ
จะได้ลองพิจารณาด้วยตัวเองดูหน่อย

ผมเองก็เขียนแนวศาสนา-วิทยาศาสตร์นะ
แต่เป็นแนวแฟนตาซีที่ชี้ความเป็นเหรียญสองด้านของทั้งคู่เป็นระยะๆ
เนื้อเรืองจะเล่นไปทางวิกฤตพลังงาน และสิ่งแวดล้อม

ถ้าว่างเรียนเชิญไปอ่านได้นะครับ
อยากได้ความเห็นของคนระดับตีพิมพ์ตั้งสามเล่มมาเปิดกะลาตัวเองบ้างน่ะ
แต่ขออนุญาตไม่ลงลิงค์ เพราะดูจะโฆษณาเกินไปหน่อย (แค่นี้ก็เยอะจนน่าอายแล้ว ^^")