ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พรีเซ้น - พุทธปรัชญา

    ลำดับตอนที่ #2 : สำนักโยคาจาร - ญาณวิทยา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 695
      3
      14 ก.พ. 54


    สำนักโยคาจาร (วิชญาณวาท)


    ประวัติความเป็นมาของสำนักโยคาจาร

                    สำนักโยคาจารก่อตั้งโดยท่านไมตรียนาถ เดิมสำนักนี้มีชื่อเรียกว่า จิตตมาตระหรือวิชญาณวาทซึ่งเป็นลัทธิปรัชญาแบบมโนภาพนิยมแบบจิตนิยมเชิงจิตวิสัย (Subjective Idealism) จิตอย่างเดียวเป็นสิ่งจริงแท้ สิ่งภายนอกเป็นมายาและขึ้นอยู่กับจิต โยคาจารเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๐๐ เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณ พ.ศ. ๙๐๐

                    เหตุผลปรัชญาสำนักนี้มีชื่อว่า โยคาจารนั่นเพราะว่ามุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุดโดยวิธีปฏิบัติโยคะ และวิธีปฏิบัตินี้ก็ดำเนินตามรอยบาทพระพุทธองค์ ซึ่งทรงเน้นข้อปฏิบัติทางกายและทางใจเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งแห่งสัจธรรม

    ข้อปฏิบัติทางจิต

    คือการฝึกฝนจิตเพื่อให้รู้แจ้งแห่งสัจธรรมขั้นสูงสุดแล้วจะพบว่า

    (1) สากลจักรวาลหาใช่อื่นที่แยกออกไปจากจิตไม่                

    (2) ในสัจธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นการเกิดและการตาย                                                                                                       
    (
    3) ไม่มีสิ่งหรือวัตถุภายนอกจิตที่มีอยู่จริง ๆ

    จุดยืนของสำนักปรัชญานี้

    ปฏิเสธลักษณะภาพทางวัตถุวิสัยของโลกภายนอก ยอมรับว่ามีวิญญาณจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ละดวงเป็นขณิกะ  มีปัจจัยปรุงแต่ง (เจตสิก) ของตนเอง และแสวงหาความรู้เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ประสบ  โยคาจารถือว่าเพราะอวิทยาเป็นเหตุ  เราจึงจำแนกวิญญาณหนึ่ง ๆ ออกเป็นตัวผู้ทำ กรรมและความรู้สึกรู้  ซึ่งความจริงแล้ว วิญญาณเดิมนั้นมีลักษณะเป็นประภัสสรและจำแนกไม่ได้


    ญาณวิทยา (Epistemology)

    แหล่งความรู้ที่สำคัญที่สำนักนี้ยกย่องมากที่สุด  นั่นก็คือ วิปัสสนาญาณสำนักนี้มีความเห็นว่าวิปัสสนาญาณเท่านั้นที่จะช่วยให้รู้ถึงความจริงแท้ (ปรมัตถะสัจจะ) ส่วนแหล่งความรู้อื่น รู้ได้เพียงเรื่องประสาทสัมผัสและสมมุติสัจจะเท่านั้น

    ทฤษฎีความรู้

    สิ่งที่ถูกรู้

                    ตามทัศนะของปรัชญาโยคาจารหรือวิญญาณวาท  จิตประกอบด้วยกระแสความคิดมากมาย  ซึ่งล้วนแต่เป็นความจริงอย่างเที่ยงแท้  สิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอกจิต  ก็คือ  ความคิดของจิตเช่นเดียวกับความฝัน  ซึ่งก็คือ  สิ่งที่ปรากฏแทนทางจิต  การที่สิ่งภายนอกมีอยู่นั้นไม่อาจยืนยันได้  เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งนั้นต่างจากการรู้จักสิ่งนั้นอย่างไรบ้าง  เช่นเดียวกับพระอาทิตย์มีเพียงหนึ่งดวงแต่ปรากฏเป็นหลายดวงตาแก่คนพิการ

    ประมาณหรือบ่อเกิดแห่งความรู้

    1.                ประจักษ์ (Perception)

                    ความรู้ที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างวัตถุกับประสาทสัมผัสหรืออายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง  อาจรวมถึงความรู้โดยตรงที่ไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัส เช่น  การมองเห็นด้วยตา การสัมผัสน้ำร้อน แล้วสามารถรับรู้ได้ว่ามันร้อน

    2.                อนุมาน (Inference)

    หมายถึง ความรู้ภายหลัง คือความรู้ที่ตามมาจากความรู้อื่น เช่น เมื่อเห็นควันไฟอยู่ในบ้าน เราสามารถอนุมานได้ว่าต้องมีไฟอยู่ในบ้าน ความรู้ที่ว่ามีไฟอยู่ในบ้านเป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้โดยตรงแต่เรารับรู้จากความรู้อื่นคือการเห็นควันไฟ

     

    ประเภทของความรู้

    1. ปริกัลปิตัชญาณ…………..ความรู้แบบมายา

                    คำว่าปริกัลปิตะ แปลว่าสิ่งที่เราใช้ความคิดกำหนดเอาโดยภาพกว้าง หมายถึงสิ่งที่เป็นเพียงความเพ้อฝัน  ไม่มีอยู่จริงทั้งโดยสัณฐานและคุณสมบัติ  ปริกัลปิตัชญาณคือความรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นกรณีการจุ่มท่อนไม้ลงในน้ำ  เพราะความหักเหของแสงทำให้เห็นไม้คด  ข้อเท็จจริงมีเพียงท่อนไม้ น้ำและภาพไม้คดที่ปรากฏต่อหน้าเรา  ปริกัลปิตัชญาณเป็นจิตนาการบริสุทธิ์ (Pure Imagination)

    2. ปรตันตรัชญาณ………….ความรู้แบบสัมพัทธ์

                    คำว่า ปรตันตระ  แปลว่า อยู่ในระหว่างสิ่งอื่น  หมายถึงสิ่งที่อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นจริงแต่อยู่ในกระบวนการแห่งเหตุและปัจจัย  จึงไม่มีอยู่จริง  ปรตันตรัชญาณ คือความรู้ที่เกิดจากการคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงว่ามีอยู่จริง  เป็นเรื่องของจิตและกับวัตถุ  หรืออีกแง่หนึ่งก็คือความรู้แบบวิทยาศาสตร์  เกิดจากการที่ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กระทบกับอารมณ์ภายนอก 

    3. ปรินิษปันนะ…………..ความรู้สมบูรณ์

                    คำว่า ปรินิษปันนะ  แปลว่า ถึงความกำหนดแน่นอน  หมายถึงสิ่งที่มีความจริงแท้ ความจริงระดับปรมัตถ์หรือตถตา   มีลักษณะปราศจากความเปลี่ยนแปลง ปรินิษปันนัชญาณ  หมายถึงความรู้แท้ที่เป็นองค์รวมหรือเป็นฐานแห่งโลกและชีวิตเป็นความหายไปแห่งลักษณะที่จินตนาการล้วนๆ ในปรตันตรลักษณะ ปราศจากความคิดแบ่งแยก อยู่ในจุดที่ทวิภาวะถูกกำจัดทิ้งไป ฝ่ายเทวนิยมเรียกว่า พระเจ้า (God) เป็นที่รวมของผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้

     

     

     

     

     

    องค์ประกอบแห่งความรู้

                    แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับฝ่ายเถรวาทเป็นส่วนมากกล่าวคือ  โยคาจารบ่งความรู้ออกเป็น ๘ ความรู้  ๖ประการแรกคือ 

    ๑. จักษุวิชญาน    คือ ตา

     ๒. โสตวิชญาน  คือ หู

    ๓. ฆานวิชญาน   คือ จมูก

    ๔. ชิวหาวิชญาน คือ ลิ้น

    ๕. กายวิชญาน    คือ กาย

    ๖. มโนวิชญาน   คือ ใจ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ เป็นต้นเหตุแห่งการประกอบกรรมดี กรรมชั่ว มโนวิญญาณเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล

    ส่วนความรู้ ๒ ประการสุดท้าย คือ

    ๗. กลิษฏมโนวิชญาน คือ ความรู้ที่สามารถควบคุมทำให้มโนวิญญาณมีความรู้สึกไปในทางกุศล และอกุศลได้

    ๘. อาลยวิชญาน ความรู้ชนิดสุดท้ายนี้เป็นความรู้ไม่มีหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ภายนอก รับรู้คิดยึดแต่อารมณ์ภายใน

    ระดับความรู้  3  ระดับ

    แบ่งได้  3  ระดับดังนี้

    1. อาลยวิญญาณ 

                    เป็นที่รวม  เป็นตัวพาวาสนาทั้งปวง  คือศักดานุภาพของสิ่งต่าง ๆ วิญญาณอื่น ๆ จะมีความเกี่ยวพันกับวาสนา  ระดับของวิญญาณไม่เพียงแต่ผูกพันอยู่กับอาลยวิญญาณเท่านั้น  หากแต่จะเข้ามาแทนที่  อาลยวิญญาณจะไม่หยุดนิ่ง  จึงเปรียบได้กับสายธารที่ไหลเชี่ยว  ก็เหมือนกับสภาพของจิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ  หากปราศจากอาลยวิญญาณ  ความพยายามที่จะเป็นอิสระจากกิเลสหรือสังสารวัฏก็หมดความหมาย

    2. มโนวิญญาณ 

                    สภาพที่ถูกทำให้มีความแท้จริง

    3. วิสัยวิญญาณ 

                    การรับรู้ของจิต  หรือวิญญาณในวิสัยวิญญาณนี้  ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นสิ่งต่าง ๆ เช่น  เป็นบ้าน  เป็นต้นไม้  เป็นมนุษย์  เป็นทะเล  เป็นภูเขา  ฯลฯ  เป็นสภาพความมีอยู่ที่ต้องขึ้นกับการรับรู้ทางอาลยวิญญาณ   แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีอยู่จึงไม่ใช่ธรรมชาติแท้จริง  ต้นไม้อาจจะไม่มีอยู่ภายนอก  แต่ในความคิดก็คิดว่าเป็นต้นไม้นักปรัชญาโยคาจารกล่าวว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างในวัตถุวิสัยในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากปรากฏการณ์ เพราะความจริงนั้นมิได้มีอยู่ สิ่งต่าง ๆ มิได้มีอยู่นอกเหนือไปจากจิตเข้าใจมันเอง




    ....จบ....


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×